Loading

 

ปัญหาเยาวชน และแนวทางแก้ไขตามทัศนะอิสลาม

1.0 ความนำ

     • ปัญหาเยาวชน เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ และมีความกังวลในทิศทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนมีเสียงเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันค้นหาสาเหตุ และชี้แนะวิธีการเยียวยา พร้อมแนวทางแก้ไขที่เร่งด่วนและมีประสิทธิภาพที่สุด

     • ปัญหาเยาวชน เป็นภาพสะท้อนของความล้มเหลวทิศทางการพัฒนายุคไซเบอร์ที่ขาดความเข้าใจในทุกมิติของความเป็นมนุษย์ เป็นการพัฒนาที่ใช้ “ วัตถุ ” เป็นตัวตั้ง และละเลยอย่างเบ็ดเสร็จด้าน “ จิตวิญญาณ ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาในปัจจุบัน มักจะอยู่บนฐานเส้นด้ายของระบบคุณธรรมจริยธรรม เป็นเหตุให้ อารยธรรมแห่งศาสนามักตกเป็นเหยื่อที่ต้องสูญเสียพร้อมๆกับคำว่า “ พัฒนา ” อยู่เสมอ ซึ่งสอดคล้องกับบทสรุปของรัฐบาล หลังจากการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ผ่านมา ว่า “ เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน ”
     • การแก้ไขปัญหาเยาวชนไม่ให้ตกต่ำลงไปกว่านี้ หรือมิให้อนาคตซ้ำรอยเดิม ผู้ใหญ่ทั้งหมดในสังคม ไม่ว่าในบ้าน โรงเรียน ภาครัฐหรือเอกชน ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง และจริงใจที่ต้องประพฤติตนให้เป็นตัวอย่าง สอดคล้องกับที่พูดว่า จะสั่งสอนให้การอบรมเยาวชนเป็นอันดับแรก ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเยาวชน เป็นผลมาจากการกระทำและความไม่รับผิดชอบของผู้ใหญ่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจแทบทั้งสิ้น
     • อิสลามคือศาสนาของอัลลอฮฺเพื่อมนุษยชาติในทุกยุคทุกสมัย เป็นประมวลคำสอนที่ครอบคลุมและสอดคล้องกับสัญชาติญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์ คำสอนของอิสลามจึงสามารถตอบสนองความต้องการในทุกมิติของความเป็นมนุษย์ มนุษย์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการชี้นำโดยทางนำแห่งอิสลาม ด้วยเหตุนี้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาโดยอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเยาวชนที่อิสลามให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งด้วยการเสนอวิธีการป้องกัน การแก้ปัญหาและเยียวยารักษาที่สมบูรณ์ ครบวงจรและบูรณาการ

