Loading

 

หะดีษที่ 6 ออกห่างจากสิ่งที่คลุมเครือ البُعْدُ عَنْ مَوَاطِنِ الشُبُهَاتِ

عَنْ أَبِيْ عَبْدِ اللهِ النُّعْمَانِ بْنِ بَشِيْرٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : سَمِعْتُ رَسُوْلَ اللهِ صلى الله عليه وسلم يَقُوْلُ : " إِنَّ الحَلَالَ بَيِّنٌ وَإِنَّ الحَرَامَ بَيِّنٌ ، وبَيْنَهُمَا اُمُورٌ مُشْتَبِهاتٌ ، لاَ يَعْلَمُهُنَّ كَثِيْرٌ مِنَ النَّاسِ ، فَمَنِ اتَّقَى الشُّبُهَاتِ ، فَقَدْ اِسْتَبْرَأَ لِدِيْنِهِ وَعِرْضِهِ ، وَمَنْ وَقَعَ فِيْ الشُّبُهَاتِ وَقَعَ فِيْ الحَرَامِ ، كَالرَّاعِيْ يَرْعَى حَوْلَ الحِمَى يُوْشِكُ أَنْ يَرْتَعَ فِيْهِ ، أَلاَ وَإِنَّ لِكُلِّ مَلِكٍ حِمًى ، أَلاَ وَإِنَّ حِمَى اللهِ مَحَارِمُهُ ، أَلاَ وَإِنَّ فِيْ الجَسَدِ مُضْغَةً إِذَا صَلَحَتْ صلَحَ الجَسَدُ كُلُّهُ ، وَإِذَا فَسَدَتْ فَسَدَ الجَسَدُ كُلُّهُ ، أَلاَ وَهِيَ القَلْبُ" رَوَاهُ البُخَارِيُّ وَمُسْلِمٌ.
ท่านอบู อับดิลลาฮ นั่นคืออัน-นุอฺมาน อิบนุ บะชีร ร่อฎิยั้ลลอฮุ อันฮุ เล่าว่า: ฉันได้ยินท่านร่อสูลุลลอฮฺ i กล่าวว่า
“แท้จริงสิ่งที่อนุมัติ (หะลาล) นั้นชัดเจนและสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) ก็ชัดเจนเช่นกัน และในระหว่างทั้งสองนั้นคือสิ่งที่คลุมเครือ ซึ่งผู้คนส่วนมากไม่รู้ ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ระแวดระวังและปกป้องตัวเขาจากสิ่งที่คลุมเครือ แท้จริงเขาได้ให้ศาสนาและเกียรติของเขาใสสะอาดปราศจากมลฑิน
และใครก็ตามที่ตกอยู่ในสิ่งที่คลุมเครือ ก็เสมือนกับว่าเขาได้ตกอยู่ในสิ่งที่ต้องห้าม เปรียบดังเช่นผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์อยู่รอบๆบริเวณเขตหวงห้าม ซึ่งมันเกือบจะเล็ดลอดเข้าไปกินในเขตหวงห้ามอยู่แล้ว
พึงทราบเถิดว่าทุก ๆ กษัตริย์ย่อมมีเขตหวงห้าม และพึงทราบเถิดว่า แท้จริงเขตหวงห้ามของอัลลอฮฺคือบรรดาสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย.
พึงทราบเถิดว่า ในร่างกายมนุษย์นั้น มีก้อนเนื้อชิ้นหนึ่ง เมื่อมันดี ร่างกายทั้งหมดก็จะดีตามไปด้วย และถ้าหากว่ามันเสีย ร่างการทั้งหมดก็จะเสียตามไปด้วย พึงทราบเถิดว่า มันคือ หัวใจ” หะดีษบันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ และมุสลิม
ศัพท์
إِنَّ - แท้จริง
الحَلَالَ - สิ่งหะลาล , สิ่งที่อนุญาตให้ทำได้
بَيِّنٌ - ชัดเจน
وَ - และ
الحَرَامَ - สิ่งที่หะรอม, สิ่งที่ต้องห้าม
بَيْنَهُمَا - ระหว่างมันทั้งสอง, بَيْنَ – ระหว่าง, هُمَا - มันทั้งสอง
اُمُورٌ - เรื่องราวทั้งหลาย
مُشْتَبِهاتٌ - คลุมเครือ, น่าสงสัย จากรากศัพท์
شبه لاَ - ไม่
يَعْلَمُهُنَّ - พวกเขา...รู้
كَثِيْرٌ - ส่วนมาก
مِنَ - จาก (مِِنْ)
النَّاسِ - ผู้คนทั้งหลาย
فَمَنِ - ดังนั้นผู้ใด, فَ - ดังนั้น, مَنْ - ผู้ใด
اتَّقَى - หลีกเลี่ยง
الشُّبُهَات - สิ่งที่คลุมเครือ, สิ่งที่น่าสงสัย
فَقَدْ - ดังนั้นแน่นอน
اِسْتَبْرَأَ - ทำให้ตัวเองให้โปร่งใส, ทำให้ตัวเองใสสะอาดปราศจากมลทิน
لِدِيْنِهِ - เพื่อศาสนาของเขา
وَعِرْضِهِ - เกียรติของเขา
وَقَعَ - ตกลงสู่
فِيْ - ใน
الشُّبُهَاتِ - ความคลุมเครือ
كَ - เสมือน, ประหนึ่ง
الرَّاعِيْ - คนเลี้ยงเลี้ยง, ผู้ปกป้องดูแล, ผู้ทำหน้าที่ดูแลสิ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขา
يَرْعَى - เขาเลี้ยงดูสัตว์
حَوْلَ - รอบๆ
الحِمَى - ทุ่งเลี้ยงสัตว์ส่วนบุคคล , เขตหวงห้ามรุกล้ำเข้าไปไม่ได้
يُوْشِكُ - ใกล้จนเกือบจะรุกล้ำที่เขตหวงห้ามซึ่งเป็นที่ส่วนบุคคลของผู้อื่น
يَرْتَعَ - เล็ดลอดเข้า หรือรุกล้ำเข้า
فِيْهِ - ในมัน
أَلاَ - พึงทราบไว้เถิด เป็นคำอุทานที่ทำให้แน่ใจได้ว่า ผู้พูดต้องการให้ผู้ฟังตั้งใจฟังให้ดีถึง
เรื่องสำคัญที่จะกล่าวต่อไปหลังจากนี้
لِكُلِّ - لِ เพื่อ,สำหรับ , كُلِّ ทุกๆ
مَلِكٍ - กษัตริย์
مَحَارِمُهُ - สิ่งต้องห้ามทั้งหลายที่พระองค์(อัลลอฮฺ)ได้สั่งห้ามไว้
الجَسَدِ - ร่างกาย
مُضْغَةً - ก้อนเนื้อก้อนหนึ่ง
إِذَا - เมื่อ
صَلَحَتْ - มัน(ก้อนเนื้อ – รูปคำเป็นเพศหญิง)ดี
صَلَحَ - มัน(ร่างกาย – รูปคำเป็นเพศชาย)ดี
فَسَدَتْ - มัน(ก้อนเนื้อ – รูปคำเป็นเพศหญิง)เสีย
فَسَدَ - มัน(ร่างกาย – รูปคำเป็นเพศชาย)เสีย
وَهِيَ - และมันคือ
القَلْبُ - หัวใจ
หะดีษนี้ศ่อหี๊ยฺหฺ บันทึกโดยบุคอรียฺ, มุสลิม, อะหฺมัด, อะบู ดาวูด, อัต-ติรมิซียฺ, อิบนิ มาญะฮฺ, อัน-นะสาอียฺ และคนอื่นๆ มีหะดีษที่มีความหมายคล้ายๆกันนี้ถูกรายงานโดยบรรดาศ้อหาบะฮฺ เช่น อับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ, อัมมารฺ บิน ญาสิรฺ, ญาบิรฺ, อิบนิ มัสอูด, และ อิบนิ อับบาส ผู้รายงานจำนวนมากล้วนเป็นบรรดาศ้อหาบะฮฺ อย่างไรก็ตามสายรายงานล้วนฎ้ออีฟ (อิบนิ มุหัมมัด หน้า 68-72)
ภาพรวม หะดีษนี้ได้วางหลักการที่สำคัญยิ่งบางประการของอิสลาม ดังที่ท่านอิมามอะหฺมัดได้เคยกล่าวไว้ว่าอิสลามถูกสร้างมาจากสามหะดีษ และท่านอิมามอะบู ดาวูด ได้เคยกล่าวไว้ว่าอิสลามถูกสร้างมาจากสี่หะดีษ และหะดีษที่ 6 นี้เป็น 1 ในนั้น หะดีษนี้ครอบคลุมทั้งหลายของผู้ศรัทธา คือ สิ่งที่หะลาล สิ่งที่หะรอม และสิ่งที่คลุมเครือ หะดีษนี้ยังแสดงให้เห็นถึงวิธีที่จะปกป้องดีนของเขาและเกียรติของเขา และในท้ายที่สุด ได้ชี้ให้เห็นถึงกุญแจที่จะนำไปสู่การปฏิบัติตามสิ่งที่หะลาลและห่างไกลจากสิ่งที่หะรอม
เกี่ยวกับผู้รายงานหะดีษ النُّعْمَانِ بْنِ بَشِيْرٍ อะบู อับดุลลอฮฺ อัน-นุอฺมาน อิบนิ บะชีรฺ อัล-อันศอรีย์ อัล-ค็อซฺเราะญียฺ เป็นมุสลิมรุ่นแรกๆที่เกิดในหมู่ชาวอันศ็อรฺแห่งมะดีนะฮฺ ท่านยังเป็นเด็กอยู่อายุประมาณ 10 ขวบตอนที่ท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม เสียชีวิต โดยทั่วไปแล้วอุละมาอ์หะดีษจะไม่ยอมรับหะดีษที่เด็กรายงาน อย่างไรก็ตาม ถ้าเด็กคนนั้นได้ยินและจำบางสิ่งบางอย่างในวัยเด็กได้ แล้วได้เล่าให้ผู้อื่นฟังในตอนที่เขาโตแล้ว เช่นนี้ถือว่าเป็นที่ยอมรับ ท่านเสียชีวิตในฮ.ศ.64 ท่านถูกสังหารที่เมือง ฮิมสฺ
ในศ่อหี๊ยฺหฺอัล-บุคอรียฺ มี 6 หะดีษที่ท่านนุอฺมานเป็นผู้รายงาน และในบันทึกของผู้บันทึกหะดีษท่านอื่นๆ มีประมาณ 116 หะดีษที่ท่านนุอฺมานเป็นผู้รายงาน หะดีษส่วนมากท่านนุอฺมานไม่ได้ยินโดยตรงจากท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม แต่ได้ยินจากบรรดาศ่อหาบะฮฺอาวุโส มีหะดีษที่ 6 นี้เพียงหะดีษเดียวที่ท่านได้ยินจากปากของท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ด้วยหูทั้งสองของท่านเอง
