Loading

 

การอธรรมและผลร้ายของมัน

การอธรรมและผลร้ายของมัน

 

มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่าน ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่า มุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

            หนึ่งในความผิดบาปอันใหญ่หลวงที่อัลลอฮฺทรงสั่งห้ามบ่าวของพระองค์ ซึ่งมีบทลงโทษร้ายแรงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ก็คือการอธรรม (การข่มเหงรังแกและละเมิดสิทธิของผู้อื่น) ดังคำกล่าวของพระองค์อัลลอฮฺ ที่ว่า

﴿وَلَا تَحۡسَبَنَّ ٱللَّهَ غَٰفِلًا عَمَّا يَعۡمَلُ ٱلظَّٰلِمُونَۚ إِنَّمَا يُؤَخِّرُهُمۡ لِيَوۡمٖ تَشۡخَصُ فِيهِ ٱلۡأَبۡصَٰرُ ٤٢﴾ [إبراهيم: ٤٢] 

ความว่า “และเจ้าอย่าคิดว่าอัลลอฮฺทรงละเลยต่อสิ่งที่พวกอธรรมปฏิบัติ แท้จริงพระองค์ทรงประวิงเวลาให้พวกเขาจนถึงวันที่สายตาเงยจ้องไม่กระพริบ (วันกิยามะฮฺ)” (อิบรอฮีม: 42)

และอีกอายะฮฺหนึ่งที่ว่า

﴿فَتِلْكَ بُيُوْتُهُمْ خَاوِيَةٌ بِمَا ظَلَمُوْا إنَّ فِي ذلِكَ لآياَتً لِقَوْمٍ يَعْلَمُوْنَ ٥٢﴾ [النمل: 5٢]

ความว่า “ดังนั้น นั่นคือบ้านของพวกเขาที่ว่างเปล่า ทั้งนี้เพราะพวกเขาอธรรม แท้จริงในการนี้ย่อมเป็นสัญญาณหนึ่งอย่างแน่นอน สำหรับหมู่ชนที่รู้” (อันนัมลฺ : 52)

มีรายงานซึ่งบันทึกโดยท่านมุสลิม จากหะดีษอบีซัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้รายงานจากพระผู้อภิบาลของท่าน พระองค์ตรัสว่า

« يَا عِبَادِي إِنِّي حَرَّمْتُ الظُلْمَ عَلى نَفْسِيْ وَجَعَلْتُهُ بَيْنَكُمْ مُحَرَّماً فَلا تَظَالَمُوْا»  (رواه مسلم: 2577)

“โอ้ปวงบ่าวของข้า แท้จริงข้าได้สั่งห้ามการอธรรมต่อตัวข้า และข้าได้สั่งห้ามการอธรรมระหว่างพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าอธรรมต่อกัน” (บันทึกโดยมุสลิม:  2577)

การอธรรม แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

ประเภทที่หนึ่ง การอธรรมต่อตนเอง ด้วยการปฏิเสธศรัทธา การตั้งภาคี หรือการกลับกลอก พระองค์อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า

﴿ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَلَمۡ يَلۡبِسُوٓاْ إِيمَٰنَهُم بِظُلۡمٍ أُوْلَٰٓئِكَ لَهُمُ ٱلۡأَمۡنُ وَهُم مُّهۡتَدُونَ٨٢﴾ [النمل: 82]

ความว่า “บรรดาผู้ที่ศรัทธา โดยที่มิได้ให้การศรัทธาของพวกเขาปะปนกับการอธรรม ชนเหล่านี้แหละที่จะได้รับความปลอดภัย และพวกเขาคือผู้ที่รับเอาคำแนะนำไว้”  (อัล-อันอาม : 82)

อัล-บุคอรียฺและมุสลิมบันทึกรายงานจากหะดีษของอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า

لمَّا نَزَلتْ هذِه الآيةُ : ﴿ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَلَمۡ يَلۡبِسُوٓاْ إِيمَٰنَهُم بِظُلۡمٍ﴾ شقَّ ذلِكَ عَلى أَصْحَابِ رَسُوْلِ اللهِ صَلى الله عليه وسلَّم ، وقالوا: أَيُّنَا لَا يَظْلِمُ نَفْسَهُ؟ فَقَالَ رَسولُ اللهِ صلى الله عليه وسلم : « لَيْسَ هُوَ كَمَا تَظُنُّوْنَ ، إِنَّمَا هُوَ كَمَا قَال لُقْمَانُ لابْنِهِ : ﴿يَٰبُنَيَّ لَا تُشۡرِكۡ بِٱللَّهِۖ إِنَّ ٱلشِّرۡكَ لَظُلۡمٌ عَظِيمٞ ١٣﴾ (هود: 18)» رواه البخاري: 32، ومسلم: 124

