Loading

 

บทบาทของพ่อในอิสลาม

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงปกป้องตัวของสูเจ้าและครอบครัวของสูเจ้าให้พ้นจากไฟนรก ซึ่งเชื้อเพลิงของมันนั้นคือมนุษย์และหิน” (อัตตะฮฺรีม 6)

คำว่า “พ่อ” เราทุกคนเคยใช้ในการเรียกผู้บังเกิดเกล้า ผู้ที่เลี้ยงดูเรา ผู้ที่คอยเฝ้าอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเรา งานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งจากอีกลหลาย ๆ ชิ้นงานที่พ่อได้ทำให้เรา

อิสลามในฐานะเป็นศาสนาที่สมบูรณ์แบบได้ให้ความสำคัญกับผู้เป็นพ่อถึงขนาดว่า เป็นผู้ดูแลกิจการทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับสถาบันครอบครัว พ่อคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้ที่ได้รับอามานะฮฺจากอัลลอฮฺ กอร์ปกับการที่ต้องถูกสอบในวันอาคีเราะฮฺต่อหน้าที่อันสำคัญนี้ ดังหะดีษบทหนึ่ง “...พวกท่านทุกคนเป็นผู้ปกครอง และพวกท่านทุกคนจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่อยู่ใต้การปกครอง ผู้นำเป็นผู้ปกครอง บรุรุษนั้นเป็นผู้ปกครองสมาชิกครอบครัวของเขา...” (บันทึกโดย มุสลิม 3/1459 ภาคว่าด้วยการปกครอง บทที่ว่าด้วยผู้นำที่ยุติธรรม)

จากการที่ผู้เป็นพ่อต้องรับผิดชอบ หรือรับอะมานะฮฺจากอัลลอฮฺ ทำให้เขาต้องคำนึงถึงอนาคตของตนเองและผู้ใต้การปกครองของท่าน ท่านต้องพยายามตัดถนนบนเส้นทางที่ปราศจากภยันตรายเพื่อการเดินทางของรถ “ครอบครัว” ให้เกิความผาสุขทั้งยุคนี้และมีชีวาที่สง่างามในโลกหน้า อินชาอัลลอฮฺ ท่านต้องเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยการเลือกเนื้อคู่หรือศรีภรรยาที่ศอลิหะฮฺ นั่นคืออะมานะฮฺแรกที่ท่านต้องรับผิดชอบกอร์ปกับทายาทที่สมัครมาใหม่เมื่อ ท่านได้ตำแหน่ง “พ่อ” และนั่นก็คืออะมานะฮฺชิ้นที่สองซึ่งผู้เขียนจะขอกล่าว ณ ที่นี้ หวังว่าจะไดัรับการชี้นำจากอัลลอฮฺ

แด่ ... ผู้เป็นพ่อมือใหม่หรือจะเป็นมือเก่าก็ตาม ของขวัญชิ้นแรกที่ท่านต้องมอบให้กับลูกรักก็คือการส่งเสียงอาซานข้างๆ หูของลูก จากนั้นท่านลองป้อนเนื้ออินทผาลัมให้ลูกได้ชิมพร้อมด้วยหยดน้ำตามเข้าปาก ฉากนี้มีชื่อตามภาษาบ้านเราว่า “เปิดปาก” และท่านต้องหาชื่อดีๆ ที่จะตั้งให้กับลูก แล้วอย่าลืมเชือดสัตว์ อะกีเกาะฮฺ เพื่อตามซุนนะฮฺ สิ่งเหล่านี้ท่านควรศึกษาจากตำราศาสนา ลูกของท่านคืออะมานะฮฺอันสำคัญที่ท่านต้องแบกรับเอาไว้อย่างหนักอึ้ง ทารกที่เกิดมาใหม่นั้นเป็นชีวิตที่มีจิตใจที่ใสสะอาดปราศจากเชื้อโรคมะอฺศิ ยัต ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า “เด็กทุกคนนั้นเกิดมาตามธรรมชาติที่สะอาดบริสุทธิ์ ดังนั้นพ่อแม่ของเขานั่นแหละที่ทำให้เขาเป็นยิว เป็นคริสต์ หรือเป็นพวกบูชาไฟ” (บันทึกโดย บุคอรีย์ 2/125 ภาคว่าด้วยการจัดการศพ)

จากบทหะดีษข้างต้นจะเห็นได้ว่าอิสลามมอบบทบาทที่สำคัญให้แก่พ่อแม่ในการรักษา ความบริสุทธิ์ของลูกๆ ให้คงไว้ตลอดไป โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่บ้านเมืองเฟื่องฟูด้วยโรคร้ายภยันตรายหลายๆ ด้าน สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ข่มเหงรังแก ล่วงละเมิดทางเพศและที่เด็ดไปกว่านั้นคือผู้ที่เป็นความหวังของสังคม ความหวังของศาสนาได้พากันมั่วสุมสิ่งผิดกฏหมาย ฉนั้นการอบรมสั่งสอนลูกๆ นั้นเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญเพราะมีผลต่อศาสนา ต่อสังคมและประเทศชาติ

