Loading

 

ความประเสริฐและฐานะอันสูงส่งของอะฮฺลุลบัยตฺตามทัศนะของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ

บทที่ 1 ใครคือ “อะฮฺลุล บัยตฺ”?

ทัศนะที่ถูกต้องต่อความหมายของ “อะฮฺลุลบัยตฺ” (วงศ์วานหรือครอบครัว) ของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นคือ บุคคลที่เศาะดะเกาะฮฺ (ซะกาต)เป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเขา บรรดาภรรยา และลูกหลานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนมุสลิมชายและหญิงที่มาจากสายสกุลของอับดุลมุฏเฏาะลิบ อันได้แก่ ตระกูลฮาชิม บุตรของ อับดุมะนาฟ
ท่านอิบนุ หัซมฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ญัมฮะเราะฮฺ อันสาบ อัล-อะหรับ” (ในหน้า 14) มีความว่า : “ชัยบะฮฺ เป็นบุตรของฮาชิม ท่านก็คือ อับดุลมุฏเฏาะลิบ ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญ และมีชื่อเสียงที่น่าเคารพนับถือ สำหรับฮาชิมนั้น ไม่มีผู้สืบสกุลเลยนอกจาก อับดุลมุฏเฏาะลิบเท่านั้น”
สามารถที่ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทายาทผู้สืบสกุลท่านอับดุลมุฏเฏาะลิบได้ในหนังสือ “ญัมฮะเราะฮฺ อันสาบ อัล-อะหรับ” ของท่านอิบนุ หัซมฺ (หน้าที่ 14-15) และในหนังสือ “อัต-ตับยีน ฟี อันสาบ อัล- กุเราะชียีน” ของท่าน อิบนุ กุดามะฮฺ (หน้า 76) และในหนังสือ “มินฮาจญ์ อัส-สุนนะฮฺ” ของท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ (เล่มที่ 7 หน้าที่ 304-305) และในหนังสือ “ฟัตหุลบารี” ของท่าน อิบนุ หะญัรฺ (เล่มที่ 7 หน้าที่ 78-79)
และสิ่งที่บ่งชี้ถึงการที่วงศ์ตระกูลของบรรดาญาติพี่น้องของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เข้ามาอยู่ในวงศ์วานของท่านด้วยนั่นคือ หะดีษที่ท่านอิมามมุสลิมได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน (หมายเลขหะดีษที่ 1072) จากอับดุลมุฏเฏาะลิบ บุตร รอบีอะฮฺ บุตร อัล-หาริษ บุตรอับดุลมุฏเฏาะลิบ ระบุว่า
ตัวเขาและอัล-ฟัฎลฺ บุตรของอับบาส ได้ไปหาท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ขอร้องให้ท่านแต่งตั้งเขาทั้งสองให้ทำหน้าที่ในการเป็นผู้เก็บเศาะดะเกาะฮฺ (ซะกาต) เพื่อจะได้มีส่วนได้รับจากทรัพย์ที่เก็บมาจากเศาะดะเกาะฮฺ(ซะกาต)นั้น ทั้งนี้เพื่อนำไปเป็นทุนในการแต่งงานของทั้งสอง ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้กล่าวกับคนทั้งสองว่า :


«إنَّ الصَّدقة لا تنبغي لآل محمد؛ إنَّما هي أوساخُ الناس» [مسلم 1072]


“เศาะดะเกาะฮฺนั้นไม่คู่ควรกับวงศ์วานของมุหัมมัดเลยแม้แต่น้อย อันที่จริงแล้วเศาะดะเกาะฮฺ(ซะกาต) นั้นมันเป็นเหงื่อไคลของผู้คนทั้งหลาย”
แล้วท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้จัดให้ทั้งสองคนทำนิกาหฺ(แต่งงาน) และกำหนดเงินเศาะดาก(สินสอด) แก่ทั้งสองจากส่วนที่ได้มาจากหนึ่งในห้า(อัล-คุมุซฺ) ที่กำหนดให้กับท่านเราะสูลและวงศ์วานของท่าน ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ยึดมาได้จากเชลยศึกและที่อื่นๆ
นักวิชาการบางท่าน เช่น ท่านอิมามอัช-ชาฟีอีย์ ท่านอิมามอะหฺมัด ได้รวมวงศ์ตระกูลของอัล-มุฏเฏาะลิบ บุตรของอับดุลมะนาฟ ไว้ในส่วนเดียวกันกับตระกูลของฮาชิมในการห้ามมิให้รับเศาะดะเกาะฮฺ อันเนื่องจากพวกเขามีส่วนร่วมอยู่ด้วย จึงต้องให้พวกเขาได้รับจากจำนวนหนึ่งในห้าส่วน (อัล-คุมุซฺ) ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีหะดีษ ซึ่งท่านอิมามอัล-บุคอรียฺ ได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน (เลขที่ 3140) จาก ญุบัยรฺ บุตร มุฏอิม ซึ่งในหะดีษนั้นมีความว่า : “การที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แบ่งบางส่วนให้แก่ตระกูลของฮาชิม และส่วนของตระกูลอัล-มุฏเฏาะลิบ โดยมิได้ให้แก่พี่น้องของพวกเขาที่มาจากตระกูลของอับดุชัมสฺ และตระกูลของเนาฟัลนั้น เป็นเพราะตระกูลของฮาชิม และตระกูลอัล-มุฏเฏาะลิบนั้นเป็นตระกูลเดียวกัน”
ส่วนการที่บรรดาภรรยาของท่านนบี เราะฎิยัลลอฮุอันฮุน เข้าไปรวมอยู่ในวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น เพราะมีดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ยืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ชัดเจนว่า :

﴿وَقَرۡنَ فِي بُيُوتِكُنَّ وَلَا تَبَرَّجۡنَ تَبَرُّجَ ٱلۡجَٰهِلِيَّةِ ٱلۡأُولَىٰۖ وَأَقِمۡنَ ٱلصَّلَوٰةَ وَءَاتِينَ ٱلزَّكَوٰةَ وَأَطِعۡنَ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥٓۚ إِنَّمَا يُرِيدُ ٱللَّهُ لِيُذۡهِبَ عَنكُمُ ٱلرِّجۡسَ أَهۡلَ ٱلۡبَيۡتِ وَيُطَهِّرَكُمۡ تَطۡهِيرٗا ٣٣ وَٱذۡكُرۡنَ مَا يُتۡلَىٰ فِي بُيُوتِكُنَّ مِنۡ ءَايَٰتِ ٱللَّهِ وَٱلۡحِكۡمَةِۚ إِنَّ ٱللَّهَ كَانَ لَطِيفًا خَبِيرًا ٣٤﴾ [الأحزاب: ٣٣، ٣٤]

“และพวกเธอจงอยู่ประจำในบ้านของพวกเธอ และอย่าได้ออกไปเพื่ออวดความงามของพวกเธออย่างกับการอวดความงามของยุคที่งมงาย(ญาฮิลียะฮฺ)สมัยแรก และจงทำการละหมาด และชำระซะกาต และจงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ แท้จริง อัลลอฮฺทรงต้องการขจัดความสกปรกโสมมให้พ้นไปจากพวกเจ้า โอ้บรรดาวงศ์วานของนบี และทรงประสงค์ให้พวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง และพวกเธอจงกล่าวรำลึกถึงสิ่งที่ถูกนำมาอ่านภายในบ้านของพวกเธอ จากบรรดาอายาตของอัลลอฮฺ (อัลกุรอาน) และหิกมะฮฺ (สุนนะฮฺ) แท้จริง อัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้อย่างละเอียด ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง” (อัล-อะหฺซาบ 33-34)

แท้จริงแล้ว อายะฮฺนี้ระบุไว้ชัดเจนว่าบรรดาภรรยาของท่านเราะสูลนั้น รวมอยู่ในวงศ์วานของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยอย่างแน่นอน เพราะความหมายของอายะฮฺก่อนและหลัง เป็นดำรัสเกี่ยวกับพวกนางโดยตรง อายะฮฺดังกล่าวนั้นไม่ขัดแย้งกับหะดีษที่บันทึกอยู่ในเศาะฮีหฺมุสลิม (หะดีษเลขที่ 2424) รายงานจาก ท่านหญิง อาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ที่กล่าวว่า : “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ออกมานอกบ้านในตอนเช้า และท่านได้ห่มผ้าคลุมตัวสีดำมีลวดลายเป็นรูปของขบวนอูฐ ซึ่งทอมาจากขนสัตว์ ขณะนั้นอัล-หะสัน บุตรท่านอะลียฺได้มาหาท่านนบี ท่านก็ให้อัล-หะสันเข้ามาอยู่กับท่าน ต่อมาท่านอัล-หุสัยนฺได้มาหาท่านนบี ท่านก็ให้เข้ามาอยู่กับท่าน หลังจากนั้นท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ก็ได้มาหาท่าน ท่านก็เรียกให้นางเข้ามาอยู่กับท่าน และต่อมาท่านอะลียฺก็ตามมา ท่านได้เรียกให้อะลียฺเข้ามาอยู่กับท่านในผ้าห่มผืนนั้น” แล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้อ่านอายะฮฺที่ว่า :

﴿... إِنَّمَا يُرِيدُ ٱللَّهُ لِيُذۡهِبَ عَنكُمُ ٱلرِّجۡسَ أَهۡلَ ٱلۡبَيۡتِ وَيُطَهِّرَكُمۡ تَطۡهِيرٗا ٣٣﴾ [الأحزاب: ٣٣]

“แท้จริง อัลลอฮฺทรงต้องการขจัดความสกปรกโสมมให้พ้นไปจากพวกเจ้าโอ้บรรดาวงศ์วานของนบี และทรงประสงค์ให้พวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” (อัล-อะหฺซาบ 33)

ฉะนั้น อายะฮฺนี้จึงบ่งบอกถึงบรรดาภรรยาของท่านเราะสูลว่า รวมอยู่ในวงศ์วานของท่านด้วยเช่นกัน เนื่องจากดำรัสที่ปรากฏในอายะฮฺเหล่านั้น เกี่ยวข้องกับบรรดาภรรยาของท่านเราะสูลทั้งสิ้น และการที่ ท่านอะลียฺ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ท่านอัล-หะสัน และท่านอัล-หุสัยนฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เข้ารวมอยู่ในอายะฮฺนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งสุนนะฮฺได้บ่งบอกไว้ตามที่ปรากฏอยู่ในหะดีษ และการที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เจาะจงเฉพาะสี่ท่านดังกล่าวดังที่ปรากฏในหะดีษนี้ มิได้บ่งบอกว่าท่านจำกัดวงศ์วานของท่านไว้เพียงแค่นั้น โดยมิได้รวมถึงเครือญาติใกล้ชิดคนอื่นๆ ด้วย ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเพียงการบ่งบอกให้รู้ว่า บรรดาท่านเหล่านั้นเป็นเครือญาติที่ใกล้ชิดของท่านที่พิเศษกว่า
เปรียบเทียบความคล้ายคลึงของความหมายในอายะฮฺนี้ที่ระบุว่า บรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น เข้ารวมอยู่ในวงศ์วานของท่านนบีด้วย และความหมายหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ที่ได้นำมาข้างต้นระบุว่า ท่านอะลียฺ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ท่านอัล-หะสัน ท่านอัล-หุสัยนฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ก็เข้ารวมอยู่ในวงศ์วานของท่านนบีด้วย เสมือนกับความคล้ายคลึงที่ปรากฏในพระดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า :

﴿...لَّمَسۡجِدٌ أُسِّسَ عَلَى ٱلتَّقۡوَىٰ مِنۡ أَوَّلِ يَوۡمٍ ...﴾ [التوبة: ١٠٨]

“... แน่นอน มัสญิดที่ถูกสถาปนาขึ้นมาจากการตักวา (การยำเกรงต่ออัลลอฮฺ) ตั้งแต่วันแรกนั้น...” (อัต-เตาบะฮฺ : 108)

ตามความหมายของอายะฮฺนี้ มัสญิดที่ว่าหมายถึงมัสญิดกุบาอ์ แต่ตามความหมายที่ปรากฏในหะดีษซึ่งท่านอิมามมุสลิม ได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน (หะดีษเลขที่ 1398) กลับบ่งบอกว่าความหมายของมัสญิดที่ถูกสถาปนาขึ้นมาจากการกลัวเกรง(ตักวา)นั้น คือมัสญิดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม (แน่นอนว่าทั้งสองมัสญิดนี้ล้วนเป็นมัสญิดที่ถูกสถาปนาขึ้นด้วยความตักวาทั้งสิ้น – บรรณาธิการ)
ท่านเชค อิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ เป็นผู้ระบุตัวอย่างการเปรียบเทียบความคล้ายคลึงนี้ไว้ในเอกสารที่มีชื่อว่า “ฟัฎลุ อะฮฺลิลบัยติ วะฮุกูกุฮุม” (ความประเสริฐของวงศ์วานของท่านเราะสูล และสิทธิของบรรดาท่านเหล่านั้น) (ในหน้าที่ 20-21)
และบรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็เข้าอยู่ภายใต้ถ้อยคำที่ว่า “อัล-อาล” (วงศ์วาน) นี้ด้วย ตามคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า “แท้จริง อัซเศาะดะเกาะฮฺ(ซะกาต) นั้น ไม่เป็นที่อนุมัติแก่มุหัมมัด และวงศ์วานของมุหัมมัด”
สิ่งที่ชี้ชัดในประเด็นดังกล่าวก็คือ บรรดาภรรยาของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น จะได้รับเพียงหนึ่งในห้าส่วน(อัล-คุมุซฺ) เท่านั้น (พวกนางไม่ได้รับจากส่วนที่เป็นซะกาต) ซึ่ง “เป็นส่วนที่ถูกกำหนดไว้จากทรัพย์เชลย” และเช่นเดียวกันนั้น ยังมีหะดีษที่ท่านอิบนุ อบี ชัยบะฮฺ ได้บันทึกไว้ใน “มุศ็อนนัฟ” ของท่าน (เล่มที่ 3 หน้าที่ 214) ด้วยสายรายงานที่ถูกต้องจากท่านอิบนุ อบี มุลัยกะฮฺ ว่า : “ท่าน คอลิด บุตรท่านสะอีด ได้ส่งวัวตัวหนึ่งซึ่งเป็นวัวเศาะดะเกาะฮฺ (ซะกาต) ไปให้แก่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ แล้วท่านหญิงอาอิชะฮฺก็ได้ส่งวัวตัวนั้นกลับคืนมาพร้อมกับกล่าวว่า “แท้จริง พวกเราเป็นวงศ์วาน(อาล) ของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งเศาะดะเกาะฮฺนั้น ไม่เป็นที่อนุมัติแก่พวกเรา”
และอีกส่วนหนึ่งที่ท่าน อิบนุลก็อยยิม ได้นำมาระบุไว้ในหนังสือของท่านชื่อ “ญะลาอุลอัฟฮาม” (หน้าที่ 131-133) เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ที่กล่าวว่า “บรรดาภรรยาของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น ร่วมอยู่ในวงศ์วานของท่านด้วย” นั้น ดังคำพูดของท่านอิบนุลก็อยยิม ที่ว่า
“พวกเขาเหล่านั้นมีความเห็นว่า ที่จริงแล้วบรรดาภรรยาก็รวมอยู่ในคำว่าวงศ์วานด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็เช่นเดียวกัน เป็นการเปรียบเทียบเสมือนบุคคลในสายสกุลเดียวกัน เนื่องจากบรรดาท่านเหล่านั้นมีความผูกพันธ์กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในฐานะเป็นภรรยา มิใช่เป็นผู้ที่ถูกกุขึ้นมาลอยๆ โดยมิได้มีสิ่งใดผูกพันกัน และบรรดานางเหล่านั้นก็เป็นที่ต้องห้ามในการแต่งงานกับชายอื่นทั้งมวล ทั้งในขณะที่ท่านนบียังมีชีวิตอยู่ และหลังจากที่ท่านนบีได้เสียชีวิตไปแล้วก็ตาม เพราะบรรดานางเหล่านั้นล้วนเป็นภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งในโลกดุนยาและทั้งโลกอาคิเราะฮฺด้วย ดังนั้น ด้วยสาเหตุที่ท่านเหล่านั้นมีความผูกพันอยู่กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั่นเอง จึงทำให้อยู่ในฐานะเดียวกันเฉกเช่นว่าเป็นเชื้อสายเดียวกัน
“นอกจากนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังได้กำหนดให้มีการขอพรสดุดีให้แก่บรรดาภรรยาของท่านด้วย ดังนั้น จึงมีทัศนะที่ถูกต้อง - เป็นความเห็นของท่านอิมามอะหฺมัด เราะหิมะฮุลลอฮฺ – ว่า เศาะดะเกาะฮฺไม่เป็นที่อนุมัติ(ต้องห้าม)แก่บรรดาท่านเหล่านั้น เนื่องจากเศาะดะเกาะฮฺนั้นเป็นเหงื่อไคลของผู้คนทั้งหลาย และแท้จริง อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงคุ้มครองรักษาเกียรติอันสูงส่งจากสิ่งดังกล่าว
“มันช่างเป็นเรื่องน่าแปลกที่บรรดาภรรยาของท่านเราะสูลเข้าไปผนวกอยู่ในคำพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่กล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงบันดาลให้สิ่งยังชีพของวงศ์วานมุหัมมัดเป็นอาหารด้วยเถิด” และในคำพูดของท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮาที่ว่า : “วงศ์วานของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยได้กินขนมปังที่ทำมากจากแป้งข้าวสาลีจนอิ่มเลย” และในคำกล่าวของผู้ที่ทำการละหมาดที่ว่า : “โอ้ อัลลอฮฺ ของพระองค์ได้ทรงประทานพรแก่ท่านนบีมุหัมมัด และวงศ์วานของมุหัมมัดด้วยเถิด” แต่พอมาในเรื่องของเศาะดะเกาะฮฺกลับบอกว่า “บรรดาภรรยาของท่านนบีไม่ได้รวมอยู่ในคำพูดของท่านนบี” ตามที่ท่านนบีได้กล่าวไว้มีความว่า “เศาะดะเกาะฮฺ (ซะกาต) ไม่เป็นที่อนุมัติแก่มุหัมมัด และวงศ์วานของมุหัมมัด” ทั้งๆที่เศาะดะเกาะฮฺนั้นเป็นเหงื่อไคลของผู้คน ซึ่งบรรดาภรรยาของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความคุ้มครองและให้ห่างไกลจากสิ่งนั้นมิใช่หรือ ?
“ถ้ามีผู้กล่าวว่า หากเศาะดะเกาะฮฺเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) แก่บรรดาภรรยาของท่านเราะสูลแล้ว แน่นอน มันก็จะต้องถูกห้ามแก่ผู้ที่เป็น “มะวาลีย์” ของคนเหล่านั้นด้วย (ทาสที่ได้รับการปลดปล่อยแล้วใช้ชีวิตอยู่กับผู้ที่มีพระคุณที่ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการเป็นทาส) เหมือนกับที่ตระกูลฮาชิมถูกห้ามมิให้รับเศาะดะเกาฮฺ และ “มะวาลีย์” ของพวกเขาก็ถูกห้ามมิให้ได้รับด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้มีปรากฏอยู่ในหะดีษเศาะฮีหฺว่า : “มีผู้นำเนื้อ(วัว) มาเศาะดะเกาะฮฺให้แก่บะรีเราะฮฺ แล้วนางก็รับประทานเนื้อวัวเศาะดะเกาะฮฺนั้น และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็มิได้ห้าม ทั้งๆ ที่นาง(บะรีเราะฮฺ) เป็นบุคคลที่ถูกปลดปล่อย และอยู่ภายใต้การดูแลของท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา มีผู้กล่าวว่า นี่แหละคือข้อสงสัยของผู้ที่บอกว่า เศาะดะเกาะฮฺนั้นเป็นสิ่งที่อนุมัติแก่บรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คำตอบสำหรับข้อสงสัยนี้คือ ที่เศาะดะเกาะฮฺ(ทาน)นั้น เป็นที่ต้องห้าม(หะรอม) แก่บรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น มิใช่มาจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานเดิม แท้จริงแล้ว การที่เศาะดะเกาะฮฺเป็นที่ต้องห้าม(หะรอม)สำหรับพวกนางนั้น เพราะเป็นไปตามคำสั่งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยก่อนที่พวกนางจะมีความผูกพันกับท่านนบีนั้น เศาะดะเกาะฮฺเคยเป็นที่อนุมัติ (หะลาล) แก่พวกนางมาก่อน
“ดังนั้น ภรรยาของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงเป็นเพียงส่วนย่อยที่เข้ามาอยู่ภายใต้การห้ามมิให้รับ ซึ่งมิใช่เป็นที่ถูกห้ามรับมาตั้งแต่เดิมหรือที่เรียกว่า “อัล-อัศลฺ” และการห้ามรับของที่มีต่อ “เมาลา” ทาสผู้ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ก็เป็นเพียงส่วนย่อย “ฟัรอุน” ที่เป็นไปตามผู้เป็นนาย มิใช่ถูกห้ามรับมาตั้งแต่ดั้งเดิม ในขณะเดียวกันการห้ามรับเศาะดะเกาะฮฺของตระกูลบนีฮาชิมนั้น นับเป็นสิ่งดั้งเดิม (อัล-อัศลฺ) และ “มะวาลีย์” ของพวกเขา(บ่าวที่ได้รับการปลดปล่อย) ก็ต้องเป็นไปตามเช่นนั้นด้วย แต่การห้ามมิให้รับเศาะดะเกาะฮฺสำหรับบรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นเป็นไปตามคำสั่งของท่าน ฉะนั้น จึงไม่มีน้ำหนักใดๆ ที่ทำให้ “มะวาลีย์” ต้องเป็นไปตามนั้นด้วย เพราะ “มะวาลีย์” เป็นส่วนย่อยที่แตกแขนงออกมาจากส่วนย่อยอีกทีหนึ่ง ฉะนั้น จะนำไปเปรียบเทียบกันไม่ได้กับกรณีแรก
“พวกเขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า : แท้จริง อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงกล่าวไว้ว่า

﴿ يَٰنِسَآءَ ٱلنَّبِيِّ مَن يَأۡتِ مِنكُنَّ بِفَٰحِشَةٖ مُّبَيِّنَةٖ يُضَٰعَفۡ لَهَا ٱلۡعَذَابُ ضِعۡفَيۡنِۚ ... ﴾ [الأحزاب: ٣٠]

“โอ้บรรดาภรรยาของผู้เป็นนบี ผู้ใดในหมู่พวกเธอกระทำสิ่งลามกอย่างชัดแจ้ง เธอผู้นั้นจะต้องถูกเพิ่มโทษเป็นเท่าทวีคูณถึงสองเท่า...” (อัล-อะหฺซาบ 30)
และยังได้นำอายะฮฺเหล่านั้นมากล่าวต่อเนื่องจงถึงดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลาที่ว่า

﴿ وَٱذۡكُرۡنَ مَا يُتۡلَىٰ فِي بُيُوتِكُنَّ مِنۡ ءَايَٰتِ ٱللَّهِ وَٱلۡحِكۡمَةِۚ ﴾ [الأحزاب: ٣٤]

“และพวกเธอจงกล่าวรำลึกถึงสิ่งที่ถูกนำมาอ่านภายในบ้านของพวกเธอ จากบรรดาอายาตของอัลลอฮฺ (อัลกุรอาน) และหิกมะฮฺ (สุนนะฮฺ” (อัล-อะหฺซาบ : 34)
และกล่าวว่า “ดังนั้น บรรดาเธอเหล่านั้นจึงเข้าร่วมอยู่ในวงศ์วานนั้นด้วย เนื่องจากดำรัสทั้งหมดนี้เป็นสำนวนที่ระบุถึงพวกเธอทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จึงไม่อนุญาตที่จะกันบรรดาเธอเหล่านั้นออกไปจากวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แม้แต่เพียงเล็กน้อยก็ตาม วัลลอฮุอะอฺลัม" (จบการอ้าง)
และในจำนวนสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าห้ามมิให้เศาะดะเกาะฮฺแก่ “มะวาลีย์” จากบนี ฮาชิมนั้นมีปรากฏในหะดีษซึ่งท่านอบูดาวูดได้บันทึกไว้ในสุนันของท่าน (หะดีษเลขที่ 1650) ท่านอัต-ติรมิซียฺ (เลขที่ 657) และท่านอัน-นะสาอียฺ (หะดีษเลขที่ 2611) ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง (เศาะฮีหฺ) และข้อความหะดีษอยู่ในบันทึกท่านอบู ดาวูด จากท่าน อบู รอฟิอฺ มีความว่า : “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แต่งตั้งชายคนหนึ่งจากตระกูลมัคซูมไปทำหน้าที่เก็บเศาะดะเกาะฮฺ (ซะกาต) แล้วชายผู้นั้น ได้พูดกับอบู รอฟิอฺว่า “จงไปเป็นเพื่อนฉัน แล้วท่านจะได้รับส่วนจากเศาะดะเกาะฮฺนั้นด้วย” อบู รอฟิอฺกล่าวว่า “ฉันจะยังไม่ไปกับท่าน จนกว่าฉันจะไปถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เสียก่อน” แล้วอบู รอฟิอฺก็มาหาท่านเราะสูลและได้ถามเรื่องนั้นกับท่าน ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “ทาส(เมาลา)ของคนกลุ่มนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขา แท้จริง ตัวเรานั้น เศาะดะเกาะฮฺ (ซะกาต) ไม่เป็นที่อนุมัติ(หะลาล)สำหรับเรา”


บทที่ 2
สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับหลักการเชื่อมั่น (อะกีดะฮฺ)
ของ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ที่มีต่อ “อะฮฺลุล บัยตฺ”

หลักเชื่อมั่นของอะฮฺลุสสุนนะฮฺนั้น จะอยู่กึ่งกลางระหว่างการเชื่อมั่นที่เลยเถิดจนออกนอกขอบเขต กับการเชื่อมั่นที่ขาดตกบกพร่องและไม่ถูกต้อง และเป็นทางสายกลางระหว่างการเชื่อที่สุดโต่งหรือการเหินห่างหมางเมิน ในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการยึดมั่น และการศรัทธาทั้งหมด
ซึ่งในจำนวนหลักการตามแนวทางแห่งสายกลางเหล่านั้นก็คือ หลักเชื่อมั่นของ “อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ” ที่มีต่อวงศ์วาน และครอบครัวของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
แท้จริง กลุ่ม “อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ” รับเป็นมิตร(วะลาอ์)กับผู้ที่เป็นมุสลิมทั้งชายและหญิงทุกคนที่มีเชื้อสายจากอัลดุลมุฏเฏาะลิบ รวมทั้งบรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งหมดด้วย พวกเขารักทุกคนที่มาจากวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และกล่าวคำสรรเสริญสดุดีแก่ท่าน อีกทั้งยังได้เทิดตำแหน่งของบรรดาท่านเหล่านั้นให้อยู่ในฐานะที่คู่ควรและเหมาะสมด้วยความเป็นธรรม มิใช่กระทำด้วยอารมณ์ใฝ่ต่ำ และมิใช่กระทำแบบการเดาสุ่ม ออกนอกลู่นอกทาง
พวกเขารู้จักดีถึงความประเสริฐของบุคคลที่อัลลอฮฺได้ทรงรวมระหว่างเกียรติยศของการอีมานศรัทธา และเกียรติยศทางเชื้อสายไว้ให้อยู่ในตัวของผู้นั้น ดังนั้น ผู้ใดที่มาจากวงศ์วานของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเป็นเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูล “อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ” ก็จะมอบความรักให้แก่บุคคลนั้น อันเนื่องจากความศรัทธา และความยำเกรง(ตักวา)ของเขา และเนื่องจากเขาเป็นมิตรสหาย เป็นเครือญาติที่ใกล้ชิดระหว่างเขากับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
สำหรับผู้ที่มาจากวงศ์วานที่มิได้เป็นเศาะหาบะฮฺ ซึ่งเป็นบุคคลที่เกิดไม่ทันและไม่ได้พบท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่มีความศรัทธามั่นต่ออัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเราะสูลของพระองค์ จะไม่เรียกว่า “เศาะหาบะฮฺ” แต่จะเรียกว่า “ตาบิอีน” อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ จะมอบความรัก ความเคารพแก่บุคคลเหล่านั้น เนื่องจากการศรัทธาและตักวา (เกรงกลัวอัลลอฮฺ) และความเป็นญาติใกล้ชิดระหว่างเขากับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และพวกเขาเห็นว่าเกียรติยศที่เกิดจากเชื้อสายนั้นขึ้นอยู่กับเกียรติยศของการศรัทธา และผู้ใดที่อัลลอฮฺได้ทรงรวมสิ่งสองประการนั้น(หมายถึง การศรัทธา และการเป็นญาติวงศ์วานของท่านเราะสูล)ไว้ให้แก่เขา แน่นอน พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงรวบรวมความดีทั้งสองอย่างไว้ให้แก่เขาแล้ว
และถ้าผู้ใดมิได้รับเตาฟีก(การช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ)ที่นำไปสู่การศรัทธาอีมานแล้ว แน่นอน เกียรติยศ และเชื้อสายวงศ์ตระกูล ก็จะไม่ยังประโยชน์อันใดแก่เขาผู้นั้นเลย อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวยืนยันไว้ว่า :

﴿إِنَّ أَكۡرَمَكُمۡ عِندَ ٱللَّهِ أَتۡقَىٰكُمۡۚ ﴾ [الحجرات: ١٣]

“แท้จริง ผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺ คือผู้ที่ตักวา(กลัวเกรงอัลลอฮฺ) ยิ่งในหมู่พวกเจ้า” (อัล-หุญุรอต : 13)
ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ในหะดีษตอนหนึ่ง ซึ่งมีข้อความยาวที่ท่านอิมามมุสลิมได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน (เลขที่ 2699) จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลลอฮุอันฮุ ว่า

«ومَن بطَّأ به عملُه لَم يُسرع به نسبُه» [مسلم برقم 2699]

“ผู้ใดที่การกระทำของเขาทำให้เขาล่าช้าไป เชื้อสายของเขาก็จะไม่ทำให้เขาเร็วขึ้นได้เลย”

ท่านอัล-หาฟิซ อิบนุ เราะญับ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวย้ำไว้ในการอธิบายหะดีษนี้ ในตำราของท่านที่มีชื่อว่า “ญามิอฺ อัล-อุลูม วัลหิกัม” (หน้าที่ 308) มีความหมายว่า : การกระทำเท่านั้น เป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้เป็นบ่าวบรรลุสู่ระดับขั้นต่างๆ แห่งโลกอาคิเราะฮฺได้ ดังที่อัลลอฮฺ ได้ทรงกล่าวไว้ว่า :

﴿ وَلِكُلّٖ دَرَجَٰتٞ مِّمَّا عَمِلُواْۚ ﴾ [الانعام: ١٣٢]

“และสำหรับแต่ละคนนั้น มีหลายระดับขั้นต่างกัน เนื่องจากสิ่งที่เขาได้กระทำไว้...” (อัล-อันอาม : 132)

