Loading

 

คำแนะนำแด่คุณครู

คำแนะนำแด่คุณครู

 

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งโลกทั้งผอง  ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่านโดยทั่วกัน ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว และไม่มีภาคีใดๆร่วมกับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่า ท่านนบีมุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

 

สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นคำสั่งเสียที่ฉันขอสั่งเสียตัวฉันเองและบรรดาคุณครูทุกท่าน ขออัลลอฮฺโปรดให้คำสั่งเสียนี้เกิดประโยชน์ด้วยเถิด

 

ประการที่หนึ่ง ตั้งเจตนาในการสั่งสอนบุตรหลานหรือลูกศิษย์ด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺแต่เพียงผู้เดียว อบรมพวกเขาให้อยู่ในหนทางที่เป็นที่พอพระทัยของพระองค์ และมีความอดทนโดยหวังการตอบแทนจากพระองค์ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า ความบริสุทธิ์ใจคือการที่ท่านไม่เรียกร้องให้ผู้ใดเห็นการกระทำของท่านนอกเหนือจากอัลลอฮฺตะอาลา และไม่หวังให้ผู้ใดมาตอบแทนนอกจากพระองค์ สิ่งดังกล่าวนี้เป็นแก่นแท้ของศาสนา และกุญแจสำคัญของการเผยแผ่ของบรรดาศาสนทูตของอัลลอฮฺ พระองค์ตรัสว่า

﴿وَمَآ أُمِرُوٓاْ إِلَّا لِيَعۡبُدُواْ ٱللَّهَ مُخۡلِصِينَ لَهُ ٱلدِّينَ﴾  [البينة: ٥]

ความว่า ”และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์” (อัล-บัยยินะฮฺ : 5)

 

พระองค์ตรัสอีกว่า

﴿ قُلۡ إِنَّنِي هَدَىٰنِي رَبِّيٓ إِلَىٰ صِرَٰطٖ مُّسۡتَقِيمٖ دِينٗا قِيَمٗا مِّلَّةَ إِبۡرَٰهِيمَ حَنِيفٗاۚ وَمَا كَانَ مِنَ ٱلۡمُشۡرِكِينَ ١٦١ قُلۡ إِنَّ صَلَاتِي وَنُسُكِي وَمَحۡيَايَ وَمَمَاتِي لِلَّهِ رَبِّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ١٦٢ لَا شَرِيكَ لَهُۥۖ وَبِذَٰلِكَ أُمِرۡتُ وَأَنَا۠ أَوَّلُ ٱلۡمُسۡلِمِينَ ١٦٣﴾ [الأنعام : 161-163]

ความว่า ”จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด)ว่า แท้จริงฉันนั้น พระเจ้าของฉันได้แนะนำฉันไปสู่ทางอันเที่ยงตรง คือศาสนที่เที่ยงแท้อันเป็นแนวทางของอิบรอฮีมผู้ใฝ่หาความจริง และเขา(อิบรอฮีม) ไม่เป็นผู้อยู่ในหมู่ผู้ให้มีภาคีขึ้น จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่า แท้จริงการละหมาดของฉัน การอิบาะฮฺของฉัน การมีชีวิตของฉัน และการตายของฉันนั้นเพื่ออัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลกเท่านั้น   ไม่มีภาคีใดๆ แก่พระองค์ และด้วยสิ่งนั้นแหละข้าพระองค์ถูกใช้ และข้าพระองค์คือคนแรกในหมู่ผู้สวามิภักดิ์ทั้งหลาย” (อัล-อันอาม : 161-163)

 

ความบริสุทธิ์ใจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้งานถูกตอบรับ งานจะไม่ถูกตอบรับนอกเสียจากเงื่อนไขสองประการด้วยกัน คือ

หนึ่ง รูปลักษณ์ภายนอกของงานต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติของอัลลอฮฺ  หรือมาจากสิ่งที่ท่านเราะสูลได้อธิบายไว้ มีรายงานจากท่านอิหม่ามอัล-บุคอรียฺ จากหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ได้กล่าวว่า

«مَنْ أَحْدَثَ فِي أَمْرِنَا هَذَا مَا لَيْسَ مِنْهُ فَهُوَ رَدٌّ» (رواه البخاري برقم: 2697، ومسلم برقم: 1718)

