Loading

 

อิสลามกับสิทธิมนุษยชนในโลกปัจจุบัน

1. ความนำ
“สิทธิมนุษยชน” ได้รับการกล่าวขานอย่างกว้างขวางในยุคปัจจุบันหลังจากมนุษยชาติได้กลายเป็นเหยื่อแห่งการใช้ความรุนแรงและสงครามที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง อันนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้
ในสงครามสามก๊ก ขงเบ้งทำอุบายเผาทหารของโจโฉที่ทุ่งพกบ๋อง ตายไป 100,000 คน เมื่อประธานาธิบดี เคนเนดี แมคนามารา แมคจอร์จบันดี ตัดสินใจทำสงครามกับเวียดนามเด็กหนุ่มอเมริกันต้องตายไปถึง 50,000 คน คนเวียดนามตายไปกว่า 2 ล้านคน
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินอเมริกันบรรทุกระเบิดปรมาณูถล่มญี่ปุ่นราพณาสูรสองเมือง ฮิโรชิมาและนางาซากิ คร่าชีวิตของผู้คนเท่าไหร่ กระทั่งปัจจุบันยังมิอาจสรุปตัวเลขที่แน่ชัดได้ แต่เชื่อว่ามีคนตายอย่างน้อย 210,000 คน ส่วนที่บาดเจ็บ ป่วยไข้ ทรมานทรกรรมด้วยพิษของกัมมันตภาพรังสี เสียชีวิตภายหลังจำนวนอีกนับไม่ถ้วน ยังไม่รวมถึงสารพัดปัญหาสังคมที่ยืดเยื้อเรื้อรังเนื่องจากผลของสงครามอีกมากมาย
ในศตวรรษที่แล้ว สงครามต่างๆได้คร่าชีวิตของผู้คนประมาณ 200 ล้านคน ส่วนที่ตายเพราะความยากจน และความอยุติธรรมในสังคมมีจำนวนสูงกว่านั้น
แม้แต่สังคมยุคโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถรอดพ้นจากโศกนาฏกรรมที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อาจกล่าวได้ว่าสังคมปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบการใช้ความรุนแรงถึงระดับสงครามล้างเผ่าพันธุ์และการก่อวินาศกรรมแบบสยดสยองเลยทีเดียว
สงคราม ความยากจน และความอยุติธรรมในสังคมเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน และเชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชนในระดับมหภาค
จึงเห็นได้ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนมีขอบเขต และปริมณฑลกว้างขวางใหญ่โตตั้งแต่เรื่องจิตสำนึก ไปจนถึงโครงสร้างทางสังคม และการกำหนดนโยบายในระดับประเทศและนานาชาติ
บคความนี้จะกล่าวถึงแนวคิดเบื้องต้นในอิสลามที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งถึงแม้อิสลามไม่ได้ร่างปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะ แต่อิสลามได้ก้าวล้ำประชาคมโลกและให้ความสำคัญกับมนุษยชาติที่ซึมซับเข้าไปในจิตสำนึกและการศรัทธาพร้อมการประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำอิบาดะฮฺ (การเคารพภักดี) ต่ออัลลอฮฺและสัญลักษณ์ของการเป็นมุสลิมที่ดี

 2. แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนได้กำเนิดเป็นทางการครั้งแรกใน คริสต์ศตวรรษที่ 13 (หลังจากการเผยแผ่ศาสนาอิสลามนานถึง 7 ศตวรรษ) อันสืบเนื่องมาจากการปฏิรูปชนชั้นในยุโรป ต่อมาได้มีการวิวัฒนาการในสหรัฐอเมริกา ในศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นการป้องกันการเหยียดผิว การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการป้องกันความอยุติธรรมในสังคม จนกระทั่งได้มีการยกย่องว่า ศตวรรษที่ 18 คือ ศตวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน
องค์กรสิทธิมนุษยชนได้รับการก่อตั้งครั้งแรกโดยสหประชาชาติในปี ค.ศ.1945 และในปี ค.ศ.1948 ได้มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยที่สหประชาชาติได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1948 ซึ่งถือเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากลในทุกปีนับแต่นั้นมา

3. สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 199 และมาตรา 200 และพ.ร.บ. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยมีคณะกรรมการ 11 ท่าน ทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องทุกข์และตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำการไกล่เกลี่ย หรือเสนอมาตรการในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม อีกทั้งยังมีหน้าที่ต้องเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน

4. สิทธิมนุษยชนในอิสลาม
อิสลามได้ให้เกียรติแก่มนุษย์ และยกย่องมนุษย์โดยถือว่ามนุษย์ คือผู้ถูกสร้างที่สมบูรณ์และเพียบพร้อมที่สุด มนุษย์จึงถูกแบกภาระให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพระเจ้าในการจรรโลงและพัฒนาโลกนี้ให้ถูกต้องตามครรลองและสอดคล้องกับสัญชาติญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์โดยที่ อัลลอฮฺได้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ในการทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
อัลลอฮฺ(ซ.บ.) จึงได้กำหนดบทบัญญัติให้แก่มนุษย์ยึดเป็นแนวปฏิบัติ พระองค์ได้ประทานคัมภีร์เพื่อเป็นธรรมนูญชีวิตและได้ส่งศาสนทูตเพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับมนุษย์ในการนำคำสอนดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน บทบัญญัติและคำสอนของอิสลามล้วนแล้วแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองปัจจัยสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์ไว้ 5 ประการ คือ การคุ้มครองศาสนา การคุ้มครองชีวิต การคุ้มครองสติปัญญา การคุ้มครองพันธุกรรมหรือศักดิ์ศรี และการคุ้มครองทรัพย์สิน

ด้วยเหตุดังกล่าวสิทธิมนุษยชนในอิสลามจึงมีคุณลักษณะเฉพาะที่พอสรุปได้ดังนี้
     1) สิทธิมนุษยชนในอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของหลักความเชื่อในอิสลาม มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่พึงมีต่อพระเจ้า ตนเอง เพื่อนร่วมโลก และสิ่งแวดล้อมรอบตัว
     2) สิทธิมนุษยชนในอิสลามเป็นพรและความกรุณาของพระเจ้าที่มอบให้แก่มนุษย์ เป็นคำวิวรณ์จากพระเจ้าผ่านศาสนทูตแห่งพระองค์ สิทธิมนุษยชนในอิสลามจึงไม่ใช่เป็นการเรียกร้องเนื่องในสถานการณ์ต่างๆ หรือเสียงสะท้อนของผู้ที่เสียเปรียบหรือได้เปรียบจากความขัดแย้งต่างๆในสังคม
     3) สิทธิมนุษยชนในอิสลามมีขอบเขตครอบคลุมมนุษยชาติทั้งมวล โดยไม่มีการจำกัดด้านสัญชาติ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ประเทศใดเป็นการเฉพาะ แต่มีเนื้อหาขอบเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลที่ครอบคลุมมนุษยชาติในทุกยุคทุกสมัย
     4) สิทธิมนุษยชนในอิสลาม คือ พฤติกรรมที่เป็นข้อเท็จจริงที่คงอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์และพร้อมแสดงออกมาในภาคปฏิบัติซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการน้อมรับคำบัญชาของอัลลอฮฺ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจกฎหมายหรือข้อตกลงทางสังคมบังคับใช้
Dr.Ibrahim Madkur ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอาหรับ กรุงไคโรกล่าวว่า “สิทธิมนุษยชนที่มีการละเมิดในทุกวันนี้ ทั้งๆที่เรามีหน้าที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองไว้ ความจริงแล้วอิสลามได้วางกฎเกณฑ์และให้มวลมนุษย์ดำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ 14 ศตวรรษแล้ว อิสลามได้วางรากฐานสิทธิมนุษยชนก่อนที่จะมีการพูดถึงอย่างแพร่หลายใน ศตวรรษที่ 18 ที่ถือว่าเป็นศตวรรษแห่งสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำไป อิสลามได้ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและได้กำหนดเป็นส่วนหนึ่งของบทบัญญัติทางศาสนา และสิ่งที่พึงปฏิบัติในโลกดุนยาพร้อมๆกับได้กำหนดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการส่งเสริมจริยธรรมและจิตวิญญาณ”

