Loading

 

ความเข้าใจระหว่างศาสนาคือแนวทางในการดับไฟใต้

มวลการสรรเสริญเป็นอภิสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พรอันประเสริฐและความศานติจงมีแด่ท่าน นบีมูฮำมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บรรดาวงศ์วานและเหล่าเศาะหาบะฮฺตลอดจนบรรดาผู้สืบทอดแนวทางของท่านจวบจนวันสิ้นโลก
อัลหัมดุลิลลาฮฺ กระผมรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสมาบรรยายในสัมมนาผู้นำนิสิตนักศึกษามุสลิมเพื่อสร้างสันติภาพของสังคม ภายใต้หัวข้อ “ความเข้าใจระหว่างศาสนาคือแนวทางในการดับไฟใต้”

กระผมใคร่นำเสนอตามหัวข้อหลักดังต่อไปนี้

? อิสลามเป็นศาสนาที่สอดคล้องกับสัญชาติญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์ และมนุษย์มีความต้องการ “อิสลาม” มากกว่าที่มนุษย์มีความต้องการปัจจัย 4 ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เพราะอัลลอฮฺได้ทรงสร้างมนุษย์ ในขณะเดียวกันพระองค์ยังทรงกำหนด “อิสลาม” ให้เป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์โดยสัญชาติญาณอันดั้งเดิมแล้ว จึงใฝ่หาและเรียกร้องอิสลามเพื่อนำเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจและเป็นต้นแบบของการดำรงชีวิตในทางปฏิบัติ ความต้องการตามสัญชาติญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์จะไม่มีทางค้นพบ“อิสลาม” เว้นแต่ด้วยวิธีการเชิญชวนและการเผยแผ่(ดะอฺวะฮฺ) ดังนั้นสัญชาติญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์อีกประการหนึ่งก็คือความจำเป็นต้องอาศัยการดะอฺวะฮฺเพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้มนุษย์ค้นพบ“อิสลาม” ด้วยเหตุดังกล่าวอัลลอฮฺจึงทรงแต่งตั้งศาสนทูต(รสูล)เพื่อทำหน้าที่เชิญชวน แนะนำและเผยแผ่อิสลามแก่มวลมนุษย์ และหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ได้รับการสืบสานอย่างต่อเนื่องจากบรรดานักการศาสนา(อุละมาอฺ)ซึ่งเปรียบเสมือนผู้รับมรดกจากบรรดารสูล

?อิสลามได้วางกรอบพร้อมเสนอวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในทุกเรื่องทุกประเด็นที่เป็นความต้องการตามสัญชาติญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์ไม่ว่าด้านนามธรรมที่ครอบคลุมความเชื่อ จิตวิญญาณ หรือด้านกายภาพที่เกี่ยวเนื่องกับสรีระร่างกายและปัจจัยพื้นฐานทั่วไป นอกจากนี้อิสลามยังเสนอมาตรการการป้องกันและห้ามปรามทุกเรื่องทุกประเด็นที่ปฏิเสธและไม่เป็นที่ต้องการตามสัญชาติญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์ไม่ว่าด้านนามธรรมหรือกายภาพ
อิสลามจึงไม่มีคำสอนที่ปฏิเสธหรือหันหลังโดยสิ้นเชิงให้กับสิ่งที่เป็นความต้องการตามสัญชาติญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์ และอิสลามไม่มีคำสอนที่ปล่อยปละละเลยให้มนุษย์กระทำการอันไร้ขอบเขต หากแต่อิสลามได้วางกรอบและกำหนดกฎกติกาที่มนุษย์พึงปฏิบัติ อย่างสมดุลครอบคลุม ต่อเนื่อง และบูรณาการ