ดังนั้น ผู้ใดที่การกระทำของเขาได้ถ่วงเวลาให้เขาล่าช้าในการเข้าสู่ฐานะตำแหน่งอันสูงส่ง ณ อัลลอฮฺแล้ว เชื้อสายของเขาจะไม่ทำให้เขาไปเร็วขึ้นจนเข้าสู่ระดับชั้นต่างๆ ได้เลย เพราะอัลลอฮฺทรงตอบแทนรางวัลให้เหมาะสมคู่ควรกับการงานต่างๆ มิใช่ปรับให้เหมาะสมคู่ควรกับเชื้อสาย วงศ์ตระกูล
ดังที่อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวไว้ว่า :

﴿فَإِذَا نُفِخَ فِي ٱلصُّورِ فَلَآ أَنسَابَ بَيۡنَهُمۡ يَوۡمَئِذٖ وَلَا يَتَسَآءَلُونَ ١٠١﴾ [المؤمنون: ١٠١]

“... ดังนั้น เมื่อใดที่สังข์ถูกเป่าขึ้น เมื่อนั้นจะไม่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติในระหว่างพวกเขาในวันนั้น และพวกเขาจะไม่ถามไถ่ซึ่งกันและกัน...” (อัล-มุอ์มินูน : 101)

อัลลอฮฺทรงใช้ให้เร่งรีบไปสู่การอภัยโทษ และสู่ความกรุณาของพระองค์ด้วยการกระทำงานต่างๆ ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า :

﴿۞وَسَارِعُوٓاْ إِلَىٰ مَغۡفِرَةٖ مِّن رَّبِّكُمۡ وَجَنَّةٍ عَرۡضُهَا ٱلسَّمَٰوَٰتُ وَٱلۡأَرۡضُ أُعِدَّتۡ لِلۡمُتَّقِينَ ١٣٣ ٱلَّذِينَ يُنفِقُونَ فِي ٱلسَّرَّآءِ وَٱلضَّرَّآءِ وَٱلۡكَٰظِمِينَ ٱلۡغَيۡظَ ...﴾ [آل عمران: ١٣٣، ١٣٤]

“พวกเจ้าทั้งหลายจงรีบเร่งไปสู่การอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้าของพวกเจ้าเถิด และจงรีบไปสู่สวรรค์ ซึ่งความกว้างของมันนั้น คือ (เท่ากับ) บรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน ซึ่งได้ถูกตระเตรียมไว้แล้วแก่บรรดาผู้ตักวา(กลัวเกรงอัลลอฮฺ) คือ บรรดาผู้ที่บริจาคทั้งในยามสุขสบายและในยามทุกข์ยากและบรรดาผู้ที่อดกลั้นต่อความโกรธ” (อาล อิมรอน : 133-134)

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

﴿إِنَّ ٱلَّذِينَ هُم مِّنۡ خَشۡيَةِ رَبِّهِم مُّشۡفِقُونَ ٥٧ وَٱلَّذِينَ هُم بَِٔانيَٰتِ رَبِّهِمۡ يُؤۡمِنُونَ ٥٨ وَٱلَّذِينَ هُم بِرَبِّهِمۡ لَا يُشۡرِكُونَ ٥٩ وَٱلَّذِينَ يُؤۡتُونَ مَآ ءَاتَواْ وَّقُلُوبُهُمۡ وَجِلَةٌ أَنَّهُمۡ إِلَىٰ رَبِّهِمۡ رَٰجِعُونَ ٦٠ أُوْلَٰٓئِكَ يُسَٰرِعُونَ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِ وَهُمۡ لَهَا سَٰبِقُونَ ٦١ ﴾ [المؤمنون: ٥٧، ٦١]

“แท้จริง บรรดาผู้มีจิตใจยำเกรง ซึ่งเกิดจากความกลัวเกรงพระเจ้าของพวกเขา และบรรดาผู้ที่พวกเขาศรัทธาต่อบรรดาโองการต่างๆ (อายะฮฺอัลกุรอาน)ของพระเจ้าของพวกเขา และบรรดาผู้ที่ไม่ตั้งภาคีต่อพระเจ้าของพวกเขา และบรรดาผู้ที่บริจาคสิ่งที่เขาได้รับมาโดยหัวใจของพวกเขามีความหวั่นกลัวว่าพวกเขาจะต้องกลับไปพบพระเจ้าของพวกเขาอย่างแน่นอน พวกเหล่านั้นแหละ คือผู้ที่รีบเร่งประกอบคุณงามความดีต่างๆ และพวกเขาเหล่านั้น เป็นผู้ที่รุดหน้าสู่ความดีนั้นก่อนใครอื่น” (อัล-มุอ์มินูน 57-61)
ต่อมาท่าน อัล-หาฟิซ อิบนุ เราะญับ ก็ได้ระบุตัวบทต่างๆ ที่ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการกระทำงานต่างๆ ที่ดีงาม และหลักฐานที่อธิบายว่า แท้จริงแล้วความรักและความเป็นญาติใกล้ชิดกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สิ่งนั้นได้มาจากการกลัวเกรง(ตักวา)และจากการทำงานที่ดีงาม แล้วท่านก็ปิดท้ายด้วยหะดีษของท่านอัมรฺ บิน อัล-อาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ซึ่งปรากฏอยู่ในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ (เลขที่ 5990) และเศาะฮีหฺมุสลิม (เลขที่ 215) และท่านอัล-หาฟิซ อิบนุ เราะญับ ก็กล่าวว่า สิ่งที่มีปรากฏในตำราเศาะฮีหฺทั้งสองนั้นได้ยืนยันในเรื่องดังกล่าวนี้ทั้งหมด ซึ่งจากรายงานของท่านอัมรฺ บิน อัล-อาศ เล่าว่า เขาได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า :

«إنَّ آل أبي فلان ليسوا لي بأولياء، وإنَّما وليِّيَ اللهُ وصالِحُ المؤمنين» [البخاري برقم 5990، ومسلم برقم 215]

“แท้จริง ตระกูลของคนหนึ่งคนใด หาใช่เป็นวะลีย์(ผู้ที่มอบความรัก ผู้ให้ความคุ้มครองช่วยเหลือ)แก่ฉันไม่ และอันที่จริง ผู้ที่เป็นวะลีย์ของฉันคืออัลลอฮฺ ตะอาลา และบรรดาคนศอลิหฺจากบรรดาผู้ศรัทธาเท่านั้น”

ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า ความรัก ความใกล้ชิด (วิลายะฮฺ) ของท่าน ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยกับเชื้อสาย ถึงแม้จะเป็นญาติใกล้ชิดกันก็ตาม ที่จริงแล้วมันเกิดขึ้นด้วยกับการศรัทธา และด้วยการงานที่ดีงาม ดังนั้น ผู้ใดที่มีการศรัทธามีการงานที่สมบูรณ์ยิ่ง เขาผู้นั้นจะมีความรักความใกล้ชิดอันยิ่งใหญ่ต่อท่าน ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะมีเชื้อสายใกล้ชิดกับท่านหรือไม่ก็ตาม ตามความหมายนี้ มีบางคนพูดว่า
“ขอสาบานต่ออัลลอฮฺด้วยกับชีวิตของท่าน
มนุษย์นั้นจะไม่มีค่า นอกจากด้วยศาสนาของเขา
ดังนั้น ท่านอย่าทิ้งการกลัวเกรงอัลลอฮฺ (ตักวา) โดยหันไปพึ่งพาอาศัยเชื้อสาย
แท้จริง ความเป็นอิสลามได้ยกย่อง ซัลมาน ชาวเปอร์เซีย ให้สูงส่งได้
และการตั้งภาคี (ชิริก) ก็ทำให้ อบู ละฮับ ผู้มาจากตระกูลอันสูงศักดิ์ต้องต่ำต้อย”


บทที่ 3
ความประเสริฐของ “อะฮฺลุล บัยตฺ”
ที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน

อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงกล่าวว่า :

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلنَّبِيُّ قُل لِّأَزۡوَٰجِكَ إِن كُنتُنَّ تُرِدۡنَ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَا وَزِينَتَهَا فَتَعَالَيۡنَ أُمَتِّعۡكُنَّ وَأُسَرِّحۡكُنَّ سَرَاحٗا جَمِيلٗا ٢٨ وَإِن كُنتُنَّ تُرِدۡنَ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥ وَٱلدَّارَ ٱلۡأٓخِرَةَ فَإِنَّ ٱللَّهَ أَعَدَّ لِلۡمُحۡسِنَٰتِ مِنكُنَّ أَجۡرًا عَظِيمٗا ٢٩ يَٰنِسَآءَ ٱلنَّبِيِّ مَن يَأۡتِ مِنكُنَّ بِفَٰحِشَةٖ مُّبَيِّنَةٖ يُضَٰعَفۡ لَهَا ٱلۡعَذَابُ ضِعۡفَيۡنِۚ وَكَانَ ذَٰلِكَ عَلَى ٱللَّهِ يَسِيرٗا ٣٠ ۞وَمَن يَقۡنُتۡ مِنكُنَّ لِلَّهِ وَرَسُولِهِۦ وَتَعۡمَلۡ صَٰلِحٗا نُّؤۡتِهَآ أَجۡرَهَا مَرَّتَيۡنِ وَأَعۡتَدۡنَا لَهَا رِزۡقٗا كَرِيمٗا ٣١ يَٰنِسَآءَ ٱلنَّبِيِّ لَسۡتُنَّ كَأَحَدٖ مِّنَ ٱلنِّسَآءِ إِنِ ٱتَّقَيۡتُنَّۚ فَلَا تَخۡضَعۡنَ بِٱلۡقَوۡلِ فَيَطۡمَعَ ٱلَّذِي فِي قَلۡبِهِۦ مَرَضٞ وَقُلۡنَ قَوۡلٗا مَّعۡرُوفٗا ٣٢ وَقَرۡنَ فِي بُيُوتِكُنَّ وَلَا تَبَرَّجۡنَ تَبَرُّجَ ٱلۡجَٰهِلِيَّةِ ٱلۡأُولَىٰۖ وَأَقِمۡنَ ٱلصَّلَوٰةَ وَءَاتِينَ ٱلزَّكَوٰةَ وَأَطِعۡنَ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥٓۚ إِنَّمَا يُرِيدُ ٱللَّهُ لِيُذۡهِبَ عَنكُمُ ٱلرِّجۡسَ أَهۡلَ ٱلۡبَيۡتِ وَيُطَهِّرَكُمۡ تَطۡهِيرٗا ٣٣ وَٱذۡكُرۡنَ مَا يُتۡلَىٰ فِي بُيُوتِكُنَّ مِنۡ ءَايَٰتِ ٱللَّهِ وَٱلۡحِكۡمَةِۚ إِنَّ ٱللَّهَ كَانَ لَطِيفًا خَبِيرًا ٣٤ ﴾ [الاحزاب: ٢٨، ٣٤]

“โอ้ ผู้เป็นนบี เจ้าจงกล่าวแก่บรรดาภรรยาของเจ้าเถิดว่า หากพวกเธอปรารถนาชีวิตการเป็นอยู่ในโลกนี้ และความงดงามของมัน ก็จงรีบมาเถิด ฉันจะทดแทนความสุขให้พวกเธอโดยให้ความเป็นอิสระและจะปล่อยพวกเธอไปอย่างดีงาม (28) และถ้าพวกเธอต้องการอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์และอาคิเราะฮฺแล้วไซร้ แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงตระเตรียมไว้แล้วซึ่งรางวัลอันยิ่งใหญ่แก่บรรดาสตรีที่มีคุณธรรมอันงดงามในหมู่พวกเธอ (29) โอ้บรรดาภรรยาของนบีเอ๋ย ผู้ใดในหมู่พวกเธอนำสิ่งลามกมาปรากฏอย่างชัดเจนแล้ว การลงโทษจะถูกเพิ่มแก่พวกนางเป็นทวีคูณถึงสองเท่า และนั่นเป็นที่ง่ายดายสำหรับอัลลอฮฺ (30) และผู้ใดในหมู่พวกเธอเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ และปฏิบัติการงานที่ดีงาม เรา(อัลลอฮฺ)จะให้รางวัลแก่พวกเธอสองครั้ง และเราได้ตระเตรียมสิ่งยังชีพอันดีงามไว้แล้วให้แก่พวกเธอ (31) โอ้บรรดาภรรยาของนบีเอ๋ย พวกเธอมิใช่อย่างกับสตรีอื่นๆ ในหมู่สตรีทั้งหลาย หากพวกเธอกลัวเกรง ก็ไม่สมควรใช้คำพูดอ่อนหวาน เพราะมันจะทำให้ผู้ที่ในหัวใจของเขามีโรค(ชนิดหนึ่ง) เกิดทะเยอทะยาน แต่จงใช้คำพูดที่เหมาะสมดีงาม (32) และจงประจำอยู่ในบ้านของพวกเธอ และจงอย่าออกมาอวดความงามเหมือนอย่างการอวดความงาม(ของสตรี) ในยุคงมงาย(ญาฮิลียะฮฺ)ในยุคต้นๆ ก่อนอิสลาม และพวกเธอจงดำรงการละหมาด และจงชำระซะกาต และจงเชื่อฟังอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ ที่จริง อัลลอฮฺทรงต้องการจะลบล้างความผิดให้หมดไปจากพวกเธอ โอ้! บรรดาวงศ์วาน(บรรดาภรรยาของนบี) และพระองค์ทรงต้องการชำระพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์จากความผิดนั้นอย่างแท้จริง (33) และ พวกเธอจงกล่าวรำลึกถึงสิ่งที่ถูกนำมาอ่านภายในบ้านของพวกเธอจากอายะฮฺต่างๆ ของอัลลอฮฺ (อายะฮฺอัล-กุรอาน) และอัล-หิกมะฮฺ(สุนนะฮฺของท่านเราะสูล) แท้จริง อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงนุ่มนวล อ่อนโยน ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง (34)” (อัล-อะหฺซาบ 28-34)

ดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาที่ว่า : “ที่จริง อัลลอฮฺทรงต้องการจะลบล้างความผิดให้หมดไปจากพวกเธอ โอ้! บรรดาวงศ์วาน(บรรดาภรรยาของนบี) และพระองค์ทรงต้องการชำระพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์จากความผิดนั้นอย่างแท้จริง” ดำรัสนี้บ่งบอกถึงความประเสริฐของวงศ์ญาติใกล้ชิดกับท่านเราะสูลของอัลลอฮฺ วงศ์วานที่ว่าเหล่านั้นคือผู้ที่เศาะดะเกาะฮฺ(เงินซะกาตหรือเงินบริจาค)เป็นที่ต้องห้าม(หะรอม)แก่พวกเขา ซึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วก็คือบรรดาภรรยา และลูกหลาน เหลน ของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังที่ได้ให้รายละเอียดมาแล้ว
ยังมีโองการหรืออายะฮฺต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงความประเสริฐอื่นๆ อีกมากมาย ของบรรดาภรรยาท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั่นคือ การให้เธอเหล่านั้นพิจารณาว่าจะเลือกสิ่งใดระหว่างโลกนี้ที่มีความงดงามกับอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์อีกทั้งโลกอาคิเราะฮฺ พวกเธอจะเลือกเอาอย่างใด ถ้าเธอเลือกอัลลอฮฺ เราะสูลของอัลลอฮฺ และโลกอาคิเราะฮฺแล้ว อัลลอฮฺก็ทรงพอพระทัยต่อพวกเธอ และเธอก็จะพึงพอใจในพระองค์
อีกหนึ่งพระดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่บ่งชี้ชัดถึงความประเสริฐของบรรดาภรรยาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั่นคือ :

﴿وَأَزۡوَٰجُهُۥٓ أُمَّهَٰتُهُمۡۗ ﴾ [الأحزاب: ٦]

“...และบรรดาภรรยาของเขา(นบี) คือมารดาของพวกเขา(ผู้ศรัทธา)...” (อัล-อะหฺซาบ : 6)

ในอายะฮฺนี้ แท้จริง อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงบอกลักษณะไว้อย่างชัดเจนว่าแล้วว่า พวกเธอนั้นเป็นมารดาของบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย
และส่วนดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า :

﴿قُل لَّآ أَسۡ‍َٔلُكُمۡ عَلَيۡهِ أَجۡرًا إِلَّا ٱلۡمَوَدَّةَ فِي ٱلۡقُرۡبَىٰۗ ﴾ [الشورى : ٢٣]

“จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ฉันจะไม่ขอค่าตอบแทนใดๆ เลยต่อการเผยแพร่นี้ นอกจากเพื่อต้องการความรักความเป็นมิตรที่ดีในเครือญาติเท่านั้น” (อัช-ชูรอ : 23)

ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “ความรักในเครือญาตฺ” ตามจุดมุ่งหมายของอายะฮฺนี้คือ “บุคคลในตระกูลกุเรช” ตามที่มีปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ (เลขที่ 4818)
จากรายงาน ของท่าน อับดุลลอฮฺ บิน อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ซึ่งท่านอิมามอัล-บุคอรียฺ เล่าว่า มุหัมมัด บุตร บัซซารฺ พูดกับฉันว่า เขาได้ยินมุหัมมัด บุตรของญะอฺฟัรฺ พูดว่า เขา(ญะอฺฟัรฺ) ได้ยิน ชุอฺบะฮฺ พูดกับเราว่า ได้ยินมาจากอับดุลมะลิก อิบนุ มัยสะเราะฮฺ ว่า ฉันได้ยินฏอวูซ ซึ่งเขาได้ยินมาจาก อิบนุ อับบาส ว่า ท่านถูกถามถึงดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า : “...นอกจากเพื่อต้องการความรัก ความเป็นมิตรในเครือญาติเท่านั้น...” (อัช-ชูรอ : 23) แล้วท่านสะอีด บุตร ญุบัยรฺ ก็พูดขึ้นว่าคำว่า “กุรบา” หรือความเป็นมิตรในเครือญาติ ที่กล่าวถึงในอายะฮฺนี้นั้น หมายถึง “วงศ์วานของท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม” ท่านอิบนุ อับบาส ได้กล่าวแก่ท่านสะอีดว่า “ท่านรีบให้ความหมายไปแล้ว แท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ได้เกิดมาจากตระกูลกุเรชนอกจากท่านมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพวกเหล่านั้น ท่านจึงกล่าวว่า ‘(ฉันไม่ต้องการอะไรจากการเผยแพร่นี้)นอกจากขอแค่ให้พวกท่านทั้งหลายเชื่อมสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติระหว่างฉันกับพวกท่าน’”
ท่าน อิบนุ กะษีรฺ ได้อธิบายความหมายของอายะฮฺนี้ว่า : ความหมายคือ “โอ้ มุหัมมัด เจ้าจงพูดกับบรรดาผู้ที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺในหมู่ผู้ปฏิเสธศรัทธาจากพวกกุเรชนั้นเถิดว่า ฉันไม่ต้องการให้พวกท่านมอบทรัพย์สินใดๆ แก่ฉัน เพื่อตอบแทนการเผยแพร่สาส์นจากพระผู้เป็นเจ้าของฉัน แต่ฉันขอแค่ว่า อย่าให้พวกท่านทำร้ายฉัน และปล่อยให้ฉันทำหน้าที่เผยแพร่ต่อไป หากพวกท่านจะไม่ช่วยเหลือสนับสนุนฉัน ก็อย่าได้ทำร้ายฉันเลย อันเนื่องจากระหว่างฉันกับพวกท่านนั้นมีความเป็นเครือญาติ มีความเป็นมิตรกันอยู่” แล้วท่านอิบนุ กะษีรฺ ได้นำเอาหะดีษของท่านอิบนุ อับบาส ดังกล่าวมาระบุปิดท้าย
สิ่งที่พวกตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ(อะฮฺลุลอะฮฺวาอ์)บางคน ได้เจาะจงความหมายของคำว่า “กุรบา” ในอายะฮฺดังกล่าวนั้นว่าเป็นเพียงเฉพาะท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ท่านอะลียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา และทายาทผู้สืบเชื้อสายของท่านทั้งสองเท่านั้น เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้องเลย เพราะอายะฮฺนี้ถูกประทานลงมาที่นครมักกะฮฺ ในขณะที่ท่านอะลียฺนั้นได้ทำการสมรสกับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ที่นครอัลมะดีนะฮฺ !
ท่านอิบนุ กะษีรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “และการที่จะบอกว่าอายะฮฺนี้ถูกประทานลงมา ณ นครอัลมะดีนะฮฺนั้น ถือเป็นเรื่องที่ห่างไกลมาก เพราะแท้จริง อายะฮฺนี้ เป็นอายะฮฺมักกียะฮฺ (ประทานที่มักกะฮฺ) และในช่วงระยะเวลานั้น ยังมิปรากฏว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา มีบุตรเลย แม้แต่สักคนเดียว เพราะท่านเองยังมิได้สมรสกับท่านอะลียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ แต่ทั้งสองได้ทำการสมรสกันหลังจากสงครามบัดรฺ ในปีฮิจญ์เราะฮ์ศักราชที่ 2 (ที่มะดีนะฮฺ) และที่ถูกต้องคือ การขยายความของอายะฮฺนี้เป็นไปตามที่ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ตัรญุมานุลกุรอาน” (ผู้ถ่ายทอดความหมายของอัลกุรอาน) คือ ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ดังที่ท่านอิมามอัล-บุคอรียฺได้บันทึกเอาไว้” (จบการอ้าง)
และบทต่อไปนี้ เราก็จะได้ระบุหลักฐานต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความประเสริฐของวงศ์วานของท่านเราะสูล ที่มีมาจากสุนนะฮฺและจากรายงานต่างๆ ที่เป็นคำพูดของท่านอบู บักรฺ และท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา


บทที่ 4
ความประเสริฐของ “อะฮฺลุล บัยตฺ”
ที่ปรากฏอยู่ในสุนนะฮฺ

1- ท่านอิมามมุสลิมได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน (หะดีษเลขที่ 2276) จากรายงานของ ท่านวาซิละฮฺ บุตร อัล-อัสเกาะอฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า :

«إنَّ اللهَ اصطفى كِنانَةَ مِن ولدِ إسماعيل، واصطفى قريشاً من كِنَانَة، واصطفى مِن قريشٍ بَنِي هاشِم، واصطفانِي مِن بَنِي هاشِم» [مسلم برقم 2276]

"แท้จริง อัลลอฮฺได้ทรงคัดเลือกเผ่ากินานะฮฺมาจากลูกหลานของท่านนบีอิสมาอีล และคัดเลือกกุเรชมาจากเผ่ากินานะฮฺ และคัดเลือกตระกูลฮาชิมมาจากกุเรช และพระองค์ทรงคัดเลือกฉันมาจากตระกูลฮาชิม"

2- และท่านอิมาม มุสลิมได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน (หะดีษเลขที่ 2424) จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า :

«خرج النَّبِيُّ صلى الله عليه وسلم غداةً وعليه مِرْطٌ مُرَحَّل مِن شَعر أسود، فجاء الحسن بن علي فأدخله، ثمَّ جاء الحُسين فدخل معه، ثمَّ جاءت فاطمةُ فأدخلَها، ثمَّ جاء عليٌّ فأدخله، ثمَّ قال : ﴿إِنَّمَا يُرِيدُ ٱللَّهُ لِيُذۡهِبَ عَنكُمُ ٱلرِّجۡسَ أَهۡلَ ٱلۡبَيۡتِ وَيُطَهِّرَكُمۡ تَطۡهِيرٗا ٣٣ ﴾ [الأحزاب: ٣٣]» [مسلم برقم 2424]

“ท่านนบีได้ออกมานอกบ้านในตอนเช้า และท่านคลุมผ้าห่มสีดำถักลวดลายเป็นรูปขบวนอูฐซึ่งทอมาจากขนสัตว์ ขณะนั้นท่านอัล-หะสันบุตรท่านอะลียฺได้มาหาท่าน ท่านก็เรียกให้เขามาอยู่กับท่าน ต่อมาท่านหุสัยนฺได้มาหาท่าน ท่านก็ได้เรียกเข้ามาอยู่กับท่าน จากนั้นต่อมา ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺก็มาหาท่าน ท่านก็เรียกให้เข้ามาอยู่กับท่าน และต่อมาท่านอะลียฺก็ตามมา ท่านได้เรียกให้เข้ามาอยู่ร่วมกับท่านในผ้าห่มผืนนั้น แล้วท่านก็กล่าวอายะฮฺที่ว่า :

﴿إِنَّمَا يُرِيدُ ٱللَّهُ لِيُذۡهِبَ عَنكُمُ ٱلرِّجۡسَ أَهۡلَ ٱلۡبَيۡتِ وَيُطَهِّرَكُمۡ تَطۡهِيرٗا ٣٣ ﴾ [الأحزاب: ٣٣]

"แท้จริง อัลลอฮฺทรงต้องการขจัดความผิดที่เป็นบาปให้พ้นไปจากพวกเจ้า โอ้ บรรดาวงศ์วาน (ของนบี) และพระองค์ทรงประสงค์ให้พวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง" (อัล-อะหฺซาบ : 33)

3- และท่านอิมามมุสลิมได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน (หะดีษเลขที่ 2404) จากหะดีษสะอัด บิน อบี วักก็อศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า

«لَمَّا نزلت هذه الآيةُ ﴿فَقُلۡ تَعَالَوۡاْ نَدۡعُ أَبۡنَآءَنَا وَأَبۡنَآءَكُمۡ﴾ [آل عمران: ٦١] دعا رسولُ الله صلى الله عليه وسلم عليًّا وفاطمةَ وحَسناً وحُسيناً، فقال: اللهم هؤلاء أهل بيتِي» [مسلم برقم 2404]

“เมื่ออายะฮฺนี้ถูกประทานลงมา

﴿فَقُلۡ تَعَالَوۡاْ نَدۡعُ أَبۡنَآءَنَا وَأَبۡنَآءَكُمۡ﴾ [آل عمران: ٦١]

“ดังนั้น มุหัมมัดจงกล่าวเถิดว่า พวกท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจะเรียกบรรดาลูกหลานของเรา และบรรดาลูกหลานของพวกท่านมา” (อาล อิมรอน : 61) ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เรียกท่านอะลียฺ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ท่านหะสัน และท่านหุสัยนฺ มาหาท่าน แล้วท่านนบีก็กล่าวว่า : “โอ้ อัลลอฮฺ บุคคลเหล่านี้เป็นวงศ์วานของฉัน”

4- ท่านอิมามมุสลิมได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน (หะดีษเลขที่ 2408) ด้วยสายรายงานของท่าน จากท่านยะซีด บุตรท่าน หัยยาน กล่าวว่า ฉันและ อัล-หุศ็อยนฺ บุตร สับเราะฮฺ และอุมัรฺ บุตร มุสลิม ได้พากันไปหา ซัยดฺ บุตร อัรก็อม เมื่อพวกเราเข้าไปนั่งอยู่กับเขา หุศ็อยนฺ ได้พูดกับเขาว่า : “แน่แท้ ท่านได้พบเห็นความดีงามอย่างมากมาย โอ้ ซัยดฺเอ๋ย ท่านได้เห็นท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านได้ยินหะดีษจากท่านนบี ท่านมีโอกาสออกไปร่วมทำสงครามกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านเคยได้ละหมาดอยู่ข้างหลังท่านเราะสูล แน่นอนท่านได้ประสบกับความดีงามอันมากมาย โอ้ ซัยดฺเอ๋ย กรุณาเล่าถึงสิ่งที่ท่านได้ยินได้ฟังมาจากท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ให้เราฟังหน่อยเถิด โอ้ ซัยดฺ” ซัยดฺกล่าวว่า : “โอ้ น้องชายของฉัน ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า อายุของฉันก็มากแล้ว ความรู้ของฉันก็เนิ่นนานมาแล้ว และฉันเองก็ลืมไปบ้างแล้วในบางส่วนที่ฉันเคยจำมาจากท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉะนั้น สิ่งใดที่ฉันเล่าให้พวกท่านฟังก็จงรับเอาไว้ และสิ่งใดที่ฉันไม่ได้เล่าให้ฟัง พวกท่านก็อย่าบังคับให้ฉันเล่ามันเลย” แล้วท่านซัยดฺก็เล่าว่า “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ลุกขึ้นออกมากล่าวคำปราศรัยแก่พวกเราในวันหนึ่ง ณ บ่อน้ำที่มีชื่อว่า “คุมม์” ซึ่งอยู่ระหว่างมักกะฮฺกับมะดีนะฮฺ ท่านได้กล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ และกล่าวสดุดีแด่พระองค์ แล้วท่านเราะสูลได้กล่าวสั่งสอน แนะนำและตักเตือน หลังจากนั้นท่านก็กล่าวคำว่า :

«أمَّا بعد، ألا أيُّها الناس! فإنَّما أنا بشرٌ يوشك أن يأتي رسولُ ربِّي فأُجيب، وأنا تاركٌ فيكم ثَقَلَيْن؛ أوَّلُهما كتاب الله، فيه الهُدى والنُّور، فخذوا بكتاب الله، واستمسكوا به، فحثَّ على كتاب الله ورغَّب فيه، ثم قال: وأهلُ بَيتِي، أُذكِّرُكم اللهَ في أهل بيتِي، أُذكِّرُكم اللهَ في أهل بيتِي، أُذكِّرُكم اللهَ في أهل بيتِي»

“อัมมาบะอฺดุ (เป็นคำที่นำมาใช้กล่าวในการปราศรัย ซึ่งบอกถึงเมื่อมีการเปลี่ยนเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่ง) พึงรู้เถิด โอ้ ผู้คนทั้งหลาย ! แท้จริงฉันเป็นเพียงปุถุชนคนธรรมดา หากจะมีเราะสูลคนหนึ่งแห่งพระเจ้าของฉันใกล้จะมา ฉันก็จะตอบรับ (ศรัทธา) ฉันได้ทิ้งของสำคัญยิ่งไว้สองอย่างแก่พวกท่าน หนึ่งในสองอย่างนั้นมีคัมภีร์ของอัลลอฮฺ ซึ่งจะนำไปสู่ทางที่ถูกต้อง และแสงสว่างอยู่ในคัมภีร์นั้น ดังนั้น พวกท่านทั้งหลายจงนำเอาคัมภีร์ของอัลลอฮฺมาปฏิบัติตาม และจงยึดไว้ให้มั่น” ท่านนบีส่งเสริมให้ปฏิบัติตามคัมภีร์ของอัลลอฮฺ และสนับสนุนให้ยึดไว้ให้มั่น แล้วท่านนบีได้กล่าวต่อไปว่า “และ วงศ์วานของฉัน ฉันขอเตือนพวกท่านให้รำลึกถึงอัลลอฮฺเกี่ยวกับวงศ์วานของฉัน (อะฮฺลุลบัยตฺ) ฉันขอเตือนพวกท่านให้รำลึกถึงอัลลอฮฺเกี่ยวกับวงศ์วานของฉัน”
หุศ็อยนฺได้กล่าวกับซัยดฺว่า : ใครบ้างที่เป็นวงศ์วานของท่านนบี โอ้ ซัยดฺ ? บรรดาภรรยาของท่านนบีเป็นวงศ์วานของท่านมิใช่หรือ ? ซัยดฺตอบว่า ภรรยาของท่านนบีก็เป็นวงศ์วานของท่านนบีด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม วงศ์วานของท่าน คือ บุคคลที่เป็นทายาทซึ่ง เศาะดะเกาะฮฺ(ซะกาตและของบริจาค) เป็นที่ต้องห้าม(หะรอม) หลังจากท่านนบีได้เสียชีวิตไปแล้วด้วย หุศ็อยนฺ ถามว่า : พวกเขาคือใครเล่า ? ซัยดฺได้ตอบว่า : พวกเขาคือวงศ์วานของท่านอะลียฺ วงศ์วานของท่านอะกีล วงศ์วานของท่านญะอฺฟัรฺ และวงศ์วานของท่านอับบาส หุศ็อยนฺ ถามว่า : บุคคลทั้งหมดนั้นเศาะดะเกาะฮฺเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) สำหรับพวกเขาใช่หรือไม่? ซัยดฺ กล่าวตอบว่า : ใช่แล้ว !
และในอีกรายงานหนึ่งมีว่า : แล้วเราก็ถามว่า ใครคือวงศ์วานของท่านนบี ? บรรดาภรรยาของท่านกระนั้นหรือ ? " ซัยดฺ กล่าวว่า : ไม่ ใช่ ! ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ผู้หญิง(ภรรยา) นั้นจะอยู่กับผู้ชาย(สามี) เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ต่อมาเมื่อสามีหย่าขาดจากนาง นางก็จะต้องกลับไปอยู่กับบิดาของนางและพวกพ้องของนาง วงศ์วานของท่านนบี คือ ตระกูลเดิม กลุ่มชนดั้งเดิมของท่านที่พวกเขาถูกห้ามมิให้รับเศาะดะเกาะฮฺ ภายหลังจากท่านนบี”

