Loading

 

อิสลาม คุณค่าและอัตลักษณ์

อิสลาม เป็นคำสอนที่ถือว่ามนุษย์ทุกคน ถึงแม้จะแตกต่างด้านเชื้อชาติ สัญชาติและเผ่าพันธุ์ ต่างก็มีตระกูลอันดั้งเดิมที่มาจากครอบครัวเดียวกัน ดังอัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย จงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้า ที่ได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง (นบีอาดัม)”(อันนิสาอ์ : 1) อัลลอฮฺยังได้ตรัสอีกความว่า “โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (อัลฮุญุรอต : 13) การประกาศหลักการและเจตนารมณ์อันบริสุทธ์นี้ถือเป็นการปฏิเสธความเหลื่อมล้ำ การแบ่งชนชั้นวรรณะและการจัดวางกลุ่มคนบนขั้นบันไดทางสังคมเนื่องจากความแตกต่างด้านสีผิว เชื้อชาติ วงศ์ตระกูลและเผ่าพันธุ์ของมนุษย์โดยสิ้นเชิง

อิสลาม ถือว่าความหลากหลายทางด้านภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และวงศ์ตระกูลของมวลมนุษย์ คือหนทางสู่การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ เกื้อกูล เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นต้นเหตุแห่งการบาดหมาง พยาบาท การเข่นฆ่า สงครามและการนองเลือดระหว่างกัน อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกันและกัน” (อัลฮุญุรอต : 13) การรู้จักซึ่งกันและกัน ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การเข้าถึง เข้าใจ ร่วมมือ เกื้อกูล และถือเป็นบันไดขั้นแรกของกระบวนการสร้างอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติ

อิสลาม ถือว่ามนุษย์มีฐานะอันทรงเกียรติยิ่งและประเสริฐสุดในบรรดาสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหลาย ถึงแม้จะมีความแตกต่างด้านสีผิว เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมและศาสนา แต่ความเป็นมนุษย์ของคนๆ หนึ่งถือเป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่เขาจะได้รับฐานะอันทรงเกียรตินี้ อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “แน่แท้ เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอดัมและเราได้พิทักษ์ปกป้องพวกเขาทั้งหลายทั้งทางบกและทางทะเล และได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดีทั้งหลายแก่พวกเขา และเราได้ให้พวกเขาดีเด่นอย่างมีเกียรติเหนือกว่าผู้ที่เราได้ให้บังเกิดเป็นส่วนใหญ่” (อัล อิสรออ์ : 70)

อิสลาม ถือว่าโดยทั่วไปแล้วสตรีเพศมีฐานะที่ทัดเทียมกับบุรุษด้านสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์และอิสลามถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองเพศดังกล่าว ควรต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเอื้ออาทร ความห่วงใย ความรักและความโอบอ้อมอารี อิสลามไม่ได้ถือว่าเพศชายหรือเพศหญิงมีฐานะที่เหนือกว่าเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ ความดีและการยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดการมีเกียรติที่เหนือกว่า ดังนั้นอิสลามจึงถือว่าสตรีที่มีคุณธรรมอันสูงส่ง ย่อมมีเกียรติเหนือกว่าชายที่เลว ส่วนชายที่ซาบซึ้งในธรรมพร้อมประกอบคุณงามความดีย่อมประเสริฐกว่าหญิงชั่วอย่างแน่นอน

บนพื้นฐานแห่งกระบวนทัศน์ดังกล่าว อิสลามจึงประกาศเป็นศาสนาสากลที่ตระหนัก และให้ความสำคัญแก่มนุษย์ อิสลามจึงเชิญชวนและเรียกร้องมนุษยชาติทั้งมวล โดยไม่ได้จำกัดกลุ่ม ชนชาติ เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติหรือลักษณะภูมิประเทศใดเป็นการเฉพาะ และด้วยความเป็นสากลของอิสลาม ไม่ว่าในมิติของการเชิญชวน การเรียกร้อง หรือในมิติของการตอบรับของประชาคมโลก อิสลามจึงปฏิเสธแนวคิดชาตินิยม รัฐนิยมหรือการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ของตนเอง อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้ตักเตือนแก่มนุษย์ทั้งหลาย แต่ว่าส่วนมากของมนุษย์ไม่รู้”(สะบะอ์ : 28)
ท่านศาสนฑูตมูฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) กล่าวไว้ว่า “ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉันสำหรับผู้ที่เรียกร้องบนฐานแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉันสำหรับผู้ที่ทำสงครามบนฐานแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ และไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉันสำหรับผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการต่อสู้ในการปกป้องและพิทักษ์รักษาแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์”
ด้วยเหตุดังกล่าวในประวัติศาสตร์ของอิสลามจึงเต็มไปด้วยการสร้างคุณประโยชน์ในระดับสากลที่มวลมนุษยชาติได้มีส่วนร่วมก่อร่างสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองการเชิญชวนของพระผู้เป็นเจ้า บนพื้นฐานของมนุษย์ที่มีพระเจ้าองค์เดียว และมีรากเหง้า ต้นตอที่มาจากมนุษย์คนเดียวกัน

