Loading

 

อธิบายพระนามอัลลอฮฺ อัรร็อซซาก

อธิบายพระนามอัลลอฮฺ อัรร็อซซาก

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใด ๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« إِنَّ لِلَّهِ تِسْعَةً وَتِسْعِينَ اسْمًا مِائَةً إِلَّا وَاحِدًا، مَنْ أَحْصَاهَا دَخَلَ الجَنَّةَ » [رواه البخاري برقم 2736 ومسلم برقم 2677]  

“พระนามของอัลลอฮฺนั้นมีเก้าสิบเก้าพระนาม ผู้ใดสามารถจดจำได้จะได้เข้าสวรรค์” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 2736 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2677)

และหนึ่งในพระนามของพระองค์ที่ปรากฏในอัลกุรอาน คือ “อัรร็อซซาก” (الرَزَّاقُ - ผู้ประทานปัจจัยยังชีพ) อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

﴿ إِنَّ ٱللَّهَ هُوَ ٱلرَّزَّاقُ ذُو ٱلۡقُوَّةِ ٱلۡمَتِينُ ٥٨ ﴾ [الذاريات: ٥٨]

“แท้จริงอัลลอฮฺคือผู้ประทานปัจจัยยังชีพอันมากหลาย ผู้ทรงพลัง ผู้ทรงมั่นคง” (อัซซาริยาต: 58)

และตรัสอีกว่า

﴿ وَٱرۡزُقۡنَا وَأَنتَ خَيۡرُ ٱلرَّٰزِقِينَ ١١٤ ﴾ [المائ‍دة: ١١٤]

“และโปรดได้ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกข้าพระองค์ด้วยเถิด และพระองค์นั้นคือผู้ที่ดีเยี่ยมที่สุดในหมู่ผู้ประทานปัจจัยยังชีพทั้งหลาย” (อัลมาอิดะฮฺ: 114)

อัลค็อฏฏอบีย์ กล่าวว่า อัรร็อซซาก คือผู้ประทานปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิต (ริซกี) ของทุกสรรพสิ่ง โดยความเมตตาและปัจจัยยังชีพที่พระองค์ทรงประทานให้นั้นมิได้จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ครอบคลุมทั้งผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธศรัทธา ผู้เป็นที่รักของพระองค์และผู้ที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับพระองค์ ผู้ที่อ่อนแอและผู้ที่แข็งแกร่ง ดังที่พระองค์ตรัสว่า

﴿ وَكَأَيِّن مِّن دَآبَّةٖ لَّا تَحۡمِلُ رِزۡقَهَا ٱللَّهُ يَرۡزُقُهَا وَإِيَّاكُمۡۚ ﴾ [العنكبوت: ٦٠]

“และสัตว์ตั้งกี่ชนิดที่มันไม่สามารถแสวงหาเครื่องยังชีพของมัน แล้วอัลลอฮฺทรงประทานเครื่องยังชีพแก่พวกมันและแก่พวกเจ้า” (อัลอันกะบูต: 60) (ชะอ์นุดดุอาอ์ หน้า 54)

และตรัสอีกว่า

﴿ ۞وَمَا مِن دَآبَّةٖ فِي ٱلۡأَرۡضِ إِلَّا عَلَى ٱللَّهِ رِزۡقُهَا ﴾ [هود: ٦]

“และไม่ว่าสัตว์ตัวใดที่เหยียบย่ำอยู่ในแผ่นดินเว้นแต่เครื่องยังชีพของมันเป็นหน้าที่ของอัลลอฮฺ” (ฮูด: 6)

ชัยคฺ อัสสะอฺดีย์ กล่าวว่า ริซกีที่อัลลอฮฺทรงประทานแก่บรรดาบ่าวของพระองค์นั้นมีสองประเภท คือ

ประเภทแรก ริซกีทั่วไป ซึ่งพระองค์ทรงประทานให้แก่ทุกคน ไม่ว่าคนดีหรือคนชั่ว และครอบคลุมทั้งกลุ่มชนต่าง ๆ ในอดีตและคนยุคหลัง ซึ่งก็คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างกายภายนอก