ณ จุดนี้ ข้าพเจ้าใครขอเตือนให้พิจารณาประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง : การที่ระบุถึงท่านอะลียฺ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ และบุตรของท่านทั้งสอง เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ไว้ในหะดีษ “อัล-กิสาอ์” (เสื้อคลุม) และหะดีษ “อัล-มุบาฮะละฮฺ” (ต่างสาปแช่งกัน) ที่ได้ผ่านมาแล้วทั้งสองหะดีษ ไม่ได้บ่งบอกว่า อะฮฺลุลบัยตฺ จำกัดไว้เพียงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงการบอกให้รู้ว่า ท่านเหล่านั้นเป็นวงศ์วานของท่านนบีที่ใกล้ชิดที่สุด เป็นบุคคลที่สมควรอย่างยิ่งที่จะเข้าไปอยู่ภายใต้คำว่า (วงศ์วาน) ซึ่งก็ได้กล่าวไว้ในรายละเอียดของเรื่องนั้นมาแล้ว

ประเด็นที่สอง : การที่ ซัยดฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ระบุถึงวงศ์วานของท่านอะกีล วงศ์วานของท่านอะลียฺ วงศ์วานของท่านญะอฺฟัรฺ และวงศ์วานของท่านอับบาสนั้น มิได้เป็นการบ่งชี้ว่าเศาะดะเกาะฮฺถูกห้ามเฉพาะคนเหล่านั้นเพียงอย่างเดียวโดยไม่รวมถึงผู้อื่นด้วย ที่จริงแล้ว มันถูกห้ามแก่มุสลิมทั้งชายและหญิงที่มาจากสายสกุลของท่านอับดุลมุฏเฏาะลิบ ดังที่ได้นำเอาหะดีษของท่านอับดุลมุฏเฏาะลิบ บุตร เราะบีอะฮฺ บุตร อัล-หาริษ บุตร อับดุลมุฏเฏาะลิบ ที่มีปรากฏอยู่ในเศาะฮีหฺมุสลิม และได้นำมากล่าวไว้แล้วในตอนต้นเรื่องการห้ามรับเศาะดะเกาะฮฺ ซึ่งอยู่ในหะดีษที่มีความหมายครอยคลุมรวมถึงลูกหลานของเราะบีอะฮฺ บุตร อัล-หาริษ บุตร อับดุลมุฏเฏาะลิบ ด้วย

ประเด็นที่สาม : ได้มีการนำเสนอหลักฐานจากอัลกุรอาน และสุนนะฮฺไปแล้วว่า บรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็เป็นวงศ์วานของท่านนบี และมีการชี้แจงไปแล้วว่า บรรดาเธอเหล่านั้นอยู่ในกลุ่มบุคคลที่เศาะดะเกาะฮฺเป็นที่ต้องห้าม(หะรอม) ส่วนสิ่งที่มีปรากฏอยู่ในคำพูดของซัยดฺ ที่ว่า “บรรดาเธอเหล่านั้นเข้าร่วมอยู่ในวงศ์วานด้วย” ตามรายงานแรก และในรายงานที่สองระบุว่า “บรรดาเธอเหล่านั้นไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในวงศ์วานด้วย” ฉะนั้น ในรายงานที่สองที่ได้ระบุว่า “บรรดาเธอเหล่านั้นไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในวงศ์วานด้วย” แท้จริงแล้ว ข้อความนี้คู่ควรเหมาะสมใช้กับบรรดาภรรยาทั่วไป ไม่ได้หมายถึง บรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม “เพราะว่าบรรดาภรรยาของท่านนบี เราะฎิยัลลอฮุอันฮุนนะ นั้น มีความผูกพันกันกับท่านนบี คล้ายกับเชื้อสาย เพราะการผูกพันของพวกเธอที่มีต่อท่านนบีนั้น มิใช่ถูกยกขึ้นให้โดดเด่นเพียงชั่วขณะ แต่เธอเหล่านั้นเป็นภรรยาของท่านนบีทั้งในโลกนี้ และโลกอาคิเราะฮฺ” ดังที่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วจากคำพูดของท่าน อิบนุล ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ

ประเด็นที่สี่ : “อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ” คือ ผู้ที่มีความสุขใจในการปฏิบัติตามคำสั่งเสียของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เกี่ยวกับวงศ์วานของท่านซึ่งมีปรากฏอยู่ในหะดีษนี้ เพราะพวกเขารักใคร่และยอมรับในบุคคลเหล่านั้น อีกทั้งยังยกย่องให้อยู่ในฐานะตำแหน่งที่คู่ควรและเหมาะสมด้วยความยุติธรรม และเที่ยงธรรม
ส่วนคนอื่นๆ นั้น ท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้พูดไว้ในหนังสือ “มัจญ์มูอฺ ฟะตาวา” ของท่าน (เล่มที่4 หน้าที่ 419) มีความว่า “คนที่ทำตัวห่างไกลต่อคำสั่งเสียนี้มากที่สุดคือ “พวกรอฟิเฎาะฮฺ” (กลุ่มบุคคลจากพวกชีอะฮฺ) ซึ่งพวกเขาอนุญาตให้ทำลายชื่อเสียง และพูดจาใส่ร้ายป้ายสี บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สาเหตุที่พวกเขาถูกเรียกเช่นนั้น เนื่องจากบุคคลในยุคต้นๆ ของพวกเขาปฏิเสธไม่ยอมรับ ซัยดฺ บิน อะลียฺ บิน อัล-หุสัยนฺ บิน อะลียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ขณะที่ท่านห้ามมิให้พวกเขาพูดจาใส่ร้ายป้ายสีท่านอบูบักรฺ และท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เพราะพวกเขาเกลียดชังอับบาส และผู้สืบเชื้อสายจากท่าน ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังเกลียดชังและทำตัวเป็นศัตรูกับบรรดา อะฮฺลุสสุนนะฮฺ และยังช่วยเหลือสนับสนุนบรรดาพวกกุฟฟารฺ(ผู้ปฏิเสธศรัทธา)ให้ทำลายล้างพวกอะฮฺลุสสุนนะฮฺอีกด้วย

5- หะดีษที่ว่า :

«كلُّ سببٍ ونسبٍ منقطعٌ يوم القيامةِ إلَّا سبَبِي ونسبِي» [السلسلة الصحيحة برقم 2036]

“ทุกสายสัมพันธ์ และทุกเชื้อสายต้องแตกสลายในวันกิยามะฮฺ นอกจากสายสัมพันธ์ และเชื้อสายของฉันเท่านั้น”
ท่านชัยคฺ อัล-อัลบานีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ นำเสนอหะดีษนี้ไว้ในหนังสือ “อัส-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ” (หะดีษเลขที่ 2036) อ้างถึงสายรายงานถึงท่านอับดุลลอฮฺ บิน อับบาส ท่านอุมัรฺ ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ และท่านอัล-มิสวัรฺ บุตร มัคเราะมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม และท่าน อัล-บานีย์ ได้ระบุถึงผู้ที่รายงานหะดีษจากบุคคลเหล่านั้น และยังกล่าวว่า : “สรุปแล้ว หะดีษนี้มีผู้รายงานเป็นจำนวนมาก โดยรวมแล้วถือว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ” อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง (วัลลอฮุอะฮฺลัม)
ในบางกระแสรายงานระบุว่าหะดีษนี้ เป็นหะดีษที่ทำให้ท่านอุมัรฺ ปรารถนาจะแต่งงานกับ อุมมุ กัลษูม บุตรสาว ของท่านอะลียฺ ซึ่งเกิดจากท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อีกด้วย (ขออัลลอฮฺประทานความโปรดปรานของพระองค์แด่ทุกท่านด้วยเทอญ)

6- ท่านอิมาม อะหฺมัด ได้บันทึกไว้ในมุสนัดของท่าน (ในเล่มที่ 5 หะดีษเลขที่ 374) จากอับดุรร็อซซาก ได้มาจากมะอฺมัรฺ ได้มาจาก อิบนุ ฏอวูส ได้มาจากอบูบักรฺ บุตร มุหัมมัด บุตร อัมรฺ บุตร หัซมิน ได้รับมาจากเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งได้ยินท่านนบี กล่าวเป็นประจำว่า :

«اللَّهمَّ صلِّ على محمَّدٍ وعلى أهل بيته وعلى أزواجِه وذريَّتِه، كما صلَّيتَ على آل إبراهيم إنَّك حميدٌ مجيدٌ، وبارِك على محمَّدٍ وعلى أهل بيته وعلى أزواجِه وذريَّتِه، كما بارَكتَ على آل إبراهيم إنَّك حميدٌ مجيدٌ»

“โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดประทานพรให้แก่มุหัมมัด แก่บรรดาวงศ์วานของมุหัมมัด แก่บรรดาภรรยาของมุหัมมัด และแก่บรรดาทายาทผู้สืบเชื้อสายของมุหัมมัด เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงประทานพรให้แก่วงศ์วานของอิบรอฮีมมาแล้ว แท้จริง พระองค์ทรงเป็นผู้ทรงได้รับการสรรเสริญยิ่ง และทรงไว้ซึ่งเกียรติอันสูงส่งยิ่ง และขอพระองค์ทรงประทานความศิริมงคลแก่มุหัมมัด แก่วงศ์วานของมุหัมมัด แก่บรรดาภรรยาของมุหัมมัด และแก่บรรดาทายาทของมุหัมมัด เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงโปรดประทานความสิริมงคลให้แก่วงศ์วานของอิบรอ ฮีม แท้จริง พระองค์เป็นผู้ทรงได้รับการสรรเสริญยิ่ง และเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งเกียรติอันสูงส่งยิ่ง”
อิบนุ ฏอวูส กล่าวว่า “บิดาของฉัน ท่านจะกล่าวเช่นนั้นเป็นประจำเช่นเดียวกัน”
สายรายงานที่นอกเหนือจากเศาะหาบะฮฺท่านนั้น ท่านอิมามอัล-บุคอรียฺ อิมามมุสลิม และเจ้าของสุนันทั้งสี่ ได้นำเอารายงานจากบุคคลเหล่านั้นมาบันทึกไว้ และท่านอัล-อัลบานีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ศิฟะตุศ เศาะลาตินนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม” ว่า “บันทึกโดย อะหฺมัด และอัฏ-เฏาะหาวีย์ ด้วยสายรายงานที่ถูกต้องแข็งแรง”
ส่วนที่มีการระบุการขอให้ประทานพรให้บรรดาภรรยา และแก่บรรดาทายาทนั้น มีปรากฏอยู่ในเศาะฮีหฺทั้งสองเช่นกัน จากหะดีษของ อบู หุมัยดฺ อัส-สาอิดีย์
อย่างไรก็ตาม นั่นมิได้บ่งบอกว่า วงศ์วานจะต้องเจาะจงเฉพาะบรรดาภรรยา และบรรดาทายาทแต่เพียงอย่างเดียว ความจริงแล้ว เพียงต้องการยืนยันให้รู้ว่า บรรดาท่านเหล่านั้นรวมอยู่ในวงศ์วานของท่านนบี มิใช่ไม่ได้รวมอยู่ในวงศ์วานของท่านนบี ดังที่มีผู้กล่าวอ้างแต่ประการใด เพราะฉะนั้น การเชื่อมโยงบรรดาภรรยา และบรรดาทายาทกับวงศ์วานของท่านนบี ในหะดีษที่ผ่านมาแล้วนั้น นับเป็นการเชื่อมโยงเฉพาะ (คอศฺ) ไว้กับการครอบคลุมกว้างๆ (อาม) โดยมิได้เป็นการเจาะจงเฉพาะ
ท่าน อิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวหลังจากยกหะดีษที่มีการระบุถึงวงศ์วาน ระบุถึงบรรดาภรรยา และบรรดาทายาท (ซึ่งเป็นหะดีษที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสายรายงานหะดีษนี้) ท่านก็กล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม การนำเอาบรรดาภรรยา บรรดาทายาท และวงศ์วานมารวมไว้ด้วยกันนั้น ความจริงแล้ว เพียงต้องการกำหนดบุคคลเหล่านั้นโดยเจาะจงลงไปให้ชัดเจน เพื่อประกาศออกไปว่า พวกท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะรวมอยู่ในวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เรื่องนี้เป็นเรื่องประเภทเดียวกันกับการเชื่อมโยง “อัล-คอศฺ” (เจาะจงเฉพาะบุคคลตามที่มีปรากฏในหะดีษ) โดยรวมเอาเข้าไว้กับ “อัล-อาม” (กล่าวโดยรวมๆ ไม่เจาะจง เช่นวงศ์วาน เป็นต้น) และโยงในทางกลับกัน เพื่อเป็นการเตือนให้ระวังอย่าได้ล่วงละเมิดในเกียรติยศชื่อเสียง แห่งวงศ์วานของท่านนบี และเพื่อเป็นการเจาะจงด้วยการกล่าวคำรำลึกให้กับบุคคลประเภทนี้โดยเฉพาะ เพราะบุคคลประเภทนี้แหละที่มีสิทธิสมบูรณ์ที่จะอยู่ในวงศ์วานของท่านนบี (ดูหนังสือ ญะลาอุลอัฟฮาม หน้าที่ 338)

7- และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า :

« إنَّ الصَّدقةَ لا تنبغي لآل محمد، إنَّما هي أوساخ الناس» [مسلم برقم 1072]

“แท้จริง เศาะดะเกาะฮฺนั้น ไม่สมควรสำหรับวงศ์วานของมุหัมมัด แท้จริงแล้ว มันเป็นเหงื่อไคลของผู้คน”
ท่านอิมาม มุสลิม ได้บันทึกหะดีษนี้ไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน ซึ่งเป็นหะดีษของ อับดุลมุฏเฏาะลิบ บุตร เราะบีอะฮฺ (หะดีษเลขที่ 1072) ดังที่ได้นำเสนอไปแล้วข้างต้น


บทที่ 5
ฐานะอันทรงเกียรติของ “อะฮฺลุล บัยตฺ”
ในทัศนะของ เศาะหาบะฮฺ และบรรดาตาบิอีน
อัศ-ศิดดีก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ
อบู บักรฺ อัศ-ศิดดีก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ

ท่านอิมาม อัล-บุคอรียฺ ได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน (หะดีษ เลขที่ 3712) ว่า ท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวกับท่านอะลียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า :

قال أبوبكر الصديق رضي الله عنه لعلي رضي الله عنه : «والذي نفسي بيدِه لَقرابةُ رسول الله صلى الله عليه وسلم أحبُّ إليَّ أنْ أَصِلَ من قرابَتِي» [البخاري برقم 3712]

“ขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ แน่นอน วงศ์ญาติใกล้ชิดของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น เป็นที่รักแก่ฉันที่จะติดต่อสัมพันธ์มากกว่าที่จะติดต่อสัมพันธ์กับวงศ์ญาติของฉันเองเสียอีก”

อัล-บุคอรียฺได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺของท่านเช่นกัน (หะดีษเลขที่ 3713) จากท่านอิบนุ อุมัรฺ จากท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า :

«ارقُبُوا محمداً صلّى الله عليه وسلّم في أهل بيته». [البخاري برقم 3717]

“พวกท่านทั้งหลาย จงช่วยกันสอดส่องดูแลท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวงศ์วานของท่านด้วยเถิด”

ท่าน อิบนุ หะญัรฺ ได้กล่าวไว้ในการอธิบายของท่านว่า “ท่านอบูบักรฺ ได้กล่าวคำปราศรัยเช่นนั้นกับผู้คนทั้งหลาย และได้กำชับสั่งเสียผู้คนทั้งหลายเพื่อให้ความสำคัญต่อวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉะนั้น การเฝ้ามองดูของสิ่งหนึ่ง ก็คือการคอยดูแลรักษาของสิ่งนั้นไว้นั่นเอง ดังนั้นคำพูดของท่านก็คือ ขอให้พวกท่านจงดูแลรักษาท่านนบีกับบรรดาวงศ์วานเหล่านั้น และจงอย่าก่อความรำคาญ และจงอย่าสร้างความเลวร้ายให้กับท่านเหล่านั้นเลย”

ในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ (หะดีษเลขที่ 3542) จากอุกบะฮฺ อิบนุ อัล-หาริษ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า :

«صلَّى أبو بكر رضي الله عنه العصرَ، ثم خرج يَمشي، فرأى الحسنَ يلعبُ مع الصِّبيان، فحمله على عاتقه، وقال:
بأبي شبيهٌ بالنبيّ لا شبـيـهٌ بعلـيّوعليٌّ يضحك».


“ท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ทำการละหมาดอัศริเสร็จ แล้วท่านก็เดินออกไป แล้วท่านได้มองไปเห็น อัล-หะซัน กำลังเล่นอยู่กับบรรดาเด็กๆ ท่านก็ได้อุ้มอัล-หะซันขึ้นมาขี่คอท่าน และกล่าวว่า : ฉันขอไถ่ชีวิตของเขาด้วยกับชีวิตบิดาของฉัน เขา(อัล-หะซัน)เหมือนกับท่านนบี เขาไม่เหมือนอะลียฺเลย” และท่านอะลียฺก็หัวเราะ”
ท่านอิบนุหะญัรฺ กล่าวอธิบายไว้ในหนังสือของท่านว่า : คำพูดของอบูบักรฺที่ว่า “บิ อะบีย์” ในคำพูดประโยคนี้มีคำที่ถูกตัดออกไป ที่จริงแล้วต้องกำหนดคำขึ้นมาคือ “ฉันขอไถ่ชีวิตของเขาด้วยกับชีวิตบิดาของฉัน” ท่านได้กล่าวต่อไปอีกว่า ในหะดีษนี้ได้กล่าวถึงความประเสริฐของท่านอบูบักรฺ และความรักของท่านที่มีต่อวงศ์ญาติใกล้ชิดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ และ อุษมาน บิน อัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา
ท่านอิมามอัล-บุคอรียฺ ได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน (หะดีษเลขที่ 1010 และ 3710) จากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า : เมื่อผู้คนทั้งหลายประสบความแห้งแล้ง ท่านอุมัรฺจะเป็นผู้ที่ขอฝนด้วยการอาศัยอ้างอิงท่านอัล-อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เป็นสื่อขออีกที หนึ่ง ท่านได้กล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺ เราเคยเป็นผู้ขอให้นบีของเราเป็นสื่อกลางเพื่อขอจากพระองค์ แล้วพระองค์ก็ทรงประทานน้ำฝนลงให้แก่เรา (และเมื่อท่านนบีจากไป) เราขอเอาผู้เป็นอาของนบีของเรามาเป็นสื่อกลางเพื่อขอจากพระองค์ ดังนั้น ขอพระองค์ได้ทรงประทานฝนมาให้แก่เราด้วยเถิด” ท่านอะนัสกล่าวว่า แล้วพวกเขาก็ได้รับน้ำฝน
ดังนั้น ความหมายของคำว่า “ตะวัสสุล” หรือการใช้สื่อกลางของท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กับท่านอัล-อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ นั้น เป็น “ตะวัสสุล” ด้วยการขอให้ท่านอับบาสช่วยขอดุอาอ์ให้ ดังปรากฏสิ่งที่จะให้ความกระจ่างชัดนี้ในบางรายงาน ซึ่งท่านอัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัรฺ ได้ระบุรายงานต่างๆ ในการอธิบายหะดีษนี้ไว้ในบทที่ว่าด้วย “เรื่องการขอฝน” ในหนังสือ “ฟัตหุลบารี” ของท่าน
การที่ท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้ตัดสินใจเลือกท่านอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เพื่อให้เป็นสื่อกลาง “ตะวัสสุล” ด้วยการให้ท่านขอดุอาอ์ให้นั้น ในความเป็นจริงแล้ว เพราะท่านอับบาส เป็นญาติที่ใกล้ชิดกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยเหตุนี้ ท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จึงได้กล่าวไว้ในการทำ “ตะวัสสุล” ของท่านว่า “และแท้จริง เราขอนำเอาผู้เป็นอาของท่านนบีของเรามาเป็นสื่อกลางเพื่อขอดุอาอ์จากพระองค์” ท่านอุมัรฺไม่ได้พูดว่า “ด้วยกับอับบาส”
เป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านอะลียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เป็นผู้ที่ประเสริฐกว่าท่านอับบาส และท่านก็เป็นญาติใกล้ชิดกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่ท่านอับบาสนั้นใกล้ชิดกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มากกว่าท่านอะลียฺ และหากท่านนบี มีมรดกตกทอดจากท่าน แน่นอน ท่านอับบาส จะต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ในมรดกนั้นก่อนผู้ใดโดยเป็นไปตามคำกล่าวของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมที่ว่า :

«أَلحِقوا الفرائض بأهلها، فما أبقتِ الفرائضُ فلأولَى رجل ذَكر » [البخاري ومسلم]

“พวกท่านจงแบ่งมรดกให้แก่ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับตามสัดส่วนของมัน (อัศหาบุลฟุรูฎ) และมรดกที่เหลือก็จงแบ่งให้แก่เพศชายผู้ใกล้ชิดท่านที่ใกล้ชิดที่สุด (ผู้ที่มีสิทธิ์ในอะเศาะบะฮฺ)" (บันทึกโดย ท่านอิมามอัล-บุคอรียฺ และท่านอิมามมุสลิม)
และในบันทึกของเศาะฮีหฺทั้งสองจากหะดีษของท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พูดถึงอาของท่าน (อัล-อับบาส) กับท่านอุมัรฺว่า :

«أمَا عَلِمتَ أنَّ عمَّ الرَّجلِ صِنْوُ أبيه» [البخاري ومسلم]

“ท่านไม่ทราบหรือว่า ผู้เป็นอาของผู้ชายนั้นนับเป็นหน่อที่แยกออกมาจากลำต้นเดียวกับบิดาของเขา”

ในตัฟสีรฺ อิบนิ กะษีรฺ ได้อธิบายอายะฮฺของสูเราะฮฺอัช-ชูรอ ว่า ท่านอุมัรฺ อิบนุ อัล-ค็อฏฏ็อบ ได้กล่าวกับท่านอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า : “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า การเข้ารับอิสลามของท่าน (อับบาส) ในวันนั้น เป็นที่ชื่นชอบสำหรับฉันยิ่งกว่าการเข้ารับอิสลามของอัล-ค็อฎฎอบ(บิดาของฉันเอง)เสียอีกถ้าหากเขาเข้ารับอิสลาม เพราะการเข้ารับอิสลามของท่าน(อับบาส)เป็นที่ยินดีสำหรับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยิ่งกว่าการเข้ารับอิสลามของอัล-ค็อฏฏ็อบเป็นอย่างมาก” ดังกล่าวนี้มีอยู่บันทึกของ อิบนุ สะอัด ในหนังสือ “อัฏ-เฏาะบะกอต” (เล่มที่ 4 หน้าที่ 22-30)
ในหนังสือ “อิกติฎออ อัศ-ศิรอฎ อัล-มุสตะกีม ฟี มุคอละฟะฮฺ อัศ-หาบ อัล-ญะฮีม” (เล่มที่ 1 หน้าที่ 446) ของท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ มีว่า “เมื่อ ท่านอุมัรฺ อิบนุ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กำหนดรายการเงินกู้ให้เปล่า ท่านได้บันทึกรายชื่อผู้คนตามลำดับเชื้อสายที่เหมาะสม ซึ่งท่านจะเริ่มเรียงตั้งแต่บุคคลที่มีเชื้อสายใกล้ชิดกับท่านเราะสูลมากที่สุดเป็นลำดับแรก และเมื่อเชื้อสายของคนอาหรับหมดแล้ว ท่านก็จะระบุบุคคลที่ไม่ใช่คนอาหรับ (อะญัม) ตามมา การลงทะเบียนรายชื่อเช่นนี้มีมาตั้งแต่ในยุคสมัยของบรรดา “คุละฟาอ์ อัร-รอชิดีน” (เคาะลีฟะฮฺทั้งสี่ท่าน) ตลอดจนสมัยการปกครองของราชวงศ์อุมัยยะฮฺ และสมัยราชวงศ์อับบาส เรื่อยมาจนกระทั่งได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบหลังจากนั้น”
ท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้กล่าวไว้อีก (ในหนังสือดังกล่าวเล่มที่ 1 หน้าที่ 453) ว่า “ท่านจงพิจารณาดูท่านอุมัรฺ อิบนุ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ในขณะที่ท่านได้ใส่รายชื่อบุคคลในทะเบียนรายชื่อเงินกู้ มีผู้คน(ที่รับผิดชอบเรื่องนี้)กล่าวกับท่านว่า “ท่านอะมีริลมุอ์มินีน ท่านก็เริ่มใส่ชื่อท่านลงไปเป็นคนแรกก่อนสิ” ท่านอุมัรฺกล่าวว่า “ไม่ได้ แต่ท่านทั้งหลายจงใส่ชื่ออุมัรฺไว้ตามที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้" แล้วท่านก็ได้ใส่รายชื่อโดยเริ่มต้นด้วยวงศ์วานของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นอันดับต้น แล้วตามมาด้วยบุคคลถัดมา จนกระทั่งเวียนมาถึงรอบของท่านอุมัรฺซึ่งอยู่ในตระกูลอะดีย์ ซึ่งเป็นตระกูลที่ห่างไกลจากเชื้อสายส่วนใหญ่ของเผ่ากุเรช”
ในตอนต้นที่ผ่านมา เราได้กล่าวถึงหะดีษฺเกี่ยวกับเรื่องความประเสริฐของวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า : “ทุกสายสัมพันธ์ และทุกเชื้อสายต้องขาดสะบั้นลงในวันกิยามะฮฺ นอกจากสายสัมพันธ์ และเชื้อสายของฉัน(ท่านนบี) เท่านั้น” หะดีษฺนี้เองที่ผลักดันให้ท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ไปขอหมั้น อุมมุ กัลษูม บุตรสาวของท่านอะลียฺมาเป็นภรรยา และท่านอัล-อัลบานีย์ ได้ระบุหะดีษนี้ไว้ในหนังสือ “อัส-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ” ภายใต้ (หะดีษเลขที่ 2036) สายรายงานหะดีษนี้มาจากท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ
เป็นที่ทราบกันดีว่า บรรดาคุละฟาอ์ อัร-รอชิดีน ทั้งสี่ท่าน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม (ผู้ปกครองผู้ยึดมั่นในหลักธรรมอย่างเที่ยงตรงทั้งสี่ท่าน) ล้วนเป็นพ่อตา-ลูกเขยของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งสิ้น ดังเช่น ท่านอบูบักรฺ และท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ทั้งสองได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงด้วยการที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สมรสกับบุตรสาวของท่านทั้งสอง คือ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ และท่านหญิงหัฟเศาะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา
ส่วนท่านอุษมาน และท่านอะลียฺได้รับเกียรติเป็นอย่างมาก ในการที่ให้ท่านทั้งสองทำการสมรสกับบุตรสาวของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยท่านอุษมานได้สมรสกับท่านหญิง รุก็อยยะฮฺ และภายหลังจากที่ท่านหญิงได้เสียชีวิตลงไป ท่านอุษมานก็ได้รับเกียรติให้สมรสกับน้องสาวของท่านหญิงรุก็อยยะฮฺ คือท่านหญิง อุมมุ กัลษูม ด้วยเหตุนี้ท่านอุษมานจึงได้รับการขนานนามว่า “เจ้าของรัศมีสองรัศมี” (ซุนนูร็อยนิ)
ในส่วนของท่านอะลียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ นั้นได้สมรสกับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ซึ่งเป็นบุตรสาวคนสุดท้องของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ในหนังสือ “สิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอ์” ของท่าน อัซ-ซะฮะบียฺ และในหนังสือ “ตะฮฺซีบ อัต-ตะฮฺซีบ” ของท่านอิบนุ หะญัรฺ ได้ระบุเกี่ยวกับประวัติของท่านอับบาสว่า : “ท่าน อับบาสนั้น เมื่อท่านเดินผ่านท่านอุมัรฺ และท่านอุษมาน ซึ่งขณะที่ท่านทั้งสองกำลังขี่พาหนะอยู่ ทั้งสองจะลงมายืนอยู่ด้านล่าง จนกว่าท่านอับบาสจะผ่านไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้เป็นอาของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ท่านอุมัรฺ อิบนุ อับดุลอะซี๊ซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ
อุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ
ในหนังสือ “อัฏ-เฏาะบะกอต” ของ อิบนุ สะอัด (เล่มที่5 หน้าที่ 333) และ (เล่มที่ 5 หน้าที่ 387–388) ด้วยสายรายงานของเขาที่สืบถึงฟาฏิมะฮฺ บุตรสาวของท่านอะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ เล่าว่า ท่านอุมัรฺ อิบนุ อับดุลอะซีซ ได้กล่าวแก่ฟาฏิมะฮฺว่า : “โอ้ บุตรีของท่านอะลียฺเอ๋ย! ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า ไม่มีวงศ์วานใดบนหน้าแผ่นดินนี้ จะเป็นที่รักสำหรับฉันยิ่งไปกว่าพวกท่าน และแน่แท้ พวกท่านนั้นเป็นที่รักสำหรับฉันยิ่งกว่าวงศ์วานของฉันเองเสียอีก”

อบู บักรฺ บิน อบี ชัยบะฮฺ
ในหนังสือ “ตะฮฺซีบ อัล-กะมาล” ของอัล-มิซซียฺ เกี่ยวกับประวัติของท่านอะลียฺ อิบนุ หุสัยนฺ ท่านอบูบักรฺ บิน อบี ชัยบะฮฺ เราหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า : "สายรายงานที่ถือว่าแข็งแรงที่สุดคือ สายรายงานจากอัซ-ซุฮฺรีย์ รายงานจากอะลียฺ อิบนุ หุสัยนฺ จากบิดาของเขา (อัล-หุสัยนฺ) จากท่านอะลียฺ”

ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ
อิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-อะกีดะฮฺ อัล-วาสิฏียะฮฺ” ว่า : “และพวกเขา (อะฮฺลุส สุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ) จะรักใคร่ให้เกียรติวงศ์วานของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และยอมรับให้เป็นผู้ปกครอง และเฝ้าจดคำสั่งเสียของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ได้กำชับเกี่ยวกับคนเหล่านั้น โดยที่ท่านได้กล่าวไว้ในวัน “เฆาะดีรฺคุม” ว่า : “ฉันขอเตือนพวกท่านให้กล่าวคำรำลึกถึงอัลลอฮฺเกี่ยวกับวงศ์วานของฉัน” และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้เช่นเดียวกับท่านอับบาส ซึ่งเป็นอาของท่าน ขณะที่ได้ไปปรับทุกข์กับท่านนบีว่า “กุเรชบางคนทำกักฃฬะกับตระกูลฮาชิม” ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า : “ขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ พวกเขาจะยังไม่ศรัทธา (อีมาน) จนกว่าพวกเขาจะได้รักใคร่พวกท่านเพื่ออัลลอฮฺ และเพราะการเป็นวงศ์ญาติที่ใกล้ชิดของฉัน” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า : “แท้จริง อัลลอฮฺ ได้ทรงคัดเลือกเผ่ากินานะฮฺ มาจากลูกหลาน(บนี)ของท่านนบีอิสมาอีล และทรงคัดเลือกกุเรชมาจากเผ่ากินานะฮฺ และทรงคัดเลือกตระกูลฮาชิมมาจากกุเรช และทรงคัดเลือกฉันมาจากตระกูลฮาชิม” พวกเขา (อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ) ถือว่าบรรดาภรรยาของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นมิตรและเป็นมารดาแห่งบรรดาผู้ศรัทธา และศรัทธาเชื่อมั่นว่า บรรดาเธอเหล่านั้นเป็นภรรยาของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺด้วย โดยเฉพาะท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ซึ่งเธอเป็นมารดาของลูกๆ ของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เธอเป็นบุคคลแรกที่ได้ศรัทธาต่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เธอเป็นกำลังสำคัญที่สนับสนุนกิจการงานของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเธอเป็นผู้ที่ได้รับฐานะตำแหน่งอันสูงเกียรติจากท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เธอเป็นผู้มีความศรัทธามั่น เป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริตใจ และท่านหญิงอาอิชะฮฺ ผู้ได้ฉายาว่า “อัศ-ศิดดีเกาะฮฺ บินติ อัศ-ศิดดีก” เป็นบุตรีของผู้ที่ได้ชื่อว่า “อัศ-ศิดดีก” (ผู้มีความศรัทธามั่น ผู้มีความเชื่อมั่นอย่างสุจริตใจ) เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เธอเป็นบุคคลที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวถึงว่า : “ความประเสริฐของอาอิชะฮฺ (ที่ประเสริฐเหนือกว่าสตรีทั้งหลาย) นั้น เสมือนกับความประเสริฐของอัษ-ษะรีด(ข้าวโอ๊ดต้ม มีลักษณะคล้ายข้าวต้มผสมนมและน้ำตาล) ซึ่งดีกว่าอาหารทั่วๆ ไป” และพวกเขา (อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ) จะทำตัวให้บริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับแนวทางของพวกชีอะฮฺ “อัร-เราะวาฟิฎฺ” ที่อาฆาต เคียดแค้น และสาปแช่งด่าว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺ และพวกเขา (อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ) จะทำตัวให้บริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับแนวทางของพวก “อัน-นะวาศิบ” (กลุ่มบุคคลที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับวงศ์วานของท่านเราะสูล) เป็นผู้สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้แก่วงศ์วานของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ”
ท่าน อิบนุ ตัยมียะฮฺ ยังได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-วะศียะฮฺ อัล-กุบรอ” เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา” (เล่มที่ 3 หน้าที่ 407-408) ว่า : “และนอกจากนี้ วงศ์วานของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังได้รับสิทธิต่างๆมากมายที่จำเป็นจะต้องให้ความเอาใจใส่จากสิทธิเหล่านั้น เพราะอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงกำหนดสิทธิ์ “อัล-คุมุสฺ” (หนึ่งในห้าทรัพย์เชลย) และ “อัล-ฟัยอ์” (ทรัพย์ที่ยึดได้จากศัตรูโดยมิได้เกิดการสู้รบกัน) ให้ท่านเหล่านั้น และอัลลอฮฺ ตะอาลา ยังทรงกำชับให้ขอพรให้แก่ท่านเหล่านั้น พร้อมกับการขอพรให้แก่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวแก่พวกเราว่า “ท่านทั้งหลาย จงกล่าวเถิดว่า โอ้ อัลลอฮฺ! ขอพระองค์ได้ทรงโปรดประทานพรแก่มุหัมมัด และวงศ์วานของมุหัมมัด เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงประทานพรแด่อิบรอฮีมมาก่อนแล้ว แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ได้รับการสรรเสริญยิ่ง และทรงไว้ซึ่งเกียรติอันสูงส่งยิ่ง และขอพระองค์ได้ทรงประทานความเป็นศิริมงคลแด่มุหัมมัด และแด่วงศ์วานของมุหัมมัด เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงประทานความเป็นสิริมงคลแด่วงศ์วานของอิบรอฮีม มาก่อน แท้จริง พระองค์ทรงเป็นผู้ได้รับการสรรเสริญยิ่ง และทรงไว้ซึ่งเกียรติอันสูงส่ง” วงศ์วานของมุหัมมัดนั้นคือ บุคคลที่เศาะดะเกาะฮฺ (ซะกาต) เป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) นี่คือทัศนะที่ท่านอิมาม อัช-ชาฟิอีย์ ท่านอิมาม อะหฺมัด อิบนุ หันบัลฺ และบรรดานักวิชาการอื่นๆ นอกเหนือจากท่านทั้งสองได้กล่าวไว้ ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้กล่าวว่า “แท้จริง เศาะดะเกาะฮฺ (ทานบริจาค) นั้นไม่เป็นที่อนุมัติ (หะรอม) แก่มุหัมมัด และไม่เป็นที่อนุมัติแก่วงศ์วานของมุหัมมัด” แท้จริง อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงกล่าวไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า :

﴿إِنَّمَا يُرِيدُ ٱللَّهُ لِيُذۡهِبَ عَنكُمُ ٱلرِّجۡسَ أَهۡلَ ٱلۡبَيۡتِ وَيُطَهِّرَكُمۡ تَطۡهِيرٗا ٣٣ ﴾ [الأحزاب: ٣٣]

"แท้จริง อัลลอฮฺทรงต้องการขจัดความผิดที่เป็นบาปให้พ้นไปจากพวกเจ้า โอ้ บรรดาวงศ์วาน (ของนบี) และพระองค์ทรงประสงค์ให้พวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง" (อัล-อะหฺซาบ : 33)
พระองค์ทรงห้ามมิให้ท่านเหล่านั้นรับเศาะดะเกาะฮฺ (ทานบริจาค) เพราะเศาะดะเกาะฮฺ เป็นเหงื่อไคลของผู้คนทั้งหลาย” (จบการอ้าง)
ท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้กล่าวไว้ดังปรากฎอยู่ใน “มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตะวา” ของท่าน (เล่มที่ 28 หน้าที่ 491) ว่า : "จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความรักใคร่ ให้ความใกล้ชิดสนิดสนม ให้การช่วยเหลือต่อวงศ์วานของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และต้องมีความระมัดระวังเอาใจใส่ในสิทธิของท่านเหล่านั้นอย่างแท้จริง”

อิบนุล ก็อยยิม
ท่านอิมาม อิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวไว้ในการแจกแจงรายละเอียดถึงสาเหตุต่างๆ ที่มีการยอมรับการตีความที่ไม่ถูกต้องไร้สาระ(อัต-ตะอ์วีลฺ อัล-ฟาสิด) ว่า : “สาเหตุที่สาม ผู้ที่ตีความหมายโดยการอ้างอิงว่า นำมาจากผู้ที่มีขีดขั้นความสามรถสูง มีชาติตระกูลดี เป็นผู้ที่ได้รับการกล่าวขานกันอย่างกว้างไกล เป็นที่ยอมรับของคนที่มีสติปัญญา มีมันสมอง หรืออ้างอิงการตีความว่ามาจากวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรืออ้างว่า (การตีความหมายนี้) มาจากผู้ที่ได้รับการยกย่องชมเชย ได้รับการสรรเสริญอย่างดีงามและมีสัจจะวาจาจากประชาชาติ(มุสลิม) การอ้างอิงเช่นนั้น เพียงเพื่อต้องการให้การตีความมีผลเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหัวใจของบรรดาคนโง่เขลาเบาปัญญา ดังกล่าว นับเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ที่ต้องให้ความสำคัญกับคำพูดของบุคคลที่มีเกียรติ มีระดับ ใหญ่โตของพวกเขา จนถึงขนาดยกย่องเทิดทูนคำพูด (ผู้ทรงเกียรติ) ให้อยู่เหนือคำดำรัสของอัลลอฮฺ และคำพูดของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เสียอีก โดยที่พวกเขาเหล่านั้นจะอ้างว่า เขาคนนั้นเป็นผู้รู้ในเรื่องของอัลลอฮฺมากกว่าพวกเรา และด้วยแนวทางนี้เอง กลุ่ม “อัร-รอฟิเฎาะฮฺ” กลุ่ม “อัล-บาฏินียะฮฺ” กลุ่ม “อัล-อิสมาอีลียะฮฺ” และกลุ่ม “อัน-นุศ็อยรียะฮฺ” จึงพยายามเชื่อมโยงสิ่งที่เป็นเท็จ และการตีความผิดๆ ของพวกเขาให้สอดคล้องกันในช่วงเวลาที่พวกเขาพาดพิงสิ่งเหล่านั้นถึงวงศ์วาน ของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เนื่องจากพวกเขารู้ดีว่าบรรดามุสลิมนั้น มีความเห็นตรงกันว่า : “จะต้องมีความรัก และจะต้องยกย่องให้เกียรติต่อวงศ์วานของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม”
ดังนั้น พวกเขา (กลุ่มอัรรอฟิเฎาะฮฺ และกลุ่มอื่นๆ) จึงทำทีเข้ามาสังกัดอยู่กับกลุ่มมุสลิม และทำเป็นแสดงความรักใคร่ และยกย่องเทิดทูนบรรดาวงศ์วานท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ให้ปรากฏ และมีการระบุถึงเกียรติประวัติแห่งคุณงามความดีของท่านเหล่านั้น ซึ่งล้วนเป็นสิ่งลวงให้ผู้ฟังคล้อยตามไปว่า พวกเขาเป็นผู้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่แท้จริง ภายหลังจากที่ผู้คนหลงเชื่อแล้ว พวกเขาก็จะเริ่มโฆษณาชวนเชื่อสิ่งที่เป็นเท็จ และความเชื่อผิดๆ โดยอ้างว่าสิ่งเหล่านั้น มาจากท่านเหล่านั้น
ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ ! ไม่มีพระเจ้าที่แท้จริงที่ต้องเคารพอิบาดะฮฺนอกจากอัลลอฮ์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ! มีจำนวนไม่รู้เท่าไหร่จากพวกบิดเบือนและไม่ศรัทธาในอัลลอฮฺ พวกที่ไม่เลื่อมใสในศาสนา และพวกก่ออุตริกรรมได้เกิดขึ้นมาบนโลก เพียงด้วยสาเหตุที่มีพฤติกรรมที่ว่าดังกล่าวนั้น ทั้งๆ ที่คนที่ถูกอ้างเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกเขาอ้างและโฆษณาชวนเชื่อแม้แต่นิดเดียวเลย
เมื่อท่านพิจารณาถึงสาเหตุนี้แล้ว จะพบว่าในหัวใจของคนส่วนมากเขาจะไม่คิดอะไรนอกเหนือจากการนึกดี คิดดีต่อผู้พูดเท่านั้น โดยมิได้มีหลักฐานอันชัดแจ้งมาจากอัลลอฮฺที่จะชักนำพวกเขาไปสู่ความรู้สึกดังกล่าว สิ่งนี้คือ มรดกตกทอดมาจากบรรดาผู้ที่ขัดแย้งกับศาสนาของบรรดาเราะสูลด้วยการอ้างว่าต้องยืนหยัดและยึดมั่นในสิ่งบรรดาบรรพบุรุษและบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้วเคยยึดถือมาก่อน นี่คือสภาพของคนทุกคนที่ลอกเลียนแบบบุคคลที่เขายกย่องให้เกียรติในสิ่งที่ขัดกับความถูกต้อง ซึ่งจะมีให้เห็นแบบนี้อีกต่อไปจนกระทั่งถึงวันกิยามะฮฺ” (จากหนังสือ “มุคตะศ็อร อัศ-เศาะวาอิก อัล-มุรสะละฮฺ” เล่มที่ 1 หน้าที่ 90)

อิบนุ กะษีรฺ
ท่าน อิบนุ กะษีรฺ ได้กล่าวไว้ในตัฟสีรฺของท่านที่ได้อธิบายความหมายอายะฮฺในซูเราะฮฺ อัช-ชูรอ หลังจากนั้นท่านได้ชี้แจงรายละเอียดว่า : ที่ถูกต้องแล้ว การอธิบายอายะฮ์นี้ตามคำมุ่งหมายของคำว่า “อัล-กุรบา” คือ ตระกูลหนึ่งของเผ่ากุเรช ดังที่เป็นการอธิบายของท่านอิบนุ อับบาส สำหรับอายะฮฺนี้ ที่มีระบุอยู่ในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ ท่านอิบนุ กะษีรฺได้กล่าวว่า “เราจะไม่ปฏิเสธการกำชับสั่งเสียที่เน้นให้สนใจต่อวงศ์วานของท่านนบี เราจะไม่ปฏิเสธคำสั่งใช้ให้ทำความดีงาม ให้เกียรติ ให้ความเคารพ ให้ความนอบน้อมต่อท่านเหล่านั้น เพราะท่านเหล่านั้นสืบมาจากเชื้อสายที่สะอาดบริสุทธิ์ มาจากครอบครัวที่สูงส่งที่สุดที่มีอยู่บนหน้าแผ่นดินนี้ สูงทั้งเกียรติยศ ความรุ่งเรือง สูงทั้งวงศ์ตระกูล และสูงทั้งเชื้อสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบรรดาท่านเหล่านั้นเป็นผู้ดำเนินตามแนวทางแห่งนบีที่ถูกต้องแจ่มแจ้งชัดเจน เหมือนดังที่บรรพชนของบรรดาท่านเหล่านั้นได้ดำเนินตามมาแล้วก่อนหน้า อย่างเช่น ท่านอัล-อับบาส และทายาทของท่าน ท่านอะลียฺ และวงศ์วานของท่าน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม อัจญ์มะอีน”
หลังจากที่ท่านอิบนุ กะษีรฺ ได้นำเอารายงานทั้งสองรายงานมาระบุ คือ จากท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานหนึ่ง และอีกรายงานหนึ่งจากท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เกี่ยวกับเรื่องการเคารพยกย่องให้เกียรติวงศ์วานของท่านนบี และแจกแจงถึงรายละเอียดเกี่ยวกับฐานันดร และตำแหน่งอันทรงศักดิ์ของบรรดาท่านเหล่านั้นแล้ว ท่านกล่าวว่า : “ดังนั้น สภาพตามตัวอย่างของเชคทั้งสอง (อบูบักรฺ และอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา)นี่แหละ คือสิ่งจำเป็นที่เราต้องปฏิบัติตาม(ในการให้เกียรติอะฮฺลุลบัยตฺ) และด้วยเหตุนี้เอง ท่านทั้งสองจึงเป็นผู้ศรัทธา(มุอ์มินีน)ที่ประเสริฐ ที่สุดรองลงมาจากท่านนบี และบรรดาเราะสูลทั้งมวล ขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยท่านทั้งสอง ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งมวลด้วยเถิด”

อิบนุ หะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานียฺ
ท่าน อิบนุ หะญัรฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ฟัตหุลบารี” (เล่มที่ 3 หน้าที่ 11) เกี่ยวกับหะดีษในสายรายงานที่มาการสืบมาจากท่านอะลียฺ บิน หุสัยนฺ จากหุสัยนฺ บิน อะลียฺ จากท่านอะลียฺ บิน อบี ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ท่านอิบนุ หะญัรฺ กล่าวว่า : “สายรายงานนี้เป็นหนึ่งในจำนวนสายรายงานที่ถูกต้องที่สุด และเป็นสายรายงานที่มาจากประวัติบุคคลที่สูงศักดิ์ที่สุดตามที่ได้มีปรากฏมา เกี่ยวกับบุคคลที่รายงานหะดีษฺมาจากผู้เป็นบิดาของเขา และผู้เป็นปู่ของเขา”

มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ
สำหรับชัยคุลอิสลาม มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ เราะหิมะฮุลลอฮฺ นั้น ท่านมีบุตรชายหกคน และบุตรีหนึ่งคน คือ อับดุลลอฮฺ อะลียฺ หะซัน หุสัยฮฺ อิบรอฮีม อับดุลอะซีซ และฟาฏิมะฮฺ โดยตั้งชื่อทั้งหมดให้เป็นชื่อเดียวกับวงศ์วานของท่านนบี นอกจาก อับดุลอะซีซ เท่านั้น สำหรับอับดุลลอฮฺ และอิบรอฮีมนั้น ตั้งตามชื่อเช่นเดียวกับชื่อบุตรชายทั้งสองท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ส่วนท่านที่เหลือคือ อะลียฺ ฟาฏิมะฮฺ หะสัน และหุสัยนฺ นั้น เป็นบุตรเขย บุตรสาว และหลานรักทั้งสองของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
และการที่ท่านเลือกตั้งชื่อบุตรตามชื่อของบรรดาท่านเหล่านั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ท่านมีความรักความเคารพในวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และให้เกียรติต่อท่านเหล่านั้นเป็นอย่างมาก และแน่นอน ยังมีการนำชื่อเหล่านั้นมาตั้งเป็นชื่อหลานๆ ของท่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกด้วย
ในช่วงสุดท้ายของบทนี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวยืนยันว่า อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงประทานบุตรชาย และบุตรสาวให้แก่ข้าพเจ้าหลายคน ข้าพเจ้าก็ได้ตั้งชื่อพวกเขาว่า อะลียฺ อัล-หะสัน อัล-หุสัยนฺ ฟาฏิมะฮฺ และตั้งชื่อเดียวกับบรรดามารดาของบรรดาผู้ศรัทธาทั้งเจ็ดท่าน และบรรดาผู้ที่ตั้งชื่อเหมือนกับชื่อของบรรดาท่านเหล่านั้น ซึ่งได้รวมไว้ซึ่งความประเสริฐในฐานะที่เป็นทั้งเศาะหาบะฮฺและเป็นญาติใกล้ชิดกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
บรรดาการสรรเสริญทั้งมวลล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์เท่านั้น ผู้ทรงประทานให้ข้าพเจ้ามีความเคารพรักต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และต่อวงศ์วานของท่าน และข้าพเจ้าขอวิงวอนต่อพระองค์ ได้ทรงให้ข้าพเจ้าได้รับพระมหากรุณาธิคุณ (นิอฺมะฮฺ) นี้ยาวนานตลอดไป และขอพระองค์ได้ทรงคุ้มครองรักษาหัวใจของข้าพระองค์ให้พ้นจากความอิจฉาริษยา ความอาฆาตมาดร้าย เคียดแค้นต่อผู้หนึ่งผู้ใดในบรรดาท่านเหล่านั้นเลย และขอทรงคุ้มครองรักษาลิ้นของข้าพระองค์ให้ห่างไกลจากการกล่าวถึงท่านเหล่านั้นในทางที่ไม่เหมาะสมด้วยเถิด
อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงกล่าวว่า :

﴿ وَٱلَّذِينَ جَآءُو مِنۢ بَعۡدِهِمۡ يَقُولُونَ رَبَّنَا ٱغۡفِرۡ لَنَا وَلِإِخۡوَٰنِنَا ٱلَّذِينَ سَبَقُونَا بِٱلۡإِيمَٰنِ وَلَا تَجۡعَلۡ فِي قُلُوبِنَا غِلّٗا لِّلَّذِينَ ءَامَنُواْ رَبَّنَآ إِنَّكَ رَءُوفٞ رَّحِيمٌ ١٠ ﴾ [الحشر: ١٠]

“และบรรดาผู้ที่มาภายหลังจากพวกเขาเหล่านั้นจะกล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของเรา ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่พวกเรา และพี่น้องของพวกเรา ซึ่งพวกเขาเป็นผู้ศรัทธามาก่อนหน้าพวกเรามาแล้ว และขอพระองค์อย่าได้ทรงให้มีความอาฆาตเคียดแค้นเกิดขึ้นในหัวใจของพวกเรา ต่อบรรดาผู้ศรัทธาเหล่านั้นเลย ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของเรา แท้จริง พระองค์ท่านเป็นผู้ทรงเอ็นดู เป็นผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัล-หัชรฺ 10)


บทที่ 6
การสรรเสริญสดุดีของนักวิชาการบางท่าน
ต่อเศาะหาบะฮฺ ที่มาจาก “อะฮฺลุล บัยตฺ”

ท่านอัล-อับบาส อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ผู้เป็นอาของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
อัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “สิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอ์” (เล่มที่ 2 หน้าที่ 79-80) ว่า “ท่าน อัล-อับบาส เป็นคนรูปร่างสูง และรูปหล่อที่สุด พูดจาไพเราะ และเสียงดังชัดเจนที่สุด ทั้งเป็นผู้มีความขันติอดทนสูงมาก และมีลักษณะเป็นผู้นำ (ที่ดี)”
ท่านอัซ-ซุบัยรฺ อิบนุ บักการฺ กล่าวว่า “ท่าน อัล-อับบาส มีเสื้อไว้สำหรับให้คนยากไร้ของตระกูลฮาชิมได้ใช้สวมใส่ ท่านมีถาดใส่อาหารใบใหญ่ไว้เพื่อใส่อาหารเลี้ยงคนที่หิวโหย และท่านมีบริเวณไว้เพื่อกักขังคนโง่เขลา ท่านเป็นผู้ปกป้องเพื่อนบ้าน ท่านเสียสละทรัพย์สินเงินทอง และท่านช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม”

ท่านหัมซะฮฺ อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ผู้เป็นอาของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ท่านอิบนุ อับดิลบัรฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-อิสตีอาบ” (เล่มที่ 1 หน้าที่ 270) ใน “หาชิยะตุลอิศอบะฮฺ” ว่า “หัมซะฮฺ อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ อิบนุ ฮาชิม (ผู้เป็นอาของท่านนบี อะลัยฮิศเศาะลาตุวัสสลาม) นั้น ท่านได้รับการขนานนามว่า “อะสะดุลลอฮฺ” และ “อะสะดุเราะสูลิฮฺ” (ราชสีห์แห่งอัลลอฮฺ และ ราชสีห์แห่งเราะสูลของพระองค์) และมีชื่อรองว่า “อบู อุมาเราะฮฺ” และ “อบู ยะอฺลา” ด้วยเช่นกัน
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวถึงท่านหัมซะฮฺว่า “เป็นผู้นำที่เป็นวีรบุรุษ เป็นผู้ที่กล้าหาญชาญชัย คือ อบู อุมาเราะฮฺ และอบู ยะอฺลา อัล-กุเราะชียฺ (แห่งเผ่ากุเรช) อัล-ฮาชิมียฺ (แห่งตระกูลฮาชิม) อัล-มักกียฺ (เป็นชาวเมืองมักกะฮฺ) และหลังจากนั้นก็มาเป็น “อัล-มะดะนียฺ” (เป็นชาวเมืองมะดีนะฮฺ) อัล-บัดรีย์ (เป็นผู้ร่วมรบในสงครามบัดรฺ) อัช-ชะฮีด (เสียชีวิตเป็นชะฮีดในสงครามอุหุด) เป็นอาของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเป็นพี่น้องที่ร่วมดื่มนมมารดาเดียวกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม” (ดูหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” เล่มที่ 1 หน้าที่ 172)

อะมีรุลมุอ์มินีน อะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ
ท่านอิมาม มุสลิม ได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน (หะดีษเลขที่ 276) ด้วยสายรายงานของท่านชุร็อยหฺ อิบนุ ฮานิอ์ ได้กล่าวว่า : ฉันได้หาท่านหญิงอาอิชะฮฺ เพื่อถามเธอถึงเรื่องการลูบบนรองเท้าหุ้มข้อทั้งสองข้าง เธอได้กล่าวว่า “จำเป็นที่เธอจะต้องไปหา อิบนุ อบี ฏอลิบ แล้วก็จงถามเขา เพราะเขาร่วมเดินทางกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บ่อยครั้ง” และเราได้ถามเขา (ท่านอะลียฺ) ท่านกล่าวว่า
“ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ กำหนดไว้สำหรับผู้เดินทาง (เมื่อเสียน้ำละหมาดแล้วไม่ต้องถอดรองเท้าหุ้มข้อออก และให้ลูบไปบนรองเท้าได้เลย) โดยมีระยะเวลาสามวันกับอีกสามคืน และสำหรับผู้ที่อยู่ประจำมิได้เดินทาง มีกำหนดไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งวันกับอีกหนึ่งคืน”
และอีกรายงานหนึ่งของอิมาม มุสลิม (ท่านหญิง อาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) กล่าวว่า “ท่านจงไปหาอะลียฺ เพราะเขารู้เรื่องนี้ดีกว่า ฉัน(ชุร็อยหฺ อิบนุ ฮานิอ์)จึงได้ไปหาอะลียฺ (ถามเขาเรื่องนั้น) เขาได้เล่าเรื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในทำนองเดียวกันนั้น”
และ อิบนุ อับดิลบัรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-อิสตีอาบ” (เล่มที่ 3 หน้าที่ 51 หาชิยะฮฺ อัล-อิศอบะฮฺ) ท่านอะหฺมัด อิบนุ หัมบัล และอิสมาอีล อิบนุ อิสหาก อัล-กอฎียฺ ทั้งสองกล่าวว่า “ไม่มีเศาะหาบะฮฺคนใดที่ถูกรายงานเกี่ยวกับความประเสริฐของเขา ที่มีสายรายงานในเรื่องดังกล่าวดีไปกว่าของท่านอะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ” อะหฺมัด อิบนุ ชุอัยบ์ อิบนุ อะลียฺ อัน-นะสาอียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ก็ได้กล่าวไว้เช่นเดียวกันนี้
และอิบนุ อับดิลบัรฺก็ได้กล่าวไว้เช่นกัน (ในหนังสือเล่มดังกล่าว เล่มที่ 3 หน้าที่ 47) ว่า ได้มีผู้ถามท่านอัล-หะสัน อิบนุ อะบิลหะซัน อัล-บัศรียฺ ถึงท่านอะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เขาตอบว่า “ขอ สาบานต่ออัลลอฮฺว่า ท่านอะลียฺนั้นเป็นลูกธนูของอัลลอฮฺที่เที่ยงตรงต่อบรรดาเป้าหมายที่พุ่งเป้าเข้าใส่ศัตรูของพระองค์ และเป็น “ร็อบบานียฺ” (ผู้ที่รู้จักกันดียิ่ง ณ อัลลอฮฺ) แห่งประชาชาตินี้ เป็นผู้มาก่อนใคร (นับเป็นคนแรกที่เข้ารับอิสลามที่มีอายุน้อยที่สุด) เป็นผู้ใกล้ชิดกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มากที่สุดแห่งประชาชาตินี้ เขาไม่เคยหลับใหล ไม่เคยทอดทิ้งคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ไม่เคยถูกตำหนิในเรื่องศาสนาของอัลลอฮฺ ไม่เคยถูกตำหนิ ไม่เคยถูกกล่าวหาด้วยข้อหายักยอกทรัพย์สินของอัลลอฮฺ เขาได้มอบความเด็ดขาดของอัลกุรอานให้แก่อัลกุรอาน ดังนั้น เขาจึงปลอดภัยโดยได้รับสวนสวรรค์ที่สวยหรูเป็นการตอบแทน คนที่กล่าวมานั้นคือ อะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ โอ้ คนถามผู้เขลาเอ๋ย”
ท่าน อิบนุ อับดิลบัรฺ ได้กล่าวไว้เช่นเดียวกัน ในหนังสือ “อัล-อิสตีอาบ” เล่มที่ 3 หน้าที่ 52 ว่า อัล-อะศ็อม์มฺ ได้รายงานจาก อับบาส อัด-ดูรียฺ จากยะหฺยา อิบนุ มะอีน เขากล่าวว่า “คนที่ดีที่สุดแห่งประชาชาตินี้รองลงมาจากนบีของเรา คือ ท่านอบูบักรฺ ท่านอุมัรฺ ถัดมา คือ ท่านอุษมาน และถัดมาคือ ท่านอะลียฺ การเรียงลำดับนี้ถือเป็นมัซฮับของเรา และเป็นทัศนะของบรรดาอิมามของพวกเรา”
ท่าน อิบนุ อับดิลบัรฺ ได้กล่าวไว้อีกเช่นกัน (ในหนังสือเล่มดังกล่าวในหน้าที่ 65) ว่า “อบู อะหฺมัด อัซซุบัยรีย์ และคนอื่นๆ ได้รายงานจาก มาลิก อิบนุ มิฆฺวัล จากอุก็อยลฺ จากอัช-ชะอฺบีย์ ได้กล่าวว่า อัลเกาะมะฮฺ กล่าวแก่ฉันว่า “ท่านรู้ไหมว่าท่านอะลียฺเปรียบเสมือนอะไรในประชาชาตินี้ ?” ฉันกล่าวว่า “แล้วท่านเปรียบเสมือนอะไรเล่า ?” เขาตอบว่า “เขา (อะลียฺ) เปรียบเสมือนท่านนบีอีซา อิบนุ มัรยัม ซึ่งมีประชาชาติกลุ่มหนึ่งรักเขา จนกระทั่งได้หายนะไปเพราะความรักในตัวเขา(อีซา) และประชาชาติอีกกลุ่มหนึ่งโกรธแค้นเขาจนกระทั่งได้หายนะไปเพราะความโกรธแค้นในตัวเขา(อีซา)”
ผู้ถูกเปรียบเทียบตามความหมายของอัลกอมะฮฺ คือ พวก “ยะฮูดีย์” และพวก “นะศอรอ” นั่นเอง และผู้ที่ถูกมองว่าเหมือนพวกนั้น คือ พวก “อัล-เคาะวาริจญ์” (พวกที่มีความขัดแย้งแล้วได้วางแผนสังหารท่านอะลียฺ) และพวก “อัร-รอฟิเฎาะฮฺ” (พวกที่อ้างตนว่ารักท่านอะลียฺ)
อิบนุ อับดิลบัรฺ ได้กล่าวไว้อีกเช่นเดียวกันในหนังสือ “อัล-อิสตีอาบ” (เล่มที่ 3 หน้าที่ 33) ว่า “อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ เห็นพ้องต้องกันว่า ท่านอะลียฺได้มีโอกาสทำละหมาดหันหน้าไปยังสองกิบละฮฺ (บัยตุลมักดิส และ อัล-กะอฺบะฮฺ) ท่านได้อพยพจากบ้านเกิดของท่าน และได้เข้าร่วมสมรภูมิบัดรฺ, อัล-หุดัยบียะฮฺ และสมรภูมิอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนั้น และท่านได้แสดงฝีมืออย่างดียิ่ง ณ สมรภูมิบัดรฺ สมรภูมิอุหุด สมรภูมิอัล-ค็อนดัก สมรภูมิคอยบัรฺ ท่านเป็นผู้ที่สุดจะพรรณนาถึงในสมรภูมิเหล่านั้น ท่านทำหน้าที่ของท่านในสมรภูมิต่างๆ ในฐานะตำแหน่งอันทรงเกียรติ และท่านเป็นผู้ถือธงของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในสถานที่สำคัญๆ มากมาย และในวันที่เกิดสมรภูมิบัดรฺ ท่านได้เป็นผู้ถือธงของท่านเราะสูล ถึงแม้ว่าจะมีทัศนะอื่นในเรื่องดังกล่าวก็ตาม และ ในวันที่เกิดสมรภูมิอุหุดในขณะที่ท่านมุศอับ อิบนุ อุมัยรฺ ได้ถูกสังหาร ซึ่งในขณะนั้นธงอยู่ในมือของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และท่านได้นำเอาธงนั้นส่งต่อให้ท่านอะลียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ”
ท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “มินฮาจญ์ อัส-สุนนะฮฺ” (เล่มที่ 6 หน้าที่ 178) ว่า “และ อะลียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ นั้น บุคคลทั้งสอง(ท่านอบูบักรฺ และท่านอุมัรฺ) ยังคงเป็นผู้ให้เกียรติ ให้การยกย่องอย่างสูงสุดทุกวิถีทาง ยิ่งกว่านั้นท่านยังยกย่องให้เกียรติกับตระกูลฮาชิมทุกคน มากกว่าคนอื่นๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการมอบของกำนัลให้ ก็เพราะท่านทั้งสองได้ให้ความสำคัญกับท่านอะลียฺ ทั้งในด้านตำแหน่ง ด้านเกียรติยศ ด้านความรัก ด้านการยอมรับ ด้านการให้การสรรเสริญ และในด้านให้การเทิดทูนเกียรติ ท่านทั้งสอง (อบูบักรฺ และอุมัรฺ) ได้ปฏิบัติต่อบรรดาผู้ที่อยู่ในฐานะเดียวกับท่านอะลียฺ เช่นเดียวกันกับที่ได้ปฏิบัติต่อท่านอะลียฺ และท่านทั้งสองจะให้เกียรติยกย่องท่านอะลียฺ ซึ่งเป็นไปตามที่อัลลอฮฺได้ทรงให้เกียรติแก่ท่านอะลียฺเหนือกว่าบุคคลที่ไม่มีลักษณะเหมือนท่านอะลียฺ และทุกคนรู้ดีว่า ไม่เคยมีคำพูดหยาบคายไม่สุภาพกับท่านอะลียฺออกมาจากท่านทั้งสองเลย และแม้แต่กับคนในตระกูลฮาชิมสักคนก็ยังไม่เคยมีเช่นกัน”
จนกระทั่งท่าน (อิบนุ ตัยมียะฮฺ) ได้พูดว่า “เช่นเดียวกับอะลียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ แน่นอนท่านมีความรักอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอกับท่านทั้งสอง (อบูบักรฺ และอุมัรฺ) ท่านให้การยอมรับ ท่านให้การยกย่องให้เกียรติต่อท่านทั้งสองมากกว่าคนทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีถึงสภาพของท่านเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ไม่มีใครเคยได้ยินว่า มีคำพูดหยาบคายไม่สุภาพออกมาจากท่านอะลียฺ ออกมาทำลายสิทธิของท่านทั้งสอง(อบูบักรฺ และอุมัรฺ)เลย ท่านอะลียฺไม่เคยพูดว่าตัวท่านเป็นผู้เหมาะสมที่สุดต่อการบริหารปกครองยิ่งกว่าบุคคลทั้งสอง ซึ่งสิ่งนี้เป็นที่ทราบกันดี สำหรับผู้ที่ศึกษาเรียนรู้หะดีษต่างๆ ที่แข็งแรงถูกต้อง ซึ่งเป็นการรายงานมาจากบุคคลมากมายหลายสายรายงาน ไม่มีทางที่บุคคลที่รายงานเหล่านั้นจะรวมหัวโกหกได้ ไม่ว่าจะในเรื่องเฉพาะหรือเรื่องทั่วๆ ไป และที่สำคัญก็คือ เป็นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากผู้รายงานหะดีษที่เป็นที่เชื่อถือได้ทั้งสิ้น"
ท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้กล่าวไว้อีกเช่นกันในหนังสือ “มินฮาจญ์ อัส-สุนนะฮฺ” (เล่มที่ 6 หน้าที่ 18) ว่า : “ส่วนท่านอะลียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ นั้น อะฮฺลุสสุนนะฮฺ เคารพรักท่านอะลียฺ เป็นมิตรกับท่าน และพวกเขายืนยันว่า ท่านเป็นหนึ่งใน “คุละฟาอ์ อัร-รอชิดีน” และเป็นผู้ปกครองที่เที่ยงธรรมคนหนึ่ง”
และอิบนุ หะญัรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัต-ตักรีบ” ว่า “ท่าน อะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ อิบนุ ฮาชิม อัล-ฮาชิมีย์ หัยดะเราะฮฺ อบูตุรอบ อบุลหะซะนัยนฺ เป็นลูกชายของลุงของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเป็นสามีของบุตรีของท่านเราะสูล เป็นหนึ่งในบรรพชนอิสลามรุ่นแรก และมีนักวิชาการเป็นจำนวนมากได้ให้น้ำหนักว่า ท่านอะลียฺเป็นผู้เข้ารับอิสลามคนแรก เป็นแนวหน้าของคนอาหรับ และเป็นหนึ่งในจำนวนสิบท่าน (ที่ได้เข้าสวรรค์โดยไม่ต้องถูกสอบสวน) ท่านได้เสียชีวิตลงในเดือนเราะมะฎอนปี ฮ.ศ.ที่ 40 ซึ่งในช่วงระยะเวลานั้น ท่านเป็นบุคคลที่ประเสริฐกว่าใครในบรรดาผู้ที่มีชีวิตอยู่ในมวลมนุษย์บนหน้าแผ่นดินนี้ ดังกล่าวนี้นับเป็นมติเอกฉันท์ของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ ท่านมีอายุรวมได้ 63 ปี ตามทัศนะที่มีน้ำหนักที่สุด”
อะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ นั้นมีบุตรชาย 15 คน และบุตรสาว 18 คน อัล-อามิรียฺได้ระบุเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “อัร-ริยาฎุลมุสตะฏอบะฮฺ ฟี ญุมละฮฺ มัน เราะวา ฟี อัศ-เศาะฮีหัยนฺ มิน อัศ-เศาะหาบะฮฺ” (หน้าที่ 180) แล้วอัล-อามิรียฺยังได้ระบุชื่อบรรดาลูกๆ ของท่าน และได้ระบุชื่อบรรดามารดาของลูกๆ เหล่านั้น แล้วก็ได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ลูกๆ ของท่านอะลียฺ รุ่นท้ายๆ ได้แก่ อัล-หะสัน อัล-หุสัยนฺ มุหัมมัด อุมัรฺ และอัล-อับบาส"