อิสลาม ได้ยอมรับในหลักการที่ว่า การเชื่อมั่นศรัทธาในศาสนาอิสลาม ควรต้องเป็นผลพวงของเจตนารมณ์และความต้องการอันเสรี อันนำไปสู่การยอมรับในหลักของเหตุและผลของปัจเจกบุคคล อิสลามจึงสั่งห้ามมิให้มีการบังคับขู่เข็ญให้มวลมนุษย์นับถืออิสลาม และการบังคับในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นอาชญากรรมและสร้างตราบาปให้แก่มนุษย์ที่มีความอิสระและสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนาอิสลาม” (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 256) อัลลอฮฺได้ตรัสอีกความว่า “เจ้าไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจเหนือพวกเขา (ให้เกิดความศรัทธา) ” (อัลฆอซิยะฮฺ : 22) นอกจากนี้ อัลลอฮฺยังได้ปฏิเสธพฤติกรรมอันจะนำไปสู่การบังคับในศาสนาด้วยคำดำรัสของพระองค์ความว่า “และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนผู้ที่อยู่ในแผ่นดินทั้งมวลจะศรัทธา เจ้าจะบังคับมวลชนจนกว่าพวกเขาจะเป็นผู้ศรัทธากระนั้นหรือ?” (ยูนุส : 99)

อิสลาม ยอมรับคำสอนที่ประกาศและเผยแผ่โดยบรรดาศาสนทูตและไม่ปฏิเสธอารยธรรมอันดีงามที่มนุษยชาติในยุคก่อนได้สรรค์สร้างและพัฒนา อิสลามถือว่าสิ่งดังกล่าวเป็นขั้นตอนหนึ่งของการพัฒนามนุษยชาติที่เหมาะสมกับยุคสมัยนั้นๆ อิสลามมิได้เป็นอื่นใดนอกจากอิฐก้อนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการพัฒนาดังกล่าวเป็นไปอย่างเสร็จสิ้นและสมบูรณ์ อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “แท้จริงเราได้มีโองการแก่เจ้าเช่นเดียวกับที่เราได้มีโองการแก่นูฮฺและบรรดาศาสนทูตหลังจากเขา” (อันนิสาอ์ : 163) ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ได้มีวจนะไว้ความว่า “อุปมาการเป็นศาสนทูตของฉัน และศาสนทูตท่านอื่น ๆ ในยุคก่อนหน้าฉัน ประหนึ่งชายคนหนึ่งที่สร้างบ้านอย่างสวยงาม เพียงแต่ขาดอิฐก้อนหนึ่ง ณ มุมหนึ่งของบ้าน ผู้คนทั้งหลายได้เดินเวียนรอบ ๆ บ้านหลังนั้น และตะลึงในความวิจิตรงดงามของบ้านหลังนั้นพร้อมกับกล่าวว่า : หากมีอิฐ ก้อนหนึ่งวางไว้ตรงนั้น (ณ มุมที่ยังไม่สมบูรณ์ แน่นอนบ้านหลังนั้นจะดูสวยงามโดยไม่มีที่ติเลยทีเดียว) ฉันนี่แหละคืออิฐก้อนนั้น และฉันคือศาสนทูตคนสุดท้าย” (รายงานโดยอัล- บุคอรีย์)

