Loading

 

จากศรัทธา(อีหม่าน)ที่ล้ำลึก สู่การปฏิรูปที่ยั่งยืนและเป็นจริง

เป็นที่ทราบกันดีว่า การปฏิรูปของชนชาติและประชาคมใดๆในโลกนี้นั้น มิได้เกิดขึ้นโดยทันทีทันใดหรือโดยบังเอิญ ชาติที่เป็นมหาอำนาจและเจริญก้าวหน้าในปัจจุบัน ล้วนเคยผ่านภาวะการหลับใหลของประชาชน ความอ่อนแอ ล้าหลังและด้อยพัฒนามาก่อนทั้งสิ้น แต่ทว่า ด้วยระบบการศึกษาที่ดี ชนชาติเหล่านั้นได้เจริญก้าวหน้าเช่นทุกวันนี้ หรือกล่าวนัยหนึ่ง เมื่อชนชาติเหล่านั้นได้ผ่านกระบวนการอบรมขัดเกลาทางจิตใจและพัฒนาทางความ คิด กล่าวคือ ได้พัฒนาสภาวะหยุดนิ่งและหลับใหลสู่การมีพลวัตร ตื่นรู้และตื่นตัว จากความสิ้นหวังสู่การมีขวัญและกำลังใจที่ดี จากชนชาติที่ไม่เคยมีผลงานใดๆสู่ชนชาติที่มีนวัตกรรมต่างๆซึ่งมีคุณูปการต่อ ชาวโลกมากมาย จากสภาวะที่เสมือนตายทั้งเป็นสู่การมีชีวิตชีวาและสดใส


การปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณนั้น ก็คือ การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปความคิดและโลกทัศน์ ความใฝ่ฝัน ขวัญและกำลังใจ ตลอดจนวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของคนนั่นเอง ดังนั้น ขบวนการปฏิรูปและเคลื่อนไหวทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองใดๆจะต้องมีความสอดคล้องกับการปฏิรูปทางด้านจิตวิญญาณ ด้วยจึงจะประสบผลสำเร็จ หากขบวนการปฏิรูปและเคลื่อนไหวใดเกิดขึ้นเฉพาะตัวอักษรบนกระดาษ หรือ เพียงสโลแกนเท่านั้น ไม่ได้ซึมซับเข้าไปถึงจิตวิญญาณและความคิดของคนแล้วละก็ การปฏิรูปดังกล่าวจะค่อยๆเงียบหายไปในที่สุดเสมือนคลื่นกระทบฝั่ง หรือเสียงที่หายไปกับสายลมในอากาศ


นี่คือสุนนะตุลลอฮฺ หรือกฎของอัลลอฮฺที่มีต่อจักรวาลนี้ ดังที่ระบุไว้ในอัล-กุรอาน ความว่า “แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของประชาชาติใด จนกว่าเขาจะเปลี่ยนชะตากรรมของตัวเอง”

การปฏิรูปจิตวิญญาณและความคิดนี้ เป็นเรื่องที่หนัก ซับซ้อนและยากลำบาก ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่า มนุษย์นั้นเป็นมัคลูก(สิ่งถูกสร้าง)ที่มีการรวมหลายๆสิ่ง หลายสภาวะและลักษณะรวมอยู่ในตัว แน่นอนที่สุด งานที่ยุ่งยากและลำบากที่สุด ก็คือ การเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจและความคิดของมนุษย์นั่นเอง การสร้างเขื่อนกั้นน้ำในลำน้ำสายใหญ่ การขุดเจาะหลุมลึกลงไปใต้ดินหรือขุดเจาะหินที่แข็งแกร่ง หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆในโลกนี้ แม้นเป็นงานที่ยากลำบาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงความคิดจิตวิญญาณ และโลกทัศน์ของคนแล้ว การเปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณและความคิดของคนเป็นงานที่ลำบากกว่าหลายเท่า โดยเฉพาะการสร้างและหล่อหลอมคนให้สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกและอารมณ์ใฝ่ ต่ำของตนเอง การสร้างคนให้รู้จักการให้แก่ผู้อื่นมากกว่าการเป็นผู้รับ เป็นผู้รู้ เข้าใจและเชื่อมั่นในหลักสัจธรรมอิสลาม ตลอดจนยืนหยัดในหลักสัจธรรมดังกล่าวอย่างมั่นคง เป็นผู้ที่รู้ เข้าใจในความดีงาม รักและชอบในสิ่งที่ดีงาม รวมทั้งเผยแผ่สิ่งที่ดีงามให้แก่ผู้อื่น รักและปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นได้รับในสิ่งที่ดีๆเหมือนกับที่ตัวเองได้รับ ยอมแบกรับความลำบากและเหนื่อยยากเพื่อปฏิรูปและแก้ไขในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม และเสื่อมเสีย เรียกร้องเชิญชวนผู้คนสู่สิ่งที่ดีงาม ใช้ให้ทำดี ห้ามปรามในสิ่งที่ชั่วร้ายและเป็นบาป ยอมสละชีวิตและทรัพย์สินของตัวเองในหนทางแห่งสัจธรรม แน่นอน งานหล่อหลอมและสร้างคนดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นไม่ใช่งานที่ง่ายดายและ สัมฤทธิ์ผลได้ง่ายๆเลย


