Loading

 

สาเหตุของการเกิดการก่อการร้าย

สาเหตุของการเกิดการก่อการร้าย

 

 ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการก่อการร้าย ข้าพเจ้าขอสรุปพอสังเขปดังนี้

 

สาเหตุที่ 1 การหันหลังให้กับบทบัญญัติหรือกฎหมายของอัลลอฮฺ

        ถือเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาการก่อร้ายอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ คือ การหันหลังให้กับบทบัญญัติหรือกฎหมายของอัลลอฮฺ มิได้นำมาบังคับใช้บนพื้นแผ่นดิน แท้จริงเมื่ออัลลอฮฺทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกใบนี้พระองค์ทรงรอบรู้เป็นอย่างดีว่าสิ่งไหนคือส่งที่เหมาะสมกับบ่าวของพระองค์ (รวมถึงกฎหมายด้วย) ดังที่พระองค์ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัล-มุลกฺ อายะฮฺที่ 14
 

“พระผู้ทรงสร้างจะมิทรงรอบรู้ดอกหรือ ? พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วนผู้ทรงตระหนักยิ่ง”

         อัลลอฮฺ ได้ประทานศาสนาอิสลามให้เป็นศาสนาสุดท้ายที่สมบูรณ์ที่สุด เหมาะสมกับมวลมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับโลกนี้และโลกหน้า อัลลอฮฺ จะรักษาศาสนานี้ดังที่พระองค์รักษาธรรมนูญของพระองค์เอง นั่นคือคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเป็นพระพจนารถของพระผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก และความจริงอีกประการหนึ่งซึ่งเราส่วนใหญ่อาจจะคิดไม่ถึง นั่นคือ เราในฐานะที่เป็นมุสลิม ทุกครั้งที่เราเรียกร้องให้มีการนำกฎหมายอิสลามมาใช้ในโลกนี้ มิได้หมายถึงว่าเรานั้นจะบังคับมนุษย์ทุกคนนับถือศาสนาอิสลาม นั้นไม่ใช่เป้าหมายของการเรียกร้องของเรา เพราะอัลลอฮฺได้ตรัสอย่างชัดแจ้งแล้วว่า

(لَآ إِكۡرَاهَ فِي ٱلدِّينِۖ﴾ (البقرة: 256)      “ไม่มีการบังคับกันในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา”

 (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 256 )

        เรามีหน้าที่ต้องเชิญชวนและส่งเสริมมวลมนุษย์สู่ศาสนาอิสลาม แต่ทว่าเราไม่สามารถที่จะไปบีบบังคับผู้หนึ่งผู้ใดเข้ารับอิสลาม อัลลอฮฺตรัสในสูเราะฮฺ ยูนุส อายะฮฺ ที่ 99 ว่า

“และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอน ผู้ที่อยู่ในแผ่นดินทั้งมวลจะศรัทธา เจ้าจะบังคับมวลชนจนกว่าพวกเขาจะเป็นผู้ศรัทธากระนั้นหรือ ?”
 

       ณ จุดนี้ เราเรียกร้องให้ทุกรัฐบาลประเทศมุสลิมนำกฎหมายอิสลามมาใช้ในการปกครองบ้านเมือง เนื่องจากจะทำให้สังคมเกิดสันติสุข ผู้คนในยุคแรกของอิสลามได้ลิ้มรสของความสงบสุขภายใต้การปกครองที่มีความมั่นคง สังคมที่ปลอดภัย และความเจริญมั่งคั่งมากมาย ทั้งผู้ที่เป็นมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมล้วนแล้วได้รับอานิสงค์ภายใต้การปกครองของอิสลาม

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงชี้แนะแก่เราวิธีการปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมในเรื่องการปกครองและการพิพากษา พระองค์ตรัสว่า

"ถ้าหากพวกเขามาหาเจ้า ก็จงตัดสินระหว่างพวกเขา หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงพวกเขาเสีย

และถ้าหากเจ้าหลีกเลี่ยงพวกเขา พวกเขาก็จะไม่ให้โทษแก่เจ้าได้แต่อย่างใดเลย

และหากเจ้าตัดสินใจ ก็จงตัดสินใจระหว่างพวกเขา ด้วยความยุติธรรม แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้ที่ยุติธรรม"

 (อัล-มาอิดะฮฺ : 42)
 

