Loading

 

หนึ่งบททบทวน กับสูเราะฮฺ อัล-มาอูน

หนึ่งบททบทวน กับสูเราะฮฺ อัล-มาอูน               

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่านโดยทั่วกัน ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่า มุหัมมัดเป็นบ่าวของพระองค์อัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

สูเราะฮฺหนึ่งจากสูเราะฮฺทั้งหลายของอัลกุรอาน ที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ และจำเป็นที่เราจะต้องพิจารณาใคร่ครวญในความหมาย ก็คือสูเราะฮฺอัล-มาอูน

อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ตรัสว่า)

ความว่า “เจ้าเห็นผู้ที่ปฏิเสธการตอบแทนแล้วมิใช่หรือ (1) นั่นก็คือผู้ที่ขับไล่เด็กกำพร้า (2) และไม่สนับสนุนให้อาหารแก่ผู้ขัดสน (3) ดังนั้นความหายนะจงมีแด่บรรดาผู้ทำละหมาด (4) ผู้ซึ่งพวกเขาละเลยต่อการละหมาดของพวกเขา (5) ผู้ซึ่งพวกเขาโอ้อวดกัน (6) (และพวกเขาหวงแหนเครื่องใช้เล็กๆน้อยๆ (7)” (อัล-มาอูน 1-6)

 

คำตรัสของพระองค์อายะฮฺแรก

ความว่า “เจ้าเห็นผู้ที่ปฏิเสธการตอบแทนแล้วมิใช่หรือ”

 

คือ โอ้มุหัมมัด เจ้าเห็นผู้ที่ไม่ศรัทธาต่อการตอบแทน ไม่เชื่อในรางวัลและการลงโทษ แล้วใช่หรือไม่ ..บางคนกล่าวว่า เป็นคำสื่อสารถึงทุกคนทั่วไปที่อ่านอายะฮฺไม่ใช่เฉพาะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม.. และบรรดาผู้ไม่ศรัทธา ก็คือบรรดาผู้ที่ผู้ที่ปฏิเสธการฟื้นคืนชีพ

ความว่า “และพวกเขาเคยกล่าวว่า เมื่อเราตายไปแล้วและเราได้กลายเป็นดินผงและกระดูกป่น เราจะถูกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นอีกกระนั้นหรือ” (อัล-วากิอะฮฺ 47)

 

และมีบางคนจากบรรดาผู้ปฏิเสธกล่าวว่า

ความว่า “เขากล่าวว่า “ใครเล่าจะให้กระดูกมีชีวิตขึ้นมาอีกในเมื่อมันเป็นผุยผงไปแล้ว” (ยาสีน 78)

 

คำตรัสของพระองค์อายะฮที่สอง

 

ความว่า “นั่นก็คือผู้ที่ขับไล่เด็กกำพร้า”

 

คือ ผู้ที่บังคับ ขู่เข็ญ ละเมิดต่อสิทธิ ไม่ให้อาหาร และไม่ปฏิบัติดีต่อเด็กกำพร้า และเด็กกำพร้าคือผู้ที่พ่อของเขาเสียชีวิตและเขายังเป็นผู้ที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ ไม่ว่าจะเป็นเด็กชายหรือหญิงก็ตาม 

 

คำตรัสของพระองค์อายะฮฺที่สาม

 

ความว่า “และไม่สนับสนุนให้อาหารแก่ผู้ขัดสน”

 

คือ ผู้ที่ไม่ช่วยเหลือให้อาหารคนขัดสน เนื่องด้วยความตระหนี่ถี่เหนียวของเขา หรือเนื่องด้วยการปฏิเสธการตอบแทนในโลกหน้าของเขา ดังที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา  ตรัสว่า:

 

ความว่า ”มิใช่เช่นนั้นดอก แต่ทว่าพวกเจ้ามิได้ให้เกียรติแก่เด็กกำพร้า*และพวกเจ้ามิได้ส่งเสริมกันในการให้อาหารแก่คนยากจนขัดสน” (อัลฟัจญ์รฺ 17-18)

 

คำตรัสของพระองค์อายะฮฺที่สี่ และห้า

ความว่า “ดังนั้นความหายนะจงมีแด่บรรดาผู้ทำละหมาด ผู้ซึ่งพวกเขาละเลยต่อการละหมาดของพวกเขา”

ความหายนะ ความวิบัติ คือ การลงโทษนั้นจะประสบแก่พวกเขา นักตัฟสีรบางคนได้กล่าวว่า พวกเขาคือบรรดาผู้ที่ทำการละหมาดล่าช้า พวกเขาจะละหมาดเมื่อเวลาได้ผ่านล่วงและหมดเวลาละหมาดนั้นๆไปแล้ว

