Loading

 

ครอบครัว กับบางส่วนที่ไม่ควรเลือนหาย

การดำเนินชีวิตของคนเราทุกวันนี้ เป็นวิถีที่ถูกรุมเร้าจากประเด็นปัญหานานาประการ ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุ เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งรุดหน้าอย่างสุดโต่ง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนในสังคม ภาพแห่งความสุขในรูปแบบต่างๆ ถูกนำมาเสนอเพียงฉาบฉวย สีสันภายนอกดูสวยงามชวนให้ลุ่มหลง แต่...ล้วงลึกลงไปกลับเป็นเพียงภาพลวงตา ปัญหาต่างๆ นานา ที่มาโหมกระหน่ำรุมเร้าถูกหมักหมมไม่ได้รับการเยียวยารักษาอย่างเป็นระบบ ตรงประเด็นและต่อเนื่อง
ภายใต้โลกใบใหญ่...
แต่...กลับเต็มไปด้วยการยื้อแย่งแข่งขัน คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ต้องมาอยู่เบื้องหลังของการแย่งชิง
ปัญหาการเมืองการปกครอง...
ประชาธิปไตยที่มีสโลแกนปักธงชัยไว้อย่างสวยหรู แต่..การเลือกตั้งแต่ละครั้งตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติล้วนแล้วเป็นบาดแผลที่นำไปสู่ความความแตกแยกของคนในสังคม
ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง...
การคดโกง เบียดเบียน ให้ได้มาครอบครองอยู่เหนือบทบัญญัติแห่งอัลลอฮ์ การดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนหวัง บางครั้งได้มาโดยขาดความชอบธรรม ถูกต้อง
ปัญหาวัยรุ่น...เด็กแวนซ์...
รถซิ่ง.. ทะเลาะวิวาท..
ยาเสพติด..ยังคงเป็นหาใหญ่ของสังคมเด็กอายุยังไม่จบชั้นประถมเริ่มต้นการสูบบุหรี่ ดมกาว อย่างเมามัน วิวัฒนาการของความชั่วรุกคืบอย่างรวดเร็ว
ยาบ้า.. สามารถหาซื้อได้ง่ายเหมือนซื้อลูกอมท็อฟฟี่
ยาไอซ์.. ยาอี.. สารพัดมีชื่อเรียก
กะท่อม..ต้นไม้พื้นบ้านแสนธรรมดา แต่..พัฒนาการอย่างรวดเร็ว จาก 4+100 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำลายล้าง(ให้ตายเร็ว)สูง แปรสภาพเป็น 8+100 แล้วในขณะนี้ นี่ยังไม่นับรวมปัญหาการพนันหลากหลายรูปแบบ เบอร์ หวย ที่ฝังรากอยู่คู่กับผู้คนอีกส่วนหนึ่งของสังคม
นี่เป็นเพียงบางส่วนที่ยกมา ล้วนแล้วเป็นปัญหาคาใจของสังคม ส่งผลกระทบสู่การดำเนินชีวิตของผู้คนและสมาชิกในครอบครัวทั้งสิ้น
ครอบครัว...เป็นสถาบันหลักที่จะมาฟูมฟักอบรมเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวให้เจริญเติบโตควบคู่กันไปในทุกด้านพร้อมเพรียงกันทั้งด้านสรีระร่างกาย สติปัญญา จนสามารถออกไปยืนอยู่ตรงมุมไหนของโลกใบนี้ได้สง่าผ่าเผยสามารถเผชิญหน้ากับอุปสรรคปัญหาได้อย่างไม่ย่อท้อ
ครอบครัว...เป็นสถาบันเล็กสุดในสังคม