        การผินหลังให้กับบทบัญญัติหรือกฎหมายของอัลลอฮฺเป็นสาเหตุหลักให้มนุษย์หลงทาง มืดบอด และมีความทุกข์ ดังที่พวกเราต่างประสบอยู่ในปัจจุบัน อัลลอฮฺได้ตรัสในสูเราะฮฺ ฏอฮา อายะฮฺที่ 124

“และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงข้า แท้จริงสำหรับเขาคือ การมีชีวิตอยู่อย่างคับแค้นและเราจะให้เขาฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺ (วันปรโลก)ในสภาพของคนตาบอด”

       ความเป็นอยู่ที่คับแค้นก็คือ ความทุกข์นั้นเอง  ดังนั้นการที่ระบบปกครองที่ห่างไกลจากบทบัญญัติอิสลามในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และอื่นๆ (ซึ่งสิ่งเหล่านั้นศาสนาได้อธิบายอย่างชัดเจนและครบถ้วนสมบูรณ์)เป็นสาเหตุที่ให้เกิดความทุกข์ และหนึ่งในประเภทความทุกข์คือ การก่อการร้าย

 

สาเหตุที่ 2 ความสุดโต่ง
 

       ส่วนหนึ่งจากสาเหตุของการเกิด การก่อการร้าย คือ ความสุดโต่ง นั่นคือ ความเกินเลยขอบเขตที่ได้กำหนด ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อันตรายอย่างยิ่งในทุกด้าน แม้ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาก็ตาม อิสลามได้เตือนระวังเกี่ยวกับความสุดโต่งในศาสนา ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
 

(( إِيَّاكُمْ وَالْغُلُوَّ )) رواه أحمد والنسائي، وصححه الألباني رواه النسائي (3057) وابن ماجة (3029
 

 “พวกท่านพึงระวัง การเกินเลยขอบเขตในศาสนา”
 

(( هَلَكَ الْمُتَنَطِّعُونَ )) رواه مسلم 2670
 

“บรรดาผู้ที่เคร่งครัด เกินเลยขอบเขตทั้งในเรื่องศาสนาและทางโลกได้มีความวิบัติแล้ว”
 

       ความสุดโต่งบางครั้งเกิดขึ้นในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องห้าม และบางครั้งเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านหรือต่อสู้กับศาสนา ซึ่งนับว่าเป็นความสุดโต่งที่ตรงข้ามกัน เป็นที่ทราบดีว่าทั้งสองฝ่ายจะขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งสองฝ่ายจะมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดบุคคลที่มีแนวคิดสุดโต่ง เพราะความสุดโต่งที่มีมูลเหตุจูงใจจากการต่อต้านศาสนา จะทำให้เกิดปฏิกิริยาย้อนกลับและเกิดบุคคลที่มีความคิดสุดโต่งในศาสนา และในตรงกันข้ามกัน

       ศาสนาของอัลลอฮฺเป็นศาสนาที่อยู่ตรงกลางระหว่างความสุดโต่งกับความละเลย ประชาชาติอิสลามถือว่าเป็นประชาชาติสายกลางจากประชาชาชาติที่มีอยู่ทั้งหมด คนที่มีแนวคิดสุดโต่งในศาสนาเขาผู้นั้นมิได้ถือว่าเป็นบุคคลที่ยึดมั่นกับหลักคำสอนของศาสนาอย่างแท้จริง ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวถึงบุคคลประเภทนี้ว่า
 

(( فَمَنْ رَغِبَ عَنْ سُنَّتِي فَلَيْسَ مِنِّي )) متفق عليه.
 

 "ดังนั้นบุคคลใดที่ไม่ปรารถนาแบบฉบับของฉัน (เขาผู้นั้น) ก็ไม่ใช่พวกของฉัน" 

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 5063 และมุสลิม :1401 )

        ส่วนผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับพวกสุดโต่งในศาสนา คือ พวกที่ต่อต้านศาสนาอย่างขันแข็ง พวกนี้คือพวกที่ไม่สนใจในเรื่องศาสนา ความสุดโต่งแบบนี้จะทำให้เกิดความสุดโต่งทางแนวคิด หรือเกิดกลุ่มที่ติดอาวุธ ความสุดโต่งที่ต่อต้านศาสนาจะทำให้แนวคิดของการก่อการร้ายแผ่ขยายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นแรงปฏิกิริยาที่เกิดจากแนวทางที่ผิด