ท่านอบูยะอฺลาได้รายงานในหนังสือมุสนัดของท่าน จากหะดีษมุศอับ บิน สะอัด จาก -พ่อของเขา- สะอัด บิน อบีวักกอศ ได้กล่าวว่า ฉันได้กล่าวแก่พ่อของฉันว่า “โอ้คุณพ่อ ท่านเห็นดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา อายะฮฺนี้หรือไม่

 

ความว่า “ผู้ซึ่งพวกเขาละเลยต่อการละหมาดของพวกเขา”

แล้วใครในหมู่พวกเราบ้างล่ะที่จะไม่หลงลืม” คุณพ่อก็ตอบว่า “ไม่ใช่เช่นนั้นลูกเอ๋ย แต่ทว่า คือการทำให้เวลาล่วงเลย เพิกเฉยต่อเวลาละหมาด จนกระทั่งหมดเวลาไป” (เล่ม1/336 หะดีษที่700), (และอัล-มุนซิรียฺกล่าวไว้ในหนังสืออัต-ตัรฆีบวัต-ตัรฮีบ เล่ม1/441 สายรายงานหะซัน)

 

อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ตรัสว่า

 

ความว่า “แล้วชนรุ่นชั่วก็ได้สืบต่อมาภายหลังจากพวกเขา พวกเขาได้ทิ้งละหมาด และปฏิบัติตามความใคร่ ต่อมาพวกเขาก็จะประสบความหายนะ” (มัรยัม 59)

 

บางคนได้กล่าวว่า พวกเขาคือบรรดาผู้ที่ละทิ้งละหมาด ไม่ยอมทำการละหมาด มีรายงานว่าท่านอิบนุอับบาส ได้กล่าวว่า พวกเขาคือพวกมุนาฟิกีน (พวกสับปลับ หน้าไหว้หลังหลอก เบื้องหน้าปฏิบัติตนเป็นมุสลิม เบื้องหลังเป็นผู้ปฏิเสธ) พวกเขาจะละทิ้งละหมาดเมื่ออยู่ลับตาคน(เมื่อไม่มีคนเห็น) และจะทำการละหมาดเมื่อยู่ในที่เปิดเผย(ทำอย่างโอ้อวด) (ตัฟสีรอิบนุกะษีร เล่ม4/557)

อิบนุกะษีร กล่าวว่า คือบรรดาผู้ที่ทำการละหมาดล่าช้าอยู่เป็นประจำ หรือบ่อยๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า คือผู้ที่บกพร่องในการทำละหมาด บกพร่องต่อรุก่น เงื่อนไขของการละหมาด ทำการละหมาดอย่างไม่สมบูรณ์ตามแบบบัญญัติ หรือบกพร่องในการคุชัวอฺ และการพิจารณาความหมายของคำต่างๆในการละหมาด  และอายะฮฺนี้ก็รวมทุกลักษณะที่กล่าวมาไว้ทั้งหมด และผู้ใดที่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดจากลักษณะที่กล่าวมา เขาก็รับเศษเสี้ยวหนึ่งของอายะฮฺนี้ และใครที่มีลักษณะดังกล่าวทั้งหมด เขาก็รับอายะฮฺนี้ไปเต็มๆ และเป็นมุนาฟิกในทางปฏิบัติอย่างสมบูรณ์แบบ ดังหะดีษในเศาะหีหฺมุสลิม จากอนัส บินมาลิก แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

«تِلْكَ صَلاَةُ الْمُنَافِقِ ، يَجْلِسُ يَرْقُبُ الشَّمْسَ حَتَّى إِذَا كَانَتْ بَيْنَ قَرْنَيِ الشَّيْطَانِ ، قَامَ فَنَقَرَهَا أَرْبَعًا ، لاَ يَذْكُرُ اللَّهَ فِيهَا إِلاَّ قَلِيلاً»

ความว่า “นั่นคือการละหมาดของมุนาฟิก (ละหมาดอัศรฺล่าช้า โดยไม่มีสาเหตุ) เขาจะนั่งรอดวงอาทิตย์ จนกระทั่งดวงอาทิตย์อยู่ระหว่างเขาทั้งสองของชัยฏอน (เวลาดวงอาทิตย์กำลังตก หรือกำลังขึ้น แสดงให้เห็นว่าเขาจะรอคอยจนกระทั่งใกล้หมดเวลา และเวลานี้เป็นเวลาที่พวกกุฟฟารทำการสุญูดต่อดวงอาทิตย์ – ผู้แปล) เขาก็ลุกขึ้น แล้วก็ผงกๆจิกๆ สี่ครั้ง (ละหมาดอัศรฺ 4 ร็อกอะฮฺ อย่างเร่งรีบแบบนกจิก – ผู้แปล) โดยไม่รำลึกถึงอัลลอฮฺยกเว้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” (มุสลิม หน้า 246/ หะดีษที่ 266)

 

