Loading

 

ภ า ษ า น่ า เ รี ย น

 

- ภ า ษ า น่ า เ รี ย น-

 

มีงานบางชิ้นที่กำลังทำอยู่ทำให้ต้องนั่งลิสต์รายชื่อคนรู้จักที่ “คล่อก” ทั้งภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ แบบทรีอินวัน(รวมภาษาพี่ไทยด้วย)ในคน ๆ เดียว ปรากฎว่านึกไม่ค่อยจะออกเลย ลิสต์รายชื่อโหวงเหวงเหมือนจำนวนวันหน้าหนาวในกรุงเทพฯ ยังไงยังงั้น

 ทั้งที่ถ้าให้ลิสต์ชื่อคนที่เชี่ยวชาญระดับใช้การได้แยกภาษาอังกฤษ กับภาษาอาหรับ ดูจะยาวเป็นหางว่าวทั้งสองภาษา ที่จริงมันก็ไม่ได้วาญิบอะไรที่เราจะต้องรู้ทั้งสองภาษานี้ แต่ในการทำงานหลาย ๆ ชิ้น มันต้องการคนที่รู้ทั้งสองจริง ๆ

 ดังนั้นเมื่อหายาก เราก็เห็นทีจะต้องมาตั้งแคมเปญรณรงค์ให้พรรคพวกเพื่อนฝูงหันมาสนใจเรียนรู้ทั้งสองภาษานี้หน่อยดีกว่า เพื่อจะได้มาให้เราใช้งาน เอ้ย เพื่อจะได้นำความรู้มาทำงานรับใช้อิสลามน่ะ

 ทำไมเราควรเข้าใจทั้งสองภาษานี้

 จริง ๆ โดยทัศนคติส่วนตัว (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ข้อสรุปใดใด) ค่อนข้างให้ความสำคัญกับภาษาอาหรับมากกว่าภาษาอังกฤษ เหตุผลคงไม่ต้องอรรถาธิบาย ก็ธรรมนูญชีวิตเราถูกประทานลงมาด้วยภาษาอาหรับนี่หว่า และถึงแม้จะหมั่นไส้ภาษาอังกฤษนิดหน่อยตามกิจจะลักษณะของพวกคนมีอคติ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นภาษาสำคัญในการติดตามข้อมูลข่าวสารของโลกทุกวันนี้  เรียกว่าถ้ารู้สองภาษานี้เราจะเข้าถึงทั้งแหล่งข้อมูลข่าวสาร และแหล่งความรู้ขนาดมหึมาที่ค้นคว้าทั้งชีวิตก็ไม่รู้จักจบจักสิ้น

 สรุปคืออยากให้มองการรู้ทั้งสองภาษานี้เป็นคุณสมบัติเบื้องต้น-พื้นฐานของเรา ไม่ใช่ความสามารถพิเศษชวนตื่นตะลึงหรือได้มายากเย็นอะไร (แล้วถ้าอยากได้ภาษาอื่น ๆ เป็นลำดับต่อไป ก็เชิญเลือกสรรตามอัธยาศัย)

ที่จริงตัวเองไม่มีคุณสมบัติอะไรที่จะมาสอนคนอื่นเรื่องการเรียนภาษา เพราะไม่ได้เข้าใกล้สถานะผู้สันทัดกรณีสักนิด ห่างไกลเหมือนฟุตบอลทีมชาติไทยกับการไปบอลโลกซิไม่ว่า แต่อาศัยที่เคยผ่านชั้นเรียนทางภาษามาบ้าง และอย่างที่บอก…ว่ามีงานต้องทำเกี่ยวกับเรื่องนี้ (และเกี่ยวกับการอยากขอช่วยจากชาวบ้านในเรื่องนี้) เลยจะของัดแงะบางวิธีการเรียนภาษาที่อาจเป็นประโยชน์บ้างแก่พี่น้องคนอื่น ๆ มาโม้นิดหน่อย พอให้เห็นช่องทางเอาไปต่อยอดกันสักเล็กน้อย อินชาอัลลอฮฺ

 - ข้อแรกนี่ต้องพูดทุกเรื่อง เหมือนคาถาลงยันต์ แต่มันสำคัญจริง สำคัญจัง นั่นคือเรื่องการเนียตให้แจ่มกระจ่างสะอาดใส

 มีประสบการณ์ตรงหลายเรื่องมาก ๆ ที่ตอกย้ำว่าการทำความสะอาดเนียตของตัวเองไม่ได้มีผลแค่ต่อรางวัลที่เราจะได้รับ แต่มันส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานนั้น ๆ อย่างสำคัญ งานที่มีเนียตกระจ่างเพื่ออัลลอฮฺเพียว ๆ มักจะมีคุณภาพกว่างานที่เนียตปนเปื้อนสิ่งอื่น จริง ๆ นะไม่ได้โม้

