Loading

 

อำนาจอธิปไตย: ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกฎหมายทั่วไปและกฎหมายอิสลาม

อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสำคัญยิ่งทางการเมืองทางปกครอง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ นับตั้งแต่การได้มา การรักษาไว้ การใช้ และการจัดระเบียบองค์กรต่างๆขึ้นมารองรับอำนาจ ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงถือว่าอำนาจทางการเมืองการปกครองเป็นเรื่องสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบหรือกฎเกณฑ์การปกครองประเทศ ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีและวิธีปฏิบัติว่าด้วยอำนาจอธิปไตยที่แตกต่างทำให้การกำหนดกฎเกณฑ์ในการปกครองของแต่ละประเทศพลอยต่างกันออกไปด้วย หรือแม้แต่การระบุว่าระบอบการปกครองใดเป็นเผด็จการ คณาธิปไตย หรือประชาธิปไตย ก็ดูได้จากทฤษฎีและวิธีปฏิบัติในเรื่องอำนาจอธิปไตยนี่เองเพราะจะเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์การปกครองของแต่ละประเทศ ส่งผลต่อการจัดระเบียบองค์กรทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆ ทางการเมือง อำนาจอธิปไตยจึงเป็นปัญหาเริ่มต้นของปัญหาทั้งหลาย เป็นกฎเกณฑ์เบื้องต้นของกฎเกณฑ์ทั้งหลาย เป็นที่มาเบื้องต้นของการจัดระบอบการปกครองทั้งหลาย เป็นจุดแบ่งแยกของระบบรัฐบาลทั้งหลาย เป็นตัวกำหนดรูปของรัฐ รูปแบบประมุขของรัฐ ที่มาของสมาชิกรัฐสภา อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา จำนวนสภาในรัฐสภา เสรีภาพของประชาชน อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ประเด็นเหล่านี้ล้วนสืบเนื่องมาจากความเข้าใจเรื่องอำนาจอธิปไตยอันเกี่ยวกับเจ้าของอำนาจอธิปไตย ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย วิธีใช้อำนาจอธิปไตย การแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ตลอดจนการจัดองค์กรรองรับการแบ่งแยกหรือการใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสิ้น บทความฉบับนี้จึงจะศึกษาเปรียบเทียบระหว่างอำนาจอธิปไตยตามแนวคิดของกฎหมายทั่วไปและกฎหมายอิสลาม

 

ความหมายของอำนาจอธิปไตย
คำว่า “อำนาจ” หมายถึงความสามารถที่จะปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่กล่าวมาในข้างต้นว่าอำนาจเป็นสิ่งสำคัญในทางการเมือง ดังที่กล่าวกันในทางรัฐศาสตร์ว่า “การเมืองเป็นการต่อสู้เพื่ออำนาจ” ส่วนอำนาจอธิปไตยคืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรืออำนาจที่แสดงความเป็นเจ้าของประเทศนั่นเอง เมื่อสูงสุดหรือเป็นเจ้าของเสียแล้ว ก็ไม่ต้องอยู่ในบังคับบัญชาของผู้ใด อำนาจนี้ถือว่าเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของรัฐหรือเป็นเครื่องวัดว่าดินแดนนั้นเป็นรัฐหรือประเทศเอกราช หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือความเป็นอำนาจสูงสุดไม่มีอำนาจอื่นใดในรัฐนั้นมาทัดเทียมหรือสูงกว่า อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) นี้เพิ่งจะเรียกกันในสมัยศตวรรษที่ 16 นี่เอง แต่เดิมเคยเรียกกัน “อำนาจสูงสุด”(Supremacy) มาก่อน
นักวิชาการรัฐศาสตร์ในปัจจุบันเรียก “อำนาจสูงสุด” ในความหมายของ “อำนาจเด็ดขาด” ดังนั้นถ้าบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใด หรือสถาบันใดมีอำนาจสูงสุดแล้ว ก็ไม่มีอำนาจใดที่จะไปจำกัดอำนาจดังกล่าวได้อีกต่อไป ยกเว้นเป็นความประสงค์ของผู้มีอำนาจสูงสุดเอง กฎหมายทั่วไปได้วางหลักไว้ว่าสิทธิในทางกฎหมายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้มีอำนาจสูงสุดเป็นผู้ให้สิทธิดังกล่าว ดังนั้นเมื่อผู้มีอำนาจสูงสุดยกเลิกสิทธิดังกล่าว ก็ไม่อาจเรียกร้องสิทธิดังกล่าวได้อีกต่อไป สิ่งใดที่ผู้มีอำนาจสูงสุดกระทำลงไปถือว่ามีความเที่ยงธรรม และไม่มีผู้ใดสามารถคัดค้านการกระทำหรือคำสั่งดังกล่าว พฤติกรรมของผู้มีอำนาจสูงสุดจะเป็นบรรทัดฐานแห่งความชอบธรรม ไม่มีผู้ใดสามารถปฏิเสธได้
ที่กล่าวไปทั้งหมดในข้างต้นนั้นเป็นแนวคิดของอำนาจสูงสุดตามทัศนะของนักวิชาการปัจจุบัน อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวเป็นไปในทางทฤษฎีเท่านั้น ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติตราบใดที่ไม่มีอำนาจในการบังคับใช้ ดังนั้นถ้าพูดถึงในบริบทของรัฐศาสตร์แล้วการมีอำนาจสูงสุดทางนิติศาสตร์แต่ไม่มีอำนาจสูงสุดทางรัฐศาสตร์จะไม่มีผลในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้อำนาจสูงสุดทางรัฐศาสตร์หมายถึงผู้มีอำนาจบังคับใช้อำนาจสูงสุดนั้นเอง