? อิสลามเป็นคำสอนที่ถือว่ามนุษย์ทุกคน ถึงแม้จะแตกต่างด้านเชื้อชาติ สัญชาติและเผ่าพันธุ์ ต่างก็มีตระกูลอันดั้งเดิมที่มาจากครอบครัวเดียวกัน ดังอัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย จงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้า ที่ได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง (นบีอาดัม)”(อันนิสาอฺ : 1) อัลลอฮฺยังได้ตรัสอีกความว่า “โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (อัลฮุญุรอต : 13) การประกาศหลักการและเจตนารมณ์อันบริสุทธ์นี้ถือเป็นการปฏิเสธความเหลื่อมล้ำ การแบ่งชนชั้นวรรณะและการจัดวางกลุ่มคนบนขั้นบันไดทางสังคมเนื่องจากความแตกต่างด้านสีผิว เชื้อชาติ วงศ์ตระกูลและเผ่าพันธุ์ของมนุษย์โดยสิ้นเชิง


? อิสลามถือว่าความหลากหลายทางด้านภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และวงศ์ตระกูลของมวลมนุษย์ คือหนทางสู่การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ เกื้อกูล เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นต้นเหตุแห่งการบาดหมาง พยาบาท การเข่นฆ่า สงครามและการนองเลือดระหว่างกัน อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกันและกัน” (อัลฮุญุรอต : 13) การรู้จักซึ่งกันและกัน ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การเข้าถึง เข้าใจ ร่วมมือ เกื้อกูล และถือเป็นบันไดขั้นแรกของกระบวนการสร้างอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติ


? อิสลามถือว่า มนุษย์มีฐานะอันทรงเกียรติยิ่งและประเสริฐสุดในบรรดาสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหลาย ถึงแม้จะมีความแตกต่างด้านสีผิว เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมและศาสนา แต่ความเป็นมนุษย์ของคนๆ หนึ่งถือเป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่เขาจะได้รับฐานะอันทรงเกียรตินี้ อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “แน่แท้ เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอดัมและเราได้พิทักษ์ปกป้องพวกเขาทั้งหลายทั้งทางบกและทางทะเล และได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดีทั้งหลายแก่พวกเขา และเราได้ให้พวกเขาดีเด่นอย่างมีเกียรติเหนือกว่าผู้ที่เราได้ให้บังเกิดเป็นส่วนใหญ่”(อัล อิสรออฺ : 70)

? บนพื้นฐานแห่งกระบวนทัศน์ดังกล่าว อิสลามจึงประกาศเป็นศาสนาสากลที่ตระหนัก และให้ความสำคัญแก่มนุษย์ อิสลามจึงเชิญชวนและเรียกร้องมนุษยชาติทั้งมวล โดยไม่ได้จำกัดกลุ่ม ชนชาติ เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติหรือลักษณะภูมิประเทศใดเป็นการเฉพาะ และด้วยความเป็นสากลของอิสลาม ไม่ว่าในมิติของการเชิญชวน การเรียกร้อง หรือในมิติของการตอบรับของประชาคมโลก อิสลามจึงปฏิเสธแนวคิดชาตินิยม รัฐนิยมหรือการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ของตนเอง อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้ตักเตือนแก่มนุษย์ทั้งหลาย แต่ว่าส่วนมากของมนุษย์ไม่รู้”(สะบะอฺ : 28)
ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) กล่าวไว้ว่า “ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉันสำหรับผู้ที่เรียกร้องบนฐานแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉันสำหรับผู้ที่ทำสงครามบนฐานแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ และไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉันสำหรับผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการต่อสู้ในการปกป้องและพิทักษ์รักษาแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์”
ด้วยเหตุดังกล่าวในประวัติศาสตร์ของอิสลามจึงเต็มไปด้วยการสร้างคุณประโยชน์ในระดับสากลที่มวลมนุษยชาติได้มีส่วนร่วมก่อร่างสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองการเชิญชวนของพระผู้เป็นเจ้า บนพื้นฐานของมนุษย์ที่มีพระเจ้าองค์เดียว และมีรากเหง้า ต้นตอที่มาจากมนุษย์คนเดียวกัน

