Loading

 

วันอีด และ การละหมาดอีด

วันอีด

ในศาสนาอิสลามมีวันสำคัญอยู่ 2 วันคือ

1. วันอีดิ้ลฟิตรฺ หรือวันอีดเล็ก ตรงกับวันที่ 1 เดือนเซาวาล เป็นเดือนที่ 10 ของเดือนในศาสนาอิสลาม โดยถือทางจันทรคติ
2. วันอีดิ้ลอัฎฮา หรืออีดใหญ่ ตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮฺ เป็นเดือนที่ 12 ของเดือนในศาสนาอิสลาม โดยถือทางจันทรคติ

การละหมาดอีด เป็นซุนนะฮฺมุอักดะฮฺ คือท่านนบี ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กระทำเป็นประจำ ท่านได้สั่งให้ชายและหญิงออกไปร่วมละหมาดโดยพร้อมเพรียงกัน

เตรียมตัวละหมาดอีด

1. อาบน้ำชำระร่างกายให้หมดจด แต่งกายด้วยชุดที่ดีที่สุดที่มีอยู่แล้ว พรมเครื่องหอมบ้าง(เฉพาะชาย) ส่วนสตรีห้ามประพรมน้ำหอม โคโลจน์ ต่างๆ
2. ก่อนออกจากบ้านไปละหมาดอีดิ้ลฟิตรฺให้รับประทานอาหาร หรือของว่างเพียงเล็กน้อย (จากบันทึกของ อะหมัด และบุคอรี) แต่สำหรับอีดิ้ลอัฎฮา ไม่ควรรับประทานอาหารจนกว่าจะละหมาดอีดเสร็จ (จากบันทึกของ อัตตริมีซี อิบนิมาญะฮฺและอะหมัด
3. สถานที่ละหมาดอีดนั้น มีซันนะฮฺให้ละหมาดในสถานที่กว้างๆโล่งๆ เช่นสนามหรือทุ่ง เรียกว่า “มุศอลลา” แต่ถ้าสภาพการณไม่อำนวย เช่นมีฝนตก หรือบริเวณสถานที่คับแคบก็ควรละหมาดในมัสยิด
4. ให้มีการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ผู้หญิงและเด็กๆได้ออกไปร่วมละหมาดอีดและฟังกุฏบ๊ะฮฺโดยพร้อมเพรียงกัน สตรีนั้นถึงแม้นางจะอยู่ในภาวะมีประจำเดือนก็ให้ออกไปเพื่อรับฟังกุฏบ๊ะฮฺในวันอีดทั้งสอง แต่ไม่ต้องทำละหมาดใดๆ

ข้อควรระวัง สตรีที่กำลังอยู่ในช่วงมีประจำเดือนนั้นจะเข้าไปในมัสยิดหรือสถานที่ละหมาดไม่ได้ ควรจัดสถานที่ต่างหากไว้สำหรับพวกนาง

นาง อุมมุอะฏียะฮฺเล่าว่า

" أمرنا رسول الله صلى الله عليه وسلم في الفطر والأضحى أن نخرج العواتق والحيض وذوات الخدور ولكن الحيض يعتزلن الصلاة و يشهدن الخير ودعوة المسلمين قلت يا رسول الله إحدنا لا يكون لها جلباب قال لتلبسها أختها من جلبابها "

ความว่า " ท่านรสูลุลลอฮฺสั่งใช้ให้พวกเราในอีดิลฟิฏริ และอีดิลอัฎฮา คือให้พวกเราอนุญาตให้หญิงสาววัยรุ่น, ผู้หญิงที่มีรอบเดือน และผู้หญิงที่มีผ้าคลุมหน้าออกไป (นมาซอีด) แต่ผู้หญิงที่มีเลือดประจำเดือนให้ปลีกตัวออกจากที่นมาซ เพื่อที่พวกผู้หญิงจะได้รับความดี และคำวิงวอนของบรรดามุสลิม ฉันถามว่า โอ้ท่านรสูลของอัลลอฮฺ ผู้หญิงคนหนึ่งในหมู่พวกเราไม่มีเสื้อคลุม (จะทำอย่างไร) ท่านร่อซูลตอบว่า พี่น้องร่วมศาสนาของนางจะต้องให้นางสวมใส่จากเสื้อคลุมของพวกนาง" (บันทึกโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)