วิวัฒนาการของทฤษฎีว่าด้วยเจ้าของอำนาจอธิปไตย
ส่วนด้านวิวัฒนาการของทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยนั้น ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม ได้ลำดับไว้ดังต่อไปนี้
1) ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า (The Supremacy of God)
2) ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของพระสันตปาปา (The Supremacy of the Pope)
3) ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของกษัตริย์ (The Supremacy of King)
4) ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจอธิปไตยเป็นของรัฐ (Theory of Sovereignty)
5) ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (Sovereignty belongs to the People)
6) ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ (Sovereignty belongs to the Nation)

ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า
ปรัชญาเมธีฝ่ายกฎหมายธรรมชาติได้อ้างทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของพระผู้ป็นเจ้า(The Supremacy of God) โดยอ้างว่า บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมอยู่ใต้คำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า หรือถ้าจะเรียกตามภาษาสมัยใหม่ก็คืออำนาจอธิปไตยเป็นของพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง

ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของพระสันตปาปา
ในขณะที่มีการกล่าวอ้างทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า ก็ได้มีการวางรากฐานทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของพระสันตปาปา (Supremacy of the Pope) เคียงคู่ตลอดมาด้วยความมุ่งหมายว่าจะสร้างฐานแห่งอำนาจของฝ่ายศาสนจักรเหนือฝ่ายอาณาจักรโดยเด็ดขาด โดยอ้างว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นบริสุทธิเทพ จึงไม่อาจมาข้องแวะหรือบงการมนุษย์ได้ทุกคน ในทุกเวลาและในทุกสถานที่ จึงได้เลือกให้พระบุตร หรือพระเยซู (Jesus Christ) มาไถ่บาปมนุษย์แทน เพื่อต่อจากนั้นไปมนุษย์จะได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์อิสระของตนได้ ต่อมาพระบุตรได้เลือกสาวกคนสำคัญคือ นับบุญปีเตอร์ (Saint Peter) ให้เป็นผู้ปกครองดูแลคริสศาสนิกชนทั้งหลายในโลกสืบต่อจากพระองค์ ซึ่งในที่สุดนักบุญปีเตอร์ได้มอบอำนาจให้พระสันตะปาปาองค์ต่อๆมารับภาระนี้สืบต่อไปอย่างไม่ขาดสาย ดังนั้นพระสันตะปาปาจึงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทางฝ่ายศาสนจักร

ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของกษัตริย์
นับตั้งแต่ปลายสมัยกลางเป็นต้นมา ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของพระสันตปาปาก็เสื่อมความนิยมลง เพราะทางฝ่ายอาณาจักรแข็งแกร่งขึ้นมากจนสามารถตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่สำนักพระสันตะปาปาอีกต่อไป ทฤษฎีใหม่ที่นิยมในขณะนั้นคือ ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของกษัตริย์ (The Supremacy of King) และมีการใช้คำว่าอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) แทนคำว่าอำนาจสูงสุด (Supremacy) เป็นครั้งแรกโดยถือว่ากษัตริย์เป็นรัฎฐาธิปัตย์ (Sovereign) หรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐแต่ละรัฐ เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของรัฐ เพราะเป็นตัวแทนของรัฐนั่นเอง

ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (Sovereignty belongs to the People) เห็นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ประชาชนทุกคนใช้อำนาจอธิปไตยเองในกิจการทั้งปวงโดยตรง หรืออาจจัดการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยโดยอ้อม คือให้ประชาชนเลือกผู้แทนฯขึ้นทำการแทนตน ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนนี้เกิดจากข้อเสนอของรุสโซ ในหนังสือชื่อสัญญาประชาคม (Social Contract) ซึ่งรุสโซเห็นว่าสังคมเกิดจากความยินยอมพร้อมใจกันของมนุษย์ การที่มนุษย์ทุกคนยินยอมมารวมเป็นสังคมนั้นก่อให้เกิดสัญญาประชาคมขึ้น

ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ
ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ (Sovereignty belongs to the Nation) หมายความว่าอำนาจอธิปไตยไม่ใช่ของประชาชนแต่เป็นของชาติ “ชาติ” เป็นสิ่งที่สมมติขึ้นมา ชาติเกิดจากการรวมกันของพลเมืองทุกคน ซึ่งถ้าแยกเป็นคนแต่ละคนแล้วจะไม่มีเลย แต่ถ้ารวมกันทุกคนแล้วย่อมเป็น “ชาติ” ซึ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทฤษฎีนี้เห็นว่าเจตนารมณ์ของชาติจะแสดงออกได้ก็แต่โดยชาติ โดยผ่านผู้แทนของชาติ และผู้แทนที่ได้รับเลือกโดยประชาชนนั้น เมื่อได้รับเลือกแล้วไม่ใช่ผู้แทนของราษฎรที่เลือก แต่เป็นผู้แทนของชาติ จึงเป็นอิสระไม่ถูกผูกมัดโดยสัญญาใดๆ กับประชาชนผู้เลือก และมีอิสระที่จะทำแทนชาติได้เต็มที่

ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในกฎหมายทั่วไป
โดยทั่วไปแล้วเจ้าของอำนาจอธิปไตยกับผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเป็นบุคคลเดียวกัน แต่ในหลายกรณีเจ้าของอาจไม่ได้เป็นผู้ใช้ก็ได้ สมัยที่ถือว่ากษัตริย์เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กษัตริย์ก็เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยนั้น ต่อเมื่อเมื่อถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติหรือของประชาชน อำนาจอธิปไตยก็กลายเป็นของคนจำนวนมาก จนไม่อาจมีการแสดงความเป็นเจ้าของอธิปไตยโดยตรงในทุกเรื่อง จึงต้องมีผู้แทนหรือผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนโดยได้รับมอบหมายหรือความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 3 ยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่พอแบ่งแยกออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการแล้ว รัฐธรรมนูญกลับระบุให้อำนาจนิติบัญญัติเป็นของรัฐสภา อำนาจบริหารเป็นของคณะรัฐมนตรี อำนาจตุลาการเป็นของศาล ข้อนี้แสดงให้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยต้องมีผู้ใช้ต่างหากจากเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

ลักษณะของอำนาจอธิปไตย
อำนาจอธิปไตยต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ 1. ความเด็ดขาด (Absoluteness) 2.ความครอบคลุมทั่วไป (Comprehensiveness) 3. ความถาวร(Permanence) 4.ความไม่อาจถูกแบ่งแยกได้ (Indivisibility)

ความเด็ดขาด (Absoluteness)
อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน ทั้งเป็นอำนาจที่เด็ดขาดและบริบูรณ์ในตัวเองโดยไม่มีอำนาจใด หรือกรรมสิทธิ์ของเอกชนคนใดมาลบล้าง

ความครอบคลุมทั่วไป (Comprehensiveness)
อำนาจอธิปไตยย่อมมีขอบเขตยิ่งใหญ่ไพศาลทั่วอาณาเขตของรัฐ อำนาจบังคับแห่งอำนาจอธิปไตยอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่างในรัฐไม่ว่าเป็นบุคคลหรือดินแดนหรือองค์กรใดๆก็ตาม