 เรื่องการเรียนภาษานี่ก็ใช่ย่อยเลย ในสังคมที่มีจำนวนภาษาที่คนๆหนึ่งรู้เป็นคุณสมบัติวัดอะไรหลาย ๆ อย่างในสายตาผู้คนนับว่าน่ากลัวไม่น้อย ถ้าเราเรียนภาษาแค่เพียงจะได้เท่ไปเท่มากับคำชื่นชมของผู้คนนั่นก็นับว่าหายนะสุด ๆ ไม่รู้ซิ ตัวเองมองว่าคนที่เรียนรู้อะไรอย่างหนึ่งเพื่ออวดโอ่กับผู้คนนี่นอกจากจะดูถูกตัวเอง (ว่าจะมีค่าต่อเมื่อคนอื่นให้ค่า) แล้ว ยังเป็นการดูถูกศาสตร์ที่ตัวเองเรียนด้วย ลองคิดดูว่าคุณตีค่าความรู้ที่คุณสู้อุตส่าห์เล่าเรียนมาแค่คำเยินยอของผู้คน (ซึ่งเป็นสุดยอดของสุดยอดของความไม่มีค่า)เท่านั้นเอง โห ดูถูกอะไรกันอย่างนี้ แล้วความรู้ที่เราดูถูกมันขนาดนี้จะมารักมาใคร่อะไรเราได้ล่ะหนอ

 - สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเราควรมีเป้าหมายการเรียนรู้

 การเรียนภาษามีระดับของมัน เรียนเพื่อใช้สื่อสาร เรียนเพื่อทำข้อสอบ เรียนเพื่อเข้าใจโครงสร้าง เรียนเพื่อเป็นปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญกระจ่างใจในไวยากรณ์ทุกกระบิ ฯลฯ

 อย่างตัวคนเขียนนี่คือเรียนเพื่อเอามาทำงาน (ถัดไปจากเป้าหมายแรกที่เจาะจงเฉพาะภาษาอาหรับว่าเรียนเพื่อเข้าใจอัลกุรอ่าน) ทีนี้งานของเรามันอยู่กับการค้นคว้าเป็นหลัก ดังนั้นทักษะที่พอดำน้ำได้จึงเป็นเรื่องการอ่าน-เขียน ส่วนทักษะฟัง-พูดนั้นแทบจะไม่เป็นสับปะรด และไม่ต้องพูดถึงไวยากรณ์ที่ไม่เป็นแม้แต่เมล็ดสัปปะรด (มันมีหรือเปล่านะ)

 นี่คือตัวอย่างที่แสดงว่าเป้าหมายของเราจะมีผลต่อวิธีการ และผลลัพธ์การเรียนรู้โดยตรง คนที่เรียนเพื่อสื่อสารไม่จำเป็นต้องเข้าใจแกรมม่าละเอียดลออ ส่วนคนที่ทำข้อสอบไวยากรณ์ได้เต็ม เอี๊ยอฺหรอบ(แจกแจงที่มาของคำ)ได้ยาวสามสิบเจ็ดบรรทัดก็ไม่ใช่จะพูดอาหรับปร๋อเสมอไป (เขาถึงบอกกันว่าฝรั่งที่พูดอังกฤษกันเป็นภาษาแม่แต่รู้แกรมม่าน้อยกว่านักศึกษาเอกอังกฤษในไทยนั้นมีถม)

 ฉะนั้นลองถามตัวเองว่าอยากรู้ภาษานั้น ๆ ในระดับไหน และรู้ไปเพื่ออะไร

 - การหาคลาสเรียนที่โอเค ก็เป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะสำหรับผู้เริ่มต้น

 ก็เนื่องจากตัวเองผ่านการเรียนในระยะเริ่มต้นทั้งอาหรับและอังกฤษในห้องเรียนมา(เรียนแบบมีครู) เลยไม่รู้เหมือนกันนะคะว่าการเรียนด้วยตนเองนี่ เราสามารถเรียนได้เลยตั้งแต่เริ่มนับศูนย์หรือเปล่า (คำว่า ‘เรียนด้วยตัวเอง’ ณ ที่นี่หมายถึง เรียนโดยไม่มีครูเป็นตัวบุคคล คือเรียนจากสื่อต่างๆเป็นหลัก ดังนั้นถึงแม้ไม่ได้เข้าคลาสเรียน แต่มีคนที่มีความรู้มาสอน/มาตอบข้อสงสัยไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนข้างบ้าน ก็ไม่นับเป็นการเรียนด้วยตัวเองในความหมายนี้)

