Loading

 

การเฉลิมฉลองปีใหม่สากล

การเฉลิมฉลองปีใหม่สากล

 

อัลหัมดุลิลลาฮฺ ขอการสดุดีจากอัลลอฮฺและสันติสุขจงมีแก่ท่านนบีท่านสุดท้าย มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

อนึ่ง การมีวันรื่นเริงเฉลิมฉลองนั้นเป็นเรื่องปกติของสังคมมนุษย์ ซึ่งเห็นได้ทั่วไปในแต่ละประชาชาติ มันเกิดมาจากจิตสำนึกลึก ๆ ที่ต้องการระลึกเหตุการณ์สำคัญบางอย่างเป็นการเฉพาะ หรืออาจจะเป็นการแสดงออกถึงความยินดีปรีดาและการขอบคุณ ที่เวียนบรรจบครบรอบปีแล้วปีเล่า เพราะฉะนั้นมันจึงถูกเรียกว่า “อีด” หมายถึง การหวนกลับมาบรรจบ

อัลลอฮฺทรงรู้ดีว่านี่คือนิสัยโดยธรรมชาติของมนุษย์ พระองค์จึงอนุมัติให้พวกเขาได้แสดงออกถึงความปิติยินดีดังกล่าวในรูปแบบที่ทรงเกียรติ ภายใต้กรอบแห่งวิสัยทัศน์อันครอบคลุมทั้งมิติของการสรรค์สร้างสรรพสิ่ง ของหน้าที่รับผิดชอบของมนุษย์ และการเคารพอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ มีรายงานจากอะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า

قَدِمَ رَسُولُ اللَّهِ - صلى الله عليه وسلم - الْمَدِينَةَ وَلَهُمْ يَوْمَانِ يَلْعَبُونَ فِيهِمَا فَقَالَ «مَا هَذَانِ الْيَوْمَانِ»، قَالُوا: كُنَّا نَلْعَبُ فِيهِمَا فِي الْجَاهِلِيَّةِ، فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ - صلى الله عليه وسلم -: «إِنَّ اللَّهَ قَدْ أَبْدَلَكُمْ بِهِمَا خَيْرًا مِنْهُمَا يَوْمَ الْأَضْحَى وَيَوْمَ الْفِطْرِ» [رواه أبو داود وأحمد]

ความว่า เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อพยพมาที่มะดีนะฮฺ ชาวมะดีนะฮฺมีวันรื่นเริงอยู่สองวันที่พวกเขาใช้ละเล่นรื่นเริงเฉลิมฉลองกัน ท่านถามพวกเขาว่า “สองวันนี้เป็นวันอะไร?” พวกเขาตอบว่า เราเคยละเล่นรื่นเริงกันในสองวันนี้สมัยญาฮิลียะฮฺ  ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวกับพวกเขาว่า “แท้จริงแล้ว อัลลอฮฺได้ทดแทนสองวันนี้ด้วยวันที่ดีกว่าสำหรับพวกท่าน คือ วันอีดิลอัฎฮา และ วันอีดิลฟิฏรฺ” (บันทึกโดยอบู ดาวูด และ อะห์มัด)

 

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยพูดกับท่านอบู บักรฺ ว่า

«يَا أَبَا بَكْرٍ إِنَّ لِكُلِّ قَوْمٍ عِيدًا وَهَذَا عِيدُنَا» رواه البخاري.

ความว่า “โอ้ อบู บักรฺ มนุษย์ทุกพวกนั้นมีวันอีดของพวกเขา และวันนี้ก็เป็นวันอีดของเรา” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)

หะดีษสองบทนี้ เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าประชาชาติอิสลามมีวันอีดหรือวันเฉลิมฉลองเฉพาะสำหรับพวกเขา ซึ่งมีนัยที่เชื่อมรวมระหว่างมิติของความเชื่อและการดำรงชีวิต ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับวันเฉลิมฉลองอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวันฉลองรูปแบบไหน ศาสนาไหน เชื้อชาติไหน หรือเทศกาลไหนก็ตาม

ในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 25 ถึงวันที่ 31 เดือนธันวาคมของทุกปี จะมีการเฉลิมฉลองที่เรียกว่า เทศกาลปีใหม่