ความถาวร (Permanence)
อำนาจอธิปไตยย่อมอยู่คู่กับรัฐเสมอไปโดยไม่สูญสลาย การมีอำนาจอธิปไตยเป็นองค์ประกอบข้อหนึ่งของรัฐ เพราะฉะนั้นถ้าสูญสิ้นอำนาจอธิปไตยก็เท่ากับว่าสูญสิ้นความเป็นรัฐ

ความไม่อาจถูกแบ่งแยกได้ (Indivisibility)
อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจทางนามธรรม จึงไม่อาจเห็นได้ แต่ที่ทราบว่ามีอยู่ในรัฐก็เพราะผลของการใช้อำนาจอธิปไตย อำนาจอธิปไตยมีลักษณะอันหนึ่งอันเดียวกันไม่อาจถูกแบ่งแยกได้ อย่างไรก็ตาม ข้อที่ว่านี้หมายถึงเฉพาะการแบ่งแยกเพื่อเป็นเจ้าของคนละส่วนกันในเวลาเดียวกันในรัฐเดียวกันเท่านั้น แต่สามารถแบ่งแยกเพื่อประโยชน์ในการใช้หรือแบ่งแยกตามหน้าที่ของแต่ละองค์กรได้ ดังที่เรียกกันว่า “Separation of power or separation of function”

ทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ
มงเตสกิเออ (Montesquieu) ได้เรียบเรียงวรรณกรรมเล่มหนึ่งคือ “เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย” (L’Esprit des lois)” ในบทที่ 6 ของหมวดที่ 11 มงเตสกิเออได้อธิบายว่าในทุกรัฐจะมีอำนาจอยู่ 3 อย่าง คือ 1) อำนาจนิติบัญญัติ กล่าวคืออำนาจในการตรากฎหมายนั่นเอง 2) อำนาจบริหาร 3) อำนาจตุลาการ
ความมุ่งหมายในการแยกอำนาจ ก็เพื่อจะคุ้มครองและให้หลักประกันแก่ราษฎร เพราะหากมีการก้าวก่ายกันแล้ว ก็จะนำไปสู่เผด็จการได้โดยง่าย แต่ถ้าแยกกันก็ยังจะพอคานกันหรือเสี่ยงต่อการถูกใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมน้อยลง

รูปแบบการใช้อำนาจอธิปไตย
การใช้อำนาจอธิปไตยมีอยู่ 5 รูปแบบด้วยกันได้แก่ 1) กรณีองค์กรเดียวเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย 2) กรณีฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารใช้อำนาจโดยองค์กรเดียวกัน 3) กรณีฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการใช้อำนาจโดยองค์กรเดียวกัน 4) กรณีแบ่งแยกองค์กรซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ ออกจากกันอย่างเด็ดขาดหรือเกือบเด็ดขาด 5) กรณีแบ่งแยกองค์กรซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ ออกจากกัน แต่ให้เกี่ยวข้องกันได้มากขึ้น

กรณีองค์กรเดียวเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย
ในกรณีที่องค์กรเดียวเป็นผู้ใช้อำนาจทั้งสามอำนาจ คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือทั้งสามอำนาจรวมอยู่ด้วยกัน โดยมิได้มีการแยกการใช้อำนาจ

กรณีฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารใช้อำนาจโดยองค์กรเดียวกัน
กรณีที่มีการใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารร่วมกันใช้โดยบุคคลเดียวกันหรือองค์กรเดียวกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือผู้บัญญัติกฎหมายกับผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นบุคคลเดียวกันหรือองค์กรเดียวกัน

กรณีฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการใช้อำนาจโดยองค์กรเดียวกัน
ในกรณีที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการใช้อำนาจโดยองค์กรเดียวกันได้แก่กรณีที่ผู้บังคับใช้กฎหมายกับผู้ตัดสินอรรถคดีเป็นบุคคลเดียวกันหรือองค์กรเดียวกัน

กรณีแบ่งแยกองค์กรซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ ออกจากกันอย่างเด็ดขาดหรือเกือบเด็ดขาด
กรณีจัดให้มีการแบ่งแยกองค์กรซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการออกจากกันเกือบเด็ดขาด หรือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางครั้งเรียกกันว่าเป็นการแบ่งแยกอำนาจเกือบเด็ดขาด รูปแบบการแบ่งแยกอำนาจลักษณะนี้จะจัดให้เลือกฝ่ายตุลาการด้วยก็ได้ โดยนัยนี้ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แยกออกจากกัน ไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจมากกว่ากัน ต่างฝ่ายต่างแยกกันทำหน้าที่ของตนเอง แต่ให้มีการคานอำนาจในบางกรณี เช่นการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายบริหารต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา หรือกรณีหัวหน้าฝ่ายบริหารใช้สิทธิยับยั้งกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น