? อิสลามได้ยอมรับในหลักการที่ว่า การเชื่อมั่นศรัทธาในศาสนาอิสลาม ควรต้องเป็นผลพวงของเจตนารมณ์และความต้องการอันเสรี อันนำไปสู่การยอมรับในหลักของเหตุและผลของปัจเจกบุคคล อิสลามจึงสั่งห้ามมิให้มีการบังคับขู่เข็ญให้มวลมนุษย์นับถืออิสลาม และการบังคับในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นอาชญากรรมและสร้างตราบาปให้แก่มนุษย์ที่มีความอิสระและสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนาอิสลาม” (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 256) อัลลอฮฺทรงตรัสอีกความว่า “เจ้าไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจเหนือพวกเขา (ให้เกิดความศรัทธา) ” (อัลฆอซิยะฮฺ : 22) นอกจากนี้ อัลลอฮฺยังได้ปฏิเสธพฤติกรรมอันจะนำไปสู่การบังคับในศาสนาด้วยคำดำรัสของพระองค์ความว่า “และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนผู้ที่อยู่ในแผ่นดินทั้งมวลจะศรัทธา เจ้าจะบังคับมวลชนจนกว่าพวกเขาจะเป็นผู้ศรัทธากระนั้นหรือ ” (ยูนุส : 99)

? อิสลามยอมรับคำสอนที่ประกาศและเผยแผ่โดยบรรดาศาสนทูตและไม่ปฏิเสธอารยธรรมอันดีงามที่มนุษยชาติในยุคก่อนได้สรรค์สร้างและพัฒนา อิสลามถือว่าสิ่งดังกล่าวเป็นขั้นตอนหนึ่งของการพัฒนามนุษยชาติที่เหมาะสมกับยุคสมัยนั้นๆ อิสลามมิได้เป็นอื่นใดนอกจากอิฐก้อนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการพัฒนาดังกล่าวเป็นไปอย่างเสร็จสิ้นและสมบูรณ์ อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “แท้จริงเราได้มีโองการแก่เจ้าเช่นเดียวกับที่เราได้มีโองการแก่นูฮฺและบรรดาศาสนทูตหลังจากเขา” (อัลนิสาอฺ : 163) ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ได้มีวจนะไว้ความว่า “อุปมาการเป็นศาสนทูตของฉัน และศาสนทูตท่านอื่น ๆ ในยุคก่อนหน้าฉัน ประหนึ่งชายคนหนึ่งที่สร้างบ้านอย่างสวยงาม เพียงแต่ขาดอิฐก้อนหนึ่ง ณ มุมหนึ่งของบ้าน ผู้คนทั้งหลายได้เดินเวียนรอบ ๆ บ้านหลังนั้น และตะลึงในความวิจิตรงดงามของบ้านหลังนั้นพร้อมกับกล่าวว่า : หากมีอิฐ ก้อนหนึ่งวางไว้ตรงนั้น (ณ มุมที่ยังไม่สมบูรณ์ แน่นอนบ้านหลังนั้นจะดูสวยงามโดยไม่มีที่ติเลยทีเดียว) ฉันนี่แหละคืออิฐก้อนนั้น และฉันคือศาสนทูตคนสุดท้าย” (รายงานโดยอัล- บุคอรีย์)

