Loading

 

การให้เกียรติต่อกัน

อิสลามเป็นศาสนาที่มุ่งเน้นในการเสริมสร้างสังคม โดยการให้เกียรติ การให้เกียรติต่อกันแสดงออกได้ในหลายรูปแบบ อาทิเช่น การให้ความเมตตาต่อผู้อาวุโสกว่า ท่านเราะซูล ได้ กำชับให้ผู้ที่อ่อนวัยกว่าจะต้องให้เกียรติต่อผู้อาวุโสกว่า ท่านอัมร อิบนุซุอัยบ รายงานจากบิดาของท่าน จากปู่ของท่านกล่าวว่า ท่านเราะซูล กล่าวว่า "ไม่ใช่พวกเราสำหรับผู้ที่ไม่เมตตาผู้น้อยของเรา และไม่รู้จักสิทธิของผู้ใหญ่ของเรา"


การที่ท่านนะบี
ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าว เช่นนี้ก็เพื่อสอนให้มุสลิมทั้งหลายรู้ถึงวิธีในการที่จะทำให้สังคมมุสลิม มีความสามัคคี ปรองดองกัน มีความรักใคร่สมัครสมาน และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยการปรับระดับช่วงวัยของบุคคลให้สามารถผสมผสานกลมกลืนกันได้ ทั้งนี้โดยอาศัยการเอ็นดูเมตตาระหว่างกัน และรู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน


ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน สาเหตุหนึ่งมาจากช่องว่างระหว่างวัย นักสังคมวิทยาและนักจิตวิทยา พยายามค้นหาสาเหตุแห่งปัญหา พบว่าเกิดจากการขาดการสัมพันธ์ระหว่างช่วงวัย โดยที่ผู้ใหญ่มักจะสังคมกับผู้ใหญ่ และมองดูเด็กว่าพูดจาไม่รู้เรื่อง ส่วนเด็กก็มักจะมองผู้ใหญ่ว่าเป็นผู้เฒ่าเต่าล้านปี ไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ไม่ยอมเข้าใจเด็ก จึงปล่อยให้เด็กซึ่งประสบการณ์ในการใช้ชีวิตยังน้อย ใช้ชีวิตตามลำพัง บางครั้งมีปัญหาก็พยายามแก้ปัญหาด้วยตนเองไม่ยอมปรึกษาผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อ แม่ ครู อาจารย์ บางทีอาศัยเพื่อนหรือผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกัน ถ้าหากแก้ไขได้ถูกต้องก็นับว่าโชคดี แต่ถ้าแก้ไขได้ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกทางหรือพลัดหลงเข้าไปในวงจรอุบาทว์ เช่นยาเสพติด มิจฉาชีพ นักเลง การพนัน หรือวงจรแห่งความหายนะต่างๆ ก็นับว่าเป็นความหายนะอย่างมาก


เรามักจะมีการปรับทุกข์กันเสมอว่า เยาวชนสมัยนี้ดื้อรั้น ไม่เชื่อฟัง ไม่ให้เกียรติต่อผู้ใหญ่ พร้อมกับกล่าวหาว่าเป็นความผิดของบรรดาเยาวชนเอง แต่ไม่ได้ย้อนกลับไปดูพฤติกรรมของผู้ใหญ่ว่า เคยเอาใจใส่ดูแล ให้ความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทรต่อเด็กหรือไม่ บางทีก็ใช้แต่พระเดชไม่เคยใช้พระคุณกับเด็กๆ และบางครั้งก็ใช้คติที่ว่าผู้ใหญ่คือผู้ที่ถูกต้องเสมอ ทั้งๆที่การกระทำของผู้ใหญ่บางครั้งมีความผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัด


ในอีกแง่มุมหนึ่ง พฤติกรรม ของเด็กที่แสดงออกบ่งชี้ถึงความมั่นใจในตัวเองว่ามีคามสามารถเพียงพอที่จะ กระทำการใดก็ได้ โดยไม่ต้องอาศัยคำแนะนำหรือคำชี้แนะจากผู้ใหญ่ จึงทำให้มองคล้ายกับว่าเป็นการอวดดี การทะนงตน การเพิ่มความเชื่อมั่นในตนเองเช่นนี้จึงทำให้เด็กมีความกล้าที่จะเผชิญกับ ปัญหาต่างๆ บางครั้งก็พบกับความล้มเหลว ความผิดหวัง แตกอยู่ในภาวะอันตราย จนทำให้ในบางครั้งต้องเสียอนาคตไปเลยก็มี


สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ไม่ทำให้เกิดผลดีใดๆ ภายในสังคมมุสลิม ทำให้สั่นคลอนเสถียรภาพและบั่นทอนความปลอดภัย และสันติสุข การที่จะทำให้เหตุการณ์เหล่านี้ลดน้อยลงไป จำเป็นที่ทุกองค์ประกอบของสังคม ระดับเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ จะต้องปรับทัศนะและความรู้สึกที่ดีเข้าหากัน ลดอีโก้(Ego) ของตัวเองลง พร้อมกับยึดเอาตัวบทฮะดิษข้างตนมาเป็นหลักในการเสริมสร้างสังคมมุสลิม โดยการมีความเมตตาต่อกันให้เกียรติซึ่งกันและกัน รู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของแต่ละบุคคล ละทิ้งการมีทิฐิ ตระหนักถึงศักยภาพแห่งตน ก็จะทำให้สังคมเกิดความผาสุก มีความสามัคคี มีความอบอุ่น

 


โดย อ.มุนีร มูหะมัด

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).