إِنَّ الحَلَالَ بَيِّنٌ وَإِنَّ الحَرَامَ بَيِّنٌ ،
แท้จริงสิ่งที่อนุมัติ (หะลาล) นั้นชัดเจนและสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) ก็ชัดเจนเช่นกัน
وبَيْنَهُمَا اُمُورٌ مُشْتَبِهاتٌ ،
และในระหว่างทั้งสองนั้นคือสิ่งที่คลุมเครือ
หะดีษนี้ท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ได้แบ่งการกระทำทั้งหลายออกเป็น 3 ลำดับ
1.สิ่งที่อนุมัติ (หะลาล) นั้นชัดเจน
2.สิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) นั้นชัดเจน
3.สิงที่อยู่ในระหว่างทั้งสองนั้นคือสิ่งที่คลุมเครือ
บรรดาอุละมาอ์และผู้ที่แสวงหาความรู้นั้น พึงระลึกไว้เสมอว่า ส่วนมากของการกระทำทั้งหลายนั้นจะอยู่ใน 2 ประการแรก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อยู่ในข่ายที่น่าสงสัยคลุมเครือ ยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเท่าใดก็ยิ่งมีตัวบทหลักฐานชัดเจนมากเท่านั้น ตัวอย่างเช่น เรื่องชิรก์ ซึ่งเป็นบาปใหญ่ที่สุด ก็จะมีตัวบทหลักฐานมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับเรื่องการค้าประเวณีและค้าสุราก็เป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งตัวบทหลักฐานห้ามอย่างชัดเจน นี่นับเป็นความเมตตาของอัลลอฮฺที่พระองค์ทรงประทานอิสลามลงมาในแนวทางที่ชัดเจนและง่ายต่อการเข้าใจ
สิ่งที่อนุมัติ (หะลาล) นั้นชัดเจน ดังอัล-กุรอาน
الْيَوْمَ أُحِلَّ لَكُمُ الطَّيِّبَاتُ ۖ وَطَعَامُ الَّذِينَ أُوتُوا الْكِتَابَ حِلٌّ لَّكُمْ وَطَعَامُكُمْ حِلٌّ لَّهُمْ ۖ
วันนี้สิ่งดี ๆ ทั้งหลายได้ถูกอนุมัติแก่พวกเจ้าแล้ว และอาหารของบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์นั้น เป็นที่อนุมัติแก่พวกเจ้าแล้ว และอาหารของพวกเจ้าก็เป็นที่อนุมัติแก่พวกเขา (อัล-มาอิดะฮฺ : 5)
สิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) นั้นชัดเจน ดังอัล-กุรอาน
حُرِّمَتْ عَلَيْكُمُ الْمَيْتَةُ وَالدَّمُ وَلَحْمُ الْخِنزِيرِ وَمَا أُهِلَّ لِغَيْرِ اللَّهِ بِهِ وَالْمُنْخَنِقَةُ وَالْمَوْقُوذَةُ وَالْمُتَرَدِّيَةُ وَالنَّطِيحَةُ وَمَا أَكَلَ السَّبُعُ إِلَّا مَا ذَكَّيْتُمْ وَمَا ذُبِحَ عَلَى النُّصُبِ وَأَن تَسْتَقْسِمُوا بِالْأَزْلَامِ ۚ ذَٰلِكُمْ فِسْقٌ ۗ
ได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้าแล้ว เกี่ยวกับสัตว์ที่ตายเอง และเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกเปล่งนามอื่นจากอัลลอฮฺที่มัน(ขณะเชือด) และสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และสัตว์ที่ถูกตีตาย และสัตว์ที่ตกเหวตาย และสัตว์ที่ถูกขวิดตาย และสัตว์ที่ถูกสัตว์ร้ายกัดกินนอกจากที่พวกเจ้าเชือดทัน(ก่อนที่มันตาย) และสัตว์ที่ถูกเชือดบนแท่นหินบูชา และการที่พวกเจ้าเสี่ยงทายด้วยไม้ติ้ว เหล่านั้นเป็นการละเมิด (อัล-มาอิดะฮฺ : 3)

เรื่องที่คลุมเครือพอสรุปได้ดังนี้
1.เป็นเรื่องที่ตัวบทหลักฐานไม่ตรงกัน และไม่มีแนวทางที่จะผสานความแตกต่างนั้น และเรื่องนี้ควรให้อยู่ในความรับผิดชอบของบรรดาผู้รู้เท่านั้น คนที่ไม่มีความรู้ หรือรู้แบบงูๆปลาๆ ไม่ควรแสดงความเห็นหรือตัดสินเอง
2.เรื่องที่คลุมเครือนี้ จะถือว่าแนวทางใดหรือมัซฮับใดถูกต้องฝ่ายเดียวแต่ของแนวทางอื่นผิดไม่ได้ ผู้ตามจะยึดติดอยู่กับมัซฮับเดียวหรืออาจารย์ท่านเดียวที่ตัวเองยึดถืออยู่ไม่ได้ ถ้าอาจารย์ของเขาคนเดียวบอกว่าเรื่องใดหะลาล ในขณะที่อาจารย์ส่วนมากบอกว่าเรื่องนั้นหะรอม เขาจะต้องใจกว้างพิจารณาถึงตัวบทหลักฐานของอาจารย์ท่านอื่นๆด้วย ถ้าหากตัวบทหลักฐานของอาจารย์ส่วนใหญ่มีน้ำหนักที่หนักแน่นน่าเชื่อถือได้มากกว่า เขาจะต้องละทิ้งคำตัดสินของอาจารย์เขา และมายอมรับคำตัดสินของอาจารย์ส่วนใหญ่
3.เรื่องที่หะลาลบางเรื่องนำพาคนให้ทำในสิ่งที่หะรอม หรือชักนำเขาให้บกพร่องหรือละเลยการกระทำที่เป็นฟัรฎู แล้วเรื่องหะลาลบางเรื่องนั้นก็จะตกระดับ เป็นเรื่องที่คลุมเครือ
4.เรื่องที่ไม่เป็นที่ยอมรับหรือน่ารังเกียจ(มักรูหาต) อิมามเชากานียฺ ถือว่าเป็นเรื่องที่คลุมเครือ เนื่องจากไม่มีอะไรชี้ชัดว่าหะลาลหรือหะรอม บรรดาอุละมาอ์ส่วนใหญ่ให้ข้อสังเกตว่า คนที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องคลุมเครือ มันจะชักนำเขาไปสู่เรื่องที่หะรอม เพราะจิตใจของเขาขุ่นมัว และอีมานของเขาก็อ่อนแอ
5.เรื่องที่น่าสงสัย ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องหะลาลหรือเรื่องหะรอมก็ตาม ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมด้วย
6.ตัวบทที่พิสูจน์ว่าเรื่องใดเป็นที่ต้องห้าม มักจะพบในหะดีษฎ้ออีฟ ท่านเชากานียฺ บอกว่าตัวบทที่ฎ้ออีฟนำมาเป็นหลักฐานไม่ได้ ดังนั้นจึงกลายเป็นเรื่องคลุมเครือ
บทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องคลุมเครือ
เกี่ยวกับเรื่องคลุมเครือ อุละมาอ์มีความเห็นไม่เหมือนกันในแง่ของหุกุม อย่างไรก็ตามท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการหลีกห่างจากมัน ปลอดภัยกว่าและเป็นการกระทำที่เคร่งครัด อุละมาอ์ฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า จากหะดีษนี้หุกุมของเรื่องที่คลุมเครือคือหะรอม ดังข้อความของหะดีษที่ว่า ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ระแวดระวังและปกป้องตัวเขาจากสิ่งที่คลุมเครือ แท้จริงเขาได้ให้ศาสนาและเกียรติของเขาใสสะอาดปลอดมลฑิน
อุละมาอ์ฝ่ายนี้อ้างว่า ผู้ใดก็ตามที่ไม่ทำให้ตัวเขาและศาสนาของเขาใสสะอาดปราศจากมลทิน เท่ากับเขาคงต้องพัวพันกับการกระทำที่หะรอม อย่างไรก็ตาม อิบนิ หะญัรฺไม่ค่อยจะยอมรับทัศนะนี้เท่าไรนัก(อิบนิ หะญัรฺ ใน ฟัตหุ้ลบารียฺ เล่ม 1 หน้า 173)
ส่วนอุละมาอ์อีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า ไม่หะรอม อนุญาตให้ยุ่งเกี่ยวได้ ตามข้อความหะดีษที่ว่า เปรียบดังเช่นผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์อยู่รอบ ๆ บริเวณเขตหวงห้าม ซึ่งมันเกือบจะเล็ดลอดเข้าไปกินในเขตหวงห้ามอยู่แล้ว.