ความว่า “ผู้ใดประดิษฐ์งานใดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาของเรา การงานนั้นถือเป็นโมฆะ(ไม่ถูกรับ)” (อัล-บุคอรียฺ หมายเลข 2697 มุสลิม หมายเลข  1718)

 

สอง ตั้งเจตนาในการทำงานให้มีความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺตะอาลาแต่เพียงผู้เดียว รายงานจากท่านอิหม่ามอัล-บุคอรียฺและท่านอิหม่ามมุสลิม จากหะดีษของท่านอุมัร บิน ค็อฏฏอบ ว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إِنَّمَا الأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ، وَإِنَّمَا لِكُلِّ امْرِئٍ مَا نَوَى» (البخاري برقم : 1، ومسلم برقم : 1907)

ความว่า “แท้จริงงานนั้นขึ้นอยู่กับเจตนา และทุกๆคนก็จะได้ตามที่เขาตั้งเจตนาไว้”  (อัล-บุคอรียฺ หมายเลข 1  มุสลิม หมายเลข 1907)

 

ท่านอัล-ฟุฎ็อยลฺ บิน อิยาฎ กล่าวว่า “งานที่ดีที่สุดคือ งานที่มีความบริสุทธิ์ใจและถูกต้องตามแบบฉบับ” และท่านยังกล่าวอีกว่า “ถ้าหากงานที่ทำมีความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺตะอาลา แต่ไม่ถูกต้อง งานนั้นก็ไม่ถูกรับ และถ้างานนั้นถูกต้องแต่ไม่มีความบริสุทธิ์ใจเพื่อพระองค์ งานนั้นก็ไม่ถูกรับอีกเช่นกัน จนกว่างานนั้นจะมีความบริสุทธิ์ใจและความถูกต้องควบคู่กันจึงจะได้รับการตอบรับ  ความบริสุทธิ์ใจ คือ การกระทำเพื่อพระองค์ ส่วนความถูกต้อง คือ การทำตามซุนนะฮฺ” (ดู มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน 2/93)

สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่จะบ่งบอกว่ามีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ คือ การที่บ่าวกระทำความดีและเขาก็ไม่สนใจว่าจะมีผู้ใดรู้เห็นหรือรับรู้หรือไม่ ยิ่งถ้ามีผู้เข้าใจผิดคิดว่างานที่เขาทำผู้อื่นเป็นเป็นผู้กระทำ จะยิ่งทำให้เขามีความปิติยินดี เพราะรู้ว่าอัลลอฮฺได้จดบันทึกความดีไว้แล้ว ณ ที่พระองค์

มีผู้กล่าวถามท่านสะฮัล อัต-ตัสตะรียฺว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ทำใจยากมากที่สุด? เขากล่าวว่า “ความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ เพราะความบริสุทธิ์ใจไม่มีผลตอบแทนใดๆ เลย” (หมายถึงผลตอบแทนในโลกนี้)

 

ประการที่สอง จงยำเกรงอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลล์ และพึงระลึกอยู่ตลอดว่าพระองค์ทรงสอดส่องดูแลอยู่เสมอทั้งในที่ลับและที่แจ้ง การยำเกรงอัลลอฮฺเป็นสิ่งที่บรรดาบรรพชนทั้งรุ่นก่อนและรุ่นหลังกำชับกันไว้ อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า

﴿وَلَقَدۡ وَصَّيۡنَا ٱلَّذِينَ أُوتُواْ ٱلۡكِتَٰبَ مِن قَبۡلِكُمۡ وَإِيَّاكُمۡ أَنِ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَۚ﴾    [النساء : 131]

ความว่า ”และแท้จริง เราได้สั่งเสียบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ก่อนหน้าพวกเจ้า และพวกเจ้าด้วย ว่าจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด”  (อัน-นิสาอ์ : 131)

 

ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สั่งเสียสาวกของท่านเป็นอย่างมากให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ จากหะดีษของท่านอัล-อิรบาฎ บิน สาริยะฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า

«أُوصِيكُمْ بِتَقْوَى اللَّهِ وَالسَّمْعِ وَالطَّاعَةِ» (رواه أبو داود برقم : 4607)

ความว่า “ฉันขอสั่งเสียพวกท่านให้ยำเกรงและเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺตะอาลา  (อบู ดาวูด หมายเลข 4607)

 

