Loading

 

เบียร์ช้างของเเขก

“ถั่วมันๆ ไหมครับ” บังขายถั่วเดินร้องตะโกนขายถั่ว เขามักจะหยุดที่โต๊ะอาหารนั่งยองๆ แล้วยกมือไหว้ ดวงตาอ้อนวอนให้ผู้มาทานอาหารซื้อถั่วของเขา ปากเผยอพูดว่า “ช่วยซื้อถั่วมันๆ หน่อยครับ”         สายตาผมลามเลียตั้งแต่ศีรษะจรดข้อมือ ใบหน้าเขากรำแดด หน้าผากมีรอยแต้มสีแดง ข้อมือผูกเส้นด้าย บ่งบอกว่าเขาเป็นฮินดูขนานแท้

เขาเดินมาที่โต๊ะผม แต่ด้วยความหิว ผมจึงรีบโคลงมือไปมาเป็นสัญญาณว่าปฏิเสธ แล้วผมก็ก้มหน้าทานก๋วยเตี๋ยวต่อ

สักพักเมื่อรู้ว่าไม่มีใครสนใจถั่วของเขา เขาจึงสาวเท้ากรากจากร้านอาหารเพื่อหาทำเลอื่นขายต่อ

ผมเองก็ไม่ได้สนใจบังขายถั่วอะไรหรอกครับ หรืออาจเพราะเขาไม่ใช่บุคคลที่น่าสนใจก็เป็นได้

 

...

สัปดาห์หนึ่งผ่านไป ...

 

ผมเข้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เป้าหมายผมคือตู้เย็น แต่มีบุรุษร่างเล็กท่านหนึ่งยืนรีๆ ขวางๆ หน้าตู้เย็น เขาเอื้อมมือหยิบเบียร์ช้าง มือซ้ายปิดตู้เย็น มือขวาถือเบียร์ช้างกระป๋องแน่นแนบหน้าอก เขาหันเพื่อหยิบสินค้าประเภทอื่น เขาเผชิญหน้ากับผม ผมจำเขาแม่น บังขายถั่วที่ยกมือไหว้อ้อนวอนให้ซื้อถั่วเขาเมื่อสัปดาห์ก่อน

“อาบัง กินเบียร์ช้างเลยเหรอ” ผมอุทานให้เขาได้ยิน ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยรู้จักเขาด้วยซ้ำ

เขานิ่ง แต่พงหนวดเหนือริมฝีปากเขาขยายกว้าง ไม่เห็นฟัน ดวงตามีประกาย คล้ายจะบอกว่าที่มือขวา เขากำลังกำความสุขอยู่ หรือเขากำลังจะมีความสุขกับเบียร์กระป๋องใบนี้ เขาโคลงหัวไปมา นั่นเป็นสัญลักษณ์แห่งการยอมรับของวัฒนธรรมอินเดีย ก็คล้ายคำตอบรับว่า “โอเค” ของฝรั่งนั่นแหละ

ไม่มีเสียงตอบจากเขายกเว้นรอยยิ้มกริ่ม นั่นคงแทนคำตอบของเขาได้ดี

ผมหยิบสิ่งของที่ต้องการ สืบเท้าไปที่เคาน์เตอร์เพื่อจ่ายตังค์ แต่สายตาผมยังคงโฟกัสที่บังขายถั่วไม่กระพริบ เขายืนดูสินค้าอื่นที่เขาต้องการ มือขวายังจับกระป๋องเบียร์ช้างแนบที่อก ดวงตาเขายังคงเป็นประกายเช่นเดิม

จ่ายตังค์เสร็จ ผมเดินออกจากร้านพลางคิดเรื่อยเปื่อย

“คนที่มีโอกาสทำมาหากินน้อยอยู่แล้วเพราะเป็นคนต่างแดน อีกทั้งยังต้องส่งสตางค์กลับประเทศของตน แต่ทำไมยอมเจียดเงินจำนวนหนึ่งซื้อสิ่งที่ไม่มีประโยชน์สำหรับเขาด้วย” ผมนึก

