Loading

 

มาเข้าใจพระนามของอัลลอฮฺ “อัล-หะกีม” กันเถิด

มาเข้าใจพระนามของอัลลอฮฺ “อัล-หะกีม” กันเถิด

           

อัลลอฮฺได้ตรัสในสูเราะฮฺอัล-อะอฺรอฟ  โองการที่  180  

ความว่า “อัลลอฮฺทรงมีพระนามอันวิจิตรยิ่ง ดังนั้น พวกเจ้าจงวิงวอนขอต่อพระองค์ด้วยพระนามเหล่านั้นเถิด  และพวกเจ้าจงเลี่ยงจากบรรดาผู้ที่เบี่ยงเบนพระนามของพระองค์  แล้วพวกเขาจะได้รับการตอบแทนจากสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติ“ (อัล- อะอฺรอฟ  : 180)

 

            มีรายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า  ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«إِنَّ لِلَّهِ تِسْعَةً وَتِسْعِينَ اسْمًا، مِائَةً إِلَّا وَاحِدًا مَنْ أَحْصَاهَا دَخَلَ الْجَنَّةَ» رواه البخاري ومسلم

ความว่า “แท้จริง สำหรับอัลลอฮฺนั้นมีพระนามอยู่ 99 พระนาม คือ 100 พระนามเว้นเพียงแค่พระนามเดียวเท่านั้น ใครก็ตามที่เขาได้ท่องจำ เข้าใจ และปฏิบัติตามพระนามเหล่านั้น  แน่นอนเขาจะได้เข้าสวรรค์ “ (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ: 2736 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 4835 )

 

            และพระนามหนึ่งของอัลลอฮฺที่มีกล่าวไว้ในอัลกุรอานจากหลายๆ พระนามของพระองค์คือ อัล-หะกีม 

อิบนุ กะษีรฺ อธิบายว่า “อัล-หะกีม หมายถึง อัลลอฮฺทรงมีปรีชาญาณ ทั้งในถ้อยพระดำรัสและสิ่งที่พระองค์ทำ พระองค์ได้จัดวางทุกสิ่งได้อย่างเหมาะสมด้วยความปรีชาญาณและด้วยความยุติธรรมยิ่ง” (ตัฟซีร อิบนิ กะษีรฺ เล่ม 1 หน้า 184)

อนึ่ง คำว่า อัล-หะกีม  มีความหมายสองนัย คือ

ความหมายที่หนึ่ง  อัลลอฮฺทรงเป็นผู้พิพากษาอย่างเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวในจักรวาลนี้ 

-         

อัลลอฮฺทรงกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างแก่ปวงบ่าวให้เป็นไปตามความประสงค์ของพระองค์ 

-         

ทรงตัดสินในข้อพิพาทระหว่างปวงบ่าวด้วยศาสนาและบัญญัติกฎหมายของพระองค์ 

-         

และจะทรงตอบแทนภาคผลบุญแก่ปวงบ่าวในวันกิยามะฮฺด้วยความเมตตาและยุติธรรมยิ่ง ดังนั้น จึงมิบังควรแก่ปวงบ่าวที่จะนำกฎระเบียบและกฎหมายใดๆ มาบังคับใช้อื่นจากกฎหมายของอัลลอฮฺ

ความว่า “พวกเขาปรารถนากฎหมายของญาฮิลียะฮฺอีกกระนั้นหรือ ทั้งที่กฏหมายของอัลลอฮฺดีกว่าสำหรับบรรดาผู้ที่มั่นใจ” (อัล-มาอิดะฮฺ : 50)

 

ความว่า “พวกเจ้าจงตัดสินในข้อพิพาทระหว่างกันด้วยกฎหมายของอัลลอฮฺเถิด นั่นแหละคืออัลลอฮฺ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าของฉัน  ซึ่งฉันมอบหมายและพึ่งพิงพระองค์” (อัช-ชูรอ : 10)

           ความหมายที่สอง คือ อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงปรีชาญาณยิ่ง  (ซุล หิกมะฮฺ ) 

อัล-หิกมะฮฺ หมายถึง การจัดวางสิ่งต่างๆ ไว้ได้อย่างเหมาะสมสมดุลยิ่ง ดังนั้นกฎเกณฑ์ต่างๆ ของอัลลอฮฺทั้งหมดมีความเป็นธรรม และมีความสมดุลยิ่ง พระองค์จึงได้มีข้อใช้และข้อห้าม มีการตอบแทนในความดีและลงโทษในความชั่ว ซึ่งล้วนแล้วจะต้องมีเหตุผลทั้งสิ้น