ประเภทที่สอง ริซกีเฉพาะ ซึ่งก็คือส่วนที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ หมายถึงความรู้ ความศรัทธา และปัจจัยยังชีพที่หะลาลซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นคงในศาสนา ริซกีประเภทนี้ทรงประทานให้เฉพาะผู้ศรัทธาเท่านั้น โดยแต่ละคนจะได้รับความโปรดปรานนี้แตกต่างกันไป ตามเหตุผลและความเมตตาของอัลลอฮฺ (ตัยสีรฺ อัลกะรีม อัรเราะหฺมาน 5/302)

ซึ่งประเภทหลังนี้คือริซกีอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานให้แก่บ่าวของพระองค์ อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ وَمَن يَتَّقِ ٱللَّهَ يَجۡعَل لَّهُۥ مَخۡرَجٗا ٢ وَيَرۡزُقۡهُ مِنۡ حَيۡثُ لَا يَحۡتَسِبُۚ وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ إِنَّ ٱللَّهَ بَٰلِغُ أَمۡرِهِۦۚ قَدۡ جَعَلَ ٱللَّهُ لِكُلِّ شَيۡءٖ قَدۡرٗا ٣ ﴾ [الطلاق : ٢- ٣] 

“และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงหาทางออกให้แก่เขาและจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาโดยที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงบรรลุในกิจการของพระองค์ โดยแน่นอนสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างนั้น อัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะไว้แล้ว” (อัฏเฏาะลาก: 2-3)

ท่านอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า “แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงประทานจรรยามารยาทให้แก่พวกท่าน ดังเช่นที่พระองค์นั้นทรงประทานริซกีปัจจัยยังชีพ และแท้จริงพระองค์ทรงประทานดุนยาให้แก่ทั้งผู้ที่พระองค์ทรงโปรดและไม่ทรงโปรด ในขณะที่เรื่องศาสนานั้นพระองค์จะทรงประทานให้เฉพาะผู้ที่พระองค์ทรงโปรดเท่านั้น…” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ ในหนังสือ อัลอะดับ อัลมุฟร็อด หน้า 275)

ดังนั้นหากบ่าวคนใดที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่เขาซึ่งความรู้ที่มีประโยชน์ หลักศรัทธาที่ถูกต้อง ริซกีที่หะลาล และให้เขามีความพึงพอใจในสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้ แน่นอนเขาคือผู้ที่เพียบพร้อมทั้งในเรื่องของจิตวิญญาณและร่างกายภายนอก และริซกีประเภทนี้เองที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยกล่าวชื่นชมไว้ในตัวบทหะดีษต่าง ๆ (อัลมัจญฺมูอะฮฺ อัลกามิละฮฺ ของชัยคฺ อัสสะอฺดีย์ เล่ม 3 หน้า 388)

ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« قَدْ أَفْلَحَ مَنْ أَسْلَمَ وَرُزِقَ كَفَافاً وَ قَنَّعَهُ اللهُ بِمَا آتَاهُ » [رواه مسلم برقم 1054] 

“ผู้ที่เข้ารับอิสลามแล้วได้รับปัจจัยยังชีพที่เพียงพอ และอัลลอฮฺทรงทำให้เขามีความพอใจในสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้แก่เขา ย่อมเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จโดยแท้” (บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 1054)

ผลของการศรัทธาต่อพระนามอันประเสริฐนี้

หนึ่ง การตระหนักว่าอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียวคือผู้ที่ประทานปัจจัยยังชีพ ดังที่พระองค์ตรัสว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلنَّاسُ ٱذۡكُرُواْ نِعۡمَتَ ٱللَّهِ عَلَيۡكُمۡۚ هَلۡ مِنۡ خَٰلِقٍ غَيۡرُ ٱللَّهِ يَرۡزُقُكُم مِّنَ ٱلسَّمَآءِ وَٱلۡأَرۡضِۚ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَۖ فَأَنَّىٰ تُؤۡفَكُونَ ٣ ﴾ [فاطر: ٣] 

“โอ้มนุษย์เอ๋ย! พวกเจ้าจงรำลึกถึงความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่มีต่อพวกเจ้า จะมีพระผู้สร้างอื่นใดจากอัลลอฮฺกระนั้นหรือที่จะประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้าจากฟากฟ้าและแผ่นดิน ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ดังนั้น ทำไมเล่าพวกเจ้าจึงถูกหลอกลวงให้หันห่างออกไป (จากความจริง)” (ฟาฏิรฺ: 3)

