Loading

 

เป้าหมายต่างๆ ของสูเราะฮฺ อัต-เตาบะฮฺ

เป้าหมายต่างๆ ของสูเราะฮฺ อัต-เตาบะฮฺ

      มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอการสดุดีแห่งอัลลอฮฺและความสันติสุขปลอดภัยจงมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเครือญาติตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านทั้งหลาย และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีการตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์ และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

 

เป้าหมายของสูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺ

การเตาบะฮฺหรือการกลับเนื้อกลับตัว

สูเราะฮฺที่มีเกียรตินี้ถือเป็นสูเราะฮฺท้ายๆ ที่ถูกประทานลงมาให้กับท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ภายหลังจากเกิดสงครามตะบูกนั่นคือภายหลังจากการเริ่มประทานโองการอัลกุรอาน 22 ปี ประหนึ่งว่าสูเราะฮฺนี้กลายเป็นรายละเอียดสุดท้ายที่จะเป็นสาส์นเพื่อเรียกร้องเชิญชวนผู้คน

เป็นความจริงที่ว่าสูเราะฮฺนี้ถูกประทานลงมาในช่วงเวลาที่ชาวมุสลิมกำลังเตรียมตัวเพื่อเผยแพร่หลักคำสอนของอิสลามไปสู่กลุ่มประเทศอาหรับอื่นๆ และไปยังทุกประชาคมโลก ด้วยเหตุนี้ช่วงเวลาที่สูเราะฮฺนี้ถูกประทานลงมาจึงบ่งถึงความละเอียดอ่อนและเปี่ยมไปด้วยวิทยปัญญาเป็นอย่างยิ่ง

สูเราะฮฺนี้ถือเป็นสูเราะฮฺหนึ่งเดียวในอัลกุรอานที่ไม่เริ่มต้นสูเราะฮฺด้วย “อัล-บัสมะละฮฺ หรือบิสมิลลาฮิรเราะหฺมานิรรอฮีม” ซึ่ง “อัล-บัสมะละฮฺ” ถือเป็นประตูแรกที่จะนำผู้อ่านจากโลกหนึ่งไปยังอีกโลกหนึ่งด้วยกับพระนามของอัลลอฮฺ ตะบาร่อกะวะตะอาลา สำหรับเหตุผลที่สูเราะฮฺนี้ไม่ถูกเริ่มด้วย “อัล-บัสมะละฮฺ” ก็เพราะสูเราะฮฺนี้ถูกประทานลงมาเพื่อเป็นการเปิดเผยถึงพฤติกรรมของพวกปฏิเสธศรัทธา ดังที่ท่านอลี บิน อบีฎอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวไว้ครั้งที่ท่านถูกถามถึงการที่ “อัล-บัสมะละฮฺ” ไม่ถูกเขียนในสูเราะฮฺ อัต-เตาบะฮฺ  ท่านได้กล่าวว่า “แท้จริง –บิสมิลลาฮิรเราะหฺมานิรรอฮีม- เป็นสิ่งที่มีความสงบความปลอดภัย ส่วนสูเราะฮฺ อัล-บะรออะฮฺ(อีกชื่อหนึ่งของสูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺ) ถูกประทานลงมาด้วยกับคมดาบ แน่นอนที่สุดมันย่อมไม่มีความสงบความปลอดภัย” ซึ่งสูเราะฮฺนี้ถูกประทานลงมายังพวกมุนาฟิกูน(บรรดาผู้กลับกลอก) ดังนั้น ความสงบปลอดภัยย่อมไม่เกิดขึ้นสำหรับพวกมุนาฟิกูนอย่างแน่นอน ประหนึ่งว่าอัลลอฮฺทรงหักห้ามความเมตตาของพระองค์ไม่ให้ประสบกับพวกมุนาฟิกูน ดังที่มีรายงานจากท่านหุซัยฟะฮฺ บิน อัล-ยะมาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า “พวกท่านต่างเรียกสูเราะฮฺนี้ว่า อัต-เตาบะฮฺ(การกลับเนื้อกลับตัว) ซึ่งในความเป็นจริงมันคือสูเราะฮฺ อัล-อะซาบ(การลงโทษ)ต่างหาก ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า สูเราะฮฺนี้ไม่ทิ้งมุนาฟิกคนหนึ่งคนใดเว้นแต่ว่ามันจะเอาเรื่องและเล่นงานพวกเขาทุกคน”

 

ชื่อของสูเราะฮฺนี้

สูเราะฮฺนี้ถูกเรียกชื่ออย่างมากมายซึ่งมีมากถึง 14 ชื่อด้วยกัน เช่น บะรออะฮฺ, อัต-เตาบะฮฺ, อัล-มัคซิยะฮฺ, อัล-ฟาฎิหะฮฺ, อัล-กาชิฟะฮฺ, อัล-มุนกิละฮฺ, สูเราะตุลอะซาบ, อัล-มุดัมดิมะฮฺ, อัล-มุก็อชกิชะฮฺ, อัล-มุบะอฺษิเราะฮฺ, อัล-มุชัรริดะฮฺ, อัล-มุษีเราะฮฺ, อัล-หาฟิเราะฮฺ เป็นต้น

สูเราะฮฺนี้ได้เปิดเผยธาตุแท้ของพวกปฏิเสธศรัทธา พวกมุนาฟิกูนผู้กลับกลอก และพวกที่หันหลังให้กับศาสนา  รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ของพวกเขา และการมาของสูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺภายหลังจากสูเราะฮฺอัล-อันฟาลก็มีเหตุผลของมันนั้นคือ เนื้อหาของสูเราะฮฺอัล-อันฟาลจะเป็นการกล่าวถึงสงครามแรกที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวมุสลิม(นั่นคือสงครามบะดัรฺ) ส่วนสูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺก็จะกล่าวถึงสงครามตะบูกซึ่งถือเป็นสงครามครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้รับรู้ถึงข้อแตกต่างของสังคมมุสลิมระหว่างทั้งสองสงคราม และประหนึ่งเป็นการนำเสนอภาพตัวอย่างที่ให้ทุกๆ สังคมได้นำไปวิเคราะห์และปรับใช้ และประหนึ่งว่าสูเราะฮฺทั้งสอง(อัต-เตาบะฮฺ และ สูเราะฮฺอัล-อันฟาล)คือสูเราะฮฺเดียวกันที่เริ่มต้นในสูเราะฮฺแรกด้วยการนำเสนอชัยชนะของประชาชาตินี้ และการจบท้ายในสูเราะฮฺที่สองด้วยการนำเสนอถึงความมั่นคงหรือการมีอำนาจของประชาชาตินี้

ส่วนการเรียกสูเราะฮฺนี้ว่า “อัต-เตาบะฮฺ” ก็เพราะว่าสูเราะฮฺนี้เป็นเนื้อหาของอัลกุรอานส่วนสุดท้ายที่ถูกประทานลงมาแก่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และถือเป็นข้อเรียกร้องสุดท้ายที่มีต่อมนุษย์ทุกคน ซึ่งหลังจากที่อัลลอฮฺได้เปิดเผยถึงพฤติกรรมของพวกปฏิเสธศรัทธา พวกมุนาฟิกูนผู้กลับกลอก และผู้ที่หันหลังให้กับศาสนา พระองค์ก็ยังได้เตือนสติผู้ศรัทธาทุกคนถึงความจำเป็นที่ต้องให้พวกเขาได้รับรู้ว่าประตูแห่งการกลับเนื้อกลับตัว(เตาบะฮฺ)นั้นเปิดอยู่เสมอ ซึ่งจำเป็นที่พวกเขาต้องรีบเร่งกลับเนื้อกลับตัวก่อนที่จะเกิดความหายนะ

มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺผู้ทรงมีความเมตตาอย่างล้นหลามและความเมตตาของพระองค์นั้นมีเหนือความโกรธกริ้ว มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ผู้ทรงเมตตาแก่บ่าวของพระองค์และให้อภัยโทษแก่ปวงบ่าวทั้งหลาย ซึ่งคำว่า “อัต-เตาบะฮฺ-التوبة” ได้ปรากฏในสูเราะฮฺนี้มากถึง 17 ครั้ง ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับสูเราะฮฺอื่นๆ ดังที่มีปรากฏในสูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ 13 ครั้ง สูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ 12 ครั้ง สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ 5 ครั้ง มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ผู้ทรงเปิดประตูแห่งการกลับเนื้อกลับตัวแก่ผู้ปฏิเสธศรัทธา ผู้ที่ทำผิด และผู้ที่กลับกลอกทุกคน แม้ว่าพวกเขาได้กระทำผิดมากมายตลอดชีวิตของพวกเขา

การดำเนินเนื้อหาของอายะฮฺในสูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺนั้นเป็นไปด้วยความซาบซึ้งซึ่งเต็มไปด้วยหิกมะฮฺเป็นอย่างยิ่ง อายะฮฺเริ่มต้นด้วยการขู่สำทับและตามด้วยการปลุกใจผู้ศรัทธาและเปิดเผยธาตุแท้ของพวกมุนาฟิกูนผู้กลับกลอกหลังจากนั้นอายะฮฺที่กล่าวถึงการเตาบะฮฺตัวก็ตามมา ตามด้วยการเตือนสำทับและการเตาบะฮฺ ซึ่งเนื้อหาของอายะฮฺในสูเราะฮฺนี้ก็จะมีเช่นนี้เรื่อยไปจนจบสูเราะฮฺ

สังเกตุได้ว่าแม้กระทั่งกับผู้ศรัทธาเอง เนื้อหาในสูเราะฮฺนี้ก็ยังเรียกร้องพวกเขาให้มีการเตาบะฮฺตัว กล่าวคืออายะฮฺได้กล่าวถึงความผิดต่างๆ และลักษณะของมันหลังจากนั้นก็จะเปิดประตูแห่งการเตาบะฮฺตัว  หลังจากนั้นก็จะนำเสนอความผิดอื่นอีกและตามด้วยเนื้อหาของการเตาบะฮฺตัว เนื้อหาอายะฮฺของสูเราะฮฺนี้ยังได้เรียกร้องบรรดาผู้ศรัทธาให้ออกไปต่อสู้และช่วยเหลือศาสนารวมถึงกระตุ้นให้พวกมุนาฟิกูนผู้กลับกลอกเตาบะฮฺตัวอีกด้วย

สิ่งที่เป็นข้อสังเกตประการหนึ่งคือ เนื้อหาในสูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ที่กล่าวถึงการต่อสู้นั้นถือเป็นคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ตะอาลา เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนที่อ่อนแอทั้งหลาย ส่วนการต่อสู้ที่ปรากฏในสูเราะฮฺนี้นั้นเพื่อเป็นการผลักดันให้พวกมุนาฟิกูนผู้กลับกลอกกลับเนื้อกลับตัวไปหาอัลลอฮฺด้วยการเตาบะฮฺตัว

โดยภาพรวมแล้วเนื้อหาของสูเราะฮฺนี้จะเป็นการเปิดเผยธาตุแท้ของพวกมุนาฟิกูนรวมถึงเปิดเผยพฤติกรรมและกลยุทธ์ในความกลับกลอกของพวกเขา ใช่แต่เท่านั้นยังเป็นการเปิดเผยถึงเล่ห์เลี่ยมในการสร้างความปั่นป่วน และการผินหลังของพวกเขาต่อบรรดาผู้ศรัทธา ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่บรรดาผู้ศรัทธาในการเผชิญหน้ากับพวกเขาจนกว่าพวกเขาจะเตาบะฮฺตัว เช่นเดียวกันอายะฮฺในสูเราะนี้ได้ปลุกใจผู้ศรัทธาให้ต่อสู้กับพวกมุนาฟิกูนผู้กลับกลอก ทั้งนี้เพื่อเป็นการกดดันพวกเขาให้เตาบะฮฺตัว ในเนื้อหาของสูเราะฮฺนี้ยังได้เรียกร้องให้ผู้ศรัทธาเตาบะฮฺตัว โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่ผินหลังในการช่วยเหลือศาสนาซึ่งพวกเขามีความจำเป็นที่ต้องเตาบะฮฺตัวเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ผู้ศรัทธาทั่วไปมีความจำเป็นที่ต้องเตาบะฮฺตัวในความผิดที่พวกเขากระทำ

 

เนื้อหาส่วนที่หนึ่ง เริ่มต้นด้วยอายะฮฺส่วนแรกที่มีเนื้อหาที่รุนแรงเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ

﴿ بَرَآءَةٞ مِّنَ ٱللَّهِ وَرَسُولِهِۦٓ إِلَى ٱلَّذِينَ عَٰهَدتُّم مِّنَ ٱلۡمُشۡرِكِينَ ١ فَسِيحُواْ فِي ٱلۡأَرۡضِ أَرۡبَعَةَ أَشۡهُرٖ وَٱعۡلَمُوٓاْ أَنَّكُمۡ غَيۡرُ مُعۡجِزِي ٱللَّهِ وَأَنَّ ٱللَّهَ مُخۡزِي ٱلۡكَٰفِرِينَ ٢ ﴾ [التوبة: ١-٢] 

ความว่า “(นี้คือประกาศ) การพ้นข้อผูกพันใดๆ จากอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ แด่บรรดาผู้สักการะเจว็ด (มุชริกีน) ที่พวกเจ้าได้ทำสัญญาไว้ ดังนั้นพวกท่าน จงท่องเที่ยวไปในแผ่นดินสี่เดือน และพึงรู้เถิดว่า แท้จริงพวกท่านนั้นมิใช่ผู้ที่จะทำให้อัลลอฮฺหมดความสามารถก็หาไม่ และแท้จริงอัลลอฮฺจะทรงให้ผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลายอัปยศ” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 1-2)

 

อายะฮฺนี้ถูกประทานลงมาแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาที่ได้ละเมิดในคำมั่นสัญญาต่อบรรดาผู้ศรัทธาในหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งอัลลอฮฺทรงตัดข้อผูกพันระหว่างพวกเขากับบรรดาผู้ศรัทธา และให้โอกาสแก่พวกเขาได้ใช้ชีวิตบนแผ่นดินด้วยความปลอดภัย 4 เดือนเต็ม เพื่อให้พวกเขาได้พิจารณาตัวเองว่าจะกำหนดชีวิตของตนเองอย่างไร (ถ้าจะอยู่อย่างปลอดภัยก็ให้รับอิสลามหรือไม่ก็อยู่ภายใต้กฎหมายอิสลามโดยมีอิสระในการนับถือศาสนา แต่ถ้าจะทำตัวเป็นผู้บ่อนทำลายก็จงเตรียมตัวไว้เพื่อจะไม่กล่าวหาฝ่ายมุสลิมว่าปฏิบัติการโดยไม่ประกาศให้ทราบล่วงหน้า -ผู้แปล-)