อิสลาม ได้ยอมรับศาสนายุคก่อน ๆ และได้ยอมรับชนต่างศาสนิกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคม และพลเมืองของรัฐอิสลาม นอกจากนี้อิสลามยังได้กำหนดสิทธิอันชอบธรรมต่าง ๆ ที่ชนต่างศาสนิกพึงได้รับ อาทิ ความอิสระและเสรีภาพในการนับถือศาสนา การสถาปนาสถาบันและสัญลักษณ์ทางศาสนา การยอมรับในกฎหมาย และข้อบังคับที่ว่าด้วยสิทธิของปัจเจกบุคคล รวมทั้งการสั่งห้ามมิให้กระทำการใด ๆ ที่สร้างความอธรรม รุกรานหรือละเมิดพวกเขาด้วยการแอบอ้างศาสนาที่มีพื้นฐานจากการตีความศาสนบัญญัติที่ผิดๆและไม่เข้าใจในเจตนารมณ์ ของศาสนบัญญัติที่ถูกต้อง อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “สำหรับพวกท่านก็คือ ศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน ” (อัลกาฟีรูน : 6) หมายถึงต่างฝ่ายต่างก็ปฎิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของตนโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ได้มีวจนะไว้ความว่า “พึงทราบเถิดว่าผู้ใดที่ปฏิบัติอธรรมต่อคนต่างศาสนิกที่อยู่ระหว่างการทำพันธะสัญญา หรือเหยียดหยามเขา หรือสั่งให้เขาทำงานในสิ่งที่เกินความสามารถของเขา หรือยึดทรัพย์สินใดๆของเขา ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เต็มใจมอบให้ ดังนั้นฉันจะเป็นคู่กรณีกับบุคคลผู้นั้น (ด้วยการทวงคืนสิทธิของผู้ถูกอธรรม) ในวันกิยามัต ” รายงานโดยอบูดาวูด
อัลกุรอาน เป็นคัมภีร์เพียงเล่มเดียวที่ได้สาธยายประวัติศาสตร์ในอดีตโดยปราศจากการบิดเบือน อัลกุรอานยังได้เชิญชวนมวลมนุษย์ให้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของบรรพชนในยุคก่อน รวมทั้งยังได้เรียกร้องให้มนุษย์นำผลการศึกษาดังกล่าว เป็นบทเรียนและอุทาหรณ์สำหรับการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า และบังเกิดผลประโยชน์สูงสุด อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “แน่นอนได้ผ่านพ้นมาแล้วก่อนพวกเจ้าซึ่งแนวทางต่าง ๆ ที่อัลลอฮฺทรงปฏิบัติแก่ประชาชาติในอดีต ดังนั้นพวกเจ้า จงท่องเที่ยวไปในแผ่นดิน และจงพินิจไตร่ตรองว่าบั้นปลายของบรรดาผู้ปฏิเสธเป็นเช่นไร” (อาละอิมรอน : 136)

อิสลาม ได้กำหนดเป้าประสงค์อันสูงสุดของสาส์นแห่งการเผยแผ่อิสลามมายังมนุษยชาตินั่นคือการแผ่ความเมตตาแก่เหล่าสมาชิกในสากลจักรวาล อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเป็นความเมตตาแก่สากลโลก” (อัล-อัมบิยาอ์ : 107) อิสลามไม่ได้เป็นศาสนาที่จำกัดความเมตตาเพียงแค่มนุษย์เท่านั้น หากยังก้าวล้ำแผ่ไปถึงบรรดาสิงสาราสัตว์ ซึ่งได้ปรากฏในคำสอนของอิสลาม ที่กำชับให้มีการอ่อนโยนแก่สัตว์ มีความปรานี ให้การเยียวยารักษา และห้ามใช้งานสัตว์ที่หนักจนเกินไป นอกจากนี้ อิสลามได้สอนให้มุสลิมรู้จักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการกำหนดบทบัญญัติที่ว่าด้วยการห้ามทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์โดยเปล่าประโยชน์ ศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) กล่าวความว่า “หญิงนางหนึ่งต้องเข้านรกด้วยความผิดที่นางได้จับขังแมวตัวหนึ่ง โดยที่นางไม่ให้อาหารและไม่ปล่อยให้มันหาอาหารเอง จนกระทั่งแมวนั้นตายเพราะความหิว”(รายงานโดยอัล-บูคอรีย์) ท่านศาสนทูต (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ยังได้เชิญชวนมนุษย์ให้มีความโอบอ้อมอารีแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยวจนะของท่านความว่า “แท้จริงท่านทั้งหลายจะได้รับผลบุญในทุกครั้งที่ท่านยื่นมือให้อาหารแก่ทุกกระเพาะที่เปียกชื้น (อันหมายถึง ทุกสิ่งที่มีชีวิต)”