2.0 ปัญหาเยาวชน
     ปัญหาเยาวชนในปัจจุบันมีมากเกินกว่าที่จะพรรณา จึงเลือกสรรที่สำคัญพอให้ทุกฝ่ายได้สังวรถึงพิษภัยที่กำลังรุมเร้าเยาวชนซึ่งถือเป็นทั้งปัจจุบันและอนาคตของสังคม สรุปได้ดังนี้
     2.1 พฤติกรรมที่เบี่ยงเบน
สิ่งท้าทายที่สำคัญที่สุดสำหรับเยาวชนปัจจุบันคือ เยาวชนต้องตกอยู่ในสภาพที่เปราะบางที่สุดที่จะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นต้นตอของการมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน เสื่อมบุคลิกภาพและไร้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรม
ปัจจัยที่เป็นพาหะที่นำเยาวชนสู่การมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนมี 6 ประการ ซึ่งสรุปเป็น 6s ดังนี้
    2.1.1 Sex การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส(ซินา)
สถานการณ์ทั่วไปเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แถลงเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม2548 ว่า นักเรียนนักศึกษาจำนวน 382,348 คน หรือร้อยละ 6.3 จากจำนวนนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ 6,092,472 คน ออกมายอมรับว่ามี เพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ทั้งนี้นักเรียนชั้นต่ำสุดที่อยู่ในขอบข่ายการสำรวจคือ ระดับชั้น ป.6
ในจำนวน 382,348 คนที่ยอมรับว่ามีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ร้อยละ 67.3 ระบุว่ามีเพศสัมพันธ์กับคนรัก ร้อยละ 11.3 มีกับเพื่อนร่วมโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ร้อยละ 10.6 มีกับเพื่อนต่างโรงเรียนหรือต่าง มหาวิทยาลัย ร้อยละ 4.0 มีกับเพื่อนใหม่ที่พบตามสถานบันเทิง และร้อย ละ 5.7 มีกับหญิงบริการ นักร้อง
เมื่อถามถึงสถานการณ์หรือแรงผลักดันให้มีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 67.5 ตอบว่าเพราะความใกล้ชิด ร้อยละ 51.0 อยากลอง ร้อยละ 14.3 บอกว่าถูกกระตุ้นจากการดื่มเหล้า และร้อยละ 27.1 จากการอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ สื่อลามกหรือวิดีโอโป๊
ผลการสำรวจความเสี่ยงเยาวชนครั้งล่าสุดของกระทรวงพัฒนาสังคม ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ที่เก็บตัวอย่างจากเยาวชนอายุ 13-18 ปีทั่วประเทศกว่า 280,000 คน ระบุว่า เยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยมีอาการซึมเศร้า และที่ซึมเศร้าถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายในบางจังหวัดก็สูงเกือบถึงร้อยละ 20 และต้นตอของการซึมเศร้าจนคิดฆ่าตัวตายนั้นส่วนใหญ่มาจากปัญหาความสัมพันธ์ทางเพศ
การสำรวจยังพบอีกว่า นักเรียนชายถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่านักเรียนหญิง โดยผู้ล่วงละเมิดก็คือนักเรียนในชั้นโตกว่า ขณะที่นักเรียนหญิงซึ่งมีบิดาเลี้ยง มีแนวโน้มจะถูกล่วงละเมิดทางเพศสูง และพบว่า นักเรียนในชั้นม.6 มีเพศสัมพันธ์มากกว่านักเรียนในชั้นม.1 ถึง 15 เท่าตัว และหลายจังหวัดเริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุ13ปี
ขณะที่การสำรวจของ "ไชลด์ วอทช์" ที่สำรวจจากเยาวชนกลุ่มตัวอย่าง 120,000 คน พบว่า มีการแจ้งความล่วงละเมิดทางเพศเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทุก 2 ชั่วโมง และเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปีเข้าทำคลอด 60,000 รายต่อปี ในจำนวนนี้เป็นคุณแม่ที่อายุต่ำกว่า 14 ปี ทำคลอดวันละ 7-8 ราย