หลังจากนั้นอายะฮฺที่กล่าวถึงการเตาบะฮฺตัวก็ติดตามมา

﴿ وَأَذَٰنٞ مِّنَ ٱللَّهِ وَرَسُولِهِۦٓ إِلَى ٱلنَّاسِ يَوۡمَ ٱلۡحَجِّ ٱلۡأَكۡبَرِ أَنَّ ٱللَّهَ بَرِيٓءٞ مِّنَ ٱلۡمُشۡرِكِينَ وَرَسُولُهُۥۚ فَإِن تُبۡتُمۡ فَهُوَ خَيۡرٞ لَّكُمۡۖ وَإِن تَوَلَّيۡتُمۡ فَٱعۡلَمُوٓاْ أَنَّكُمۡ غَيۡرُ مُعۡجِزِي ٱللَّهِۗ وَبَشِّرِ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ بِعَذَابٍ أَلِيمٍ ٣ ﴾ [التوبة: ٣] 

ความว่า “และเป็นประกาศจากอัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ แด่ประชาชนทั้งหลายในวันหัจญ์อันใหญ่ยิ่ง ว่าแท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงพ้นข้อผูกพันจากมุชริกทั้งหลาย และเราะสูลของพระองค์ก็พ้นข้อผูกพันนั้นด้วย และหากพวกเจ้าสำนึกผิด และกลับตัวมันก็เป็นสิ่งดีแก่พวกเจ้า และหากพวกเจ้าผินหลังให้ก็พึงรู้เถิดว่า แท้จริงพวกเจ้านั้นมิใช่ผู้ที่จะทำให้อัลลอฮฺหมดความสามารถได้ และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้นเถิดด้วยการลงโทษอันเจ็บแสบ”(สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 3)

 

﴿ فَإِذَا ٱنسَلَخَ ٱلۡأَشۡهُرُ ٱلۡحُرُمُ فَٱقۡتُلُواْ ٱلۡمُشۡرِكِينَ حَيۡثُ وَجَدتُّمُوهُمۡ وَخُذُوهُمۡ وَٱحۡصُرُوهُمۡ وَٱقۡعُدُواْ لَهُمۡ كُلَّ مَرۡصَدٖۚ فَإِن تَابُواْ وَأَقَامُواْ ٱلصَّلَوٰةَ وَءَاتَوُاْ ٱلزَّكَوٰةَ فَخَلُّواْ سَبِيلَهُمۡۚ إِنَّ ٱللَّهَ غَفُورٞ رَّحِيمٞ ٥ ﴾ [التوبة: ٥] 

ความว่า “ครั้นเมื่อบรรดาเดือนต้องห้ามเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็จงประหัตประหารมุชริกเหล่านั้น ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบพวกเขา และจงจับพวกเขาและจงล้อมพวกเขา และจงนั่งสอดส่องพวกเขาทุกจุดที่สอดส่อง แต่ถ้าพวกเขาสำนึกผิดกลับตัว และดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และชำระซะกาตแล้วไซร้ ก็จงปล่อยพวกเขาไป แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเอ็นดูเมตตา” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 5)

 

﴿ فَإِن تَابُواْ وَأَقَامُواْ ٱلصَّلَوٰةَ وَءَاتَوُاْ ٱلزَّكَوٰةَ فَإِخۡوَٰنُكُمۡ فِي ٱلدِّينِۗ وَنُفَصِّلُ ٱلۡأٓيَٰتِ لِقَوۡمٖ يَعۡلَمُونَ ١١ ﴾ [التوبة: ١١] 

ความว่า “แล้วหากพวกเขาสำนึกผิดกลับตัว และดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และชำระซะกาตแล้วไซร้ พวกเขาก็เป็นพี่น้องของพวกเจ้าในศาสนา และเราจะแจกแจงบรรดาโองการไว้แก่กลุ่มชนที่รู้”(สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 11)

 

﴿وَيُذۡهِبۡ غَيۡظَ قُلُوبِهِمۡۗ وَيَتُوبُ ٱللَّهُ عَلَىٰ مَن يَشَآءُۗ وَٱللَّهُ عَلِيمٌ حَكِيمٌ ١٥﴾ [التوبة: ١٥] 

ความว่า “และจะได้ทรงให้หมดไปซึ่งความกริ้วโกรธแห่งหัวใจของพวกเขา และอัลลอฮฺนั้นจะทรงอภัยโทษแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และอัลลอฮฺคือผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 15)

 

ซึ่งช่วงขั้นกลางระหว่างกลุ่มอายะฮฺก่อนหน้านี้ก็มีได้มีอายะฮฺที่มีเนื้อหาในเชิงของการขู่ขวัญเข้ามาแทรก

 

﴿ ٱشۡتَرَوۡاْ بِ‍َٔايَٰتِ ٱللَّهِ ثَمَنٗا قَلِيلٗا فَصَدُّواْ عَن سَبِيلِهِۦٓۚ إِنَّهُمۡ سَآءَ مَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ٩ ﴾ [التوبة: ٩] 

ความว่า “พวกเขาได้เอาบรรดาโองการของอัลลอฮฺแลกเปลี่ยนกับราคาอันเล็กน้อย แล้วก็ขัดขวาง (ผู้คน) ให้ออกจากทางของอัลลอฮฺ แท้จริงพวกเขานั้น สิ่งที่พวกเขาทำอยู่ช่างชั่วช้าจริงๆ” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 9)

 

﴿ أَلَا تُقَٰتِلُونَ قَوۡمٗا نَّكَثُوٓاْ أَيۡمَٰنَهُمۡ وَهَمُّواْ بِإِخۡرَاجِ ٱلرَّسُولِ وَهُم بَدَءُوكُمۡ أَوَّلَ مَرَّةٍۚ أَتَخۡشَوۡنَهُمۡۚ فَٱللَّهُ أَحَقُّ أَن تَخۡشَوۡهُ إِن كُنتُم مُّؤۡمِنِينَ ١٣ ﴾ [التوبة: 13] 

ความว่า “พวกเจ้าจะไม่ต่อสู้กระนั้นหรือ ซึ่งกลุ่มชนที่ทำลายคำมั่นสัญญาของพวกเขา และมุ่งขับไล่เราะสูลให้ออกไป ทั้งๆ ที่พวกเขาได้เริ่มปฏิบัติแก่พวกเจ้าก่อนเป็นครั้งแรก พวกเจ้ากลัวพวกเขากระนั้นหรือ? อัลลอฮฺต่างหากเล่า คือผู้ที่สมควรแก่การที่พวกเจ้าจะกลัว หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 13)

 