ท่านฏ็อลกฺ บิน หะบีบ กล่าวว่า “การยำเกรงคือการที่ท่านเชื่อฟังอัลลอฮฺ ตามแนวทางอันเป็นรัศมีที่มาจากพระองค์ โดยหวังการตอบแทนจากพระองค์ และละทิ้งสิ่งที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ ตามแนวทางที่มาจากพระองค์ โดยเกรงกลัวการลงโทษของพระองค์”

และจงระวังการกระทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ทั้งที่เป็นบาปใหญ่และบาปเล็ก พระองค์ทรงสัญญาว่าหากผู้ใดออกห่างจากบาปใหญ่ พระองค์จะทรงอภัยโทษในความผิดเล็กๆ น้อยๆ ของเขา และจะให้เขาได้เข้าสวนสวรรค์อันมีเกียรติ พระองค์ตรัสว่า

﴿إِن تَجۡتَنِبُواْ كَبَآئِرَ مَا تُنۡهَوۡنَ عَنۡهُ نُكَفِّرۡ عَنكُمۡ سَيِّ‍َٔاتِكُمۡ وَنُدۡخِلۡكُم مُّدۡخَلٗا كَرِيمٗا ٣١﴾  [النساء : 31]

ความว่า”หากพวกเจ้าปลีกตัวออกจากบรรดาบาปใหญ่ๆ ของสิ่งที่พวกเจ้าถูกห้ามให้ละเว้นมันแล้ว เราก็จะลบล้างบรรดาความผิดเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเจ้า ให้ออกจากตัวพวกเจ้า และเราจะให้พวกเจ้าเข้าอยู่ในสถานที่อันมีเกียรติ” (อัน-นิสาอ์ : 31)

 

สถานที่อันมีเกียรติหมายถึง สถานที่ที่มีความดีและความจำเริญอย่างมากมาย 

และจงระวังบาปเล็ก มีรายงานจากท่านอิหม่ามอัล-บุคอรียฺ ในหนังสือเศาะฮีหฺของท่าน จากหะดีษของท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า

«إِنَّكُمْ لَتَعْمَلُونَ أَعْمَالًا، هِيَ أَدَقُّ فِي أَعْيُنِكُمْ مِنَ الشَّعَرِ، إِنْ كُنَّا لَنَعُدُّهَا عَلَى عَهْدِ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مِنَ المُوبِقَاتِ» قَالَ أَبُو عَبْدِ اللَّهِ: «يَعْنِي بِذَلِكَ المُهْلِكَاتِ» (رواه البخاري برقم 6492)

ความว่า” แท้จริง พวกท่านจะทำงานหนึ่งที่พวกท่านอาจจะเห็นว่าเป็นสิ่งเล็กยิ่งกว่าเส้นผมในสายตาของพวกท่าน แต่ทว่าในสมัยท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พวกเราถือว่ามันเป็นบาปใหญ่”  ท่านอบู อับดุลลอฮฺ กล่าวว่า “หมายถึง สิ่งที่จะนำไปสู่ความพินาศ” (อัล-บุคอรียฺ : 6492)

 

ท่านอัล-เอาซาอียฺกล่าวว่า “ท่านอย่าได้มองตรงความเล็กน้อยของบาปที่ท่านทำ แต่จงพิจารณาถึงความยิ่งใหญ่ของ(อัลลอฮฺ)ผู้ที่ท่านฝ่าฝืนพระองค์”

 

ประการที่สาม เป็นแบบอย่างดี เป็นที่ทราบกันดีว่าลูกศิษย์จะได้รับอิทธิพลจากอาจารย์ และชอบเลียนแบบการกระทำและทำตามในเรื่องต่างๆ  ผู้เป็นครูและคณาจารย์ทั้งหลายจึงจำเป็นจะต้องไม่ให้คำพูดและการปฏิบัติสวนทางกัน อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ لِمَ تَقُولُونَ مَا لَا تَفۡعَلُونَ ٢ كَبُرَ مَقۡتًا عِندَ ٱللَّهِ أَن تَقُولُواْ مَا لَا تَفۡعَلُونَ ٣﴾  [ الصف : 2-3]

ความว่า” โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ทำไมพวกเจ้าจึงกล้าพูดในสิ่งที่พวกเจ้าไม่ปฏิบัติ เป็นที่น่าเกลียดยิ่งที่อัลลอฮฺ การที่พวกเจ้าพูดในสิ่งที่พวกเจ้าไม่ปฏิบัติ” (อัศ-ศ็อฟ : 2-3)