บังขายถั่วเดินอ้อนวอนให้ผู้คนซื้อถั่วของเขา แต่กำไรส่วนหนึ่งเจียดมาซื้อเบียร์ช้าง จริงอยู่เบียร์กระป๋องราคาประมาณยี่สิบห้าบาท แต่สำหรับคนอินเดียแล้วถือว่าเป็นของแพงในทัศนะของพวกเขา ผมเคยอยู่อินเดีย ผมทราบดี คนอินเดียไม่ตัดสินใจซื้ออะไรเกินตัว ช่วงปีสุดท้ายก่อนผมจะจบกลับบ้าน น้ำอัดลมยี่ห้อเป๊ปซี่เข้าไปตีตลาดอินเดีย จนกระทั่งในมหาลัยฯ ที่ผมเรียนก็ยังต้องสั่งเข้าไปจำหน่ายในราคาขวดละห้ารูปี (เทียบกับเงินสกุนไทยในช่วงนั้นก็ประมาณสองบาทห้าสิบสตางค์) แต่นักเรียนอินเดียที่นั่นไม่นิยมซื้อดื่ม เพราะราคาแพงในทัศนะของพวกเขา พวกเขามักนิยมดื่มชา ซึ่งถือประหนึ่งวิถีชีวิตของพวกเขา อีกทั้งราคาก็ถูกกว่าเป๊ปซี่ตั้งสี่รูปี

คนอินเดียเป็นคนประหยัดสุดๆ เพราะความจนจึงทำให้พวกเขามีพฤติกรรมเยี่ยงนั้น ยิ่งแขกอินเดียที่มาอยู่เมืองไทย ไม่ว่าจะมีอาชีพขายผ้า ขายหนังสือพิมพ์ ขายถั่ว ขายมุ้ง ฯลฯ ล้วนเป็นคนประหยัดสุดๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้นภาพของบังขายถั่วซื้อเบียร์จึงเป็นภาพแปลกตาสำหรับผมไงล่ะครับ

ทีนี้หันกลับมาวิเคราะห์บังขายถั่วดูบ้าง ด้วยปัจจัยใดหรือ? ที่ทำให้เขายอมควักตังค์ซื้อเบียร์กระป๋อง ทั้งๆ ที่ต้องแลกด้วยการยกมืออ้อนวอนกว่าจะขายถั่วได้แต่ละห่อแต่ละถุง ผมว่าเป็นประเด็นน่าวิเคราะห์เลยทีเดียว ซึ่งยุคนี้ข้าวยากหมากแพง ผมจะตัดสินใจซื้ออะไรสักชิ้นหนึ่งคิดแล้วคิดอีก คิดจนถี่ถ้วน แล้วจึงฟันธงซื้อ แต่บังขายถั่วกลับไม่ลังเลสักนิดเลยว่า เขาทำงานแลกเงินได้แต่ละบาทนั้นเสียเหงื่อไปกี่ปี๊บ ปาดเหงื่อกี่ครั้ง และเดินไปกี่กิโล? แต่เขาก็ตัดสินใจซื้อสิ่งที่ไม่ทำให้เขามีพลัง ไม่บำรุงสมอง และไม่ทำให้เขาแข็งแรงเลยสักนิด