แต่ถึงกระนั้น ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง นั่นก็คือ พลังของอีหม่านหรืออากีดะฮฺ(พลังแห่งความศรัทธา) อีหม่านสามารถหลอมจิตใจของคนให้สามารถยอมรับในสิ่งดีๆทั้งหลาย แม้นว่า ภายในสารัตถะของอีหม่านนั้นจะประกอบไปด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องทำและต้อง แบกรับภาระอย่างหนักหน่วง ต้องเสียสละและมีความสลับซับซ้อนมากก็ตาม ความศรัทธา(อีหม่าน)เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจของ คนและสร้างวิถีชีวิตใหม่ให้แก่คน เกิดการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายแห่งชีวิตและเส้นทางชีวิตที่เขาจะดำเนิน เปลี่ยนพฤติกรรม โลกทัศน์ ทัศนคติและระบบคุณค่า เมื่อเราเปรียบคนๆเดียวกันในสองยุค คือ ยุคแห่งการปฏิเสธ และยุคแห่งการศรัทธา ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า คนๆนั้นในยุคหนึ่งจะแตกต่างกับอีกยุคหนึ่งของเขาโดยสิ้นเชิง อีหม่านมีอิทธิพลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวคนอย่างรวดเร็วและกว้างขวางมาก โดยไม่จำกัดเพศ อายุหรือวัย ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับหลักทฤษฎีของจิตวิทยาและนักการศึกษา ซึ่งมักกำหนดวัยหรืออายุเป็นเงื่อนไขของเปลี่ยนการแปลงพฤติกรรม
บรรดานักจิตวิทยามีความเห็นว่า วัยเด็กเป็นวัยที่เหมาะสมต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อคนเคยชินอยู่กับลักษณะและสภาวะใดสภาวะหนึ่ง นักจิตวิทยาก็มักจะให้ความเห็นว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะมันได้กลายเป็นความเคยชินและนิสัยไปแล้ว แต่ตรงกันข้ามกับ อีหม่าน(ความศรัทธา)และพลังทางศาสนา เมื่ออีหม่านได้ซึมซาบลึกเข้าไปในหัวใจและชีวิตจิตใจของคน มันก็จะมีอานุภาพในการเปลี่ยนเป้าหมายของชีวิต เปลี่ยนโลกทัศน์เกี่ยวกับชีวิต จักรวาล การงานและสิ่งต่างๆ อีหม่านจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนทั้ง ณ เบื้องหน้าอัลลอฮฺและเบื้องหน้าเพื่อนมนุษย์ มันสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่เฉพาะในวัยเด็ก วัยหนุ่ม วัยผู้ใหญ่หรือวัยชรา