อัล-หะสัน อิบนุ อะลียฺ อิบนุ อบีฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ผู้เป็นหลานชายของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
อิบนุ อับดิลบัรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-อิสตีอาบ” (ในเล่มที่ 1 หน้าที่ 369 หาชิยะฮฺ อัล-อิศอบะฮฺ) ว่า : “มีรายงานมากมายที่แข็งแรงเชื่อถือได้ ที่มีรายงานมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายของบุคคลจำนวนมากมาย (อาษารฺ มุตะวาติรฺ) จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า ท่านนบีได้พูดถึงอัล-หะสัน อิบนุ อะลียฺ ว่า “ลูกชายของฉันคนนี้ เขาจะเป็นผู้นำ และหวังว่าอัลลอฮฺจะทรงให้เขามีชีวิตอยู่เพื่อที่เขาจะได้ทำการประนีประนอม ระหว่างชนกลุ่มใหญ่ๆ สองกลุ่มจากมวลมุสลิม” ซึ่งเล่าโดยเศาะหาบะฮฺกลุ่มหนึ่ง และในหะดีษของ อบู บักเราะฮฺ มีปรากฏเกี่ยวกับกรณีนี้เช่นกันว่า “เขา(อัล-หะสัน) เป็นสิ่งหอมหวลแก่ฉันในโลกดุนยานี้” และไม่มีใครอีกที่เป็นนายหรือผู้นำที่จะประเสริฐเหนือกว่าบุคคลที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ให้ชื่อว่าเขาเป็น “นาย หรือ ผู้นำ” (สัยยิด) ท่านอัล-หะสัน เราะฮฺมะตุลลอฮิอะลัยฮิ เป็นผู้ที่มีความรอบคอบ เป็นผู้ที่มีความมักน้อยสมถะและเปี่ยมด้วยความประเสริฐยิ่ง คุณลักษณะเหล่านี้ของท่านเรียกร้องให้ท่านสละอำนาจและสละโลกดุนยานี้ โดยมีความปรารถนาในสิ่งที่มีอยู่ ณ ที่อัลลอฮฺ ตะอาลา และท่านได้กล่าวว่า : “ขอ สาบานต่ออัลลอฮฺว่า ฉันไม่ชอบเลย –นับตั้งแต่วัยที่ฉันสามารถแยกแยะสิ่งที่ทำให้เกิดคุณและโทษแก่ฉัน- ในการที่ฉันเข้ามารับผิดชอบดูแลกิจการประชาชาติของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในเมื่อการบริหารปกครองนี้ทำให้แก้วที่ใช้กรอกเลือดต้องถูกเทเลือดให้ไหลนองออกมา (หมายถึง มีการฆ่าฟันกันจนเลือดไหลนอง)” และท่านเป็นผู้หนึ่งที่กระตือรือร้นในการช่วยเหลือท่านอุษมาน และเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมปกป้องท่านอุษมาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ”
อัซ-ซะฮะบียฺ กล่าวถึงท่านอัล-หะสัน ไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 3 หน้าที่ 245-246) ว่า “เขา (อัล-หะสัน) เป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้ปกครอง เป็นหลานรักของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นความหอมหวลของท่าน และเป็นหัวหน้าของบรรดาเยาวชนคนหนุ่มชาวสวรรค์ เขาคือ อบู มุหัมมัด อัล-กุเราะชียฺ (แห่งเผ่ากุเรช) อัล-ฮาชิมียฺ (แห่งตระกูลฮาชิม) อัล-มะดะนียฺ (แห่งชาวเมืองมะดีนะฮฺ) ผู้เป็นชะฮีด”
และท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวอีกเช่นเดียวกัน (ในเล่มที่ 3 หน้าที่ 253) ว่า “แท้จริง ผู้นำคนนี้เป็นนักปกครอง เป็นผู้มีลักษณะสง่า รูปงาม มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีเสน่ห์ ใจบุญ เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญ มีเมตตากรุณา เป็นคนยึดมั่นในศาสนา เป็นคนเคร่งครัด อ่อนน้อมถ่อมตน มีสถานะที่สำคัญยิ่ง”
อิบนุ กะษีรฺ ได้กล่าวถึงท่านอัล-หะสัน ไว้ในหนังสือ “อัล-บิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ” (ในเล่มที่ 11 หน้าที่ 192 -193) ว่า “และ แท้จริง ท่านอบูบักรฺ อัศ-ศิดดีก ได้ยกย่องให้เกียรติ ให้ความสำคัญ และช่วยปกป้องระวังรักษาท่าน และท่านอุมัรฺ ก็ได้ปฏิบัติกับท่าน เช่นเดียวกับที่อบูบักรฺได้ปฏิบัติ” แล้วยังได้พูดต่ออีกว่า “และท่านอุษมานก็เช่นเดียวกัน ท่านได้ให้เกียรติแก่ อัล-หะสันและอัล-หุสัยนฺ และรักใคร่คนทั้งสอง และสำหรับอัล-หะสัน อิบนุ อะลียฺ ในวันที่ท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟานถูกล้อมบ้าน ในขณะนั้นท่านอัล-หะสันได้อยู่กับท่านอุษมาน และอยู่ในสภาพสะพายดาบติดตัว เตรียมพร้อมที่จะป้องกันท่านอุษมาน แต่ท่านอุษมานมีความเป็นห่วงท่านอัล-หะสัน และได้สาบานเพื่อขอร้องให้ท่านอัล-หะสันกลับบ้านไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทำให้ท่านอะลียฺสบายใจ และมีความห่วงใยต่ออัล-หะสัน เราะฎิยัลลิฮุอันฮุม”

อัล-หุสัยนฺ อับนุ อะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ผู้เป็นหลานรักของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
อิบนุ อับดิลบัรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-อิสตีอาบ” (เล่มที่ 1 หน้าที่ 377) ใน “หาชิยะฮฺ อัล-อิศอบะฮฺ” ว่า “ท่านอัล-หุสัยนฺ เป็นผู้ประเสริฐ ยึดมั่นในศาสนา เป็นผู้ที่หมั่นถือศีลอด ละหมาด และทำหัจญ์มากมายหลายครั้ง”
อิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้กล่าวไว้ดังปรากฏอยู่ใน “มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา” ของท่าน (เล่มที่ 4 หน้าที่ 511) ว่า “และ อัล-หุสัยนฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ นั้น อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงให้เกียรติแก่ท่านด้วยการให้ท่านเสียชีวิต เป็นชะฮีดในวันนี้ (วันอาชูรออ์ วันที่ 10 แห่งเดือนมุหัรร็อม) และด้วยเหตุดังกล่าว อัลลอฮฺได้ทรงให้ความอัปยศแก่ผู้ที่ลงมือสังหารท่าน หรือ ผู้ที่ให้การสนับสนุนให้มีการสังหาร หรือ ผู้ที่พอใจกับการที่มีการสังหารท่าน และท่านเป็นผู้ดำเนินตามแบบฉบับที่ดีงามของบรรดา “ชุฮะดาอ์” ที่ล่วงลับไปก่อนท่าน แท้จริง ตัวท่านและพี่ชายของท่านเป็นผู้นำของบรรดาเยาวชนคนหนุ่มสาวชาวสวรรค์ และท่านทั้งสองถูกอบรมบ่มนิสัยให้อยู่อย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรีแห่งอิสลาม ท่านทั้งสองไม่ได้ผ่านการอพยพ การญิฮาด และการอดทนต่ออันตรายในหนทางของอัลลอฮฺ เหมือนดังที่วงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คนอื่นๆ ได้ประสบกับมันมาแล้ว ดังนั้น อัลลอฮฺตะอาลา จึงได้ทรงให้เกียรติแก่ท่านทั้งสองด้วยการให้เสียชีวิตเป็นชะฮีด เพื่อทำให้เกียรติของทั้งสองท่านครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นการยกระดับขั้นของท่านทั้งสองให้สูงส่งยิ่งขึ้น และการสังหารท่าน(อัล-หุสัยนฺ) นับเป็นเคราะห์กรรมอันใหญ่หลวงยิ่ง อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงกำหนดบัญญัติ “อัล-อิซติรฺญาอฺ” (ให้กล่าวว่า “อินนาลิลลาฮิ วะอินนา อิลัยฮิ รอญิอูน”) ขณะที่ประสบกับเคราะห์กรรมดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า :

﴿وَبَشِّرِ ٱلصَّٰبِرِينَ ١٥٥ ٱلَّذِينَ إِذَآ أَصَٰبَتۡهُم مُّصِيبَةٞ قَالُوٓاْ إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّآ إِلَيۡهِ رَٰجِعُونَ ١٥٦ أُوْلَٰٓئِكَ عَلَيۡهِمۡ صَلَوَٰتٞ مِّن رَّبِّهِمۡ وَرَحۡمَةٞۖ وَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُهۡتَدُونَ ١٥٧﴾ [البقرة: ١٥٥-١٥٧]

“และเจ้า(มุหัมมัด)จงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ที่อดทนเถิด คือ บรรดาผู้ที่เมื่อมีเคราะห์กรรมมาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็จะกล่าวว่า แท้จริง พวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และแท้จริง พวกเราจะต้องกลับไปสู่พระองค์ ชนเหล่านี้แหละ พวกเขาจะได้รับพร และได้รับความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา และชนเหล่านี้แหละ คือ บรรดาผู้ที่ได้รับการชี้นำสู่หนทางที่ถูกต้อง” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 155-157)
อัซ-ซะฮะบียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวถึงท่านไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 3 หน้าที่ 280) ว่า “(อัล-หุสัยนฺ) เป็นผู้นำที่มีเกียรติ มีความเพียบพร้อมทุกประการ เป็นหลานรักที่เกิดจากบุตรสาวของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และ เป็นลูกของท่านในดุนยานี้ และเป็นที่รักของท่านเราะสูล เขาคือ อับดุลลอฮฺ อัล-หุสัยนฺ อิบนุ อะมีรุลมุอ์มินีน อะบิล หะสัน อะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ อิบนุ ฮาชิม อิบนุ อับดุมะนาฟ อิบนุ กุศ็อยยฺ อัล-กุเราะชียฺ อัล-ฮาชิมียฺ”
อิบนุ กะษีรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-บิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ”(เล่มที่1 หน้าที่ 476) ว่า “สิ่งที่เราต้องการสื่อถึงในที่นี้ก็คือ อัล-หุสัยนฺ ได้อยู่ร่วมสมัยกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และได้คลุกคลีกับท่านจนกระทั่งท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สิ้นชีวิต ท่านนบีก็ยังคงความภาคภูมิใจ และพอใจในตัวหลานชายของท่าน แต่ในขณะนั้น อัล-หุสัยนฺ ยังเยาว์วัยอยู่ ภายหลังจากท่านเราะสูลได้สิ้นชีวิต ท่านอบูบักรฺ (อัศ-ศิดดีก) ก็ได้ยกย่องให้เกียรติ ให้ความสำคัญกับท่านหุสัยนฺเรื่อยมา ตลอดจนกระทั่งท่านอุมัรฺ และท่านอุษมาน ก็ได้ปฏิบัติต่อท่านเช่นเดียวกับท่านอบูบักรฺ ท่านอัล-หุสัยนฺได้คลุกคลีเป็นเพื่อนติดตามบิดา(ท่านอะลียฺ) ได้รายงานหะดีษจากบิดาของท่าน และได้เข้าร่วมในทุกสมรภูมิกับบิดา ทั้งในสมรภูมิอัล-ญะมัล และสมรภูมิศิฟฟัยนฺ และอัล-หุสัยนฺ เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เกียรติเป็นอย่างมาก”

อัลดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ลูกชายของผู้เป็นอาของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
อัล-บุคอรียฺได้บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺของท่าน (หะดีษ เลขที่ 4970) จากอิบนุ อับบาส ได้กล่าวว่า : ท่านอุมัรฺได้พาฉันเข้าไปอยู่ร่วมกับบรรดาผู้อาวุโสที่เข้าสมรภูมิบัดรฺ (มีทั้งจากชาวมุฮาญิรีน และชาวอันศอรฺ) ดังนั้น เหมือนกับมีบางคนในหมู่นั้นรู้สึกไม่พอใจ จึงมีผู้กล่าวว่า “ท่านนำเอาเด็กคนนี้เข้ามาร่วมอยู่กับพวกเราทำไม? พวกเราก็มีลูกๆเหมือนกับเขาคนนี้?” ท่านอุมัรฺ กล่าวว่า “เขาเป็นเด็กที่พวกท่านทราบกันดี” วันหนึ่ง อุมัรฺได้เรียก อิบนุ อับบาส แล้วพาเขาเข้าไปร่วมนั่งกับบรรดาผู้อาวุโส ฉันไม่รู้สึกอะไรที่อุมัรฺเรียกฉันเข้าไป นอกจากรู้ว่าท่านต้องการเอาฉันไปอวดบรรดาคนเหล่านั้น ท่านอุมัรฺกล่าวแก่ผู้คนในวงสนทนานั้นว่า “ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า :

﴿ إِذَا جَآءَ نَصۡرُ ٱللَّهِ وَٱلۡفَتۡحُ ١ ﴾ [النصر: ١]

“และความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ และการพิชิตได้มาถึงแล้ว” (อัน-นัศรฺ : 1)
บางคนก็กล่าวขึ้นว่า “พวกเราได้ถูกใช้ให้กล่าวสรรเสริญต่ออัลลอฮฺ และขออภัยโทษต่อพระองค์ เมื่อเราได้รับการช่วยเหลือให้ได้รับชัยชนะ” และบางคนก็นิ่งเงียบไม่พูดอะไร และท่านอุมัรฺก็ได้กล่าวแก่ฉันว่า “เธอมีทัศนะเช่นเดียวกับคำพูดดังกล่าวหรือไม่?” ฉัน (อิบนุ อับบาส) กล่าวว่า “ไม่ใช่” ถ้าเช่นนั้นแล้วเธอจะพูดว่าอย่างไร? ฉันกล่าวว่า “มันเป็นกำหนดเวลาของเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่อัลลอฮฺ ได้ทรงแจ้งไว้ให้กับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทราบ โดยพระองค์ทรงกล่าวว่า “และความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ และการพิชิตได้มาถึงแล้ว” และนั่นคือเครื่องหมายแห่งกำหนดเวลาของเจ้า (มุหัมมัด ) แล้วอัลลอฮฺก็ทรงใช้ว่า

﴿فَسَبِّحۡ بِحَمۡدِ رَبِّكَ وَٱسۡتَغۡفِرۡهُۚ إِنَّهُۥ كَانَ تَوَّابَۢا ٣ ﴾ [النصر: ٣]

“ดังนั้น จงแซ่ซ้องสดุดีด้วยการสรรเสริญพระเจ้าของเจ้า และจงอภัยโทษต่อพระองค์เถิด แท้จริง พระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษเสมอ”(อัน-นัศรฺ : 3)
อุมัรฺได้กล่าวว่า “ฉันไม่เคยรู้ความหมายของอายะฮฺนี้มาก่อน นอกจากมารู้จากที่เจ้าพูดนี้แหละ”
และใน “อัฏ-เฏาะบะกอต” ของอิบนุ สะอัด (เล่มที่ 2 หน้าที่ 369) จากสะอัด อิบนุ อบี วักกอศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า “ฉันไม่เคยเห็นใครมีความเข้าใจได้ฉับไว มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีความรู้มากมาย และมีความสุขุมรอบคอบยิ่งไปกว่า อิบนุ อับบาส และแน่นอน ฉันได้เห็นอุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ได้เชื้อเชิญ อิบนุ อับบาส ให้แก้ปัญหาที่ยากๆ ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้”
และใน “อัฏ-เฏาะบะกอต” ในเล่มเดียวกัน (หน้าที่ 370) จากฏ็อลหะฮฺ อิบนุ อุบัยดิลลาฮฺ กล่าวว่า “อิบนุ อับบาส ได้รับความเข้าใจ และรับรู้ได้ไว ฉันไม่เคยเห็นอุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ยกย่องให้เกียรติผู้ใดให้มีฐานะ(ความรู้)เหนืออิบนุ อับบาส เลย”
และใน “อัฏ-เฏาะบะกอต” อีกเช่นกัน เล่มที่ 2 (หน้าที่ 370) จากญาบิรฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เขาได้กล่าวในขณะที่เขาได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของอิบนุ อับบาส เขาได้เอามือข้างหนึ่งตบลงบนมืออีกข้างหนึ่ง (เป็นการแสดงความเสียใจ) พลางพูดว่า “บุคคลที่มีความรู้ดีกว่าผู้คนทั้งหลาย มีความสุขุมรอบคอบกว่าใครๆ ได้เสียชีวิตไปแล้ว และแน่นอนมันคือการสูญเสียของประชาชาตินี้ที่ไม่มีทางจะถูกทำให้ดีขึ้นได้อีก”
และใน “อัฏ-เฏาะบะกอต” เช่นเดียวกัน จากอบูบักรฺ อิบนุ มุหัมมัด อิบนุ อัมรฺ อิบนุ หัซมฺ กล่าวว่า “เมื่ออิบนุ อับบาสได้เสียชีวิตลงไปแล้ว รอฟิอฺ อิบนุ คุดัยจญ์ ได้กล่าวว่า “ในวันนี้ ได้เสียชีวิตไปแล้ว คือบุคคลที่ผู้ที่อยู่ระหว่างทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ต่างมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยวิชาความรู้จากเขา”
ในหนังสือ “อัล-อิสตีอาบ” ของอิบนุ อับดิลบัรฺ (เล่มที่ 2 หน้าที่ 344-345) จากมุญาฮิด เขากล่าวว่า “ฉันไม่เคยได้ยินคำชี้ขาดปัญหาศาสนา(ของผู้ใด) เพียบพร้อมยิ่งกว่าคำชี้ขาดปัญหาของอิบนุ อับบาส นอกเสียจากจะมีคนกล่าวว่า “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า (หมายถึง นอกจากหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้ว ไม่มีฟัตวาของใครที่สามารถเทียบเคียงฟัตวาของอิบนุ อับบาสได้)” และยังมีรายงานเช่นเดียวกันนี้ของอัล-กอซิม อิบนุ มุหัมมัด
อิบนุ กะษีรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-บิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ” (เล่มที่ 12 หน้าที่ 88) ว่า “แน่นอน ได้มีรายงานจากท่านอุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ว่า ท่านได้ให้ อิบนุ อับบาส นั่งร่วมอยู่กับเศาะหาบะฮฺอาวุโส และท่านได้กล่าวว่า “ผู้ที่ให้การอธิบายความหมายอัลกุรอานที่ยอดเยี่ยมคือ อัลดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส” และเมื่อเขาเดินเข้ามา อุมัรฺได้กล่าวว่า “เด็กหนุ่มผู้มีวัยของผู้ใหญ่ เจ้าของลิ้นที่ชอบสอบถาม และเจ้าของหัวใจที่มีความเข้าใจเฉียบแหลม”

ญะอฺฟัรฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ลูกชายของผู้เป็นลุงของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
มีรายงานในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ (หะดีษเลขที่ 3708) จากหะดีษ อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เนื้อหาคือ “คนที่มีจิตใจยอดเยี่ยมที่สุดต่อบรรดาผู้คนที่น่าเวทนาสงสารคือ “ญะอฺฟัรฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ” เขาเคยปลุกพวกเราให้ตื่นขึ้นมา และเลี้ยงอาหารพวกเราเท่าที่มีอยู่ในบ้านของเขา แม้กระทั่งเคยเอาโถใส่เนยออกมา ซึ่งในโถใส่เนยนั้นไม่มีสิ่งใดอยู่เลย และเขาก็ได้เคาะให้มันแตกออก และพวกเราก็เลียส่วนที่แตกนั้น”
อัล-หาฟิซฺ อิบนุ หะญัรฺ ได้กล่าวไว้ใน “ฟัตหุลบารี” (เล่มที่ 7 หน้าที่ 76) ว่า “และคำพูดเจาะจงดังกล่าวนี้(จำกัดลักษณะข้อเท็จจริง) ต้องนำเอาคำที่ไม่ได้ถูกจำกัดเจาะจง ซึ่งมีรายงานมาจากอิกริมะฮฺ จาก อบู ฮุร็อยเราะฮฺมารวมไว้กับคำที่มีการเจาะจงคือ “ไม่มีผู้ใดสวมใส่รองเท้าแตะ และไม่มีผู้ใดขี่พาหนะหลังจากท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดียิ่งกว่า ญะอฺฟัรฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ” ซึ่งเป็นหะดีษที่บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ และอัล-หากิม ด้วยสายรายงานที่แข็งแรงเชื่อถือได้”
อัซ-ซะฮะบียฺได้กล่าวถึงท่านญะอฺฟัรฺ ไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 7 หน้าที่ 206) ว่า “ผู้ปกครองที่เป็นชะฮีด (ตายในหนทางของอัลลอฮฺ) ผู้ที่มีฐานะตำแหน่งสำคัญยิ่ง เป็นเอกลักษณ์ของบรรดานักต่อสู้ (ในหนทางของอัลลอฮฺ) นั้น คือ อบู อับดิลลาฮฺ ลูกชายของผู้เป็นลุงของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อับ ดุมะนาฟ อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ อิบนุ ฮาชิม อิบนุ อับดุมะนาฟ อิบนุ กุศ็อยยฺ อัล-ฮาชิมีย์ เป็นพี่ชายของท่านอะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ ซึ่งท่านญะอฺฟัรฺมีอายุแก่กว่าท่านอะลียฺ 10 ปี ท่านญะอฺฟัรฺได้ทำการอพยพถึงสองครั้ง และได้อพยพจากหะบะชะฮฺ (ประเทศเอธิโอเปีย)ไปยังนครมะดีนะฮฺ ท่านตามมาพบกับบรรดามุสลิมที่อพยพมา ซึ่งในขณะนั้นพวกเขากำลังรออยู่ที่ตำบลค็อยบัรฺ หลังจากที่ได้มีการอพยพออกมาแล้ว ท่านญะอฺฟัรฺได้พำนักอยู่ที่นครมะดีนะฮฺเป็นเวลาหลายเดือน ต่อมาท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีคำสั่งให้ญะอฺฟัรฺนำกองทหารออกไปทำสงครามที่ “มุอฺตะฮฺ” ทางด้านเขต “อัล-กะรัก” และท่านก็ได้ตายชะฮีดที่นั้น ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้รับความปลาบปลื้มกับการเดินทางมาพำนัก(ที่นครมะดีนะฮฺ)ของท่านญะอฺฟัรฺเป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องเสียใจ(ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ)กับการเสียชีวิตของญะอฺฟัรฺ"
ในหนังสือ “อัต-ตักรีบ” ของ อิบนุ หะญัรฺ ได้กล่าวไว้ว่า “ญะอฺฟัรฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ อัล-ฮาชิมียฺ คือ บิดาของบรรดาผู้ที่น่าเวทนาสงสาร ผู้มีปีกสองข้าง เป็นเศาะหาบะฮฺผู้ทรงเกียรติ เป็นลูกชายของลุงของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตายชะฮีดในสมรภูมิมุอฺตะฮฺ ในปีที่ 8 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช รายงานของท่านญะอฺฟัรฺทั้งหมดได้ถูกจารึกไว้ในตำราเศาะฮีหฺทั้งสอง(ของอัล-บุคอรียฺ และมุสลิม) ยกเว้นรายงานเดียวเท่านั้น(ที่ไม่ได้มีระบุในตำราเศาะฮีหฺทั้งสองเล่มนี้)”
ระบุไว้ว่า ที่มีผู้ขนานนามท่านญะอฺฟัรฺว่า “เจ้าของปีกทั้งสองข้าง” ก็เพราะว่าปีกทั้งสองข้างถูกนำมาทดแทนมือของท่านขณะที่ได้ถูกตัดขาดจากร่างของท่านในสมรภูมิมุอฺตะฮฺ แล้วท่านก็ใช้ปีกทั้งสองข้างนั้น บินอยู่กับบรรดามลาอิกะฮฺบนฟ้า ดังที่ปรากฏอยู่ในบันทึกของเศาะฮีหฺอัล-บุคอรียฺ (หะดีษเลขที่ 3709) ด้วยสายรายงานของอัล-บุคอรียฺ สืบถึงอัช-ชะอฺบียฺ ว่า อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เมื่อกล่าวให้สลามแก่ลูกชายของญะอฺฟัรฺ ท่านจะกล่าวว่า “ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่านเถิด โอ้! ลูกชายของผู้มีปีกทั้งสองข้าง”
ท่านอัล-หาฟิซฺได้กล่าวไว้ใน “ฟัตหุลบารี” ว่า “เหมือนกับว่าเป็นการบ่งชี้ถึงหะดีษของอับดุลลอฮฺ อิบนุ ญะอฺฟัรฺ ที่กล่าวว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวแก่ฉันว่า “ขอให้ความสุขความสำราญจงเป็นของท่านเถิด บิดาของท่านกำลังบินอยู่กับบรรดามะลาอิกะฮฺบนท้องฟ้า” ซึ่งบันทึกโดย อัฏ-เฏาะบะรอนียฺ ด้วยสายรายงานที่หะสัน”
แล้วหลังจากนั้น อัล-หาฟิซฺยังได้ระบุสายรายงานอื่นๆ อีก จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ ท่านอะลียฺและท่านอิบนุ อับบาส และได้ระบุข้อความที่มีอยู่ในสายรายงานหนึ่งจากท่านอิบนุ อับบาส ว่า : “แท้จริง ญะอฺฟัรฺกำลังบินอยู่กับญิบรีล และมีกาอีล โดยที่เขามีปีกอยู่สองข้าง ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงประทานให้เพื่อทดแทนมือทั้งสองข้างของเขา” อัล-หาฟิซฺกล่าวว่าสายสืบนี้เชื่อถือได้ (ญัยยิด)