 

ความว่า “พวกเจ้าคิดหรือว่าเราสร้างพวกเจ้ามาโดยไร้เป้าหมายโดยที่พวกเจ้าจะไม่กลับมายังเรา อัลลอฮฺทรงสูงส่งยิ่ง(จากคำกล่าวอ้างเช่นนั้น)ผู้ทรงปกครองและทรงสัจจริงยิ่งนัก ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การภักดีนอกจากอัลลอฮฺองค์เดียว ผู้ซึ่งเป็นพระเจ้าแห่งบัลลังค์อันทรงเกียรติ” (อัล-มุอ์มินูน : 115-116)

 ความว่า “และเราไม่ได้สร้างชั้นฟ้า แผ่นดิน และทุกสิ่งทุกอย่างมาอย่างไร้เหตุผล นั่นเป็นความคาดเดาของบรรดาผู้ปฏิเสธ  ดังนั้น บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาจะได้รับความวิบัติแห่งไฟนรกเป็นสิ่งตอบแทน” (ศอด : 27) 

 (ดู อัฎ-ฎิยาอุล ลามิอฺ มินัล คุเฏาะบิล ญะวามิอฺ :1/ 86-87)

       

อนึ่ง คำว่า “ อัล-หะกีม” มีปรากฏในอัลกุรอานมากกว่า 90 ครั้ง ส่วนใหญ่จะมาคู่กับ “อัล-อะซีซ” และ

”อัล-อะลีม” ซึ่งหมายความว่าความปรีชาสามารถของอัลลอฮฺเกิดมาจากอำนาจและความรอบรู้ที่สมบูรณ์แบบ

 

ความว่า “และไม่มีการช่วยเหลือใดๆ เว้นแต่ย่อมต้องมาจากอัลลอฮฺผู้ทรงเดชานุภาพและทรงปรีชาญาณยิ่งเท่านั้น” (อาล อิมรอน  126)

ความว่า “เราจะยกฐานะแก่ผู้ที่เราประสงค์ขึ้นหลายชั้น แท้จริงพระเจ้าของเจ้า เป็นผู้ทรงปรีชาญาณผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง” (อัล-อันอาม : 83)

 

ผลที่ได้รับจากการศรัทธาต่อพระนามอัล-หะกีม

1- แท้จริง บทบัญญัติแห่งอิสลามมาจากอัลลอฮฺผู้ทรงปรีชาญาณ ผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง บัญญัติกฎหมายของพระองค์มีมาเพื่อให้มนุษยชาติได้มีชีวิตที่ดีมีสุข ไม่มีกฎหมายใดในโลกใบนี้ที่จะให้ความยุติธรรมยิ่งไปกว่ากฎหมายของอัลลอฮฺ แก่ผู้ที่เข้าใจ ศรัทธาและเชื่อมั่น ซึ่งเขารู้ดีว่าอัลลอฮฺเป็นผู้ตัดสินที่ดีที่สุด

ความว่า “มิใช่อัลลอฮฺดอกหรือ ที่เป็นผู้ตัดสินที่ดีเยี่ยมในบรรดาผู้ตัดสินทั้งหลาย” (อัต-ตีน : 8)

 ความว่า ”ดังนั้น จงอดทนเถิดจนกว่าอัลลอฮฺจะทรงชี้ขาดระหว่างเรา และพระองค์นั้นคือผู้ที่ดีเยี่ยมในหมู่ผู้ชี้ขาดทั้งหลาย” (อัล-อะอฺรอฟ : 87)

 ความว่า “พระองค์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งเราะสูล(ศาสนทูต)ขึ้นคนหนึ่งในหมู่ผู้ไม่รู้จักหนังสือจากพวกเขาเอง เพื่อสาธยายโองการต่างๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และขัดเกลาให้พวกเขาผุดผ่อง และได้สอนคัมภีร์และหิกมะฮฺ(ความรู้อันเป็นสุนนะฮฺ)แก่พวกเขา และแม้ว่าแต่ก่อนนี้พวกเขาอยู่ในการหลงผิดอย่างชัดแจ้งก็ตาม” (อัล-ญุมุอะฮฺ : 2)

 