ปัญหาที่นับวันยิ่งลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นแผลเรื้อรังในสังคมปัจจุบัน คือ "โสเภณีเด็ก" กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า โสเภณีเด็กหรือเด็กในธุรกิจเพศพานิชย์อย่างต่ำสุดมีประมาณ 200,000 – 300,000 คน ในขณะที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิเด็กให้ตัวเลขสูงสุดถึง 800,000 คน
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผอ.สถาบันรามจิตติ เปิดเผยในรายการเที่ยงวันทันข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง11 ออกอากาศวันที่ 2 กรกฏาคม 2549 ว่า ในปี 2548 ที่ผ่านมา มีเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปีมาทำคลอดที่สถานพยาบาล จำนวน 52,000 คน หรือเฉลี่ย 142 ราย ต่อวัน โดยในจำนวนนี้ มีเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปีมาทำคลอดที่สถานพยาบาล จำนวน 2,600 คน หรือเฉลี่ย 7-8 ราย ต่อวัน ดร.อมรวิชช์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมถึงสถิติการทำแท้ง ณ สถานที่อื่นๆซึ่งไม่อาจหาข้อมูลได้ แต่เชื่อว่าตัวเลขการทำคลอดของสาววัยรุ่นมีจำนวนมากกว่าที่ระบุไว้แน่นอน
     2.1.2 Smoking บุหรี่ และยาเสพติด
สถานการณ์ทั่วไปเกี่ยวกับการสูบบุหรี่และเสพยาเสพติดในกลุ่มเยาวชน
? สถิติเกี่ยวกับการสูบบุหรี่
จากข้อมูลจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากผลของการสูบบุหรี่ปีละ 42,000 คน หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 5 คน และทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตปีละ
3 ,000,000 คน หรือชั่วโมงละ 360 คน องค์การอนามัยโลก คำนวณไว้ว่า ภายในปี 2570 ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากผลของการสูบบุหรี่ ถึงปีละ 10,000,000 คน หรือนาทีละ 20 คน
? บุหรี่นำไปสู่สิ่งเสพติดชนิดอื่น
บุหรี่ สิ่งเสพติดที่ถูกกฎหมายและหาได้ง่าย นอกจากจะทำลายสุขภาพแล้ว จากการวิจัยพบว่า การสูบบุหรี่ในวัยรุ่น เป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่การเสพติดสิ่งเสพติดชนิดอื่นๆด้วย รายงานการวิจัยพบว่าวัยรุ่นที่ทดลองกินเหล้าไประยะหนึ่ง ร้อยละ 10 จะติดเหล้า วัยรุ่นที่ทดลองสูบบุหรี่ไประยะหนึ่งเกือบร้อยทั้งร้อยจะติดบุหรี่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบุหรี่มีฤทธิ์ในการเสพติดรุนแรงกว่าเหล้าหลายเท่า และผลการวิจัยพบว่า วัยรุ่นอายุระหว่าง 12-17 ปี ที่สูบบุหรี่จะมีอัตราการติดสุราเพิ่มขึ้น 4 เท่า อัตราการสูบโคเคนเพิ่มขึ้น 32 เท่า และอัตราการสูบกัญชาเพิ่มขึ้น 100 เท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่าผู้ใหญ่ที่ติดบุหรี่ร้อยละ 80 เริ่มต้นก่อนอายุ 20 ปี
จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด
(ปปส.) ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ที่ทำการสำรวจข้อมูลการระบาดของยาเสพติด ในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาทั่วประเทศ ในช่วงกลางปี2542 พบว่านักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จนถึงระดับปริญญาตรี มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในฐานะผู้เสพ ผู้ติดยาและผู้ค้า สูงถึง 663,290 คน คิดเป็นร้อยละ 12.36 โดยมียาเสพติดที่ระบาดรุนแรงได้แก่ ยาบ้า (Amphetamine) สารระเหยและกัญชาตามลำดับ กลุ่มนักเรียนที่มีอัตราการระบาดสูงสุด ได้แก่ นักเรียนระดับ ปวช. มัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวส.

