Loading

 

ทัศนะเกี่ยวกับศาสนาและชนชาติต่าง ๆ

ทัศนะเกี่ยวกับศาสนาและชนชาติต่าง ๆ
ศาสนาสำคัญทั้งหลายต้องตกเป็นเหยื่อของพวกหลอกลวงและนักฉวยโอกาส เป็นของเล่นสำหรับพวกบิดเบือนและกลับกลอก กระทั่งวิญญาณ และสารัตถะของศาสนาเหล่านั้นต้องสูญสิ้นไป หากสมมุติผู้นับถือยุคแรก ๆ มาพบเจอในภายหลัง ก็คงไม่อาจรู้จักศาสนาเหล่านั้นได้ หลายดินแดนที่เคยเป็นอู่ทองแห่งอารยธรรม ประเพณี การปกครองและการเมืองต้องกลายเป็นสนามของความวุ่นวาย ขาดศีลธรรม และไร้ขื่อแป ผู้ปกครองเอาแต่ฉ้อฉลและสาละวนอยู่กับการกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน โลกอยู่ในสภาพที่ไร้สาสน์ชี้นำ ขณะที่ประชาชาติต่าง ๆ ก็ปราศจากการเผยแผ่ใด ๆ บรรดาชาติเล็กน้อยใหญ่ ต่างสูญเสียคุณค่าภายในจิตสำนึก สายธารที่คอยชุบเลี้ยงชีวิตต้องเหือดแห้งลง จนไม่มีบทบัญญัติจากศาสนาใด ๆ ที่ถือว่าบริสุทธิ์หลงเหลืออยู่อีก หรือแม้แต่กฎระเบียบของมนุษย์ที่มั่นคงสักหนึ่งเดียวก็ไม่มี

ศาสนาคริสต์ในศตวรรษที่ 6
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศาสนาคริสต์ยังไม่เคยมีกฎเกณฑ์ที่ครอบคลุม และชัดเจนในการแก้ไขปัญหามนุษย์ ที่สามารถสร้างอารยธรรม หรือจัดการเกี่ยวกับการปกครองประเทศได้ มีแค่ร่องรอยจากบทคำสอนของพระเยซู และเครื่องหมายหนึ่งที่บอกว่ามาจากศาสนาแห่งเอกภาพอันเรียบง่ายเท่านั้น ต่อมาเมื่อนักบุญเปาโล(St. Paul)ได้ประกาศสังคายนาศาสนานี้ (ในบริบทของพันธสัญญาใหม่ – ผู้แปล) เขาได้ลบรัศมีของศาสนาคริสต์อย่างหมดจด พร้อมยัดเยียดความเชื่ออันคร่ำครึต่างๆที่เคยยึดถือ และผสมผสานลัทธิบูชาเจว็ดที่ตนเองเติบโตเข้าแทนที่ ส่วนคำสอนอันถูกต้องที่พอเหลืออยู่บ้าง ก็ถูกชาวคอนสแตนไตน์ทำลายไปเสียสิ้น กระทั่งศาสนาคริสต์กลายเป็นดั่งสิ่งที่ถูกผสมเข้าด้วยกันระหว่างความเชื่ออันคร่ำครึของชาวกรีก ลัทธิบูชาเจว็ดของโรมัน ปรัชญาเพลโตยุคอียิปต์โบราณ และระบบนักพรตนักบวช ทำให้คำสอนอันเรียบง่ายของเยซูคริสต์ที่พอมีอยู่ต้องหมดสิ้นไป เฉกเช่นหยาดฝนที่รดลงสู่แม่น้ำ ศาสนานี้กลับมาอีกครั้งในภาพลักษณ์ใหม่เหมือนดั่งผิวไม้ที่ถูกถักทออย่างสอดประสานเข้าด้วยกันระหว่างความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งมิอาจเป็นธาตุอาหารแก่จิตวิญญาณ ไม่อาจประเทืองปัญญา ไม่สามารถปลุกเร้าความรู้สึก ตลอดจนไม่สามารถเป็นแนวทางในการแก้ปัญหามรสุมชีวิต และไม่มีบทบาทในการส่องแสงสำหรับการเดินทางชีวิตได้แม้แต่น้อย เนื่องจากสิ่งที่บรรดาผู้บิดเบือนเพิ่มเข้าไปและการตีความศาสนาอย่างผิด ๆ ของผู้งมงาย มีการผสมปนเปคลุกเคล้าเข้าด้วยกันระหว่างกิเลส ความรู้และการนึกคิดของมนุษย์ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ศาสนาคริสต์จึงกลายเป็นเช่นลัทธิหนึ่งที่บูชาเจว็ดไปโดยปริยาย
เซล (Sale) ผู้แปลคำภีร์อัล-กุรอานเป็นภาษาอังกฤษ ได้กล่าวถึงชนชาวคริสเตียนในช่วงศตวรรษที่ 6 นี้ว่า “บรรดาชาวคริสเตียนต่างลุ่มหลงอยู่กับการบูชาพวกบาทหลวง และรูปเคารพของพระเยซูอย่างเกินเลย จนกระทั่งสิ่งดังกล่าวปรากฏอยู่อย่างมากมายในนิกายคาทอลิกในสมัยนี้” (Sale’ s Translation . P. 62 (1896))