            2. การลิขิตและการกำหนดความดีความชั่วของอัลลอฮฺรวมถึงการบริหารจัดการแก่ปวงบ่าวมีความปรีชาญาณและเหตุผลที่สมบูรณ์ยิ่งนัก

ความว่า “(ทั้งๆ ที่อัลกุรอานนี้) มีวิทยปัญญาอย่างลึกซึ้ง แต่การตักเตือนนั้นไม่บังเกิดผล (แก่พวกเขาเนื่องจากพวกเขาผินหลังให้และปฏิเสธ)” (อัล-เกาะมัรฺ : 5)

           อิบนุล ก็อยยิมกล่าวว่า ”การกำหนดความดีและความชั่ว การภักดีและการฝ่าฝืน ที่อัลลอฮฺทรงกำหนดนั้นมีวิทยปัญญายิ่งนัก  เกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง หรือที่จะพูดได้อย่างละเอียด” (มะดาริญุสสาลิกีน : 1/ 439)

           

3. คำดำรัสของอัลลอฮฺเต็มเปี่ยมไปด้วยวิทยปัญญาและรัดกุมยิ่ง ไม่มีคำพูดใดที่จะรัดกุมไปกว่าคำดำรัสของอัลลอฮฺ  ได้มีบอกกล่าวถึงคุณลักษณะดังกล่าวไว้ในอัลกุรอานถึงแปดโองการด้วยกัน อาทิเช่น

 

ความว่า “อลิฟ ลาม รออ์ นี่คือคัมภีร์ที่มีโองการรัดกุมชัดเจน และได้ถูกแจกแจงโดยผู้ทรงมีความปรีชาสามารถ ผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง” (ฮูด : 1)

 ความว่า “ยาสีน ขอสาบานด้วยอัลกุรอานที่มีคำสั่งอันรัดกุม” (ยาสีน :1-2)

 

            ดังนั้นเราจะพบว่าอัลกุรอานนี้

-  มีสำนวนที่สละสลวยมากและรัดกุมมาก

-  มีบัญญัติกฎหมายที่รัดกุมและครอบคลุม

-  มีการใช้และห้ามได้อย่างรัดกุมและรอบคอบ

-  มีเรื่องราว เรื่องเล่าและข่าวคราวที่ถูกต้องรัดกุม

-  และมีเนื้อหาที่รัดกุมในทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง

 

            4. อัลลอฮฺจะให้วิทยปัญญา (อัล-หิกมะฮฺ) แก่ผู้ใดที่พระองค์ประสงค์

 

ความว่า “อัลลอฮฺจะให้วิทยปัญญา (อัล-หิกมะฮฺ) แก่ผู้ใดที่พระองค์ประสงค์ และผู้ใดที่ได้รับวิทยปัญญา แน่นอน เขาย่อมได้รับความดีอันมากมาย และไม่มีผู้ใดที่ได้รับบทเรียนเว้นแต่เหล่าผู้มีสติปัญญาเท่านั้น” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 269)

             นักอรรถาธิบายอัลกุรอานได้ชี้แจงคำว่า อัล-หิกมะฮฺ ด้วยนัยที่หลากหลาย เช่น บางท่านให้ความหมายว่า ”อัลลอฮฺจะให้ผู้หนึ่งได้พูดอย่างถูกต้อง(ถูกกาลเทศะ) และกระทำการใดๆ ด้วยความถูกต้อง ใครที่ได้รับประการดังกล่าวจากอัลลอฮฺ นั่นแสดงว่าเขาได้รับความดีงามอันมากมาย”

อัลลอฮฺได้กล่าวแก่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า

ความว่า “และอัลลอฮฺได้ประทานคัมภีร์ลงมาและอัล-หิกมะฮฺ(คือสุนนะฮฺที่อธิบายความเข้าใจในบทบัญญัติแห่งคัมภีร์นั้นด้วย) และได้สอนเจ้าในสิ่งที่เจ้าไม่เคยรู้มาก่อน และความกรุณาของอัลลอฮฺที่มีแก่เจ้านั้นใหญ่หลวงนัก”  (อัน-นิสาอ์ : 113)

 

            ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«لَا حَسَدَ إِلَّا فِي اثْنَتَيْنِ، رَجُلٌ آتَاهُ اللَّهُ مَالًا فَسُلِّطَ عَلَى هَلَكَتِهِ فِي الْحَقِّ، وَرَجُلٌ آتَاهُ اللَّهُ الْحِكْمَةَ فَهُوَ يَقْضِي بِهَا وَيُعَلِّمُهَا» رواه البخاري ومسلم