2.1.3 Sport กีฬา
     อิสลามส่งเสริมให้มุสลิมมีความสมบูรณ์ในทุกด้านไม่ว่าด้านร่างกาย จิตวิญญาณ อารมณ์ สังคมและเจตคติ การที่มีร่างกายที่แข็งแรงนับเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็นผู้นำที่ดี
อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงสาเหตุของการเลือกฏอลูตเป็นกษัตริย์เพราะฏอลูตมีสุขภาพที่แข็งแรง ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า “ อัลลอฮฺได้ทรงคัดเลือกเขา(ฏอลูต)ให้มีอำนาจเหนือพวกท่านแล้วและได้ทรงเพิ่มให้แก่เขาซึ่งความรู้อันมากมายและร่างกายที่แข็งแรง ”อัลบะกอเราะฮฺ : 247 นอกจากนี้ท่านนบีฯยังได้กล่าวอีกความว่า “ มุอฺมินที่มีสุขภาพแข็งแรงย่อมดีกว่าและเป็นที่รักของอัลลอฮฺยิ่งกว่ามุอฺมินที่มีสุขภาพอ่อนแอ แต่ทั้งมุอฺมินที่มีสุขภาพแข็งแรงและมุอฺมินที่อ่อนแอต่างก็มีความดี ” รายงานโดยอาหมัด
เนื่องจากกีฬายุคปัจจุบันได้กลายเป็นธุรกิจ ที่มีผลประโยชน์มหาศาลแอบแฝง ในขณะที่การส่งเสริมกีฬาก็เป็นไปอย่างแยกส่วน ไม่บูรณาการ ไม่คำนึงถึงส่วนอื่นๆ ของการพัฒนา ทำให้การเข้ามีส่วนร่วมอันไร้ขอบเขตของเยาวชนในเรื่องกีฬา เป็นเหตุให้เยาวชนต้องเสี่ยงกับพฤติกรรมเชิงลบดังนี้
1- เป็นเหตุให้คบเพื่อนที่ไม่ดี มั่วสุม ติดกับดักของยาเสพติด การพนัน ก่ออาชญากรรมอื่นๆ มีความสัมพันธ์อันไร้ขอบเขตระหว่างชายหญิง พฤติกรรมเลียนแบบเชิงลบจากนักกีฬาที่ชื่น
ชอบ
2- ละเลยการละหมาด ศิยามและบทบัญญัติอื่นๆในอิสลาม
3- การติดตามโปรแกรมกีฬาอันไร้ขอบเขต ทำให้มีผลต่อสุขภาพ เสียเวลา ทรัพย์สิน ติดค่านิยมที่ไม่ดี
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้เปิดเผย ผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “โค้งสุดท้ายฟุตบอลโลก 2006 เจาะลึกปัญหาการเล่นพนันทายผลฟุตบอล : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชน 21 จังหวัดทั่วประเทศ” จำนวนทั้งสิ้น 4,685 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2549 ซึ่งประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจสรุปได้ ดังนี้
ผลสำรวจสามารถประมาณการได้ว่า มีผู้สนใจติดตามชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2006 ทั่วประเทศสูงถึงประมาณ 20,590,400 คน หรือร้อยละ 47.1 ของประชากรทั้งหมด ผลการสำรวจยังประมาณการได้ว่า มีประชาชนทั่วประเทศสูงถึง 3,688,273 คนที่ตั้งใจจะเล่นพนันทายผลฟุตบอลโลก 2006 โดยมีวงเงินหมุนเวียนในการเล่นอยู่ที่ 14,034,525,124 บาท (หนึ่งหมื่นสี่พันสามสิบสี่ล้านบาทห้าแสนสองหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยยี่สิบสี่บาทถ้วน) ตัวเลขดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ปี 2004 พบว่า จำนวนผู้ที่ตั้งใจเล่นพนันเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณร้อยละ 130 ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ มีประชาชนที่ตั้งใจจะเล่นพนันทายผลฟุตบอลถึง 599,477 คน เป็นคนที่ไม่เคยเล่นพนันทายฟุตบอลมาก่อน หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงมีประชาชนถึงประมาณ 6 แสน เป็นมือใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ระบบการเล่นพนันทายผลฟุตบอล ยิ่งไปกว่านั้นจะมีคนที่เคยเลิกเล่นและจะกลับมาเล่นอีก 750,290 หรือประมาณ 7 แสน 5 หมื่นคนในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้
