Loading

 

อัต-เตาฟีก การประสิทธิ์จากอัลลอฮฺ

 

อัต-เตาฟีก การประสิทธิ์จากอัลลอฮฺ

 

          การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์...

            การได้รับเตาฟีก หรือการประสิทธิ์ให้บรรลุและประสบความสำเร็จในสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยการอนุมัติจากพระองค์อัลลอฮฺนั้น เป็นความจำเป็นสำหรับมนุษย์ ทั้งในโลกดุนยาและในโลกอาคิเราะฮฺ ดังที่พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

 ﴿ ۞يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ لَا تَتَّبِعُواْ خُطُوَٰتِ ٱلشَّيۡطَٰنِۚ وَمَن يَتَّبِعۡ خُطُوَٰتِ ٱلشَّيۡطَٰنِ فَإِنَّهُۥ يَأۡمُرُ بِٱلۡفَحۡشَآءِ وَٱلۡمُنكَرِۚ وَلَوۡلَا فَضۡلُ ٱللَّهِ عَلَيۡكُمۡ وَرَحۡمَتُهُۥ مَا زَكَىٰ مِنكُم مِّنۡ أَحَدٍ أَبَدٗا وَلَٰكِنَّ ٱللَّهَ يُزَكِّي مَن يَشَآءُۗ وَٱللَّهُ سَمِيعٌ عَلِيمٞ ٢١ ﴾ [النور: ٢١] 

ความว่า : “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย พวกเจ้าอย่าเดินตามก้าวย่างของชัยฏอน  ผู้ใดเดินตามก้าวย่างของชัยฏอนแล้ว มันก็จะสั่งให้ทำการลามกและความชั่วและหากมิใช่เพราะความโปรดปรานของพระองค์อัลลอฮฺแก่พวกเจ้าและความเมตตาของพระองค์แล้ว ก็จะไม่มีใครในหมู่พวกเจ้าได้เป็นคนบริสุทธิ์เลย แต่พระองค์อัลลอฮฺทรงขัดเกลาผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์และพระองค์อัลลอฮฺคือผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง” (อัน-นูรฺ: 21)

 

ฉะนั้น ผู้ใดที่พระองค์อัลลอฮฺ ทรงประทานเตาฟีกให้เขาได้ชำระจิตใจของตัวเองก็ถือว่าเป็นคนโชคดีและประสบความสำเร็จ ดังที่ พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

 ﴿ قَدۡ أَفۡلَحَ مَن تَزَكَّىٰ ١٤﴾ [الأعلى: ١٤] 

ความว่า :  “ประสบความสำเร็จแล้วผู้ที่ขัดเกลาตนให้บริสุทธิ์” (อัล-อะอฺลา : 14)

 

ทั้งนี้ ระดับขั้นการเตาฟีกแก่ปวงบ่าวที่สูงที่สุดก็คือการที่พระองค์ทรงให้บ่าวเกิดความรู้สึกรักการศรัทธาและการปฏิบัติอะมัลและให้เขารู้สึกเกลียดการปฏิเสธศรัทธาและการฝ่าฝืน ซึ่งเป็นขั้นที่เหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้รับมาแล้ว พระองค์อัลลอฮฺได้กล่าวถึงความโปรดปรานอันทรงค่าที่ให้แด่พวกเขาว่า

﴿ وَٱعۡلَمُوٓاْ أَنَّ فِيكُمۡ رَسُولَ ٱللَّهِۚ لَوۡ يُطِيعُكُمۡ فِي كَثِيرٖ مِّنَ ٱلۡأَمۡرِ لَعَنِتُّمۡ وَلَٰكِنَّ ٱللَّهَ حَبَّبَ إِلَيۡكُمُ ٱلۡإِيمَٰنَ وَزَيَّنَهُۥ فِي قُلُوبِكُمۡ وَكَرَّهَ إِلَيۡكُمُ ٱلۡكُفۡرَ وَٱلۡفُسُوقَ وَٱلۡعِصۡيَانَۚ أُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلرَّٰشِدُونَ ٧ ﴾ [الحجرات: ٧] 