 

พระองค์ตรัสเกี่ยวกับนบีชุอัยบฺไว้ว่า

﴿وَمَآ أُرِيدُ أَنۡ أُخَالِفَكُمۡ إِلَىٰ مَآ أَنۡهَىٰكُمۡ عَنۡهُۚ إِنۡ أُرِيدُ إِلَّا ٱلۡإِصۡلَٰحَ مَا ٱسۡتَطَعۡتُۚ﴾ [هود : 88]

ความว่า “ฉันมิปรารถนาที่จะขัดแย้งกับพวกท่าน ในสิ่งที่ฉันได้ห้ามพวกท่านให้ละเว้น ฉันมิปรารถนาสิ่งใดนอกจากการปฏิรูปให้ดีขึ้นเท่าที่ฉันสามารถ” (ฮูด : 88)

 

นักกวีท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

لَا تَنْهَ عَنْ خُلُقٍ وَتَأْتَيَ بِمِثْلِهِ       عَارٌ عَلَيْكَ إِذَا فَعَلَتْ عَظِيْم

มารยาทใดที่ท่านห้ามคนอื่น ท่านก็อย่าทำเป็นเยี่ยงอย่าง    

เป็นเรื่องน่าอายที่ใหญ่หลวงที่ท่านจะทำตัวอย่างในสิ่งที่ท่านห้ามคนอื่น

 

ประการที่สี่ มีคุณลักษณะนิสัยที่ดี อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า

﴿ وَقُل لِّعِبَادِي يَقُولُواْ ٱلَّتِي هِيَ أَحۡسَنُۚ إِنَّ ٱلشَّيۡطَٰنَ يَنزَغُ بَيۡنَهُمۡۚ إِنَّ ٱلشَّيۡطَٰنَ كَانَ لِلۡإِنسَٰنِ عَدُوّٗا مُّبِينٗا ٥٣﴾  [ الإسراء:  53]

ความว่า ”และจงกล่าวแก่ปวงบ่าวของข้าที่พวกเขากล่าวแต่คำพูดที่ดียิ่งว่า แท้จริง ชัยฏอนนั้นมันยุแหย่ระหว่างพวกเขา แท้จริงชัยฏอนนั้นเป็นศัตรูที่เปิดเผยของมนุษย์” (อัล-อิสรออ์ : 53)

 

ในและอีกอายะฮฺ พระองค์ตรัสว่า

﴿وَلَا تَسۡتَوِي ٱلۡحَسَنَةُ وَلَا ٱلسَّيِّئَةُۚ ٱدۡفَعۡ بِٱلَّتِي هِيَ أَحۡسَنُ فَإِذَا ٱلَّذِي بَيۡنَكَ وَبَيۡنَهُۥ عَدَٰوَةٞ كَأَنَّهُۥ وَلِيٌّ حَمِيمٞ ٣٤﴾ [فصلت : 34]

ความว่า ”และความดีและความชั่วนั้นหาเท่าเทียมกันไม่ เจ้าจงขับไล่ (ความชั่ว) ด้วยสิ่งที่มันดีกว่า แล้วเมื่อนั้นผู้ที่ระหว่างเจ้ากับเขาเคยเป็นอริกันก็จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิทกันได้” (ฟุศศิลัต : 34)

 

มีรายงานจากท่านอัต-ติรมิซียฺในหนังสือสุนันของท่าน จากหะดีษของท่านอบู อัด-ดัรดาอ์ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ  ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า

«مَا شَيْءٌ أَثْقَلُ فِي مِيزَانِ المُؤْمِنِ يَوْمَ القِيَامَةِ مِنْ خُلُقٍ حَسَنٍ، وَإِنَّ اللَّهَ لَيُبْغِضُ الفَاحِشَ البَذِيءَ» (رواه الترمذي برقم 2002 وقال: حديث حسن صحيح)

ความว่า” ไม่มีสิ่งใดในวันกิยามะฮฺที่จะทำให้ตราชูของผู้ศรัทธาหนักยิ่งไปกว่าการมีคุณลักษณะนิสัยที่ดีงาม แท้จริงอัลลอฮฺทรงกริ้วผู้ที่ลามกและหยาบคาย” (อัต-ติรมิซียฺ หมายเลข 2002)

 