            สิ่งที่เป็นข้อสังเกตคือ เนื้อหาที่มีความรุนแรงที่ปรากฏในสูเราะฮฺ อัต-เตาบะฮฺนั้น แท้จริงแล้วมันคือความเมตตาของอัลลอฮฺ ตะอาลา เพราะมันได้เร่งเร้าให้มีการกลับเนื้อกลับตัวและประตูสำหรับการกลับเนื้อกลับตัวก็เปิดอยู่เสมอ กระทั่งกับผู้ที่มีความชั่วร้ายที่สุดเฉกเช่นผู้ปฏิเสธศรัทธา ผู้กลับกลอก และผู้ที่ฝ่าฝืนทั้งหลาย ซึ่งนี่คือความโปรดปรานของอัลลอฮฺ ตะอาลา และความเอ็นดูเมตตาของพระองค์ที่มีต่อปวงบ่าวทุกคน ดังที่พระองค์ทรงดำรัสไว้ในหะดีษกุดสีย์ไว้ว่า

«لو خلقتهم لرحمتهم»

ความว่า “ตราบที่ข้าสร้างพวกเขา ข้าก็ยังคงเมตตาต่อพวกเขาทุกคน”

 

ซึ่งคำว่า “ผู้ทรงเอ็นดูเมตตา-رحيم” ได้ปรากฏในสูเราะฮฺนี้ 9 ครั้ง และคำว่า “ผู้ทรงอภัยโทษ-غفور” 5 ครั้ง

           

            หลังจากนั้นสูเราะฮฺนี้ก็ได้ดำเนินเนื้อหาส่วนที่สอง ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ได้กล่าวถึงโดยตรงไปยังบรรดาผู้ศรัทธา

﴿ قُلۡ إِن كَانَ ءَابَآؤُكُمۡ وَأَبۡنَآؤُكُمۡ وَإِخۡوَٰنُكُمۡ وَأَزۡوَٰجُكُمۡ وَعَشِيرَتُكُمۡ وَأَمۡوَٰلٌ ٱقۡتَرَفۡتُمُوهَا وَتِجَٰرَةٞ تَخۡشَوۡنَ كَسَادَهَا وَمَسَٰكِنُ تَرۡضَوۡنَهَآ أَحَبَّ إِلَيۡكُم مِّنَ ٱللَّهِ وَرَسُولِهِۦ وَجِهَادٖ فِي سَبِيلِهِۦ فَتَرَبَّصُواْ حَتَّىٰ يَأۡتِيَ ٱللَّهُ بِأَمۡرِهِۦۗ وَٱللَّهُ لَا يَهۡدِي ٱلۡقَوۡمَ ٱلۡفَٰسِقِينَ ٢٤ ﴾ [التوبة: ٢٤] 

ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า หากบรรดาบิดาของพวกเจ้าและบรรดาลูกๆ ของพวกเจ้าและบรรดาพี่น้องของพวกเจ้า และบรรดาคู่ครองของพวกเจ้า และบรรดาญาติของพวกเจ้า และบรรดาทรัพย์สมบัติที่พวกเจ้าแสวงหาไว้ และสินค้าที่พวกเจ้ากลัวว่าจะจำหน่ายมันไม่ออก และบรรดาที่อยู่อาศัยที่พวกเจ้าพึงพอใจมันนั้น เป็นที่รักใคร่แก่พวกเจ้ายิ่งกว่าอัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ และการต่อสู้ในทางของพระองค์แล้วไซร้ ก็จงรอคอยกันเถิดจนกว่าอัลลอฮฺจะทรงนำมาซึ่งการลงโทษของพระองค์ และอัลลอฮฺนั้นจะไม่ทรงนำทางแก่กลุ่มชนที่ละเมิด” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 24)

 

            ในอายะฮฺนี้อัลลอฮฺได้แจ้งแก่เราถึงสิ่งที่หลักเดิมแล้วเป็นสิ่งที่หะลาล ซึ่งมีแปดประการนั้นคือ (บิดาของพวกเจ้า, บรรดาลูกๆ ของพวกเจ้า, บรรดาพี่น้องของพวกเจ้า, บรรดาคู่ครองของพวกเจ้า, บรรดาญาติของพวกเจ้า, ทรัพย์สมบัติ, การค้าขาย, และที่อยู่อาศัย) ทว่าหากเราได้รักใคร่ต่อสิ่งเหล่านั้นยิ่งกว่าอัลลอฮฺและเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และการต่อสู้ในทางของพระองค์ ก็ถือว่าเราเป็นผู้ที่ฟาสิก(กระทำความผิดที่ทำให้ออกพ้นจากความเมตตาของอัลลอฮฺ)

แล้วอายะฮฺก็ได้กล่าวถึงสงครามหุนัยนฺ

﴿ لَقَدۡ نَصَرَكُمُ ٱللَّهُ فِي مَوَاطِنَ كَثِيرَةٖ وَيَوۡمَ حُنَيۡنٍ إِذۡ أَعۡجَبَتۡكُمۡ كَثۡرَتُكُمۡ فَلَمۡ تُغۡنِ عَنكُمۡ شَيۡ‍ٔٗا وَضَاقَتۡ عَلَيۡكُمُ ٱلۡأَرۡضُ بِمَا رَحُبَتۡ ثُمَّ وَلَّيۡتُم مُّدۡبِرِينَ ٢٥ ﴾ [التوبة: ٢٥] 

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงช่วยเหลือพวกเจ้าแล้วในสนามรบอันมากมาย และในวันแห่งสงครามหุนัยนฺด้วย ขณะที่การมีจำนวนมากของพวกเจ้าทำให้พวกเจ้าพึงใจ แล้วมันก็มิได้อำนวยประโยชน์แก่พวกเจ้าแต่อย่างใด และแผ่นดินก็แคบแก่พวกเจ้า ทั้งๆ ที่มันกว้างอยู่ แล้วพวกเจ้าก็หันหลังหนี” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 25)

 

            หลังจากนั้นอัลลอฮฺก็ทรงให้อภัยโทษแก่พวกเขา ซึ่งการกล่าวถึงการเป็นผู้ทรงอภัยโทษและผู้ทรงเอ็นดูเมตตาของพระองค์ พร้อมๆ กับอายะฮฺที่ได้กล่าวถึงการเตาบะฮฺตัวได้ปรากฏในสูเราะฮฺนี้อย่างมากมาย

 

            การปลุกใจบรรดาผู้ศรัทธา

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ مَا لَكُمۡ إِذَا قِيلَ لَكُمُ ٱنفِرُواْ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ ٱثَّاقَلۡتُمۡ إِلَى ٱلۡأَرۡضِۚ أَرَضِيتُم بِٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا مِنَ ٱلۡأٓخِرَةِۚ فَمَا مَتَٰعُ ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا فِي ٱلۡأٓخِرَةِ إِلَّا قَلِيلٌ ٣٨ ﴾ [التوبة: ٣٨] 

ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย มีอะไรเกิดขึ้นแก่พวกเจ้ากระนั้นหรือ? เมื่อได้ถูกกล่าวแก่พวกเจ้าว่า จงออกไปต่อสู้ในทางของอัลลอฮฺเถิด พวกเจ้าก็แนบหนักอยู่กับพื้นดิน พวกเจ้าพึงพอใจต่อชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้แทนปรโลกกระนั้นหรือ ? สิ่งอำนวยความสุขแห่งชีวิตความเป็นอยู่ในโลกนี้นั้น ในปรโลกแล้ว ไม่มีอะไรนอกจากสิ่งเล็กน้อยเท่านั้น” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 38)

 

            ซึ่งการปลุกใจบรรดาผู้ศรัทธานั้นถือเป็นสิ่งที่วาญิบที่ต้องกระทำนับตั้งแต่การทำญิฮาดในครั้งแรกจนถึงทุกวันนี้และตลอดจนกาลอวสาน