“เมื่ออายะฮฺนี้ได้ถูกประทานลงมา คืออายะห์ที่ว่า “บรรดาผู้ที่ศรัทธา โดยที่มิได้ให้การศรัทธาของพวกเขาปะปนกับการอธรรม” บรรดาสหายของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ต่างหวั่นวิตก พวกเขาตั้งคำถามว่า “มีใครในหมู่พวกเราที่ไม่อธรรมต่อตนเองบ้าง?” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวตอบว่า “หาใช่เช่นที่พวกท่านคิดไม่ แท้จริงการอธรรมในที่นี้หมายถึงดังเช่นที่ลุกมานกล่าวแก่บุตรของเขาว่า “โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าได้ตั้งภาคีใดๆ ต่ออัลลอฮฺ เพราะแท้จริงการตั้งภาคีนั้นเป็นการอธรรมอย่างมหันต์ (ฮูด: 18)” (บันทึกโดยบุคอรี: 32, มุสลิม: 124)

การอธรรมประเภทนี้ จะไม่ได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺเมื่อได้สิ้นชีวิตลง แต่จะได้รับการสาปแช่งและถูกขับไล่ออกจากความเมตตาของอัลลอฮฺ ดังที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานและคำกล่าวของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

﴿أَلَا لَعۡنَةُ ٱللَّهِ عَلَى ٱلظَّٰلِمِينَ ١٨﴾ [هود: 18] 

“พึงทราบเถิด การสาปแช่งของอัลลอฮฺจะประสบแก่บรรดาผู้อธรรม” (ฮูด: 18)

ประเภทที่สอง  การอธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีหลายรูปแบบเช่น การโกงกินทรัพย์สินของเพื่อนมนุษย์โดยมิชอบ และสร้างความเป็นศัตรูต่อกัน เช่น การโกงกินทรัพย์สินของเด็กกำพร้า การไม่ให้เงินเดือนลูกจ้าง การกดราคา การขโมย การทุจริต การกินดอกเบี้ย เป็นต้น พระองค์อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

 

﴿وَلَا تَأۡكُلُوٓاْ أَمۡوَٰلَكُم بَيۡنَكُم بِٱلۡبَٰطِلِ﴾  (سورة البقرة : 188)

“และพวกเจ้าจงอย่าโกงกินทรัพย์สินระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ” (อัลบากอเราะฮฺ : 188)

รายงานจากท่านญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« اتَّقُوْا الظُلْمَ ، فَإِنَّ الظُلْمَ ظُلُمَاتٌ يَوْمَ القِيَامَةِ » رواه مسلم: 2875

“พวกท่านจงออกห่างจากการอธรรมเถิด แท้จริงการอธรรมนั้นจะนำไปสู่ความมืดมนในวันกิยามะฮฺ” (มุสลิม: 2578)

อีกตัวอย่างหนึ่งของการอธรรมต่อเพื่อนมนุษย์คือ การละเมิดที่ดินของผู้ศรัทธา รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ได้กล่าวว่า

 « مَنْ ظَلَمَ قَيْدَ شِبْرٍ مِنَ الأَرْضِ طُوِّقَهُ مِنْ سَبْعِ أَرَضِيْن  » رواه البخاري: 2453 ،  ومسلم: 1612

“ผู้ใดที่ละเมิดที่ดินแม้เพียงคืบเดียว แผ่นดินทั้งเจ็ดชั้นจะถูกแขวนอยู่บนคอของเขา” (อัล-บุคอรียฺ :2453, มุสลิม : 1612)

จากหะดีษข้างต้น คำว่า طوقه หมายถึง การทำให้เป็นห่วงแขวนอยู่ที่คอของเขา และแบกมันไว้ ซึ่งไม่ใช่แผ่นดินแค่ชั้นเดียว แต่มากถึงเจ็ดชั้น (ขอพระองค์ทรงช่วยเหลือให้พวกเรารอดพ้นจากสิ่งนี้ด้วยเถิด)