อุละมาอ์ฝ่ายนี้อ้างว่า ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นที่อนุญาต แต่การหลีกเลี่ยงมันจะปลอดภัยกว่าและเป็นการกระทำที่เคร่งครัด และความหมายของคำว่า “เป็นที่อนุญาต”ในที่นี้เป็นความหมายพื้นฐานโดยทั่วๆไปที่มีความหมายว่าไม่หะรอม ดังนั้นทัศนะของอุละมาอ์ฝ่ายนี้จึงถือว่าเรื่องที่คลุมเครือนั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ โดยให้ข้อสังเกตว่าถ้าการกระทำเช่นนี้เป็นที่ส่งเสริมหรืออนุญาต(มุบาหฺ) จริงๆ ก็จะไม่ถือว่าเป็นการปลอดภัยหรือเป็นการกระทำที่เคร่งครัดแต่อย่างใดที่เขาหลีกเลี่ยงมัน ตามหลักการโดยทั่วไป(อัล-หัยตะมียฺ ใน ฟัตหฺ,หน้า 115)
อุละมาอ์อีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า ไม่สามารถกล่าวได้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นที่อนุญาต หรือ เป็นที่ต้องห้าม ท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ใช้คำว่ามันเป็นสิ่งอยู่ระหว่างหะลาลกับหะรอม เพราะฉะนั้นมุสลิมต้องถือปฏิบัติตามนั้นด้วย
ท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ได้แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างสำหรับมุสลิมเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงเรื่องทึ่คลุมเครือ เช่น มีหะดีษบทหนึ่งในศ้อหี๊ยฺหฺ อัล-บุคอรียฺ และ ศ้อหี๊ยฺหฺมุสลิม ท่านหญิงอฺาอิชะฮฺ ร่อฎิยั้ลลอฮุ อันฮา ได้รายงานว่า สะอฺดฺ บิน อะบียฺ วักฺกฺอศ سَعْدُ بن أبي وقاص กับ อับดฺ บิน ซัมอฺะฮฺ عبد بن زَمْعَة ได้โต้เถียงกันว่าใครจะเป็นผู้ปกครองเลี้ยงดูเด็กชายคนหนึ่ง อุตบะฮฺ บิน อะบียฺ วักฺกฺอส عتبة بن أبي وقاص ได้มอบเด็กชายคนนั้นให้น้องชายของเขาชื่อ สะอฺดฺ บิน อะบียฺ วักฺกฺอศ เป็นเลี้ยงดู สะอฺดฺได้เล่าว่า อุตบะฮฺได้กล่าวแก่สะอฺดฺว่า “ลูกชายของทาสหญิงซัมอฺะฮฺ เป็นลูกชายของฉัน ฉันมอบให้ท่านเป็นผู้เลี้ยงดูเขา” ในระหว่างปีที่พิชิตมักกะฮฺ สะอฺดฺได้นำเด็กชายมาและกล่าวว่า “นี่คือลูกของพี่ชายฉัน พี่ชายฉันขอร้องให้ฉันเลี้ยงดูเขา” อับดฺ บิน ซัมอฺะฮฺ ยืนขี้นแล้วกล่าวว่า “นี่คือน้องชายของฉัน เป็นลูกของทาสหญิงของพ่อฉัน เขาเกิดบนเตียงของพ่อฉัน” แล้วทั้งสองก็ไปหาท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ให้ช่วยตัดสิน สะอฺดฺได้กล่าวว่า “นี่คือลูกของพี่ชายฉัน พี่ชายฉันขอร้องให้ฉันเลี้ยงดูเขา” อับดฺ บิน ซัมอฺะฮฺ ยืนขี้นแล้วกล่าวว่า “นี่คือน้องชายของฉัน เป็นลูกของทาสหญิงของพ่อฉัน เขาเกิดบนเตียงของพ่อฉัน” ท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “อับดฺ บิน ซัมอฺะฮฺ เด็กชายคนนี้อยู่ในการดูแลเลี้ยงดูของท่าน เนื่องจากเด็กเป็นของเตียงที่เขาเกิด และการขว้างด้วยก้อนจนตายเป็นโทษสำหรับคนที่มีครอบครัวแล้วทำซินา” แล้วท่านได้กล่าวแก่ภริยาของท่านที่ชื่อว่า เศาดะฮฺ บินติ ซัมอฺะฮฺ ว่า “เธอจงหิญาบให้มิดชิดต่อหน้าเด็กคนนี้ด้วย” เมื่อท่านสังเกตดูว่าเด็กคนนี้มีเค้าคล้ายกับอุตบะฮฺ และปรากฏว่าเด็กคนนั้นไม่เคยเห็นหน้าเศาดะฮฺเลยจนนางเสียชีวิต
ประเด็นของหะดีษนี้ก็คือท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ได้มอบเด็กชายคนนี้ให้อยู่ในการดูแลของอับดฺ บิน ซัมอฺะฮฺ (ซึ่งอับดฺ บิน ซัมอฺะฮฺ กับท่านหญิงเศาดะฮฺ บินติ ซัมอฺะฮฺเป็นพี่น้องกันแท้ๆ) และท่านยังได้สั่งกำชับให้เศาดะฮฺ บินติ ซัมอฺะฮฺภริยาของท่านคลุมหิญาบให้มิดชิดต่อหน้าเด็กคนนั้นแม้เขาจะเป็นน้องชายของอับดฺก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากยังมีข้อกังขาคลุมเครือบางประการที่ยังไม่สามารถทำให้กระจ่างได้ นี่เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดและเป็นการกระทำที่เคร่งครัดกว่าในกรณีที่มีปัญหาบางประการคลุมเครืออยู่
อีกหะดีษหนึ่ง อฺะดียฺ อิบนิ ษาบิต ได้ถามท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ว่าเขาออกไปล่าเหยื่อโดยใช้สุนัขไปตามล่า พอไปถึงเหยื่อเขาก็พบว่ามีสุนัขอีกตัวหนึ่งอยู่ตรงเหยื่อด้วย เขาจึงไม่รู้ว่าสุนัขตัวไหนที่เป็นตัวฆ่าเหยื่อ เขาจะทำอย่างไรดี ท่านได้ตอบว่า “อย่ากินเหยื่อนั้น เพราะท่านกล่าวนามของอัล ลอฮฺที่สุนัขของท่าน ท่านไม่ได้กล่าวนามของอัลลอฮฺที่สุนัขอีกตัวหนึ่ง” บุคอรียฺ-มุสลิม)
สาเหตุของความไม่แน่นอนและความคลุมเครือ
ตามที่กล่าวแต่ต้นแล้วว่า มีปัจจัยหลายประการที่นำไปสู่ความคลุมเครือหรือความไม่แน่ชัด หนึ่งในสาเหตุเหล่านั้นก็คือตัวบทหลักฐานที่ไม่สอดคล้องกัน ตัวอย่างเช่น ในเรื่องเดียวกันมีหะดีษหนึ่งบอกว่าอนุญาตให้ทำได้ ส่วนอีกหะดีษหนึ่งบอกว่าห้ามกระทำ แม้ในหมู่บรรดาอุละมาอ์เองบางครั้งก็ยากที่จะประสานหะดีษเหล่านี้เข้าด้วยกัน เช่น หะดีษหนึ่งบอกว่าห้ามยืนดื่มน้ำ ส่วนอีกหะดีษหนึ่งรายงานว่าท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม กำลังยืนดื่มน้ำ ซึ่งทั้งสองหะดีษศ้อหี๊ยฺหฺทั้งคู่ และบรรดาอุละมาอ์ก็มีความเห็นที่ไม่เหมือนกันในการประสานหะดีษเหล่านี้
สำหรับคนที่ไม่ใช่ผู้รู้นั้น ยิ่งสับสนมากในความเห็นที่แตกต่างกันของบรรดาอุละมาอ์ นี่เป็นสาเหตุใหญ่ประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดความสับสนมากมายในสังคม แต่ถ้าพิจารณาดูให้ดี ในหลายกรณี เมื่อเราศึกษาถึงความเห็นที่แตกต่างกันของบรรดาอุละมาอ์ สาเหตุที่บรรดาอุละมาอ์แตกต่างกันนั้นชัดเจนมากและไม่น่าสับสนเลย ตัวอย่างเช่น ผู้รู้บางท่านวินิจฉัยตัดสินไปตามเหตุผลส่วนตัวไม่ได้มีพื้นฐานจากกิตาบุ้ลลอฮฺและสุนนะฮฺเลย ส่วนผู้รู้อีกท่านหนึ่งที่ความเห็นที่ตรงข้ามกันเพราะผู้รู้ท่านนั้นมีความรู้ในหะดีษที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆเป็นการเฉพาะ นี่เป็นแง่มุมหนึ่งที่เป็นสาเหตุพื้นฐานของความแตกต่างกันทางด้านทัศนะในหมู่ผู้รู้
อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ผู้รู้บางท่านยึดถือและปฏิบัติตามหะดีษใดหะดีษหนึ่งโดยไม่คำนึงว่าหะดีษนั้นศ้อหี๊ยฺหฺหรือไม่ ในขณะที่ผู้รู้ท่านอื่นปฏิเสธหะดีษนั้น เพราะรู้ว่าหะดีษนั้นไม่ศ้อหี๊ยฺหฺ ด้วยเหตุนี้จึงมีความเห็นที่แตกต่างกันในคำถามเรื่องเดียวกัน
แม้จะมีเหตุให้เกิดความสับสนและความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากมายหลายอย่างก็ตาม แต่จากหะดีษที่ 6 นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความเห็นที่ถูกต้องต่อปัญหาใดๆนั้นย่อมมีหนึ่งเดียว ไม่มีหลายอย่าง แต่น่าเสียดายที่คนส่วนมากไม่ทราบความเห็นที่ถูกต้องนั้น