มุสลิมบางส่วนเอง ไม่ว่าจะด้วยสำนึกหรือไม่สำนึก ก็ได้เข้าร่วมเทศกาลที่ว่านี้ โดยไม่ได้ตระหนักถึงความแตกต่างทางศาสนา เอกลักษณ์ของตัวเอง และเกียรติที่อัลลอฮฺได้มอบให้กับประชาชาติอิสลาม

ในขณะที่มีหลักฐานมากมายจากบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ที่กล่าวถึงความพิเศษของประชาชาติอิสลามของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และความจำเป็นที่พวกเขาต้องไม่ลอกเลียนแบบหรือทำตัวเหมือนกับประชาชาติ กลุ่มชน และศาสนิกอื่น ๆ รวมทั้งต้องมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นท่ามกลางประชาชาติทั้งหลาย

ไม่แปลกที่มุสลิมต้องมีลักษณะดังที่ว่า เพราะพวกเขาคือประชาชาติแห่งสารชิ้นสุดท้ายจากฟากฟ้า ซึ่งมีท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นศาสนทูต และมีอัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่คอยนำทาง

อัลลอฮฺได้ทรงประดับเกียรติประชาชาตินี้ด้วยคุณลักษณะที่ยิ่งใหญ่ ในพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า

﴿ كُنتُمۡ خَيۡرَ أُمَّةٍ أُخۡرِجَتۡ لِلنَّاسِ تَأۡمُرُونَ بِٱلۡمَعۡرُوفِ وَتَنۡهَوۡنَ عَنِ ٱلۡمُنكَرِ وَتُؤۡمِنُونَ بِٱللَّهِۗ وَلَوۡ ءَامَنَ أَهۡلُ ٱلۡكِتَٰبِ لَكَانَ خَيۡرٗا لَّهُمۚ مِّنۡهُمُ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ وَأَكۡثَرُهُمُ ٱلۡفَٰسِقُونَ ١١٠ ﴾ [آل عمران: ١١٠] 

ความว่า “พวกเจ้านั้นเป็นประชาชาติอันประเสริฐสุดที่ถูกให้กำเนิดขึ้นมาเพื่อมนุษยชาติ ด้วยการที่พวกเจ้าสั่งเสียในความดี หักห้ามยับยั้งจากความชั่ว และด้วยการที่พวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และหากแม้นว่าชาวคัมภีร์นั้นได้ศรัทธาแล้วไซร้ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับพวกเขา ในหมู่พวกเขามีผู้ศรัทธาอยู่ด้วย แต่ส่วนมากแล้วเป็นผู้ที่ฝ่าฝืนทรยศ” (อาล อิมรอน : 110)

 

เราคือประชาชาติที่ประเสริฐที่สุด ดังปรากฏในหะดีษที่รายงานโดยมุอาวิยะฮฺ บิน หัยดะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า 

«أَنْتُمْ تُوَفُّونَ سَبْعِينَ أُمَّةً، أَنْتُمْ خَيْرُهَا وَأَكْرَمُهَا عَلَى اللَّهِ عَزَّ وَجَلَّ» . [رواه الإمام أحمد والترمذي وابن ماجه والحاكم].

ความว่า “พวกท่านคือผู้ที่มาเติมเต็มทำให้จำนวนมนุษย์มีครบเจ็ดสิบประชาชาติ พวกท่านคือประชาชาติที่ดีที่สุดและมีเกียรติที่สุดสำหรับอัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่เกรียงไกร” (บันทึกโดย อะห์มัด, อัต-ติรมิซีย์, อิบนุ มาญะฮฺ และ อัล-หากิม)

 

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังได้กล่าวอีกว่า

«أَهْلُ الْجَنَّةِ عِشْرُونَ وَمِائَةُ صَفٍّ ، هَذِهِ الْأُمَّةُ مِنْهَا ثَمَانُونَ صَفًّا» [رواه الترمذي، وابن ماجه، وأحمد]

ความว่า “ชาวสรรค์นั้นมีหนึ่งร้อยยี่สิบแถว จากจำนวนนั้นมีประชาชาติ(ของท่านนบีมุหัมมัด)นี้อยู่แปดสิบแถว” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์, อิบนุ มาญะฮฺ และอะห์มัด)