ความว่า : “และพวกเจ้าพึงรู้เถิดว่า ในหมู่พวกเจ้านั้นมีเราะสูลของพระองค์อัลลอฮฺอยู่ หากเขา (มุฮัมมัด) ทำตามพวกเจ้าในหลายๆ เรื่องแล้ว แน่นอนพวกเจ้าก็จะลำบากกัน แต่พระองค์อัลลอฮฺทรงให้พวกเจ้ารักการศรัทธา ให้พวกเจ้าเห็นดีเห็นงามกับสิ่งนี้และทรงให้พวกเจ้าเกลียดการปฏิเสธศรัทธา ความชั่วช้าและการฝ่าฝืน ซึ่งชนเหล่านี้แหละคือคนฉลาด” (อัล-หุญุรอต : 7)

 

อิบนุล ก็อยยิมได้กล่าวว่า พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสกับบรรดาบ่าวที่ศรัทธาของพระองค์ว่า “หากมิใช่เพราะการประทานเตาฟีกของข้าแก่พวกเจ้า แน่นอนดวงใจของพวกเจ้าก็คงไม่ยอมจำนนให้กับอีมานเป็นแน่ ดังนั้น อีมานจึงไม่ใช่ว่าจะได้รับด้วยการหารือกับพวกเจ้า หรือด้วยการสะดุดใจของพวกเจ้าเอง แต่ข้าต่างหากเล่าที่ให้พวกเจ้าเกิดความรู้สึกรักชอบและให้มันดูดีในจิตใจของพวกเจ้า ตลอดจนให้พวกเจ้าเกิดความเกลียดชังต่อสิ่งที่อยู่คนละฟากกับมัน นั่นก็คือการไม่ศรัทธาและการกระทำที่โสมม”(มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน 1/447)

เตาฟีกจึงเป็นสิ่งต้องขอจากพระองค์อัลลอฮฺเท่านั้น เพราะพระองค์เท่านั้นที่สามารถจะประทานให้ ผู้ใดที่วิงวอนขอ จากผู้อื่นแล้วเขาก็หมดสิทธิที่จะได้รับ

            พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

﴿ إِنَّكَ لَا تَهۡدِي مَنۡ أَحۡبَبۡتَ وَلَٰكِنَّ ٱللَّهَ يَهۡدِي مَن يَشَآءُۚ وَهُوَ أَعۡلَمُ بِٱلۡمُهۡتَدِينَ ٥٦ ﴾ [القصص: ٥٦] 

ความว่า : “แท้จริงแล้ว เจ้านั้นไม่สามารถจะชี้ทางนำแต่คนที่เจ้ารักได้หรอก แต่พระองค์อัลลอฮฺ ต่างหากเล่าที่ทรงสามารถชี้ทางนำแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ทรงรู้ดีที่สุดเกี่ยวกับผู้ที่จะได้รับทางนำ” (อัล-เกาะศ็อศ : 56)

 

การฮิดายะฮฺที่มีระบุในอายะฮฺข้างต้นนี่แหละคือการฮิดายะฮฺที่บรรดาอุลามาอ์ให้ชื่อว่า “ฮิดายะฮฺเตาฟีก” ท่านนบีชุอัยบฺ ได้กล่าวว่า

﴿وَمَا تَوۡفِيقِيٓ إِلَّا بِٱللَّهِۚ عَلَيۡهِ تَوَكَّلۡتُ وَإِلَيۡهِ أُنِيبُ ٨٨ ﴾ [هود: ٨٨] 

ความว่า : “ความสำเร็จของฉันจะไม่เกิดขึ้น เว้นแต่ด้วยความช่วยเหลือของพระองค์อัลลอฮฺ แด่พระองค์เท่านั้นฉันขอมอบตนและยังพระองค์เท่านั้นฉันจะกลับไปหา” (ฮูด : 88)

 