และพระองค์ตรัสว่า

﴿ أَمَّنۡ هَٰذَا ٱلَّذِي يَرۡزُقُكُمۡ إِنۡ أَمۡسَكَ رِزۡقَهُۥۚ بَل لَّجُّواْ فِي عُتُوّٖ وَنُفُورٍ ٢١ ﴾ [الملك: ٢١] 

“หรือผู้ใดเล่าซึ่งเขาจะให้ปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า หากพระองค์ทรงระงับปัจจัยยังชีพของพระองค์ไว้ แต่ว่าพวกเจ้าดื้อรั้นอยู่ในความหยิ่งยโส และห่างไกลจากความจริง” (อัลมุลกฺ: 21)

กล่าวคือ จะมีผู้ใดหรือที่สามารถให้อาหารและเครื่องดื่มแก่พวกเจ้า หากพระองค์มิทรงประทานริซกีปัจจัยยังชีพให้แก่พวกเจ้า?

อัลมุฆีเราะฮฺ บิน ชุอฺบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวภายหลังให้สลามเมื่อเสร็จสิ้นจากการละหมาดทุกครั้งว่า

« لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللَّهُ، وَحْدَهُ لاَ شَرِيكَ لَهُ، لَهُ الْمُلْكُ، وَلَهُ الْحَمْدُ، وَهْوَ عَلَى كُلِّ شَىْءٍ قَدِيرٌ، اللهم لَا مَانِعَ لِمَا أَعْطَيْتَ وَلَا مُعْطِيَ لِمَا مَنَعْتَ وَلَا يَنْفَعُ ذَا الْجَدِّ مِنْكَ الْجَدُّ» [رواه البخاري برقم 6330 ومسلم برقم 593] 

”ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีภาคีใด ๆ เทียบเคียงพระองค์ พระองค์เพียงผู้เดียวคือผู้ทรงบริหารจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์คือผู้ทรงคู่ควรแก่การสรรเสริญ และพระองค์นั้นทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่ง โอ้อัลลอฮฺ สิ่งดีงามที่พระองค์ทรงประทานให้นั้นไม่มีผู้ใดสามารถกีดกันขัดขวางมันได้ และสิ่งใดที่พระองค์มิได้ทรงประทานให้ ก็ไม่มีผู้ใดที่จะสามารถหามาให้ได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยสูงส่งนั้น ทรัพย์สินเงินทองของเขาไม่อาจยังประโยชน์หรือช่วยให้เขารอดพ้นปลอดภัยได้ หากไม่ได้รับความเมตตากรุณาจากพระองค์” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 6330 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 593)

สอง สมควรอย่างยิ่งที่บ่าวจะต้องฝากความหวังไว้กับอัลลอฮฺแต่เพียงพระองค์เดียว และหากพระองค์ทรงประทานสิ่งที่เป็นสาเหตุของการได้มาซึ่งริซกี เขาก็ต้องไม่ลืมที่จะสรรเสริญขอบคุณพระองค์ และวิงวอนขอให้พระองค์ทรงประทานความจำเริญให้แก่สิ่งที่เขาได้รับ ในทางตรงกันข้ามหากอัลลอฮฺทรงทำให้การขวนขวายหาริซกีของเขามีอุปสรรคบ้างในบางครั้ง จิตใจของเขาก็จะไม่กระวนกระวาย เพราะเขารู้ดีว่าแม้จะพลาดริซกีในทางหนึ่ง อัลลอฮฺก็จะทรงให้เขามีหนทางอื่นที่อาจจะนำมาซึ่งริซกีที่ดีและเป็นประโยชน์กว่าก็เป็นได้ ขอเพียงให้เขามีความหนักแน่นและเชื่อมั่นในความโปรดปรานของพระองค์ หมั่นทำคุณงามความดี และวิงวอนขอดุอาอ์จากพระองค์ให้มาก พระองค์ตรัสว่า

﴿ إِنَّ ٱللَّهَ يَرۡزُقُ مَن يَشَآءُ بِغَيۡرِ حِسَابٍ ٣٧ ﴾ [آل عمران: ٣٧]

“แท้จริงอัลลอฮฺนั้นจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์โดยปราศจากการคิดคำนวณ” (อาลอิมรอน: 37)

