Loading

 

ดาอีย์... กับบางส่วนที่เลือนหาย ... ดาอีย์ ... สายธารแห่งความอบอุ่น

 สิ่งสำคัญประการหนึ่งในการเรียกร้องสู่สัจธรรมอิสลามของนักดาอีย์ คือ การเชิญชวนและเรียกร้องผู้คนอย่างเป็นลำดับ มีการวางแผนและมีระเบียบวิธีการที่ดี ไม่ใช่เรียกร้องผู้คนในทุกสถานด้วยกับวิธีการที่เหมือนกัน ใช่ว่าเรียกร้องผู้ที่เข้าอิสลามใหม่ให้ปฏิบัติเหมือนกับผู้เป็นมุสลิมมาแต่กำเนิดที่ได้รับการชุบเลี้ยง ศึกษา เติบโตมาจากครอบครัวและสังคมมุสลิม

 
            การเชิญชวนเรียกร้องที่ผิดพลาดอย่างหนึ่ง คือการที่เขาเชิญชวนมุสลิมใหม่ให้ปฏิบัติตามฟัรฎูและสุนนะฮฺต่างๆ เรียกร้องให้เลิกปฏิบัติของหะรอม ชุบฮาต (คลุมเครือ) และมักรูฮฺ (ของน่าตำหนิ)  บอกให้พวกเขาปฏิบัติเรื่องดังกล่าวทันทีทันใดเหมือนกับสิ่งที่ใช้ให้มุสลิมที่มีความเคร่งครัดยึดมั่นในหลักการจนถึงขั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้อื่นได้แล้ว
           ฉันขอตำหนิพี่น้องมุสลิมในญี่ปุ่นที่ได้ปฏิบัติกับผู้เข้าอิสลามใหม่ในเรื่องบทบัญญัติอิสลามอย่างละเอียด ไม่ยกเว้นจนกระทั่งพวกเขากล่าวกับฉันว่า คนญี่ปุ่นจะไม่เข้ารับอิสลาม เพราะพวกเขาพูดกันว่า แท้จริงศาสนาของพวกท่านมีแต่บทบัญญัติที่เป็นเรื่องหนักๆ
            ฉันกล่าวกับพวกเขาว่า แท้จริงพวกท่านเป็นปฐมเหตุของเรื่องดังกล่าว เพราะวิธีการนำเสนอของพวกท่านเป็นสาเหตุทำให้ผู้คนต่างวิ่งหนี ไม่ใช่วิ่งเข้าหา
            ดังนั้นจำเป็นต่อผู้ที่เชิญชวนคนอื่นควรปฏิบัติกับผู้เข้ารับอิสลามใหม่ ให้สอนพวกเขาในสิ่งที่เป็นหลักยึดมั่นเบื้องต้นที่สำคัญและบอกเรื่องหลักการที่หะรอมที่ชัดเจน โดยยังไม่ควรเข้าสู่รายละเอียดของเรื่องชุบฮาต (คลุมเครือ) หรือเรื่องมักรูฮฺ (ของน่าตำหนิ) มากนัก
            ฉันขอแนะนำว่า สิ่งที่ควรให้ความสำคัญประการแรกคือ ให้พวกเขาละทิ้งจากบาปใหญ่   ส่วนบาปเล็กจะถูกลบล้างด้วยการละหมาด 5 เวลา การละหมาดระหว่างสองวันศุกร์  การถือศีลอด การละหมาดในยามค่ำคืน ระหว่างรอมฎอนทั้งสอง   ความผิดต่างๆ ระหว่างนั้นจะถูกลบล้าง ยกเว้นจากบาปใหญ่ (บันทึกโดยมุสลิม จากอบี ฮุร็อยเราะฮฺ) 
มีปรากฏในอัลบุคอรียฺและมุสลิม ความว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ถามศอฮาบะฮฺของท่านว่า “พวกท่านมีความเห็นอย่างไร สมมุติว่ามีแม่น้ำสายหนึ่งไหลผ่านหน้าประตูบ้านของพวกท่าน แล้วพวกท่านอาบทุกวันๆละ 5 ครั้ง สิ่งสกปรกจะยังคงหลงเหลืออยู่บนร่างกายของพวกท่านอีกหรือ? ดังนั้นเช่นเดียวกับการละหมาดวันละ 5 เวลา ระหว่างนั้นอัลลอฮฺจะทรงลบล้างบาปให้”  (ความหมายในหะดีษนี้หมายถึงบาปเล็ก ส่วนบาปใหญ่จะไม่ถูกลบล้างนอกจากการเตาบะฮฺ)
            ในเรื่องนี้มีหลักฐานจากอัลกุรอานมายืนยัน ความว่า “เจ้าจงดำรงการละหมาดตอนปลายช่วงทั้งสองของกลางวันและยามต้นของกลางคืน แท้จริงความดีจะลบล้างความชั่ว” (ฮูด/114)
           