ณ วรรคนี้ ผู้เขียนอยากจะขออนุญาตหยิบยกสองชิ้นงานใหญ่ๆ ที่ผู้เป็นพ่อต้องตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งนั้นก็คือการให้การ ศึกษา(ความรู้) และการอบรมบ่มนิสัยลูกๆ

(1) การให้การศึกษา (ให้ความรู้)

ทารก นั้นจะเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิด เริ่มจากวิธีการดูดนมแม่ การส่งเสียงร้องเมื่อเกิดการหิวและอีกหลายพฤติกรรมที่ทารกแสดงออกมา เรามักจะเห็นพฤติกรรมเด็กๆ ในช่วงอายุต้นๆ เหมือนกับพ่อบ้าง เหมือนกับแม่ หรือพี่น้องคนอื่นๆบ้าง จากการศึกษาพบว่า 90 เปอร์เซ็น ต์ เด็กสามารถที่จะทำตามคนอื่นในช่วงอายุห้าปีแรก โดยเฉพาะพ่อคือต้นแบบที่ลูกๆ นำมาวาดลวดลายในตัวเอง ดังนั้นพ่อจึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องเสนอแบบอย่างที่ดีต่อหน้าลูกๆ ท่านอิบนุล เญาซี ได้กล่าวไว้ว่า “การอบรมที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆ หากปล่อยไว้จนโต แน่อนมันเป็นสิ่งที่ยากมาก” (อัตฏิบ อัรรูหานีย์ หน้า 60) ดังที่กวีท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

กิ่งไม้นั้น หากท่านดัด มักจะตรง                   แต่คงไม่ เมื่อเป็นไม้ ที่แข้งกร้าว
เมื่อยังเด็ก เก็บได้พอ ต่อคำกล่าว                 พอเป็นเยาว์ กล่าวเท่าไหร่ ไม่เป็นผล

ด้วยเหตุที่ว่าการให้การศึกษาเป็นหน้าที่หนึ่งที่คุณพ่อต้องให้กับลูกๆ ฉนั้นคุณพ่อต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องศาสนา สิ่งไหนเป็นสิ่งหะลาลและสิ่งไหนเป็นสิ่งหะรอม มีความรู้ในเรื่องการอบรมลูก สอนให้ลูกๆ ได้ปฏิบัติศาสนกิจประจำวันเช่นการละหมาดที่ถูกต้อง การใช้ชีวิตตามครรลองของอิสลาม ถ้าหากคุณพ่อเป็นผู้หนึ่งที่ปราศจากความรู้ทางศาสนาก็จงอย่าละทิ้งลูกๆ ให้สังคมดูดไป สุดท้ายก็เป็นขยะสังคม จงเลือกสถานที่เรียนให้แก่ลูกๆ หวังเพื่ออนาคตข้างหน้าลูกจะได้เป็นของขวัญอันล้ำค่าให้กับสังคมที่ดี

เด็กเล็กนั้นไม่สามารถที่จะแยกแะระหว่างสิ่งที่ดีกับสิ่งที่เลว แต่จะคอยตามคำสั่งหรือการอบรมบ่มนิสัยจากผู้ใหญ่ เด็กจะใช้ชีวิตบนเส้นทางที่ผู้ใหญ่ได้ลากเส้นไว้ หากผู้ใหญ่หรือผู้เป็นพ่อไม่ได้กำหนดเส้น ไม่ได้ให้คำชี้แนะ แน่นอนชีวิตของเด็กจะต่ำต้อยด้อยโอกาสในทางที่ดี ดังนั้นพ่อจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการชุบชีวิตลูกเพื่อให้ลูกได้เป็นผู้ ที่มีมารยาทงาม ห่างไกลจากสิ่งเลวร้าย สุดท้ายคือพำนักอยู่ ณ สวนสวรรค์ที่สุขสบาย