กรณีแบ่งแยกองค์กรซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ ออกจากกัน แต่ให้เกี่ยวข้องกันได้มากขึ้น
กรณีแบ่งแยกองค์กรซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ ออกจากกันแต่ให้เกี่ยวข้องกันได้มากขึ้นเป็นรูปแบบการแบ่งแยกอำนาจที่จัดให้ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการมีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ฝ่ายนิติบัญญัตินอกจากมีหน้าที่บัญญัติกฎหมายแล้วยังมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารด้วยการกระทู้ถามหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนฝ่ายบริหารนอกจากมีหน้าที่บริหารประเทศแล้วยังมีอำนาจหน้าที่ออกกฎหมายในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน และมีอำนาจยุบสภานิติบัญญัติ จะเห็นได้ว่าทั้งสององค์กรได้แก่องค์กรนิติบัญญัติและองค์กรบริหารมีมาตรการตอบโต้ระหว่างกัน

แนวคิดของอิสลามเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย
ในกรณีอำนาจอธิปไตยถูกมอบให้แก่มนุษย์แล้วไม่ว่าจะเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็จะมีประเด็นคำถามว่ามนุษย์สามารถใช้อำนาจอันยิ่งใหญ่ดังกล่าวได้เพียงไร เนื่องจากตัวมนุษย์เองมีข้อจำกัดมากมาย นอกจากนี้การใช้อำนาจอธิปไตยของมนุษย์จะเกิดผลตามมาคือความอยุติธรรมและความผิดพลาดในการบริหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อำนาจอธิปไตยที่เป็นของมนุษย์นั้นจะมีข้อบกพร่องโดยธรรมชาติ เนื่องจากมนุษย์ซึ่งไม่มีสิทธิในอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง เมื่อมีโอกาสใช้อำนาจดังกล่าวแล้วก็จะใช้อย่างอยุติธรรม ดังที่อัล-กุรอานได้บัญญัติว่า
ความว่า "และผู้ใดมิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาแล้ว ชนเหล่านี้แหละคือ ผู้อธรรม"

ด้วยเหตุดังกล่าวอัล-กุรอานได้อธิบายอย่างชัดเจนว่าอัลลอฮฺคือผู้ทรงอำนาจสูงสุดในทุกด้าน เนื่องจากพระองค์เป็นผู้สร้างและเป็นผู้ปกครองจักรวาลอย่างแท้จริง ดังนั้นพระองค์เท่านั้นที่มีอำนาจเหนือทุกสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง หมายความว่าคำสั่งของพระองค์นั้นเป็นกฎหมาย พระองค์มีสิทธิขาดในการออกคำสั่งทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการของมนุษย์ และเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดโดยไม่มีเงื่อนไข ประชาชนไม่มีสิทธิฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ มนุษย์จะได้รับสิทธิตามความยินยอมของพระเจ้า กฎหมายจะเกิดขึ้นตามความประสงค์ของพระองค์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือพระเจ้าเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดจนไม่อาจโต้แย้งคำสั่งของพระองค์
อัล-กุรอานได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงของอำนาจสูงสุดว่าเป็นของพระเจ้าเท่านั้น เพราะพระองค์ทรงอำนาจในทุกด้าน ดังปรากฏในอายะฮฺดังต่อไปนี้
ความว่า "แท้จริงพระผู้อภิบาลของเจ้า เป็นผู้กระทำโดยเด็ดขาดตามที่พระองค์ทรงประสงค์" ความว่า "พระองค์จะไม่ทรงถูกสอบสวนในสิ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติ แต่พวกเขาต่างหากที่จะถูกสอบสวน"

นอกจากนี้อัล-กุรอานยังได้บัญญัติอีกว่าสิ่งที่ถูกสร้างไม่มีสิทธิออกคำสั่งเหนือสิ่งถูกสร้างอื่นๆ เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นของพระเจ้าในฐานะผู้ทรงสร้างเท่านั้น ความว่า "พึงรู้เถิด การสร้างและกิจการทั้งหลายนั้นเป็นสิทธิของพระองค์เท่านั้น มหาบริสุทธิ์อัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลก"