มีหะดีษศอฮีฮฺ ความว่า “ผู้ที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ด้วยความศรัทธามั่นและหวังผลตอบแทน (จากอัลลอฮฺ) ความผิดที่ผ่านมาของเขาจะถูกลบล้าง และผู้ใดที่ละหมาดกิยามในเดือนรอมฎอนด้วยความศรัทธามั่นและหวังในผลตอบแทน (จากอัลลอฮฺ) ความผิดที่ผ่านมาของเขาจะถูกลบล้าง”  (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺและมุสลิม) 
 

            และมีหะดีษศอฮีฮฺอีกบทหนึ่งความว่า “ระหว่างการทำอุมเราะฮฺไปถึงอีกอุมเราะฮฺ  ความผิดระหว่างนั้นจะถูกลบล้าง”

 

            อัลกุรอานมาสนับสนุนยืนยันว่า เฉพาะการออกห่างจากการทำบาปใหญ่ก็เป็นการลบล้างบาปเล็ก ดังนั้นเมื่อไม่กระทำบาปใหญ่ เนื่องจากการเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ โดยเขามีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่กระทำมันอย่างเด็ดขาด อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ ความว่า “หากพวกเจ้าออกห่างจากบรรดาบาปใหญ่ที่พวกเจ้าถูกห้ามให้ละเว้นแล้ว เราก็จะลบล้างบรรดาความผิดเล็กๆ ของพวกเจ้า และเราจะให้พวกเจ้าเข้าไปอยู่ในสถานอันมีเกียรติ” (อันนิสาอ์/31)
 