ผมกลับมาคิดเล่นๆ ว่า ปัจจัยซึ่งมีอิทธิพลกำหนดวิถีเดิมๆ แบบอนุรักษ์นิยมให้กลายเป็นผู้หลงเสน่ห์ความมึนเมาไร้ประโยชน์ เป็นไปได้ว่า เขาจะหาความสุขใส่ตัวบ้าง เดินขายถั่วทั้งวัน โอกาสไปหาความสุขอย่างอื่นคงไม่มีอยู่แล้ว ความสุขเดียวที่เขาคิดคือ ซื้อเบียร์เย็นๆ มาดื่ม นั่งปล่อยอารมณ์ไปตามสายลมใต้แสงริบรี่ของไฟนีออนหน้าห้องที่พังแลไม่พังแล ฟังเสียงละครโทรทัศน์ดังลอดผ่านรอยแตกของห้องเช่าเพื่อนบ้านคล้ายกับแกล้ม ไม่ต้องคิดอะไรมาก เมาแล้วหลับ เดี๋ยวก็เช้า

หรืออาจเป็นได้ว่า เขาตกเป็นเหยื่อกระแสค่านิยมมวลชน ผู้อ่านลองคิดดูสิ กรรมกรแบกหามดื่มเครื่องดื่มชูกำลังทุกวันนี้ มีหน่วยงานใดบ้างออกมาการันตีว่า เป็นเครื่องดื่มชูกำลังจริงๆ แต่ด้วยเพราะสื่อที่ประโคมโฆษณาจนทำให้ชนชั้นระดับล่าง หรือที่นักการเมืองเรียกว่าชนชั้น “รากหญ้า” ซื้อหามาดื่ม เพียงเพราะกระแสโฆษณาที่ประโคมสรรพคุณเสียจนต้องทำให้ระดับรากหญ้าควักสตางค์ซื้ออย่างสนิทใจ

เอาล่ะ ลองดูอีกสักตัวอย่างหนึ่ง ระดับรากหญ้านี่แหละ ภายหลังที่ทำงานเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน ก่อนกลับที่พัก ก็มักซื้อสุรา หรือเบียร์มาดื่ม อาจจะดื่มตามลำพัง หรือดื่มกันเป็นหมู่คณะ คิดง่ายๆ ค่าแรงต่อวันๆ ละ 250 (สมมุติเช่นนั้น) เจียดให้ค่าสุรากับแกล้มหมดไปเท่าไรแล้วล่ะ? ไหนจะค่าบุหรี่ ไหนจะค่าอาหารของวันนั้นๆ ถามว่าค่าแรงแต่ละวันเหลือกี่บาทกัน? คำตอบคงไม่เหลือ บางคนยังเป็นหนี้อีกต่างหาก

จะด้วยเหตุผลใดก็ช่าง ที่ทำให้ชนชั้นรากหญ้าเป็นเช่นนั้น แต่บทสรุปสุดท้ายชนชั้นรากหญ้ากลายกลับทำให้เจ้าของธุรกิจ หรือเศรษฐีทวีความร่ำรวยมากยิ่งขึ้น อันเนื่องจากชนชั้นล่างสนับสนุนสินค้าของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ ผมเคยดูโฆษณาบริษัทเบียร์ช้างนี่หละ ที่ประกาศว่าเขานำผ้าห่มไปแจกให้แก่พี่น้องทางภาคอีสาน และภาคเหนือเพื่อป้องกันภัยหนาว งบประมาณที่ซื้อผ้าห่มกันหนาวประมาณ 80 ล้านบาท พี่น้องคิดดูสิ งบประมาณนั้นเป็นกำไรส่วนหนึ่งของบริษัทเบียร์ช้าง นั่นหมายรวมว่า ยอดกำไรจริงๆ ไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร อันที่จริงเงินกำไรที่บริษัทเบียร์ช้างซื้อผ้าห่มแจกคนจนทางภาคอีสานและภาคเหนือ เป็นเงินจากชนชั้นรากหญ้านั่นแหละ ราวกับว่า อัฐยายซื้อขนมยาย คนจนช่วยซื้อผ้าห่มให้คนจน