ความว่า “อย่าได้อิจฉาริษยากันนอกจากในสองเรื่องต่อไปนี้ หนึ่ง ผู้ที่อัลลอฮฺได้ให้เขามีทรัพย์สินและได้ใช้จ่ายไปในหนทางแห่งความดี สอง ผู้มีความรู้ (วิทยปัญญา)ที่ได้ปฏิบัติตามความรู้ที่ตนมีและได้สอนแก่ผู้อื่น” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์  40/73 และมุสลิม 317 /816)

 

            5. สิ่งที่อัลลอฮฺสร้างมาทั้งหมดมีความมั่นคงแข็งแรง ไร้ความบกพร่องใดๆ ทั้งสิ้น

 

ความว่า “และเจ้าจะเห็นขุนเขาทั้งหลาย ที่เจ้าจะคิดว่ามันติดแน่นอยู่กับที่ แต่มันล่องลอยไปเช่นการล่องลอยของเมฆ (นั่นคือ)การงานของอัลลอฮฺซึ่งพระองค์ทรงทำทุกสิ่งอย่างเรียบร้อย แท้จริง พระองค์เป็นผู้ทรงตระหนักยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (อัล-นัมลฺ : 88)

  ความว่า “ผู้ซึ่งสร้างทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความสวยงามยิ่ง และได้สร้างมนุษย์ผู้เริ่มแรกขึ้นมาจากดิน” (อัส-สะญะดะฮฺ 7 : )

             6. อัลลอฮฺได้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างมาด้วยเหตุผลที่สำคัญยิ่ง นั่นคือ เพื่อนอบน้อมภักดีต่อพระองค์

 

ความว่า “ข้ามิได้สร้างญินและมนุษย์มาเพื่ออื่นใด  เว้นแต่เพื่อให้เคารพภักดีต่อข้า ข้าไม่ต้องการปัจจัยยังชีพจากพวกเขา และข้าก็ไม่ต้องการให้พวกเขาให้อาหารแก่ข้า แท้จริง อัลลอฮฺ คือผู้ประทานปัจจัยยังชีพอันมากหลาย ผู้ทรงพลัง ผู้ทรงมั่นคง”  (อัซ-ซาริยาต : 56- 58)

           7. มิเป็นการสมควรที่เราจะตั้งชื่อเรียกตนเองว่า อบุล หะกัม ดังมีปรากฏหะดีษฮานิอ์ บิน ยะซีด เล่าว่า ท่านพร้อมกับพรรคพวกของท่านได้เข้าหาท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  โดยที่พรรคพวกเรียกตัวท่านว่า “อบุล หะกัม” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้เรียกเขามาพบแล้วบอกว่า “อัลลอฮฺเป็นผู้ตัดสินแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น การตัดสินทั้งหมดขึ้นอยู่กับพระองค์ ดังนั้นเจ้าอย่าได้ตั้งชื่อว่า อบุล หะกัม” ฮานิอ์กล่าวตอบว่า “ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเมื่อกลุ่มชนของฉันมีข้อพิพาทระหว่างกันพวกเขาจะพากันมาหาฉันเพื่อตัดสิน เมื่อฉันตัดสินไปแล้วทั้งสองฝ่ายจะมีความพอใจอย่างยิ่ง” ท่านเราะสูลกล่าวว่า “อะไรมันจะช่างดีขนาดนี้ แล้วเจ้ามีลูกชายหรือเปล่า ?” ฮานิอ์ตอบว่า “ฉันมีลูกชายสามคน คือ ชุร็อยหฺ  มุสลิม และอับดุลลอฮฺ” ท่านเราะสูลถามว่า “แล้วใครเป็นคนโต?” ฮานิอ์ตอบว่า “ชุร็อยหฺ” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า “ดังนั้น เจ้าก็คือ อบู ชุร็อยหฺ (แทนชื่อเดิม อบุล หะกัม)” (บันทึกโดยอบูดาวูด 536 : 4955)

(ดูเพิ่มเติมในหนังสือ อัล-มันฮะญุล อัสมา ฟี ชัรหิ อัสมาอิลลาฮิล หุสนา 1/241- 257)

 

 

 

 

 

.................................................................................

 

 

 

แปลโดย : อับดุศศอมัด อัดนาน

ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/340959

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).