    5) อัลกุรอาน คือคัมภีร์แห่งมนุษยชาติ
กล่าวได้ว่าอัลกุรอาน คือ ธรรมนูญสำหรับมนุษยชาติ ทั้งนี้หากสังเกตสำนวนที่มักใช้ในอัลกุรอาน เพื่อเรียกร้องมวลมนุษย์ด้วยคำกล่าว คำว่า ????? ????? “โอ้ มวลมนุษยชาติทั้งหลาย” โดยที่คำนี้จะถูกใช้ซ้ำในอัลกุรอาน ถึง 28 ครั้งในขณะที่คำว่า ????? “มนุษย์” ได้ถูกใช้ในอัลกุรอานถึง 280 ครั้ง คำว่า ????? “มนุษย์” (คำเอกพจน์) ปรากฏในอัลกรุอาน 63 ครั้ง และคำว่า ??? ??? “ลูกหลาน อาดัม” ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานถึง 6 ครั้ง และเพื่อเป็นการยืนยันว่าอัลกุรอานได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับมนุษย์มากที่สุด จะเห็นได้จากโองการแรกที่ถูกประทานลงมายัง ศาสนทูตมุหัมมัด (ขอความสันติสุขจงประมีแด่ท่าน) ที่ได้กล่าวซ้ำคำว่า ????? “มนุษย์” ถึง 2 ครั้งทีเดียว

     นอกจากนี้เนื้อหาโดยรวมในอัลกุรอานจะเป็นการเชิญชวนและเรียกร้องมนุษย์ให้รู้จักรากเหง้าและกำพืดอันแท้จริงของตนเอง รับทราบ คุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหลาย มีความเข้าใจในวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการมีอยู่ของมนุษย์ เส้นทางการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ พร้อมทั้งใฝ่รำลึกถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตสู่ความสุขอันนิรันดร์ ทั้งหลายทั้งปวงนั้น เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าอัลกุรอานคือคัมภีร์แห่งมนุษยชาติโดยแท้จริง

     6) คุตบะฮฺวิดาอฺ (เทศนาธรรมครั้งสุดท้ายของท่านศานทูต) คือ การประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของมนุษยชาติ
ในปีที่ 10 ฮศ. ท่านศาสนทูตมุหัมมัด (ขอความจำเริญและสันติสุขจงมีแด่ท่าน) พร้อมด้วยบรรดาเศาะฮาบะฮฺกว่า 100,000 คนได้พร้อมกันประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺในวันที่เปี่ยมศานติ ท่านศาสดาได้กล่าวคำสุนทรพจน์ที่ถือเป็นบทปัจฉิมนิเทศในอิสลาม และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชนชาติที่สามารถรวบรวมพลโลกนับแสนที่หลากหลาย อาทิ ด้านภาษา สีผิว วงศ์ตระกูลเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ คลื่นมหาชนได้รวมตัว ณ สถานที่อันเดียวกัน วันเวลาเดียวกัน เจตนารมณ์อันเดียวกัน การปฏิบัติศาสนกิจที่คล้ายคลึงและพร้อมเพรียงกันด้วยการแต่งกายที่เหมือนกันภายใต้การชี้นำโดยผู้นำสูงสุดคนเดียวกัน เนื้อหาหลักของคุตบะฮฺวิดาอฺดังกล่าวเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของอิสลามที่ครอบคลุมหลักการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ ความรับผิดชอบในหน้าที่ การยอมรับสิทธิส่วนบุคคล หลักการใช้ชีวิตในครอบครัว ฐานะของสตรีในอิสลามและบทบาทของนางต่อการสร้างครอบครัวเปี่ยมสุข หลักการยึดมั่นในอัลกุรอานและสุนนะฮฺโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาชีวิต เลือด ทรัพย์สินและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ดังปรากฏในส่วนหนึ่งของคุตบะฮฺ ความว่า “โอ้มนุษย์ทั้งหลาย : แท้จริงเลือดและทรัพย์สมบัติของท่านจะได้รับการปกป้องและห้ามมิให้เกิดการล่วงละเมิด จนกว่าท่านทั้งหลายจะกลับไปสู่พระเจ้าของท่าน เฉกเช่นกับการห้ามมิให้มีการล่วงละเมิดในวันนี้และเดือนนี้”