﴿ إِلَّا تَنصُرُوهُ فَقَدۡ نَصَرَهُ ٱللَّهُ﴾ [التوبة: ٤٠] 

ความว่า “ถ้าหากพวกเจ้าไม่ช่วยเขา ก็แท้จริงนั้นอัลลอฮฺได้ทรงช่วยเขามาแล้ว” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 40)

 

            เตือนสติต่อบรรดาผู้ที่หันหลังในการช่วยเหลือเกื้อกูลศาสนา

﴿ فَإِن رَّجَعَكَ ٱللَّهُ إِلَىٰ طَآئِفَةٖ مِّنۡهُمۡ فَٱسۡتَ‍ٔۡذَنُوكَ لِلۡخُرُوجِ فَقُل لَّن تَخۡرُجُواْ مَعِيَ أَبَدٗا وَلَن تُقَٰتِلُواْ مَعِيَ عَدُوًّاۖ إِنَّكُمۡ رَضِيتُم بِٱلۡقُعُودِ أَوَّلَ مَرَّةٖ فَٱقۡعُدُواْ مَعَ ٱلۡخَٰلِفِينَ ٨٣ ﴾ [التوبة: ٨٣] 

ความว่า “หากอัลลอฮฺทรงให้เจ้ากลับไปยังกลุ่มหนึ่งในหมู่พวกเขา แล้วพวกเขาจะขออนุมัติเจ้าเพื่อออกไป ก็จงกล่าวเถิดว่า พวกท่านจะไม่ออกไปกับฉันตลอดกาล และจะไม่ต่อสู้ร่วมกับฉันซึ่งศัตรูใดๆ เป็นอันขาด แท้จริงพวกท่านพอใจต่อการนั่งอยู่แต่ครั้งแรกแล้ว ดังนั้น จงนั่งอยู่กับบรรดาผู้ที่อยู่เบื้องหลังต่อไปเถิด” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 83)

 

﴿ وَإِذَآ أُنزِلَتۡ سُورَةٌ أَنۡ ءَامِنُواْ بِٱللَّهِ وَجَٰهِدُواْ مَعَ رَسُولِهِ ٱسۡتَ‍ٔۡذَنَكَ أُوْلُواْ ٱلطَّوۡلِ مِنۡهُمۡ وَقَالُواْ ذَرۡنَا نَكُن مَّعَ ٱلۡقَٰعِدِينَ ٨٦ رَضُواْ بِأَن يَكُونُواْ مَعَ ٱلۡخَوَالِفِ وَطُبِعَ عَلَىٰ قُلُوبِهِمۡ فَهُمۡ لَا يَفۡقَهُونَ ٨٧ ﴾ [التوبة: ٨٦-٨٧] 

ความว่า “และเมื่อมีสูเราะฮฺหนึ่งสูเราะฮฺใด ถูกประทานลงมาว่า พวกเขาจงศรัทธาต่ออัลลอฮฺเถิด และจงต่อสู้ด้วยทรัพย์สมบัติและชีวิต ร่วมกับเราะสูลของพระองค์ ผู้ที่มั่งคั่งในหมู่พวกเขาก็ขออนุญาตต่อเจ้า และกล่าวว่า จงปล่อยพวกเราไว้เถิด พวกเราจะได้อยู่กับบรรดาผู้ที่นั่งอยู่กัน พวกเขายินดีในการที่พวกเขาจะอยู่กับบรรดาผู้ที่อยู่เบื้องหลัง และได้ถูกประทับตราไว้แล้วบนหัวใจของพวกเขาแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงไม่เข้าใจ” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 86-87)

 

การขู่สำทับที่รุนแรง

﴿ فَرِحَ ٱلۡمُخَلَّفُونَ بِمَقۡعَدِهِمۡ خِلَٰفَ رَسُولِ ٱللَّهِ وَكَرِهُوٓاْ أَن يُجَٰهِدُواْ بِأَمۡوَٰلِهِمۡ وَأَنفُسِهِمۡ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ وَقَالُواْ لَا تَنفِرُواْ فِي ٱلۡحَرِّۗ قُلۡ نَارُ جَهَنَّمَ أَشَدُّ حَرّٗاۚ لَّوۡ كَانُواْ يَفۡقَهُونَ ٨١ فَلۡيَضۡحَكُواْ قَلِيلٗا وَلۡيَبۡكُواْ كَثِيرٗا جَزَآءَۢ بِمَا كَانُواْ يَكۡسِبُونَ ٨٢ ﴾ [التوبة: ٨١-٨٢] 

ความว่า “บรรดาผู้ที่ถูกปล่อยให้อยู่เบื้องหลังนั้นดีใจในการที่พวกเขานั่งอยู่เบื้องหลังของเราะสูลุลลอฮฺ และพวกเขาเกลียดในการที่พวกเขาจะต่อสู้ด้วยทรัพย์ของพวกเขาและชีวิตของพวกเขาในทางของอัลลอฮฺ และพวกเขากล่าวว่า ท่านทั้งหลายอย่าออกไปในความร้อนเลย จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า ไฟนรกญะฮัมนัมนั้นร้อนแรงยิ่งกว่าหากพวกเขาเข้าใจ จงให้พวกเขาหัวเราะแต่น้อยและจงร้องไห้มากๆ เถิด ทั้งนี้เป็นการตอบแทนตามที่พวกเขาขวนขวายไว้” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 81-82)

 

            หลังจากที่มีการขู่ขวัญ เนื้อหาของอายะฮฺก็กลับมากล่าวถึงการเตาบะฮฺตัว และได้นำเสนอรูปแบบการเตาบะฮฺตัวโดยเฉพาะของแต่ละประเภทบุคคล และเป็นการนำเสนอเนื้อหาก่อนที่จะปิดท้าย ซึ่งเป็นการปิดท้ายเนื้อหาหนึ่งในสามส่วนแรกของอัลกุรอาน (10 ญุซอ์แรก) ที่มีความสวยงามยิ่ง หลังจากที่ได้นำเสนอเนื้อหาของสูเราะฮฺที่ยืดยาวทั้งเจ็ดสูเราะฮฺก่อนหน้านี้ด้วยการเปิดประตูแห่งการเตาบะฮฺตัว

           

หนึ่ง ... การเตาบะฮฺตัวของพวกมุนาฟิกูนผู้กลับกลอกและพวกมุรตัดผู้ที่ผินหลังให้กับศาสนา

﴿ يَحۡلِفُونَ بِٱللَّهِ مَا قَالُواْ وَلَقَدۡ قَالُواْ كَلِمَةَ ٱلۡكُفۡرِ وَكَفَرُواْ بَعۡدَ إِسۡلَٰمِهِمۡ وَهَمُّواْ بِمَا لَمۡ يَنَالُواْۚ وَمَا نَقَمُوٓاْ إِلَّآ أَنۡ أَغۡنَىٰهُمُ ٱللَّهُ وَرَسُولُهُۥ مِن فَضۡلِهِۦۚ فَإِن يَتُوبُواْ يَكُ خَيۡرٗا لَّهُمۡۖ وَإِن يَتَوَلَّوۡاْ يُعَذِّبۡهُمُ ٱللَّهُ عَذَابًا أَلِيمٗا فِي ٱلدُّنۡيَا وَٱلۡأٓخِرَةِۚ وَمَا لَهُمۡ فِي ٱلۡأَرۡضِ مِن وَلِيّٖ وَلَا نَصِيرٖ ٧٤ ﴾ [التوبة: ٧٤] 