 ขอตั้งสมมติฐานไว้ก่อนละกันว่าเราจะเรียนด้วยตัวเองได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้พื้นฐานทางภาษานั้นๆก่อนในระดับหนึ่ง คืออย่างน้อยต้องมองโครงสร้างของภาษาออก ว่าภาษาที่เราเรียนมันมีธรรมชาติยังไง (บางภาษามีเพศ บางภาษามีพจน์ บางภาษามีทั้งสอง และบางภาษาไม่มีทั้งสอง) มีการจัดเรียงประโยคอย่างไร และรู้ถึงคำเฉพาะหลักๆที่ใช้เรียกองค์ประกอบต่างๆ  ของภาษานั้น (เช่น เวิร์บ แอดเจ็คทีฟ เท้นส์ ฯลฯ ในภาษาอังกฤษ หรือมุบตะดา เคาะบัร เฟียะอฺลุนมาฎินฯลฯ ในภาษาอาหรับ) เพราะคำพวกนี้มักถูกใช้ทับศัพท์ในหนังสือหรือสื่อการเรียนรู้ต่างๆยามที่เราไปศึกษาต่อด้วยตัวเอง

 

ถ้าจะให้แนะนำคลาสเรียน หรือครูสอนภาษาที่โอเค สารภาพว่าก็แนะนำไม่ได้มากนักหรอกค่ะ เพราะตัวเองเรียนจากระบบโรงเรียน ไม่ได้ไปลงเรียนพิเศษที่ไหน แต่ยังไงก็จะลองบังอาจแนะเท่าที่ทราบแบบพื้น ๆ ให้

 เอาภาษาอังกฤษก่อนละกัน อันนี้คงไม่ต้องแนะนำมาก เพราะเสิร์ชหาที่ไหนก็เจอ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเรียนไปเพื่ออะไรอย่างที่บอกข้อบน คลาสเรียนส่วนมากเค้าแบ่งทั้งนั้นนะคะ ว่าเรียนเพื่อพูด/ฟัง/อ่าน/เขียน หรือตะลุยข้อสอบโทเฟล ทียูเก็ท ซียูเทพ อะไรๆก็ว่าไป แยกยิบย่อยไปหมดแหละค่ะ (ถึงบอกว่าคุยกับตัวเองก่อนว่าอยากได้อะไรนั่นแหละสำคัญ)

 ส่วนภาษาอาหรับ ที่กรุงเทพฯ เด่นๆก็มีวามี่ กับที่สันติชนนี่ก็รู้สึกว่ามีสอน โปรแกรมหนึ่งที่เห็นพวกบัณฑิตจบใหม่หลายคนเลือกทำ คือไปลงเรียนสถาบันสอนภาษาของมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ก็เรียนราวๆปีหนึ่งน่ะค่ะ ถ้าตั้งใจเรียนนี่ก็ถือว่าเอาพื้นกลับมาต่อยอดได้เยอะเลย อ้อ เค้ามีคอร์สช่วงซัมเมอร์ด้วย อันนี้พอแนะนำได้ค่ะ เพราะเคยลงไปเรียน โดยรวมๆจะเน้นทักษะฟัง/พูด/อ่าน/เขียน มากกว่าแกรมม่า (สมัยที่เรียนนะ) ข้อดีคือได้พูดกับเจ้าของภาษาตรงๆ ใครสนใจก็ลองติดตามรายละเอียดในเว็บไซต์ของทางมหาวิทยาลัยเค้าดูละกันค่ะ

 นอกจากนั้นก็จะมีพวกคลาสเรียนออนไลน์ทั้งหลาย ซึ่งก็ให้ข้อมูลไม่ได้มาก เพราะไม่มีประสบการณ์ ลองเสิร์ชหาข้อมูลดูก็ได้ค่ะ แต่ส่วนมากคลาสเรียนแบบนี้จะเป็นคลาสที่ไม่ใช้ภาษาไทย หนังสือหนังหาประกอบการเรียนการสอนนี่ถ้าไม่ใช้ภาษาอาหรับล้วนๆเลย ก็มักจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง ฉะนั้นก็ต้องมีพื้นสักภาษาอยู่ก่อนพอไม่ให้สติแตกตอนเรียนนะคะ