ครอบครัว...เป็นรากฐานสำคัญของการสรรค์สร้างสังคม
ครอบครัว...เป็นฐานที่มั่นของการดำรงตนให้อยู่รอดปลอดภัยของทุกชีวิต
ครอบครัว...เป็นที่พักพิง เป็นรวงรังที่จะสร้างไออุ่นแห่งความรัก
ถ้าหากแต่ละครอบครัวสามารถประคับประคองให้ดำเนินไปอย่างตลอดรอดฝั่ง มีความเข้มแข็งมั่นคง แน่นอนที่สุดมันคือปัจจัยหลักที่จะนำไปสู่..สังคมที่เข้มแข็ง
และในมุมกลับกัน
ถ้าหากครอบครัวไม่สามารถเป็นที่พึ่งพา เป็นที่ปรึกษา เป็นที่ฟูมฟักเลี้ยงดูอบรมบ่มนิสัยให้แก่สมาชิกในครอบครัวได้ แล้วสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะลูกๆ จะเติบโตมาท่ามกลางความเหือดแห้งทางคุณธรรมอย่างเลี่ยงเสียมิได้ และหากพวกเขาขาดการชี้นำอย่างถูกต้องแล้วพวกเขาจะลุกขึ้นยืนเผชิญหน้าต่อความโหดร้ายของโลกใบนี้ในสภาพเช่นไร? การเจริญเติบโตทางสรีระร่างกายอาจเจริญพันธุ์อย่างปกติ แต่..ทางด้านสติปัญญา มันสมอง อาจจะแคะแกร็นหรือลีบพิการ
และมันคือผลผลิตโดยตรงจากครอบครัวที่จะไปสร้างปัญหา โลดแล่นอยู่ในสังคมเมืองมายา
ถึงเวลาแล้ว...
ที่เราจะต้องตระหนักอย่างแท้จริงว่าฐานที่มั่นสำคัญหรือสถาบันแรกที่ต้องร่วมกันฟื้นฟู เอาใจใส่ อย่างจริงจังคือ สถาบันครอบครัว หากวันหนึ่งวันใดเราสามารถทำให้ครอบครัวมั่นคงได้ นั่นคือคำตอบสุดท้ายของการมีสังคมที่เข้มแข็ง
สมาชิกในครอบครัวจะต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนเป็นอย่างดี ดั่งวจนะของท่านรอซูลุลลอฮความว่า “ทุกคนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ และเขาจะถูกสอบสวนจากหน้าที่ที่รับผิดชอบ...” (บุคอรีย์&มุสลิม )
ต้องพยายามสร้างบรรยากาศในครอบครัวด้วยทุกวิธีการที่นำไปสู่ความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น สร้างปฏิสัมพันธ์ให้คนในครอบครัวมีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น ต้องช่วยเหลือกัน สร้างกิจกรรมที่นำไปสู่สวนสวรรค์อันสถาพร และรอดพ้นจากเปลวไฟอันน่าสะพรึงของนรกญะฮันนัมเพื่อสนองรับคำดำรัสแห่งอัลลอฮ์ความว่า ”บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายจงปกป้องรักษาตัวและครอบครัวของพวกสูเจ้าให้รอดพ้นจากไฟนรก”( อัตตะหฺรีม:6 )
การแต่งงานหรือการมีครอบครัวใครก็มีได้ แต่..การจะให้มีครอบครัวที่มั่นคงและอบอุ่นต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ และต่อไปนี้เราจะนำเสนอเคล็ด(ไม่) ลับบางอย่าง เรื่องง่ายๆ แต่ทำยากหรือไม่ค่อยได้ทำ หากนำไปปฏิบัติแล้วจะนำไปสู่...ความอบอุ่นก่อให้เกิดความสำเร็จแก่ชีวิตคู่และครอบครัว –อินชาอัลลอฮ์-