            ตัวอย่างในการเอาใจใส่ต่อผู้เข้ารับอิสลามใหม่ และให้ความสะดวกง่ายดายแก่พวกเขา คือการให้เขาเตาบะฮฺ (สารภาพผิด) จากการที่เคยมีชีวิตอยู่ในสภาพที่เป็นผู้ฝ่าฝืน ต่อจากนั้นอัลลอฮฺได้เปิดหัวใจเขา   ให้เขาได้รู้สึกถึงความผิดพลาดที่เขาเคยกระทำและเขาก็ได้เตาบะฮฺตัวต่อพระองค์ และได้นำทางเขาสู่สัจธรรม โดยให้เขาได้ยึดมั่นอย่างหนักแน่นมั่นคง ดังนั้นเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องเอาใจใส่ดูแลเขาอย่างใกล้ชิด เพราะถือว่าเขาเป็นคนใหม่ในทัศนะอิสลาม เราเริ่มจากให้เขาทำจากสิ่งเบาๆ หลักการที่ง่ายๆ จนกระทั่งเขาสามารถยืนหยัดต่อหลักการอิสลามได้ และเมื่อความศรัทธาได้หยั่งรากลึกลงไปในหัวใจของเขาแล้ว ต่อจากนั้นเราถึงจะพยายามดึงเขาทีละนิดๆ ตามลำดับความสำคัญ และในความเป็นจริงเขาก็พยายามในการที่จะพัฒนาปรับปรุงตนเองอยู่ ในเมื่อเบื้องต้นเขาได้ปฏิบัติเฉพาะเรื่องราวที่เป็นฟัรฎูอย่างมั่นคงแล้ว ดังนั้นให้เขาพยายามเติมเต็มเรื่องที่เป็นสุนนะฮฺ ทำนองเดียวกันเมื่อเขาละทิ้งจากการกระทำบาปใหญ่ได้ด้วยตัวของเขาเอง   หลังจากนั้นเขาจะยกระดับความศรัทธาในตัวของเขามากยิ่งขึ้น ที่เหลือก็เฉพาะเรื่องที่เป็นชุบฮาต (คลุมเครือ) และผู้ใดที่เคร่งครัดในเรื่องชุบฮาต ศาสนาและเกียรติของเขาก็จะบริสุทธิ์
                        ลักษณะวิธีการเช่นนี้แหละที่เราควรเรียกร้องให้พวกเขาฝึกฝน พยายามปรับปรุงด้วยตัวของเขาเอง   เขาจะเปลี่ยนแปลงจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งจนกระทั่งเขาบรรลุถึงระดับ “อัลมุตตะกีน”  (บรรดาผู้ที่มีความยำเกรง)
           ซึ่งสอดรับกับพจนารถของท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ความว่า  “บ่าวคนหนึ่งยังไม่บรรลุถึงระดับมุตตะกีนจนกว่าเขาจะละทิ้งสิ่งที่ถูกอนุมัติเพราะเกรงกลัวว่าจะเกิดความผิดขึ้น” (บันทึกโดยอัตติรมิซียฺ)
            แต่ที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง พบว่าพี่น้องนักดาอีย์บางคนที่พยายามไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศคอมมิวนิสต์มากกว่าครึ่งศตวรรษ ให้กำเนิดลูกหลานมีทายาทมากมาย ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมของบรรดาผู้ปฏิเสธ บางครั้งเขากลับไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวอิสลามเอาเสียเลย ออกห่างจากหลักธรรมคำสอนอิสลาม ที่ยังคงมัดพวกเขาอยู่ก็เพียงการกล่าวชะฮาดะฮฺทั้งสองประโยคเท่านั้น ได้รับอิสลามมาทางสายโลหิตประการหนึ่ง   เป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน ฉันได้เฝ้าสังเกตเห็นว่าพี่น้องนักดาอีย์เริ่มเรียกร้องผู้คนด้วยกับปัญหาที่มีทัศนะขัดแย้งระหว่างอุละมาอ์ (คิลาฟิยะฮฺ)  การจำเป็นต้องสังกัดมัซฮับ ผู้ชายจำเป็นต้องไว้เครา ส่วนผู้หญิงต้องคลุมหน้า ฯลฯ
           หรือว่าพวกท่านเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้คนหนีห่างจากศาสนาอิสลาม .. !!
           สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนผินหลังให้อิสลาม คือการไม่มีความอดทนอดกลั้น มีความแข็งกระด้าง สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนโดยขาดความอ่อนโยน นุ่มนวล แท้จริงการมีจรรยามารยาทที่ดีงามมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส จะเป็นดังประตูบานแรกทำให้เป็นที่รักใคร่ของผู้คนที่พบเห็น ทำให้พวกเขากล้าที่จะใกล้ชิดและยอมจำนนที่จะสดับฟัง ซึ่งจะต่างกับผู้ที่มีบุคลิกที่แข็งกระด้าง   พูดจาเกรี้ยวกราด แม้สิ่งที่พูดนั้นคือสัจธรรม ผู้คนก็จะไม่ยินยอมตอบรับมารยาทอันตกต่ำเยี่ยงนั้น ผู้คนต่างเบือนหน้าวิ่งหนี ปิดประตูตายไม่อยากแม้กระทั่งจะมองหน้าเหมือนตัวอย่างที่พวกเราต่างประจักษ์ชัดมาแล้ว
            อัลกุรอานได้บอกเล่าเรื่องราว ซึ่งก็มีให้ประจักษ์มาบ้างแล้วถึงการแสดงออกที่มีความเหมาะสม   ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้กับท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ความว่า “เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮฺนั่นเอง เจ้า(มุฮัมมัด)จึงได้สุภาพอ่อนโยนแก่พวกเขา และถ้าหากเจ้าเป็นผู้ประพฤติหยาบช้าและมีใจแข็งกระด้างแล้วไซร้ แน่นอนพวกเขาก็ย่อมแยกตัวออกไปจากรอบๆ เจ้าแล้ว”  (อาละอิมรอน/ 159)
อัลลอฮฺตรัสกับท่านรอซูลเช่นนั้น ทั้งที่ท่านรอซูลถูกส่งมาจากพระองค์ และมีวะหฺยู(วิวรณ์)มาการันตี  และเป็นผู้ที่มะอฺศูม(เป็นผู้ที่ปราศจากความผิด) แต่ท่านรอซูลก็ยังถูกบอกกล่าวเพื่อย้ำเตือนให้ฉุกคิดในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้อื่น ฉะนั้นเป็นบทเรียนและสิ่งที่ต้องใคร่ครวญ  ดังนั้นไม่เป็นที่แปลกใจแต่ประการใด หากเราพบว่าท่านรอซูลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นผู้ที่มีจรรยามารยาทที่ดีที่สุดจากบรรดามวลมนุษยชาติ  เป็นผู้ที่มีความเมตตาอาทรมากที่สุด มีความอ่อนโยนในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากที่สุด  และเป็นคนที่ให้อภัยต่อผู้กระทำความผิดมากที่สุด
            ส่วนผู้ที่ให้อภัยต่อผู้ที่หลงลืมหรือผู้ที่ผิดพลาด อัลลอฮฺได้ตรัสถึงคุณลักษณะอันพิเศษและโดดเด่นของพวกเขา ความว่า “แท้จริงมีรอซูลคนหนึ่งจากพวกท่านเองได้มายังพวกท่านแล้ว เป็นที่ลำบากใจแก่เขาในสิ่งที่พวกท่านได้รับความทุกข์ยาก เป็นผู้ห่วงใยในพวกท่าน เป็นผู้มีความเมตตา  กรุณาสงสารต่อบรรดาผู้ศรัทธา” (อัตเตาบะฮฺ/ 128)
 