 

มีรายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า

«نَحْنُ الْآخِرُونَ الْأَوَّلُونَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ ، وَنَحْنُ أَوَّلُ مَنْ يَدْخُلُ الْجَنَّةَ، بَيْدَ أَنَّهُمْ أُوتُوا الْكُتَّابَ مِنْ قَبْلِنَا، وَأُوتِينَاهُ مِنْ بَعْدِهِمْ ، فَاخْتَلَفُوا، فَهَدَانَا اللَّهُ لِمَا اخْتَلَفُوا فِيهِ مِنَ الْحَقِّ، فَهَذَا يَوْمُهُمُ الَّذِي اخْتَلَفُوا فِيهِ هَدَانَا اللَّهُ لَهُ، فَالْيَوْمَ لَنَا ، وَغَدًا لِلْيَهُودِ ، وَبَعْدَ غَدٍ لِلنَّصَارَى» [مُتَّفَقٌ عَلَيْهِ]

ความว่า “พวกเราเป็นประชาชาติสุดท้าย(ในโลกนี้) แต่เป็นประชาชาติแรกในวันกิยามะฮฺ เราคือพวกแรกที่จะได้เข้าสวรรค์ ในขณะที่พวกเขาเหล่านั้นได้รับคัมภีร์มาก่อนพวกเราและเราก็รับคัมภีร์หลังจากพวกเขา แต่พวกเขากลับขัดแย้งกัน อัลลอฮฺจึงทรงชี้ทางแก่พวกเราในสัจธรรมที่พวกเขาขัดแย้ง และวันนี้ก็คือ(วันศุกร์)วันที่พวกเขาเหล่านั้นขัดแย้งกัน อัลลอฮฺจึงทรงให้ทางนำแก่เราได้เลือกมันเป็นวันสำคัญของเรา วันนี้(วันศุกร์)เป็นของเราชาวมุสลิม พรุ่งนี้(วันเสาร์)เป็นของชาวยิว และมะรืน(วันอาทิตย์)เป็นของชาวคริสเตียน”

 

อิบนุ กะษีรฺ ได้อธิบายว่า เหตุที่ประชาชาตินี้ได้รับสิทธิพิเศษเป็นพวกแรก นั่นก็เพราะท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ของพวกเขา เนื่องจากท่านเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐที่สุดและเป็นศาสนทูตที่มีเกียรติที่สุดสำหรับอัลลอฮฺ พระองค์ส่งท่านมาด้วยบทบัญญัติที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่นบีคนอื่น ๆ ไม่เคยได้รับมาก่อนหน้าท่าน ดังนั้น การปฏิบัติตามวิถีและแนวทางของท่าน จึงเปรียบเสมือนว่า ทำน้อยแต่ได้มาก ทำเพียงแค่นิดเดียวแต่ได้มาชนิดที่ว่าการทำเยอะแยะมากมายในหมู่ประชาชาติอื่นก็ไม่สามารถจะเอามาเทียบได้เลย” (ตัฟสีร อัลกุรอานิลอะซีม 2/94)

ผลจากการขาดสำนึกที่ถูกต้องและความอ่อนแอของการยึดโยงในศรัทธา ทำให้มุสลิมบางส่วนไหลตามกระแสในปัจจุบันด้วยการเข้าร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและวันปีใหม่ จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่พวกเขาแสดงออกด้วยภาพลักษณ์และเอกลักษณ์เหมือนกับชาวคริสต์ อาทิ

1.     

มีการแลกของขวัญและการ์ดส่งความสุข ทั้งทางไปรษณีย์และอินเตอร์เน็ต

2.     

มีส่วนร่วมกับชาวคริสต์ในการเฉลิมฉลองทั้งที่โบสถ์ โรงแรม กลางสนาม หรือทางสื่อโทรทัศน์

3.     

ซื้อต้นคริสต์มาส และแต่งชุดซานตาคลอสที่เด็ก ๆ ชอบ และแจกของขวัญกันในช่วงเทศกาลนี้

4.     