เราลองมาดูแบบฉบับที่ประทับใจจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม แสดงให้กับผู้เป็นพ่อ ดังที่มีสายรายงานว่า ครั้งหนึ่ง ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เห็นเด็กคนหนึ่งซึ่งกำลังลอกหนังสัตว์อย่างผิดๆ ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เล่าว่า “หลีกหน่อยน่ะ เดี๋ยวฉันจะทำให้ดู” แล้วท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ทำตัวอย่างให้ดูด้วยการเอามือล้วง (รายงานโดยอบูดาวูด หมายเลขหะดีษ 185) นี่คือแบบฉบับที่ดี ถึงแม้ว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม มีงานใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบ แต่ท่านก็ไม่ได้ละเลยกับการที่จะช่วยชี้แนะให้กับเด็กเล็กๆ ในเรื่องการลอกหนังสัตว์ ทั้งๆ ที่ว่าซอหาบะฮฺคนอื่นๆ ก็สามารถที่จะช่วยให้การชี้แนะได้ แต่อะไรเล่าเป็นสิ่งกีดขวางที่คอยห้ามผู้เป็นพ่อไม่ให้ร่วมกับลูก ณ เวลาที่เหมาะสม เพื่อการให้ความรู้หรืออบรมบ่มนิสัย ซึ่งมันสำคัญยิ่งไปกว่าการลอกหนังสัตว์เสียอีก สำหรับผู้เป็นพ่อแล้วการให้คาวามรู้นั้นไม่ใช่ว่าต้องใช้วิธีที่ได้ถูกกำหนด ไว้แล้ว แต่ที่สำคัญคือการให้ความรู้ การปลูกฝังหลักการศรัทธาที่เที่ยงตรง มายาทงามที่ยึดหลักอัลกุรอานและซนนะฮฺ หากวิธีการบรรยายเป็นเรื่องยากสำหรับเขา ก็จงใช้วิธีการ่อ่รน วิธีการตอบคำถาม หรือวิธีอื่นๆ ที่เห็นเหมาะสมกับวัยเด็ก และไม่ใช่ว่า จะให้ความรู้ในช่วงเวลาที่ได้ถูกกำหนดไว้แน่นอนแล้วเท่านั้น แต่คุณพ่อสามารถที่จะให้ความรู้กับลูกๆ ทุกเวลาที่เห็นว่าสมควร คุณพ่ออาจจะให้ลูกได้ท่องอัลกุรอานหรือหะดีษหรือบทซิกรฺในช่วงที่ท่านกำลัง ขับรถรับส่งลูกจากโรงเรียน ซึ่งเป็นเวลาที่เราสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ (อัลก็อฏฏอน,อะหฺมัด. หน้าที่ของพ่อต่อลูกๆ หน้า36)

(2) การอบรม

นักอบรมมุสลิมได้ให้การยอมรับต่อความสำคัญของการทำโทษ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถจะช่วยในการอบรมบ่มนิสัยของเด็กให้ดีขึ้นได้ แต่ควรนำมาใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้นและต้องเหมาะสมกับวัยของเด็กด้วย ครั้งหนึ่งท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เห็นอบูบักรฺกำลังตีเด็ก ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แต่ยิ้มและไม่ได้ห้ามแต่ประการใด (รายงานโดย อัลหากิม ใน อัลมุสตัดร็อก เล่ม1 หน้า 454 ) การตีเด็กในกรณีจำเป็นนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ดังหะดีษบทหนึ่งที่มีความว่า “ท่านจงให้ลูกๆ ของท่านละหมาดเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ และเมื่ออายุสิบขวบ(เขาไม่ละหมาด)ให้เฆี่ยนตีได้ และจงแยกที่นอนในระหว่างพวกเขาด้วยกัน” (บันทึกโดย อบูดาวูด หมายเลขหะดีษ 495 ภาคว่าด้วยการละหมาด บทที่ว่าด้วย เมื่อใดที่ต้องสั่งให้เด็กละหมาด)

สำหรับผู้เป็นพ่อต้องเข้าใจว่าการเฆี่ยนตี เป็นมาตรการสุดท้ายที่ควรนำมาใช้การอบรมไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่ลูกทำผิดก็เอา มาตรการนี้มาใช้ จนทำให้ลูกเกิดความเคยชินกับสิ่งนี้ ไม่รู้สึกกลัวและในที่สุดการเฆี่ยนตีก็ไม่มีผลอะไรกับลูกๆ มิหนำซ้ำ การทำโทษวิธีอื่นๆ เช่น การไม่พูดไม่คุยด้วย การไม่ให้เงินในแต่ละวันก็ยิ่งไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อลูกๆ เลย ฉนั้นผู้เป็นพ่อต้องพยายามเลือกใช้วิธีในการอบรมบ่มนิสัยลูกๆ ให้เหมาะสมและตามขั้นตอนของความจำเป็น โดยเริ่มจากการไม่ส่งเสริมให้ลูกทำผิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ถ้ามีการทำผิดอีกก็ให้บอกกับลูกว่า สิ่งนี้เป็นที่พ่อไม่เห็นด้วย จากนั้นก็ทำโทษโดยการทำสีหน้าที่แสดงความโกรธ การทำทีไม่สนใจลูก การไม่ให้ในสิ่งที่ลูกชอบ จนกระทั่งมาตรการสุดท้ายคือการทำโทษด้วยการเฆี่ยนตีเพียงเบาๆ ก่อน ซึ่งต้องเป็นวิธีสุดท้ายเท่านั้น

อบรมพ่อ ต่อลูกนั้น มันสำคัญ                  อย่าหันเห เขวไปจาก รากอิสลาม
ทำโทษที สีหน้านั้น พยายามหลั่ง             กริ้วโกรธกัน เป็นธรรมดา ฉายาพ่อ
พ่อครับพ่อ อย่ามัวรอ ขอสายสาย            เดี๋ยวบ๊ายบาย สายห่วงใย ไร้ชีวา
มารยาทลูก ควรเพาะปลูก ยุคต้นกล้า        อย่ามัวช้า พาล่มจม ขมขื่นเอย.



โดย ... อบู อับดิลหะกีม (ฮัมกา มะวิง)

บทความเก่าจากเว็บห้องสมุดอิสลามยะลา


Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).