 
บุคลิกภาพภายนอกคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนหนีห่าง
             สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผู้คนหนีออกห่าง คือบุคลิกภาพที่แสดงออกไปในทางที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย เสื้อผ้าอาภรณ์ ท่าทางการแสงดออก จะเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของบุคคลทั่วไป
            ท่านรอซูลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม จะเอาใจใส่เป็นกรณีพิเศษในการกระตุ้นให้บรรดาเศาะหาบะฮฺได้ตระหนักถึงบุคลิกภาพและภาพลักษณ์ที่แสดงออกต่อสาธารณชน มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านรอซูลุลลอฮฺได้กล่าวกับบรรดาเศาะหาบะฮฺว่า “จะไม่ได้เข้าสวรรค์สำหรับผู้ที่หัวใจของเขามีความโอ้อวดอยู่แม้จะเท่าเพียงผงธุลี”   มีชายคนหนึ่งกล่าวว่า “โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ แท้จริงตัวฉันเป็นคนรักความสวยงามในทุกเรื่อง จนกระทั่งฉันไม่ยอมให้ใครมาเกินฉันแม้กระทั่งเป็นเรื่องเล็กๆ ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการโอ้อวดหรือไม่?” ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า  “แท้จริงอัลลอฮฺทรงงามวิจิตรและพระองค์ทรงรักความสวยงาม” ส่วนความโอ้อวดเป็นการไม่ยอมรับความจริงและเป็นการดูถูกผู้อื่น
            ไม่มีสำนวนใดที่ลุ่มลึกและเป็นปรัชญาไปกว่าสำนวนที่ว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงงามวิจิตรและพระองค์ทรงรักความสวยงาม”
 
