Loading

 

การกันสิทธิในมรดก (อัล-หัจญ์บุ)

การกันสิทธิในมรดก (อัล-หัจญ์บุ)

 

การกันสิทธิ (อัล-หัจญ์บุ)  หมายถึง  การกันมิให้ผู้เป็นทายาทได้รับมรดกไม่ว่าจากมรดกทั้งหมดหรือจากส่วนแบ่งที่ดีกว่า

การกันสิทธิ  นับเป็นบทหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งของวิชาว่าด้วยเรื่องมรดก ผู้ที่ไม่รู้รายละเอียดบทนี้อาจจะทำให้เจ้าของสิทธิไม่ได้รับมรดกหรือส่วนแบ่งอาจจะถูกจัดให้กับผู้ที่ไม่มีสิทธิ ซึ่งทั้งสองประการเป็นความผิดและเป็นการอธรรม

 

ทิศทางหรือฝั่งการสืบมรดกของผู้รับมรดกแบบส่วนที่เหลือ(อะเศาะบะฮฺ)

1.  ลูกชายและทายาทลำดับรองลงไป

2.  พี่น้องชายร่วมพ่อแม่

3.  พี่น้องชายร่วมพ่อ

4.  ลูกชายของพี่น้องชายร่วมพ่อแม่

5.  ลูกชายของพี่น้องชายร่วมพ่อ

6.  ลุงและอาร่วมพ่อแม่เดียวกับพ่อของผู้ตาย

7.  ลุงและอาร่วมพ่อเดียวกับพ่อของผู้ตาย

8.  ลูกชายของลุงและอาร่วมพ่อแม่

9.  ลูกชายของลุงและอาร่วมพ่อ

กลุ่มบุคคลเหล่านี้เมื่อผู้รับส่วนเหลือมีเพียงคนเดียว เขาจะได้รับทรัพย์สินทั้งหมด และเขาจะได้รับส่วนที่เหลือจากส่วนแบ่งที่ถูกกำหนดให้แก่ผู้อื่น ตัวอย่างเช่น มีคนหนึ่งได้เสียชีวิตลงโดยได้ทิ้งลูกชายของพี่ชายร่วมพ่อแม่เอาไว้ กรณีนี้เขาจะได้รับทรัพย์สินทั้งหมด

 

ลักษณะต่างๆ ของบรรดาทายาท

บรรดาทายาทเมื่ออยู่ร่วมกันหลายๆ คน มี 3 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

1.  เมื่อทายาททั้งหมดที่มีอยู่ร่วมกันเป็นผู้ชายทุกคน ผู้ที่จะได้รับมรดกมีเพียง 3 คนเท่านั้น ประกอบด้วย พ่อ ลูกชาย และสามี กรณีนี้มรดกจะถูกแบ่งออกเป็น 12 ส่วน สำหรับพ่อจะได้รับ 1/6 คือ 2 ส่วน สามีได้รับ ¼ คือ 3 ส่วน และส่วนที่เหลืออีก 7 ส่วนเป็นของลูกชาย 

2.  เมื่อทายาททั้งหมดที่อยู่ร่วมกันเป็นผู้หญิงทุกคน ผู้ที่จะได้รับมรดกมีเพียง 5 คนเท่านั้น ประกอบด้วย ลูกสาว หลานสาว แม่ ภรรยา และพี่น้องสาวร่วมพ่อแม่ ส่วนที่เหลือจะตกไป กรณีนี้มรดกจะถูกแบ่งออกเป็น 24 ส่วน สำหรับภรรยาจะได้รับ 1/8 คือ 3 ส่วน แม่จะได้รับ 1/6 คือ 4 ส่วน ลูกสาว ½ คือ 12 ส่วน และส่วนที่เหลือ 1 ส่วนเป็นของพี่น้องสาวร่วมพ่อแม่

3.  เมื่อทายาททั้งหมดที่อยู่ร่วมกันเป็นผู้ชายและผู้หญิง ผู้ที่จะได้รับมรดกมีเพียง 5 คนเท่านั้น ประกอบด้วย แม่ พ่อ ลูกชาย ลูกสาว และสามีหรือภรรยา

3.1  หากว่าภรรยาอยู่ร่วมกับพวกเขา  ในกรณีนี้มรดกจะถูกแบ่งออกเป็น 24 ส่วน สำหรับพ่อจะได้รับ 1/6 คือ 4 ส่วน แม่ได้รับ 1/6 คือ 4 ส่วน ภรรยาได้รับ 1/8 คือ 3 ส่วน และส่วนที่เหลือเป็นของลูกชายและลูกสาว โดยที่ลูกชายจะได้รับเท่ากับส่วนได้ของลูกสาวสองคน 

3.2  หากว่าสามีอยู่ร่วมกับพวกเขา  ในกรณีนี้มรดกจะถูกแบ่งออกเป็น 12 ส่วน สำหรับพ่อจะได้รับ 1/6 คือ 2 ส่วน แม่ได้รับ 1/6 คือ 2 ส่วน สามีได้รับ 1/4 คือ 3 ส่วน และส่วนที่เหลือเป็นของลูกชายและลูกสาว โดยที่ลูกชายจะได้รับเท่ากับส่วนได้ของลูกสาวสองคน

 

ประเภทต่างๆ ของการกันสิทธิ

การกันสิทธิแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.     