สงครามศาสนาภายในอาณาจักรโรมัน
ต่อมาเมื่อศาสนากลายเป็นประเด็นข้อถกเถียงโต้แย้งและหักล้างกันทางตรรกะ จนแนวคิดเหตุผลนิยมในการโต้แย้งอย่างรุนแรงได้ครอบงำความคิดผู้คน ทำลายความฉลาด และกลืนกินพลังแห่งการสร้างสรรค์ด้านการปฏิบัติให้หมดไป หลายครั้งทำให้เกิดสงครามเลือด ฆ่าฟัน ทำลาย กดขี่ข่มเหง หลอกลวง ปล้นสะดม และลอบสังหารกัน โรงเรียน โบสถ์วิหารและบ้านเรือนต้องกลายเป็นค่ายสะสมกำลังทางศาสนา ที่หวังต่อสู้เอาชนะคาดคั้นกัน ประเทศชาติถูกชักนำสู่สงครามกลางเมือง ภาพความขัดแย้งทางศาสนาที่รุนแรงที่สุดก็คือระหว่างชาวคริสเตียนแห่งซีเรียและอาณาจักรโรมัน กับอีกฝ่ายหนึ่งคือชาวคริสเตียนแห่งอียิปต์ หรือหากพูดให้ถูกที่สุดก็คือระหว่างนิกายเมลไคท์(Melkite Chritians)และนิกายโมโนฟะไซท์(Monophysites) ซึ่งตามอุดมคติของพวกนิกายเมลไคท์เชื่อว่า เยซูเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ ในขณะพวกนิกายโมโนฟะไซท์ก็เชื่อว่า องค์พระเยซูนั้นมีสภาวะเดียวที่ศักดิ์สิทธิ์ คือเป็นพระเจ้าที่สภาวะของความเป็นมนุษย์ของเยซูสถิตอยู่ เช่นเดียวกับน้ำส้มที่หยดในทะเล ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีน้ำส้มอยู่ในทะเล แต่ทุกคนก็ไม่สามารถค้นพบมันได้ ความขัดแย้งระหว่าง 2 นิกายดังกล่าวนี้ได้ทวีความรุนแรงมาก ในช่วงศตวรรษที่ 6 และ 7 ราวกับสงครามพยาบาทระหว่าง 2 ศาสนาคู่อริ หรือเช่นความขัดแย้งระหว่างชาวยิวและคริสเตียนครั้งอดีต ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็กล่าวหาฝ่ายตรงกันข้ามว่าไม่มีอะไรดีหลงเหลืออยู่เลย