คือเวลาที่ไม่ชอบให้ทำการละหมาด (ขณะดวงอาทิตย์ขึ้น และตก) พวกเขาจะยืนขึ้นทำการละหมาด และจิกๆ แบบนกกา ไม่สงบนิ่ง ไม่ยำเกรง (ไม่มีเฏาะมะอ์นีนะฮฺ และไม่มีคุชัวอฺ) มีการรำลึกถึงอัลลอฮฺในละหมาดนั้นแค่เพียงน้อยนิด เหตุที่พวกเขาทำการยืนละหมาดก็เพียงเพราะจะให้มนุษย์เห็นเท่านั้น ไม่ใช่เพราะหวังความเมตตาโปรดปรานใดๆจากอัลลอฮฺ และการละหมาดเช่นนั้นก็มีค่าเท่ากับการไม่ละหมาดเลยโดยสิ้นเชิง อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา  ตรัสว่า:

ความว่า “แท้จริงบรรดามุนาฟิกนั้นกำลังหลอกลวงอัลลอฮฺอยู่ ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงหลอกลวงพวกเขา และเมื่อพวกเขาลุกขึ้นไปละหมาด พวกเขาก็ลุกขึ้นในสภาพเกียจคร้านโดยให้ผู้คนเห็นเท่านั้น และพวกเขาจะไม่กล่าวรำลึกพึงอัลลอฮฺ นอกจากเล็กน้อยเท่านั้น” (อัน-นิสาอ์ 142)

 

และพระองค์ตรัสในสูเราะฮฺนี้ว่า 

ความว่า ”ผู้ซึ่งพวกเขาโอ้อวดกัน”

 

คำตรัสของพระองค์อายะฮฺหก และเจ็ด

ความว่า “ผู้ซึ่งพวกเขาโอ้อวดกัน และพวกเขาหวงแหนเครื่องใช้เล็กๆน้อยๆ”

 

คือ พวกเขาไม่ปฏิบัติความดีต่อพระเจ้า โดยการไม่เคารพสักการะพระเจ้าของพวกเขาด้วยความอิคลาศบริสุทธิ์ใจ และไม่ปฏิบัติดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ยอมให้ยืมสิ่งใช้สอยเล็กๆน้อยๆ และไม่ให้ความช่วยเหลือคนอื่นถึงแม้จะเป็นสิ่งถูกยืมแล้วยังนำกลับคืนมาใช้ต่อได้ เช่น ภาชนะ กะละมัง ถัง ขวาน คนเหล่านี้นั้น เรื่องเล็กน้อยแค่นี้พวกเขายังตระหนี่และจะประสาอะไรกับการออกซะกาต และการจ่ายในหนทางของอัลลอฮฺ แน่นอนว่าพวกเขาจะยิ่งหวงแหนยิ่งกว่า

 

สิ่งที่ได้รับจากสูเราะฮฺนี้

หนึ่ง สนับสนุนและส่งเสริมให้ทำการให้อาหารแก่เด็กกำพร้า และผู้ขัดสน อัล-บุคอรียฺได้รายงานในเศาะหีหฺของเขา จากหะดีษของ สะฮฺล์ บิน สะอัด แท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า:

«أنَا وكافِلُ اليَتِيمِ في الجَنَّةِ هكَذا»

ความว่า “ฉันและผู้อุปการะเลี้ยงดูเด็กกำพร้า จะอยู่เช่นนี้ในสวรรค์” แล้วท่านก็ชูนิ้วชี้และนิ้วกลางของท่าน (สถานะในวันกิยามะฮฺใกล้กันดังเช่นนิ้วชี้และนิ้วกลาง-ผู้แปล) (อัล-บุคอรียฺ หน้า1163/ หะดีษที่ 6005)

 

และอีกหะดีษหนึ่ง รายงานโดยอัล-บุคอรียฺ และมุสลิม ในเศาะหีหฺของทั้งสอง จากหะดีษอบีฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

«الساعي على الأَرْمَلَةِ والمِسكين كَالمُجاهِدِ في سَبيلِ الله»

ความว่า “ผู้ที่ช่วยเหลือหญิงหม้าย และคนขัดสนยากจน เขาเป็นดังเช่นผู้ที่ต่อสู้ไปในหนทางของอัลลอฮฺ” และฉันคิดว่าท่านกล่าวต่ออีกว่า “และเขาเป็นดั่งเช่นผู้ยืนละหมาดทั้งคืน และผู้ที่ศีลอดทั้งวัน” (อัล-บุคอรียฺ หน้า1164/ หะดีษที่ 6007 และมุสลิม หน้า1195/ หะดีษที่ 2982)

 

สอง ส่งเสริมและกระตุ้นให้ทำการละหมาดตรงเวลา อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา   ตรัสว่า