            อีกตัวอย่างหนึ่งของการอธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ คือ การฆ่าชีวิต การทำร้ายร่างกาย และการด่าทอ รายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« صِنْفَانِ مِنْ أَهْلِ النَّارِ لَمْ أَرَهُمَا : قَوْمٌ مَعَهُمْ سِيَاطٌ كَأَذْنَابِ البَقَر ِ، يَضْرِبُوْنَ بِهَا النَاسَ.. » رواه مسلم : 2128

“ชาวนรกสองประเภทที่ฉันยังไม่เคยเห็น หนึ่งคือ กลุ่มชนหนึ่งที่ถือแส้ดั่งหางของวัว และคอยทำร้ายเฆี่ยนตีมนุษย์ด้วยกัน..” (บันทึกโดยมุสลิม: 2128)

สิ่งที่พวกยิว (ขออัลลอฮฺทรงสาปแช่งพวกเขาอย่างต่อเนื่อง) ได้กระทำต่อพี่น้องมุสลิมของเราที่ปาเลสไตน์ ทั้งเข่นฆ่า ขับไล่ออกจากถิ่นที่อยู่อาศัย และการละเมิดสิทธิต่างๆ ล้วนเป็นการอธรรมอย่างใหญ่หลวงและน่าอัปยศยิ่งนัก ซึ่งไม่แปลกเลยที่พวกยิวได้กระทำเช่นนั้น เพราะแม้แต่บรรดานบีพวกเขาก็เคยเข่นฆ่ามาแล้ว ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

﴿لَّقَدۡ سَمِعَ ٱللَّهُ قَوۡلَ ٱلَّذِينَ قَالُوٓاْ إِنَّ ٱللَّهَ فَقِيرٞ وَنَحۡنُ أَغۡنِيَآءُۘ سَنَكۡتُبُ مَا قَالُواْ وَقَتۡلَهُمُ ٱلۡأَنۢبِيَآءَ بِغَيۡرِ حَقّٖ وَنَقُولُ ذُوقُواْ عَذَابَ ٱلۡحَرِيقِ ١٨١ ﴾ (سورة آل عمران : 181)

“แน่นอนยิ่ง อัลลอฮฺทรงได้ยินคำพูดของบรรดาผู้ที่กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ยากจน และพวกเรานั้นเป็นผู้มั่งมี”  เราจะจารึกสิ่งที่พวกเขาได้กล่าวไว้ และการที่พวกเขาฆ่าบรรดานบีโดยปราศจากความเป็นธรรมด้วย และเราจะกล่าวว่า: พวกเจ้าจงลิ้มรสการลงโทษแห่งเปลวเพลิงเถิด” (อาละอิมรอน : 181)

อีกตัวอย่างหนึ่งของการอธรรมต่อมนุษย์คือ การกล่าวหา และการใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น ในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า

﴿وَمَن يَكۡسِبۡ خَطِيٓ‍َٔةً أَوۡ إِثۡمٗا ثُمَّ يَرۡمِ بِهِۦ بَرِيٓ‍ٔٗا فَقَدِ ٱحۡتَمَلَ بُهۡتَٰنٗا وَإِثۡمٗا مُّبِينٗا ١١٢﴾ (سورة النساء:112)

"และผู้ใดที่แสวงหาความผิดหรือบาปกรรมไว้ แล้วก็โยนความผิดบาปนั้นให้แก่ผู้บริสุทธิ์ แน่นอนเขาได้แบกความเท็จและบาปกรรมอันชัดเจนไว้" (อันนิสาอ์ : 112)

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การหนีหนี้ คือ การไม่ชำระหนี้ตามสิทธิและวาระที่กำหนด รายงานจากอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«مَطْلُ الغَنِيِّ ظُلْمٌ » (رواه البخاري: 2287،ومسلم: 1564)

“การหนีหนี้นั้น เป็นการอธรรม” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ: 2278, และมุสลิม: 1564)

ดังนั้น ผู้ใดที่เป็นลูกหนี้ และสามารถที่จะชำระหนี้ได้ ไม่อนุญาตให้เขาล่าช้าในการชำระหนี้ เพราะการกระทำกล่าวเป็นการอธรรม