ดร.อัลฟอร์ด เจ. บัตเลอร์ (Dr.Alfred G.Butler ) กล่าวว่า “ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 และ 7 ถือเป็นยุคแห่งการต่อสู้อย่างต่อเนื่องระหว่างชาวอียิปต์และโรมัน เป็นการต่อสู้ที่ลุกโชนด้วยประเด็นความขัดแย้งทางเชื้อชาติและนิกายศาสนา แต่ความขัดแย้งทางศาสนาย่อมรุนแรงกว่าแน่นอน เป็นห้วงเวลาของความเป็นศัตรูต่อกันระหว่างนิกายเมลไคท์และนิกายโมโนฟะไซท์ ฝ่ายแรกชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นฝ่ายนิกายแห่งอาณาจักรและนิกายของกษัตริย์และประเทศ ที่ยึดมั่นต่อหลักความเชื่อที่สืบทอดกันมาถึงการสถิตรวมกันของธรรมชาติของพระเยซู ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคือนิกายของชาวกิบฏีโมโนฟะไซท์ หรือชาวอียิปต์โบราณ ที่ถือว่าหลักความเชื่อดังกล่าวเป็นที่น่ารังเกียจและน่าชิงชัง ทั้งสองรบพุ่งกันรุนแรงด้วยความคึกคะนองลืมตัว แม้นหมู่ชนผู้มีสติปัญญาก็ยากที่จะจินตนาการหรือทราบถึงสาระเหตุผลนั้นได้ พวกเขาต่างสู้รบระหว่างกัน แม้ต่างฝ่ายจะอ้างว่า ศรัทธาต่อคัมภีร์ไบเบิลเล่มเดียวก็ตาม” ( Fathul- Arab Li Misra ( การพิชิตอียิปต์ของชาวอาหรับ) เขียนโดย Muhammad Farid Abu Hamid p. 37-38)


จักรพรรดิเฮราคลีอุส (ค.ศ.610-641) หลังสามารถชนะเหนือเปอร์เซียในปี ค.ศ. 628 พระองค์ทรงพยายามรวบรวมนิกายต่าง ๆ ของประเทศที่ขัดแย้งเข้าด้วยกัน ประสงค์ให้เกิดสมานฉันท์โดยประกาศเป็นกฎบังคับ ห้ามมิให้ประชาชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือพูดคุยเกี่ยวกับธรรมชาติของพระเยซู และประเด็นว่าทรงมีสภาวะเดียวหรือ 2 สภาวะเป็นอันขาด แต่ให้ทั้งหมดยอมรับว่าพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ หรือคำตัดสินเดียวเท่านั้น และในต้นปี ค.ศ. 631 ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องตามนั้น จนกระทั่งนิกายโมโนฟะไซท์(Monophysite) กลายเป็นนิกายหลักโดยทางการของประเทศ และให้บรรดาสาวกของโบสถ์คริสต์ทั้งหลายเข้าสมทบด้วย แล้วเฮราคลีอุสก็ทรงตกลงประกาศการอุปถัมภ์ช่วยเหลือนิกายใหม่นี้ให้สูงเด่นเหนือนิกายอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน โดยอาศัยสื่อต่าง ๆ ที่มีจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย แต่ชนชาวไอยคุปต์กลับแสดงท่าทีโต้แย้งอย่างรุนแรงและไม่ยอมรับสิ่งอุตริหรือบิดเบือนนี้ ต่างลุกขึ้นต่อสู้และประกาศยอมตายในหนทางแห่งหลักความเชื่อเดิมของตน ทางอาณาจักรจึงต้องพยายามอีกครั้งเพื่อรวบรวมนิกายต่าง ๆ เพื่อยุติความขัดแย้ง โดยต้องการเพียงให้ประชาชนยอมรับว่า พระเจ้านั้นทรงมีพระประสงค์เดียว สำหรับปัญหา อื่น ๆ ให้เป็นไปตามพระประสงค์ดังกล่าว โดยจำกัดการพูดถึงพร้อมห้ามคนทั้งหลายนำประเด็นนั้นมาโต้แย้งกันอีกเป็นอันขาด พร้อมจัดทำเป็นสารโดยทางการแล้วส่งไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ของซีกโลกตะวันออก แต่สารฉบับนั้นก็มิอาจทำให้มรสุมในเมืองอียิปต์เงียบสงบลง ยังคงเกิดการกดขี่ทารุณอย่างเลวร้ายขึ้นในอียิปต์โดยน้ำมือของพระเจ้าไซรัส(Cyrus)และดำเนินยาวนานนับสิบปี (A.J. Butler : Arabs’Conguest of Egypt and the Last Thirty Years of the Roman Dominion ,pp 29-30) ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญมากมาย เช่น จับผู้คนไปทรมานแล้วฆ่าด้วยการกดจมน้ำ และจุดกองเพลิงขึ้นเพื่อเผาบรรดาผู้เคราะห์ร้ายจนกระทั่งไขมันจากหน้าผากไหลจรดลงพื้นดิน หรือบ้างก็จับนักโทษยัดใส่กระสอบทรายแล้วนำไปโยนทิ้งทะเล และยังมีวิธีการอันโหดเหี้ยมสยองขวัญอีกมากมาย

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).