จัดคอนเสิร์ต เต้นรำ มั่วสุมทำอบายมุข ปิดไฟเที่ยงคืนเพื่อเตรียมนับเคาท์ดาวน์ในคืนส่งท้ายปีเก่า และอื่นๆ อีกมาก

ตามบทบัญญัติในศาสนาอิสลาม ทั้งวันคริสต์มาสและวันปีใหม่ ไม่อนุญาติให้เป็นวันรื่นเริงเฉลิมฉลอง

เพราะอันแรก (วันคริสต์มาส) เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาที่ปฏิเสธอัลลอฮฺ ให้คุณลักษณะนบีอีซาว่าเป็นพระเจ้า เชื่อว่าพระเจ้าสถิตและอยู่ในร่างมนุษย์ มีความเชื่อเกี่ยวกับไม้กางเขน และอื่น ๆ อีกมาก ที่บรรดานักบวชคริสต์ได้เอามาประโคมโฆษณากันในวันคริสต์มาส

ส่วนอันที่สอง (วันปีใหม่) เป็นลักษณะกิจกรรมทางโลกที่เต็มไปด้วยอบายมุข คละเคล้าด้วยบรรยากาศที่เสื่อมทราม สนับสนุนกิจกรรมและพฤติกรรมตกต่ำทางศีลธรรมเยี่ยงเดรัจฉาน ไม่คู่ควรที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ทั่วไป นับประสาอะไรกับผู้ศรัทธาที่มีความเชื่อบริสุทธิ์

ท่านนบีของเรา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เข้มงวดกับเรื่องการเลียนแบบเฉลิมฉลองเยี่ยงนี้มาก มีเรื่องเล่าตอนที่ชายคนหนึ่งจะเชือดอูฐที่เขตบุวานะฮฺ เขาก็มาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบอกกับท่านว่า ฉันได้บนบานว่าจะเชือดอูฐที่บุวานะฮฺ ท่านนบีจึงถามเขาว่า “ที่นั่นมีรูปเคารพที่เคยใช้กราบไหว้ในสมัยญาฮิลียะฮฺหรือไม่?” บรรดาเศาะหาบะฮฺตอบว่า ไม่มี ท่านนบีถามต่อไปว่า “ตรงนั้นเคยเป็นที่จัดเฉลิมฉลองของพวกญาฮิลียะฮฺหรือเปล่า?” พวกเขาตอบว่า ไม่ ท่านนบีจึงกล่าวแก่เขาว่า “จงทำตามที่เจ้าบนบานเสีย แท้จริง ห้ามมีการแก้บนที่เป็นมะอฺศิยะฮฺต่ออัลลอฮฺ และไม่มีการแก้บนที่มนุษย์ไม่ได้ครอบครองหรือไม่สามารถจะทำได้” (บันทึกโดยอบู ดาวูด)

มีรายงานจากอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อัล-อาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านได้กล่าวว่า “ใครที่อาศัยอยู่ในเมืองผู้ปฏิเสธศรัทธา ประพฤติปฏิบัติตามประเพณีเฉลิมฉลองวันเนรูซ(วันปีใหม่ของพวกเปอร์เซีย)และเทศกาลของพวกเขา จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในสภาพนั้น ในวันกิยามะฮฺเขาก็จะถูกต้อนชุมนุมพร้อม ๆ ผู้คนเหล่านั้น” (บันทึกโดย อัล-บัยฮะกีย์ 9/234)

เหตุผลที่เป็นความลับของเรื่องนี้ก็คือ การเลียนแบบภายนอกนั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับความเชื่อภายใน

ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อิกติฎออ์ อัศ-ศิรอฏ อัล-มุสตะกีม มุคอละฟะฮฺ อัศหาบ อัล-ญะฮีม” (เล่มที่ 1 หน้า 80-82) ว่า “สัจธรรมอันเที่ยงตรงนั้นเป็นเรื่องภายในจิตใจที่ประกอบด้วยความเชื่อและความประสงค์ต่าง ๆ บวกกับพฤติกรรมภายนอก ที่เป็นคำพูดและการกระทำ มันอาจจะเป็นอิบาดะฮฺล้วน ๆ หรืออาจจะเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับอาหารการกิน เสื้อผ้า การแต่งงาน ที่อยู่อาศัย การเข้าสังคม การจากลา การเดินทาง การขี่พาหนะ และอื่น ๆ  ทั้งภาพภายนอกและความรู้สึกภายในนี้จะมีความสัมพันธ์และความสอดคล้องกัน ซึ่งความรู้สึกและสภาพในจิตใจจะถูกแปรออกมาเป็นพฤติกรรมของอวัยวะภายนอก และสิ่งต่าง ๆ ที่เราทำออกมาโดยเปิดเผยข้างนอกก็ย่อมจะสื่อถึงความรู้สึกและสภาพของจิตใจอย่างเลี่ยงไม่ได้