ภาพลักษณ์ที่น่าประทับใจและน่าเบื่อหน่าย 
             ที่สำคัญกว่านั้น เป็นภาพลักษณ์ที่อิสลามได้นำเสนอแก่มวลมนุษยชาติมาก่อนแล้ว แต่ยังมีภาพที่น่าประทับใจและภาพที่ไม่น่าประทับใจ มีภาพที่น่ายินดีและภาพที่น่าเบือนหน้าหนี แต่ที่เราควรแสวงหาคือภาพอันน่าประทับใจเมื่อได้พบเห็น
            หากแต่ยังมีผู้คนอีกบางกลุ่มที่นำเสนออิสลามในรูปแบบที่น่าสะพรึงกลัว มีแต่เรื่องหนักๆ ยากต่อการปฏิบัติ
            อิสลามที่ถูกนำเสนอโดยสื่อต่างๆ นั้น ถ้าเรื่องอะกีดะฮฺ(หลักการเชื่อมั่น)ก็เป็นเพียงคำพูด เรื่องอิบาดะฮฺ(หลักการปฏิบัติ)ก็เป็นเพียงท่าทาง เรื่องพฤติกรรมที่ถูกนำเสนอในทางลบ  เรื่องการคิดวิเคราะห์เป็นเพียงภายนอกผิวเผิน เรื่องตัฟซีร(การอรรถาธิบายอัลกุรอาน)ก็เป็นเพียงเฉพาะอักขระ เรื่องฟิกฮฺ(ศาสนบัญญัติ)ก็เพียงเท่าที่มีปรากฏชัดในตัวบท และการดำเนินชีวิตก็ถูกนำเสนอเพียงภาพลักษณ์ภายนอก
            บางครั้งอิสลามก็ถูกนำเสนอด้วยกับใบหน้าที่บึ้งตึง ด้วยวิธีการเผยแผ่ที่รุนแรง ปะทะคารมโต้เถียง แสดงออกในการสร้างปฏิสัมพันธ์ด้วยความหยาบกระด้าง และสำนวนในการนำเสนอออกไปแต่ละครั้งอย่างแข็งทื่อ
            อิสลามที่ถูกนำมาเสนอนั้นกลายเป็นว่าไม่มีความยืดหยุ่น ไม่มีทัศนะที่หลากหลาย ไม่ยอมรับต่อทัศนะอื่น ไม่รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น และมองว่าความคิดเห็นของตนถูกต้องที่สุด ส่วนความคิดเห็นของผู้อื่นนั้นเป็นโมฆะ
            อิสลามที่ถูกนำเสนอนั้น เหมือนกับว่าผู้หญิงมีความจำเป็นที่เธอจะต้องถูกกักขังไว้ในบ้านเท่านั้น ห้ามไม่ให้ทำงาน ไม่มีส่วนร่วมในการดะวะฮฺ หรืองานสำคัญใดๆ
            อิสลามที่ถูกนำเสนอเหมือนกับว่าการแบ่งมรดกเป็นการแบ่งที่ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีการปรึกษาหารือในการตัดสิน พิพากษา ไม่ยอมรับในความมีอิสรภาพของประชาชน ไม่มีการกล่าวตักเตือนผู้คนให้พวกเขาได้ห่างไกลจากการเป็นกลุ่มคนที่ต้องยอมจำนนต่อกองกำลังต่างชาติ หรือยอมจำนนต่อกองกำลังของยิวไซออนิสต์ หรือผู้ไล่ล่าจักรวรรดินิยม ปล่อยปละละเลยผู้คนที่อยู่ในสังคมให้จมปลักเกลือกกลั้วอยู่กับการโต้เถียงสาดโคลนใส่กันในเรื่องปัญหาปลีกย่อยทางด้านฟิกฮฺ หรือปัญหาคิลาฟียะฮฺ หรือแม้กระทั่งความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องอิบาดะฮฺ (หลักการปฏิบัติ) เรื่องมุอามะลาต (การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น) ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องยากที่จะหาข้อยุติลงได้
           อิสลามที่ถูกนำมาเสนอนั้นถูกทำให้เห็นเป็นรูปแบบที่มีความหนักอึ้ง มีแต่คำว่าต้องห้าม มีแต่คำสั่ง ห้ามกระทำไปเสียทุกเรื่อง ไม่สามารถลดหย่อนผ่อนปรนได้ ต้องดำรงชีวิตอยู่ในครรลองของความตึงเครียด เอียงตัวเพียงนิดเดียวก็ต้องระวังเพราะกลัวว่าตนจะตกไปอยู่ในสิ่งที่หะรอม