อับดุลลอฮฺ อิบนุ ญะอฺฟัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ลูกชายของลูกชาย(หลานชาย)ของผู้เป็นลุงของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
มีระบุอยู่ในเศาะฮีหฺมุสลิม (หะดีษเลขที่ 2428) จากอับดุลลอฮฺ อิบนุ ญะอฺฟัรฺ กล่าวว่า : “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น เมื่อกลับมาจากการเดินทาง ท่านจะต้องได้รับการต้อนรับด้วยบรรดาเด็กๆ ในวงศ์วานของท่าน อับดุลลอฮฺกล่าวว่า และเมื่อท่านนบีเดินทางกลังมา ฉันจะต้องถูกนำไปหาท่านเป็นคนแรก แล้วท่านก็จะอุ้มฉันให้นั่งข้างหน้าท่าน แล้วหลังจากนั้นก็จะมีผู้นำเอาลูกชายหนึ่งในสองคนของท่านหญิงฟาฎิมะฮฺมาหาท่าน แล้วท่านก็อุ้มมานั่งด้านหลังท่าน ท่าน(อับดุลลอฮฺ)กล่าวว่า เราทั้งสามคนนั่งอยู่บนหลังพาหนะของท่านนบี และถูกพาเข้ามาในเมืองมะดีนะฮฺ”
อัซ-ซะฮะบียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวถึงอับดุลลอฮฺไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 3 หน้าที่ 456) ว่า “ผู้นำที่มีความรอบรู้คือ อบู ญะอฺฟัรฺ อัล-กุเราะชียฺ อัล-ฮาชิมียฺ มีเอธิโอเปียเป็นแหล่งกำเนิด มีนครมะดีนะฮฺเป็นแหล่งอาศัย เป็นผู้มีจิตใจเมตตากรุณา เป็นลูกของผู้มีจิตใจเมตตากรุณาซึ่งเป็นเจ้าของปีกทั้งสองข้าง เขาอยู่กับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นเศาะหาบะฮฺ และมีการรายงานหะดีษ มีเศาะหาบะฮฺรุ่นเยาว์ประเภทเดียวกันกับเขาที่มีอายุน้อยเป็นจำนวนมาก บิดาของเขาตายชะฮีดในสมรภูมิมุอฺตะฮฺ และท่านเราะสูลได้อุปการะเลี้ยงดูเขามา แล้วเขาได้เติบใหญ่ขึ้นมาภายใต้การคุ้มครองดูแลของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม"
อัซ-ซะฮะบียฺกล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า “เขาเป็นผู้ที่มีฐานะหน้าที่ ที่ยิ่งใหญ่ เป็นคนที่ใจบุญศุลทาน มีเมตตา กรุณา เหมาะสมต่อการเป็นผู้ปกครอง”
และในหนังสือ “อัร-ริยาฎุล มุสตะฏอบะฮฺ” ของอัล-อามิรียฺ (หน้าที่ 205) ระบุว่า “อะบาน อิบนุ อุสมาน ได้ละหมาด (ญะนาซะฮฺ) ให้แก่ท่าน(อับดุลลอฮฺ) ซึ่งในขณะนั้นเขาเป็นผู้ปกครองนครมะดีนะฮฺและได้แบกแคร่ที่มีร่างของท่าน(อับดุลลอฮฺ) อยู่ด้วยน้ำตาที่ไหลรินออกมา แล้วเขา (อะบาน) ก็กล่าวว่า “ขอสาบานต่อัลลอฮฺว่า ท่านเป็นคนดี ไม่มีความไม่ดีใดๆ ในตัวของท่านเลย และขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า ท่านเป็นคนที่มีเกียรติ มีความประเสริฐ มีคุณธรรมความดีงามความกตัญญูมากมาย”

บรรดาเศาะหาบะฮฺบางท่าน ที่มาจากวงศ์วานของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
- อบู สุฟยาน, เนาฟัล, เราะบีอะฮฺ และอุบัยดะฮฺ ซึ่งเป็นลูกๆ ของ อัล-หาริษฺ อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ
- อับดุลมุฏเฏาะลิบ อิบนุ เราะบีอะฮฺ อิบนุ อัล-หาริษ อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ
- อัล-หาริษฺ และอัล-มุฆีเราะฮฺ ทั้งสองเป็นลูกชายของเนาฟัล อิบนุ อัล-หาริษ อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ
- ญะอฺฟัรฺ และอับดุลลอฮฺ ทั้งสองเป็นลูกชายของอบู สุฟยาน อิบนุ อัล-หาริษฺ อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ
- มุอัตติบ และอุตบะฮฺ ทั้งสองเป็นลูกชายของอบู ละฮับ อับดุลอุซซา อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ
- อัล-ฟัฎลฺ และอุบัยดิลลาฮฺ ทั้งสองป็นลูกชายของอัล-อับบาส อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ


บทที่ 7
การสรรเสริญสดุดีของนักวิชาการอิสลาม
ต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺสตรีที่มาจาก “อะฮฺลุล บัยตฺ”

ท่านหญิง ฟาฏิมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา บุตรีของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ มารดาของบรรดาผู้ศรัทธา เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า : “ฉันไม่เคยเห็นใครมีลักษณะนอบน้อมถ่อมตนต่ออัลลอฮฺ มีบุคลิคดีเรียบร้อย และมีลักษณะสงบเสงี่ยม ทั้งขณะลุกขึ้นยืนหรือนั่ง คล้ายคลึงกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยิ่งไปกว่าฟาฏิมะฮฺบุตรีของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เลย” (บันทึกโดย อบู ดาวูด หะดีษเลขที่ 5217 และอัต-ติรมิซียฺ หะดีษเลขที่ 3873) ด้วยสายรายงานที่หะสัน
อบู นุอัยมฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-หิลยะฮฺ” (เล่มที่ 2 หน้าที่ 39) ว่า “ส่วนหนึ่งของบรรดาสตรีที่ก้มศีรษะ (นอบน้อม) จากบรรดาผู้บริสุทธิ์ และเป็นผู้ที่กลัวเกรงคือ ฟาฏิมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เป็นสตรีที่ตั้งจิตมั่นต่ออัลลอฮฺอย่างแน่วแน่ เป็นก้อนเนื้อที่คล้ายคลึงกับท่านเราะสูล เป็นลูกที่มีความใกล้ชิดสนิทแนบแน่นกับท่านเราะสูลมากกว่าคนอื่นๆ และเป็นลูกคนเดียวที่ท่านยังคงผูกพันกันอยู่ หลังจากที่ท่านได้สิ้นชีวิตไปแล้ว เธอเป็นผู้ที่ไม่ใส่ใจ และไม่ให้ความสำคัญกับโลกดุนยา และความเพริดแพร้วของมัน และเป็นผู้ที่รู้ดีถึงความน่าละอายของโลกดุนยาที่มีความเสียหายมากมายแอบแฝง”
อัซ-ซะฮะบียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 2 หน้าที่ 118-119) ว่า “เธอเป็นผู้นำมวลสตรีในโลกนี้ ในยุคของเธอ เธอเป็นก้อนเนื้อแห่งนบี และเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากผู้ที่ถูกคัดเลือก “อุมมุ อะบีฮา” (ขื่อรองของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ) เป็นบุตรสาวของผู้นำมวลมนุษย์คือท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อบุล กอซิม มุหัมมัด อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ อิบนุ ฮาชิม อิบนุ อับดุมะนาฟ อัล-กุรอชียะฮฺ อัล-ฮาชิมียะฮฺ และเป็นมารดาของอัล-หะซะนัยนฺ”
และอัซ-ซะฮะบียฺ ยังได้กล่าวอีกเช่นเดียวกันว่า “แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม รัก ให้เกียรติและภาคภูมิใจในตัวเธอมาก เธอมีคุณงามความดีมากมาย เธอเป็นผู้ที่มีความอดทน และเคร่งครัดศาสนา มีจิตใจกว้างขวาง สูงส่ง รักษาจิตใจให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ มีความสุภาพเรียบร้อย เป็นผู้สรรเสริญขอบคุณต่ออัลลอฮฺอยู่เสมอ”
อิบนุ กะษีรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-บิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ” (เล่มที่ 9 หน้าที่ 485) ว่า “เธอ(ฟาฏิมะฮฺ) มีชื่อรองว่า “อุมมุ อะบีฮา” และท่าน(อิบนุ กะษีรฺ) ยังได้กล่าวอีกว่า และเธอเป็นบุตรีคนสุดท้องของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตามทัศนะที่ทราบกันโดยทั่วไป และเป็นที่แน่ชัดว่า ไม่มีบุตรของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คนใดมีชีวิตอยู่หลังจากท่านนบี ได้เสียชีวิตลงไปแล้วนอกจากเธอ (ฟาฏิมะฮฺ) คนเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เธอจึงได้รับผลบุญมากมาย เพราะเธอได้ประสบ(และอดทน)กับการสูญเสียท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม”

อุมมุลมุอ์มินีน ท่านหญิง เคาะดีญะฮฺ บินตุ คุวัยลิด เราะฎิยัลลอฮุอันฮา
อัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 2 หน้าที่ 109-110) ว่า “ท่านเคาะดีญะฮฺเป็นมารดาของบรรดามุอ์มินผู้ศรัทธา และเป็นผู้นำบรรดาสตรีแห่งโลกในยุคของท่าน เป็นมารดาของบรรดาลูกๆ ของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม (นอกจากอิบรอฮีมเท่านั้น) เธอเป็นผู้ที่ศรัทธาอีมานต่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเชื่อมั่นในการเป็นศาสนทูตของท่านก่อนผู้ใดทั้งสิ้น เธอช่วยทำให้ความกังวลที่มีอยู่ภายในจิตใจของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ผ่อนคลายลง และทำให้ท่านมีความเข้มแข็งขึ้นตามมา คุณงามความดีของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺมีมากมาย เธอเป็นหญิงที่มีความสมบูรณ์พร้อมในบรรดาสตรีทั้งหลาย เป็นสตรีที่มีสติปัญญา มีความคิด เป็นสตรีที่สูงส่ง เคร่งครัดศาสนา รักษาจิตใจให้ใสสะอาด มีจิตใจเมตตากรุณา เป็นหนึ่งจากชาวสวรรค์ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สรรเสริญชมเชยท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ ท่านได้ให้ความรักแก่ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺอย่างล้ำเลิศ
และที่นับเป็นเกียรติแก่ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺที่ได้รับจากท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือ ท่านไม่เคยสมรสกับหญิงใดมาก่อนเลย ก่อนที่จะสมรสกับเธอ ท่านเราะสูลลุลลฮฺ มีบุตรกับท่านหญิงเคาะดีญะฮฺหลายคนด้วยกัน และขณะที่อยู่กับท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ มิได้สมรสกับใครอีก และท่านเราะสูลุลลอฮฺ ไม่ต้องทุกข์ร้อนอะไรจนกระทั่งเมื่อท่านหญิงเคาะดีญะฮฺได้ถึงแก่กรรม จากการที่ท่านสูญเสียท่านหญิงไป ท่านเราะสูลได้พบว่าท่านหญิงเคาะดีญะฮฺนั้น เป็นคู่ชีวิตที่ดีที่สุด และแท้จริง อัลลอฮฺได้ทรงมีคำสั่งให้ท่านเราะสูลแจ้งข่าวดีแก่ท่านหญิง ถึงปราสาทหลังหนึ่งในสวนสวรรค์สำหรับเธอ ที่สร้างมาจากทองคำและเงิน ในปราสาทหลังนั้นจะไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครมใดๆ เลย และจะไม่ประสบกับความเหน็ดเหนื่อยอันใดเลย”
และจากท่านอิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ญะลาอุลอัฟฮาม” (หน้าที่ 349) ว่า “คุณสมบัติ พิเศษของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ ประการหนึ่งคือ อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงฝากสลามมากับท่านญิบรีล อะลัยฮิสสลาม ไปถึงท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ โดยญิบรีลได้กล่าวว่า : “และสิ่ง(สลาม)นี้ ฝากผ่านมาจากอัลลอฮฺ ผู้ทรงนิรันดร์ โดยเฉพาะสิ่ง(สลาม)นี้ ไม่เคยปรากฏแก่ผู้ใดเลยนอกจากท่านหญิงเคาะดีญะฮฺเท่านั้น”
ท่านอิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า “คุณสมบัติพิเศษของท่านหญิงอีกประการหนึ่ง คือเป็นหญิงที่ยอดเยี่ยมแห่งประชาชาตินี้ นักวิชาการมีความเห็นไม่ตรงกันในกรณีที่ว่า ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺมีความประเสริฐเหนือกว่าท่านหญิงอาอิชะฮฺ ออกเป็นสามทัศนะด้วยกัน ซึ่งทัศนะที่สามจากทัศนะเหล่านั้นก็คือ การตะวักกุฟ(ไม่แสดงความเห็นใดๆเกี่ยวกับกรณีนี้) และข้าพเจ้า (อิบนุล ก็อยยิม) ได้ถามเชคของข้าพเจ้า คือ ท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะฮฺมะตุลลอฮิอะลัยฮฺ (เกี่ยวกับเรื่องนี้) ท่านตอบว่า “แต่ละท่านมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว สำหรับท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ จะคอยปลอบใจ และเป็นกำลังใจให้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อยู่เสมอ และทำให้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ มีจิตใจเข้มแข็ง ช่วยทำให้ท่านมีจิตใจสงบ ทำให้ท่านช่วยคลายกังวล ท่านหญิงจะเสียสละเงินทองส่วนตัวให้แก่ท่านเราะสูลลุลลอฮฺ และยังได้มีโอกาสอยู่ทันยุคต้นของอิสลาม และท่านหญิงเองต้องทนรับอันตรายที่เกิดขึ้นในเรื่องที่เกี่ยวกับอัลลอฮฺและเกี่ยวกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม การช่วยเหลือสนับสนุนของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺที่มีต่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น ท่านหญิงจะให้การช่วยเหลือสนับสนุน และเสียสละทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งไม่ใช่เป็นของผู้ใดเลยนอกจากของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺเท่านั้น
ส่วนท่านหญิง อาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา นั้น เธอมีบทบาทที่ส่งผลดีเยี่ยมในช่วงท้ายของอิสลาม ซึ่งเธอมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องศาสนา และมีความรู้ความเข้าใจถึงการเผยแพร่ศาสนาให้แก่ประชาชาตินี้ และบรรดาลูกหลานแห่งประชาชาตินี้ ได้รับผลประโยชน์ในสิ่งที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่พวกเขาเหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้อื่นไม่มี นอกจากเธอเท่านั้น นี่คือความหมายในคำตอบของท่าน (อิบนุ ตัยมียะฮฺ)”

อุมมุลมุอ์มินีน ท่านหญิง อาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 2 หน้าที่ 140) ว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ได้ทำการสมรสกับหญิงสาวที่ยังไม่เคยผ่านการสมรสคนใดเลย นอกจากท่านหญิงอาอิชะฮฺเท่านั้น และท่านไม่เคยรักสตรีใด เสมือนกับที่ท่านรักท่านหญิงอาอิชะฮฺ และข้าพเจ้าไม่เห็นว่าจะมีสตรีคนใดในประชาชาติของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะมีความรู้ดียิ่งไปกว่าท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา”
และในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” เช่นกัน (เล่มที่ 2 หน้าที่ 181) จากอะลียฺ อิบนุ อักมัรฺ ได้กล่าวว่า “เมื่อท่านมัสรูก รายงานหะดีษจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ท่านจะกล่าวว่า “อัศ-ศิดดีเกาะฮฺ” (อาอิชะฮฺ) บุตรี ของอัศ-ศิดดีก (อบูบักรฺ) ผู้เป็นที่รักยิ่งของผู้ที่เป็นที่รักของอัลลอฮฺ เป็นผู้ที่ทำให้เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องจากผู้ที่อยู่เหนือชั้นฟ้าทั้งเจ็ดชั้น ได้เล่าหะดีษให้ฉันฟัง ฉันจะไม่ปฏิเสธสิ่งที่ท่านเล่ามาอย่างแน่นอน”
ท่านอิบนุล ก็อยยิม ได้ระบุไว้ในหนังสือ “ญะลาอุลอัฟฮาม” (ในหน้าที่ 351 – 355) ว่า จากคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวโดยรวม พอสรุปได้คือ “ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เป็นที่รักยิ่งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และท่านนบีไม่เคยสมรสกับหญิงสาวบริสุทธิ์คนใดเลยนอกจากท่านหญิงเพียงคนเดียว และเคยมีวะหฺยู (วิวรณ์จากอัลลอฮฺ) ประทานลงมาให้แก่ท่านนบี ขณะกำลังนอนอยู่ในผ้านวมของท่านหญิงอาอิชะฮฺ และเมื่อมีอายะฮฺ “อัต-ตัคยีรฺ” ถูกประทานลงให้แก่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้เริ่มต้นที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ และท่านเราะสูลุลลอฮฺ ก็ให้ท่านหญิงเลือก (ว่าจะเอาอย่างไร) ดังนั้น ท่านหญิงได้เลือกที่จะอยู่กับอัลลอฮฺ และเลือกที่จะอยู่กับเราะสูลของพระองค์ และบรรดาภรรยาที่เหลือท่านอื่นๆ ของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ก็เลือกดำเนินตามแนวทางของท่านหญิงอาอิชะฮฺเช่นกัน และอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงให้ท่านหญิงพ้นมลทิน เป็นผู้บริสุทธิ์จากการกล่าวร้ายป้ายสีของพวกุเรื่องเท็จขึ้นเพื่อให้ร้ายป้ายสี อัลลอฮฺได้ทรงประทานวะหฺยูลงมายืนยันเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของเธอ และการให้อภัยแก่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ซึ่งได้ถูกนำมาอ่านตามห้องหับ ตามเฉลียงบ้านของบรรดามุสลิม และถูกนำมาอ่านในเวลาละหมาดของพวกเขาจวบจนกระทั่งถึงวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงยืนยันว่า เธอเป็นคนหนึ่งจากบรรดาสตรีที่มีจิตใจงดงาม เป็นผู้บริสุทธิ์ และพระองค์ได้ทรงสัญญากับเธอที่จะประทานอภัยให้ ทรงสัญญาที่จะประทานริสกีที่มีคุณค่า ทั้งๆ ที่อยู่ในตำแหน่งอันสูงเกียรตินี้ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ก็ยังทำตัวนอบน้อมถ่อมตนต่ออัลลอฮฺ โดยที่ท่านหญิงได้กล่าวว่า : “และแท้จริง เรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวฉันนั้น ในความเห็นฉันแล้ว มันไม่มีคุณค่าสำคัญถึงขนาดว่าอัลลอฮฺจักต้องทรงประทานอัลกุรอานลงมาให้ได้อ่านกันเลยแม้แต่น้อย”
บรรดาเศาะหาบะฮฺอาวุโส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เมื่อมีกิจกรรมทางศาสนาที่เป็นที่สงสัยแก่ท่านเหล่านั้น ก็จะถามท่านหญิงอาอิชะฮฺ ท่านเหล่านั้นก็จะได้พบคำตอบของเรื่องนั้นจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ท่านเราะสูลุลลอฮฺได้เสียชีวิต ณ ที่บ้านของท่านหญิงอาอิชะฮฺ ในวันที่เป็นสิทธิ์ของท่านหญิง (ที่ท่านเราะสูลจะต้องมาอยู่กับเธอ)ได้เสียชีวิตอยู่ในอ้อมกอดของเธอ (ท่านหญิงอาอิชะฮฺ) และร่างของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ได้ถูกฝังอยู่ภายในบ้านของเธอ
ซึ่งครั้งหนึ่งก่อนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะสมรสกับเธอนั้น มะลาอิกะฮฺได้นำรูปของเธอที่ติดอยู่กับผืนผ้าไหมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามาให้ท่านเราะสูลุลลอฮฺดู แล้วท่านได้กล่าวว่า “หากว่าเรื่องนี้มาจากอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงดำเนินการเรื่องนี้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี” และบรรดาเศาะหาบะฮฺได้เลือกหาของขวัญ (ฮะดียะฮฺ) ให้กับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในวันที่เป็นสิทธิของท่านหญิงอาอิชะฮฺในบ้านของนาง เพราะพวกเขาจะหาของที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ชื่นชอบและมอบให้ท่าน ขณะที่ท่านนบีอยู่ในบ้านของภรรยาที่ท่านรักยิ่งกว่าใคร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม อัจญ์มะอีน”

อุมมุลมุอ์มินีน ท่านหญิง เสาดะฮฺ บินตุ ซัมอะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 2 หน้าที่ 260-266) ว่า “ท่านหญิงเสาดะฮฺ เป็นคนแรกที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทำการสมรสหลังจากที่ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ ได้ถึงแก่กรรม ท่านหญิงเสาดะฮฺ ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับท่านนบีตามลำพังสองคนเป็นเวลาสามปี หรืออาจมากกว่านั้น จนกระทั่งท่านนบีได้มาอยู่กับท่านหญิงอาอิชะฮฺ และท่านหญิงเสาดะฮฺเป็นหญิงที่เป็นผู้นำที่ทรงคุณค่า สูงเกียรติ เฉลียวฉลาด ปราดเปรื่อง เป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ และได้เสียสละวันของเธอที่ต้องอยู่กับท่านนบี ให้แก่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เพื่อเป็นการคำนึงถึงหัวใจของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม”
ท่านอิบนุล ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ญะลาอุลอัฟฮาม” (หน้าที่ 350) ว่า “ท่านหญิงเสาดะฮฺเป็นคนมีอายุมาก และท่านนบีก็มีความประสงค์ที่จะเลิกกับนาง แต่ท่านหญิงมีความประสงค์ที่จะอยู่กับท่านนบี และได้เสียสละวันของเธอที่จะอยู่ร่วมกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ ให้แก่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ดังนั้น ท่านเราะสูลุลลอฮฺ จึงได้อยู่กับท่านหญิงต่อไป และนี้คือคุณสมบัติที่ดีงามของท่านหญิงเสาดะฮฺ แท้จริง ท่านหญิงมีความปรารถนาที่จะสละวันที่เธออยู่กับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพื่อเป็นการแสดงความรักต่อท่านเราะสูลุลลอฮฺ เพื่อต้องการความใกล้ชิด และความรักที่มีต่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และท่านหญิงก็พอใจฐานะของเธอกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มากกว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำหนดวันเวลาไว้ให้แก่ภรรยาของท่านแต่ละคนโดยเสมอภาค แต่ไม่ได้กำหนดวันไว้ให้แก่ท่านหญิงเสาดะฮฺ ซึ่งท่านหญิงก็ยินดี มีความพึงพอใจต่อเรื่องดังกล่าว และได้เสียสละเพื่อเป็นการสร้างความพึงพอใจให้แก่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม”

อุมมุลมุอ์มินีน ท่านหญิง หัฟเศาะฮฺ บินตุ อุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 2 หน้าที่ 277) ว่า “ท่านหญิงหัฟเศาะฮฺเป็นเกราะกำบังที่เข้มแข็ง เป็นบุตรสาวของ อะมีรุลมุอ์มินีน อะบู หัฟศฺ อุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สมรสกับนาง หลังจากที่ได้พ้นกำหนดเวลา(อิดดะฮฺ) ที่สามีของนางคือ คุนัยสฺ อิบนุ หุซาฟะฮฺ อัซ-ซะฮฺมียฺ ซึ่งเป็นมุฮาญิรีนคนหนึ่งได้หย่าขาดกับนางไปแล้ว ในปีที่สามแห่งฮิจญ์เราะฮฺศักราช ท่านหญิงอาอิชะฮฺได้กล่าวว่า ท่านหญิงหัฟเศาะฮฺ เคยชิงความเป็นหนึ่งกับฉัน ในบรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม”

อุมมุลมุอ์มินีน ท่านหญิง อุมมุ สะละมะฮฺ ฮินดฺ บินตุ อบู อุมัยยะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 2 หน้าที่ 201-203) ว่า “ท่านหญิงเป็นผู้ปกปิดร่างกายมิดชิด เป็นผู้มีจิตใจสะอาด เป็นหนึ่งในบรรดาหญิงที่อพยพมาในยุคต้นๆ และนับว่าท่านหญิงเป็นผู้มีความเข้าใจในศาสนาอย่างลึกซึ้ง(ฟุเกาะฮาอ์) คนหนึ่ง ในหมู่เศาะหาบียะฮฺ”
ท่านยะหฺยา อิบนุ อบู บักรฺ อัล-อามิรียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัรริยาฎ อัล-มุสตะฏอบะฮฺ” (ในหน้าที่ 324) ว่า “ท่านหญิงเป็นหญิงที่ประเสริฐ เป็นผู้มีความสุขุมรอบคอบ และท่านหญิงคือ ผู้ที่ได้ให้คำแนะนำ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โกนศีรษะของท่าน และให้เชือด “ฮัดยฺ” (สัตว์พลี) ในวันหดัยบียะฮฺ (วันที่มีการประนีประนอมกันระหว่างฝ่ายท่านนบี กับฝ่ายมุชริกีน ณ ที่ตำบลหุดัยบียะฮฺ) และเธอได้เห็นญิบรีลในรูปของ “ดิหฺยะฮฺ” (ดิหฺยะฮฺ อิบนุ เคาะลีฟะฮฺ เป็นเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งมีรูปร่างสง่างาม)”

อุมุลมุอ์มินีน ท่านหญิง ซัยนับ บินตุ คุซัยมะฮฺ อัล-ฮิลาลียะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺได้ระบุไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 2 หน้าที่ 218) ว่า “แท้จริง ท่านหญิงถูกขนานนามว่า “อุมมุลมะสากีน” อันเนื่องจากท่านหญิงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป(ว่าชอบช่วยเหลือคนยากจน)”
และท่านอิบนุล ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ญะลาอุลอัฟฮาม” (หน้าที่ 376) ว่า “มีผู้เรียกท่านหญิงว่า “อุมมุลมะซากีน” เนื่องจากได้ทำทานให้อาหารแก่คนที่น่าเวทนาสงสารบ่อยครั้งมาก และได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นเวลาเพียงสั้นๆ เพียงสองหรือสามเดือนเท่านั้น และเธอก็ได้เสียชีวิตไป เราะฎิยัลลอฮุอันฮา”

อุมมุลมุอ์มินีน ท่านหญิง ญุวัยรียะฮฺ บินตุ หาริษฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา
ท่านหญิง เป็นอุมมุลมุอ์มินีน และเป็นผู้นำบรรดาภรรยาท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังกล่าวนั้น ถือเป็นความประเสริฐและเป็นเกียรติยศที่พอเพียงแล้วสำหรับเธอ
ท่านอิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ญะลาอุลอัฟฮาม” (หน้าที่ 376-377) ว่า “และท่านหญิงคือ ผู้ที่เป็นสาเหตุให้บรรดามุสลิมได้ปล่อยทาสให้เป็นอิสระเป็นจำนวนถึงหนึ่งร้อยครอบครัว เพราะพวกเขาเห็นว่า ทาสเหล่านั้นเป็นเครือญาติด้วยการแต่งงานกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และการกระทำดังกล่าวนั้น เกิดมาจากความดีงามของท่านหญิงที่มีต่อพวกพ้องนั้นเอง เราะฎิยัลลอฮุอันฮา”

อุมมุลมุอ์มินีน ท่านหญิง เศาะฟียะฮฺ บินตุ หุยัยย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา
มีรายงานบันทึกอยู่ใน “ญามิอฺ อัต-ติรมิซียฺ” (หะดีษเลขที่ 3894) ด้วยสายรายงานที่แข็งแรง จากหะดีษที่รายงานโดยท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ กล่าวกับนางว่า แท้จริง เธอนั้นเป็นลูก(เครือญาติ)ของนบี และแท้จริง ลุงของเธอก็เป็นนบี และแน่นอนเธอเองก็อยู่ภายใต้การดูแลของท่านนบีด้วย”
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 2 หน้าที่ 232 ) ว่า “ท่านหญิงเป็นผู้มีเกียรติ มีสติปัญญา มีเหตุผล มีชาติตระกูลสูง มีความสวยงาม และมีศาสนา เราะฎิยัลลอฮุอันฮา”
และท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน (เล่มที่ 2 หน้าที่ 235) ว่า “ท่านหญิงเศาะฟียะฮฺ” เป็นคนที่มีความสุภาพ อ่อนโยน และมีความนอบน้อมถ่อมตน”
ท่านอิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ญะลาอุลอัฟฮาม” (หน้าที่ 337 ) ว่า “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สมรสกับเศาะฟียะฮฺ บินตุ หุยัยย์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากท่านฮารูน อิบนุ อิมรอน พี่ชายของท่านนบีมูซา อะลัยฮิสสลาม”
ท่านอิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ญะลาอุลอัฟฮาม” เช่นเดียวกันว่า “และจากคุณสมบัติพิเศษของท่านหญิง คือ ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ปล่อยเธอให้เป็นอิสระจากการเป็นทาส และกำหนดให้การเป็นอิสระเสรีของเธอ เป็นสินสอด(มะฮัรฺ)ของเธอ ท่านอะนัสกล่าวว่า “ท่านนบีได้มอบมะฮัรฺของนาง เป็นตัวของนางเอง(หมายถึงปลดปล่อยนางให้เป็นไท)” และสิ่งดังกล่าวนับเป็นแบบอย่างสำหรับประชาชาตินี้ จวบจนถึงวันกิยามะฮฺ ฉะนั้น จึงเป็นที่อนุมัติสำหรับผู้ชาย (มุสลิม) ที่จะกำหนดเอาการปล่อยทาสหญิงของเขาให้เป็นอิสระมาเป็นสินสอดในการแต่งงานกับนางได้ แล้วนางก็จะตกมาเป็นภรรยาของเขา ตามทัศนะที่ถูกระบุไว้ของท่านอิมาม อะหฺมัด เราะหิมะฮุลลอฮฺ”