หนึ่ง.. การมอบของฮะดิยะฮ์(ของขวัญ)แม้จะเป็นของเล็กน้อย ราคาเพียงไม่กี่บาท จะเป็นดอกไม้สักดอกหรือข้อความสั้นๆ เขียนลงในกระดาษ ท่านรอซูลุลลอฮ์กล่าวไว้ความว่า ”จงมอบของขวัญให้กัน แท้จริงของขวัญจะทำให้ความกังวลใจหมดไป” (อัตติรมิซีย์)

สอง.. พูดจาด้วยความอ่อนหวานไพเราะ ดั่งที่ท่านรอซูลุลลอฮ์พูดไว้ความว่า "คำพูดที่ดี เป็นการบริจาคทาน(ศอดาเกาะฮฺ)" ที่แปลกก็คือ กับใครต่อใครสามารถพูดจาอ่อนโยนไพเราะได้ แต่..กับคนที่บ้านพูดทีไรเหมือนทะเลาะกันทุกที ถ้าเป็นอย่างนี้จำเป็นต้องทบทวน !!

สาม.. ยิ้มแย้มทำใบหน้าให้เบิกบานทุกครั้งที่พบหรือเวลาสามีเข้าบ้าน ของง่ายๆ ที่ท่านรอซูลุลลอฮ์บอกไว้ “การที่ท่านยิ้มให้แก่พี่น้องของท่านเป็นการบริจาคทาน” (อัตติรมิซีย์)

สี่.. สนใจตัวเองในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ร่างกาย การแต่งกาย ความสวยงาม ไม่ใช่อยู่ในบ้านแล้วไม่สนใจค่อยแต่งให้ดูดีเวลาออกนอกบ้าน ตกลงจะแต่งให้สามีพึงพอใจหรือไปอวดให้คนนอกดู ประการนี้พึงระวัง!!

ห้า.. ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ว่างานหนักหรือเบา แม้กระทั่งงานบ้านสามีจะต้องไม่โดดเดี่ยวให้ภรรยาทำเพียงผู้เดียว ดั่งท่านรอซูลุลลอฮ์บอกไว้ “ผู้ที่ประเสริฐในพวกท่านคือผู้ที่ทำดีต่อครอบครัวของเขา และฉันก็เป็นผู้ที่ทำดีต่อครอบครัวของฉัน”(มุสลิม)

หก..การมีเพศสัมพันธ์ จำเป็นต้องตกลงร่วมกันเบื้องต้นเพื่อความพร้อมของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่ปฏิเสธทุกครั้งหรือมากจนเกินไป อย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบสี่เดือน ในสมัยท่านคอลีฟะฮ์อุมัรได้ตัดสินกรณีผู้มีภรรยามากกว่าหนึ่งคนให้อยู่ร่วมกับนางไม่เกินสี่คืน ( มินฮาญุลมุสลิม : อบูบักรฺ อัลญาซาอีรีย์ )

เจ็ด.. สร้างความรู้สึกมั่นใจต่อคู่ครอง มีอารมณ์ร่วม (Feeling) ตามโอกาสและเหตุการณ์ เวลามีความสุขจะต้องแสดงความปีติยินดี เวลามีความทุกข์จะต้องปลอบประโลม

แปด.. วางแผนในการใช้จ่ายร่วมกัน เพื่อแต่ละฝ่ายจะได้มีอิสระในการใช้สอย ไม่ใช่ผูกขาดอยู่เพียงฝ่ายเดียวจนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัด

เก้า.. รู้จักแบ่งเวลาให้ครอบครัวอย่างเหมาะสม จริงอยู่ในชีวิตประจำวันเราต้องสร้างปฏิสัมพันธ์กับพี่น้อง เพื่อนฝูงมีทั้งงานประจำ งานสังคมแต่สำหรับสมาชิกในครอบครัวแล้วจะต้องมีช่วงวันเวลาที่พิเศษกว่าบุคคลกลุ่มอื่น

นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งที่สามารถทำได้ไม่ยาก ซึ่งจำเป็นต้องมีการฝึกฝน เสแสร้งหรือฝืนใจทำบ้างในบางครั้ง(เป็นการเสแสร้งที่จำเป็นต้องทำ) ส่วนครอบครัวที่ปฏิบัติอยู่แล้วขอให้เพิ่มเติมรสชาติที่ช่วยให้สายสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และท่านใดที่อยากให้ภรรยาเป็นดั่งท่านหญิงคอดีญะฮ์หรือท่านหญิงอาอีชะฮฺ์ ท่านก็ต้องปฏิบัติตนให้ใกล้เคียงกับท่านรอซูลุลลอฮ์ให้มากที่สุด ไม่ใช่ทำตัวเหมือนอบูญะฮัลแล้วต้องการให้คนที่บ้านเป็นดั่งภริยาของท่านรอซูลมันก็กระไรอยู่ใช่ไหมครับ...!!
วาบิลลาฮิตเตาฟีก วัสสะด๊าด


เรียบเรียงโดย ยูซุฟ อบูบักรฺ


Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).