ความว่า “พวกเขาสาบานต่ออัลลอฮฺว่าพวกเขามิได้พูด และแท้จริงนั้นพวกเขาได้พูดซึ่งถ้อยคำแห่งการปฏิเสธศรัทธา และพวกเขาได้ปฏิเสธศรัทธาแล้ว หลังจากการเป็นมุสลิมของพวกเขาและพวกเขามุ่งกระทำในสิ่งที่พวกเขามิได้รับผล และพวกเขามิได้ปฏิเสธและจงเกลียดจงชังนอกจากว่าอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ได้ทรงให้พวกเขามั่งคั่งขึ้นจากความกรุณาของพระองค์ และหากพวกเขาสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว ก็เป็นสิ่งดีแก่พวกเขา และหากพวกเขาผินหลังให้ อัลลอฮฺก็จะทรงลงโทษพวกเขาอย่างเจ็บแสบทั้งในโลกนี้และปรโลก และพวกเขาไม่มีผู้คุ้มครองและผู้ช่วยเหลือใดๆ ในผืนแผ่นดิน” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 74)

 

            สอง... การเตาบะฮฺตัวของพวกที่ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน

﴿ وَءَاخَرُونَ ٱعۡتَرَفُواْ بِذُنُوبِهِمۡ خَلَطُواْ عَمَلٗا صَٰلِحٗا وَءَاخَرَ سَيِّئًا عَسَى ٱللَّهُ أَن يَتُوبَ عَلَيۡهِمۡۚ إِنَّ ٱللَّهَ غَفُورٞ رَّحِيمٌ ١٠٢ ﴾ [التوبة: ١٠٢] 

ความว่า “และมีชนกลุ่มอื่นที่สารภาพความผิดของพวกเขา โดยที่พวกเขาประกอบกรรมดีปะปนไปกับงานที่ชั่ว หวังว่าอัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺนั้นคือ ผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเอ็นดูเมตตาเสมอ” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 102)

 

            สาม... เป็นข้อย้ำเตือนแก่ทุกคนให้หมั่นเตาบะฮฺตัว

﴿ أَلَمۡ يَعۡلَمُوٓاْ أَنَّ ٱللَّهَ هُوَ يَقۡبَلُ ٱلتَّوۡبَةَ عَنۡ عِبَادِهِۦ وَيَأۡخُذُ ٱلصَّدَقَٰتِ وَأَنَّ ٱللَّهَ هُوَ ٱلتَّوَّابُ ٱلرَّحِيمُ ١٠٤ ﴾ [التوبة: ١٠٤] 

ความว่า “พวกเขาไม่รู้ดอกหรือว่า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรับการสำนึกผิดจากปวงบ่าวของพระองค์ และทรงรับบรรดาสิ่งที่เป็นทาน (เศาะดะเกาะฮฺ) และแท้จริงอัลลอฮฺนั้นคือ ผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 104)

 

          สี่... การให้อภัยโทษของอัลลอฮฺต่อท่านนบี ชาวมุฮาญิรีนและชาวอันศอรฺทุกคน

﴿ لَّقَد تَّابَ ٱللَّهُ عَلَى ٱلنَّبِيِّ وَٱلۡمُهَٰجِرِينَ وَٱلۡأَنصَارِ ٱلَّذِينَ ٱتَّبَعُوهُ فِي سَاعَةِ ٱلۡعُسۡرَةِ مِنۢ بَعۡدِ مَا كَادَ يَزِيغُ قُلُوبُ فَرِيقٖ مِّنۡهُمۡ ثُمَّ تَابَ عَلَيۡهِمۡۚ إِنَّهُۥ بِهِمۡ رَءُوفٞ رَّحِيمٞ ١١٧ ﴾ [التوبة: ١١٧] 

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงอภัยโทษให้แก่ท่านนบี ชาวมุฮาญิรีน และชาวอันศอรฺแล้ว ซึ่งเขาเหล่านั้นได้ปฏิบัติตามเขา (นบี) ในยามคับขันหลังจากที่จิตใจของชนกลุ่มหนึ่งในพวกเขาเกือบจะหันเหออกจากความจริง แล้วพระองค์ก็ทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณาอยู่เสมอ” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 117)

 

            ห้า.... การเตาบะฮฺตัวของผู้ที่มีเชื่องช้าในการออกไปทำสงคราม

﴿ وَعَلَى ٱلثَّلَٰثَةِ ٱلَّذِينَ خُلِّفُواْ حَتَّىٰٓ إِذَا ضَاقَتۡ عَلَيۡهِمُ ٱلۡأَرۡضُ بِمَا رَحُبَتۡ وَضَاقَتۡ عَلَيۡهِمۡ أَنفُسُهُمۡ وَظَنُّوٓاْ أَن لَّا مَلۡجَأَ مِنَ ٱللَّهِ إِلَّآ إِلَيۡهِ ثُمَّ تَابَ عَلَيۡهِمۡ لِيَتُوبُوٓاْۚ إِنَّ ٱللَّهَ هُوَ ٱلتَّوَّابُ ٱلرَّحِيمُ ١١٨ ﴾ [التوبة: ١١٨] 

ความว่า “และอัลลอฮฺทรงอภัยโทษให้แก่ชายสามคน (คือ กะอฺบ์ บิน มาลิก, มุรอเราะฮฺ บิน อัร-เราะบีอฺ และฮิลาล บิน อุมัยยะฮฺ) ที่ไม่ได้ออกไปสงคราม จนกระทั่งแผ่นดินได้คับแคบแก่พวกเขาทั้งๆ ที่มันกว้างใหญ่ไพศาล และตัวของพวกเขาก็รู้สึกอึดอัดไปด้วย แล้วพวกเขาก็คาดคิดกันว่าไม่มีที่พึ่งอื่นใดเพื่อให้พ้นจากอัลลอฮฺไปได้นอกจากกลับไปหาพระองค์ แล้วพระองค์ก็ทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา เพื่อพวกเขาจะได้กลับเนื้อกลับตัวสำนักผิดต่อพระองค์ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นคือผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเอ็นดูเมตตาเสมอ” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 118)

 

            อายะฮฺนี้ถูกประทานลงมาให้กับชายทั้งสามคน(นั่นคือ กะอฺบ์ บิน มาลิก, มุรอเราะฮฺ บิน อัร-เราะบีอฺ และฮิลาล บิน อุมัยยะฮฺ) ที่ไม่ได้ออกไปทำสงครามตะบูก

           

และอายะฮฺที่ซาบซึ้งก็มาเพื่อเป็นการปิดท้ายสูเราะฮฺนี้

﴿ لَقَدۡ جَآءَكُمۡ رَسُولٞ مِّنۡ أَنفُسِكُمۡ عَزِيزٌ عَلَيۡهِ مَا عَنِتُّمۡ حَرِيصٌ عَلَيۡكُم بِٱلۡمُؤۡمِنِينَ رَءُوفٞ رَّحِيمٞ ١٢٨ فَإِن تَوَلَّوۡاْ فَقُلۡ حَسۡبِيَ ٱللَّهُ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَۖ عَلَيۡهِ تَوَكَّلۡتُۖ وَهُوَ رَبُّ ٱلۡعَرۡشِ ٱلۡعَظِيمِ ١٢٩ ﴾ [التوبة: ١٢٨- ١٢٩]