แท้จริง อัลลอฮฺได้ส่งท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มาด้วยหิกมะฮฺ(วิทยปัญญาและความรู้ต่าง ๆ) ซึ่งเป็นสุนนะฮฺของท่าน อีกทั้งเป็นบทบัญญัติและแนวทางที่อัลลอฮฺกำหนดมาให้กับท่าน ในจำนวนหิกมะฮฺที่ว่านี้ก็คือ การที่พระองค์กำหนดการกระทำและคำพูดต่าง ๆ ให้แตกต่างจากแนวทางของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาที่ถูกกริ้วและหลงทาง

พระองค์สั่งให้แตกต่างจากพวกเขาในมิติของภาพลักษณ์ภายนอก แม้ว่าภาพลักษณ์ดังกล่าวอาจจะไม่ปรากฏอันตรายแฝงเร้นใด ๆ แก่สายตาคนส่วนใหญ่ก็ตาม เหตุที่สั่งเช่นนั้นก็มีหลายเหตุผล อาทิ เพราะการมีส่วนร่วมแค่ภายนอกก็อาจจะส่งผลถึงความรู้สึกร่วมและยอมรับระหว่างสองฝ่ายที่ลอกเลียนกันได้ สุดท้ายก็จะนำไปสู่การเห็นชอบหรือประพฤติตรงกันไม่ว่าทั้งคำพูดหรือการกระทำ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้จริง ตัวอย่างเช่น คนที่ใส่เสื้อผ้าเหมือนผู้รู้ ก็จะมีความรู้สึกว่าตัวเองอยากเข้ากลุ่มกับพวกเขา คนที่ใส่ชุดแบบทหารก็จะออกอาการแสดงตัวประหนึ่งว่าตัวเองเป็นทหาร จนนิสัยเขากลายไปเป็นความรู้สึกดังกล่าว เว้นแต่ว่ามีเหตุอื่นคอยสกัดไว้”

อิบนุ ตัยมียะฮฺ กล่าวต่อไปอีกว่า “อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ความต่างกันในพฤติกรรมภายนอกย่อมนำไปสู่ความแตกต่างและการปลีกตัว ทำให้พ้นจากเหตุที่นำมาซึ่งความกริ้วโกรธของอัลลอฮฺและความหลงทาง ทำให้มีความรู้สึกห่วงหาเหล่าคนที่ได้รับทางนำและความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ เป็นความสำเร็จที่ตอกย้ำสิ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดไว้ว่าให้ตัดขาดระหว่างบ่าวที่เป็นชาวสวรรค์ กับศัตรูที่เป็นชาวนรกของพระองค์

ยิ่งหัวใจมีชีวิตที่สมบูรณ์และรู้จักอิสลาม - ข้าพเจ้าไม่ได้หมายถึงอิสลามแค่ชื่อภายนอกหรือความเชื่อจากข้างในทั่ว ๆ ไปเท่านั้น แต่หมายถึงอิสลามแท้ ๆ จริง ๆ – ซึ่งถ้าเขารู้จักมันมากเท่าไร ความรู้สึกของเขาที่ต้องการจะแตกต่างจากยิวและคริสต์ทั้งในมิติภายนอกและภายในก็จะสมบูรณ์มากเท่านั้น และระยะห่างของเขาจากนิสัยของยิวและคริสต์ ซึ่งอาจจะมีอยู่ในมุสลิมคนอื่น ๆ บางส่วน ก็จะยิ่งไกลมากเท่านั้น