สินค้าหลายประเภทที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นรากหญ้าจนทำให้เจ้าของสินค้าร่ำรวยไม่รู้กี่รายต่อกี่ราย ด้วยพื้นฐานความเป็นคนไทย เป็นคนเชื่อคนง่ายอยู่แล้ว ยิ่งถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง หรือมีผู้น่าเชื่อถือออกมาแนะนำยิ่งทำให้สินค้านั้นเป็นที่สนใจและขายดีเทน้ำเทท่าอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนสินค้าจะดีจริงอย่างที่โฆษณาหรือไม่นั้น นั่นอีกประเด็นหนึ่ง

ปัจจุบันผมเองก็ยังไม่เห็นหน่วยงาน หรือองค์กรใดออกมายืนยันว่า ดื่มเบียร์ ดื่มสุรา (จะยี่ห้อไหนก็ช่าง) ทำให้เกิดความสุข ขจัดทุกข์แห่งตนได้ นี่ผมยังไม่พูดถึงเรื่องศาสนาเลยนะ เพียงต้องการตอกย้ำว่า สินค้าที่ถูกโฆษณาจนทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นดั่งที่ถูกนำเสนอ ไม่จริงเสมอไป ผมเลยยิ่งเข้าใจหะดีษที่ท่านนบีเคยกล่าวในทำนองที่ว่า“อย่าพูดทุกๆ สิ่งที่ได้ยินมา”   นั่นหมายรวมว่า สิ่งที่เราได้ยินมาทั้งหมดเราต้องกลั่นกรอง ไม่ใช่เชื่อทุกอย่างที่ได้ยินมา ดั่งที่ผมเคยเปรยว่า ชนชั้นระดับรากหญ้าดื่มเบียร์, ดื่มสุราหัวราน้ำ สาเหตุเพราะศิลปินที่เราชื่นชอบเป็นพรีเซ็นเต้อร์ หรือเพราะคำโฆษณาอันสวยหรู?

ผมจึงไม่แปลกใจ ทำไมบังขายถั่วจึงยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อแลกกับสิ่งมึนเมา และกล้าปฏิวัติวิถีอนุรักษ์นิยมเดิมๆ ของตนได้อย่างกล้าหาญถึงเพียงนี้? แต่น่าเสียดาย อุดมคติที่เข้มแข็งของชาวอินเดียซึ่งเคยโดดเด่น กลับถูกทำลายด้วยมือของตนเองไปเสียฉิบ


อาจเป็นเพราะผมอายุมากขึ้นจึงคิดไม่ทันคนรุ่นใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหลือร่องอดีตให้หวนคำนึงถึงแล้ว จึงไม่มีคนอินเดียซึ่งยึดแนวทางอนุรักษ์นิยมดั่งที่ผมรำพึงมาให้ฟังอีกแล้วก็เป็นได้


พอสิ้นเสียงโฆษณาทีวี “เบียร์ช้างของไทย เบียร์คนไทยทำเอง” ผมนึกในใจว่า เอ็งทำสำเร็จแล้ว อันที่จริงเบียร์ช้างไม่ใช่สำหรับคนไทยแล้ว แต่เป็นเบียร์สำหรับทุกคนที่หาซื้อกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่เว้นแม้กระทั่งแขก (อินเดีย) ขายถั่ว ยอมยกมือไหว้ วิงวอนให้ซื้อถั่วของเขาเพื่อแลกกับกำไรไม่กี่บาทมาซื้อเบียร์ของเอ็ง


วันหน้าวันหลัง เอายังงี้สิอาบัง ! เวลาจะขายถั่วกับใคร ให้ยกมือไหว้เขา แล้วบอกเขาว่า “พี่ครับ ช่วยซื้อถั่วผมหน่อย ถ้าซื้อถั่วผม พี่ได้ทำบุญซื้อผ้าห่มกันหนาวให้คนยากจนภาคอีสานกับภาคเหนือ อีนี่ผมพูจริงๆ นะครับนาย”    ถั่วของอาบังจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเชียวล่ะ อาบังเอ๊ย.......



โดย อ.มุรีด ทิมะเสน

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).