ดังนั้น เราจึงควรทุ่มเทเวลาให้กับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงบัญญัติใช้ มากกว่าที่จะมัววิตกขุ่นข้องใจกับสิ่งที่พระองค์ทรงรับประกันไว้แล้วว่าพระองค์จะทรงประทานให้ ต้องไม่ลืมว่าริซกีกับลมหายใจนั้นเป็นของคู่กัน ดังนั้น ตราบใดที่บุคคลหนึ่งยังคงมีชีวิตเหลืออยู่ ก็มั่นใจได้ว่าเขาจะต้องได้รับริซกีอย่างแน่นอน (ฟะวาอิด อัลฟะวาอิด หน้า 82)

อิบนุก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า ผู้ที่คิดใคร่ครวญย่อมสังเกตเห็นได้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงรับประกันไว้แล้ว แต่กลับละเลยไม่สนใจสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งใช้ พวกเขามัวลุ่มหลงยินดีกับโลกดุนยาและเศร้าโศกเสียใจหากพลาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นความสุขในดุนยาไป แต่กลับไม่เคยเสียใจหากจะไม่ได้รับสรวงสวรรค์เป็นการตอบแทนในโลกหน้า พวกเขาไม่ได้มีความยินดีที่พวกเขามีศรัทธา เหมือนอย่างที่พวกเขามีความยินดีเมื่อได้ทรัพย์สินเงินทองมาครอบครอง (อัลฟะวาอิด หน้า 228)

 อัชชาฟิอีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า

       تَـوَكَّـلْتُ في رِزْقِي عَلى اللهِ خـَــالِقِي     وَأَيْـقَنْتُ أَنَّ اللهَ لَا شَـكَّ رَازِقِي
       وَمَـا يَكُ مِنْ رِزْقِي فَلَيْسَ يَفُـوْتُـنِي     وَلَوْ كَانَ فِي قَاعِ البِحَارِ الغَوَامِقِ
       فَفِي أَيِّ شَيْءٍ تَذْهَبُ النَّفْسُ حَسْرَةً    وَقَدْ قَسَّمَ الرَّحْمَنُ رِزْقَ الخَـلَائِقِ

เรื่องริซกีฉันมอบหมายต่ออัลลอฮฺพระผู้อภิบาลของฉัน

ซึ่งฉันมั่นใจว่าพระองค์คือผู้ทรงประทานริซกีให้แก่ฉัน

สิ่งใดที่เป็นริซกีของฉันอย่างไรเสียก็คงไม่พลาด

แม้มันจะอยู่ลึกลงไปถึงก้นมหาสมุทรอันเร้นลับ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะวิตกเศร้าโศกเสียใจไปทำไมกัน

ในเมื่ออัลลอฮฺคือผู้ทรงแบ่งริซกีให้แก่ทุกชีวิต

            อีกท่านหนึ่งกล่าวว่า

          فَلَو كانَتِ الدُنيا تُنالُ بِفِطنَـةٍ      وَفَضلٍ وَعَقَلٍ نِلتُ أَعلى المَراتِبِ

          وَلَكِنَّما الأَرزاقُ حَظٌّ وَقِسمَةٌ     بَفَضلِ مَليـكٍ لا بِحيـلَةِ طـالِبِ 

            หากว่าริซกีในดุนยาหาได้ด้วยไหวพริบสติปัญญา

            ฉันก็คงได้เสวยสุขในดุนยานี้ในขั้นสูงสุดไปแล้ว

            แต่ที่จริงแล้วริซกีต่าง ๆ นั้นได้รับการจัดสรรอย่างดี

            ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ใช่ด้วยความพยายาม

สาม อัลลอฮฺคือผู้ทรงควบคุมริซกีต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยที่พระองค์อาจจะประทานริซกีที่มากมายให้แก่บุคคลใดก็ได้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ในขณะที่บางคนอาจได้รับริซกีเพียงเล็กน้อย ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่มีเหตุผลสำคัญที่พระองค์ทรงรู้ดียิ่ง พระองค์ตรัสว่า

﴿ وَٱللَّهُ فَضَّلَ بَعۡضَكُمۡ عَلَىٰ بَعۡضٖ فِي ٱلرِّزۡقِۚ ﴾ [النحل: ٧١]

“และอัลลอฮฺทรงให้บางคนในหมู่พวกเจ้าดีเด่นกว่าบางคนในเรื่องปัจจัยยังชีพ” (อันนะหลฺ: 71)