“ที่น่าพิจารณา คือ คนที่จะใช้วงเงินเกินกว่า 10,000 บาทขึ้นไปในการเล่นทายพนันบอลครั้งนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 53.9 ระบุว่าเคยประสบปัญหาเล่นทายพนันบอลจนต้องขายหรือจำนำของมีค่า ร้อยละ 30.3 เคยทะเลาะวิวาทกับโต๊ะบอลหรือผู้เล่นพนันด้วยกัน และเกินกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 28.9 เคยโดนโกง ไม่จ่าย จ่ายไม่ครบ ร้อยละ 25.1 หยุดงาน หนีเรียน และร้อยละ 24.0 ขัดแย้งกับคู่รักและคนในครอบครัว ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนกลุ่มเล่นทายพนันที่ใช้วงเงินสูงเคยเจอสารพัดปัญหาแต่ก็ยังจะเล่นทายพนันต่อไปอีกในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้” ดร.นพดล กล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มคนที่จะใช้วงเงินมากกว่า 1,000 แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ระบุสารพัดปัญหาที่เคยประสบเช่นกัน โดยกระจายไปในทุกกลุ่มปัญหาที่แตกต่างเพิ่มขึ้นมา คือ การมีหนี้สินพนัน และการโกหกคนใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือคู่รัก และจากการวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า ผู้ตั้งใจจะเล่นทายพนันบอลจำนวนมากมักเล่นพนันเกินกว่าวงเงินที่ตั้งใจไว้อีกด้วย
สำหรับประเด็นปัญหาที่น่าพิจารณา คือ กลุ่มประชาชนที่เคยพบเห็นพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเล่นทายพนันบอลตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา จำนวนมากหรือร้อยละ 40.3 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้เล่นพนัน รองลงมา คือ ร้อยละ 22.7 ระบุเป็นผู้รับส่วยหรือเงินสินบนจากโต๊ะบอล ร้อยละ 19.9 เป็นผู้รับแทงรายย่อย ร้อยละ 16.8 จับกุมผู้กระทำผิด ร้อยละ 15.6 ระบุเป็นโต๊ะบอล และร้อยละ 10.3 เป็นผู้เดินโพย
ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่สังคมควรช่วยกันเฝ้าระวัง คือ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในช่วงการแข่งขันบอลโลก และภายหลังการแข่งขัน โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรม การจี้ปล้น วิ่งราว ลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ และปัญหาความแตกแยกของคนในครอบครัว เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องควรเข้มงวดกวดขันและทันต่อพฤติกรรมการเล่นทายพนันบอลของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการแข่งขันบอลโลกเมื่อ 4 ปีที่แล้วมาสู่การใช้เทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัยเพื่อหลบหนีการถูกจับกุม และเมื่อผลสำรวจพบว่าผู้เล่นทายพนันบอลไม่กังวลต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี ก็ยิ่งเป็นการท้าทายเจ้าหน้าที่ของรัฐและบทลงโทษที่ประชาชนยังไม่รับรู้ว่ารุนแรงเพียงพอ จึงทำให้มีประชาชนทั่วไปและเยาวชนจำนวนมากกำลังตั้งใจจะเข้าสู่วงการพนันเป็นครั้งแรกและอีกจำนวนมากหลายแสนคนที่กำลังจะเข้ามาเล่นทายพนันอีกครั้งทั้งๆ ที่เคยเลิกเล่นไปแล้ว
ผลการวิจัยดังกล่าว เป็นสิ่งยืนยันว่า ถึงแม้ กีฬาเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และควรแก่การให้การสนับสนุนอย่างบูรณาการ แต่หากมีการใช้ปฏิบัติอย่างผิดวิธีหรือมีผลประโยชน์อกุศลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว กีฬาก็จะกลายเป็นเครื่องมือของความหายนะมากกว่าการสร้างสรรค์ ให้โทษมากกว่าสร้างคุณประโยชน์ และผู้เป็นเหยื่อของพฤติกรรมเชิงลบดังกล่าวก็หนีไม่พ้นเยาวชนนั่นเอง