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การอธรรมต่อสตรีในสิทธิของนาง ได้แก่ มะฮัร ค่าครองชีพ และค่าเสื้อผ้าอาภรณ์ หรือการอธรรมต่อนางด้วยการเข้าครอบครองควบคุมทรัพย์สินของนาง ใครก็ตามที่อธรรมต่อผู้อื่น จงรีบเร่งไปสู่การเตาบะฮฺและกลับตัวกลับใจไปสู่อัลลอฮฺ  อย่าได้เพิกเฉยต่อการประวิงเวลาของอัลลอฮฺ เพราะแท้จริงพระองค์ทรงประวิงเวลาให้แต่ไม่ทรงลืม

มีรายงานหะดีษจากอบูมูซา อัล-อัชอะรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« إِنَّ الله عَزَّ وَجَلَّ يُمْلِي لِلظَّالِمِ  ، فَإِذَا أَخَذَهُ لَمْ يفْلتْهُ ، ثُمَّ قَرَأَ  : ﴿وَكَذَٰلِكَ أَخۡذُ رَبِّكَ إِذَآ أَخَذَ ٱلۡقُرَىٰ وَهِيَ ظَٰلِمَةٌۚ إِنَّ أَخۡذَهُۥٓ أَلِيمٞ شَدِيدٌ ١٠٢﴾ (سورة هود : 102) » رواه البخاري : 4686، و مسلم : 2583

“แท้จริงพระองค์อัลลอฮ ทรงประวิงเวลาออกไปให้ผู้อธรรม ครั้นเมื่อพระองค์ทรงต้องการที่จะชำระโทษเขา เขาก็ไม่สามารถรอดพ้นจากพระองค์ไปได้” จากนั้นท่านเราะสูลก็ได้อ่านอายะฮฺที่ว่า “และเช่นนี้แหละคือการลงโทษของพระผู้อภิบาลของท่าน เมื่อพระองค์ทรงลงโทษหมู่บ้านซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อธรรม แท้จริงการลงโทษของพระองค์นั้นเจ็บแสบสาหัสยิ่งนัก” (ฮูด: 102)” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ: 4686, มุสลิม: 2583)

มีรายงานจากท่านอบูบักเราะฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« مَا مِنْ ذَنْبٍ أَحْرَى أَنْ يُعَجِّلَ اللهُ تَبَارَكَ وَتَعالى العُقُوْبَةَ لِصَاحِبِهِ في الدُنْيَا مَعَ مَا يدَّخرُ لَهُ فِي الآخِرَةِ مِن البَغْيِ وَقَطِيْعَةِ الرَحمِ» رواه أحمد: 5/38

“ไม่มีบาปใดที่เหมาะกับการที่พระองค์อัลลอฮฺ (ตะบาเราะกะ วะตะอาลา) จะเร่งการลงโทษผู้กระทำทำสิ่งนั้นในดุนยานี้ นอกเหนือไปจากสิ่งที่พระองค์เตรียมไว้เพื่อลงโทษเขาในอาคิเราะฮฺ มากไปกว่าความผิดจากการอธรรม และการตัดญาติขาดมิตร” (บันทึกโดยอะฮฺหมัด: 5/38)

ท่านอิบนุตัยมิยะฮฺได้กล่าวว่า “แท้จริงผู้คนนั้นเห็นพ้องต้องกันว่า ผลตอบแทนของการอธรรมนั้นช่างเลวร้าย ส่วนผลตอบแทนของความยุติธรรมนั้นช่างมีเกียรติยิ่ง มีรายงานว่า พระองค์อัลลอฮฺนั้นจะทรงช่วยเหลือประเทศที่มีความยุติธรรมถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศของผู้ปฏิเสธศรัทธา(กาเฟร) และพระองค์นั้นจะไม่ทรงช่วยเหลือประเทศที่มีความอธรรมแม้ว่าจะเป็นประเทศมุสลิมก็ตาม”