และตรัสอีกว่า

﴿ إِنَّ رَبَّكَ يَبۡسُطُ ٱلرِّزۡقَ لِمَن يَشَآءُ وَيَقۡدِرُۚ إِنَّهُۥ كَانَ بِعِبَادِهِۦ خَبِيرَۢا بَصِيرٗا ٣٠﴾ [الإسراء: ٣٠] 

“แท้จริง พระเจ้าของเจ้าทรงเพิ่มพูนปัจจัยยังชีพแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และทรงให้คับแคบ แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้ เป็นผู้ทรงเห็นปวงบ่าวของพระองค์” (อัลอิสรออ์: 30)

อิบนุกะษีร กล่าวอธิบายอายะฮฺดังกล่าวว่า หมายถึงพระองค์คือผู้ทรงรอบรู้ปรีชาญาณและทรงเห็นว่าบุคคลใดสมควรที่จะร่ำรวยและบุคคลใดเหมาะที่จะยากจนขัดสน ทั้งนี้ สำหรับคนบางคนนั้นความร่ำรวยมั่งมีอาจจะเป็นบททดสอบเพื่อให้เกิดความชะล่าใจ ในขณะที่ความยากจนก็อาจจะเป็นบทลงโทษเช่นกัน ขออัลลอฮฺทรงให้พวกเรารอดพ้นจากบททดสอบเหล่านี้ด้วยเถิด (ตัฟสีรอิบนุกะษีรฺ เล่ม 8 หน้า 479)

ทั้งนี้ อัลลอฮฺทรงรู้ว่าบางคนอาจจะต้องมีฐานะร่ำรวยถึงจะเป็นคนดี โดยเมื่อใดที่เขามีสภาพยากไร้เขาจะกลายเป็นคนไม่ดี ในขณะที่บางคนมีสภาพตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา

สี่ ผู้ที่ได้รับริซกีอย่างมากมายในดุนยามิได้หมายความว่าเขาคือผู้ที่อัลลอฮฺทรงรัก ดังที่พวกผู้ปฏิเสธศรัทธาเข้าใจจากความโง่เขลาของพวกเขา อัลลอฮฺตรัสถึงพวกเขาว่า

﴿ وَقَالُواْ نَحۡنُ أَكۡثَرُ أَمۡوَٰلٗا وَأَوۡلَٰدٗا وَمَا نَحۡنُ بِمُعَذَّبِينَ ٣٥ ﴾ [سبأ: ٣٥]

“และพวกเขาได้กล่าวอีกว่า พวกเรามีทรัพย์สินและลูกหลานมากกว่า และพวกเราจะไม่ถูกลงโทษ” (สะบะอ์: 35)

จากอายะฮฺนี้บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเข้าใจว่าการที่พวกเขามีทรัพย์สินและลูกหลานที่มากมายนั้น บ่งบอกว่าอัลลอฮฺทรงรักพวกเขา พระองค์จึงทรงตอบโต้พวกเขาโดยตรัสว่า

﴿ أَيَحۡسَبُونَ أَنَّمَا نُمِدُّهُم بِهِۦ مِن مَّالٖ وَبَنِينَ ٥٥ نُسَارِعُ لَهُمۡ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِۚ بَل لَّا يَشۡعُرُونَ ٥٦ ﴾ [المؤمنون : ٥٥-٥٦] 

“พวกเขาคิดหรือว่า แท้จริงสิ่งที่เราได้ให้แก่พวกเขา เช่น ทรัพย์สมบัติ และลูกหลานนั้น เราได้รีบเร่งให้ความดีต่าง ๆ แก่พวกเขากระนั้นหรือ ? เปล่าเลย แต่ทว่าพวกเขาไม่มีความรู้สึก” (อัลมุอ์มินูน: 55-56)

ห้า การได้มาซึ่งริซกีนั้นจำเป็นต้องควบคู่กับการเคารพเชื่อฟังอัลลอฮฺ จะเห็นว่าบางคนยุ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ย เอารัดเอาเปรียบ คดโกงผู้อื่น หรือแสวงหาทรัพย์สินด้วยวิธีการอื่นใดที่ผิดหลักการศาสนา หรือมีความคลุมเครือ อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ فَٱبۡتَغُواْ عِندَ ٱللَّهِ ٱلرِّزۡقَ ﴾ [العنكبوت: ١٧]

“ดังนั้นจงขอเครื่องยังชีพจากอัลลอฮฺเถิด” (อัลอันกะบูต: 17)