ความว่า ”แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นบัญญัติที่ถูกกำหนดเวลาไว้แก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย” (อัน-นิสาอ์ 103)

 

อัล-บุคอรียฺ และมุสลิมรายงานไว้ในเศาะหีหฺของทั้งสอง จากหะดีษของอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด ได้กล่าวว่า:

سألتُ النبي صلى الله عليه وسلم : أي العمل أحبُ إلى الله؟ قال : «الصلاة

ความว่า “ฉันได้ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า การงานใดที่เป็นที่รักยิ่ง ณ ที่อัลลอฮฺ” ท่านตอบว่า “การละหมาดตรงต่อเวลา (อัล-บุคอรียฺ หน้า121/ หะดีษที่ 527, มุสลิม หน้า 62/ หะดีษที่ 75)

 

สาม ส่งเสริมให้ปฏิบัติความดีต่างๆ และสนับสนุนให้เสียสละทรัพย์สินเล็กๆน้อยๆ เช่นการให้ยืมภาชนะ ถัง กะละมัง หนังสือ ขวาน เป็นต้น เพราะอัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา   ทรงตำหนิติเตียนผู้ไม่ปฏิบัติเช่นดังกล่าว

อัล-บุคอรียฺได้รายงานไว้ในเศาะหีหฺของท่าน จากหะดีษอิบนุอุมัร เล่าว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

«أَرْبَعونَ خصْلَة أَعلاهُنَ مَنِيحة العنزِ مَا مِنْ عَامِلٍ يَعْمَلُ بِخَصْلَةٍ مِنْها رَجاءَ ثَوابَها وَتَصْدِيقَ مَوعُودِها إلا أَدْخَلَهُ الله بها الجنةَ»

ความว่า “ความดี 40 ประการ ที่ดีที่สุดคือการให้ปศุสัตว์ที่มีนม (ให้ผู้อื่นยืมปศุสัตว์ที่รีดนมได้ เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์จากนมนั้น และคืนสัตว์นั้นให้เจ้าของ – ผู้แปล) ไม่มีผู้ใดที่ทำประการหนึ่งในนั้น โดยหวังผลตอบแทน และเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกสัญญาไว้ นอกจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา จะทรงให้เขาได้เข้าสวรรค์” (อัล-บุคอรี หน้า 497/ หะดีษที่ 2631)

 

ท่านหัสสานได้กล่าวว่า เราได้นับสิ่งที่นอกเหนือจากการให้ปศุสัตว์ เช่นการตอบรับสลาม การดุอาอ์ให้คนจาม การขจัดภัยอันตรายให้พ้นจากถนนหนทาง เป็นต้น แต่ทว่าเราไม่สามารถนับได้ถึง15 ประการเลย (หน้า397)

 

สี่ ส่งเสริมให้มีความอิคลาศบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺในการปฏิบัติการงาน และเตือนให้ระวังและออกห่างจากการโอ้อวด และการทำเพื่อชื่อเสียงหน้าตา ดังที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ตรัสเกี่ยวกับบรรดามุอ์มินีนว่า

ความว่า “และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์แก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก (พวกเขากล่าวว่า) แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่าน โดยหวังความโปรดปรานของอัลลอฮฺ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด” (อัล-อินสาน 7-9)

และได้มีรายงานจาก อัล-บุคอรียฺ และมุสลิม จากหะดีษญุนดุบ เล่าว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

«مَنْ سَمَّعَ سمَّعَ اللهُ به ومن يُرائي يرائي اللهُ به»

ความว่า “ผู้ใดประกาศ (การงานของเขา) อัลลอฮฺก็จะทรงประกาศเขา และผู้ใดโอ้อวด (การงานของเขา) อัลลอฮฺก็จะทรงให้เห็นถึงความโอ้อวดของเขา” (อัล-บุคอรียฺ 6499 และมุสลิม 2987)

 

หมายความว่า ใครที่ทำเพื่อชื่อเสียง อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ก็จะประจานเขา และจะทรงทำให้ผู้คนรู้ว่า คนๆนี้ไม่มีความอิคลาศต่ออัลลอฮฺ ที่เขาทำอิบาดะฮฺนั้นเพียงเพราะว่าอยากจะให้มนุษย์ชมเชยเขา ยกย่องเขา และใครที่ทำเพื่อโอ้อวด อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ก็จะประจานเขา และจะให้ผู้คนรู้ว่าเขานั้นต้องการจะโอ้อวด ไม่มีความจริงใจต่อัลลอฮฺ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วผู้คนก็จะรู้ถึงความไม่บริสุทธิ์ใจของเขา

 

 

....................................

แปลโดย : รีมา เพชรทองคำ

ผู้ตรวจทาน : อัสรัน นิยมเดชา

 

คัดลอกจาก   http://IslamHouse.com/339033

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).