การวิงวอนขอดุอาอฺของผู้ที่ถูกอธรรมนั้นจะได้รับการตอบรับ ดังหะดีษที่รายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«ثَلَاثَةٌ لا تُرَدُّ دَعْوَتُهُم : الإِمَامُ العَادِلُ، وَالصَائمُ حَتى يُفْطِرَ، ودَعْوَةُ المَظْلُوْمِ تُحمَلُ على الغَمامِ، وتُفْتَحُ لَهَا أَبْوَابُ السَماءِ، وَيَقُولُ الرَبُّ عز وجل: وَعِزَّتِي لَأَنْصُرَنَّكَ وَلَوْ بَعْدَ حِيْنٍ » رواه أحمد: 8043

“ผู้ที่ดุอาอ์ของเขาจะไม่ถูกปฏิเสธมีสามจำพวก คือ ผู้นำที่มีความยุติธรรม ผู้ที่ถือศิลอดจนกว่าเขาจะละศีลอด และดุอาอ์ของผู้ที่ถูกอธรรม คำวิงวอนของเขาจะถูกแขวนอยู่บนก้อนเมฆ ประตูแห่งชั้นฟ้าจะเปิดต้อนรับคำวิงวอนนั้น และพระเจ้าผู้ทรงสูงส่งจะตรัสว่า “ด้วยเกียรติของข้า ข้าจะช่วยเหลือเจ้าอย่างแน่นอน แม้จะล่าช้าออกไปหลังจากนี้ก็ตาม”  (บันทึกโดยอะฮฺหมัด: 8043)

ประเภทที่สาม การอธรรมต่อตนเองด้วยการทำชั่วและทำบาป พระองค์อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ ثُمَّ أَوۡرَثۡنَا ٱلۡكِتَٰبَ ٱلَّذِينَ ٱصۡطَفَيۡنَا مِنۡ عِبَادِنَاۖ فَمِنۡهُمۡ ظَالِمٞ لِّنَفۡسِهِۦ وَمِنۡهُم مُّقۡتَصِدٞ وَمِنۡهُمۡ سَابِقُۢ بِٱلۡخَيۡرَٰتِ بِإِذۡنِ ٱللَّهِۚ ذَٰلِكَ هُوَ ٱلۡفَضۡلُ ٱلۡكَبِيرُ ٣٢ ﴾ (سورة فاطر : 32)

“และเราได้ให้คัมภีร์เป็นมรดกสืบทอดมาแก่บรรดาผู้ที่เราคัดเลือกแล้วจากปวงบ่าวของเรา บางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้อธรรมต่อตนเอง และบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้เดินสายกลาง และบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้รุดหน้าในการทำความดีทั้งหลาย ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ นั่นคือความโปรดปรานอันใหญ่หลวง”  (ฟาฏิร : 32)

พระองค์อัลลอฮฺตรัสถึงท่านนบีมูซา อะลัยฮิสลามว่า

﴿قَالَ رَبِّ إِنِّي ظَلَمۡتُ نَفۡسِي فَٱغۡفِرۡ لِي فَغَفَرَ لَهُۥٓۚ إِنَّهُۥ هُوَ ٱلۡغَفُورُ ٱلرَّحِيمُ ١٦﴾  (سورة القصص : 16)

“เขา(มูซา)กล่าวว่า: ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ แท้จริงข้าพระองค์ได้อธรรมต่อตนเอง ดังนั้น ขอพระองค์ทรงอภัยให้แก่ข้าพระองค์ด้วย แล้วพระองค์ก็ได้อภัยให้เขา แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัล-เกาะศ็อศ : 16)

            การอธรรมประเภทนี้ คือ การที่บ่าวได้อธรรมต่อตนเองด้วยการทำชั่วและทำบาปที่นอกเหนือจากการตั้งภาคี ซึ่งผู้ที่กระทำความผิดนั้นอยู่ภายใต้พระประสงค์ของอัลลอฮฺ หากพระองค์ประสงค์ที่จะลงโทษ พระองค์ก็จะทรงลงโทษเขา หากพระองค์ประสงค์ที่จะอภัย พระองค์ก็จะทรงอภัยโทษให้เขาและปกปิดการทำความชั่วของเขา