? อิสลามได้ยอมรับศาสนายุคก่อน ๆ และได้ยอมรับชนต่างศาสนิกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคม และพลเมืองของรัฐอิสลาม นอกจากนี้อิสลามยังได้กำหนดสิทธิอันชอบธรรมต่าง ๆ ที่ชนต่างศาสนิกพึงได้รับ อาทิ ความอิสระและเสรีภาพในการนับถือศาสนา การสถาปนาสถาบันและสัญลักษณ์ทางศาสนา การยอมรับในกฎหมาย และข้อบังคับที่ว่าด้วยสิทธิของปัจเจกบุคคล รวมทั้งการสั่งห้ามมิให้กระทำการใด ๆ ที่สร้างความอธรรม รุกรานหรือละเมิดพวกเขาด้วยการแอบอ้างศาสนาที่มีพื้นฐานจากการตีความศาสนบัญญัติที่ผิดๆและไม่เข้าใจในเจตนารมณ์ ของศาสนบัญญัติที่ถูกต้อง อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “สำหรับพวกท่านก็คือ ศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน ” (อัลกาฟีรูน : 6) หมายถึงต่างฝ่ายต่างก็ปฎิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของตนโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ได้มีวจนะไว้ความว่า “พึงทราบเถิดว่าผู้ใดที่ปฏิบัติอธรรมต่อคนต่างศาสนิกที่อยู่ระหว่างการทำพันธะสัญญา หรือเหยียดหยามเขา หรือสั่งให้เขาทำงานในสิ่งที่เกินความสามารถของเขา หรือยึดทรัพย์สินใดๆของเขา ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เต็มใจมอบให้ ดังนั้นฉันจะเป็นคู่กรณีกับบุคคลผู้นั้น (ด้วยการทวงคืนสิทธิของผู้ถูกอธรรม) ในวันกิยามัต ” รายงานโดยอบูดาวูด

? อัลกุรอาน เป็นคัมภีร์เพียงเล่มเดียวที่ได้สาธยายประวัติศาสตร์ในอดีตโดยปราศจากการบิดเบือน อัลกุรอานยังได้เชิญชวนมวลมนุษย์ให้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของบรรพชนในยุคก่อน รวมทั้งยังได้เรียกร้องให้มนุษย์นำผลการศึกษาดังกล่าว เป็นบทเรียนและอุทาหรณ์สำหรับการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า และบังเกิดผลประโยชน์สูงสุด อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “แน่นอนได้ผ่านพ้นมาแล้วก่อนพวกเจ้าซึ่งแนวทางต่าง ๆ ที่อัลลอฮฺทรงปฏิบัติแก่ประชาชาติในอดีต ดังนั้นพวกเจ้า จงท่องเที่ยวไปในแผ่นดิน และจงพินิจไตร่ตรองว่าบั้นปลายของบรรดาผู้ปฏิเสธเป็นเช่นไร” (อาละอิมรอน : 136)

? อิสลามได้กำหนดเป้าประสงค์อันสูงสุดของสาส์นแห่งการเผยแผ่อิสลาม มายังมนุษยชาตินั่นคือการแผ่ความเมตตาแก่เหล่าสมาชิกในสากลจักรวาล อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเป็นความเมตตาแก่สากลโลก ” (อัล-อัมบิยาอฺ : 107) อิสลามไม่ได้เป็นศาสนาที่จำกัดความเมตตาเพียงแค่มนุษย์เท่านั้น หากยังก้าวล้ำแผ่ไปถึงบรรดาสิงสาราสัตว์ ซึ่งได้ปรากฏในคำสอนของอิสลาม ที่กำชับให้มีการอ่อนโยนแก่สัตว์ มีความปรานี ให้การเยียวยารักษา และห้ามใช้งานสัตว์ที่หนักจนเกินไป นอกจากนี้ อิสลามได้สอนให้มุสลิมรู้จักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการกำหนดบทบัญญัติที่ว่าด้วยการห้ามทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์โดยเปล่าประโยชน์ ศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) กล่าวความว่า “หญิงนางหนึ่งต้องเข้านรกด้วยความผิดที่นางได้จับขังแมวตัวหนึ่ง โดยที่นางไม่ให้อาหารและไม่ปล่อยให้มันหาอาหารเอง จนกระทั่งแมวนั้นตายเพราะความหิว”(รายงานโดยอัล-บูคอรีย์) ท่านศาสนทูต (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ยังได้เชิญชวนมนุษย์ให้มีความโอบอ้อมอารีแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยวจนะของท่านความว่า “แท้จริงท่านทั้งหลายจะได้รับผลบุญในทุกครั้งที่ท่านยื่นมือให้อาหารแก่ทุกกระเพาะที่เปียกชื้น (อันหมายถึง ทุกสิ่งที่มีชีวิต)”