อิสลาม ได้ยอมรับการมีอยู่ของประชาคมอื่น ทุกประชาคมในโลกนี้ย่อมมีสิทธิใช้ชีวิตและดำรงคงอยู่บนโลกนี้ พร้อมกับความเชื่อของตนได้อย่างอิสระเสรี อิสลามถือว่าความหลากหลายของประชาคม ถือเป็นกฏสามัญทั่วไปของสิ่งมีชีวิต ความแตกต่างในสัจธรรมดังกล่าว ถือเป็นแนวทางสู่การแข่งขัน และการเสริมสร้างอารยธรรมอันสูงส่ง อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนพระองค์จะทำให้ปวงมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน แต่พวกเขาก็ยังคงแตกแยกกัน”(ฮูด : 118)

อิสลาม ยึดหลักการสนทนาและเสวนาธรรม ด้วยวิธีการที่ดีกว่า และถือว่าวิธีการดังกล่าวคือหนทางสู่การสร้างความเข้าใจและการยอมรับอันจะนำไปสู่การประสานความร่วมมือและจรรโลงสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “และพวกเจ้าอย่าโต้เถียงกับชาวยิว และคริสเตียน เว้นแต่ด้วยวิธีการที่ดีกว่า”(อัล-อันกะบูต :46) และพระองค์ยังได้ตรัสอีกความว่า “จงเผยแผ่สู่แนวทางแห่งพระเจ้าของเจ้าด้วยวิธีการที่สุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยเหตุผลและหลักฐานที่ดีกว่า”(อันนะหฺลุ :125)

อิสลาม ได้ยอมรับสนธิสัญญาที่มีนัยยะส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลในสิ่งที่ดี ประสานความเข้าใจ มีความจริงใจและซื่อสัตย์ต่อกัน อิสลามยังได้กำชับให้มุสลิมยึดมั่นในความยุติธรรมและความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี แม้แต่ต่อบรรดาชนต่างศาสนิก อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าให้พวกเจ้ากระทำความดีและให้ความยุติธรรมแก่บรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และมิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม”(อัลมุมตะหะนะฮฺ : 8) ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ได้เคยร่วมเป็นภาคีสัญญากับชาวกุเรชในสงครามหุดัยบียะฮฺ เช่นเดียวกันกับที่ท่านเคยร่วมลงนามในสัญญากับชาวยิว ณ นครมะดีนะฮฺ

อิสลาม ยอมรับการยื่นมือให้ความช่วยเหลือในทุกกิจการอันนำไปสู่การดำรงคงไว้ซึ่งคุณประโยชน์และจรรโลงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ท่ามกลางบรรยากาศที่สงบร่มเย็น เป็นสุข และมีความยุติธรรม ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ได้เคยเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในสนธิสัญญายุคก่อนอิสลามที่บ้านของอับดุลลอฮฺ บิน ญัดอาน ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม และท่านได้กล่าวหลังจากที่อิสลามได้แผ่ขยายไปทั่วคาบสมุทรอาหรับเพื่อเป็นการรำลึกถึงสนธิสัญญาดังกล่าวว่า “หากฉันได้รับการเชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในสนธิสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกันกับสนธิสัญญาดังกล่าว ฉันยินดีเข้าร่วมอย่างแน่นอน ”

อิสลาม ได้เชิญชวนและเรียกร้องให้มุสลิมยืนหยัดในกระบวนการยุติธรรมและพยายามดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม แม้ต่อบรรดาศัตรูและกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อชาวมุสลิมก็ตาม อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใดทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า” (อัล-มาอิดะฮฺ : 8)