เพื่อเป็นตัวอย่าง เราลองพิจารณาเรื่องราวของนักเล่นมายากลของฟิรฺเอาน. ซึ่งเรื่องนี้คัมภีร์อัล-กุรอานซูเราะฮฺ ชูอารออ์ อายะฮฺที่ 32 – 51 ได้เล่าไว้ความว่า “ดังนั้น เขาได้โยนไม้เท้าของเขา แล้วมัน คือ งูอย่างชัดแจ้ง และได้ดึงมือของเขาออกมา แล้วมันก็เป็นสีขาวแก่บรรดาผู้ที่มองดู เขาได้กล่าวแก่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่รอบๆเขาว่า แท้จริงเขาคนนี้คือนักเล่นกลอย่างช่ำชอง เขาต้องที่ให้พวกท่านออกจากดินแดนของเขาด้วยเล่ห์กลของเขา ดังนั้นพวกท่านจะชี้แนะประการใด พวกเขากล่าวว่า จงหน่วงเหนี่ยวเขาและพี่ชายเขาไว้ก่อน และจงส่งคนไปตามหัวเมืองให้มาชุมนุมกัน เพื่อที่นักเล่นกลผู้ช่ำชองทุกคนจะได้มาหาท่าน แล้วบรรดานักเล่นกลได้มาชุมนุมกันตามวันเวลาที่กำหนดไว้ และได้มีประกาศแก่มหาชน พวกท่านจะไปร่วมชุมนุมด้วยไหม เพื่อพวกเราจะได้ตามบรรดานักเล่นกล หากพวกเขาเป็นผู้ชนะ เมื่อพวกนักเล่นกลมาถึง พวกเขากล่าวแก่ฟิรฺเอานฺว่า พวกเราจะมีรางวัลแน่นอนหรือถ้าพวกเราเป็นผู้ชนะ เขากล่าวว่า ถูกแล้ว และพวกท่านขณะนั้นจะอยู่ในหมู่ผู้ใกล้ชิดอย่างแน่นอน มูซาได้กล่าวแก่พวกเขาว่า จงโยนซิสิ่งที่พวกท่านจะต้องโยน แล้วพวกเขาก็ได้โยนเชือกหลายเส้นของพวกเขาและไม้เท้าหลายอันของพวกเขา และพวกเขากล่าวว่า ด้วยเกียรติยศของฟิรฺเอาน์ แน่นอนเราเป็นผู้ชนะอย่างแน่นอน ครั้นแล้ว มูซาก็ได้โยนไม้เท้าของเขา ณ บัดนั้นมันได้กัดกลืนสิ่งที่พวกเขาได้ลองมันขึ้น พวกนักเล่นกล จึงกราบลงสุญูด พวกเขากล่าวว่า เราศรัทธาต่อพระเจ้าแห่งสากลโลก พระเจ้าของมูซาและฮารูน เขากล่าวว่า พวกท่านศรัทธาต่อเขาก่อนที่ฉันจะอนุญาตแก่พวกท่านกระนั้นหรือ แน่นอน เขาต้องเป็นหัวหน้าพวกท่านซึ่งได้สอนการเล่นกลแก่พวกท่าน แล้วพวกท่านจะรู้ แน่นอน ฉันจะต้องตัดมือของพวกท่านและเท้าของพวกท่านสลับข้างกัน แน่นอนฉันจะแขวนตรึงไว้ทั้งหมด พวกเขากล่าวว่า ไม่เป็นไรหรอก แท้จริงเรานั้นต้องเป็นผู้กลับไปยังพระเจ้าของเรา แท้จริงเราปรารถนาที่ จะให้ พระเจ้าของเราทรงยกโทษให้แก่เรา เพราะเราเป็นกลุ่มแรกที่เป็นผู้ศรัทธา”


ในซูเราะฮฺ ฏอฮา อายะฮฺที่ 70 – 73 ได้ระบุถึง การคุกคามของฟิรฺเอาน์ ที่มีต่อพวกนักมายากล หลังจากที่พวกเขาได้เปลี่ยนมาเป็นผู้ศรัทธา ความหมาย “ดังนั้น พวกมายากลได้ก้มลงสุญูด โดยกล่าวว่า เราขอศรัทธาต่อพระเจ้าของฮารูนและมูซา เขา(ฟิรเอานฺ) กล่าวว่า พวกท่านศรัทธาต่อเขา ก่อนที่ฉันจะอนุญาตให้แก่พวกท่านกระนั้นหรือ แท้จริงเขาต้องเป็นหัวหน้าของพวกท่าน ซึ่งได้สอนวิชามายากลแก่พวกท่าน ฉะนั้น ฉันจะตัดมือและเท้าของพวกท่านสลับข้างกัน และฉันจะเอาพวกท่านไปตรึงไว้ที่ต้นอินทผลัม และพวกท่านก็จะรู้อย่างแน่ชัดว่า ผู้ใดในหมู่พวกเราที่จะให้โทษที่สาหัสกว่าและยาวนานยิ่งกว่า พวกเขากล่าวว่า เราไม่ฝักใฝ่ท่านมากกว่าหลักฐานที่ชัดแจ้งที่ได้มายังเรา ขอสาบานต่อพระเจ้าผู้ให้บังเกิดเรา ท่านจงกระทำตามสิ่งที่ท่านต้องการกระทำเถิด แท้จริงท่านกระทำได้ในชีวิตแห่งโลกนี้เท่านั้น แท้จริง เราได้ศรัทธาต่อพระเจ้าของเรา เพื่อพระองค์ทรงอภัยความผิดต่างๆของเราให้แก่เรา และทรงอภัยสิ่งที่ได้บังคับให้เรากระทำเกี่ยวกับเรื่องมายากล และอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นผู้ที่ดีเลิศยิ่งและทรงยั่งยืนตลอดไป”