  ความว่า “แท้จริงมีเราะสูลคนหนึ่งจากพวกท่านเองได้มาหาพวกท่านแล้ว เป็นที่ลำบากใจแก่เขาในสิ่งที่พวกท่านได้รับความทุกข์ยาก เป็นผู้ห่วงใย เป็นผู้เมตตา ผู้กรุณาสงสารต่อบรรดาผู้ศรัทธา หากพวกเขาผินหลังให้ ก็จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า อัลลอฮฺนั้นเป็นที่พอเพียงแก่ฉันแล้ว ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์เท่านั้น แด่พระองค์เท่านั้นที่ฉันขอมอบหมาย และพระองค์คือเจ้าของบัลลังก์อันยิ่งใหญ่” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 128-129)

 

            อายะฮฺนี้เป็นการปิดท้ายที่ซาบซึ้งด้วยการกล่าวถึงท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวคืออัลลอฮฺ ตะอาลา ได้หักห้ามความเมตตาแก่พวกปฏิเสธศรัทธาและพวกมุนาฟิกูนผู้กลับกลอกในตอนต้นของสูเราะฮฺด้วยการไม่กล่าวถึง “อัล-บัสมะละฮฺ” แต่พระองค์ก็ประทานความเมตตา ความอ่อนโยนแก่พวกเขาในการปิดท้ายของสูเราะฮฺนี้ด้วยการกล่าวถึงท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

           

เกร็ดความรู้ : มีรายการหนึ่งชื่อว่า “อัน-นะบะอุล อะซีม” ที่ดำเนินรายการโดย ดร.อะหฺมัด อัล-กุบัยสีย์ ซึ่งท่านได้กล่าวถึงเนื้อหาของสูเราะฮฺนี้และท่านได้นำเสนอเนื้อหาที่อัลลอฮฺได้ฉายภาพสังคมในยุคสมัยที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา และกลุ่มต่างๆในสังคมซึ่งบางส่วนก็อยู่ในครรลองแห่งสัจธรรมและอีกบางส่วนก็อยู่ความมดเท็จ และนี่คือกลุ่มต่างๆ ที่ปรากฏในสูเราะฮฺนี้

            หนึ่ง... กลุ่มอาหรับชนบทที่มีบุคลิกที่หยาบกระด้าง

﴿ ٱلۡأَعۡرَابُ أَشَدُّ كُفۡرٗا وَنِفَاقٗا وَأَجۡدَرُ أَلَّا يَعۡلَمُواْ حُدُودَ مَآ أَنزَلَ ٱللَّهُ عَلَىٰ رَسُولِهِۦۗ وَٱللَّهُ عَلِيمٌ حَكِيمٞ ٩٧ ﴾ [التوبة: ٩٧] 

ความว่า “บรรดาอาหรับชนบทนั้น เป็นพวกปฏิเสธศรัทธาและพวกกลับกลอกที่ร้ายกาจที่สุด และเป็นการสมควรยิ่งแล้ว ที่พวกเขาจะไม่รู้ขอบเขตในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่เราะสูลของพระองค์ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 97)

สอง... กลุ่มอาหรับชนบทที่มีความศรัทธา

﴿ وَمِنَ ٱلۡأَعۡرَابِ مَن يُؤۡمِنُ بِٱللَّهِ وَٱلۡيَوۡمِ ٱلۡأٓخِرِ وَيَتَّخِذُ مَا يُنفِقُ قُرُبَٰتٍ عِندَ ٱللَّهِ وَصَلَوَٰتِ ٱلرَّسُولِۚ أَلَآ إِنَّهَا قُرۡبَةٞ لَّهُمۡۚ سَيُدۡخِلُهُمُ ٱللَّهُ فِي رَحۡمَتِهِۦٓۚ إِنَّ ٱللَّهَ غَفُورٞ رَّحِيمٞ ٩٩ ﴾ [التوبة: ٩٩] 

ความว่า “และในหมู่อาหรับชนบทนั้น มีผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ และถือเอาสิ่งที่ตนบริจาคไปนั้น เป็นการใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ และเป็นการขอพรของเราะสูล พึงรู้เถิดว่า แท้จริงมันเป็นการขอพรจากเราะสูล พึงรู้เถิดว่า แท้จริงมันเป็นการทำให้ใกล้ชิดแก่พวกเขา อัลลอฮฺจะทรงให้พวกเขาอยู่ในความเอ็นดูเมตตาของพระองค์ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ทรงเอ็นดูเมตตาเสมอ” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 99)

 

สาม... กลุ่มชนแรกที่เป็นชาวมุฮาญิรีนและชาวอันศอรฺ ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮฺรัก และเป็นกลุ่มชนที่หมั่นเผยแพร่ศาสนา

﴿ وَٱلسَّٰبِقُونَ ٱلۡأَوَّلُونَ مِنَ ٱلۡمُهَٰجِرِينَ وَٱلۡأَنصَارِ وَٱلَّذِينَ ٱتَّبَعُوهُم بِإِحۡسَٰنٖ رَّضِيَ ٱللَّهُ عَنۡهُمۡ وَرَضُواْ عَنۡهُ وَأَعَدَّ لَهُمۡ جَنَّٰتٖ تَجۡرِي تَحۡتَهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ خَٰلِدِينَ فِيهَآ أَبَدٗاۚ ذَٰلِكَ ٱلۡفَوۡزُ ٱلۡعَظِيمُ ١٠٠ ﴾ [التوبة: ١٠٠] 

ความว่า “บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ (ชาวมุฮาญิรีนจากมักกะฮฺ) และในหมู่ผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศอรฺจากมะดีนะฮฺ) และบรรดาผู้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการทำดีนั้น อัลลอฮฺทรงพอพระทัยในพวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์ด้วย และพระองค์ทรงเตรียมไว้ให้พวกเขาแล้ว ซึ่งบรรดาสวนสวรรค์ที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่างพวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาลนั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 100)

 

สี่... พวกมุนาฟิกูนผู้กลับกลอก คือกลุ่มคนที่เสแสร้งให้เห็นถึงความเคร่งครัดในศาสนา ในขณะเดียวกันพวกมันกลับเป็นกลุ่มคนที่มีความร้ายกาจสำหรับบรรดาผู้ศรัทธายิ่งกว่าพวกปฏิเสธศรัทธา กล่าวคือชาวมักกะฮฺในอดีตจะเป็นพวกปฏิเสธศรัทธาและเปิดเผยอย่างชัดเจนถึงการปฏิเสธศรัทธาของพวกเขา เพราะในช่วงเวลานั้นอิสลามยังอ่อนแออยู่ แต่ในเมืองมะดีนะฮฺอิสลามกลับมามีอำนาจและมีความเข้มแข็ง พวกมุนาฟิกูนผู้กลับกลอกก็มีมากขึ้นแต่พวกเขาไม่กล้าเปิดเผยความเป็นศัตรูเพราะอิสลามมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมากในเมืองมะดีนะฮฺ ซึ่งพวกมุนาฟิกูนนั้นโดยภาพรวมแล้วจะเปิดเผยถึงความเคร่งครัดในศาสนาอิสลามแต่กลับปกปิดความปลิ้นปล้อนของตัวเองเอาไว้