    7) มนุษยชนในอิสลามยุคปัจจุบัน
ภายหลังจากกลุ่มประเทศอาหรับและประเทศมุสลิมอื่นๆได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาฉบับต่างๆและหลังจากที่มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้มีข้อเรียกร้องให้กลุ่มประเทศมุสลิมร่างปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและได้มีกระบวนการศึกษาถึงหลักการ แนวคิด ตลอดจนแนวทางในการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในอิสลามอย่างกว้างขวาง
จนกระทั่งที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศขององค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ในคราวประชุมครั้งที่ 19 เมื่อปี ค.ศ. 1989 ได้มีมติเห็นชอบปฏิญญาอิสลามว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้จะมีการประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ล่าช้ากว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนถึง 41 ปี แต่ปฏิญญาอิสลามว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้น ถือเป็นการประยุกต์ใช้หลักการของบทบัญญัติอิสลามเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผลพวงหรือได้รับอิทธิพลจากสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเหมือนคำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหลังจากประชาคมโลกได้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากสงครามโลกครั้งที่ 2

    8) สรุปปฏิญญาอิสลามว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
    ปฏิญญาอิสลามว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกอบด้วย 25 มาตรา สรุปได้ดังนี้

    ด้วยพระนามของอัลลอฮผู้ทรงไว้ซึ่งความกรุณาปรานี
“ โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชาย และเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูล เพื่อจะได้ทำความรู้จักกันและกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่ง ในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า”( อัลกุรอาน : อัล-หุญุร็อต : 13 )

มาตราที่ 1
      1.1 มนุษยชาติ คือ ครอบครัวเดียวกัน ทุกคนมีหน้าที่เคารพภักดีอัลลอฮฺ เป็นลูกหลานของอาดัม และมนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีภาระหน้าที่ตามบทบัญญัติที่เท่าเทียมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกเนื่องจากความแตกต่างด้านเลือดเนื้อ สีผิว ภาษา เชื้อชาติ ความเชื่อ ความคิดเห็นทางการเมือง ฐานะทางสังคม หรืออื่นๆ การศรัทธาที่ถูกต้องคือ หลักประกันและตัวบ่งชี้สถานภาพที่แท้จริงของมนุษย์
      1.2 สิ่งถูกสร้างทั้งหมด คือ ครอบครัวที่เป็นสมาชิกของอัลลอฮฺและผู้ที่เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮฺ คือ ผู้ที่สร้างคุณประโยชน์แก่สมาชิกของพระองค์ ไม่มีเกียรติและศักดิ์ศรีระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เว้นแต่ด้วยความยำเกรงและคุณงามความดีต่ออัลลอฮฺเท่านั้น

มาตราที่ 2
       2.1 ชีวิต คือ พรอันประเสริฐของอัลลอฮฺที่มอบไว้ให้กับมนุษย์ทุกคน ทั้งปัจเจกบุคคล สังคม และประชาชาติจะต้องปกป้องชีวิตจากการถูกรุกรานและทุกคนไม่มีสิทธิเหนือชีวิตผู้อื่นเว้นแต่ที่กำหนดในศาสนบัญญัติ
       2.2 ห้ามมิให้กระทำการอันใดที่เป็นเหตุแห่งการทำลายล้างชีวิตมนุษย์
       2.3 การรักษาชีวิตให้คงอยู่ เป็นสิ่งที่วาญิบ (ต้องกระทำละเว้นมิได้)
       2.4 ศพมนุษย์จะต้องได้รับเกียรติ ล่วงละเมิดไม่ได้ยกเว้นในกรณีที่อนุโลมโดยศาสนบัญญัติ