แล้วจะทำอย่างไรกับความคลุมเครือ ในบางกรณี เป็นที่ชัดเจนว่าอะไรต้องห้ามอะไรอนุญาต โดยทั่วไปแล้วความสับสนอาจแบ่งออกได้เป็น 3 อย่าง
1.สิ่งที่โดยทั่วไปทราบดีกันอยู่แล้วว่าต้องห้าม แต่มีข้อกังขาบางประการว่ามันยังอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องห้ามอยู่หรือไม่ เช่น เนื้อสัตว์ เป็นที่ต้องห้ามแก่มุสลิมที่จะกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้เชือดตามเงื่อนไขที่ถูกต้อง คือถ้าผู้หนึ่งไม่รู้หรือไม่มีเหตุที่จะทำให้เชื่อได้ว่าสัตว์นั้นถูกเชือดในเงื่อนไขที่ถูกต้องและโดยบุคลลที่ที่ยอมรับได้ เขาก็จะไม่กินเนื้อนั้นเนื่องจากเป็นเรื่องที่น่าสงสัยและเขาต้องหลีกเลี่ยงมัน อาจกล่าวได้ว่า เป็นที่ต้องห้ามที่จะกินเนื้อนั้นเนื่องจาก ตามกฎเกณฑ์ดั่งเดิม(อัล-อัศลฺ)นั้นถือว่าเนื้อนั้นเป็นที่ต้องห้าม นอกจากจะมีเหตุให้เชื่อได้อย่างแน่ชัดว่าเนื้อนั้นอยูในเงื่อนไขที่ถูกต้องตามหลักชะรีอฺะฮฺ เช่นมีมุสลิมคนหนึ่งที่เชื่อถือได้ในอีมานและความเคร่งครัดต่อการยึดมั่นอิสลามของเขา นำอาหารมาให้เรา เรามั่นใจได้เลยว่าอาหารนั้นหะลาลแน่
2.ตรงข้ามกับข้อ.1 คือ สิ่งที่โดยทั่วไปทราบดีกันอยู่แล้วว่าอนุญาต แต่มีข้อกังขาบางประการว่ามันยังอยู่ในเงื่อนไขที่อนุญาตอยู่หรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ให้ยึดเอาในสิ่งที่อนุญาตไว้ก่อน จนกว่าจะแน่ใจสิ่งนั้นต้องห้าม พื้นฐานของเรื่องนี้มีอยูในหะดีษที่เกี่ยวกับอับดุลลอฮฺ บิน ซัยด ที่เขาไม่แน่ใจว่าตัวเองเสียน้ำละหมาดไปหรือยัง ได้มีบอกแก่เขาว่าให้ถือว่าน้ำละหมาดของยังไม่เสียจนกว่าเขาจะแน่ใจว่าเขาเสียน้ำละหมาดแล้ว นี่เป็นหลักสำคัญมากประการหนึ่งของชะรีอฺะฮฺอิสลามที่ว่า “สิ่งที่เป็นที่รู้กันอย่างแน่นอนชัดเจน ไม่สามารถถูกลบล้างด้วยสิ่งที่คลุมเครือ”
3.สงสัยในบางสิ่งบางอย่าง และไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นเป็นที่อนุญาตหรือเป็นสิ่งต้องห้าม มันเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง ไม่มีตัวบทหลักฐานที่ชัดเจน ในกรณีนี้เป็นการดีกว่าที่จะหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปยุ่งกับมันอย่างเด็ดขาด วิธีนี้วางพื้นฐานอยู่บนการกระทำของท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งครั้งหนึ่งท่านพบอิทผลัมตกอยู่บนพื้น ท่านกล่าวว่า “ถ้าฉันไม่กลัวว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกบริจาคมาเพื่อเป็นศ้อดะเกฺาะฮฺ ฉันก็จะกินมันแล้ว” บุคอรียฺ-มุสลิม
ทั้งนี้ก็เพราะไม่อนุญาตให้ท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม รับศ้อดะเกฺาะฮฺ แต่ก็มิได้หมายความว่า ให้หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ไม่มีตัวบทหลักฐานที่ชัดเจนระบุว่าให้หลีกเลี่ยงมัน เช่น น้ำที่ดูแล้วสะอาดบริสุทธิ์ ทั้งสี กลิ่น และรสชาติก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย เขาก็ไม่ควรทิ้งมันเพียงเพราะกลัวว่าจะมีสิ่งสกปรกในน้ำนั้น หรือไม่ควรหลีกเลี่ยงการละหมาดในบางพื้นที่ซึ่งไม่มีร่องรอยของสิ่งสกปรกเลย ความสงสัยประเภทนี้เรียกกันว่าเป็นการกระซิบกระซาบของชัยฏอน และไม่ควรทำตามด้วย ในอิสลามนั้น มุสลิมต้องประพฤติปฏิบัติตามตัวบทหลักฐานที่แน่ชัด หากเป็นไปไม่ได้ก็ให้ดูตัวบทหลักฐานที่มีน้ำหนักมากกว่า
لاَ يَعْلَمُهُنَّ كَثِيْرٌ مِنَ النَّاسِ
ซึ่งผู้คนส่วนมากไม่รู้
ข้อความนี้หมายความว่า ไม่ใช่คนจำนวนมากที่สามารถจะรู้ได้ว่าสิ่งที่คลุมเครือนั้นเป็นที่อนุญาตหรือต้องห้าม ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนมาก จากรายงานในสุนัน อัต-ติรฺมิซียฺ ที่ว่า
“ไม่ใช่ผู้คนจำนวนมากจะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นที่อนุญาตหรือเป็นที่ต้องห้าม”
ผู้รู้บางท่านสามารถค้นพบต้นตอของเรื่องนั้นๆ และสามารถค้นหาตัวบทหลักฐานที่จะยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเรื่องนั้นๆต้องห้ามหรืออนุญาต นี่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า มีกฎเกณฑ์เฉพาะสำหรับตรวจสอบเรื่องคลุมเครือทั้งหลายให้เป็นที่กระจ่างได้จากการศึกษาอย่างเพียงพอ แต่ทว่ามีคนไม่มากนักที่สามารถค้นคว้าจนได้ข้อสรุปที่ชัดเจน คือเป็นหน้าที่ของผู้รู้ที่รู้อิสลามอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง
เราอาจกล่าวได้ว่าอัลลอฮฺและร้อสูลของพระองค์มิได้ปล่อยสิ่งใดเป็นที่อนุญาตนอกจากจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันเป็นที่อนุญาต และมิได้ปล่อยสิ่งใดเป็นที่ต้องห้ามนอกจากจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันเป็นที่ต้องห้าม มีบ้างที่บางกรณีมีการเปิดเผยได้กระจ่างกว่าบางกรณี เรื่องที่คนส่วนใหญ่หาคำตอบหรือทางออกไม่ได้ ก็อาจจะมีผู้บางท่านจำนวนไม่มากนักที่สามารถให้ข้อสรุปที่ถูกต้องได้ จากข้อความของหะดีษนี้ใช้คำว่า ซึ่งผู้คนส่วนมากไม่รู้ ไม่ได้ใช้คำว่า ไม่มีใครสามารถรู้ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คลุมเครือนั้นจะมีเฉพาะกับผู้ที่ไม่สามารถค้นพบข้อสรุปที่ถูกต้องได้ เช่นสามัญชนมุสลิมโดยทั่วไป
فَمَنِ اتَّقَى الشُّبُهَاتِ ، فَقَدْ اِسْتَبْرَأَ لِدِيْنِهِ وَعِرْضِهِ ،
ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ระแวดระวังและปกป้องตัวเขาจากสิ่งที่คลุมเครือ
แท้จริงเขาได้ให้ศาสนาและเกียรติของเขาใสสะอาดปราศจากมลฑิน
มุสลิมจะต้องห่างไกลจากความคลุมเครือ จะได้ห่างไกลจากการถูกวิพากวิจารณ์หรือถูกตำหนิ อุละมาอ์รุ่นแรกๆบางท่านได้กล่าวไว้ว่า ใครก็ตามที่ทำตัวให้ผู้อื่นสงสัยหรือคิดในแง่ลบ เขาก็ไม่ควรไปตำหนิผู้อื่นหากผู้อื่นคิดในทางลบแก่เขา ท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม เองขณะกำลังเดินกับหญิงคนหนึ่ง มีคน 2 คนเห็นท่านทั้งสอง ท่านได้บอกให้คน 2 คนนั้นรู้ไปเลยว่าหญิงคนนี้คือศ้อฟียะฮฺภริยาคนหนึ่งของท่าน(บุคอรียฺ-มุสลิม) ท่านทำเช่นนั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่า ไม่มีใครคิดไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการกระทำของท่าน