﴿ وَمِمَّنۡ حَوۡلَكُم مِّنَ ٱلۡأَعۡرَابِ مُنَٰفِقُونَۖ وَمِنۡ أَهۡلِ ٱلۡمَدِينَةِ مَرَدُواْ عَلَى ٱلنِّفَاقِ لَا تَعۡلَمُهُمۡۖ نَحۡنُ نَعۡلَمُهُمۡۚ سَنُعَذِّبُهُم مَّرَّتَيۡنِ ثُمَّ يُرَدُّونَ إِلَىٰ عَذَابٍ عَظِيمٖ ١٠١ ﴾ [التوبة: ١٠١] 

ความว่า “และส่วนหนึ่งจากผู้ที่พำนักอยู่รอบๆ พวกท่านที่เป็นอาหรับชนบทนั้นเป็นพวกกลับกลอก และในหมู่ชาวมะดีนะฮฺก็เช่นเดียวกัน พวกเขาเหล่านั้นดื้อรั้นในการกลับกลอก เจ้า(มุหัมมัด)ไม่รู้จักธาตุแท้ของพวกเขาดอก เรา(อัลลอฮฺ)รู้จักพวกเขาดี เราจะลงโทษพวกเขาสองครั้ง แล้วพวกเขาจะถูกนำกลับไปสู่การลงโทษอันยิ่งใหญ่ต่อไป” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 101)

 

ห้า... กลุ่มต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงนี้ ในสมัยก่อนมีจำนวนที่พอๆ กัน แต่จะมีบางกลุ่มที่มีอยู่น้อยมากในสมัยของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่ในยุคสมัยนี้กลับสามารถพบเห็นได้อย่างมากมาย

﴿ وَءَاخَرُونَ ٱعۡتَرَفُواْ بِذُنُوبِهِمۡ خَلَطُواْ عَمَلٗا صَٰلِحٗا وَءَاخَرَ سَيِّئًا عَسَى ٱللَّهُ أَن يَتُوبَ عَلَيۡهِمۡۚ إِنَّ ٱللَّهَ غَفُورٞ رَّحِيمٌ ١٠٢ ﴾ [التوبة: ١٠٢] 

ความว่า “และมีชนกลุ่มอื่นที่สารภาพความผิดของพวกเขา โดยที่พวกเขาประกอบกรรมดีปะปนไปกับงานที่ชั่ว หวังว่าอัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺนั้นคือ ผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเอ็นดูเมตตาเสมอ” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 102)

 

พวกเขาเหล่านั้นคือกลุ่มคนที่อัลลอฮฺทรงเปิดเผยแก่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าจะปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาอย่างไร

﴿ خُذۡ مِنۡ أَمۡوَٰلِهِمۡ صَدَقَةٗ تُطَهِّرُهُمۡ وَتُزَكِّيهِم بِهَا وَصَلِّ عَلَيۡهِمۡۖ إِنَّ صَلَوٰتَكَ سَكَنٞ لَّهُمۡۗ وَٱللَّهُ سَمِيعٌ عَلِيمٌ ١٠٣ ﴾ [التوبة: ١٠٣] 

ความว่า “(มุหัมมัด) เจ้าจงเอาส่วนหนึ่งจากทรัพย์สมบัติของพวกเขาเป็นทาน เพื่อทำให้พวกเขาบริสุทธิ์ และล้างมลทินของพวกเขาด้วยส่วนที่เป็นทานนั้น และเจ้าจงขอพรให้แก่พวกเขาเถิด เพราะแท้จริงการขอพรของพวกเจ้านั้น ทำให้เกิดความสุขใจแก่พวกเขา และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 103)

 

ดังนั้น การบริจาคทานของพวกเขานั้นจะทำให้พวกเขาบริสุทธิ์และล้างมลทินของพวกเขา ซึ่งการบริจาคทานในที่นี้ไม่ใช่การให้ซะกาตแต่เป็นการใช้จ่ายทรัพย์สินที่ดี ส่วนการขอพรของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นคือการที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺขอดุอาอ์แก่พวกเขา เพราะนั่นจะทำให้เกิดความสุขใจแก่พวกเขา และคำว่า “หวังว่าอัลลอฮฺจะทรงให้” หมายรวมว่า เขาจะได้รับอย่างแน่นอนด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺ ดังนั้น ถ้าพวกเขาได้บริจาคทานและเราะสูลก็ได้ขอพรแก่เขาแล้ว เขาก็จะได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเอ็นดูเมตตาเสมอ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่อัลลอฮฺ

 

หก... กลุ่มคนที่ประพฤติตัวจนทำเกิดปัญหาต่อความสงบปลอดภัยของสังคมในภาพรวม  ส่วนหนึ่งจากคนเหล่านั้นก็คือบรรดาผู้ที่หันหลังให้กับการเข้าร่วมทำสงคราม

﴿وَءَاخَرُونَ مُرۡجَوۡنَ لِأَمۡرِ ٱللَّهِ إِمَّا يُعَذِّبُهُمۡ وَإِمَّا يَتُوبُ عَلَيۡهِمۡۗ وَٱللَّهُ عَلِيمٌ حَكِيمٞ ١٠٦ ﴾ [التوبة: ١٠٦] 

ความว่า “และมีชนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ยังต้องรอคำบัญชาของอัลลอฮฺ พระองค์อาจจะทรงลงโทษพวกเขาและพระองค์ก็อาจจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขาและอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 106)

 

เจ็ด... กลุ่มคนที่ปลูกฝังความอาฆาตบาดหมางระหว่างบรรดาผู้ศรัทธา และกล่าวหามุสลิมบางส่วนว่าเป็นกาฟิรฺ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้บรรดาผู้ศรัทธาเกิดการแตกแยก

﴿ وَٱلَّذِينَ ٱتَّخَذُواْ مَسۡجِدٗا ضِرَارٗا وَكُفۡرٗا وَتَفۡرِيقَۢا بَيۡنَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ وَإِرۡصَادٗا لِّمَنۡ حَارَبَ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥ مِن قَبۡلُۚ وَلَيَحۡلِفُنَّ إِنۡ أَرَدۡنَآ إِلَّا ٱلۡحُسۡنَىٰۖ وَٱللَّهُ يَشۡهَدُ إِنَّهُمۡ لَكَٰذِبُونَ ١٠٧ ﴾ [التوبة: ١٠٧] 

ความว่า “และบรรดาผู้ที่ยึดเอามัสยิดหลังหนึ่งเพื่อก่อให้เกิดความเดือดร้อนและปฏิเสธศรัทธาและก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างบรรดาผู้ศรัทธาด้วยกัน และเป็นแหล่งซ่องสุมสำหรับผู้ที่ทำสงครามต่อต้านอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์มาก่อน และแน่นอนพวกเขาจะสาบานว่า เราไม่มีเจตนาอื่นใดนอกจากที่ดี และอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นพยานยืนยันว่า แท้จริงพวกเขานั้นเป็นพวกกล่าวเท็จอย่างแน่นอน” (สูเราะฮฺ อัต-เตาะบะฮฺ : 107)

 

والله أعلم بالصواب، وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه وسلم، والحمد لله رب العالمين.

 

 

...........................................

แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม  อุษมาน

  

คัดลอกจาก  http://IslamHouse.com/438670

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).