อิบนุล ก็อยยิม -เราะหิมะฮุลลอฮฺ- ได้กล่าวว่า : บรรดาผู้รู้จักพระองค์อัลลอฮฺอย่างลึกซึ้งต่างเห็นฟ้องกันว่าการเตาฟีก คือการที่พระองค์อัลลอฮฺไม่ทรงมอบหมายการงานของท่านให้กับตัวท่านเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่วน “ค็อซลาน” หรือการทำให้ตกต่ำนั้น คือการปล่อยเรื่องของท่านให้เป็นเรื่องของท่านเพียงลำพัง” (มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน 1/445)

เพราะสิ่งนี้เอง จึงมีคำแนะนำจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตามที่อบู บักเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้รายงานว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า :

دَعَواتُ المَكْروب: اللَّهُمَّ رحمتَك أَرْجُو، فلا تَكِلْنِيْ إِلٰى نَفْسِيْ طَرْفَةَ عَيْنٍ ، وأَصلِحْ لِيْ شَأْنِي كُلـَّهُ ، لَا إلهَ إِلَّا أَنْتَ». [أخرجه أبو داود برقم 5090]

ความว่า : คำดุอาอ์ที่ผู้ประสบความทุกข์ยากควรกล่าวขอ คือ “อัลลอฮุมมะ เราะฮฺมะตะกะ อัรฺญู ฟะลาตะกิลนี อีลา นัฟสี ฎ็อร ฟะตะอัยนฺ วะอัศลิหฺ ลี ชะนี กุลละฮฺ ลาอิลาฮะ อัลลา อันตะ” (ความว่า : โอ้พระองค์อัลลอฮฺความปรานีของพระองค์คือสิ่งที่ฉันคาดหวัง จึงขอทรงอย่าได้ปล่อยฉันให้กับฉันเองแม้ว่าเพียงเสี้ยววินาทีเดียว ขอทรงปรับปรุงทุกเรื่องให้กับฉัน เพราะไม่พระเจ้าอื่นๆที่สมควรกราบไหว้วอนขออีกแล้วนอกเหนือจากพระองค์ท่าน” (สุนัน อบี ดาวูด 4/324  หมายเลข  5090 อัล-อัลบานีย์ระบุในหนังสืออัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ หมายเลข 3388 ว่าเป็นหะดีษเศาะหีหฺ)

 

ทั้งนี้ เป็นเพราะยังมีหลายคนหลงคิดผิดว่าผู้ใดที่ได้รับทรัพย์อย่างหนึ่ง หรือตำแหน่งหนึ่ง หรืออื่นๆ ที่เป็นเรื่องดุนยาว่าเขาคนนั้นเป็นผู้ได้รับการเตาฟีก ซึ่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะเรื่องดุนยาเป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประทานให้กับทั้งผู้ที่พระองค์ทรงรักและไม่ทรงรัก ดังที่พระองค์ได้กล่าวถึงมนุษย์ในเรื่องนี้ พร้อมกับบอกว่าความจริงแล้วมันไม่ใช่เป็นอย่างที่เขาเข้าใจ :

﴿ فَأَمَّا ٱلۡإِنسَٰنُ إِذَا مَا ٱبۡتَلَىٰهُ رَبُّهُۥ فَأَكۡرَمَهُۥ وَنَعَّمَهُۥ فَيَقُولُ رَبِّيٓ أَكۡرَمَنِ ١٥ وَأَمَّآ إِذَا مَا ٱبۡتَلَىٰهُ فَقَدَرَ عَلَيۡهِ رِزۡقَهُۥ فَيَقُولُ رَبِّيٓ أَهَٰنَنِ ١٦ كَلَّاۖ ﴾ [الفجر: ١٥-١٧] 

ความว่า : “มนุษย์นั้น เมื่อพระเจ้าของเขาทรงทดสอบด้วยการให้เกียรติและประทานความสะดวกสบายให้กับเขา เขาก็จะกล่าวอ้างว่า พระเจ้าของฉันทรงให้เกียรติแก่ฉัน แต่ครั้นเมื่อพระองค์ทรงทดสอบด้วยการจำกัดปัจจัยครองชีพกับเขา เขาก็จะกล่าวว่า พระเจ้าของฉันทรงเหยียดหยามฉัน ไม่ ไม่จริงอย่างนั้นหรอก (อัล-ฟัจญ์รฺ :15-17)  