การกันสิทธิด้วยกับคุณลักษณะ

            หมายถึง การที่ทายาทมีคุณลักษณะที่ต้องห้ามมิให้รับมรดก กล่าวคือ ด้วยการเป็นทาส การฆาตกรรมเจ้าของทรัพย์ การมีศาสนาที่ต่างกับเจ้าของทรัพย์ ซึ่งมันจะครอบคลุมถึงทายาททั้งหมด ดังนั้น บุคคลที่มีคุณลักษณะหนึ่งลักษณะใดจากที่กล่าวมาเขาจะไม่มีสิทธิรับมรดก และการมีเขาอยู่ก็เหมือนกับการไม่มีเขา (กล่าวคือ ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการแบ่งมรดก)

 

 

2.     

การกันสิทธิด้วยกับบุคคล

          การกันสิทธิด้วยกับบุคคล -คือเป้าหมายของบทนี้-  หมายถึง การที่ทายาทบางคนถูกกันสิทธิด้วยกับอีกบางคน

            การกันสิทธิลักษณะดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.     

การกันสิทธิเพียงบางส่วน (หัจญ์บุ นุกศอน)

2.     

การกันสิทธิแบบเบ็ดเสร็จ (หัจญ์บุ หิรมาน)

 

หนึ่ง การกันเพียงบางส่วน (หัจญ์บุ นุกศอน)

หมายถึง การที่ทายาทคนหนึ่งถูกกันสิทธิจากส่วนแบ่งที่ดีกว่า โดยได้รับมรดกด้วยกับปริมาณที่น้อยลงอันเนื่องมาจากมีผู้กันสิทธิ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้กับทายาททุกคน

การกันเพียงบางส่วนถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1. การกันสิทธิเพียงบางส่วนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนย้าย (อัล-อินติกอล) มีอยู่ 4 ลักษณะด้วยกัน ดังนี้

1.1  การเปลี่ยนจากรับอัตราส่วนที่ถูกกำหนด(ฟัรฎู)ไปรับส่วนที่มีปริมาณน้อยกว่า พวกเขามีจำนวน 5 คน ประกอบด้วย สามี ภรรยา แม่ หลานสาว และพี่น้องสาวร่วมพ่อ เช่น กรณีที่สามีเปลี่ยนจากการรับ ½ ไปเป็น ¼ ของมรดก เป็นต้น

1.2  การเปลี่ยนจากรับส่วนที่เหลือ(อะเศาะบะฮฺ)ไปรับอัตราส่วนที่ถูกกำหนด(ฟัรฎู)ในปริมาณที่น้อยกว่า ซึ่งในกรณีนี้มีเฉพาะพ่อและปู่เท่านั้น

1.3  การเปลี่ยนจากรับอัตราส่วนที่ถูกกำหนด(ฟัรฎู)ไปรับส่วนที่เหลือ(อะเศาะบะฮฺ)ในปริมาณที่น้อยกว่า กรณีนี้เป็นสิทธิของผู้ที่รับ ½ ของมรดก ประกอบด้วยลูกสาว หลานสาว พี่น้องสาวร่วมพ่อแม่ และพี่น้องสาวร่วมพ่อ เมื่อบุคคลกลุ่มนี้รับมรดกร่วมกับพี่น้องชายของพวกเขา

1.4  การเปลี่ยนจากรับส่วนที่เหลือ(อะเศาะบะฮฺ)ไปรับส่วนที่เหลือ(อะเศาะบะฮฺ)ในปริมาณที่น้อยกว่า ซึ่งจะเกิดขึ้นกับผู้ที่รับส่วนที่เหลือพร้อมกับผู้อื่น ดังนั้น พี่น้องสาวร่วมพ่อแม่หรือพี่น้องสาวร่วมพ่อเมื่อรับมรดกร่วมกับลูกสาวหรือหลานสาวของผู้ตายจะได้รับส่วนที่เหลือคือ ½ ของมรดก และหากพวกนางรับร่วมกับพี่น้องชายของพวกนาง นางจะได้รับจากส่วนที่เหลือร่วมกัน โดยที่ผู้ชายจะได้รับเท่ากับส่วนได้ของผู้หญิงสองคน