พิจารณาดูเถิด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวของนักเล่นมายากลนั้นมันเป็นการเปลี่ยนแปลง ที่ยิ่งใหญ่เพียงใด? หลังจากที่พวกเขาได้หันมาเป็นผู้ศรัทธา ทัศนะและระบบคุณค่าของเขาได้เปลี่ยนไปราวกลางวันกับกลางคืนหรือฟ้ากับดิน ซึ่งเมื่อก่อนนั้นพวกเขายึดเอาวัตถุและทรัพย์เป็นเป้าหมาย ต้องการค่าจ้างสูงๆ ความต้องการที่จะเป็นผู้ชนะนั้น ก็เพื่อที่จะได้อำนาจ เงินทอง เกียรติยศและชื่อเสียง นี่คือสภาพของพวกเขาในช่วงที่ก่อนจะเป็นผู้ศรัทธา


แต่เมื่อเขาได้ลิ้มรสความหวานชื่นของอีหม่าน พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการข่มขู่ คุกคามจากฟิรฺเอานฺ ด้วยความมั่นคง เด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ อันเป็นคุณลักษณะหรือจุดยืนที่เกิดจากความเชื่อมั่นศรัทธา “เราไม่ฝักใฝ่ท่านมากกว่าหลักฐานชัดแจ้งที่ได้มายังเรา” เป้าหมายชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไป จากการแสวงหาลาภยศ เกียรติและการสรรเสริญ มาเป็นการกล่าวว่า “และพระเจ้าผู้ให้บังเกิดเรา” การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นอัน เนื่องจากพลังของอีหม่าน


อิทธิพลของพลังแห่งอีหม่าน(ความศรัทธา)ที่มีต่อการปฏิรูปจิตวิญญาณนั้นไม่ ใช่เรื่องที่น่าสงสัยอีกต่อไป มันมีหลายสถานการณ์ที่เป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้ นักประวัติศาสตร์รู้สึกทึ่งมากเมื่อได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ของ ชาวอาหรับหลังจากพวกเขาได้รับแสงแห่งอีหม่าน จากชนเผ่าที่แตกแยกเป็นก๊ก เป็นเหล่า กลายเป็นประชาคมที่มีเอกภาพ จากชนที่อ่อนแอกลายเป็นประชาคมที่เข้มแข็ง จากเผ่าเร่ร่อน เลี้ยงสัตว์ในทะเลทรายได้กลายเป็นชาติมหาอำนาจและสร้างอารยธรรมใหม่ของโลก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มหัศจรรย์ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยใช้เวลาไม่เกินยี่สิบปี มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากอีหม่าน ซึ่งท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลล็อลลอฮู อลัยฮิ วะซัลลัม ได้ปลูกฝังและหล่อหลอมเข้าไปในชีวิตและจิตใจของบรรดาซอฮาบะฮฺ(สาวก)ของท่าน และผู้เจริญรอยตาม พวก เขาได้เปลี่ยนโฉมจากยุคญาฮีลียะฮฺสู่ยุคอิสลาม จากการบูชาเจว็ดสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าผู้ทรงเอกะ จากชนเผ่าที่กระจัดกระจาย แตกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย กลายเป็นประชาชาติซึ่งได้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ยิ่งใหญ่