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การมีส่วนร่วมในภาพลักษณ์ภายนอก จะทำให้เกิดการปะปนกันในทางเปิดเผย จนอัตลักษณ์ต่าง ๆ โดยผิวเผิน ระหว่างผู้ที่ได้รับทางนำจากอัลลอฮฺและผู้ที่อัลลอฮฺโกรธกริ้วและหลงทาง ไม่มีเหลือให้เห็นอีกต่อไป

และสาเหตุอื่น ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยหิกมะฮฺอีกหลายข้อ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เฉพาะกรณีที่เป็นพฤติกรรมทั่วไป ซึ่งโดยปกติก็อนุมัติให้ทำได้ถ้าทำโดยไม่ได้เลียนแบบพวกเขา แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมที่ออกแนวปฏิเสธศรัทธาด้วยแล้วละก็ ถ้าไปเลียนแบบพวกเขาในพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะถึงขั้นเป็นส่วนหนึ่งการกุฟรฺได้เลย เพราะการทำอะไรสอดคล้องกับพวกเขาก็ถือว่าเป็นการเห็นด้วยกับมะอฺศิยะฮฺ(การทำบาป)ของพวกเขาไม่ว่าแง่ใดก็แง่หนึ่ง ประการดังกล่าวนี้ถือเป็นรากฐานที่จักต้องเข้าใจและรู้ให้เท่าทัน”

ความหมายต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมานี้ ไม่มีใครที่เข้าถึงได้นอกจากด้วยหัวใจที่ไวต่อการศรัทธา และความรู้สึกที่เปี่ยมล้นด้วยเตาฮีดต่ออัลลอฮฺ ส่วนผู้ที่เป็นมุสลิมตามประเพณีและมีอีมานแข็งทื่อ ย่อมจะไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับเรื่องนี้ พวกเขาจะไม่เห็นว่าการเลียนแบบนั้นเป็นปัญหาใด ๆ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นพวกเขาแลกคำอวยพร แสดงความยินดี ส่งความสุขกันในเทศกาลเหล่านี้โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจแม้แต่น้อย

อิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อะห์กาม อะฮฺลิซ ซิมมะฮฺ” (หน้าที่ 205-206) ว่า “การอวยพรในเทศกาลของชาวกาฟิรฺที่เป็นวาระเฉพาะเจาะจงของพวกเขานั้น เป็นสิ่งต้องห้ามโดยเห็นพ้องกันระหว่างอุละมาอ์ เช่น การอวยพรเนื่องในโอกาสวันรื่นเริงเฉลิมฉลองและการถือศีลของพวกเขา ด้วยการกล่าวเช่นว่า ขอให้มีความจำเริญแก่ท่าน หรือ ขอจงมีความสุขในโอกาสนี้ เป็นต้น การอวยพรแบบนี้ถ้าคนพูดไม่ได้กุฟรฺก็ยังไม่พ้นจากสภาพหะรอม(ต้องห้าม)อยู่ดี มันอยู่ในสถานะเหมือนกับการที่เราอวยพรเวลาที่เห็นเขากราบต่อไม้กางเขน ซึ่งมันเป็นบาปที่เลวร้ายยิ่งกว่าและเป็นที่กริ้วโกรธสำหรับอัลลอฮฺมากกว่าการดื่มเหล้า การฆ่าผู้บริสุทธิ์ หรือการซินาด้วยซ้ำ ผู้คนส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยมีศาสนามักจะตกอยู่ในพฤติกรรมดังกล่าวและไม่รู้ถึงความอัปลักษณ์ของมัน ใครก็ตามที่อวยพรให้กับการกระทำที่เป็นมะฮฺศิยะฮฺหรือบิดอะฮฺ นั่นแสดงว่าเขากำลังเสนอตัวเองต่อความพิโรธและความโกรธของอัลลอฮฺแล้ว”

 

 

 

................................................................................

 

 

ที่มา : http://IslamHouse.com/261488

ดร.อะห์มัด บิน อับดุรเราะห์มาน อัล-กอฎี

สาขาวิชาอะกีดะฮฺ คณะชะรีอะฮฺและอูศูลุดดีน

มหาวิทยาลัย อัล-เกาะศีม

 

แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน

 

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/799956

 

 

 

.

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).