 

 

2.1.4 Sing ร้องเพลง
      Dr.Muhammad Sa-ied al-Wakil ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของการร้องเพลงต่อพฤติกรรมของเยาวชนว่า “ การร้องเพลงในปัจจุบัน คือ ประตูสู่พฤติกรรมเบี่ยงเบน เป็นสื่อในการทำลายระบบคุณธรรมจริยธรรม เป็นพาหะการแพร่ขยายความชั่วร้าย ทั้งนี้เนื่องจากบรรดาผู้ไม่หวังดีต่ออิสลามได้พยายามใช้การร้องเพลงเป็นเครื่องมือในการทำลายเยาวชนมุสลิม ”
อิบนุ มัสอูด(ขออัลลอฮฺทรงปิติท่าน) ได้กล่าวว่า “ น้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นไม้ผลิดอกออกผลฉันใด เสียงร้องเพลงก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หัวใจมีสภาพเป็น นิฟาก(กลับกลอก)ฉันนั้น ”
อิบนุตัยมียะฮฺ(ขออัลลอฮฺทรงโปรดปรานท่าน) กล่าวว่า “ เสียงร้องเพลง คือ กุญแจสู่การกระทำซินา(การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส) การตั้งภาคี และพฤติกรรมไร้จริยธรรมทั้งหลาย ”
อิบนุลก็อยยิม(ขออัลลอฮฺทรงโปรดปรานท่าน) ได้กล่าวว่า “ เมื่อลูกๆเริ่มเข้าใจและสื่อภาษาได้ พ่อแม่จำเป็นต้องให้เขาห่างไกลจากที่ชุมนุมอันไร้สาระ การฟังเพลงหรือชมกิจกรรมที่ต้องห้ามทั้งหลาย ทั้งนี้เนื่องจากหากลูกๆมีความเคยชินในสิ่งดังกล่าวตั้งแต่เยาว์วัยแล้ว เป็นการยากสำหรับเขาที่จะสลัดทิ้งพฤติกรรมเหล่านั้นยามที่เขาเติบใหญ่ ”
ผลกระทบของการร้องเพลงต่อพฤติกรรมเยาวชน
1- ลุ่มหลงกับอารมณ์อันเพ้อเจ้อ ไร้สาระ
2- การร้องเพลงและดนตรีคือต้นเหตุของการมีพฤติกรรมมั่วสุม ติดยาเสพติด
3- ติดกับดักความรักอันจอมปลอม ความวิตกกังวลอันไร้ค่าและความรู้สึกเดียวดายที่สับสนและว้าวุ่น
4- เสียงร้องเพลง คือ กุญแจสู่การกระทำซินา และพฤติกรรมไร้จริยธรรมทั้งหลาย
2.1.5 Social : การเข้าสังคมและมีค่านิยมที่ผิดๆ
สัญญาณต่างๆของเยาวชนที่มีค่านิยมที่ผิดๆ
1- การตามแฟชั่นอย่างไม่ลืมหูลืมตา เช่น แฟชั่นการแต่งกาย ทรงผม การพูดจา เครื่องใช้ส่วนตัว การติดต่อสัมพันธ์หญิงชายอันไร้ขอบเขตและไม่มีการควบคุม
2- การมีค่านิยมที่ผิดๆ ทำให้เยาวชนติดกับดักพฤติกรรมไร้ศีลธรรมต่างๆ เช่น มั่วสุม
ติดการพนัน ยาเสพติด ใช้ชีวิตที่หรูหรา ฟุ่มเฟือย (มีรสนิยมสูงแต่รายได้ต่ำ)
3- การมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น บ้าน เพื่อน สถานศึกษา นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เยาวชนมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน
4- การเข้าร่วมงานสังคมและประเพณีที่ขัดกับหลักการอิสลาม
2.1.6 Star : การคลั่งไคล้ดารา
การคลั่งไคล้ดารา นับเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของเยาวชนที่นำไปสู่พฤติกรรมเบี่ยงเบน มีแบบอย่างที่ไม่ดี นิยมความหรูหรา ฟุ่งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ตามแฟชั่น ถูกทำให้เคลิ้มกับภาพมายาอันจอมปลอม ทั้งที่ความเป็นจริงมักตรงกันข้ามกับภาพที่ปรากฏอยู่เสมอ
ทั้งนี้เพราะดาราและการแสดงได้กลายเป็นมายาธุรกิจที่อาศัยสัญญลักษณ์ทาง ” เพศ ” เป็นสินค้าและสิ่งปลุกเร้า ส่วนลูกค้าที่สำคัญของธุรกิจไร้ศีลธรรมนี้ก็คือเยาวชนนั่นเอง
สัญญาณต่างๆของเยาวชนที่บ่งบอกการคลั่งไคล้ดารา
1- การติดตามละครน้ำเน่าตามนิตยสาร วิทยุและโทรทัศน์
2- การเป็นแฟนคลับของดาราในขวัญใจ
3- พฤติกรรมเลียนแบบดาราที่ชื่นชอบ
6s ดังกล่าวจึงเป็นพาหะแห่งความหายนะของเยาวชนที่พ่อแม่ควรต้องให้ความสำคัญและเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง พร้อมทั้งใช้ความอดทนเป็นพิเศษ ความละเลยแม้เพียงเสี้ยววินาทีไม่เพียงทำให้ลูกรักต้องประสบกับอนาคตที่มืดมนเท่านั้น แต่บางทีต้องแลกเปลี่ยนกับความสูญเสียต่างๆที่ไม่อาจทดแทนตลอดชีวิตได้ - ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครอง

2.2 สงครามทางความคิด
นอกจากปัญหาคุณธรรมจริยธรรมที่ทำให้เยาวชนต้องเสี่ยงกับพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนแล้ว ปัญหาที่รุมเร้าเยาวชนอีกประการหนึ่ง คือ สงครามทางความคิด
สงครามทางความคิดเป็นอาวุธอันทรงพลังที่ทำให้สังคมมุสลิมอ่อนแอ ไร้คุณภาพ ซึ่งสามารถสรุปถึงที่มาของสงครามทางความคิดได้ 2 ทาง คือ
1. ปัจจัยภายนอก โดยที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีต่ออิสลามได้พยายามเผยแพร่แนวคิดต่างๆที่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม เช่น
- อิสลามคือศาสนาที่นิยมความรุนแรงและเผยแพร่ด้วยคมดาบ
- อิสลามคือศาสนาที่คร่ำครึ ไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติในสภาพปัจจุบัน
- อิสลามเป็นศาสนาที่ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน จำกัดสิทธิสตรี
- อิสลามคือศาสนาที่ปฏิเสธความหลากหลายและไม่สามารถร่วมชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข - ฯลฯ
2. ปัจจัยภายใน โดยที่ส่วนหนึ่งของมุสลิมที่ไม่เข้าใจอิสลามอย่างถ่องแท้ ได้พยายามตีความอิสลามตามอำเภอใจ ไม่มีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือตามหลักวิชาการ ทำให้มีแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับคำสอนของอิสลาม เช่น
- แนวคิดแยกศาสนาออกจากอาณาจักร
- เข้าใจศาสนาโดยแยกส่วน ไม่ครอบคลุม ศาสนาเป็นเรื่องของพิธีกรรมและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
- แนวคิดสุดโต่งในศาสนา
- แนวคิดที่เชื่อว่า สามารถทำอะไรก็ได้ หากมีเป้าหมายที่ดี (เป้าหมายที่ดีทำให้มาตรการดีด้วย)
- แนวคิดการห้ามปรามความอกุศลในสังคม
- แนวคิดการใช้ชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างสันติสุข
- แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับ ญิฮาด(การต่อสู้ในอิสลาม) นิฟาก(การกลับกลอก) วะลาอฺ(การมอบความรักและให้การสนับสนุน) บะรออฺ(การชิงชังและต่อต้าน)และศัพท์ศาสนบัญญัติอื่นๆ ที่มักถูกตีความอย่างคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์อันแท้จริงของอิสลาม
- ฯลฯ
ดังนั้นสงครามทางความคิดที่นอกเหนือจากการใส่ไคล้จากผู้มีอคติกับอิสลามแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากมุสลิมด้วยกันเอง อันเนื่องจากการตีความคำสอนผิดพลาดอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ภาพลักษณ์อันสวยงามของอิสลามจึงกลับกลายเป็นศาสนาแห่งความหวาดกลัว รุนแรง และไร้เหตุผล สิ่งที่น่าสลดใจก็คือกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของสังคมที่มีต่ออิสลามในทุกยุคทุกสมัยก็คือ เยาวชนนั่นเอง

3.0 การแก้ไข
     เพื่อการแก้ไขปัญหาเยาวชนตามที่กล่าวมาแล้ว จำเป็นต้องหามาตรการ เร่งด่วนต่างๆดังนี้ 1. สร้างกำแพงแห่งอีมานที่มั่นคงและถูกต้อง
     2. ติดอาวุธทางปัญญาและความเข้าใจอิสลามอย่างถ่องแท้ โดยการแปรเปลี่ยนสู่ชีวิตจริง
     3. สร้างสำนึกแห่งความรับผิดชอบ จุดประกายแห่งความเชื่อมั่นและความหวัง
     4. รับใช้สังคมและก้าวมารับงานดะวะฮฺ(การเผยแผ่อิสลาม) ด้วยความมุ่งมั่นบนเส้นทางสายกลาง
     5. มีความผูกพันและร่วมมือระหว่างพี่น้องมุสลิมและเพื่อนต่างศาสนิกที่อยู่บนพื้นฐานการให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่ดีและความยำเกรง และไม่ร่วมมือกระทำในสิ่งอกุศลและการละเมิดรุกราน
     6. ปรับปรุงและพัฒนาให้มีครอบครัวคุณภาพ สื่อคุณภาพ พื้นที่คุณภาพและการศึกษาคุณภาพ ที่เพียงพอกับความต้องการของสังคม
     7. ล้อมรั้วด้วยความรักและความเอาใจใส่แก่เยาวชนอย่างถูกต้อง ต่อเนื่องและครบวงจร

4.0 สรุป
     กล่าวได้ว่าภาพที่เป็นอยู่และสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน แท้จริงแล้ว คือ กระจก สะท้อนภาพที่เป็นอยู่และสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ สอดคล้องกับคำขวัญวันเด็กที่ท่าน อุทัย พิมพ์ใจชน ได้เคยกล่าวในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาว่า “ เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันนี้ ” ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาทั้ง 7 ประการข้างต้นและปัญหาเยาวชนที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ จะเป็นเพียงตัวอักษรในเอกสารที่ไม่สามารถเป็นความจริงอย่างเป็นรูปธรรมได้ หากไม่ได้รับการเริ่มต้นปฏิบัติอย่างจริงจังและจริงใจจากผู้ใหญ่ทั้งหลาย
ขออัลลอฮฺทรงประทานความเข้มแข็งแก่ทุกฝ่ายในการจรรโลงครอบครัวคุณภาพ
สื่อคุณภาพ พื้นที่คุณภาพและการศึกษาคุณภาพสู่สังคมสันติภาพอันยั่งยืนด้วยเทอญ

????? ?????? ????????? ??????? ??? ???? ?????? ???? ???? ??? ????? ???? ???? ??? ????? ????

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).