ลองพินิจพิจารณาดู พระดำรัสของอัลลอฮฺ ความว่า “...และจงรำลึกถึงความเมตตาของอัลลอฮฺที่มีแด่พวกเจ้า ขณะที่พวกเจ้าเป็นศัตรูกัน แล้วพระองค์ได้ทรงให้สนิทสนมกันระหว่างหัวใจของพวกเจ้า แล้วพวกเจ้าก็กลายเป็นพี่น้องกันด้วยความเมตตาของพระองค์ และพวกเจ้าเคยปรากฏอยู่บนปากหลุมแห่งไฟนรก แล้วพระองค์ก็ทรงช่วยพวกเจ้าให้พ้นจากปากหลุมแห่งนรกนั้น ในทำนองนั้นแหละ อัลลอฮฺจะทรงแจกแจงแก่พวกเจ้าซึ่งบรรดาโองการของพระองค์เพื่อว่าพวกเจ้าจะ ได้รับแนวทางอันถูกต้อง” (อาลิอิมรอน 103)


อิทธิพลของความศรัทธา(อีหม่าน)สำหรับการปฏิรูป มิใช่เรื่องราวที่เกิดเฉพาะในประวัติศาสตร์ของประชาชาติในยุคโบราณเท่านั้น แต่มันเป็นพลังที่มีอิทธิพลต่อวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคลเสมอมา ตลอดทุกยุคทุกสมัย ดังเช่น เรื่องราวของชายคนหนึ่งชื่อ อูมัรฺ บุตร อัล-ค็อฏฏอบ และเรื่องราวของ หญิงคนหนึ่งมีชื่อว่า “คอนซา” การเปลี่ยนแปลงของอูมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบและนางคอนซา เมื่อความศรัทธา(อีหม่าน)และอิสลามได้มีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจพวกเขาซึ่งช่าง แตกต่างกับช่วงก่อนที่พวกเขาจะเข้ารับอิสลามโดยสิ้นเชิง


ตามรายงานนั้น ท่านอูมัร บุตร อัล-ค็อฏฏอบในยุคญาฮีลียะฮฺนั้นได้ปฏิบัติในสิ่งที่ปัญญามนุษย์รับไม่ค่อย ได้ นั่นก็คือ การกราบไหว้บูชาเจว็ดที่ปั้นมาจากขนมปัง เมื่อเขารู้สึกหิว เขาก็จะกัดกินเจว็ดที่ปั้นมาจากขนมปังดังกล่าว นอกจากนั้น เขาเป็นคนใจดำอำมหิต โหดเหี้ยมและไร้เมตตา ถึงระดับฝังลูกสาวของตัวเองเป็นๆ แต่ เมื่อท่านอูมัรฺหันมารับนับถืออิสลาม ความอิสระในการคิดก็บังเกิดขึ้นและเขากลายเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลมาก ถึงขั้นท่านสั่งการให้โค่นต้นไม้ ซึ่งมีชื่อว่า “ซะญาเราะตุล ริดวาน” ทิ้งเสีย ซึ่งใต้ต้นไม้ต้นนี้ท่านรสูลลุลลอฮฺเคยใช้เป็นสถานที่ทำสัตยาบันกับบรรดาซอ ฮาบะฮฺในตอนสงครามหุดัยบิยะฮฺ ด้วยความแหลมคมของความคิดของท่านอูมัรฺ ท่านมองว่า กลัวว่าในวันข้างหน้าต้นไม้ต้นนี้จะถูกผู้คนบูชา อาจถึงขั้นนำมาเป็นสิ่งเคารพบูชาขึ้นมาและขอพรจากต้นไม้ต้นนี้


ความคิดที่ละเอียดรอบคอบและความรักที่ฝังแน่นอยู่ในหัวใจของอูมัรหลังจากเขา ได้เข้ารับอิสลามนั้น เราพบเสมอๆในชีวประวัติของเขา โดยเฉพาะในด้านการปกครองและดูแลประชาชนที่ยากไร้ และอ่อนแอ จิตใจที่สวามิภักดิ์ต่ออัลลอฮฺของท่านอูมัรฺนั้น มิได้ก่อให้เกิดความรักใคร่เอ็นดูและรู้สึกรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์เท่า นั้น แต่ยังแผ่ไปถึงสรรพสัตว์ด้วย ดังคำกล่าวของท่านความว่า “มาตรแม้นว่า อูฐตัวหนึ่งได้พลัดตกลงในแม่น้ำยูเฟรติส แน่แท้ เจ้า จะได้เห็นฉันรับผิดชอบ ณ เบื้องหน้าอัลลอฮฺ ว่า ทำไมฉันไม่สร้างทางสำหรับมันเดินด้วยเล่า”