มีอีกหะดีษหนึ่งที่สะท้อนถึงความหมายของข้อความนี้ เป็นอีกรายงานหนึ่งของหะดีษนี้ในศ้อ หี๊ยฺหฺบุคอรียฺ ซึ่งท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า
“....ถ้าผู้ใดละทิ้งสิ่งที่คลุมเครือว่านั่นเป็นบาปหรือไม่ ดังนั้นยิ่งเป็นการทำให้เขาหลีกเลี่ยงสิ่งที่ชัดเจนยิ่งแก่เขาว่านั่นเป็นบาป ส่วนผู้ใดที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องคลุมเครือว่านั่นเป็นบาปหรือไม่ ในไม่ช้าเขาจะตกเข้าไปสู่วังวนในสิ่งที่ชัดเจนว่านั่นเป็นบาป การกระทำที่เป็นบาปคือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ส่วนตัว(เขตหวงห้าม)ของอัลลอฮฺ ผู้ใดที่เลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าที่อยู่ใกล้ๆกับทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ส่วนตัว(เขตหวงห้าม)ของอัลลอฮฺ ในไม่ช้าเขาก็จะถล่ำรุกล้ำเข้าสู่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของพระองค์”
وَمَنْ وَقَعَ فِيْ الشُّبُهَاتِ وَقَعَ فِيْ الحَرَامِ ،
“และใครก็ตามที่ตกอยู่ในสิ่งที่คลุมเครือ ก็เสมือนกับว่าเขาได้ตกอยู่ในสิ่งที่ต้องห้าม”
นี่เป็นความจริงด้วยเหตุ 2 ประการ
1.ผู้ใดไม่กลัวอัลลอฮฺ หมกมุ่นอยู่กับเรื่องที่คลุมเครือ ในที่สุดแล้วเขาจะก้าวล้ำเข้าไปทำสิ่งที่ต้องห้าม และมันจะเป็นการง่ายมากที่จะทำให้เขากระทำในสิ่งที่ต้องห้าม
2.ผู้ใดหมกมุ่นอยู่กับเรื่องที่คลุมเครืออยู่เสมอ จิตใจของเขาก็จะโอนเอียงและจะสูญเสียแสงสว่างแห่งทางนำและความตักฺวา เขาจะจมปรักอยู่กับการกระทำที่ต้องห้ามโดยไม่รู้สึกว่ามันผิดไม่เป็นที่อนุญาต
นอกจากนี้ หะดีษที่ 6 นี้ยังกินความรวมไปถึงว่า ถ้ามุสลิมคนหนึ่งหมกมุ่นอยู่กับเรื่องคลุมเครือ เขาไม่รู้จริงๆว่ามันต้องห้ามหรือไม่ ถ้าเขาได้กระทำสิ่งต้องห้ามนั้นไปแล้ว เขาสมควรได้รับการลงโทษเนื่องจากเขาไม่ยอมตรวจสอบก่อนว่าต้องห้ามหรือไม่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีคำถามอยู่ว่า จะทำอย่างไรถ้าพ่อแม่สั่งให้เขาทำในสิ่งที่คลุมเครือ? ท่านอิมาม อะหฺมัด มีความเห็นว่าไม่ต้องทำตาม ส่วนอุละมาอ์ในยุคแรกๆบอกควรทำตาม ส่วนอุละมาอ์ท่านอื่นๆไม่มีความเห็นอะไร
كَالرَّاعِيْ يَرْعَى حَوْلَ الحِمَى يُوْشِكُ أنْ يَرْتَعَ فِيْهِ ،
“เปรียบดังเช่นผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์อยู่รอบ ๆ บริเวณเขตหวงห้าม ซึ่งมันเกือบจะเล็ดลอดเข้าไปกินในเขตหวงห้ามอยู่แล้ว
أَلاَ وَإِنَّ لِكُلِّ مَلِكٍ حِمًى ،أَلاَ وَإِنَّ حِمَى اللهِ مَحَارِمُهُ ،
พึงทราบเถิดว่าทุก ๆ กษัตริย์ย่อมมีเขตหวงห้าม และพึงทราบเถิดว่า แท้จริงเขตหวงห้ามของอัลลอฮฺคือบรรดาสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย”
เป็นการง่ายมากที่ฝูงแกะจะข้ามเข้าไปกินหญ้าของทุ่งหญ้าใกล้เคียงของผู้อื่น ถ้าฝูงแกะนั้นถูกนำไปกินหญ้าใกล้รอยต่อระหว่างเขตแดนของทุ่งหญ้าสองทุ่ง เพราะฉะนั้นควรจะกำหนดระยะห่างจากรอยต่อระหว่างเขตแดนนั้นให้ชัดเจน และทำรั้วกั้นไว้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าฝูงแกะไม่สามารถเข้าไปใกล้เขตทุ้งหญ้าส่วนตัวของผู้อื่นได้ ในคำเปรียบเทียบจากหะดีษนี้ แท้จริงเขตหวงห้ามของอัลลอฮฺคือบรรดาสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย มุสลิมต้องระวังอย่างมากในการกระทำทุกอย่างไม่ให้พลาดพลั้งเข้าไปในเขตหวงห้ามของอัลลอฮฺ เขาจะต้องกำหนดระยะห่างที่แน่นอนระหว่างตัวเขากับเขตหวงห้ามนั้น คือเขาจะต้องหลีกเลี่ยงทุกสิ่งทุกอย่างที่จะชักนำเขาสู่การกระทำต้องห้ามทั้งหลาย อาจเป็นเพราะเหตุนี้อัลลอฮฺจึงได้กล่าวไว้ในอัล-กุรอานว่า
تِلْكَ حُدُودُ اللَّهِ فَلَا تَقْرَبُوهَا ۗ
....นั่นคือบรรดาขอบเขตของอัลลอฮฺ ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าเข้าใกล้ขอบเขตนั้น…(อัล-บะเกาะเราะฮฺ:187)
وَلَا تَقْرَبُوا الزِّنَا ۖ
และพวกเจ้าอย่าเข้าใกล้การผิดประเวณี (อัล-อิสรออ์ : 32)
ข้อความของหะดีษส่วนนี้เป็นพื้นฐานของหลักการสำคัญมากมายของอิสลาม เช่น หลักการปิดกั้นหนทาง – صد الذ را ئع (ศ็อดดุซ ซะรออิอฺ) คือปิดกั้นหนทางบางสิ่งบางอย่างที่ต้องห้าม เพราะมันอาจจะนำไปสู่บางสิ่งบางอย่างที่เลวร้ายยิ่งกว่า ตัวอย่างเช่น การห้ามดื่มสุราแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม การห้ามชาย-หญิงอยู่กันตามลำพังสองต่อสอง นี่เป็นมาตรการป้องกันอย่างแท้จริง ใครๆอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆไม่น่าเป็นพิษเป็นภัยอะไรนัก แต่ลองพิจารณาดูเถิดว่า มากมายเท่าใดแล้วที่ความชั่วร้ายทั้งหลายเกิดมาจากเรื่องเล็กๆน้อยๆเหล่านั้น
การเปรียบเทียบอันสวยงาม
ช่างเป็นการเปรียบเทียบที่สวยงามยิ่งจริงๆ เป็นการเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นภาพสัตว์ฝูงหนึ่งที่ถูกปล่อยให้กินหญ้า มันกำลังกินหญ้าอยู่ในผืนดินที่มีสัตว์อื่นร่วมกินอยู่ด้วย ในผืนดินนั้นทุ่งหญ้ารวมถึงพืชผักผลไม้ได้ถูกเหยียบย่ำและถูกกินไปจนหมดเกลี้ยง แล้วฝูงสัตว์เหล่านั้นก็เหลือบมองเห็นผืนดินข้างเคียงที่เขียวชอุ่มเต็มไปด้วยพืชผักผลไม้มากมายและทุ่งหญ้าอันเขียวขจี แต่ผืนดินนั้นไม่อนุญาตให้สัตว์ตัวใดเข้าไปกินอะไรในนั้นอย่างเด็ดขาด สภาพดังกล่าวนี้มันช่างเป็นเย้ายวนใจสัตว์ฝูงนั้นจริงๆ คนเลี้ยงสัตว์จะดูแลสัตว์ฝูงนั้นอย่างไรไม่ให้พลัดหลงเข้าไปในเขตผืนดินหวงห้ามนั้น เขามีทางเลือกอยู่สองทางคือ 1.กันไม่ให้สัตว์ฝูงนั้นเข้าไปใกล้ผืนดินหวงห้ามนั้นแต่แรกเลย ในกรณีนี้เขาก็ไม่ต้องกลัวว่าสัตว์จะพลัดหลงเข้าไปในผืนดินหวงห้ามนั้น 2.เขาต้องคอยเฝ้าดูสัตว์ทุกตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้มั่นใจได้ว่าพวกมันจะไม่พลัดหลงเข้าไป ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูเถิดว่าวิธีไหนง่ายและสะดวกกว่ากัน
การเปรียบเทียบของท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม นี้ เป็นวิธีการที่สวยงามและน่าประทับใจอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นว่าคนที่ฉลาด เขาจะไม่ยอมเสี่ยงเป็นอันขาด เขาจะตระหนักว่าแนวทางที่แน่นอนที่สุดเพียงแนวทางเดียวซึ่งจะประสบความสำเร็จก็ คือ การอยู่ให้ห่างไกลจากผืนดินหวงห้ามนั้น เมื่อเขาทำเช่นนั้น จะเป็นการปกป้องดีนของเขาและเกียรติของเขา ดังข้อความของหะดีษที่ว่า แท้จริงเขาได้ทำให้ศาสนาของเขาและเกียรติของเขาใสสะอาดปลอดมลฑิน