อุมมุลมุอ์มินีน ท่านหญิง อุมมุ หะบีบะฮฺ ร็อมละฮฺ บินตุ อบี สุฟยาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮา
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 2 หน้าที่ 218 ) ว่า “เธอเป็นผู้นำ เป็นผู้ปกปิดร่างกายอย่างมิดชิด”
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้อีกเช่นเดียวกันใน (เล่มที่ 2 หน้าที่ 222) ว่า และ แน่แท้ สำหรับ อุมมุ หะบีบะฮฺ เป็นผู้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีความน่าเคารพ โดยเฉพาะในสมัยการปกครองของพี่ชายของเธอ อันเนื่องจากมีฐานะที่ใกล้ชิดกับเธอ จึงมีผู้ขนานนามให้แก่พี่ชายของเธอว่า “ผู้เป็นน้าชายของบรรดาผู้ศรัทธา”
ท่านอิบนุ กะษีรฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-บิดายะฮฺ-วันนิฮายะฮฺ” ใน (เล่มที่ 11 หน้าที่ 166) ว่า “แน่แท้ ท่านหญิงเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้นำแห่งมารดาของเหล่าผู้ศรัทธา และเป็นคนหนึ่งในบรรดาสตรีที่เคารพอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺอย่างเคร่งครัด เราะฎิยัลลอฮุอันฮา”

อุมมุลมุอ์มินีน ท่านหญิง มัยมูนะฮฺ บินตุ อัล-หาริษฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา
มีปรากฏอยู่ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 2 หน้าที่ 244) ว่า มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา แจ้งว่า เธอได้กล่าวว่า “แท้จริงแล้ว เธอ(มัยมูนะฮฺ) เป็นผู้มีความเกรงกลัวอัลลอฮฺ มากกว่าเรา และติดต่อเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติมากกว่าเราอีกด้วย”
และท่านอัซ-ซะฮะบียฺได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” ใน (เล่มที่ 2 หน้าที่ 239) ว่า “และท่านหญิงเป็นคนหนึ่งจากบรรดาผู้นำของสตรีทั้งหลาย”

อุมมุลมุอ์มินีน ซัยนับ บินตุ ญะหฺชิน เราะฎิยัลลอฮุอันฮา
มีหะดีษที่มีข้อความยาวอยู่ในเศาะฮีหฺมุสลิม (หะดีษเลขที่ 2442) รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า : “เธอเป็นคนหนึ่งที่พยายามทำตัวให้มีฐานะเท่าเทียมกับฉันในบรรดาภรรยาของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และ ฉันก็ไม่เห็นหญิงคนใดเลยที่ดีงาม เป็นเลิศในทางศาสนายิ่งไปกว่า ซัยนับ เธอมีความกลัวเกรงยิ่งในอัลลอฮฺ และมีวาจาสัจจริงยิ่ง และมีสัมพันธ์ที่ดีต่อเครือญาติ และมีการบริจาคทานมากมาย และเธอลดตัวเองลงมาอย่างมากเพื่อการทำงานซึ่งเธออุทิศเพื่องานนั้น และต้องการเอางานนั้นเพื่อให้เป็นที่ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ตะอาลา นอกเสียจากว่าในตัวเธอนั้นมีลักษณะนิสัยที่มีอารมณ์ร้อน โกรธง่าย แต่หายเร็ว”
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 2 หน้าที่ 211) ว่า “อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงให้เธอได้สมรสกับท่านนบีของพระองค์ โดยมีตัวบทระบุอยู่ในคัมภีร์ของพระองค์ โดยไม่ต้องมีวะลียฺ (ผู้ปกครอง) และพยานใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุนี้ ท่านหญิงจึงมีความภาคภูมิใจในตนเองมาก ที่มีฐานะเหนือกว่าบรรดามารดาของผู้ศรัทธาทั้งหลาย โดยท่านหญิงได้กล่าวว่า “พวกเธอนั้น ผู้ปกครองของพวกเธอทำการสมรสให้แก่พวกเธอ แต่ส่วนฉันนั้น อัลลอฮฺได้ทำการสมรสให้แก่ฉัน ซึ่งเป็นคำบัญชาที่ลงมาจากเบื้องบนบัลลังก์ของพระองค์” หะดีษนี้มีปรากฏอยู่เศาะฮีหฺอัล-บุคอรียฺ (เลขที่ 7402)
และอัซ-ซะฮะบียฺได้กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า “และ ท่านหญิง(ซัยนับ)เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้นำสตรีทั้งหลาย ทั้งทางด้านศาสนาและความเคร่งครัด เป็นคนมีจิตใจเมตตากรุณา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไป”
และท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ยังได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” เช่นเดียวกันใน (เล่มที่ 2 หน้าที่ 217) ว่า : “และท่านหญิงเป็นคนที่มีจิตใจงดงาม ถือศีลอดอย่างสม่ำเสมอ เป็นผู้ที่มีความมั่นคง คงเส้นคงวา มีคุณธรรมความดี และมีผู้เรียกท่านหญิงว่า “อุมมุลมะสากีน” (มารดาของบรรดาผู้ที่น่าเวทนา น่าสงสาร)”


ท่านหญิง เศาะฟียะฮฺ บินตุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ผู้เป็นอาหญิงของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
อัซ-ซะฮะบียฺได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (ในหน้าที่ 2 เล่มที่ 269) ว่า “ท่านอาหญิงของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นบุตรีของอับดุลมุฏเฏาะลิบ มาจากตระกูลฮาชิม และท่านเป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกันกับ ท่านหัมซะฮฺ และเป็น “อุมมุ หะวารียินนะบียฺ” (มารดาของผู้ที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุนท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) คือท่าน อัซ-ซุบัยรฺ”
และ ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้เช่นเดียวกันในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 1 หน้าที่ 270) และตามที่มีรายงานที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ยืนยันว่า "บรรดาผู้เป็นป้าและอาหญิงของท่านนบีนั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเข้ารับอิสลามเลย นอกจากท่านหญิงเศาะฟียะฮฺคนเดียวเท่านั้น และแน่นอน ท่านมีความเป็นเดือดเป็นแค้นเป็นอย่างมากต่อการสิ้นชีวิตไปของท่านหัมซะฮฺ ซึ่งเป็นพี่ชายของเธอ ท่านหญิงมีความอดทน อดกลั้นและมีความสมถะ และท่านเป็นคนหนึ่งในกลุ่มผู้อพยพรุ่นแรก”

บรรดาเศาะหาบียาต(เศาะหาบะฮฺสตรี)ที่มาจาก “อะฮฺลุล บัยตฺ”

- บุตรสาวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แก่ ซัยนับ, รุก็อยยะฮฺ และอุมมุ กัลษูม
- อุมมุ กัลษูม และซัยนับ ผู้เป็นบุตรสาวของท่านอะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ ซึ่งเกิดจากท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา
- อุมามะฮฺ บินตุ อะบิลอาศฺ อิบนุ อัร-รอบีอฺ มารดาของท่านคือ ซัยนับ บินติ เราะสูลิลลาฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเธอคือผู้ที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยอุ้มในขณะที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺกำลังทำการละหมาดอยู่
- อุมมุ ฮานิอ์ บินตุ อบี ฏอลิบ อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ
- ฎุบาอะฮฺ และอุมมุล หะกัม ทั้งสองเป็นบุตรสาวของท่านอัซ-ซุบัยรฺ อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ ปรากฏว่ามีชื่อของคนทั้งสองถูกระบุไว้ในหะดีษ บันทึกโดยอบูดาวูด ภายใต้หมายเลขหะดีษที่ (2987) และท่านฎุบาอะฮฺ คือเจ้าของผู้รายงานหะดีษ “อัล-อิชติรอฏ ฟิลหัจญ์” (หะดีษที่กำหนดเงื่อนไขในการทำฮัจญ์) เธอเป็นผู้ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้พูดกับเธอว่า “เธอจงกล่าว (ก่อนเดินทางด้วยข้อแม้) เถิดว่า ถ้ามีอุปสรรคใดมาขัดขวาง กักขังฉัน (จนไม่สามารถเดินทางเข้าไปสู่สถานที่ทำหัจญ์ได้) ดังนั้น สถานที่ดังกล่าวเป็นจุดที่เปลื้องอิหฺรอม(ตะหัลลุล)ของฉันนั่นเอง”
- และอุมามะฮฺ บินตุ หัมซะฮฺ อิบนุ อับดุลมุฏเฏาะลิบ

 

บทที่ 8
การสรรเสริญสดุดีของนักวิชาการอิสลาม
แก่ “อะฮฺลุล บัยตฺ” ที่เป็นอัตตาบิอีน และอื่นๆ

มุหัมมัด อิบนุ อะลียฺ อิบนุ อบูฏอลิบ (ที่รู้จักกันในนามของ อิบนุล หะนะฟียะฮฺ) เราะหิมะฮุลลอฮฺ
ท่านอิบนุ หิบบาน ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ษิกอต อัต-ตาบิอีน” (เล่มที่ 5 หน้าที่ 347) ว่า “และท่านเป็นคนหนึ่งที่มีเกียรติงดงาม ในหมู่วงศ์วานของท่านนบี (อะฮฺลุล บัยตฺ)”
ตามประวัติของท่านที่มีระบุไว้ในหนังสือ “ตะฮฺซีบุลกะมาล” ของท่าน อัล-มุซะนีย์ ว่า อะหฺมัด อิบนุ อับดุลลอฮฺ อัล-อิจญ์ลียฺ ได้กล่าวว่า “ท่าน (มุหัมมัด) เป็นตาบิอีย์ มีความจำแม่นยำ เชื่อถือได้ ท่านเป็นคนดี มีคุณธรรม”
อิบรอฮีม อิบนุ อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัล-ญุนัยดฺ ได้กล่าวว่า “เราไม่เห็นว่าจะมีผู้ใดอ้างอิงสายรายงานถึงท่านอะลียฺ ที่รายงานมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มากกว่าเขา และไม่เห็นว่ามีสายรายงานของผู้ใดที่จะถูกต้องมากไปกว่า สายรายงานที่มุหัมมัด อิบนุลหะนะฟียะฮฺ อ้างอิงถึงท่านอะลียฺ ที่รายงานมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม”
ใน หนังสือ “อัส-สิยัรฺ” ของท่านอัซ-ซะฮะบียฺ (เล่มที่ 4 หน้าที่ 115) ว่ามีรายงานจาก อิสรออีล ได้รายงานมาจากอับดุลอะอฺลา (คือ อิบนุ อามิรฺ) ว่า “มุหัมมัด อิบนุ อะลียฺ ท่านมีชื่อรองว่า “อบุลกอซิม” และท่านเป็นคนเคร่งครัดในศาสนา และมีความรู้มากมาย”
และท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวถึงท่าน (มุหัมมัด) เช่นเดียวกัน (ในหนังสือ อัส-สิยัรฺ เล่มที่ 4 หน้าที่ 110) ว่า “ท่านผู้นำ ท่านอิมาม (ผู้นำ) อบุลกอซิม และอบู อับดิลลาฮฺ (ทั้งสองนี้เป็นชื่อรองของท่านมุหัมมัด อิบนุ อะลียฺ)”

ท่านอะลียฺ อิบนุ หุสัยนฺ อิบนุ อะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ เราะหิมะฮุลลอฮฺ
ท่านอิบนุ สะอัด ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัฏ-เฏาะบะกอต” (เล่มที่ 5 หน้าที่ 222) ว่า “ท่าน อะลียฺ อิบนุ หุสัยนฺ เป็นผู้ที่มีความจำดี เชื่อถือได้ มีการรายงานหะดีษมากมาย เป็นผู้มีเกียรติ เป็นผู้ที่มีฐานะตำแหน่งสูงส่ง เป็นคนที่เคร่งครัดศาสนา”
ท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “มินฮาจญ์ อัส-สุนนะฮฺ” (เล่มที่ 4 หน้าที่ 48) ว่า “และส่วนท่านอะลียฺ อิบนุ หุสัยนฺ นั้น เป็นผู้อาวุโสท่านหนึ่งในหมู่ตาบิอีน และเป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำทั้งด้านความรู้ และด้านศาสนาอีกด้วย”
และชีวประวัติของท่านที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ตะฮฺซีบุลกะมาล” ของท่านอัล-มิซซียฺ กล่าวว่า “ท่านสุฟยาน อิบนุ อุยัยนะฮฺ ได้รายงานมาจากท่าน อัซ-ซุฮฺรียฺว่า “ฉันไม่เห็นพวกกุเรชคนใด (ในยุคนั้น) มีความประเสริฐยิ่งไปกว่า ท่านอะลียฺ อิบนุ หุสัยนฺ”
ท่านซัยดฺ อิบนุ อัสลัม ท่านมาลิก และจากท่านยะหฺยา อิบนุ สะอัด อัล-อันศอรีย์ เราะหิมะฮุมุลลอฮฺ
ท่านอัล-อิจญ์ลียฺ ได้กล่าวว่า “อะลียฺ อิบนุ หุสัยนฺ เป็นชาวมะดีนะฮฺ เป็นตาบิอียฺ (ผู้ร่วมสมัยกับเศาะหาบะฮฺ) มีความจำแม่นยำ เชื่อถือได้”
ท่านอัซ-ซุฮฺรีย์ กล่าวว่า “ท่านอะลียฺ อิบนุ หุสัยนฺ เป็นผู้ที่ประเสริฐคนหนึ่งของ “อะฮฺลุล บัยตฺ” (วงศ์วานของท่านนบี) และเป็นบุคคลที่ดีที่สุดคนหนึ่งที่มีการฏออัต (เชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์) และท่านเป็นคนที่รักยิ่งของท่านมัรวาน อิบนุลหะกัม และอับดุลมะลิก อิบนุ มัรวาน”
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 4 หน้าที่ 386) ว่า “ท่านผู้นำ ท่านอิมาม ท่านคือ ซัยนุลอาบิดีน อัล-ฮาชิมียฺ อัล-อะละวียฺ อัล-มะดะนียฺ”
ท่านอิบนุ หะญัรฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัต-ตักรีบ” ว่า "ท่านเป็นคนเชื่อถือได้ เป็นที่ไว้วางใจ เป็นผู้เคร่งครัดในการอิบาดะฮฺ เป็นฟะกีฮฺ (เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์อิสลาม) เป็นคนดีมีความประเสริฐ เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง”

ท่านมุหัมมัด อิบนุ อะลียฺ อิบนุ หุสัยนฺ อิบนุ อะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ เราะหิมะฮุลลลอฮฺ
ส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ท่านญาบิรฺ อิบนุ อับดุลลอฮฺ อัล-อันศอรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้ให้เกียรติยกย่องต่อท่าน (มุหัมมัด) ดังมีปรากฏอยู่ในเศาะฮีหฺมุสลิม (หะดีษเลขที่ 1218) ตามสายรายงานหะดีษของท่านที่มีข้อความยาวในเรื่องที่เกี่ยวกับลักษณะของการทำหัจญ์ จากหะดีษที่รายงานโดยท่าน ญะอฺฟัรฺ อิบนุ มุหัมมัด (คือท่าน อิบนุ อะลียฺ อิบนุ หุสัยนฺ) ได้รายงานจากบิดาของท่านว่า บิดาของท่านกล่าวว่า “เราได้เข้ามาหาท่าน ญาบิรฺ อิบนุ อับดุลลอฮฺ ซึ่งท่านได้สอบถามแต่ละคนที่มาจากกลุ่มคนเหล่านั้น (ที่เข้ามาหาท่าน เพราะขณะนั้นตาของท่านมองไม่เห็น) จนกระทั่งมาถึงฉัน ฉันจึงได้ตอบท่านว่า “ฉันชื่อ มุหัมมัด อิบนุ อะลียฺ อิบนุ หุสัยนฺ" แล้วท่านก็เอื้อมมือของท่านมาปลดกระดุมเม็ดบนออกจาก (คอเสื้อของฉัน) แล้วก็ปลดเม็ดล่างถัดมาออก (จากรังดุมเสื้อเพื่อให้หน้าอกเผยออกมาให้เห็น) หลังจากนั้นท่านก็ได้เอาฝ่ามือของท่านวางไว้บนหน้าอกของฉัน ซึ่งขณะนั้นฉันกำลังอยู่ในวัยหนุ่ม และท่านก็กล่าวว่า “เรายินดีต้อนรับท่าน โอ้ เจ้าหลายชาย ! จงถามมาเถิด ถึงสิ่งที่เธอปรารถนาจะถาม" ฉันจึงได้ถามท่าน (ซึ่งขณะนั้นท่านมองอะไรไม่เห็นแล้ว) ฉันได้กล่าวแก่ท่านว่า กรุณาบอกฉันให้ทราบลักษณะการทำหัจญ์ของท่านเราะสูล ให้ฉันหน่อยเถิด”
ท่านญาบิรฺได้เล่าหะดีษนั้นให้กับท่านมุหัมมัดฟังด้วยหะดีษที่มีข้อความยาว ซึ่งหะดีษ ได้พูดเกี่ยวกับลักษณะการทำหัจญ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “มินฮาจญ์ อัส-สุนนะฮฺ” (เล่มที่ 4 หน้าที่ 50) “เช่นเดียวกัน อบู ญะอฺฟัรฺ มุหัมมัด อิบนุ อะลียฺ ท่านเป็นอุละมาอ์ (ผู้มีความรู้) ดีที่สุดคนหนึ่งในหมู่อุละมาอ์ทั้งหลาย และเป็นผู้ที่มีความเคร่งครัดศาสนาที่สุดคนหนึ่ง กล่าวกันว่า “แท้จริง ท่านมีชื่อเรียกว่า “อัล-บากิรฺ” นั้น ก็เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่มีความแตกฉานในด้านความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่เพราะท่านสุญูดจนหน้าผากด้าน”
ท่านอัล-มิซซียฺ ได้กล่าวถึงประวัติของท่าน (มุหัมมัด) ไว้ในหนังสือ “ตะฮฺซีบุลกะมาล” ว่า “อัล-อิจญ์ลียฺ กล่าวว่า ท่านมุหัมมัดเป็นชาวมะดีนะฮฺ เป็นตาบิอียฺ (ชนร่วมสมัยกับเศาะหาบะฮฺ) และเป็นคนมีที่เชื่อถือได้ อิบนุล บุรกีย์ กล่าวว่า ท่านมุหัมมัด เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านฟิกฮฺ (ผู้รอบรู้ในนิติศาสตร์อิสลาม) เป็นคนดีมีคุณธรรม”
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 4 หน้าที่ 401-402) ว่า “ท่านผู้นำ ท่านอิมาม ท่านคือ อบูญะอฺฟัรฺ มุหัมมัด อิบนุ อะลียฺ อิบนุ หุสัยนฺ อิบนุ อะลียฺ อัล-อะละวียฺ อัล-ฟาฏิมียฺ อัล-มะดะนียฺ เป็นลูกชายของท่านซัยนุลอาบิดีน ท่านอบูญะอฺฟัรฺ มุหัมมัด เป็นคนที่มีพร้อมสรรพทั้งความรู้ ทั้งการงาน ทั้งความรุ่งเรือง ทั้งเกียรติยศ ทั้งความน่าไว้วางใจ น่าเชื่อถือ และมีความสงบเสงี่ยม และท่านเป็นผู้มีความเหมาะสมในการเป็นเคาะลีฟะฮฺ และท่านเป็นผู้หนึ่งในจำนวนของอิมามสิบสอง ที่บรรดาพวกชีอะฮฺ อัล-อิมามียะฮฺ ได้ให้ความยิ่งใหญ่ต่อท่านเหล่านั้น โดยกล่าวว่า “ท่านเหล่านั้น เป็นผู้บริสุทธิ์จากความผิดด้วยการได้รับความคุ้มครอง” และท่านกล่าวว่า “ท่านเหล่านั้นมีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอย่างถ่อมแท้ทุกประการ” อย่างไรก็ตาม (ย่อมไม่มีผู้ใดทั้งสิ้น) ที่ปราศจากความผิดได้นอกจากบรรดามะลาอิกะฮฺ และบรรดานบีเท่านั้น เพราะทุกคนนั้นย่อมมีทั้งกระทำถูกและกระทำผิดได้ คำพูดของเขาอาจถูกนำมาใช้ก็ได้ และอาจถูกละทิ้งไปก็ได้ นอกจากคำพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เท่านั้น เพราะท่านเป็นผู้ที่ได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากความผิดต่างๆ แล้วท่านยังเป็นผู้ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนด้วยวะหฺยูอีกด้วย และท่านอบูญะอฺฟัรฺนั้น เป็นผู้ที่รู้จักกันดีในนามของ “อัล-บากิรฺ” คือ ผู้มีความแตกฉานในวิชาความรู้ สามารถรู้ถึงต้นตอที่มาของวิชาการทั้งที่ชัดเจนและที่ซ่อนเร้นไม่ชัดเจน แท้จริง อบู ญะอฺฟัรฺ นั้นเป็นอิมามผู้ที่มีความสามารถวินิจฉัย(ปัญหาศาสนา)ได้ เป็นผู้ที่อ่านคัมภีร์ของอัลลอฮฺ (ด้วยความรู้ความเข้าใจในความหมายอย่างท่องแท้) เป็นผู้ที่มีสถานะอันใหญ่ยิ่ง”
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 4 หน้าที่ 403) เช่นเดียวกันว่า “ท่านอัน-นะสาอียฺ และท่านอื่นๆ ถือว่า ท่านอบูญะอฺฟัรฺ เป็นหนึ่งในจำนวนฟุเกาะฮาอ์ อัต-ตาบิอีน (ผู้ร่วมสมัยกับเศาะหาบะฮฺ)แห่งเมืองมะดีนะฮฺ และบรรดาหุฟฟาซฺ (บรรดานักท่องจำหะดีษ) มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ท่านอบู ญะอฺฟัรฺ นับเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ สามารถนำเอามาเป็นหลักฐานที่อ้างอิงได้"

ท่านญะอฺฟัรฺ อิบนุ มุหัมมัด อิบนุ อะลียฺ อิบนุ หุสัยนฺ อิบนุ อะลียฺ อิบนุ อบี ฏอลิบ เราะหิมะฮุ้ลลอฮฺ
ท่านอิมาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “มินฮาจญ์ อัส-สุนนะฮฺ” (เล่มที่ 4 หน้าที่ 52-53) ว่า “ท่านญะอฺฟัรฺ อัศ-ศอดิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ นั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มอุละมาอ์(ผู้มีความรู้) และกลุ่มผู้ยึดมั่นในศาสนาที่ดียิ่ง ท่านอัมรฺ อิบนุ อะบิลมิกดาม กล่าวว่า “เมื่อฉันมองไปที่ท่าน ญะอฺฟัรฺ ฉันก็รู้ได้ทันทีว่าท่านนั้นเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากบรรดานบี”
ท่าน อิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้กล่าวถึงลักษณะของท่านญะอฺฟัรฺ ไว้ในหนังสือของท่านในเรื่องเกี่ยวกับความประเสริฐของอะฮฺลุล บัยตฺ (วงศ์วานท่านนบี) และสิทธิของท่านเหล่านั้น ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ใน (หน้าที่ 35) ว่า “ท่านเป็นเชค (ครู) ของบรรดาผู้รู้แห่งประชาชาตินี้”
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 6 หน้าที่ 255) ว่า “อิมาม อัศ-ศอดิก เป็นเชค(หัวหน้าคนสำคัญ)ของตระกูลฮาชิม อบู อับดุลลอฮฺ อัล-กุเราะชียฺ อัล-ฮาชิมียฺ อัล-อะละวียฺ อัล-นะบะวียฺ อัล-มะดะนียฺ เป็นบุคคลหนี่งที่มีชื่อเสียงโดดเด่น”
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวถึงท่าน และบิดาของท่านว่า “ท่านทั้งสองเป็นอุละมาอ์ (ผู้มีความรู้) แห่งนครมะดีนะฮฺ ที่ทรงเกียรติ”
และท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ตัซกิเราะตุลหุฟฟาซฺ” (เล่มที่ 1 หน้าที่ 150) ว่า “ท่านอิมามอัช-ชาฟิอียฺ และท่านยะหฺยา อิบนุ มะอีน ได้ให้ความเชื่อถือ ให้ความไว้วางใจ (ท่านญะอฺฟัรฺ อิบนุ มุหัมมัด) และมีรายงานจากอบู หะนีฟะฮฺ ว่า ท่านได้กล่าวว่า “ฉันไม่เห็นใครมีความเข้าใจเกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลามยิ่งไปกว่าท่านญะอฺฟัรฺ อิบนุ มุหัมมัด ท่านอบู หาติม กว่าวว่า “ท่าน (ญะอฺฟัรฺ อิบนุ มุหัมมัด) เป็นคนที่เชื่อถือได้ บุคคลเยี่ยงท่านผู้นี้ไม่จำเป็นต้องซักไซ้ถามให้มากความ(ถึงความน่าเชื่อถือหรือไม่)”

ท่านอะลียฺ อิบนุ อับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส เราะหิมะฮุลลอฮฺ
อิบนุ สะอัด ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัฏ-เฏาะบะกอต” (เล่มที่ 5 หน้าที่ 313) ว่า “ท่าน อะลียฺ อิบนุ อับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส เป็นลูกคนเล็กที่มีอายุน้อยที่สุด ของท่านอับดุลลอฮฺ และเป็นผู้ที่มีความสง่างาม และหล่อเหลาที่สุดของตระกูลกุร็อยชฺบนหน้าแผ่นดินนี้ และเป็นคนขยันขันแข็งในการทำละหมาด จนมีผู้เรียกท่านว่า “ผู้ทำการสุญูด (แด่อัลลอฮฺ) อย่างมากมาย” ก็เนื่องจากการทำอิบาดะฮฺ และความดีของท่านนั่นเอง”
ในหน้าที่ 314 ท่านได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ท่านเป็นคนที่เชื่อถือได้ และเป็นคนพูดน้อย”
ท่านอัล-มิซซียฺได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อ “ตะฮฺซีบุลกะมาล” ว่า “ท่านอัล-อิจญ์ลียฺ และอบู ซุรฺอะฮฺ กล่าวว่า ท่านอะลียฺ อิบนุ อับดุลลอฮฺ เป็นคนที่เชื่อถือได้ และท่านอัมรฺ อิบนุ อะลียฺ กล่าวว่า ท่านอะลียฺ อิบนุ อับดุลลอฮฺ เป็นคนที่ดีที่สุดคนหนึ่งในหมู่บรรดาคนทั้งหลาย และท่านอิบนุ หิบบาน ได้ระบุถึงท่านไว้ในหนังสือ “อัษ-ษิกอต”
ท่านอัซ-ซะฮะบียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัส-สิยัรฺ” (เล่มที่ 5 หน้าที่ 252) ว่า “ท่านเป็นอิมาม เป็นผู้นำ “อบุลเคาะลาอิฟ” อบู มุหัมมัด อัล-ฮาชิมียฺ อัส-สัจญ์ญาด (ผู้กระทำการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺอย่างเคร่งครัด) ท่านอะลียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ เป็นคนที่มีความรู้กว้างขวาง เป็นคนทำงาน ร่างกายสูงใหญ่ รูปร่างหล่อเหลา เป็นคนน่าเกรงขาม”


บทที่ 9
เปรียบเทียบระหว่างหลักเชื่อมั่นของ “อะฮฺลุสสุนนะฮฺ”
และกลุ่มอื่นๆ เกี่ยวกับอะฮฺลุล บัยตฺ

จากที่ได้นำเสนอมาแล้วนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า หลักการเชื่อมั่นของ “อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ” เกี่ยวกับวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็น การเดินตามสายกลาง ไม่เลยเถิด และไม่บกพร่องหย่อนยาน ไม่ยกย่องบุคคลเกินเลยฐานะ ไม่ทำตัวหมางเมิน กระด้างกระเดื่อง พวกเขารักและเคารพวงศ์วานของท่านนบีทุกท่าน เป็นมิตรกับบรรดาท่านเหล่านั้น ไม่หมางเมินและมิได้ยกย่องผู้ใดโดยเฉพาะ จนเกินฐานะความเป็นจริง
“อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ” จะรักและเคารพบรรดาเศาะหาบะฮฺทุกท่าน โดยมิได้ยกเว้นผู้ใดทั้งสิ้น และถือว่าท่านเหล่านั้นล้วนเป็นมิตรที่ดี
“อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ” รวมเอาความรักในเศาะหาบะฮฺ และความรักในวงศ์วานไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน กรณีนี้จึงแตกต่างกันกับพวกที่มิใช่ “อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ” อันได้แก่พวกที่ยึดถือเอาแต่อารมณ์ ที่ยกย่องให้เกียรติบุคคลในวงศ์วานของท่านนบีเป็นการเฉพาะ จนเกินเลยฐานะความเป็นจริง และทำเมินเฉย กระด้างกระเดื่องกับบุคคลในวงศ์วานของท่านนบีอีกมากมายหลายท่าน ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ด้วยเช่นกัน
ในจำนวนตัวอย่างต่างๆ จากการกระทำที่เลยเถิดจนเกินฐานะที่พวกเขามีให้กับบรรดาอิมามสิบสอง ผู้สืบเชื้อสายมาจากวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บรรดาท่านเหล่านั้น คือ ท่านอะลียฺ ท่านหะสัน ท่านหุสัยนฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม และลูกๆของท่านอัล-หุสัยนฺ อีกเก้าท่านนั้น ได้ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือ “อุศูลุลกาฟี” ของอัล-กุลัยนียฺ ในบทต่างๆ เช่น :
- บทที่ว่า : “แท้ จริง บรรดาอิมาม อะลัยฮิมุสสลาม เป็นตัวแทนของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา บนหน้าแผ่นดินนี้ของพระองค์ และพวกเขาถูกนำออกมาจากประตูต่างๆของพระองค์” (เล่มที่ 1 หน้าที่ 193)

- บทที่ว่า : “แท้จริง บรรดาอิมาม อะลัยฮิมุสสลาม คือ อะลามาต (สัญญาณเครื่องหมายต่างๆ) ที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงระบุไว้ในคัมภีร์ของพระองค์” (อุศูลุลกาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 206) ในบทนี้มีอยู่สามหะดีษ ซึ่งเป็นหะดีษที่พวกเขาได้ประมวลไว้ด้วยการอธิบายความหมายของดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลาที่ว่า :

﴿ وَعَلَٰمَٰتٖۚ وَبِٱلنَّجۡمِ هُمۡ يَهۡتَدُونَ ١٦ ﴾ [النحل: ١٦]

“และเครื่องหมายต่างๆ และด้วยกับดวงดาวนั้น พวกเขาอาศัยนำทาง” (อัน-นะหฺลุ :16)
พวกเขา (ชีอะฮฺ) อธิบายคำว่า “อัน-นัจญ์มุ” (ดวงดาว) นั้นว่า หมายถึง ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และ “อัล-อะลามาต” (เครื่องหมายต่างๆ) นั้นหมายถึง บรรดาอิมาม (สิบสอง)

- บทที่ว่า : บรรดาอิมาม อะลัยฮิมุสสลาม นั้น เป็นรัศมีของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา (อัล-กาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 193)
ซึ่งในบทนี้ ประมวลหะดีษไว้มากมาย จากหะดีษเหล่านั้น ที่มีสายสืบสุดอยู่เพียงแค่ท่าน อบู อับดิลลาฮฺ (คือ ท่านญะอฺฟัรฺ อัศ-ศอดิก) เป็นการอธิบายดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ในซูเราะฮฺ อัน-นูรฺ อายะฮฺที่ 35 ที่ว่า :