อีกเรื่องหนึ่งมีสตรีคนหนึ่ง ชื่อ “นางคอนซา” ซึ่งในช่วงก่อนที่นางจะเข้ารับอิสลามนั้น ขณะที่น้องชายร่วมบิดาของนางได้เสียชีวิต นางร้องไห้ครวญคราง ตบตีตัวเองและร้องโพนทะนาเสียงดังไปทั่ว แสดงอาการโศกเศร้าอาดูรตลอด แต่เมื่อนางได้เข้ารับอิสลามแล้ว นางได้กลายเป็นสตรีเหล็กอีกคนหนึ่งซึ่งแตกต่างจากช่วงก่อนเข้ารับอิสลามโดย สิ้นเชิง ราวฟ้ากับดิน นางได้กลายเป็นหญิงเหล็กและวีรสตรีที่โลกต้องจดจำวีรกรรม นางได้ส่งบุตรชายอันเป็นสุดที่รักของนาง ไปเป็นทหารหาญ และพลีชีพเพื่ออิสลาม ด้วยความสงบ กล้าหาญและเด็ดเดี่ยว
มีรายงานเรื่องราวของนางว่า “นางได้ร่วมในสงครามกอดิซียะฮฺ อันเป็นสงครามระหว่างกองทัพมุสลิมกับเปอร์เซีย กองทัพอิสลามมีท่าน ซะอัด บิน อะบีวะกอซ เป็นแม่ทัพ นางคอนซาไปพาลูกชายสี่คนเข้าเป็นทหารของกองทัพอิสลามร่วมรบในครั้งนั้น ในคืนวันหนึ่ง นางได้อยู่ใกล้ลูกๆของนาง ได้อบรมสั่งสอนและปลุกขวัญกำลังใจแก่ลูก เพื่อให้มีความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ


เช้าวันรุ่งขึ้น ลูกๆของนางคอนซา ได้ลงสู่สมรภูมิด้วยความเด็ดเดี่ยวและมีกำลังใจสูงมาก เมื่อลูกคนใดของนางรู้สึกท้อแท้ พี่น้องของเขาคนอื่นๆก็จะเตือนให้ระลึกคำสั่งเสียของแม่ ผู้สูงวัย พวกเขาจึงห้าวหาญดุจราชสีห์ มีศัตรูของอิสลามถูกเขาฆ่าตายเป็นจำนวนมาก กระทั่งในที่สุด ลูกทั้งสี่คนของนางตายชะฮีดทั้งหมด


เมื่อข่าวการตายชะฮีดของลูกนางมาถึงหูนาง นางไม่ได้ร้องไห้ ครวญครางและโพนทะนาเหมือนเมื่อก่อนที่นางจะเข้ารับอิสลาม แต่นางกลับน้อมรับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความสงบ อดทน พร้อมกล่าวด้วยมธุรสวาจาว่า “มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ที่ได้ทรงประทานเกียรติยศให้แก่ฉัน ด้วยการให้ลูกๆได้สละชีพในหนทางของอัลลอฮฺ และฉันขอความโปรดปรานและขอพรจากอัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงให้ฉันได้อยู่ร่วมกับพวกเขา ณ สถานที่อันเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาและนิอฺมัต(ความโปรดปราน)จากอัลลอฮฺ”
อะไรเล่า ที่เป็นพลังในการเปลี่ยนอูมัรฺคนเก่าให้เป็นอูมัรฺคนใหม่? และอะไรเป็นแรงผลักดันให้นางคอนซาเปลี่ยนจากคนอ่อนแอกลายเป็นคนที่เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว? คำตอบก็คือ พลังของอีหม่าน(ความศรัทธา)นั่นเอง


อีหม่าน(ความศรัทธา)สามารถเปลี่ยนเข็มมุ่ง เปลี่ยนบุคลิกภาพหรือพฤติกรรม หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมในการกินและดื่มของคน
มีรายงานจากอีมามมุสลิม มีชายคนหนึ่งเป็นแขกของท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิ วะซัลลัม ท่านรสูลุลลอฮฺได้ใช้ให้รีดนมแพะตัวหนึ่ง แล้วให้ชายคนนั้นดื่ม ชายคนนั้นเลยดื่มนมแพะจนหมด ต่อมาท่านรสูลใช้ให้รีดนมแพะตัวที่สอง แล้วให้ดื่ม ชายคนนั้นก็ดื่มนมแพะจนหมด ชายคนนั้นถูกใช้ให้รีดนมและดื่มนมจนถึงตัวที่เจ็ด และแขกคนนั้นก็ดื่มจนหมด