 

2. การกันสิทธิเพียงบางส่วนอันเนื่องมาจากการทับซ้อนกัน (อัล-อิซดิหาม) มีอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน ดังนี้

2.1  การทับซ้อนกันของผู้รับตามอัตราส่วนที่ถูกกำหนด(ฟัรฎู) ซึ่งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับบุคคล 7 คนด้วยกัน อันประกอบด้วย ปู่ ภรรยา บรรดาลูกสาว บรรดาหลานสาว พี่น้องสาวร่วมพ่อแม่ พี่น้องสาวร่วมพ่อ และพี่น้องร่วมแม่ อาทิเช่น การแทรกของลูกสาว 2 คน หรือพี่น้องสาว 2 หรือมากกว่านั้น ซึ่งพวกนางจะได้รับ 2/3 ของมรดก 

2.2  การทับซ้อนกันของผู้รับส่วนที่เหลือ(อะเศาะบะฮฺ) ซึ่งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับบรรดาผู้รับส่วนที่เหลือทั้งหมด เช่น บรรดาลูกชาย บรรดาพี่น้องชาย บรรดาลุงอา และในทำนองเดียวกันนี้ อาทิเช่น การแทรกของลูกชาย 2 คน หรือพี่น้องชาย 2 หรือมากกว่านั้น

2.3  การทับซ้อนกันของผู้รับแบบ อัล-เอาลฺ (การเพิ่มขึ้นของฐานปัญหาที่ทำให้ส่วนแบ่งลดลง) ซึ่งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับบรรดาผู้รับตามอัตราส่วนที่ถูกกำหนด เมื่อพวกเขาต่างก็เบียดกัน

 

สอง การกันสิทธิแบบเบ็ดเสร็จ (หัจญ์บุ หิรมาน)

หมายถึง การที่ทายาทคนหนึ่งกันสิทธิอีกคนไม่ให้ได้รับมรดกเลย มันจะเกิดขึ้นกับบรรดาทายาททั้งหมดยกเว้นบุคคล 6 คน ประกอบด้วย พ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูกชาย และลูกสาว

 

กฎเกณฑ์ของการกันสิทธิแบบเบ็ดเสร็จด้วยกับบุคคล

1.  บรรดาทายาททั้งหมดที่เป็นต้นตระกูล (พ่อหรือปู่) จะกันสิทธิผู้ที่อยู่ระดับสูงขึ้นไปที่เป็นเพศเดียวกัน เช่น พ่อจะกันสิทธิบรรดาปู่ หรือแม่จะกันสิทธิบรรดาย่า/ยาย และในทำนองเดียวกันนี้

 

2.  บรรดาทายาทที่เป็นผู้ชายผู้สืบสายตระกูลจะกันสิทธิผู้ที่อยู่ระดับรองลงไปไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือไม่ก็ตาม เช่น ลูกชายจะกันสิทธิบรรดาหลานชายและหลานสาว และลูกสาวจากผู้สืบสายตระกูลจะไม่ไปกันสิทธิผู้ที่อยู่ในระดับรองลงไปนอกจากในกรณีที่พวกนางรับ 2/3 ของมรดก และเมื่อนั้นพวกนางก็จะกันสิทธิผู้หญิงที่อยู่ในระดับรองลงไปจากพวกนางได้ นอกจากจะได้รับแบบอะเศาะบะฮฺพร้อมกับผู้ชาย ดังนั้น พวกเขาก็จะได้รับส่วนที่เหลือด้วย 

 

3.  บรรดาทายาททั้งหมดที่เป็นต้นตระกูล(อุศูล)และเป็นผู้สืบสายตระกูล(ฟุรูอฺ)จะกันสิทธิบรรดาญาติผู้ร่วมสายเลือดคนอื่นๆ (หะวาชี) โดยไม่ยกเว้นว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง

บรรดาญาติผู้ร่วมสายเลือด(หะวาชี)นั้น ประกอบด้วย พี่น้องชายและพี่น้องหญิงร่วมพ่อแม่ หรือร่วมพ่อและบรรดาลูกชายของพวกเขา พี่น้องร่วมแม่ ลุงอาร่วมพ่อแม่หรือร่วมพ่อและบรรดาลูกชายของพวกเขา ส่วนบรรดาผู้หญิงที่เป็นต้นตระกูลหรือเป็นผู้สืบสายตระกูลจะไม่ไปกันสิทธิบรรดาญาติผู้ร่วมสายเลือดนอกจากบรรดาผู้หญิงที่เป็นผู้สืบสายตระกูลเท่านั้น อาทิเช่น บรรดาลูกสาวและบรรดาหลานสาวจะกันสิทธิพี่น้องร่วมแม่ 