           ทว่า อิสลามที่สูญหายไป คืออิสลามของบรรพชนในยุคแรก อิสลามที่มีอัลกุรอานและสุนนะฮฺ มีจริยวัตรของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม มีแบบอย่างของบรรดาคอลีฟะฮฺอัรรอชิดีน อัลมะฮฺดียยีน(บรรดาผู้ปกครองผู้ทรงธรรม) ที่มาหลังจากท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  อิสลามที่มีความง่ายดายไม่ยากลำบาก มีแต่เรื่องราวของความดีงาม หากเป็นความรักก็คือรักอันพิสุทธิ์ หากจำเป็นต้องโกรธก็โกรธเพื่ออัลลอฮฺ ไม่ใช้ความรุนแรงแข็งกระด้าง  ไม่มีสักเพียงธุลีดินของความอธรรม สิ่งเหล่านี้ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ผู้ที่พบเห็น อิสลามที่สามารถสัมผัสได้มีแต่การให้โดยไม่ลำเอียง สถิตอยู่ภายในไม่ใช่แต่เพียงภาพภายนอก สามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องนำมาโต้แย้งกัน   มีความเต็มใจที่จะหยิบยื่นมอบให้โดยไม่คาดหวังเรียกคืน มีการวินิจฉัยปัญหาโดยไม่ลอกเลียนแบบ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ต้องร่วมฟื้นฟูไม่ใช่ปล่อยให้แช่แข็งนอนแน่นิ่งอยู่   ปฏิบัติตามกฎระเบียบโดยไม่ละเลยต่อหน้าที่ เดินตามทางสายกลางโดยไม่มีความสุดโต่งหรือหย่อนยาน เพิกเฉย
            อิสลามวางอยู่บนพื้นฐานของอะกีดะฮฺ (หลักการเชื่อมั่น) วิญญาณของอิสลามสถิตล้ำลึกอยู่กับเตาฮีด (การให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ) อิบาดะฮฺ (หลักการปฏิบัติ) วิญญาณของมันคืออิคลาศ (ความบริสุทธิ์ใจ) อัคลาค(จรรยามารยาท)ในจิตวิญญาณแห่งอิสลามคือความดีงามที่สะอาดหมดจด ชะรีอะฮฺ(บทบัญญัติ)ในจิตวิญญาณแห่งอิสลามคือความยุติธรรม ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งเหนียวแน่นของจิตวิญญาณแห่งอิสลามคือความเป็นพี่น้องที่รักกันด้วยชีวิตเพื่ออัลลอฮฺ และผลลัพธ์อันสูงส่งของมันคืออารยธรรมอันเลอค่า ซึ่งมีดุลยภาพและครอบคลุมในทุกเรื่องราว
 
            อิสลามเพียงครรลองเดียวเท่านั้นที่ทำให้เราได้ใกล้ชิดและเข้าใจต่อผืนโลก และทำให้โลกได้ใกล้ชิดต่อเรา เป็นวิถีที่ปลุกเร้าให้ผู้ศรัทธาตื่นตัวในทุกมิติ (เศาะห์วะฮฺ อิสลามียะฮฺ) ปลุกให้กลุ่มชนแห่งศรัทธาทุกส่วนของสังคมลุกขึ้น   ตื่นและตระหนัก หนุนนำตนสู่การพัฒนาบุคลิกภาพตามรอยศาสนทูตแบบยั่งยืน ยกระดับความศรัทธาจากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่งที่สูงค่ากว่า จากระดับปัจเจกชนกระจายรัศมีของคำว่าชะรีอะฮฺและบุคลิกภาพสู่คนรอบข้าง สู่สังคมอย่างมีพลวัต

 

 

  


ยูซุฟ อัล-เกาะเราะฎอวียฺ เขียน
ยูซุฟ อบู บักรฺ แปล/เรียบเรียง

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).