أَلاَ وَإِنَّ فِيْ الجَسَدِ مُضْغَةً إِذَا صَلَحَتْ صَلَحَ الجَسَدُ كُلُّهُ، وَإِذَا فَسَدَتْ فَسَدَ الجَسَدُ كُلُّهُ ، أَلاَ وَهِيَ القَلْبُ
พึงทราบเถิดว่า ในร่างกายมนุษย์นั้นมีก้อนเนื้อชิ้นหนึ่ง เมื่อมันดีร่างกายทั้งหมดก็จะดีตามไปด้วย และถ้าหากว่ามันเสีย ร่างการทั้งหมดก็จะเสียตามไปด้วย พึงทราบเถิดว่า มันคือ หัวใจ
หัวใจ ในภาษาอาหรับหมายถึงก้อนเนื้อก้อนหนึ่งที่มีน้ำหนักเบา แต่มันเป็นสิ่งที่มีความเข้มแข็งและมีความสำคัญที่ยิ่งใหญ่มาก อัลลอฮฺทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งถูกสร้างอย่างอื่นก็ตรงที่หัวใจและสติปัญญาของมนุษย์ ดังในอัล-กุรอานความว่า
أَفَلَمْ يَسِيرُوا فِي الْأَرْضِ فَتَكُونَ لَهُمْ قُلُوبٌ يَعْقِلُونَ بِهَا أَوْ آذَانٌ يَسْمَعُونَ بِهَا ۖ فَإِنَّهَا لَا تَعْمَى الْأَبْصَارُ وَلَٰكِن تَعْمَى الْقُلُوبُ الَّتِي فِي الصُّدُورِ
พวกเขามิได้ออกเดินทางไปในแผ่นดินดอกหรือ เพื่อหัวใจจะได้พิจารณาเพื่อพวกเขาเอง หรือมีหูเพื่อสดับฟังมัน เพราะแท้จริงการมองของนัยน์ตานั้นมิได้บอดหรอก แต่ว่าหัวใจที่อยู่ในทรวงอกต่างหากที่บอด (อัล-หัจญฺ : 46)
อวัยวะส่วนอื่นๆล้วนอยู่ภายใต้อำนาจและเชื่อฟังหัวใจ หัวใจเป็นเสมือนแม่ทัพ และอวัยวะส่วนอื่นๆล้วนเป็นเหล่าทหารหาญ เพราะฉะนั้นถ้าหัวใจดี เหล่าทหารหาญและการรวมพลก็จะเป็นไปอย่างมีระเบียบวินัยรวมถึงแสนยานุภาพของกองทัพก็ดีไปด้วย แต่ถ้าหัวใจชั่วร้าย เหล่าทหารหาญและการประพฤติปฏิบัติของพวกเขาก็จะพลอยชั่วร้ายไปด้วย ถ้าหัวใจบริสุทธิ์อย่างเต็มเปี่ยม หัวใจจะเต็มไปด้วยความรักในอัลลอฮฺ รักในสิ่งที่อัลลอฮฺรัก กลัวอัลลอฮฺและกลัวที่จะทำในสิ่งที่อัลลอฮฺเกลียด หัวใจดังกล่าวนี้จะยับยั้งจากการกระทำที่ต้องห้ามทั้งมวลและจะยับยั้งห่างไกลจากสิ่งที่คลุมเครือโดยเกรงว่ามันจะเป็นสิ่งต้องห้าม ถ้าหากหัวใจเต็มไปด้วยความชั่วร้าย มันจะเป็นไปตามอารมณ์ความต้องการและมันก็จะประพฤติปฏิบัติไปตามอารมณ์ที่มันรัก โดยไม่คำนึงว่าอัลลอฮฺรักการกระทำเช่นนั้นหรือไม่ หัวใจแบบนี้เท่านั้นที่จะช่วยให้คนผู้นั้นมีจิตใจที่สงบ ดีงาม และยอมจำนน ดังอัล-กุรอานที่ว่า
يَوْمَ لَا يَنفَعُ مَالٌ وَلَا بَنُونَ
วันที่ทรัพย์สมบัติและลูกหลานจะไม่อำนวยประโยชน์ได้เลย
إِلَّا مَنْ أَتَى اللَّهَ بِقَلْبٍ سَلِيمٍ
เว้นแต่ผู้มาหาอัลลอฮฺด้วยหัวใจที่สงบ บริสุทธิ์ (อัช-ชุอะรออ์ : 88-89) อัลลอฮฺยังได้สาธยายถึงสาเหตุหลักที่มนุษย์อยู่ในไฟนรกเพราะพวกเขาไม่ได้ใช้หัวใจ หัวใจของพวกเขาตายด้านและไม่ตอบสนองสัญญาณรอบๆตัวมัน
وَلَقَدْ ذَرَأْنَا لِجَهَنَّمَ كَثِيرًا مِّنَ الْجِنِّ وَالْإِنسِ ۖ لَهُمْ قُلُوبٌ لَّا يَفْقَهُونَ بِهَا وَلَهُمْ أَعْيُنٌ لَّا يُبْصِرُونَ بِهَا وَلَهُمْ آذَانٌ لَّا يَسْمَعُونَ بِهَا ۚ أُولَٰئِكَ كَالْأَنْعَامِ بَلْ هُمْ أَضَلُّ أُوْلَـئِكَ هُمُ الْغَافِلُونَ
และโดยแน่นอนยิ่ง เราได้บังเกิดสำหรับญะฮันนัม ซึ่งมากมายจากญิน และมนุษย์ โดยที่พวกเขามีหัวใจซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันทำความเข้าใจ และพวกเขามีตาซึ่งพวกเขาไม่ใช่มันมอง และพวกเขามีหูซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันฟัง ชนเหล่านี้แหละประหนึ่งปศุสัตว์ ใช่แต่เท่านั้น พวกเขาเป็นผู้หลงผิดยิ่งกว่า ชนเหล่านี้แหละ พวกเขาคือผู้ที่เผอเรอ (อัล-อะอฺรอฟ : 179)
ท่านหะสัน อัล-บัศรียฺ ได้เคยกล่าวแก่ชายคนหนี่งว่า “จงรักษาจิตใจของท่านเพื่อความประสงค์ของอัลลอฮฺ ซึ่งบ่าวของพระองค์จะต้องขัดเกลาจิตใจของเขาให้สะอาดบริสุทธิ์” และหัวใจไม่สามารถทำให้สะอาดบริสุทธิ์ได้จนกว่าคนผู้นั้นจะรู้จักอัลลอฮฺ สรรเสริญสดุดีพระองค์ รักพระองค์ เกรงกลัวพระองค์ มีความหวังในพระองค์ ยอมจำนนต่อพระองค์ และมอบหมายหรือไว้วางใจต่อพระองค์ หัวใจของเขาจะต้องมีลักษณะเช่นนี้ นี่คือการตระหนักอย่างแท้จริงถึงถ้อยคำที่ว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ” ถ้าหัวใจบริสุทธิ์ อวัยวะส่วนอื่นๆก็จะดำเนินรอยตามและทำให้การกระทำของคนผู้นั้นบริสุทธ์ไปด้วย ดังคำกล่าวของอัลลอฮฺที่ว่า
قُلْ إِن كُنتُمْ تُحِبُّونَ اللَّهَ فَاتَّبِعُونِي يُحْبِبْكُمُ اللَّهُ وَيَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ ۗ وَاللَّهُ غَفُورٌ رَّحِيمٌ
จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮฺ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮฺก็จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งโทษทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ (อาลิ-อิมรอน : 31)
อัลลอฮฺได้ทำให้เครื่องหมายหนึ่งของความรักต่ออัลลอฮฺก็คือ เชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์และสุนนะฮฺของท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านอัล-หะสัน อัล-บัศรียฺ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ท่านพึงทราบไว้เถิดว่า ท่านจะไม่รักต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริงได้ จนกว่าท่านจะเชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์”
ข้อความของหะดีษส่วนนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไรกับข้อความของหะดีษส่วนที่เหลือ? ตามทัศนะของท่านอัล-มุฎอบะฆียฺ ความสัมพันธ์นั้นชัดเจนมาก คือ ถ้าผู้ใดทำในสิ่งที่อนุญาตและไม่ทำในสิ่งต้องห้าม และหลีกห่างจากเรื่องที่คลุมเครือ หัวใจของเขาก็จะบริสุทธิ์ นี่เป็นกลไกพิเศษอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับสถานภาพของหัวใจ ถ้าหากหัวใจของผู้ใดจมปรักอยู่กับเรื่องที่คลุมเครือและต้องห้ามอยู่ จะเกิดผลลบต่อหัวใจ มันจะทำให้หัวใจอ่อนแอลง และเปิดโอกาสให้โรคร้ายต่างๆแทรกซ้อนเข้ามาได้
เครื่องหมายของหัวใจ
หะดีษที่ 6 นี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหัวใจ ทุกคนจะต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ เนื่องจากมันเป็นกุญแจอันแท้จริงที่จะไขไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมในชีวิตของโลกนี้ และจะได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺและสวนสวรรค์ในโลกหน้า มีเครื่องหมายมากมายที่สามารถสังเกตได้ว่าหัวใจนั้นบริสุทธิ์ดีงามหรือไม่ ท่านอิบนิ อัล-ก็อยยิม ได้สาธยายไว้ว่า