 

4.  บรรดาผู้ร่วมสายเลือดส่วนหนึ่งจะกันสิทธิอีกส่วนหนึ่ง หากคนหนึ่งคนใดจากพวกเขาได้รับส่วนที่เหลือเขาก็จะไปกันสิทธิต่อผู้ที่อยู่ระดับต่ำกว่า ในด้านทิศทางหรือฝั่งการสืบมรดก(อัล-ญิฮะฮฺ) ความใกล้ชิด(อัล-กุรบฺ) หรือความเข้มข้นทางสายเลือด (อัล-กูวะฮฺ)

อาทิเช่น พี่น้องชายร่วมพ่อจะถูกกันสิทธิให้ตกไปโดยพี่น้องชายร่วมพ่อแม่และพี่น้องสาวร่วมพ่อแม่ที่รับส่วนเหลือร่วมกับผู้อื่น

และลูกชายของพี่น้องชายร่วมพ่อแม่ถูกกันสิทธิให้ตกไปโดยพี่น้องชายร่วมพ่อแม่ และพี่น้องสาวร่วมพ่อแม่ที่รับส่วนเหลือร่วมกับผู้อื่น และพี่น้องชายร่วมพ่อ และพี่น้องสาวร่วมพ่อที่รับส่วนเหลือร่วมกับผู้อื่น และลูกชายของพี่น้องชายร่วมพ่อจะถูกกันสิทธิให้ตกไปโดยบุคคลทั้งสี่กลุ่มที่ได้กล่าวผ่านมา และถูกกันสิทธิโดยลูกชายของพี่น้องชายร่วมพ่อแม่ด้วยเช่นกัน

ลุงและอาร่วมพ่อแม่จะถูกกันสิทธิให้ตกไปโดยบุคคลทั้งห้าที่ได้กล่าวผ่านมา และถูกกันสิทธิโดยลูกชายของพี่น้องชายร่วมพ่อ

ลุงและอาร่วมพ่อจะถูกกันสิทธิให้ตกไปโดยบุคคลทั้งหกที่ได้กล่าวผ่านมา และถูกกันสิทธิโดยลุงและอาร่วมพ่อแม่

ลูกชายของลุงและอาร่วมพ่อแม่จะถูกกันสิทธิให้ตกไปโดยบุคคลทั้งเจ็ดที่ได้กล่าวผ่านมา และถูกกันสิทธิโดยลุงและอาร่วมพ่อ

ลูกชายของลุงและอาร่วมพ่อจะถูกกันสิทธิให้ตกไปโดยบุคคลทั้งแปดที่ได้กล่าวผ่านมา และถูกกันสิทธิโดยลูกชายของลุงและอาร่วมพ่อแม่

  ส่วนพี่น้องร่วมแม่จะถูกกันสิทธิให้ตกไปโดยทายาทผู้สืบสายตระกูลและทายาทผู้ชายที่เป็นต้นตระกูล

 

5.  ทายาทที่เป็นต้นตระกูลจะไม่ถูกกันสิทธินอกจากโดยผู้เป็นต้นตระกูลด้วยกัน และทายาทผู้สืบสายตระกูลจะไม่ถูกกันสิทธินอกจากโดยผู้สืบสายตระกูลด้วยกันดั่งที่กล่าวผ่านมาแล้ว ส่วนบรรดาญาติผู้ร่วมสายเลือดจะถูกกันสิทธิโดยทายาททั้งที่เป็นต้นตระกูล และทายาทผู้สืบสายตระกูล และยังถูกกันสิทธิโดยผู้ร่วมสายเลือดด้วยกัน 

 

6.  บรรดาทายาทที่กันสิทธิแบบเบ็ดเสร็จแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

6.1  กลุ่มที่กันสิทธิผู้อื่นแต่จะไม่ถูกกันสิทธิ ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกชาย และลูกสาว

6.2  กลุ่มที่ถูกกันสิทธิแต่จะไม่กันสิทธิผู้อื่น ประกอบด้วย บรรดาพี่น้องร่วมแม่

6.3  กลุ่มที่จะไม่กันสิทธิและจะไม่ถูกกันสิทธิ ประกอบด้วย สามี และภรรยา

6.4  กลุ่มที่กันสิทธิและถูกกันสิทธิ ประกอบด้วย บรรดาทายาทที่เหลือทั้งหมด 

 7.  นายทาสไม่ว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงจะถูกกันสิทธิโดยบรรดาเครือญาติที่ใกล้ชิดที่รับมรดกส่วนที่เหลือ(อะเศาะบะฮฺ)

 

....................................................

 

แปลโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

 

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/371336

 

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).