 

สาเหตุที่ 3 การตีความที่ผิดพลาด
 

        สาเหตุที่ทำให้เกิดการก่อการร้าย คือ การตีความที่ผิดพลาด ผู้ที่ก่อเหตุร้ายเขาจะไม่ลงมือกระทำการนั้นนอกจากจะต้องวางแผนเตรียมการ หรือพิจารณาไตร่ตรองล่วงหน้า โดยเฉพาะในด้านแนวคิด บางครั้งอาจจะเกิดข้อผิดพลาดในการเตรียมการ บางครั้งเขาประเมินสถานการณ์ผิดพลาด หรือขัดแย้งกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เป็นอยู่ หรือ ผู้ที่ก่อการนั้นกระทำไปตามอารมณ์ของตนเองโดยลืมสัจธรรมหรือแกล้งลืม แต่พยายามหาสารพัดเหตุผลเพื่อให้การก่ออาชญากรรมของเขานั้นมีความชอบธรรม และบางครั้งการตีความที่ผิดพลาดเกิดจากการให้ข้อมูลผิดๆ จึงทำให้เกิดตัดสินใจที่ผิดพลาดจนสู่การกระทำที่ทำให้เกิดผลร้ายตามมา

       อัลลอฮฺ ได้ตรัสถึงความคิดของชาวนรกหรือผู้ที่ถูกทรมานด้วยการลงโทษอันเจ็บแสบ ทั้งๆที่พวกเขานั้นคิดว่าพวกเขาได้อยู่บนสัจธรรมแล้ว

         “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) เราจะแจ้งแก่พวกท่านไหม ถึงบรรดาผู้ที่ขาดทุนยิ่งในการงาน คือบรรดาผู้ที่การขวนขวายของพวกเขาสูญสิ้นไป ในการมีชีวิตในโลกนี้ และพวกเขาคิดว่าแท้จริงพวกเขาปฏิบัติความดีแล้ว เขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาต่อโองการทั้งหลายของพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา และการพบปะกับพระองค์ ดังนั้นการงานของพวกเขาจึงไร้ผล และในวันกิยามะฮฺเราจะไม่ให้มันมีค่าแก่พวกเขาเลย” 

(อัล-กะฮฺฟ :103-105)

 

สาเหตุที่ 4 คือ อุปสรรคต่างๆในการเผยแพร่สัจธรรม
 

          และส่วนหนึ่งจากสาเหตุที่ทำให้เกิดการก่อการร้าย คือ อุปสรรคต่างๆในการเผยแพร่สัจธรรม การมีอุปสรรคด้านสื่อสารและประชาสัมพันธ์ หรืออุปสรรคด้านความมั่นคง หรืออุปสรรคอื่นๆ ที่ทำให้ไม่สามารถเผยแพร่สัจธรรมศาสนาของอัลลอฮฺที่แท้จริง หรือหลักศาสนาที่ถูกต้องปราศจากความสุดโต่งและความละเลย และปฏิเสธความสุดโต่งทุกรูปแบบ ก็ส่วนหนึ่งจากสาเหตุที่ทำให้เกิดการก่อการร้ายได้ อีกทั้งยังทำให้แนวคิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายเผยแพร่ไปยังรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมู่ผู้คนที่มีความว่างเปล่าในความคิด ซึ่งหัวใจของเรานั้นอยู่ระหว่างสัจธรรมและความเท็จ เมื่อใดที่สัจธรรมเกิดความอ่อนแอเมื่อนั้นความเท็จจะเข้ามาครอบงำบุคคลนั้นทันที

ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสในสูเราะฮฺ ยูนุส อายะฮฺที่ 32 ว่า
 

( فَمَاذَا بَعۡدَ ٱلۡحَقِّ إِلَّا ٱلضَّلَٰلُۖ فَأَنَّىٰ تُصۡرَفُونَ )
 

“ฉะนั้น หลังจากความจริงแล้วจะมีอะไรอีกเล่านอกจากความหลงผิดเท่านั้น แล้วทำไมเล่าพวกท่านจึงถูกให้หันเหออกไปอีก ?”

 

 

................................................................................

 

แปลและเรียบเรียง  อันวา  สะอุ

คัดลอกจาก  http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=54&id=3696

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).