ไม่มีหลักฐานใดๆที่ใช้ให้ทำละหมาดซุนนะฮฺก่อนหรือหลังอีด
ฉะนั้นผู้ที่ไปละหมาดอีกทั้งสองเมื่อไปถึงสถานที่ละหมาดให้เข้าประจำที่ละหมาด โดยไม่ต้องละหมาดซุนนะฮฺนอกจากละหมาดตะฮียะตุลมัสยิด 2 ร็อกอะฮฺ(ถ้าละหมาดที่มัสยิด) เมื่อละหมาดอีดเสร็จแล้วก็ไม่ต้องละหมาดซุนนะฮฺใดๆ เช่นเดียวกัน ให้เตรียมฟังกุฏบ๊ะฮฺ

มีรายงานว่า
“จากรายงานของท่านอิบนิอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมาแจ้งว่า ท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ออกไปในวันอีดครั้งหนึ่งท่านได้ละหมาดเพียง 2 ร็อกอะฮฺ ก่อนหรือหลัง 2 ร็อกอะฮินี้ท่านไม่ได้ละหมาดใดๆเลย” (บันทึกจากอีหม่ามทั้ง 6 )
 

กำหนดเวลาละหมาด

ละหมาดอีดทั้งสอง สำหรับอีดิ้ลฟิตรฺมีซุนนะฮฺให้ละหมาดในช่วงเวลาเช้า เมื่อดวงอาทิตย์สูงขึ้นจากขอบฟ้าในช่วงเวลาประมาณ 7.00 น. ส่วน อีดิ้ลอัฏฮาควรละหมาดเมื่อดวงอาทิตย์สูงขึ้นจากขอบฟ้าในช่วงเวลาประมาณ 6.00 น. (บันทึกของอบูดาวูด ฮากิม จากรายงานของอับดุลลอฮฺ บินบิสรฺ)

สรุปแล้ว เวลาของละหมาดอีดิ้ลฟิตรฺ ควรให้ล่าช้ากว่าเวลาละหมาดอีดิ้ลอัฏฮา (จากบันทึกของอิบนีกุดามะฮฺ) ทั้งนี้เพราะอีดิ้ลฟิตรฺ จะต้องใช้เวลาออกซะกาตฟิตรฺเราะฮฺเสียก่อน

ส่วนอีดิ้ลอัฏฮาให้ละหมาดเร็ว เพราะต้องเชือดกุรบ่านเพื่อเอาเนื้อมารับประทาน

ข้อปฏิบัติในวันอีด

เนื่องจากวันอีดิลฟิตรฺ และอีดิ้ลอัฏฮา เป็นสัญลักษณะอันสำคัญประการหนึ่งของอิสลามให้ผู้นับถืออิสลามปฏิบัติดังนี้

1. การไปละหมาดอีดมีซุนนะฮฺให้ไปทางหนึ่งและกลับอีกทางหนึ่ง(เพื่อจะได้เยียมเยียนพบปะพี่น้อง)
2. ไม่ต้องไปเยี่ยมผู้ตายยังสุสานซิยาเราะฮฺกุบูร เพราะกุบูร ไม่ใช่สถานที่รื่นเริง หากแต่เป็นสถานที่ที่ช่วยให้รำลึกถึงผู้ตาย ฉะนั้นการเยี่ยมกุบูร ควรไปในเวลาอื่นที่ไม่ใช่วันอีดทั้งสองนี้
3. แสดงตัวให้คนทั้งหลายรู้ว่าเรากำลังอยู่ในวาระสำคัญ ควรแต่งตัวและแต่งบ้านช่องให้สะอาดเรียบร้อยตามสมควร
4. เยี่ยมเยียนพี่น้องให้พรดุอาอฺซึ่งกันและกันโดยใช้คำอวยพรนี้

“ ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนาวะมินกุม ”

ความว่า : ขออัลลอฮฺทรงรับการงานที่ดีจากเราและท่าน

5. เยี่ยมเยียน บิดามารดา ญาติสนิท มิตรสหาย เพื่อนบ้าน
6. ถ้าไม่เป็นภาระเกินไป ควรมีการเลี้ยงอาหารกันบ้างตามสมควร
7. สำหรับผู้มีทรัพย์ควรบริจาคทรัพย์ เกื้อกูลเด็กกำพร้า หญิงหม้ายที่ขาดผู้อุปการะ ตลอดจนคนยากจน คนมีหนี้สินโดยไม่มีทางจะปลดเปลื้องหนี้เหล่าให้หลุดไปได้
8. การรื่นเริงของมุสลิมนั้นต้องจัดอยู่กรอบตามความเหมาะสมและศีลธรรมอันดีงามของอิสลาม