﴿۞ٱللَّهُ نُورُ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِۚ ﴾ [النور: ٣٥]

“อัลลอฮฺทรงเป็นแสงสว่าง (เป็นผู้นำทาง) แห่งบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน....”
พวกเขากล่าวอ้างว่า อบู อับดิลลาฮฺ (ญะอฺฟัรฺ อัศ-ศอดิก) ได้อธิบายว่า

﴿مَثَلُ نُورِهِۦ كَمِشۡكَوٰةٖ﴾

“อุปมาแสงสว่างแห่งอัลลอฮฺ อุปมัยดั่งช่อง(ที่ทำไว้ตามผนังสำหรับตั้งตะเกียง)” ว่า หมายถึงท่านหญิง ฟาฏิมะฮฺ อะลัยฮัสสลาม

﴿فِيهَا مِصۡبَاحٌۖ ﴾

(ณ ที่) “ตามช่องนั้นมีตะเกียง” หมายถึงอัล-หะสัน

﴿ ٱلۡمِصۡبَاحُ فِي زُجَاجَةٍۖ ﴾

“ตะเกียงนั้นอยู่ในโคมแก้ว” หมายถึงอัล-หุสัยนฺ

﴿ ٱلزُّجَاجَةُ كَأَنَّهَا كَوۡكَبٞ دُرِّيّٞ﴾

“โคมแก้วนั้นเสมือนดวงดาวที่ประกายแสง” ดวงดาวที่ว่าหมายถึง ท่านหญิง ฟาฏิมะฮฺ ที่เป็นเสมือนดวงดาวท่ามกลางบรรดาสตรีในโลกนี้

﴿ يُوقَدُ مِن شَجَرَةٖ مُّبَٰرَكَةٖ﴾

“(ตะเกียงนั้น) ถูกจุดขึ้นจากน้ำมัน ที่มาจากต้นไม้ที่เป็นมงคล (ให้ประโยชน์มากมาย)” ว่าหมายถึง ท่านนบี อิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม

﴿زَيۡتُونَةٖ لَّا شَرۡقِيَّةٖ وَلَا غَرۡبِيَّةٖ﴾

“คือต้นซัยตูน ซึ่งมันมิได้อยู่ทางด้านตะวันออก และมิได้อยู่ทางด้านตะวันตก” (อยู่ในจุดที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน) ว่าหมายถึง ไม่ใช่พวกยิวและไม่ใช่พวกคริสต์

﴿يَكَادُ زَيۡتُهَا يُضِيٓءُ﴾

“น้ำมันของมันนั้นเกือบจะมีประกายแสงออกมา” ว่าหมายถึง วิชาความรู้นั้นเกือบจะระเบิดพุ่งออกมาจากแสงนั้น

﴿وَلَوۡ لَمۡ تَمۡسَسۡهُ نَارٞۚ نُّورٌ عَلَىٰ نُورٖۚ ﴾

“ถึงแม้ว่าแสงไฟนั้นจะไม่มากระทบกับมัน (มันก็จะประกายแสง) (เมื่อ)แสง(จากไฟตะเกียงส่องมากระทบ)กับแสง(ประกายที่ออกมาจากน้ำมันซัยตูนนั้น)ก็จะมีแสงสว่างเพิ่มมากขึ้นไปอีก” ว่าหมายถึง อิมาม (ของพวกเขา) ออกมาจากแสงสว่างนั้น ซึ่งจะตามกันมาเป็นลำดับ

﴿يَهۡدِي ٱللَّهُ لِنُورِهِۦ مَن يَشَآءُۚ ﴾

“อัลลอฮฺจะทรงนำผู้ที่พระองค์ประสงค์ไปสู่แสงสว่างของพระองค์” ว่าหมายถึง อัลลอฮฺ จะทรงนำทางผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ให้แก่บรรดาอิมามเหล่านั้น

- บทที่ว่า : “เครื่องหมายต่างๆ ที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงระบุไว้ในคัมภีร์ของพระองค์นั้น หมายถึง บรรดาอิมามนั้นเอง” (อัล-กาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 207)
และในบทนี้ได้อธิบาย ดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า

﴿وَمَا تُغۡنِي ٱلۡأٓيَٰتُ وَٱلنُّذُرُ عَن قَوۡمٖ لَّا يُؤۡمِنُونَ ١٠١ ﴾ [يونس: ١٠١]

“สัญญาณต่างๆ และบรรดารอซูลผู้ให้การตักเตือน มิได้ให้คุณประโยชน์อันใดแก่กลุ่มคนที่ไม่ศรัทธา” (ยูนุส 101)
พวกเขา (ชีอะฮฺ) อธิบายดำรัสของพระองค์ที่ว่า สัญญาณต่างๆ ที่ว่านั้น ก็คือ บรรดาอิมาม!
และได้อธิบายดำรัสของอัลลอฮฺ ที่ว่า

﴿كَذَّبُواْ بَِٔاฮيَٰتِنَا كُلِّهَا﴾ [القمر: ٤٢]

“พวกเขาปฏิเสธสัญญาณต่างๆ ของเราทั้งหมด” (อัล-เกาะมัรฺ : 42)
พวกเขา(ชีอะฮฺ) ให้ความหมายของคำว่า อายาต หรือสัญญาณต่างๆ นั้นหมายถึงบรรดาผู้ที่ถูกสั่งเสีย ผู้ที่ถูกกำชับให้ดูแล (บรรดาอิมามทั้ง 12)
ดังนั้น ถ้าว่ากันตามความหมายที่พวกเขากล่าวอ้างมา ก็แสดงว่าการลงโทษที่เกิดกับขึ้นฟิรฺเอาว์นฺก็เกิดมาจากสาเหตุที่เขาปฏิเสธต่อบรรดาอิมามของชีอะฮฺ ผู้ถูกสั่งเสีย ผู้ถูกกำชับเอาไว้นั่นเอง !!

- บทที่ว่า : “อะฮฺลุซซิกรฺ” ก็คือ บรรดาผู้ที่อัลลอฮฺได้ใช้ให้มวลมนุษย์วิงวอนขอต่อพวกเขา ฉะนั้น พวกเขา คือ บรรดาอิมาม (อัล-กาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 210)

- บทที่ว่า : “อัล-กุรอาน ได้นำทางให้แก่อิมาม” (อัล-กาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 216)
ในบทนี้ได้อธิบายดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า

﴿إِنَّ هَٰذَا ٱلۡقُرۡءَانَ يَهۡدِي لِلَّتِي هِيَ أَقۡوَمُ ﴾ [الإسراء: ٩]

“แท้จริง อัลกุรอานนี้นำไปสู่ทางที่เที่ยงตรง” (อัล-อิสรออ์ : 9)
(พวกเขาได้อธิบายไว้ว่า) “อัลกุรอานนี้นำทางไปสู่บรรดาอิมาม”
และในบทนี้ (พวกเขา) ได้ให้การอธิบายดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า

﴿وَٱلَّذِينَ عَقَدَتۡ أَيۡمَٰنُكُمۡ ﴾ [النساء: ٣٣]

“และบรรดาผู้ที่มือขวาของพวกเขาได้ทำข้อผูกพันกันไว้” (อัน-นิสาอ์ : 33)
(พวกเขา) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “แท้จริง บรรดาอิมาม อะลัยฮิสสลาม นั้น ได้ดูแลเอาใจใส่ต่อข้อผูกพันดังกล่าวนั้นอย่างจริงจัง อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา จึงได้กำหนดเป็นเงื่อนไขผูกมัดพวกท่านด้วยการที่จะต้องผูกพันอยู่กับพวกเขา (อิมาม)”

- บทที่ว่า : ความกรุณา(นิอฺมะฮฺ) ที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงระบุไว้ในคัมภีร์ของพระองค์นั้น ก็คือ บรรดาอิมาม อะลัยฮิมุสสลาม (อัล-กาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 217)
ในบทนี้มีการอธิบายความหมายดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า

﴿۞أَلَمۡ تَرَ إِلَى ٱلَّذِينَ بَدَّلُواْ نِعۡمَتَ ٱللَّهِ كُفۡرٗا﴾ [ابراهيم: ٢٨]

“เจ้า (มุหัมมัด) ไม่เห็นดอกหรือว่า บรรดาผู้ที่เปลี่ยนความโปรดปรานของอัลลอฮฺให้กลายเป็นการปฏิเสธศรัทธา” (อิบรอฮีม : 28)
(พวกเขาอธิบาย) โดยอ้างว่า ท่านอะลียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า “เราคือนิอฺมะฮฺ(ความโปรดปราน)ที่อัลลอฮฺ ได้ทรงประทานมาให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ และผู้ที่จะได้รับความสำเร็จในวันกิยามะฮฺนั้นก็ด้วยเพราะเรานั่นเอง!!”
และในบทนี้ ได้มีการอธิบายดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ในสูเราะฮฺ อัร-เราะหฺมาน ที่ว่า :

﴿ فَبِأَيِّ ءَالَآءِ رَبِّكُمَا تُكَذِّبَانِ ١٣ ﴾

“และด้วยความโปรดปรานอันใดเล่า แห่งพระเจ้าของพวกเจ้าทั้งสอง ที่พวกเจ้าทั้งสองปฏิเสธ”
เขาให้ความหมายว่า “เจ้าทั้งสองปฏิเสธต่อนบี หรือว่าปฏิเสธต่อ “วะศียฺ” (ผู้ถูกกำชับสั่งเสีย) กันแน่” !!

- บทที่ว่า : การนำเสนอการงานต่างๆ (ในวันกิยามะฮฺ)ต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม วงศ์วานของท่าน และบรรดาอิมาม (อัล-กาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 219)

- บทที่ว่า : บรรดาอิมาม อะลัยฮิมุสสลาม นั้น มีคัมภีร์ทั้งหมดที่ประทานลงมาจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา อยู่ที่พวกเขา และพวกเขาสามารถรู้ความหมายของคัมภีร์เหล่านั้นทั้งหมด แม้ว่าภาษาของคัมภีร์นั้นจะแตกต่างก็ตาม” (อัล-กาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 227)

- บทที่ว่า : อัลกุรอานไม่ได้ถูกรวบรวมไว้ครบสมบูรณ์ในช่วงนั้น จนกระทั่งบรรดาอิมาม อะลัยฮิมุสสลาม ได้มาทำการรวบรวมจนครบถ้วนสมบูรณ์ในภายหลัง และพวกเขารู้ และเข้าใจในวิชาการของอัลกุรอานทั้งหมด” (อัล-กาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 228)

- บทที่ว่า : บรรดาอิมาม อะลัยฮิมุสสลาม จะรู้ดีถึงความรู้ทั้งหมดที่มีมาถึงมะลาอิกะฮฺ ที่มีมาถึงบรรดานบี และบรรดาเราะสูล อะลัยฮิมุสสลาม” (อัล-กาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 255)

- บทที่ว่า : บรรดาอิมาม อะลัยฮิมุสสลาม จะรู้ว่า เมื่อไหร่พวกเขาถึงจะตาย และพวกเขาจะไม่ตายนอกจากความตายนั้น ต้องอยู่ในดุลยพินิจ และขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของพวกเขาเสียก่อนเท่านั้น” (อัล-กาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 258)

- บทที่ว่า : บรรดา อิมาม อะลัยฮิมุสสลาม จะรู้ถึงความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว และที่กำลังจะเกิดขึ้น และไม่มีสิ่งใดที่จะมาปกปิดซ่อนเร้นพวกเขาได้เลย” (อัล-กาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 260)

- บทที่ว่า : อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา จะไม่สอนความรู้ใดแก่นบีของพระองค์ นอกจากจะมีบัญชาแก่นบีของพระองค์ให้นำเอาไปสอนต่อแก่อะมีรุลมุอ์มินีน (ท่านอะลียฺ) อะลัยฮิสสลาม และท่านอะมีรุลมุอ์มินีนนั้น เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับท่านนบีในวิชาความรู้ (ที่อัลลอฮฺ ทรงให้มา) (อัล-กาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 263)

- บทที่ว่า : สิ่งที่มีปรากฏอยู่ในมือของผู้คนทั้งหลายนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริง นอกจากสิ่งนั้นจะต้องออกมาจากบรรดาอิมาม อะลัยฮิมุสสลาม เท่านั้น และแท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มิได้ออกมาจากบรรดาอิมามของพวกเขามันคือสิ่งเท็จ” (อัล-กาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 399)
บทต่างๆ เหล่านี้ ได้ประมวลหะดีษของพวกเขาไว้จำนวนหลายหะดีษ ซึ่งเราคัดลอกออกมาจากฉบับที่พิมพ์เผยแพร่ โดยสำนักพิมพ์ “อัศ-ศอดูก” ณ กรุงเตหะราน ในปี ฮิจญ์เราะฮฺศักราชที่ 1381
ตำราเล่มนี้ (อัล-กาฟี) ถึงแม้นหากว่ามันไม่ใช่ตำราที่สูงสุดของพวกชีอะฮฺแล้ว ก็คงเป็นหนึ่งในตำราที่ล้ำค่าสูงสุดในบรรดาตำราของพวกชีอะฮฺเลยทีเดียว และในคำนำของตำราเล่มนี้ มีการกล่าวสรรเสริญยกย่องอย่างยิ่งใหญ่ต่อตำรา และเจ้าของตำราเล่มนี้ (อัล-กุลัยนียฺ เจ้าของตำรา) ซึ่งได้เสียชีวิตลงในฮิจญ์เราะฮฺศักราชที่ 329 นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้า ได้คัดลอกเอามาจากตำราเล่มนั้น เพื่อเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นถึงการกระทำที่เกินเลยขอบเขตของชีอะฮฺรุ่นแรกที่มีต่อบรรดาอิมาม
ส่วนการกระทำที่เกินขอบเขตของชีอะฮฺรุ่นหลังๆ ที่มีต่อบรรดาอิมาม ดังที่ปรากฏชัดเจนจากคำพูดผู้อาวุโสของพวกชีอะฮฺ ซึ่งเป็นคนร่วมสมัย คือ “โคมัยนียฺ” ที่ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า “อัล-หุกูมะฮฺ อัล-อิสลามียะฮฺ” (ในหน้าที่ 52) ที่พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ “อัล-มักตะบะฮฺ อัล-อิสลามียะฮฺ อัล-กุบรอ” ณ กรุง เตหะราน ว่า :

«وثبوتُ الولاية والحاكمية للإمام (ع) لا تَعنِي تجردَه عن منزلتِه التي هي له عند الله، ولا تجعله مثلَ مَن عداه مِن الحُكَّام؛ فإنَّ للإمام مقاماً محموداً ودرجةً سامية وخلافة تكوينيَّة تخضعُ لولايتها وسيطرتِها جميعُ ذرَّات هذا الكون، وإنَّ مِن ضروريات مذهبنا أنَّ لأئمَّتنا مقاماً لا يبلغه مَلَكٌ مُقرَّبٌ ولا نَّبِيٌّ مرسَلٌ، وبموجِب ما لدينا من الروايات والأحاديث فإنَّ الرَّسول الأعظم (ص) والأئمة (ع) كانوا قبل هذا العالَم أنواراً، فجعلهم الله بعرشِه مُحدقين، وجعل لهم من المنزلة والزُّلفَى ما لا يعلمه إلَّا الله، وقد قال جبرائيل كما ورد في روايات المعراج: لو دنوتُ أنْمُلة لاحترقتُ، وقد ورد عنهم (ع): إنَّ لنا مع اللهِ حالاتٍ لا يسعها مَلَكٌ مقرَّبٌ ولا نَبِيٌّ مرسَل»!!!

“การยืนยันยอมรับว่า วิลายะฮฺ และ หากิมียะฮฺ เป็นสิทธิของอิมาม (อ) นั้น มิได้หมายความว่าเป็นการปลดเปลื้องฐานะตำแหน่งของท่านที่มีอยู่ ณ ที่อัลลอฮฺเลย และมันไม่ได้ทำให้ท่านเป็นเหมือนกับบรรดาผู้นำคนอื่นๆ แท้จริง สำหรับท่านอิมามนั้น จะมีฐานะ ตำแหน่งที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญ และมีระดับชั้นอันทรงเกียรติ และมีสถานะเป็นตัวแทนปกครองสรรพสิ่ง ที่อณูทั้งหลายของจักรวาลนี้จะต้องสวามิภักดิ์ให้แก่อำนาจการปกครองและอำนาจการดูเลของท่าน เพราะฉะนั้น จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นประการหนึ่งของมัซฮับเรา (แนวทางของเรา)ที่จะต้องเชื่อว่า สำหรับบรรดาอิมามนั้น มีตำแหน่งซึ่งแม้แต่มลาอิกะฮฺผู้ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ และนบีที่ถูกส่งมา ก็ไม่สามารถก้าวเข้าไปสู่ตำแหน่งนี้ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามรายงาน และหะดีษมากมายที่ระบุเอาไว้ เพราะเราะสูลผู้ยิ่งใหญ่ (ศ) และอิมามทั้งหลาย (อ) นั้น ก่อนจะมาสู่โลกนี้ พวกเขาเคยเป็นแสงรัศมี และอัลลอฮฺได้ทรงแต่งตั้งให้พวกเขาได้มาห้อมล้อมอยู่ ณ บริเวณบัลลังก์ของพระองค์อัลลอฮฺ ทรงกำหนดฐานะและความใกล้ชิดกับพระอง ด้วยตำแหน่งซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถล่วงรู้ถึงความใกล้ชิดที่พวกเขามีกับอัลลอฮฺได้ นอกจากพระองค์อัลลอฮฺเท่านั้น และแน่แท้ ญิบรีลได้กล่าวไว้ ดังที่ปรากฏในรายงานมากมายเกี่ยวกับเรื่อง “อัล-มิอฺรอจญ์” ว่า “หากฉัน ได้เข้าไปใกล้กับพระองค์เพียงปลายนิ้วมือเท่านั้น แน่นอน ฉันต้องไหม้เป็นจุล” ซึ่งปรากฏรายงานมาจากบรรดอิมาม (อ) แท้จริง สำหรับพวกเรากับอัลลอฮฺนั้น มีสถานะหลายสภาพด้วยกัน ซึ่ง(สภาพต่างๆ ของพวกเรากับอัลลอฮฺนั้น) แม้แต่บรรดามะลาอิกะฮฺและบรรดานบี ที่ถูกแต่งตั้งมาก็ไม่มีความเหมาะสมที่จะล่วงเข้าไปได้” !!!
ทุกคนที่เห็นหรือที่ได้ยินคำพูดเช่นนี้แล้ว แน่นอน เขาคงจะไม่มีสิ่งใดที่จะกระทำได้ นอกจากจะต้องกล่าวว่า :

﴿رَبَّنَا لَا تُزِغۡ قُلُوبَنَا بَعۡدَ إِذۡ هَدَيۡتَنَا وَهَبۡ لَنَا مِن لَّدُنكَ رَحۡمَةًۚ إِنَّكَ أَنتَ ٱلۡوَهَّابُ ٨﴾ [آل عمران: ٨]

“โอ้ พระเจ้าของเรา ขอพระองค์อย่าได้ให้หัวใจของพวกเราหันเหออกจากความจริงเลย ภายหลังจากที่พระองค์ได้ทรงนำทางให้แก่พวกเราแล้ว และขอพระองค์ได้ทรงโปรดประทานความเอ็นดูเมตตาของพระองค์ให้แก่พวกเราด้วยเถิด แท้จริง พระองค์นั้น เป็นผู้ทรงประทานให้อย่างแท้จริง” (อาล อิมรอน : 8)
และแม้แต่ผู้ที่มีความรู้แค่ปลายเล็บก็ยังสามารถยืนยันว่า สิ่งที่คนเหล่านี้นำเอามาอ้าง และสิ่งที่มีความคล้ายคลึงเยี่ยงเดียวกันกับที่ได้นำเสนอมาแล้วนั้น ทั้งหมดย่อมเป็นเรื่องโกหก เป็นการกล่าวเท็จต่อบรรดาอิมาม แท้จริง บรรดาท่านอิมามเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเหล่าผู้กระทำเกินเลยขอบเขตในตัวของบรรดาอิมาม และความเชื่อที่เกินเลยขอบเขตของพวกเขาเหล่านั้นแม้แต่นิด


บทที่ 10
ไม่อนุญาตให้อ้างว่าสืบเชื้อสายมาจาก “อะฮฺลุล บัยตฺ” โดยไม่ชอบธรรม

ตระกูลอันทรงเกียรติที่สุดคือ ตระกูลแห่งนบีของพวกเรา คือ ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ความสัมพันธ์ทางเชื้อสายกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และความสัมพันธ์กับวงศ์วานของท่านถือเป็นเกียรติอันสูงส่งหากว่าความสัมพันธ์ทางเชื้อสายนั้นเป็นจริง แต่การอ้างอิงถึงตระกูลอันทรงเกียรตินี้ จะมีอยู่เป็นจำนวนมากในหมู่คนอาหรับ และคนที่ไม่ใช่อาหรับ ดังนั้น ผู้ใดที่มาจากวงศ์วานนี้จริง และเขาเป็นผู้มีอีมานศรัทธาต่ออัลลอฮฺ แท้จริง อัลลอฮฺได้ทรงรวบรวมทั้งเกียรติของการอีมานศรัทธา และเกียรติของวงศ์ตระกูลเอาไว้ในตัวของเขาผู้นั้น และถ้าผู้ใดกล่าวอ้างว่ามาจากวงศ์ตระกูลอันทรงเกียรติ ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่เชื้อสายที่มาจากวงศ์ตระกูลที่อ้าง แน่นอน เขาได้กระทำสิ่งที่ต้องห้าม(หะรอม) เสมือนกับผู้ที่รับประทานสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้อนุญาต(ให้รับประทาน)จนเต็มอิ่ม ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า :

«الْمُتَشَبِّعُ بِمَا لَمْ يُعْطَ كَلَابِسِ ثَوْبَى زُورٍ» [مسلم برقم 2729]

“ผู้ที่รับประทานสิ่งที่เจ้าของไม่อนุญาตให้รับประทานจนอิ่ม เสมือนกับผู้ที่ใส่เสื้อผ้าของคนอื่นที่ไม่ใช่ของตนเอง” (บันทึกโดย ท่านอิมามมุสลิม ในหะดีษเศาะฮีหฺของท่าน เลขที่ 2729 จากหะดีษที่รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา)

แท้จริง ปรากฏว่ามีตัวบทจากหะดีษมากมายที่เศาะฮีหฺ ห้ามมิให้บุคคลใดอ้างอิงเชื้อสายของบุคคลอื่นๆ ทั้งที่มิใช่เชื้อสายของตนเอง จากหะดีษเหล่านั้นที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ก็คือ หะดีษชองท่าน อบู ซัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า เขาได้ยินท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า :

«لَيْسَ مِنْ رَجُلٍ ادَّعَى لِغَيْرِ أَبِيْهِ وَهُوَ يَعْلَمُهُ إلَّا كَفَرَ بِاللهِ ، وَمَنْ ادَّعَى قَوْمًا لَيْسَ لَهُ فِيْهِمْ نَسَبٌ فَلْيَتَبَوَّأْ مَقْعَدَهُ مِنْ النَّارِ» [البخاري برقم 3508، ومسلم برقم 112، وهذا اللفظ للبخاري]

“ไม่มีผู้ใดอ้างบุคคลอื่นเป็นบิดาของเขา ทั้งๆ ที่ เขารู้ว่าบุคคลนั้นมิใช่บิดาของเขา(ที่แท้จริง) นอกจากเขาได้ปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และผู้ใดอ้างว่าตัวเขามาจากชนกลุ่มหนึ่ง ทั้งๆ เขามิๆ ได้สืบเชื้อสายมาจากคนกลุ่มนั้นเลย ดังนั้น เขาจงเตรียมที่นั่งของเขาไว้ในไฟนรกเถิด” (บันทึกโดย อิมาม อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3508 และท่านอิมามมุสลิม หะดีษเลขที่ 112 ซึ่งสำนวนนี้เป็นบันทึกของอิมามอัล-บุคอรียฺ)

และมีหะดีษบันทึกไว้ในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ (หะดีษเลขที่ 3509) จากรายงานของวาษิละฮฺ อิบนุล อัสเกาะอฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«إِنَّ مِنْ أَعْظَمِ الْفِرَى أَنْ يَدَّعِي الرَّجُلُ إِلَى غَيْرِ أَبِيْهِ ، أَوْ يُريَ عَيْنَهُ مَالَمْ تَرَ ، أَوْيَقُوْلَ عَلَى رَسُوْلِ اللهِ صلى الله عليه مَالَمْ يَقُلْ» [البخاري برقم 3509]

“แท้จริง การกล่าวเท็จที่ใหญ่หลวงประการหนึ่งก็คือ การมีผู้หนึ่ง ผู้ใดอ้างบุคคลอื่นเป็นบิดาของเขา หรือว่าอ้างว่าเขาฝันเห็นของสิ่งหนึ่ง (ทั้งสองตาของเขา) ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เห็นของสิ่งนั้น หรือกุเรื่องว่าท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวในสิ่งที่ท่านไม่ได้กล่าว”

ใน “มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตะวา” ของท่านชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ (เล่มที่ 31 หน้าที่ 93) กล่าวว่า : "ของวะกัฟสำหรับ อะฮฺลุลบัยตฺ และ ตระกูลอัชรอฟ(เชื้อสายของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั้น ไม่มีใครที่สมควรได้รับสิทธิในสิ่งวะกัฟเหล่านั้นนอกจากผู้ที่เชื้อสายของเขาสืบถึงวงศ์วานของท่านนบีอย่างชัดเจนเท่านั้น และได้มีผู้ถามท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ ถึงสิ่งวะกัฟที่มีถูกวะกัฟให้กับเชื้อสายอัชรอฟ โดยที่เขากล่าวอ้างว่าพวกเขาเป็นญาติใกล้ชิด ซึ่งญาติใกล้ชิดนั้นเป็นหนึ่งในเชื้อสายอัชรอฟหรือไม่ ? และจะอนุญาตให้พวกเขาได้รับสิ่งใดได้บ้างหรือไม่จากของวะกัฟนั้น?”
ท่านเชค อิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้ตอบคำถามโดยกล่าวว่า : “บรรดาการสรรเสริญทั้งมวลนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ถ้าของวะกัฟที่ว่าถูกวะกัฟให้กับอะฮฺลุลบัยตฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือ วะกัฟแก่คนบางกลุ่มที่เป็นอะฮฺลุลบัยตฺ เช่นตระกูล อะละวียีน ตระกูล ฟาฏิมียีน หรือตระกูลอัฏ-เฏาะลิบียีน ซึ่งตระกูลญะอฺฟัรฺ และตระกูล อะกีล เข้ามารวมอยู่ในตระกูลนี้ด้วย หรือตระกูล อับบาสิยีน และกลุ่มอื่นๆ อีกที่มาจากอะฮฺลุลบัยติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เช่นนั้นแล้ว ก็ไม่มีใครที่สามารถรับของวะกัฟนั้นได้ นอกจากผู้ที่มีเชื้อสายของเขาสืบมาอย่างถูกต้องและยืนยันได้เท่านั้น ส่วนผู้ที่อ้างว่าเขาสืบเชื้อสายมาจากวงศ์วานของท่านนบี หรือรู้ตัวว่าเขาคนนั้นไม่ใช่คนในวงศ์วานและสายตระกูลท่านนบีอย่างแท้จริงแล้ว เขาก็ย่อมไม่มีสิทธิในของวะกัฟนี้ ถึงแม้ว่าเขาจะอ้างตนว่าเป็นคนที่มาจากวงศ์วานของท่านนบีก็ตาม เช่นพวกอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัยมูน อัล-ก็อดดาหฺ ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางด้านการนับเชื้อสายและแม้ผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญต่างก็รู้ดีว่า พวกนั้นมิได้มีเชื้อสายที่ถูกต้องที่สืบถึง(วงศ์วานของท่านนบีเลย) ซึ่งกลุ่มผู้รู้หลายกลุ่ม อาทิเช่น กลุ่มผู้รู้ทางนิติศาสตร์อิสลาม กลุ่มผู้รู้ทางหะดีษ กลุ่มผู้รู้ทางวิชาอัล-กะลาม (วาทะวิทยา) และกลุ่มผู้รู้ทางด้านเชื้อสายของตระกูลได้ยืนยันในกรณีดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งมีปรากฏอยู่ในเอกสารรายงานอย่างถูกต้องตามบัญญัติศาสนาที่ได้ระบุถึงเรื่องนี้ไว้ในตำราต่างๆ ที่ทรงคุณค่าที่เป็นตำราของบรรดามุสลิม ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องนี้ยังเป็นสิ่งที่รู้กันสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องจากเหล่าอุละมาอ์
และเช่นเดียวกัน ถ้ามีผู้ที่ยกวะกัฟให้กับตระกูลอัชรอฟ แท้จริง ถ้อยคำนี้โดยธรรมเนียมแล้วย่อมไม่มีใครที่เข้ามามีสิทธิในวะกัฟนี้ได้ นอกจากผู้ที่มีเชื้อสายสืบมาอย่างถูกต้องจากวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อย่างแท้จริงเท่านั้น
แต่ถ้าหากว่ามีผู้วะกัฟให้กับตระกูลนั้นตระกูลนี้ หรือแก่ญาติใกล้ชิดของคนนั้นคนนี้ เป็นต้น ซึ่งในสิ่งที่วะกัฟนั้นไม่ได้มีหลักฐานแสดงว่าเป็นของอะฮฺลุลบัยตฺของท่านนบี และของวะกัฟเองก็อยู่ในความครอบครองของผู้วะกัฟ เขาก็สามารถที่จะวะกัฟให้กับตระกูลใดตระกูลหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงได้ โดยไม่จำเป็นว่าตระกูลฮาชิมต้องเข้ามามีสิทธิในการวะกัฟนี้แต่อย่างใด"

ณ ที่นี้ เอกสารเกี่ยวกับ อะฮฺลุล บัยตฺ (วงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และสถานภาพอันสูงส่งของบรรดาท่านเหล่านั้น ในทัศนะของ "อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ” ก็จบลงเพียงเท่านี้ และข้าพเจ้าขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงประทานความสำเร็จ (อัต-เตาฟีก) ให้กับสิ่งที่พระองค์ทรงพอพระทัย และขอได้ทรงประทานความเข้าใจในศาสนาของพระองค์ และขอได้ทรงประทานการยืนหยัดอย่างมั่นคงในความจริงให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด แท้จริง พระองค์เป็นผู้ทรงได้ยิน เป็นผู้ทรงตอบรับคำวิงวอนขอ
ขอพระองค์ได้ทรงประทานพร สันติสุข และความสิริมงคล ให้แก่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งเป็นนบีของพวกเรา ให้แก่วงศ์วานของท่าน และให้แก่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านทุกคนโดยถ้วนหน้ากันเทอญ

وصلى الله وسلم وبارك على نبينا محمد وعلى آله وأصحابه أجمعين.


ผู้แต่ง : อับดุลมุหฺสิน บิน หะมัด อัล-อับบาด อัล-บะดัรฺ

ผู้แปล : ฏอฮา(เจริญ) อับดุลเลาะห์

ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

ลิ้งก์ที่มา : http://www.islamhouse.com/p/369250

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).