อายะฮฺข้างต้นแสดงให้เห็นว่าไม่มีผู้ใดจะเคียงคู่อำนาจของอัลลอฮฺซึ่งอยู่ในฐานะผู้ทรงสร้างจักรวาล

อัลลอฮฺเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยโดยสิทธิ
อิสลามได้บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของอัลลอฮฺแต่เพียงผู้เดียวในฐานะที่พระองค์เป็นผู้ทรงสร้างจักรวาล พระองค์จึงมีสิทธิขาดเหนือสรรพสิ่งทั้งหลาย อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในหลายๆอายะฮฺดังต่อไปนี้ 
ความว่า "พระองค์ทรงใช้มิให้พวกท่านเคารพอิบาดะฮฺสิ่งใด นอกจากพระองค์เท่านั้นนั่นคือศาสนาที่เที่ยงธรรม"

 

??????????? ??? ??????? ????????? ???? ?????????? ????? ???????????? ??? ??????? ?????????? ???????? ???? ????????????

ความว่า "พวกเจ้าจงปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่พวกเจ้าจากพระเจ้าของพวกเจ้าเถิด และอย่าปฏิบัติตามบรรดาผู้คุ้มครองใดๆ อื่นจากพระองค์ส่วนน้อยจากพวกเจ้าเท่านั้นที่จะรำลึก"

ผู้ใดที่หันเหหรือปฏิเสธไม่ยอมรับการมีอำนาจสูงสุดของอัลลอฮฺแล้วถือว่าเขาผู้นั้นเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาอย่างชัดเจน ดังที่อัล-กุรอานได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ความว่า "และผู้ใดมิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาแล้ว ชนเหล่านี้แหละคือผู้อธรรม"

อายะฮฺข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการยอมรับในอำนาจอธิปไตยของพระผู้เป็นเจ้านั้นจะเป็นตัวตัดสินของความเป็นมุสลิมหรือกาฟิร(ผู้ปฏิเสธศรัทธา)
ในเมื่ออิสลามถือว่าพระเจ้าเป็นผู้อำนาจสูงสุดเพียงผู้เดียวแล้ว ประเด็นคำถามตามมาก็คือใครจะเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวในฐานะเป็นตัวแทนของพระองค์ เนื่องจากพระองค์อยู่เหนือสรรพสิ่งทุกอย่าง จึงไม่อาจใช้อำนาจสูงสุดได้โดยตรง จึงจำเป็นต้องมีตัวแทนทำหน้าที่แทนพระองค์ เกี่ยวกับเรื่องนี้เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของท่านศาสดาและฐานะของรัฐอิสลาม

บทบาทของศาสดา
ศาสดาเป็นผู้ซึ่งได้รับการติดต่อและรับคำสั่งจากพระเจ้า เป็นเหตุผลหนึ่งที่อิสลามสั่งให้มุสลิมทุกคนเชื่อฟังศาสดาโดยไม่มีเงื่อนไข จากหลายๆอายะฮฺของอัล-กุรอาน จะสังเกตุเห็นได้ว่าบรรดาศาสดาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระเจ้าทุกคนจะพูดว่า “พวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺ และเชื่อฟังฉัน” นอกจากนี้อัล-กุรอานยังได้กำหนดหลักการของเรื่องนี้ดังต่อไปนี้ 
ความว่า "และเรามิได้ส่งรอซูลคนใดมานอกจากเพื่อให้เขาได้รับการเชื่อฟัง" ความว่า "ผู้ใดเชื่อฟังรอซูล แน่นอนเขาก็เชื่อฟังอัลลอฮฺแล้ว"

อัล-กุรอานปฏิเสธที่จะรับรองความเป็นมุสลิมของผู้ใด ตราบใดที่เขาไม่ยอมรับอำนาจของศาสดาดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสว่า ความว่า "มิใช่เช่นนั้นดอก ข้าขอสาบานด้วยพระเจ้าของเจ้าว่าพวกเขาเหล่านั้นจะยังไม่ศรัทธาจนกว่าพวกเขาจะให้เจ้าตัดสินในสิ่งที่ขัดแย้งกันระหว่างพวกเขา แล้วพวกเขาไม่พบความคับใจใดๆในจิตใจของพวกเขาจากสิ่งที่เจ้าได้ตัดสินไป และพวกเขายอมจำนนด้วยดี"

