Loading

 

การถือศีลอดวันอาชูรออฺและตาซูอาอฺ

 การถือศีลอดวันอาชูรออฺและตาซูอาอฺ


คุณค่าของการถือศีลอด

การถือศีลอด มีภาคผลคุณงามความดีมากมาย ที่ไม่มีผู้ใดคณานับได้นอกจากอัลเลาะฮ์ ตะอาลา แต่เพียงผู้เดียว ด้วยเหตุดังกล่าว อัลเลาะฮ์ ตะอาลา ได้ทรงพาดพิงการถือศีลอดมายังพระองค์เองเพื่อเป็นเกียรติแก่การถือศีลอด ได้มีระบุไว้ในหะดิษกุดซีย์ว่า

ท่านอะบูฮุร็อยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวรายงานว่า

سَمِعْتُ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَقُولُ قَالَ اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ لَهُ إِلَّا الصِّيَامَ هُوَ لِي وَأَنَا أَجْزِي بِهِ

“ฉันได้ยินท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า อัลเลาะฮ์ อัซซะวะญัลล่า ทรงตรัสว่า ทุกอะมัลของลูกหลานอาดัมนั้น เป็นของเขา นอกจากการถือศีลอด มันเป็นของข้า และข้าจะตอบแทนเอง” รายงานโดยอัลบุคอรีย์, ฮะดีษลำดับที่ 1904, และมุสลิม, ฮะดีษลำดับที่ 161 .

ดังนั้นการตอบแทนด้วยพระองค์เองนั้น ถือว่าเป็นการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่และทรงให้อย่างกว้างขวางอย่างคณานับไม่ได้ เพราะพระองค์ได้ทรงตอบแทนในฐานะของพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยิ่ง ดังนั้นการตอบแทนก็จะยิ่งใหญ่จนคณานับไม่ได้เช่นกัน ซึ่งไม่มีผู้ใดรู้ถึงภาคผลของการตอบแทนการถือศีลอดได้นอกจากอัลเลาะฮ์ตะอาลาเพียงองค์เดียวเท่านั้น

ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวอีกเช่นกันว่า

‏مَنْ صَامَ يَوْمًا فِي سَبِيلِ اللَّهِ بَعَّدَ اللَّهُ وَجْهَهُ عَنْ النَّارِ ‏ ‏سَبْعِينَ خَرِيفًا

“ผู้ใดทำการถือศีลอด (ด้วยการต่อสู้และบริสุทธิ์ใจ) ในวิถีทางของอัลเลาะฮ์ อัลเลาะฮ์จะทรงให้เขาห่างไกลจากไฟนรกถึง 70 ปี” รายงานโดยบุคอรีย์, ฮะดีษลำดับที่ 2628 .

การถือศีลอดในวันอาชูรออฺและตาซูอาอฺ

การถือศีลอดในวันตาซูอาอฺและอาชูรออฺนั้น เป็นซุนนะฮ์ของท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม วันตาซูอาอฺ คือวันที่ 9 ของเดือนมุหัรร็อม และวันอาชูรออฺ คือวันที่ 10 ของเดือนมุหัรร็อม

หลักฐานการถือศีลอดศีลอดของวันทั้งสอง

ท่านอิบนุอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า

قَدِمَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ الْمَدِينَةَ فَرَأَى الْيَهُودَ تَصُومُ يَوْمَ عَاشُورَاءَ فَقَالَ مَا هَذَا قَالُوا هَذَا يَوْمٌ صَالِحٌ هَذَا يَوْمٌ نَجَّى اللَّهُ بَنِي إِسْرَائِيلَ مِنْ عَدُوِّهِمْ فَصَامَهُ مُوسَى قَالَ فَأَنَا أَحَقُّ بِمُوسَى مِنْكُمْ فَصَامَهُ وَأَمَرَ بِصِيَامِهِ

“ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้มาที่นครมะดีนะฮ์ ท่านเห็นพวกยิวทำการถือศีลอดในวันอาชูรออฺ ดังนั้นท่านนะบีย์จึงถามว่า นี้คือวันอะไร พวกเขากล่าวว่า นี้คือวันดี เป็นวันที่อัลเลาะฮ์ได้ให้ท่านนะบีย์ของบะนีอิสรออีล (นะบีย์มูซา) รอดพ้นจากศัตรู (คือฟิรอูน) ดังนั้นท่านนะบีย์มูซาจึงถือศีลอด (เพื่อขอบคุณอัลเลาะฮ์) ท่านนะบีย์จึงกล่าวว่า ฉันมีสิทธิมากกว่าพวกท่านเกี่ยวกับมูซา ดังนั้นท่านนะบีย์จึงถือศีลอดวันอาชูรออฺและสั่งใช้ให้ถือศีลอด” รายงานโดยอัลบุคอรีย์, ฮะดีษลำดับที่ 2004 .

และท่านก่อตาดะฮ์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า

سُئِلَ عَنْ صَوْمِ يَوْمِ عَاشُوْرَاءَ فَقَالَ يُكَفِّرُ السَّنَةَ الْمَاضِيَةَ

“ท่านนะบีย์ได้ถูกถามเรื่องการถือศีลอดวันอาชูรออฺ ดังนั้นท่านนะบีย์ตอบว่า มันจะลบล้างความผิดของปีที่ผ่านไป” รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษลำดับที่ 1162 .

