Loading

 

การละหมาดกิยามุลลัยลฺกับภรรยาและลูกๆในบ้านโดยอ่านเสียงเบา

ถาม ฉันมีความตั้งใจที่จะฟื้นฟูค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺให้มีชีวิตชีวา(ด้วยการทำอิบาดะฮฺต่างๆ)ที่มัสญิด แต่ฉันก็ไม่มีความสามารถที่จะปฏิบัติเช่นนั้นได้ ดังนั้นฉันจึงละหมาดตะรอวีหฺที่บ้านของฉันเองพร้อมๆ กับภรรยาและลูกๆ ของฉัน การละหมาดของฉันดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่? คำถามต่อมา ฉันเคยละหมาด 12 ร็อกอัตพร้อมๆ กับครอบครัวของฉัน ซึ่งฉันเป็นอิมามนำละหมาด แต่ฉันนำละหมาดด้วยการอ่านเสียงเบา ไม่ได้อ่านเสียงดัง ดังนั้นได้โปรดให้คำแนะนำแก่ฉันด้วย ซึ่งหวังว่าอัลลอฮฺจะทรงตอบแทนความดีงามให้แก่ท่าน

ตอบ -อัลหัมดุลิลลาฮฺ- มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ

หนึ่ง... การละหมาดตะรอวีหฺที่บ้านนั้นเป็นสิ่งที่อนุญาตให้ปฏิบัติได้ โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่การละหมาดตะรอวีหฺเป็นญะมาอะฮฺที่มัสญิดนั้น ย่อมมีความประเสริฐยิ่งกว่าอย่างแน่นอน

ซึ่งคณะกรรมการถาวรเพื่อวินิจฉัยปัญหาศาสนา เคยถูกถามเพื่อขอคำวินิจฉัยว่า “เมื่อเดือนเราะมะฎอนมาถึงและเป็นช่วงเวลาที่มีการละหมาดตะรอวีหฺ ฉันควรไปยังมัสญิดหรือละหมาดที่บ้านของฉันเอง โดยที่ตัวฉันนั้นไม่ใช่อิมามแต่เป็นเพียงมะอ์มูมคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งฉันชื่นชอบที่จะอ่านอัลกุรฺอานด้วยตัวเอง ฉันชอบที่จะอ่าน(อัลกุรอานในละหมาดตะรอวีหฺ)มากกว่าการฟัง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้าฉันละหมาดที่บ้านของตัวเอง ฉันจะมีความผิดหรือไม่ ฉันหมายถึงละหมาดตะรอวีหฺเท่านั้น ?”

คณะกรรมการถาวร ฯ ได้ตอบว่า “ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดที่ท่านจะละหมาดตะรอวีหฺที่บ้านของท่านเพราะมันเป็นสิ่งที่สุนัต แต่การละหมาดตะรอวีหฺพร้อมกับอิมามที่มัสญิดย่อมเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งกว่า ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เป็นผู้ที่วางหลักการนี้ (ด้วยตัวของพวกท่านเอง) และเนื่องด้วยคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่มีต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่าน ในครั้งที่พวกเขาได้ละหมาดตะรอวีหฺตามท่านนบีใน 3 คืนแรก (ของเดือนเราะมะฎอน) ซึ่งเศาะหาบะฮฺบางท่านได้กล่าวแก่ท่านนบีว่า เราอยากให้ท่านนำละหมาดกิยามุลลัยลฺให้พวกเราในส่วนที่เหลือของคืนนี้ได้หรือไม่?   ท่านนบีได้กล่าวว่า

«مَنْ قَامَ مَعَ الإِمَامِ حَتَّى يَنْصَرِفَ كَتَبَ اللَّهُ لَهُ قِيَامَ لَيْلَةٍ»

ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่ละหมาดพร้อมกับอิมาม (ละหมาดตะรอวีหฺ) จนเสร็จสิ้นการละหมาด อัลลอฮฺจะทรงบันทึกผลบุญแก่เขาเสมือนเขาได้ละหมาดทั้งคืน” บันทึกโดยอะหฺมัด 5/159 และในสุนันทั้งหลาย ด้วยสายรายงานที่ดี (หะสัน) จากหะดีษที่รายงานโดยท่านอบีซัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ” สิ้นสุดคำกล่าว (ฟะตาวาโดยคณะกรรมการถาวร ฯ 7/201-202)

สอง... ดั้งเดิมของการละหมาดตะรอวีหฺนั้นคือเป็นการละหมาดที่ต้องอ่านด้วยเสียงที่ดัง เพราะมีรายงานจากบรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ที่ได้ละหมาดตะรอวีหฺในสมัยของท่านอุมัร บินอัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ โดยที่ท่านอุบัย บินกะอฺบฺ และเศาะหาบะฮฺท่านอื่นๆ ได้เป็นอิมามนำละหมาดให้แก่ผู้คน ซึ่งพวกท่านได้อ่านอย่างยืดยาว

            แต่การอ่านด้วยเสียงที่ดังในละหมาดที่ต้องอ่านด้วยเสียงที่ดัง และการอ่านด้วยเสียงที่เบาในละหมาดที่ต้องอ่านด้วยเสียงที่เบา สำหรับผู้ที่เป็นอิมามนั้น เป็นเพียงสิ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติในการละหมาดเท่านั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งวาญิบที่ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด ดังที่เป็นทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่จากมัซฮับมาลิกีย์, ชาฟิอีย์ และหัมบะลีย์

ในหนังสือ อัล-เมาสูอะฮฺ อัล-ฟิกฮิยะฮฺ 16/188 ได้ระบุไว้ว่า “บรรดานักนิติศาสตร์อิสลามส่วนใหญ่ได้ให้ทัศนะว่า การอ่านด้วยเสียงที่ดังในละหมาดที่ต้องอ่านด้วยเสียงที่ดัง และการอ่านด้วยเสียงที่เบาในละหมาดที่ต้องอ่านด้วยเสียงที่เบานั้นเป็นเพียงสุนัตจากสุนัตต่างๆ ของการละหมาดเท่านั้น แต่ในทัศนะของนักวิชาการมัซฮับหะนะฟีย์ ถือเป็นสิ่งที่วาญิบให้อ่านด้วยเสียงที่ดังในละหมาดที่ต้องอ่านด้วยเสียงที่ดัง และให้อ่านด้วยเสียงที่เบาในละหมาดที่ต้องอ่านด้วยเสียงที่เบา” จบการอ้าง

ชัยคฺอิบนุอุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ นูรุน อะลัดดัรบฺ (อัศ-เศาะลาหฺ /218) ว่า “การอ่านด้วยเสียงที่ดังในละหมาดที่ต้องอ่านด้วยเสียงที่ดังนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่วาญิบให้ปฏิบัติแต่อย่างใด ทว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่จะให้ปฏิบัติเช่นนั้นเท่านั้น ดังนั้นถ้ามีผู้คนได้อ่านด้วยเสียงที่เบาในละหมาดที่มีบัญญัติให้อ่านด้วยเสียงที่ดัง ก็ไม่ทำให้การละหมาดของเขานั้นเป็นโมฆะแต่อย่างใด เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม  ได้กล่าวว่า “ไม่มีการละหมาดสำหรับผู้ที่ไม่อ่านอุมมุลกุรฺอาน(สูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ)” โดยที่ท่านไม่ได้จำกัดว่าจะต้องอ่านด้วยเสียงที่ดังหรือเบา ดังนั้นถ้ามีผู้คนได้อ่าน(สูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺหรือสูเราะฮฺอื่นๆ ในละหมาด)ไม่ว่าจะเบาหรือดัง ก็ถือว่าเขาได้ปฏิบัติในสิ่งที่วาญิบแล้ว ทว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าถ้าเขาได้ทำตามสุนนะฮฺ โดยการอ่านด้วยเสียงที่ดังในสองร็อกอัตแรกของละหมาดมัฆริบและอิชาอ์ ในละหมาดศุบหฺ ละหมาดญุมอะฮฺ ละหมาดอีด ละหมาดอิสติสกออ์ (ขอฝน) ละหมาดตะรอวีหฺ และละหมาดอื่นๆ ที่เรารู้ดี ที่คล้ายคลึงกันนี้ และแม้ว่าผู้ที่เป็นอิมามคนนั้นตั้งใจที่จะไม่อ่านด้วยเสียงที่ดัง (ในละหมาดที่ต้องอ่านด้วยเสียงที่ดัง) ก็ถือว่าการละหมาดนั้นถูกต้อง แต่ก็อาจจะบกพร่อง (ในส่วนของผลบุญ) แต่สำหรับการละหมาดที่ต้องอ่านด้วยเสียงที่ดังโดยที่เขาได้ละหมาดคนเดียว เขาก็มีสิทธิ์เลือกที่จะอ่านดังหรือเบาได้ โดยให้พิจารณาเองว่า การอ่านด้วยรูปแบบใดที่จะทำให้เขามีความกระปรี้กระเปร่าและเข้าใกล้กับการมีสมาธิมากที่สุด ดังนั้นก็ให้เขาทำเช่นนั้น” จบการอ้าง

ในฟะตาวาโดยคณะกรรมการถาวรฯ 6/392 ได้ระบุไว้ว่า “มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมว่า ท่านได้ละหมาด โดยการอ่านด้วยเสียงที่ดังในสองร็อกอัตแรกของละหมาดศุบหฺ และสองร็อกอัตแรกของละหมาดมัฆริบและอิชาอ์ โดยที่การอ่านด้วยเสียงที่ดังนั้นเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ (สุนัต) ทั้งนี้ก็มีบทบัญญัติแก่ประชาชาติของท่านให้เจริญรอยตามแบบอย่างของท่าน ด้วยคำตรัสของอัลลอฮฺ ที่ว่า

 ﴿ لَّقَدۡ كَانَ لَكُمۡ فِي رَسُولِ ٱللَّهِ أُسۡوَةٌ حَسَنَةٞ لِّمَن كَانَ يَرۡجُواْ ٱللَّهَ وَٱلۡيَوۡمَ ٱلۡأٓخِرَ وَذَكَرَ ٱللَّهَ كَثِيرٗا ٢١ ﴾ [الأحزاب : ٢١] 

ความว่า “โดยแน่นอน ในเราะสูลของอัลลอฮฺมีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้ว สำหรับผู้ที่หวัง (จะพบ) อัลลอฮฺและวันปรโลกและรำลึกถึงอัลลอฮฺ อย่างมาก” (อัล-อะหฺซาบ: 21)

และมีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม  ที่ท่านได้กล่าวว่า

«صَلُّوا كَمَا رَأَيتُمُونِي أُصَلِّي»

ความว่า “พวกท่านจงละหมาดดังที่พวกท่านเห็นฉันละหมาด”

แสดงว่าการอ่านด้วยเสียงที่เบาในละหมาดที่ต้องอ่านด้วยเสียงที่ดัง ก็เป็นการละทิ้งสุนนะฮฺนั้นเอง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ถือว่าการละหมาดของเขานั้นเป็นโมฆะไปด้วยเหตุนั้น” จบการอ้าง

สรุปว่า การละหมาดของท่านนั้นถูกต้อง และไม่มีความผิดใดๆ สำหรับท่านที่จะปฏิบัติเช่นนั้น

อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่ง

 

 

"""""""""""""""""""""""""

ที่มา: http://www.islamqa.com/ar คำถามหมายเลข 81146

แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ

ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

คัดลอกจาก   http://IslamHouse.com/437434

 

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).