สำหรับน้อง ๆ มัธยมที่ได้เรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (เกือบทุกโรงเรียน-เท่าที่ทราบ-จะมีวิชาภาษาอาหรับทั้งนั้น) ก็อยากบอกว่านี่เป็นช่วงนาทีทองจริงๆนะ สำหรับการเรียนภาษาอาหรับ เราได้อยู่กับครูที่มีความรู้เป็นปีๆ นั่งนึกย้อนกลับไปทีไร ยังเสียดายไม่หาย ที่เก็บอะไรมาไม่ได้มากเท่าที่ควรจะได้ ยังไงก็ตั้งใจเรียนละกันเนาะ

 - พยายามใช้ภาษาที่เรียนในชีวิตประจำวัน ฝึกฝนวันละเล็กน้อย แต่สม่ำเสมอ

 ในการเรียนรู้ทุกภาษา –สำหรับตัวเองนะคะ- การเอาภาษาที่เราเรียนไปใส่ในชีวิตประจำวันให้ได้สำคัญยิ่งกว่าการหาคลาสเรียนดี ๆ ไปนั่งร่วมเสียอีก

 เด็กต่างชาติเยอะแยะเลยนะ ที่ไปเล่าเรียนถึงประเทศอาหรับ แต่พอกลับมาบ้านเกิดตัวเองแล้วไม่ได้ใช้ภาษาอาหรับเลย ไม่กี่ปีก็ลืมแล้ว (เคยอ่านบทความ๑ของพี่น้องในอังกฤษ เขาว่ากว่า 40% ของมุสลิมที่นั่นที่ได้ไปเรียนในประเทศอาหรับจะลืมภาษาอาหรับเมื่อผ่านไปราว 6 ปี เพราะไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน) ที่เห็นกับตัวเองเลย ก็อย่างที่บอก เพราะมีเรื่องให้ต้องค้นคว้า ให้ต้องอ่านอยู่เรื่อย ๆ ทักษะการอ่านเลยนำหน้าทักษะการฟัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูด(ที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำในชีวิตจริง) ไปหลายช่วงตัว

 สมัยเรียนคลาสภาษาอังกฤษ จำได้ว่าเคยเครียดมากกับทักษะการฟังที่ไม่เอาอ่าวเอาเหวของตัวเอง เผอิญว่ามีเพื่อนร่วมห้องเป็นพวกที่ทักษะด้านภาษาของพวกเขาอยู่ระดับชวนสงสัยว่าท่านมีบรรพบุรุษเป็นคนอังกฤษ หรือแม่ยัดดิกชั่นนารีให้กินเป็นอาหารตั้งแต่เด็กกันคะ…เสียด้วย เลยยิ่งเครียดยกกำลังสิบสอง ฟังมาจากไหนหรือคิดเองก็ไม่รู้ที่ให้เปิดช่องสถานีข่าวต่างประเทศยี่สิบสี่ชั่วโมงไว้ตลอด คือถ้าอยู่บ้าน จะทำงานบ้าน หรือทำอะไรที่สามารถฟังได้ก็จะเปิดไว้ตลอด แล้วฟังแบบไม่ต้องคิดเลยนะคะ คืออย่างน้อยให้มันผ่านเข้าหูเอาไว้ เชื่อไหมว่าทำแบบนี้ไปทุกวัน ๆ โดยไม่ต้องนั่งแกะคำ หรือเพ่งสมาธิพยายามจะฟังให้ออกอะไร รู้ตัวอีกทีก็ฟังรู้เรื่องแล้ว ไม่ถึงเทอมทีนะ ถ้าจำไม่ผิด มาชาอัลลอฮฺมาก ๆ (แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ฟัง ก็ชัก ๆ จะไม่รู้เรื่องอีกแล้ว)

 ซึ่งวิธีแบบนี้เคยมีคนบอกให้ทำกับการอ่านเหมือนกัน คือตอนแรกไม่ต้องไปคาดหวังว่าจะอ่านรู้เรื่อง เข้าใจศัพท์ทุกคำ แต่ให้อ่านให้ผ่านตาเราบ่อย ๆ ทุกวันได้ยิ่งดี ดิกก็เปิดเฉพาะคำที่มันเป็นคีย์ของประโยค หรือคำที่กล่าวซ้ำไปซ้ำมาก็พอ (จริง ๆ ที่ตัวเองทำ คือไม่เปิดดิคเลย บริบทของคำจะทำให้เราเข้าใจภาพร่างของความหมายมันเอง)

 มันก็ทำให้นึกถึงหะดีษที่ว่าอัลลอฮฺทรงรักการงานที่ทำสม่ำเสมอแม้จะน้อยเนอะ เพราะการงานที่อัลลอฮฺรัก มันย่อมมีบ่ะรอกัต อินชาอัลลอฮฺ

 

 

................................................

 

คัดลอกจาก : https://peenud.wordpress.com/2010/12/24/language/#more-177

 

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).