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า

‏كَانَتْ ‏ ‏قُرَيْشٌ ‏ ‏تَصُومُ عَاشُورَاءَ فِي الْجَاهِلِيَّةِ وَكَانَ رَسُولُ اللَّهِ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏يَصُومُهُ فَلَمَّا هَاجَرَ إِلَى ‏ ‏الْمَدِينَةِ ‏ ‏صَامَهُ وَأَمَرَ بِصِيَامِهِ فَلَمَّا فُرِضَ شَهْرُ رَمَضَانَ قَالَ ‏ ‏مَنْ شَاءَ صَامَهُ وَمَنْ شَاءَ تَرَكَهُ

“ชาวกุเรชเคยทำการถือศีลอดวันอาชูรออฺในสมัยญาฮีลียะฮ์ และท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำการถือศีลอดเช่นกัน ดังนั้นในขณะที่ท่านได้อพยพสู่นครมะดีนะฮ์ ท่านได้ใช้ให้ทำการถือศีลอด (วันอาชูรออฺ) และในขณะที่เดือนรอมะฎอนถูกฟัรดู (ให้ถือศีลอด) ท่านร่อซูลุลลอฮ์ จึงกล่าวว่า ผู้ใดต้องการจะถือศีลอด ก็จงทำเถิด และผู้ใดที่ต้องการละทิ้ง ก็ละทิ้งเถิด”รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษลำดับที่ 1897 .

ท่านอิบนุอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า

قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لَئِنْ بَقِيتُ إِلَى قَابِلٍ لَأَصُومَنَّ التَّاسِعَ

“ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ถ้าหากฉันมีชีวิตอยู่จนถึงปีหน้า ฉันจะต้องถือศีลอดในวันที่เก้า” รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษลำดับที่ 1134 .

ฮิกมะฮ์การถือศีลอดวันตาซูอาอฺ

ฮิกมะฮ์อีกประการหนึ่งในการถือศีลอดวันตาซูอาอฺ ก็เพื่อจะขัดแย้งรูปแบบการถือศีลอดกับพวกยิวที่ถือเพียงวันอาชูรออฺเท่านั้น ดังนั้นถ้าหากมิได้ถือศีลอดวันตาซูอาอฺแต่ถือศีลอดเพียงแค่วันอาชูรออฺเท่านั้น ก็สุนัตให้ทำการถือศีลอดในวันที่ 11 เพื่อจะได้แตกต่างกับยิว

ท่านอิบนุอับบาส ได้กล่าวว่า

قَالَ: رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ صُومُوا يَوْمَ عَاشُورَاءَ وَخَالِفُوا الْيَهُودَ صُومُوا قَبْلَهُ يَوْمًا أَوْ بَعْدَهُ يَوْمًا

“ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า พวกท่านจงถือศีลอดวันอาชูรออฺ และพวกท่านจงแตกต่างกับพวกยิว คือพวกท่านจงถือศีลอดก่อนวันอาชูรออฺหนึ่งวัน (คือวันที่ 9) หรือถือศีลอดวันหลังวันอาชูรออฺอีกหนึ่งวัน (คือวันที่ 11)” รายงานโดยอิหม่ามอะห์มัด, อัลมุสนัด, เล่ม 1 หน้า 241 .

ฮะดีษนี้เป็นฮะดีษฏออีฟ เพราะมี “มุฮัมมัด บิน อับดุรเราะห์มาน อิบนุ อะบีลัยลา” ซึ่งเขามีความจำไม่ดี ดังนั้นคำสั่งใช้ให้ถือศีลอดในรูปแบบที่แตกต่างจากยิวจึงไม่เด็ดขาดถึงขั้นจำเป็น แต่ฮะดีษฎออีฟนำมาปฏิบัติในเรื่องคุณความดีได้ตามหลักการของสะละฟุศศอลิห์ เช่น อิหม่ามอัชชาฟิอีย์ เป็นต้น

ท่านอิมามอัลค่อฏีบ อัชชัรบีนีย์ ได้กล่าวว่า

فَإِنْ لَمْ يَصُمْ مَعَهُ تَاسُوْعَاءَ سُنَّ أَنْ يَصُوْمَ مَعَهُ الحَادِيَ عَشَرَ بَلْ نَصَّ الشَّافِعِيُّ فِي الأُمِّ وَالإِمْلاَءِ عَلَي إسْتِحْبَابِ صَوْمَ الثَّلاَثَةِ

“ถ้าหากเขามิได้ถือศีลอดวันที่ 9 พร้อมกับวันที่ 10 มุฮัรร็อม ก็สุนัตให้เขาทำการถือศีลอดในวันที่ 11 มุฮัรร็อม ยิ่งกว่านั้น อิมามอัชชาฟิอีย์ได้กล่าวระบุในหนังสือ อัลอุมมฺและหนังสืออัลอิมลาอฺว่า สุนัตให้ถือศีลอดในสามวัน (คือวันที่ 9, 10, และ 11 มุฮัรร็อม)” มุฆนิลมั๊วะห์ตาจญฺ, เล่ม 2 หน้า 197

 

 

 

...............................................................

 

 

 

 

คัดลอกจาก  : http://www.sunnahstudent.com/main/content/147

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).