อิสลาม ถือว่าความสงบร่มเย็นเป็นสุขในสังคม นับเป็นเสาหลักแห่งสันติภาพอันเป็นโอกาสดีที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งและความมีประสิทธิภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เจ้าจงเข้าในกระบวนการสันติภาพโดยทั่วทั้งหมดด้วยเถิด”(อัลบะเกาะเราะฮฺ : 208) อัลลอฮฺยังได้ตรัสอีกความว่า “และหากพวกเขาโอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอมแล้ว เจ้าก็จงโอนอ่อนตามเพื่อการนั้นด้วย และจงมอบหมายกิจการทั้งปวงแด่อัลลอฮฺเถิด แท้จริงนั้นพระองค์คือผู้ทรงได้ยินทรงรอบรู้ และถ้าหากพวกเขาต้องการที่จะหลอกลวงเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นที่พอเพียงแก่เจ้าแล้ว พระองค์คือ ผู้ที่ได้ทรงสนับสนุนเจ้าด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยผู้ศรัทธาทั้งหลาย”(อัล-อันฟาล : 61)
อีกประการหนึ่งที่เป็นสิ่งยืนยันในความมุ่งมั่นของอิสลามต่อสันติภาพ คือ กว่า 1400 ปี มาแล้ว ที่อิสลามได้มีบทบัญญัติแก่ชาวมุสลิมให้หยุดสงครามและไม่อนุญาตให้มีการรบราฆ่าฟันตลอดระยะเวลา 4 เดือนของทุกปีในระบบปฏิทินอิสลาม มุสลิมจะไม่ได้รับการอนุญาตให้กระทำสงครามในช่วง 4 เดือนดังกล่าวที่เป็นที่รู้จักในเดือนหะรอม(เดือนที่ต้องห้าม) อันได้แก่ ซุลเกาะอฺดะฮฺ(เดือน11) ซุลฮิจญะฮฺ(เดือน12) มุฮัรรอม(เดือนแรก) และเราะญับ(เดือน7) (3 เดือนติดต่อกันและอีก 1 เดือน เว้นช่วงต่างหาก) อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ในซูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ ซึ่งถือเป็นโองการช่วงท้ายๆของการประทานอัลกุรอาน ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่าให้เป็นที่อนุมัติซึ่งบรรดาเครื่องหมายแห่งศาสนาของอัลลอฮฺ และเดือนที่ต้องห้าม (มิให้ทำการสู้รบและหลั่งเลือดกัน)” (อัล-มาอิดะฮฺ : 2 )
แต่เมื่อใดที่ชาวมุสลิมถูกโจมตีจากข้าศึกในช่วงเดือนที่ต้องห้าม มุสลิมจำเป็นต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องการรุกรานและให้บทเรียนแก่ผู้ละเมิด จนกว่าพวกเขาไม่กล้าโจมตีมุสลิมช่วงที่ชาวมุสลิมพากันให้เกียรติเดือนที่ต้องห้ามดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน อิสลามได้ประกาศให้มหานครมักกะฮฺซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของอิสลามเป็นดินแดนแห่งความสงบสุข ผู้ใดก็ตามที่พำนักอยู่ในดินแดนอันมหาจำเริญแห่งนี้ บุคคลผู้นั้นจะได้รับความปลอดภัย อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “และเรามิได้ให้พักพิงแก่พวกเขาในเขตหวงห้ามอันปลอดภัยดอกหรือ ซึ่งผลไม้ทุกชนิดถูกนำมายังที่นั้น เพื่อเป็นเครื่องยังชีพที่มาจากเรา แต่ส่วนมากของพวกเขาไม่รู้” ( อัล-เกาะศ็อศ :57 ) ณ ดินแดนแห่งนี้ อิสลามได้สั่งห้ามมิให้มีการรบราฆ่าฟันและล่วงละเมิดในทุกรูปแบบตลอดทั้งปี และเพื่อเป็นการปลูกฝังให้มุสลิมเป็นผู้ใฝ่สันติ รักและถวิลหาความสงบสุข อิสลามจึงบัญญัติให้มุสลิมทุกคนผินหน้าหันไปสู่มหานครอันประเสริฐแห่งนี้ในทุกครั้งที่มุสลิมประกอบทางศาสนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงละหมาดและการขอพร
อัลลอฮฺได้ทรงทำให้มหานครมักกะฮฺเสมือนเดือนที่ต้องห้ามที่มนุษย์จะได้หลักประกันในความปลอดภัย เพราะมหานครมักกะฮฺ เป็นสัญลักษณ์ของสถานที่ ในขณะที่เดือนที่ต้องห้ามเป็นเรื่องของกาลเวลา ซึ่งทั้งสองประการดังกล่าวถือเป็นสิ่งคุ้มครองชีวิตมนุษย์จากการถูกทำร้ายหรือถูกล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทุกชีวิตจะปลอดภัยเมื่อพำนักอาศัยในบริเวณมหานครมักกะฮฺแม้นว่าจะอยู่นอกเหนือจากสี่เดือนที่ต้องห้าม และทุกชีวิตจะปลอดภัยเมื่อถึงช่วงสี่เดือนที่ต้องห้ามถึงแม้จะอยู่นอกบริเวณมหานครมักกะฮฺก็ตาม
ช่างเป็นบทบัญญัติและมาตรการที่ส่งเสริมให้มนุษยชาติตระหนักและให้ความสำคัญใน กระบวนการสันติภาพที่มีความหมายลึกซึ้ง ครอบคลุมและครบวงจรเหลือเกิน