การมีคุณลักษณะนิสัยที่ดีครอบคลุมทุกส่วนของวิถีชีวิตมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นด้านการพูดจา การกระทำ  การเคารพสักการะต่อพระเจ้า และการปฏิบัติตัวต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อัล-มุบาร็อกกล่าวว่า “การมีนิสัยดี คือการมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ขยันทำสิ่งดีๆ ยับยั้งสิ่งไม่ดีงาม และอดทนอดกลั้นต่อการกระทำต่างๆ ของผู้คน”

ด้วยเหตุนี้ฉันขอสั่งเสียคุณครูทุกท่าน ให้มีนิสัยที่ดีงามกับนักเรียน เด็กๆ และผู้ปกครอง ให้มีความอ่อนโยนในการแสดงออกกับพวกเขา

รายงานจากท่านอิหม่ามมุสลิม จากหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮาว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«إِنَّ الرِّفْقَ لَا يَكُونُ فِي شَيْءٍ إِلَّا زَانَهُ، وَلَا يُنْزَعُ مِنْ شَيْءٍ إِلَّا شَانَهُ» (مسلم برقم 2593)

ความว่า” ความอ่อนโยนนั้นจะไม่อยู่กับสิ่งใด ยกเว้นจะทำให้สิ่งนั้นงดงาม และจะไม่ถูกถอดจากสิ่งใดนอกจากว่าจะทำให้สิ่งนั้นน่ารังเกียจ” (มุสลิม หมายเลข 2593)

 

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  เป็นผู้ที่มีนิสัยดีที่สุด ผู้ใดต้องการมีคุณลักษณะนิสัยที่ดี ก็จงยึดตามแนวทางของ มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  รายงานจากท่านอัต-ติรมิซียฺ จากหะดีษของท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ กล่าวว่า

«خَدَمْتُ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَشْرَ سِنِينَ فَمَا قَالَ لِي أُفٍّ قَطُّ، وَمَا قَالَ لِشَيْءٍ صَنَعْتُهُ لِمَ صَنَعْتَهُ، وَلَا لِشَيْءٍ تَرَكْتُهُ لِمَ تَرَكْتَهُ» (الترمذي برقم 2015، وأصله في الصحيحين)

ความว่า “ฉันอยู่รับใช้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  เป็นเวลาสิบปี ท่านไม่เคยกล่าวกับฉันสักครั้งเลยว่า อุ๊ฟ(เป็นคำพูดที่แสดงความไม่พอใจ) และท่านก็ไม่เคยพูดในสิ่งที่ฉันได้กระทำไปว่า “ทำไมท่านถึงได้ทำเช่นนี้?” หรือกล่าวกับฉันในสิ่งที่ฉันละทิ้งไม่ได้กระทำว่า “ทำไมท่านถึงไม่ทำมันเล่า?” (อัต-ติรมิซียฺ หมายเลข 2015)

 

ประการที่ห้า ครูต้องเอาใจใส่ในการอบรมสั่งสอนนักเรียนและลูกศิษย์อย่างถูกต้อง ต้องสอนหลักคำสอนของอิสลามและการอีหม่าน ปลูกจิตสำนึกความรักอัลลอฮฺและการให้ความยิ่งใหญ่ต่อพระองค์ให้เข้าไปฝังอยู่ในจิตใจของศิษย์ ให้พวกเขามีความรักท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม รวมถึงอธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องทำตามแบบอย่างของท่านและปฏิบัติตามแนวทาง(ซุนนะฮฺ)ของท่าน สอนมารยาทที่ดีงามต่างๆ และการปฏิบัติตัวที่น่ายกย่อง เช่น มารยาทเกี่ยวข้องกับมัสยิด มารยาทในที่ชุมนุม การให้เกียรติครูบาอาจารย์และผู้อาวุโส มารยาทต่อเพื่อนฝูงและมิตรสหาย สอนให้เคยชินกับการพูดจาสุภาพ ตักเตือนไม่ให้พูดจาหยาบคาย และมารยาทอื่นๆ ที่เป็นมารยาทที่ดีงาม

 

การสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้เป็นเจ้าแห่งโลกทั้งผอง ขออัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดประทานพรและความสันติแด่ท่านนบีมุหัมมัดศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม และแก่วงศ์วานตลอดจนมิตรสหายของท่านโดยทั่วกัน

 

 

.......................................................

 

แปลโดย : อันซอรี เพ็ชรทองคำ

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม  อุษมาน

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/354715

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).