มาตราที่ 3
       3.1 ในกรณีที่มีความขัดแย้งและมีการใช้กองกำลังและอาวุธ ไม่อนุญาตให้ฆ่าผู้หญิง คนแก่ เด็กเล็ก ผู้บาดเจ็บย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาล ต้องให้อาหารที่เพียงพอแก่เชลยศึกพร้อมทั้งน้ำดื่ม และเครื่องนุ่งห่ม ห้ามชำแหละศพ การแลกเปลี่ยนเชลยศึกย่อมกระทำได้
       3.2 ไม่อนุญาตให้ทำลายต้นไม้ พืชไร่นา อาคารบ้านเรือน และระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการต่างๆของคู่สงคราม

มาตราที่ 4
       มนุษย์ทุกคนมีเกียรติและศักดิ์ศรีทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตแล้ว รัฐและสังคมต้องมีมาตรการรักษาศพและจัดหาสถานที่ฝังศพ

มาตราที่ 5
        5.1 ครอบครัว คือ เสาหลักที่ค้ำจุนการพัฒนาสังคม การแต่งงาน คือ มาตรการหลักในการเสริมสร้างครอบครัว ผู้ชายและผู้หญิงมีสิทธิเลือกคู่ครองได้
        5.2 สังคมและรัฐต้องหามาตรการส่งเสริมการแต่งงานพร้อมทั้งปกป้องครอบครัวจากภัยอันตรายทั้งปวง

มาตราที่ 6
        6.1 สตรีมีฐานะที่เท่าเทียมกันกับเพศชายด้านศักดิ์ศรีและเกียรติยศ
        6.2 เพศชายมีหน้าที่คุ้มครองและหาปัจจัยยังชีพแก่ครอบครัว

มาตราที่ 7
        7.1 บิดามารดา สังคมและรัฐมีภาระหน้าที่ให้การดูแลบุตร ตั้งแต่ แรกเกิด รวมทั้งการให้การอบรม ส่งเสริมด้านกายภาพ การให้การศึกษา และการอบรมทางจิตใจ
        7.2 บิดา มารดา เป็นผู้ที่มีสิทธิในการเลือกวิธีการในการอบรมให้แก่ลูก รวมทั้งต้องคำนึงถึงอนาคตของลูกภายใต้กรอบของจริยธรรมอันดีงาม
        7.3 บิดามารดามีสิทธิต่าง ๆ ที่ลูกต้องยึดปฏิบัติ รวมทั้งสิทธิของญาติที่ใกล้ชิด ตามกรอบของศาสนบัญญัติ

มาตราที่ 8
        มนุษย์มีสิทธิได้รับประโยชน์ตราบใดที่คงสภาพความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย

มาตราที่ 9
        9.1 การแสวงหาความรู้ถือเป็นข้อบังคับในศาสนา และถือเป็นหน้าที่ของสังคมและรัฐในการส่งเสริมให้สมาชิกในสังคมมีความรู้
        9.2 องค์กรทางการศึกษา ต้องให้ความรู้แก่สมาชิกในสังคม และให้การอบรมด้วยวิธีการที่ครอบคลุม สมดุล ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

มาตราที่ 10
        ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนาและจะไม่มีการฉวยโอกาสในเรื่องความอ่อนแอ ความยากจน ความไม่รู้ของสมาชิกในสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงศาสนาดั้งเดิมของเขา

มาตราที่ 11
         11.1 มนุษย์เกิดมาในสภาพที่เป็นไท ไม่มีใครมีสิทธิบังคับมนุษย์ด้วยกันให้เป็นทาส หรือเหยียดหยาม และไม่มีระบบการเป็นบ่าว นอกเหนือจากการเป็นบ่าวของอัลลออฮฺเท่านั้น
         11.2 การยึดครองและการล่าอาณานิคมเป็นสิ่งต้องห้าม และสังคมที่ถูกครอบครองมีสิทธิที่จะประกาศเป็นอิสระ และกำหนดทางเลือกสำหรับตนเอง ประชาคมโลกต้องปกป้องประเทศที่ถูกรุกราน และประชาคมโลกย่อมมีกรรมสิทธิ์ครอบครองทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง

มาตราที่ 12
          มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเคลื่อนย้ายและเลือกที่อยู่อาศัยทั้งในและต่างประเทศ และในกรณีที่มีความจำเป็นบุคคลมีสิทธิลี้ภัยยังประเทศอื่นตราบใดที่อยู่ในขอบเขตที่ถูกต้อง

มาตราที่ 13
          การทำงานในอาชีพ เป็นสิทธิที่ต้องได้รับการปกป้องจากรัฐและสังคม มนุษย์มีสิทธิเลือกประกอบอาชีพ ผู้ประกอบอาชีพมีสิทธิได้รับความปลอดภัยและคุ้มครองตามระบบประกันสังคม

มาตราที่ 14
          มนุษย์ทุกคนมีสิทธิประกอบอาชีพที่สุจริต โดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ดอกเบี้ยเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม

มาตราที่ 15
          มนุษย์มีสิทธิถือครองในทรัพย์สินด้วยวิธีการที่ถูกต้องและมีสิทธิใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ตัวเองถือครองอยู่

มาตราที่ 16
          ห้ามมีการยับยั้งการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน เว้นแต่ด้วยการอนุโลมตามศาสนบัญญัติ

มาตราที่ 17
          17.1 มนุษย์ทุกคนมีสิทธิใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากมลพิษและสิ่งที่รบกวน
          17.2 สังคมและรัฐต้องให้การคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์และต้องจัดระบบอำนวยความสะดวกที่เป็นความต้องการของสังคม
          17.3 มนุษย์ทุกคนมีสิทธิใช้ชีวิตที่สมบูรณ์ มีเกียรติ เพียงพอสำหรับตนเองและผู้ที่อยู่ภายใต้อุปการะ ซึ่งครอบคลุมด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย การศึกษา การรักษาโรค และปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ

 มาตราที่ 18
           18.1 มนุษย์มีสิทธิใช้ชีวิตอย่างสงบสุขทั้งต่อตนเอง ศาสนา ครอบครัว เกียรติยศ และทรัพย์สมบัติ
           18.2 มนุษย์มีอิสรภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัวทั้งในบ้านของเขา ครอบครัว ทรัพย์สมบัติ การติดต่อสื่อสาร ไม่อนุญาตการติดตามเพื่อหาความลับของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือยุ่งเกี่ยวในชีวิตส่วนตัวของแต่ละบุคคล
           18.3 ที่อยู่อาศัยต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่มีใครสามารถเข้าบ้านใครก่อนได้รับการอนุญาตจากเจ้าของ ไม่อนุญาตให้ทำลายบ้านเรือนหรือขับไล่ผู้คนออกจากบ้านของตนเอง

มาตราที่ 19
           19.1 มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคกันเท่าเทียมกันในบทบัญญัติ ไม่ว่าระดับผู้ปกครอง หรือประชาชน
           19.2 ทุกคนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมาย
           19.3 ภาระหน้าที่ถือเป็นส่วนบุคคล
           19.4 ไม่มีการลงโทษ หรือปรับยกเว้นตามข้อบังคับโดยศาสนบัญญัติ
           19.5 ผู้ถูกกล่าวหา ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะได้รับการตัดสินในกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด

มาตราที่ 20
            ไม่อนุญาตให้จับกุมผู้ใด หรือกักขัง หน่วงเหนี่ยว เนรเทศ เว้นแต่ในกรณีที่อนุโลมโดย ศาสนบัญญัติ ไม่อนุญาตการกระทำที่ทรมานด้านร่างกายและจิตใจด้วยวิธีการต่างๆ ไม่อนุญาตให้มนุษย์เป็นสิ่งที่ทดลองทางการแพทย์รวมทั้งการทดลองทางชีววิทยา

มาตราที่ 21
             การจับบุคคลเพื่อเป็นตัวประกันหรือเรียกค่าไถ่ เป็นสิ่งต้องห้ามไม่ว่าในรูปแบบใดหรือมีวัตถุประสงค์อันใดก็ตาม