? อิสลามได้ยอมรับการมีอยู่ของประชาคมอื่น ทุกประชาคมในโลกนี้ย่อมมีสิทธิใช้ชีวิตและดำรงคงอยู่บนโลกนี้ พร้อมกับความเชื่อของตนได้อย่างอิสรเสรี อิสลามถือว่าความหลากหลายของประชาคม ถือเป็นกฏสามัญทั่วไปของสิ่งมีชีวิต ความแตกต่างในสัจธรรมดังกล่าว ถือเป็นแนวทางสู่การแข่งขัน และการเสริมสร้างอารยธรรมอันสูงส่ง อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนพระองค์จะทำให้ปวงมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน แต่พวกเขาก็ยังคงแตกแยกกัน”(ฮูด : 118)

? อิสลามยึดหลักการสนทนาและเสวนาธรรม ด้วยวิธีการที่ดีกว่า และถือว่าวิธีการดังกล่าวคือหนทางสู่การสร้างความเข้าใจและการยอมรับอันจะนำไปสู่การประสานความร่วมมือและจรรโลงสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อัลลอฮฺทรงตรัสความว่า “จงเผยแผ่สู่แนวทางแห่งพระเจ้าของเจ้าด้วยวิธีการที่สุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยเหตุผลและหลักฐานที่ดีกว่า”(อันนะหฺลุ :125)

? อิสลามยอมรับการยื่นมือให้ความช่วยเหลือในทุกกิจการอันนำไปสู่การดำรงคงไว้ซึ่งคุณประโยชน์และจรรโลงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ท่ามกลางบรรยากาศที่สงบร่มเย็น เป็นสุข และมีความยุติธรรม ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ได้เคยเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในสนธิสัญญายุคก่อนอิสลามที่บ้านของอับดุลลอฮฺ บิน ญัดอาน ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านความ อยุติธรรมในสังคม และท่านได้กล่าวหลังจากที่อิสลามได้แผ่ขยายไปทั่วคาบสมุทรอาหรับเพื่อเป็นการรำลึกถึงสนธิสัญญาดังกล่าวว่า “ หากฉันได้รับการเชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในสนธิสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกันกับสนธิสัญญาดังกล่าว ฉันยินดีเข้าร่วมอย่างแน่นอน ”

? อิสลามได้เชิญชวนและเรียกร้องให้มุสลิมยืนหยัดในกระบวนการยุติธรรมและพยายามดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม แม้ต่อบรรดาศัตรูและกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อชาวมุสลิมก็ตาม อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใดทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า”(อัล-มาอิดะฮฺ : 8)

? อิสลามถือว่า ความสงบร่มเย็นเป็นสุขในสังคม นับเป็นเสาหลักแห่งสันติภาพอันเป็นโอกาสดีที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งและความมีประสิทธิภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เจ้าจงเข้าในกระบวนการสันติภาพโดยทั่วทั้งหมดด้วยเถิด”(อัลบะเกาะเราะฮฺ : 208)

? ทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับอิสลามไม่ว่าหลักการ หลักปฏิบัติหรือคำสอน ล้วนยึดหลักสายกลางและความพอดี เป็นแนวทางอันเที่ยงตรง ไม่ใช่เป็นแนวทางที่สุดโต่งหรือหย่อนยานหละหลวมแต่อย่างใด อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า“และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่เป็นกลาง”(อัลบะเกาะเราะฮฺ:143)

? อิสลามสั่งห้ามพฤติกรรมต่างๆที่นำไปสู่ความรุนแรง สร้างความเสียหายบนแผ่นดิน หรือสร้างอาณาจักรและปริมณฑลแห่งความหวาดกลัวแก่ชนในสังคม อิสลามถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นบาปอันใหญ่หลวงและก่ออาชญากรรมทางสังคมที่ร้ายแรง อัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า“แท้จริงการตอบแทนแก่บรรดาผู้ทำสงครามต่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ และพยายามสร้างความเสียหายบนผืนแผ่นดินนั้นก็คือ พวกเขาจะถูกฆ่าหรือตรึงบนไม้กางเขนหรือมือพวกเขาและเท้าของพวกเขาจะถูกตัดสลับข้าง(คือมือขวาและเท้าซ้าย)หรือถูกเนรเทศออกไปจากแผ่นดิน พวกเขาจะได้รับความอัปยศในโลกนี้และจะได้รับโทษอันใหญ่หลวงในปรโลก ”(อัลมาอิดะฮฺ:32)

? ในทุกมิติของอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นหลักการ เจตคติและประวัติศาสตร์ ถือว่าการละเมิดรุกราน การใช้ความรุนแรง และการกระทำที่ไม่ชอบธรรมบางประการของมุสลิมส่วนหนึ่งที่ไม่รู้จริงในแก่นแห่งศาสนา การแอบอ้างศาสนา การใช้อารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือการใช้สติที่วู่วามและโกรธแค้น เป็นสิ่งที่อิสลามปฏิเสธโดยสิ้นเชิง และอิสลามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเชิงลบเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย

? เราจึงมีความเชื่อมั่นว่า ปัญหาความรุนแรงได้กลายเป็นปัญหาระดับโลก และเป็นปัญหาของมนุษยชาติแล้ว ประชาคมโลกจึงต้องเร่งสร้างความร่วมมือ ขจัด แก้ไข และเยียวยารักษาปัญหานี้โดยด่วน การแก้ไขเพียงปลายเหตุหรือการทำความเข้าใจเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไร้ความหมาย ตราบใดที่เรายังไม่แก้โจทย์ที่ถูกต้องในทุกมิติของปัญหา ไม่ว่ามิติของรากฐานความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของบุคคล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นมาของชุดความคิดและรากฐานของปรัชญา ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาและประมวลสภาพปัญหาที่แท้จริง เพื่อกำหนดวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ

? พึงทราบว่า การทำงานในอิสลาม นอกเหนือจากมีความต้องการนักอาสาสมัครที่มีความตั้งใจอันบริสุทธ์ ความจริงใจ มุ่งมั่น และการเสียสละอันยิ่งใหญ่แล้ว เงื่อนไขสำคัญสำหรับการทำงานในอิสลามคือความรู้ ความเข้าใจและการเข้าถึงในสารัตถะของอิสลาม หากเปรียบเทียบอิสลามเป็นโรงพยาบาลแล้ว บทบาทของผู้ทำงานอิสลามจึงไม่ต่างกับบทบาทของนายแพทย์ที่ต้องวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยอย่างถูกต้อง และให้การรักษาเยียวยาพร้อมสั่งยาที่สามารถรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานในอิสลามถือเป็นการเคารพภักดี(อิบาดะฮฺ)ต่ออัลลอฮฺ ผู้ใดที่อิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺโดยปราศจากความรู้ ความเข้าใจ หรือไม่ได้รับการชี้แนะจากผู้รู้ แท้จริงแล้วเขากำลังให้โทษมากกว่าสร้างคุณประโยชน์ เป็นต้นเหตุแห่งความหายนะมากกว่าการสร้างสรรค์ และนำมาซึ่งความวุ่นวาย ปั่นป่วนมากกว่าการเสริมสร้างสันติสุขที่เป็นเป้าประสงค์หลักของอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นอิบาดะฮฺที่เกี่ยวโยงกับสังคมส่วนรวม ซึ่งมีความจำเป็นต้องผ่านกระบวนการวินิจฉัยที่มีการชั่งน้ำหนักอย่างรอบคอบระหว่างความมุ่งมั่นกับความสามารถ ความซื่อสัตย์กับพละกำลัง ความบริสุทธ์ใจกับความถูกต้อง และความใฝ่ฝันกับความเป็นจริง
ขอให้กำลังใจทุกท่านที่มีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจอันดีในสังคม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราคงมีโอกาสพูดคุยในโอกาสต่อไป ขอขอบคุณ
 


โดย มัสลัน มาหะมะ

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).