สิ่งหนึ่ง ที่สามารถยืนยันในความมุ่งมั่นของอิสลามต่อสันติภาพก็คือภูมิหลังอันแท้จริงของการแผ่ขยายของศาสนาอิสลามไปทั่วทุกมุมโลกมาจนถึงบัดนี้ เนื่องจากประชาคมโลกต่างพากันยอมรับศาสนานี้ด้วยความสมัครใจ หลังจากพวกเขาได้สัมผัสและลิ้มรสสัจธรรมแห่งอิสลามที่ว่าด้วยสันติภาพ ความยุติธรรม การสนทนา และเสวนาธรรมด้วยวิธีการที่ดีกว่า และการยอมรับความมีอยู่ของสังคมอื่นด้วยใจที่เปิดกว้างและมิตรไมตรี เป็นเหตุให้สี่ในห้าส่วนของประชาคมโลกมุสลิมได้เข้ารับและศรัทธาอิสลามด้วยความสมัครใจโดยปราศจากการนองเลือดหรือการต่อสู้ประหัตประหารกัน สงครามในอิสลามเกิดขึ้นในช่วงแรกของการเผยแผ่อิสลามเท่านั้น ด้วยสาเหตุที่ชาวมุสลิมถูกรังแก หรือเพื่อทำลายกำแพงของฝ่ายตรงกันข้ามที่พยายามสกัดและปิดกั้นมิให้สาส์นอิสลามแผ่ขยายไปอย่างเสรี

ทุกมิติ ที่เกี่ยวข้องกับอิสลามไม่ว่าหลักการ หลักปฏิบัติหรือคำสอน ล้วนยึดหลักสายกลางและความพอดี เป็นแนวทางอันเที่ยงตรง ไม่ใช่เป็นแนวทางที่สุดโต่งหรือหย่อนยานหละหลวมแต่อย่างใด อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า“และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่เป็นกลาง”(อัลบะเกาะเราะฮฺ:143)