ในคืนนั้น ชายคนนั้นได้รับการเปิดใจให้เข้ารับอิสลาม รุ่งเช้าเขาก็ได้กลายเป็นมุสลิมคนหนึ่ง ที่ศรัทธามั่นในอัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ ในเช้าวันนั้นท่านรสูลุลลอฮฺได้ใช้ให้รีดนมแพะตัวหนึ่ง และให้ดื่มนมดังกล่าว แล้วให้รีดนมแพะตัวที่สอง แต่ชายคนนั้นไม่ยอมดื่มอีก ทันใดนั้น ท่านรสูลุลลอฮฺ ได้กล่าวด้วยถ้อยคำซึ่งเป็นที่รู้จักกันมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือ  “แท้จริงศรัทธาชนนั้นเขาดื่มด้วยท้องเดียว ขณะที่กาฟิรฺเขาดื่มด้วยเจ็ดท้อง” เพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้น เพราะอานุภาพของอีหม่าน ได้เปลี่ยนคนจากผู้ที่ตะกละ มูมมาม กลายเป็นผู้ที่ดื่มอย่างพอเหมาะพอดี มีมารยาท อีหม่าน(ความศรัทธา)ได้หล่อหลอมบุคคล ให้เป็นคนดี มีความศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เกรงกลัวต่อการลงโทษอันสาหัสจากอัลลอฮฺ ยอมจำนนต่อพระองค์ พร้อมที่จะปฏิบัติตามพระบัญชาของอัลลอฮฺด้วยชีวิตและทรัพย์สิน ทำงาน เคลื่อนไหวและดิ้นรนต่อสู้ เสียสละด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺและหวังในความโปรดปรานจากพระองค์


ดังนั้น ปัจเจกบุคคลที่มีอีหม่าน(ศรัทธา) หากเขาเป็นเศรษฐี เขาก็จะเป็นเศรษฐีที่ซื่อตรง หากเขายากจน เขาก็รักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตัวเองและทำงานหนัก ถ้าเขาเป็นแรงงาน หรือลูกจ้าง เขาก็จะเป็นผู้ที่กล้าหาญและมีความซื่อสัตย์ ถ้าเขารวย เขาก็จะเป็นคนที่เอื้ออาทรและชอบช่วยเหลือผู้อื่น หากเขาเป็นผู้พิพากษา เขาก็จะเป็นผู้ที่ยุติธรรม รอบรู้และเข้าใจ หากเขาเป็นผู้นำ เขาก็จะเป็นผู้นำที่อิคลาส(บริสุทธิ์ใจ) และซื่อสัตย์สุจริต เมื่อมีหน้าที่ในการดูแลรักษาทรัพย์สินของประชาชนส่วนรวม เขาคือ ผู้ที่รักษาอามานะฮฺและใช้จ่ายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถูกต้องตามหลักศาสนาและกฏระเบียบ โดยสรุปแล้ว เขาเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ได้รับการหล่อหลอมมาจากอีหม่าน ปัจเจกชนที่ดีนี้เอง จะเป็นฐานของสังคมอิสลามที่ดี และจะเผยแผ่สิ่งที่ดีงามให้แก่ปัจเจกบุคคลและสังคมส่วนรวมทั้งในโลกนี้และอา คิเราะฮฺ


ดังนั้น หากจะสร้างสังคมที่ยุติธรรม เจริญก้าวหน้าและมีศีลธรรมแล้วละก็ เราจำเป็นต้องเสริมสร้าง ความศรัทธา (อีหม่านา)เขาไปในจิตวิญญาณหรือหัวใจของปัจเจกชนที่จะมาเป็นสมาชิกของสังคม ที่เราปรารถนาอาศัยอยู่ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว สังคมดังกล่าวก็เป็นสังคมทุรชนอย่างแน่นอน

 

 


โดย มุคลิส บิน ยูซุฟ

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).