(1)ผู้ที่ตระหนักดีว่าชีวิตเขาเป็นของโลกหน้าไม่ใช่ของโลกนี้ เขาตระหนักดีว่าเขาเป็นคนแปลกหน้าในโลกนี้ เขาจะต้องรีบเดินทาง เขาไม่สามารถรอคอยที่จะถึงที่พักอาศัยของเขาในโลกหน้าได้
(2)คนที่เขาว้าวุ่นใจทุกครั้งที่เขาทำความผิด จนกว่าเขาจะได้เตาบะฮฺตัวอย่างสมบูรณ์แล้วต่ออัลลอฮฺ
(3)ถ้าผู้ใดพลาดจากกการอ่านอัล-กุรอานและซิกรุ้ลลอฮฺเป็นประจำทุกวัน เขาจะรู้สึกไม่สบายใจและอยู่ไม่เป็นสุข ยิ่งกว่าการที่เขาสูญเสียทรัพย์สินเสียอีก
(4)หัวใจที่แสวงหาความพึงพอใจจากการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺมากยิ่งกว่า การพึงพอใจจากการกินและการดื่ม
(5)เมื่อผู้ใดเริ่มละหมาด ความกังวลและหนักใจในเรื่องราวต่างๆของโลกนี้ ได้มลายหายไป
(6)ความกังวลและความห่วงใยอย่างเดียวของเขา เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอัลลอฮฺและการกระทำต่างๆเพื่อพระองค์
(7)เขาจะระมัดระวังและเอาใจใส่อย่างมากที่จะไม่ให้เวลาสูญเสียไปอย่างไร้ประโยชน์ ยิ่งกว่าคนที่หิวกระหายละโมบในทรัพย์สิน เวลาเป็นกุญแจดอกหนึ่งที่ทุกคนต้องใช้มันเพื่ออิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ แต่น่าเสียดาย ที่บ่อยครั้งเหลือเกินที่อัลลอฮฺได้ประทานเวลาว่างแก่ผู้คน แต่พวกเขาไม่มีความคิดที่จะใช้มันให้เกิดคุณค่าได้อย่างไร ดังนั้น พวกเขาจึงสูญเสียมันไปอย่างง่ายดาย
(8)ผู้ที่เอาใจใส่และให้ความสำคัญต่อความถูกต้องในการกระทำของเขา มากกว่าการทำให้มันเสร็จๆไปเท่านั้น (โปรดดูใน “อิฆอษะฮฺ อัล-ลุหฺฟาน มิน มะสาญิด อัช-ชัยฏอน” ของอิบนิ อัล-ก็อยยิม เล่ม 1 หน้า 70-73) ในขณะเดียวกัน ก็มีเครื่องหมายของหัวใจที่สกปรกหรือเป็นโรคมากมายเช่นกัน นับเป็นความสำคัญที่จะต้องทราบถึงเครื่องหมายเหล่านี้และวิธีเยียวยารักษา คนส่วนมากห่วงใยแต่เรื่องสุขภาพกายของหัวใจ ถ้าความดันโลหิตสูงพวกเขาจะรีบหาทางรักษาอย่างรีบด่วนทันที อย่างไรก็ตามที่สำคัญยิ่งกว่าไม่ใช่สุขภาพกายของหัวใจ แต่เป็นสุขภาพจิตของหัวใจ แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเพิกเฉยต่อสุขภาพกายของหัวใจ มันยังคงมีความสำคัญอยู่ เพียงแต่ว่าการที่ห่วงใยดูแลสุขภาพกายของหัวใจเพียงอย่างเดียว เท่ากับว่าเขากำลังเพิกเฉยปัจจัยที่สำคัญยิ่ง เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่าสุขภาพของเขาในชีวิตแห่งโลกนี้และโลกหน้าเสียอีก
ท่านอิบนิ อัล-ก็อยยิม ได้บรรยายถึงเครื่องหมายที่บ่งบอกให้รู้ถึงความเจ็บป่วยในหัวใจ ดังนี้
(1)ผู้ที่ไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆเมื่อเขาทำชั่วหรือทำบาป
(2)ผู้ที่พึงพอใจต่อการไม่เชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺ และไม่รู้สึกทุกข์ร้อนแต่อย่างใดต่อการฝ่าฝืนพระองค์
(3)ผู้ที่สนใจแต่เรื่องที่มีความสำคัญน้อยมาก แต่กลับไม่เอาใจใส่เรื่องที่มีความสำคัญมาก จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ถ้าหัวใจที่สงบมั่นคง มันจะคอยดูแลผลประโยชน์ที่ดียิ่งของคนผู้นั้น ครั้นเมื่อหัวใจไม่ใส่ใจต่อเรื่องที่จำเป็น นั่นเป็นเครื่องหมายที่ชัดเจนอย่างหนึ่งว่า หัวใจนั้นไม่เพียงเจ็บป่วยเท่านั้นบางทีมันอาจตายไปแล้วได้
(4)ผู้ที่ไม่ชอบความจริง และยากเหลือเกินที่จะยอมรับหรือยอมจำนนต่อความจริง
(5)ผู้ที่รู้สึกอึดอัดไม่ค่อยสบายใจเมื่ออยู่ร่วมกับคนดี แต่จะรู้สึกผ่อนคลายและอิสระมากเมื่ออยู่ร่วมกับคนชั่ว
(6)ผู้ที่อ่อนไหวง่ายต่อการเข้าใจผิดและการสงสัยคลางแคลง เขามักจะชอบอภิปรายแสดงความคิดเห็น โต้วาที โต้เถียง ในเรื่องที่ขัดแย้งกัน มากกว่าที่จะอ่านอัล-กุรอาน หรือกระทำอื่นๆที่เป็นประโยชน์ นี่คือสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันของสังคมมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางอินเตอร์เน็ท ทุกวันนี้มุสลิมคนหนึ่งๆใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆอภิปรายถกกันในเรื่องต่างๆมากมาย ตัวอย่างเช่น หิญาบเป็นส่วนหนึ่งของอิสลามหรือไม่ ดอกเบี้ยต้องห้ามหรือไม่ และอื่นๆอีกมาก บรรดาผู้ที่รักการถกกันเช่นนี้โปรดทราบด้วยว่านี่เป็นเครื่องหมายหนึ่งของการเจ็บป่วยของหัวใจ
(7)ผู้ที่การแนะนำตักเตือนไม่เกิดผลใดๆเลยแก่เขา บางคนรับฟังคุฏบะฮฺวันศุกร์หลายศุกร์ แม้จะเป็นคุฏบะฮฺที่ดีมาก แต่ไม่เกิดผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาเลย นี่เป็นอีกเครื่องหมายหนึ่งของหัวใจที่เป็นโรคหรือเป็นหัวใจที่ตายสนิทไปแล้ว (โปรดดูใน “อิฆอษะฮฺ อัล-ลุหฺฟาน มิน มะสาญิด อัช-ชัยฏอน” ของอิบนิ อัล-ก็อยยิม เล่ม 1 หน้า 70-73)
ประเด็นอื่นๆเกี่ยวกับหะดีษนี้
-อุษมานียฺ ได้เขียนไว้ว่า อีมาน(การเชื่อมั่นศรัทธา), กุฟรฺ(การปฏิเสธ), ซุลมฺ(อธรรม) และนิฟากฺ(กลับกลอก)มีหลายระดับเช่นเดียวกับตักฺวา ตักฺวาหมายถึง เกรงกลัวอัลลอฮฺและเลิกทำชั่วก็เพื่ออัลลอฮฺ ระดับสูงสุดคือละทิ้งการปฏิเสธและการตั้งภาคี ระดับที่สองคือ ละทิ้งจากบาปใหญ่ ระดับที่สามคือละเลิกบาปเล็ก ระดับที่สี่ หลีกห่างจากเรื่องคลุมเครือทั้งมวล” (จาก “อุษมานียฺ” เล่ม 1 หน้า 548
-อัล-บัยฏอรฺ กล่าวว่า สิ่งต้องห้ามนั้นชัดเจนแล้วไม่มีช่องว่างให้สงสัย เช่น ข้อห้ามเกี่ยวกับดอกเบี้ย ข้อห้ามเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันสองต่อสองระหว่างชาย-หญิง และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นข้อห้ามที่ชัดเจนอยู่แล้วก็ยังมีบางคนพยายามสร้างความสงสัยและคาดเดาขึ้นมา บุคคลดังกล่าวนี้หลงผิดอย่างชัดเจนและกระทำผิดอย่างชัดเจนเช่นกัน คนพวกนี้มาจากพวกที่ตามอารมณ์ความต้องการของตัวเอง(คอลิด อัล-บัยฏอรฺ “อัล-บะยาน ฟียฺ ชัรหฺ อัล-อัรฺบะอีน อัน-นะวะวียฺ” หน้า 55) ทุกวันนี้ มีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักการเรื่องหิญาบ, ญิฮาด และอื่นๆ คนพวกนี้ทั้งหมดกำลังต่อต้านสิ่งที่ชัดเจนอย่างยิ่งในอัล-กุรอานและสุนนะฮฺ พวกเขาได้ทำให้เองที่ชัดเจนอยู่แล้วหลายเรื่องเป็นเรื่องที่น่าสงสัยคลุมเครือ พวกเขากำลังทำให้มุสลิมสับสนและเกิดความสงสัยในอิสลาม ดังนั้น เป็นที่ชัดเจนว่าพวกเขากำลังรับใช้ชัยฏอนมากกว่ารับใช้อิสลาม