            และมีบันทึกในหะดีษซึ่งรายงานจากท่านอบูอุมามะฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« إِنَّ رُوْحَ الْقُدُسِ نَفَثَ فِي رُوعِي أَنَّ نَفْسًا لَنْ تَمُوتَ حَتَّى تَسْتَكْمِلَ أَجَلَهَا وَتَسْتَوْعِبَ رِزْقَهَا، فَاتَّقُوا اللهَ وَأَجْمِلُوا فِي الطَّلَبِ، وَلَا يَحْمِلَنَّ أَحَدَكُمُ اسْتِبْطَاءُ الرِّزْقِ أَنْ يَطْلُبَهُ بِمَعْصِيَةٍ، فَإِنَّ اللَّهَ لَا يُنَالُ مَا عِنْدَهُ إِلَّا بِطَاعَتِهِ » [رواه أبو نعيم في حلية الأولياء 10/27 وصححه الشيخ الألباني في صحيح الجامع الصغير برقم 2085] 

“วิญญาณอันบริสุทธิ์ (ญิบรีล) ได้ส่งสารให้ฉันรู้ว่าชีวิตหนึ่งชีวิตใดจะไม่จบสิ้นลงจนกว่าอายุขัยที่กำหนดไว้สำหรับชีวิตนั้นจะสิ้นสุดลง และมันได้รับริซกีที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น พวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงขวนขวายหาริซกีแต่พอดี หากว่าพวกท่านจะได้รับริซกีล่าช้าไปบ้าง ก็อย่าใช้เหตุผลดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการที่พวกท่านจะแสวงหาริซกีด้วยวิธีที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ และจงจำไว้เถิดว่าริซกีของอัลลอฮฺนั้น ต้องแสวงหามาด้วยการเคารพเชื่อฟังพระองค์เท่านั้น” (บันทึกโดย อบูนุอัยมฺ ในหิลยะฮฺ อัลเอาลิยาอ์ เล่ม 10 หน้า 27 และชัยคฺอัลบานีย์ ระบุในเศาะฮีหฺ อัลญามิอฺ อัศเศาะฆีรฺ หะดีษเลขที่ 2085 ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)  

หก ปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญของการได้มาซึ่งริซกี คือการมอบหมายการงานทุกอย่างต่ออัลลอฮฺ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« لَوْ أَنَّكُمْ تَتَوَكَّلُوْنَ عَلَى اللهِ حَقَّ تَوَكُّلِهِ: لَرَزَقَكُمْ كَمَا يَرْزُقُ الطَّيْرَ ، تَغْدُوْ خِمَاصًا ، وَتَرُوْحُ بِطَانًا » [رواه الترمذي برقم 2343] 

“หากพวกท่านมอบหมายต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริงแล้ว แน่นอนพระองค์จะประทานริซกีให้แก่พวกท่าน เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงประทานริซกีให้แก่นก โดยที่มันบินออกไปในยามเช้าด้วยสภาพที่ท้องว่าง แล้วกลับมาในตอนเย็นในสภาพที่ท้องอิ่ม” (บันทึกโดย อัตติรมิซีย์ หะดีษเลขที่ 2343) 

                               อิบนุ เราะญับ กล่าวว่า หะดีษข้างต้นเป็นการยืนยันชัดเจนว่ามนุษย์นั้นขาดการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ โดยที่พวกเขามุ่งแต่ขวนขวายแสวงหาริซกีด้วยวิธีการที่เขาสัมผัสจับต้องได้ และยึดติดอยู่กับสิ่งนั้น พวกเขาจึงรู้สึกเหน็ดเหนื่อยในการที่จะต้องใช้ความพยายามอย่างมากมาย ทั้งที่สิ่งที่พวกเขาจะได้รับก็คือสิ่งที่ถูกกำหนดมาให้พวกเขาอยู่แล้ว ดังนั้น หากพวกเขามอบหมายต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง พระองค์ก็จะทรงประทานริซกีให้แก่เขาอย่างง่ายดาย ดังเช่นที่พระองค์ทรงประทานริซกีให้แก่นก โดยให้มันบินออกไปหาอาหารแล้วบินกลับรัง ซึ่งถือเป็นการขวนขวายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ญามิอฺ อัลอุลูม วัล หิกัม เล่ม 2 หน้า 502)

 

 

 

 

.....................................................................

 

แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ

ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/727551

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).