            มีรายงานจากอิบนุอุมัร  เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« إِنَّ اللهَ يُدْنِي المُؤْمِنَ، فَيَضَعُ عَلَيهِ كَنفَهُ ويَستُرهُ، فَيَقُولُ: أَتَعْرِفُ ذَنْبَ كذا.. أَتَعْرِفُ ذَنْبَ كذا؟ فَيَقُولُ: نَعَم أَي رَبّ، حَتَى إذَا قَرَّرَهُ بِذُنُوْبِهِ، وَرَأى فِي نَفْسِهِ أَنَّهُ هَلَكَ قَال: سَتَرْتُهَا عَلَيْكَ في الدُنيا، وَأَنَا أَغْفِرُهَا لَكَ اليَوْمَ، فَيُعْطَي كِتَابُ حَسَنَاتِهِ، وَأَمَّا الكافِرُ والمُنافِقُ فَيقُولُ الأَشْهَادُ: ﴿هَٰٓؤُلَآءِ ٱلَّذِينَ كَذَبُواْ عَلَىٰ رَبِّهِمۡۚ أَلَا لَعۡنَةُ ٱللَّهِ عَلَى ٱلظَّٰلِمِينَ ١٨﴾ (سورة هود : 18)  »  رواه البخاري: 2441، مسلم: 2768)

"แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงเข้ามาใกล้ผู้ศรัทธา แล้วโอบล้อมเขาและปกปิดเขาไว้ และตรัสแก่เขาว่า “เจ้ารู้ถึงบาปนี้ไหม? เจ้ารู้ถึงบาปนี้ไหม?” เขาจะตอบว่า “ทราบครับโอ้พระผู้อภิบาล” จนกระทั่งเขาได้ยอมรับถึงความผิดบาปของเขา และเห็นว่าตนเองได้ประสบกับความหายนะ พระองค์อัลลอฮฺจึงตรัสแก่เขาว่า “ข้าได้ปกปิดความผิดบาปของเจ้าในโลกดุนยา และวันนี้ข้าได้อภัยโทษให้เจ้าแล้ว” จากนั้นพระองค์ได้ทรงประทานบันทึกความดีของเขา ส่วนผู้ปฏิเสธศรัทธาและผู้กลับกลอกนั้น จะมีพยานยืนยันกล่าวว่า “พวกเขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้ที่กล่าวเท็จต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา พึงทราบเถิด การสาปแช่งของอัลลอฮฺจะประสบแก่บรรดาผู้อธรรม (ฮูด : 18)” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ 2441, มุสลิม 2768)

ผู้ศรัทธาจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังตนเองให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ไม่ให้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น และขจัดขัดเกลาจากการทำผิดต่อผู้อื่นก่อนที่จะถึงวันกิยามะฮฺ วันซึ่งทรัพย์สินเงินทองไม่ยังประโยชน์ใดๆ วันที่จะมีเพียงความดีและความชั่วเท่านั้น

รายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« مَنْ كَانَتْ لَهُ مَظْلَمَةٌ لِأَحَدٍ مِنْ عِرْضِهِ أَوْ شَيْءٍ فَلْيَتَحَلَّلْهُ مِنهُ اليَوْمَ، قَبْلَ أنْ لا يَكُونَ دِيْنار وِلا دِرْهَم، إِنْ كانَ لَهُ عَمَلٌ صَالِحٌ أُخِذَ مِنْهُ بِقَدْرِ مَظْلَمَتِهِ، وإنْ لَمْ تَكُنْ لَهُ حَسَنَاتٌ أُخِذَ مِنْ سَيِّئَاتِ صَاحِبِهِ فَحُملَ عَليهِ » رواه البخاري : 2449

“ผู้ใดที่ได้อธรรมต่อบุคคลหนึ่งด้วยการละเมิดเกียรติของเขาหรือด้วยสิ่งใดๆ ก็ตาม จงสะสางเสียตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะถึงวันที่ทรัพย์สินใดๆ แม้เพียงหนึ่งดีนารหรือหนึ่งดิรฮัมไม่ยังประโยชน์ หากว่าผู้อธรรมนั้นมีคุณงามความดีอยู่ ความดีของเขาจะถูกลดทอนเท่ากับการอธรรมของเขา แต่หากเขาไร้ซึ่งคุณงามความดีแล้วไซร้ ความผิดบาปของผู้ที่เขาไปละเมิดจะถูกเพิ่มให้เขา และเขาจะต้องแบกรับมันไว้” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ : 2449)

..........................................................................................

 

แปลโดย : นัจญวา  บุญมาเลิศ

ตรวจทานโดย :  อัสรัน  นิยมเดชา

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/385333

 

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).