- อัล-บัยฏอรฺ ยังชี้ให้เห็นอีกว่า มีบ้างบางคนที่เกินขอบเขตเมื่อเขาหลีกเลี่ยงจากเรื่องสงสัย จริงๆแล้วมันไม่ใช่เรื่องที่เกินขอบเขต แต่มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องมากกว่า คือเขาหลีกเลี่ยงการกระทำสั่งใช้ให้กระทำหรือการกระทำที่ส่งเสริมให้กระทำ เพราะเขากลัวโดยไม่มีเหตุผลที่ดีเลย คือกลัวว่าทำแล้วแทนที่จะได้บุญกลับกลายเป็นบาป เช่น ไม่ไปละหมาดที่มัสญิดเพราะกลัวว่าจะเป็นการกระทำที่โอ้อวด ไม่อยากแต่งงานเพราะกลัวว่าจะมีลูกมากและกลัวว่าลูกๆจะโตขึ้นเป็นคนไม่ดี การคาดเดาเหล่านี้ไม่มีหลักฐาน นี่เป็นการล่อลวงจากชัยฏอน (คอลิด อัล-บัยฏอรฺ “อัล-บะยาน ฟียฺ ชัรหฺ อัล-อัรฺบะอีน อัน-นะวะวียฺ” หน้า 55)
-หะดีษนี้แสดงให้เห็นว่า มีความเห็นที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นในเรื่องการกระทำที่อนุญาตหรือไม่อนุญาต คือทำได้หรือทำไม่ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง มีบางคนคิดว่า ถ้าผู้รู้ท่านหนึ่งบอกว่าการกระทำอย่างหนึ่งอนุญาตให้ทำได้ในขณะที่ผู้รู้ท่านอื่นบอกว่าไม่อนุญาตให้ทำนั้น ทั้งสองฝ่ายถูกทั้งคู่ และผู้ใดพอใจจะเลือกตามความเห็นไหนก็ได้ มันไม่ใช่เช่นนั้น มันไม่ใช่ในกรณีของการกระทำที่อนุญาตกับการกระทำที่ต้องห้าม เนื่องจากมีผู้รู้บางท่านที่มีความรู้พิเศษเฉพาะด้านและรู้เรื่องนั้นๆละเอียดอย่างดี ในขณะที่ผู้รู้ท่านอื่นรู้ไม่ลึกในเรื่องนั้นแต่อาจจะรู้ลึกในเรื่องอื่น (อิบนิ ร้อญับ “ญามิอฺ อุลูม วัล หิกัม” เล่ม 1 หน้า 203)
-มีหะดีษหนึ่งท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า “โดยแน่นอนยิ่ง ฉันได้ทิ้งเรื่องราวที่ชัดแจ้งไว้ให้พวกท่าน ชัดเจนมากถึงขนาดว่า แม้ในยามค่ำคืนก็ดูสว่างแจ้งเหมือนยามกลางวัน ไม่มีผู้ใดหลงทางไปจากมันได้หลังจากฉัน นอกจากผู้ที่ถูกทำลาย”(บันทึกโดย อิมามอะหฺมัด ท่านชุอัยบฺ อัล-อัรนะอูต กล่าวว่าสายรายงานหะสัน, ดูใน “ญามิอฺ อุลูม วัล หิกัม” อิบนิ ร้อญับ เล่ม 1 หน้า 195) แม้ท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่เรื่องราวทั้งหลายเกี่ยวกับคำสอนของอิสลามล้วนชัดเจน อย่างไรก็ตาม บางเรื่องอาจชัดเจนมากกว่าบางเรื่อง ในทำนองเดียวกัน บางเรื่องอาจเป็นที่ชัดเจนมากสำหรับบางคนแต่อาจไม่ชัดเจนสำหรับบางคน เพราะฉะนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความชัดเจนของตัวบทหลักฐาน แต่อยู่ที่ความสามารถของคนที่จะสืบเสาะค้นคว้าจนพบความชัดเจนนั้นหรือไม่ อยู่บกพร่องในเรื่องความรู้ หรือบกพร่องในการดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้รู้ในสิ่งนั้นๆ
-ท่านอิมามอัช-เชากานียฺได้กล่าวไว้ว่า การหลีกห่างจากเรื่องที่คลุมเครือมิได้หมายถึงเพียงเฉพาะแค่การกระทำเท่านั้น แต่มันยังรวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับอีมานและหลักยึดมั่นศรัทธาอีกด้วย ถ้าเรื่องราวใดเกี่ยวกับอฺะกีดะฮฺมิได้ถูกชี้แจงอย่างชัดเจนในอัล-กุรอานหรือสุนนะฮฺ ทุกคนก็ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับมัน ออกห่างจากมัน อย่าได้เข้าไปทุ่มเทค้นคว้าอย่างจริงจัง จากหน้าประวัติศาสตร์อิสลามนักปราชญ์มุสลิมหลายท่านได้ใช้เวลามากมายหมกมุ่นศึกษาเกี่ยวกับวิชาปรัชญาและเทววิทยา ผลสุดท้ายของพวกท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้อะไรมากไปกว่าความสับสน และผิดหวังกับเวลาที่สูญเสียไปเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น นักปราชญ์มุสลิมเหล่านั้น เช่น อิมาม อัล-หะร้อมัยนฺ อัล-ญุวัยนียฺ, อิมามอัร-รอซียฺ และอิมามอัล-ฆ้อซาลียฺ ก่อนที่พวกท่านเสียชีวิต พวกท่านได้สำนึกผิดและเสียใจต่อความพยายามและเวลาอันสูญเปล่าที่ทุ่เทไปกับเรื่องเหล่านั้น(“กัชฟฺ” อัช-เชากานียฺ หน้า 18-19) โลกเราทุกวันนี้ก็เช่นกัน มีทฤษฎีทางด้านวิทยาศาสตร์มากมาย เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ มุสลิมบางคนก็เชื่ออย่างสนิทใจ แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถหาตัวบทหลักฐานอย่างกระจ่างชัดจากอัล-กุรอานและสุนนะฮฺมาสนับสนุนความเชื่อของพวกเขา เป็นการดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดสำหรับมุสลิมที่จะเชื่อมั่นศรัทธาในสิ่งที่มีปรากฏอย่างชัดเจนในอัล-กุรอานและสุนนะฮฺ และหลีกเลี่ยงเรื่องอื่นๆทั้งมวล ด้วยแนวทางนี้เขาจะปกป้องศาสนาของเขาและหลักยึดมั่นศรัทธาของเขาได้
สรุป
-ท่านร่อสูลุ้ลลอฮฺ ศ็อลลั้ลลอฮุ อฺะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ทำให้เรื่องราวทั้งหลายของอิสลามกระจ่างชัด ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว อย่างไรก็ตาม อาจมีบางเรื่องที่มีความกระจ่างชัดมากกว่าบางเรื่อง หรือมีความกระจ่างชัดแก่บางคนมากกว่าคนอื่นๆ ฉะนั้นในแง่ส่วนบุคคล การกระทำทั้งหลายแบ่งออกได้เป็นสามระดับ คือสิ่งที่อนุญาตนั้นชัดเจน สิ่งที่ต้องห้ามนั้นก็ชัดเจน และสิ่งที่อยู่ระหว่างทั้งสองนั้นคือไม่สามารถรู้ได้ว่าอนุญาตหรือต้องห้าม
-มีผู้รู้บางท่านที่จะรู้ถึงกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่คลุมเครือ ผู้รู้ที่ว่านี้อาจมีน้อยมาก
-มุสลิมต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องคลุมเครือ ถ้าเขาตัดสินใจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมัน มันอาจจะนำเขาไปสู่การกระทำที่ต้องห้ามอย่างชัดเจนก็ได้
-คนที่เคร่งครัดจะหลีกห่างจากเรื่องที่คลุมเครือ ดังนั้น ศาสนาของเขา หรือเกียรติของเขา ก็จะอยู่เหนือพ้นจากความสงสัยใดๆ
-การกระทำต้องห้ามคือทุ่งเลี้ยงสัตว์ส่วนตัวหรือเขตหวงห้ามของอัลลอฮฺ ห้ามเข้าเป็นอันขาด มุสลิมทุกคนต้องทำอย่างดีที่สุดเพื่อให้แน่ใจว่า “ฝูงสัตว์”ของเขายังอยู่ห่างไกลจากทุ่งเลี้ยงสัตว์ส่วนตัวนั้นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้แน่ใจได้ก็คือ อยู่ให้ห่างไกลจากทุ่งเลี้ยงสัตว์ส่วนตัวนั้น
-มุสลิมแต่ละคนจะต้องทำให้แน่ใจว่าหัวใจของเขาบริสุทธิ์ดีงาม หัวใจคือกุญแจสู่การกระทำและพฤติกรรมทั้งมวล ถ้าหัวใจบริสุทธิ์ดีงาม การกระทำของคนผู้นั้นก็จะบริสุทธิ์ดีงาม ถ้าหัวใจป่วยเป็นโรคมันก็จะมีผลถึงการกระทำไปด้วย
-การอยู่ให้ห่างไกลจากเรื่องต้องห้ามและเรื่องคลุมเครือเป็นหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุด ที่จะปกป้องหัวใจจากการเจ็บป่วยหรือเป็นโรค


จากหนังสือ “อธิบาย 40 หะดีษ อัน-นะวะวียฺ” โดย ญะมาลุดดีน ซะรอบูซู
เล่ม 1 หน้า 451-476
ถอดความโดย นูรุ้ลฮุดา

http://www.theislamicway.net/node/649


 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).