มาตราที่ 22
             22.1 บุคคลย่อมมีสิทธิแสดงความคิดของตนเอง ตราบใดที่ไม่กระทบกับบทบัญญัติทางศาสนา
             22.2 บุคคลย่อมมีสิทธิในการเผยแพร่ความดีงาม และยับยั้งความชั่วร้าย ตราบใดที่อยู่ในกรอบแห่งศาสนบัญญัติ
             22.3 การประชาสัมพันธ์ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ แต่ต้องไม่กระทบกับศักดิ์ศรี และไม่ล่วงละเมิดสิ่งที่นับถือตามความเชื่อในสังคม โดยเฉพาะสิ่งที่กระทบกับเกียรติของบรรดาศาสนทูต และพฤติกรรมไร้ศีลธรรมทั้งปวง
             22.4 ไม่อนุญาตให้เกิดการยุยงและการสร้างความแตกแยกในสังคม

มาตราที่ 23
             23.1 การปกครองและการนำสังคมถือเป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากอัลลอฮฺ ไม่อนุญาตให้มีการผูกขาดอำนาจหรือการใช้อำนาจในทางที่ผิด
             23.2 มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการประเทศโดยตรงหรือโดยอ้อม และบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับตำแหน่งต่างๆตามบทบัญญัติที่ถูกต้อง

มาตราที่ 24
            สิทธิและเสรีภาพที่ปรากฏในปฏิญญานี้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขและกฎกติกาของศาสนบัญญัติ

มาตราที่ 25
            ศาสนบัญญัติที่กำหนดโดยอิสลาม คือ แหล่งอ้างอิงอันเดียวที่สามารถนำมาอธิบายได้และให้คำชี้ชัดในทุกมาตราที่ปรากฏในคำปฏิญญานี้

8) บทสรุป
            การส่งเสริม การศึกษา การวิจัย การสัมมนาและการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนจะไร้ซึ่งความหมายและเป็นเพียงเศษกระดาษและคำพูดที่ไร้คุณค่าหากสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการขานรับในภาคปฏิบัติของประชาคมโลก ประเทศต่างๆในโลกปัจจุบันล้วนแล้วแต่ยอมรับในหลักการถึงคำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มนุษยชาติในยุคปัจจุบันได้กลายเป็นเหยื่อของการละเมิดที่ค่อนข้างรุนแรง และมีบ่อยครั้งที่มีการละเมิดในสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ด้วยซ้ำไป และในประวัติศาสตร์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มที่มีศักยภาพในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงและมีประสิทธิภาพสูงสุด ก็คือ อำนาจรัฐ และกลไกของรัฐนั่นเอง
            ด้วยเหตุดังกล่าว สิทธิมนุษยชนในอิสลามจึงไม่ใช่เป็นเพียงหัวข้อสัมมนาในเวทีโลกหรือเสียงเรียกร้องและอนุสัญญาระดับนานาชาติเท่านั้น หากเป็นบทบัญญัติทางศาสนาที่มีเป้าประสงค์ให้การคุ้มครองมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ชีวิตบนโลกนี้ จนกระทั่งชีวิตหลังจากความตาย ชีวิตทุกขั้นตอนของมนุษย์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามครรลองของศาสนาที่ได้วางกรอบและชี้แนวทางอันเที่ยงตรงเพื่อมนุษย์จะได้ใช้ขีดความสามารถของตนเองสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อมพัฒนาศักยภาพเพื่อบรรลุถึงเป้าประสงค์สูงสุดสู่การมีชีวิตที่มีความสุขอย่างถาวรและยั่งยืน

 


บรรณานุกรม

ภาษาอาหรับ
Al-quran.
Muhammad AL-Zuhailee, 1997.Huquq al-Insan fi al-Islam.Bairut:Dar Ibn kathir.
Saifudidin Husain Syahin, 1993. Huquq al-Insan fi al-Islam.Riyadh:Matbaah Safir.

ภาษาไทย
ประเวศ วะสี, 2545 .สันติวิธีกับสิทธิมนุษยชน.กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.

โดย มัสลัน มาหะมะ

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).