วิธีละหมาดอีด

(ลักษณะเหมือนกับละหมาดทั่วไป แตกต่างกันที่จำนวนการตักบีร)

1.ผู้ละหมาดเข้าแถวพร้อมกัน ตั้งเจตนาละหมาดอีดิ้ลฟิตรฺ หรืออีดิ้ลอัฏฮา

2. ตั๊กบีรร่อตุลเอียะรอม( คือ กล่าว อัลลอฮุอักบักร พร้อมยกมือกอดอก ยกมือครั้งเดียวในร็อกอะฮฺแรกเท่านั้น)

3. ตักบีรอีก 7 ครั้ง (อัลลอฮุอักบักร) (จากบันทึกของอบูดาวูด และอัดดารุกุฏนี) โดยไม่ต้องยกมือ เมื่อเสร็จแต่ละตักบีร ควรเว้นระยะสัก ขณะหนึ่ง ไม่ต้องอ่านอะไร

4. อ่านดุอาอฺอิฟติตา (คำวิงวอนเปิดการละหมาด)บทใดบทหนึ่ง

5. อ่านอัลฟาติฮะฮฺแล้วกล่าว อามีน ให้กล่าวเสียงดัง

6. มีซุนนะฮฺให้อ่าน กอฟ วัลกุรอานิลมะญีด หรือสับบิฮิสม่าร็อบบิกัลอะลาฯ ซูเราะฮฺใดซูเราะฮฺหนึ่ง และมีซุนนะฮฺให้อ่านทั้งซูเราะฮฺเสียงดังเช่นกัน หรือถ้าจำซูเราะฮฺดังกล่าวไม่ได้จะอ่านซูเราะฮฺอื่นก็ได้

7. จากนี้ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการละหมาดทั่วๆไปจนกระทั่งถึงการสุญูด

ร็อกอะฮฺที่ 2

8. เมื่อสุญูดครั้งที่ 2 เสร็จแล้ว กล่าว “อัลลอฮุ อักบักร” พร้อมเงยขึ้นจากสุญูด ใช้มือทั้งสองช่วยในการลุกขึ้นทำร็อกอะฮฺที่ 2 เอามือกอดอกดังเดิม โดยไม่ต้องยกมือ

9. ให้กล่าวตักบีร อีก 5 ครั้ง เหมือนร็อกอะฮฺแรกระหว่างตักบีร ควรนิ่งสักขณะหนึ่ง

10. อ่านอัลฟาติฮะฮฺ แล้วกล่าวอามีนเสียงดัง

11. อ่านสูเราะฮฺอัลเกาะมัรฺ หรือจะอ่านสูเราะฮฺอัลฆอชิยะฮฺ หรือจะอ่านสูเราะฮฺอื่น หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอัลกุรฺอานก็ได้

*ข้อ ควรระวังในการอ่านซูเราะฮฺ ถ้าร็อกอัตแรกด้วยซูเราะฮฺ อัลอะอฺลา และในร็อกอัตที่สองด้วยซูเราะฮฺอัลฆอชิยะฮฺ หรือ จะอ่านซูเราะฮฺ กอฟ ในร็อกอัตแรกและซูเราะฮฺ อัลเกาะมัร ในร็อกอัตที่สอง ซึ่งทั้งสองซูเราะฮฺนี้มีหลักฐานอ้างจากหะดีษของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม

12. จากนี้ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการละหมาดทั่วๆไปจนกระทั่งถึงการให้สล่าม

13. เมื่อให้สล่ามแล้ว สำหรับละหมาดอีดิ้ลฟิตรฺก็หมดเขตการกล่าวตักบีร ส่วนอีดิ้ลอัฏฮานั้น จะต้องกล่าวตักบีรจนกว่าค่อเตบจะขึ้นมิมบัร


ลิ้งค์ที่มา: http://www.annisaa.com/forum/index.php?topic=772.0A
 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).