นอกจากนี้อัลลอฮฺยังทรงตรัสอีกว่า ความว่า "ไม่บังควรแก่ผู้ศรัทธาชายและผู้ศรัทธาหญิงเมื่ออัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ได้กำหนดกิจการใดแล้ว สำหรับพวกเขาไม่มีทางเลือกในเรื่องของพวกเขา และผู้ใดไม่เชื่อฟังอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์แล้ว แน่นอนเขาได้หลงผิดอย่างชัดแจ้ง"

อายะฮฺข้างต้นแสดงให้เห็นว่าโดยสิทธินั้นอำนาจอธิปไตยเป็นของอัลลอฮฺแต่เพียงผู้เดียว ส่วนศาสดาเป็นตัวแทนและกระบอกเสียงของพระองค์ในการใช้อำนาจอธิปไตยดังกล่าว

ฐานะของรัฐอิสลาม
หลังจากที่ได้กล่าวถึงบทบาทของศาสดาไปแล้ว ก็ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ควรกล่าวถึงคือใครเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งคำตอบก็ยังเป็นพระเจ้าอยู่ ส่วนองค์กรทางการเมืองที่เข้าไปบริหารกิจการของรัฐนั้นมิใช่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทั้งโดยนิตินัยและโดยพฤตินัย เนื่องจากอำนาจขององค์กรดังกล่าวถูกจำกัดโดยอำนาจสูงสุดที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงหรือแทรกแซงได้ ฐานะขององค์กรทางการเมืองถูกอัล-กุรอานกำหนดโดยใช้คำ “คิลาฟาต” ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์กรดังกล่าวมิได้มีอำนาจสูงสุดอยู่ในตัวของมันเอง แต่เป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจสูงสุดทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย กล่าวคือเป็นตัวแทนของพระเจ้านั้นเอง
คำ “คิลาฟาต” มิใช่เป็นสิทธิของกษัตริย์หรือสันตปาปา แต่อัล-กุรอานถือว่าคิลาฟาตหรือตัวแทนของอัลลอฮฺมิใช่สิทธิของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง หรือ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นสิทธิของทุกคนที่ยอมรับอำนาจสูงสุดของพระเจ้าที่อยู่เหนือพวกเขา และบังคับใช้กฎหมายของพระองค์ที่ประทานผ่านท่านนบีมุฮัมหมัด ดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
ความว่า "อัลลอฮฺทรงสัญญากับบรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และบรรดาผู้ที่กระทำความดีทั้งหลายว่า แน่นอนพระองค์จะทรงให้พวกเขาเป็นตัวแทนสืบช่วงในแผ่นดิน"

สรุปเปรียบเทียบแนวคิดอำนาจอธิปไตยระหว่างกฎหมายอิสลามและกฎหมายทั่วไป
จากการศึกษาข้างต้นพบว่าแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยในกฎหมายอิสลามจะแตกต่างจากแนวคิดของกฎหมายทั่วไปโดยสิ้นเชิง กฎหมายอิสลามถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียวส่วนศาสนทูตหรือประชาชนที่เข้าไปบริหารกิจการของรัฐ จะเป็นแค่ตัวแทนหรือคิลาฟาตของพระองค์ในการใช้อำนาจสูงสุดดังกล่าว ในขณะที่ระบบประชาธิปไตยของตะวันตกรวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ถือว่าประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ดังนั้นการจัดตั้งและการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งหรือของประชาชน



บทความชิ้นนี้นำเสนอโดย ดร.มุฮำหมัดซากี เจ๊ะหะ รองคณบดีคณะอิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลามยะลา ในการสัมมนานำเสนอผลงานทางวิชาการครั้งที่ 1 จัดโดยบัณฑิตวิทยาลัยและสาขาวิชาภาษาอาหรับ วิทยาลัยอิสลามยะลา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2549

ดูเชิงอรรถและแหล่งอ้างอิงของบทความ พร้อมดาวน์โหลดฉบับเต็มในรูป Pdf ได้จาก

http://www.scribd.com/full/27257064?access_key=key-tjszyk9jq4ccp0dh9m3

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).