อิสลาม สั่งห้ามพฤติกรรมต่างๆที่นำไปสู่ความรุนแรง สร้างความเสียหายบนแผ่นดิน หรือสร้างอาณาจักรและปริมณฑลแห่งความหวาดกลัวแก่ชนในสังคม อิสลามถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นบาปอันใหญ่หลวงและก่ออาชญากรรมทางสังคมที่ร้ายแรง อัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า“แท้จริงการตอบแทนแก่บรรดาผู้ทำสงครามต่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ และพยายามสร้างความเสียหายบนผืนแผ่นดินนั้นก็คือ พวกเขาจะถูกฆ่าหรือตรึงบนไม้กางเขนหรือมือพวกเขาและเท้าของพวกเขาจะถูกตัดสลับข้าง(คือมือขวาและเท้าซ้าย)หรือถูกเนรเทศออกไปจากแผ่นดิน พวกเขาจะได้รับความอัปยศในโลกนี้และจะได้รับโทษอันใหญ่หลวงในปรโลก”(อัลมาอิดะฮฺ:32)
ในทุกมิติของอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นหลักการ เจตคติและประวัติศาสตร์ ถือว่าการละเมิดรุกราน การใช้ความรุนแรง และการกระทำที่ไม่ชอบธรรมบางประการของมุสลิมส่วนหนึ่งที่ไม่รู้จริงในแก่นแห่งศาสนา การแอบอ้างศาสนา การใช้อารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือการใช้สติที่วู่วามและโกรธแค้น เป็นสิ่งที่อิสลามปฏิเสธโดยสิ้นเชิง และอิสลามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเชิงลบเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ความรุนแรง และแนวคิดสุดโต่ง ถือเป็นปรากฏการณ์โลกปัจจุบัน หากมีการเปรียบเทียบโดยปราศจากความลำเอียงแล้ว จะพบว่าอารยธรรมของโลกตะวันตก มีสถิติของการใช้ความรุนแรงที่มากกว่าโลกอิสลามหลายเท่า มีตัวอย่างมากมายที่สามารถยืนยันในเรื่องดังกล่าว เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อินเดีย จีน ลาตินอเมริกา และอื่นๆทั่วโลก ถึงแม้สื่อต่าง ๆ มักประโคมข่าว ที่พยายามชี้ว่าชาวมุสลิมมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว แต่อาจเป็นเพราะความมีอคติต่ออิสลามหรือเป็นเพียงกระบวนการใส่ร้ายที่ยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานได้เท่านั้นเอง
เราจึงมีความเชื่อมั่นว่า ปัญหาความรุนแรงได้กลายเป็นปัญหาระดับโลก และเป็นปัญหาของมนุษยชาติแล้ว ประชาคมโลกจึงต้องเร่งสร้างความร่วมมือ ขจัด แก้ไข และเยียวยารักษาปัญหานี้โดยด่วน การแก้ไขเพียงปลายเหตุหรือการทำความเข้าใจเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไร้ความหมาย ตราบใดที่เรายังไม่แก้โจทย์ที่ถูกต้องในทุกมิติของปัญหา ไม่ว่ามิติของรากฐานความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของบุคคล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นมาของชุดความคิดและรากฐานของปรัชญา ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาและประมวลสภาพปัญหาที่แท้จริง เพื่อกำหนดวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ
เราเชื่อว่า โดยภาพรวมแล้วชาวมุสลิมมักเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก และบนเหตุผลของการปราบปรามความรุนแรง บางทีอาจเป็นการสร้างความชอบธรรมเพื่อปราบปรามอิสลามด้วยซ้ำไป
บางทีมีการปฏิบัติการตามทฤษฎีแมคคิววิลลี ที่สอนให้ทุกคนใช้วิธีการอะไรก็ได้เพื่อปกป้องผลประโยชน์และอำนาจของตนเอง ถึงแม้เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระบบศีลธรรมจริยธรรมก็ตาม ซึ่งขัดแย้งกับคำสอนอิสลามที่ไม่อนุญาตให้กระทำสิ่งที่ผิดศีลธรรมอันดีงามถึงแม้จะมีเจตนาที่ดีก็ตาม บนฐานแนวคิดทฤษฎีของแมคคิววิลลี ดังกล่าว กลไกรัฐต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานข่าวกรองมักจะใช้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามความรุนแรง และอาจฉวยโอกาสในการทำลายล้างอิสลามและชาวมุสลิม ใครก็ตามที่ศึกษาสถานการณ์โลกปัจจุบัน จะประจักษ์ชัดในสัจธรรมข้อนี้ดี
ขอยืนยันว่า การที่ประชาคมโลก มักสนใจแต่เพียงการประโคมข่าวความรุนแรงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอิสลามและพยายามปกปิดหรือย่อส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกทั้งๆ ที่อาจมีระดับความรุนแรงกว่าไม่ว่าด้านปริมาณหรือรูปแบบก็ตาม บางทีอาจถูกมองว่าเป้าหมายสุดท้ายของเรื่องดังกล่าวมิใช่เป็นการต่อต้านความรุนแรงเพียงอย่างเดียว แต่มีวาระซ่อนเร้นที่ต้องการทำลายอิสลามและชาวมุสลิมแอบแฝงอยู่ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริง ความพยายามของการต่อต้านความรุนแรง จึงเป็นความพยายามที่เปล่าประโยชน์และไร้คุณค่า มิหนำซ้ำอาจเป็นการบ่มเพาะเชื้อแห่งความรุนแรงและลัทธิสุดโต่งให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นและบานปลายเป็นทวีคูณ
มาตรแม้นจะมีความพยายามในทุกวิถีทางที่จะแยกแยะระหว่างอิสลามและแนวคิดรุนแรงแล้วก็ตาม ... วัสลาม.


เขียนโดย Omar Obaid Hasana ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาและวิจัย ประเทศกาตาร์ และกรรมการสภาวิทยาลัยอิสลามยะลา

ถอดความโดย มัสลัน มาหะมะ วิทยาลัยอิสลามยะลา


Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).