 

ที่ถูกต้องก็คือผู้ที่ได้รับเตาฟีก คือ ผู้ที่ใช้ตำแหน่งหรือบารมีไปในทางที่พระองค์อัลลอฮฺทรงโปรดปราน เพื่อค้ำชูศาสนาและเป็นประโยชน์แก่เพื่อนพ้องในทุกคราที่ได้รับ หากได้รับทรัพย์สมบัติ เขาก็จะเลือกเอาทรัพย์สินที่หะลาลและใช้จ่ายในหนทางเพื่อการภักดีต่อพระองค์อัลลอฮฺ เพราะหิกมะฮฺหรือวิทยปัญญาของพระองค์อัลลอฮฺประการหนึ่งก็คือการทดสอบบ่าวของพระองค์ โดยผู้ได้รับการเตาฟีกนั้นคือผู้ที่นอบน้อมขอบคุณเมื่อได้รับสิ่งหนึ่ง ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้การเตาฟีกนั้นจะฝ่าฝืนและเนรคุณเมื่อได้รับสิ่งนั้น พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

﴿ كَلَّآ إِنَّ ٱلۡإِنسَٰنَ لَيَطۡغَىٰٓ ٦ أَن رَّءَاهُ ٱسۡتَغۡنَىٰٓ ٧ ﴾ [العلق: ٦- ٧] 

 ความว่า : “มิใช่เช่นนั้น แท้จริงนั้น มนุษย์มักจะชอบฝ่าฝืน เมื่อเห็นตัวเองมีความสมบูรณ์” (อัล-อะลัก :7-8)   

 

พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสถึงนบี สุลัยมานว่า :

﴿ قَالَ هَٰذَا مِن فَضۡلِ رَبِّي لِيَبۡلُوَنِيٓ ءَأَشۡكُرُ أَمۡ أَكۡفُرُۖ وَمَن شَكَرَ فَإِنَّمَا يَشۡكُرُ لِنَفۡسِهِۦۖ وَمَن كَفَرَ فَإِنَّ رَبِّي غَنِيّٞ كَرِيمٞ ٤٠ ﴾ [النمل: ٤٠] 

ความว่า : “เขากล่าวว่า นี่เป็นเพราะความโปรดปรานของพระเจ้าของข้า เพื่อทรงทดสอบว่าฉันจะกตัญญูหรือเนรคุณ โดยผู้ใดกตัญญู แท้จริงแล้วเขาก็กตัญญูต่อตัวเขาเอง และผู้ใดเนรคุณ แท้จริงแล้วพระเจ้าของฉันนั้นเป็นผู้ทรงมั่งมี ผู้ทรงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยิ่ง” (อัน-นัมล์ : 40)

 

การเตาฟีกของพระองค์อัลลอฮฺให้กับปวงบ่าวของพระองค์นั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน บางทีจะเป็นในรูปของการที่พระองค์เสนอความดีแก่มนุษย์แล้วพวกเขาก็ต่อต้านไม่ยอมรับกระทั่งพระองค์เปิดทางให้ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ดีให้รับไว้ ดังกรณีที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้เสนออิสลามให้กับกลุ่มก๊กต่างๆ นานกว่าสิบปีเพื่อให้พวกเขาสนับสนุน แต่พวกเขาก็ไม่ตอบรับกระทั่งพระองค์อัลลอฮฺได้ประทานเตาฟีกแก่ชาวอันศอรฺให้รับสิ่งนี้ พวกเขาจึงได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ

บางทีก็อาจจะอยู่ในรูปที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประทานเตาฟีกแก่ปวงบ่าวในตอนท้ายของชีวิตเพื่อให้ได้ประกอบการงานที่ดีและสิ้นชีวิตในสภาพนั้น แล้วพระองค์ก็ปิดบทชีวิตของเขาด้วยสิ่งดีๆ นี้ ดังที่มีรายงานจากท่านอนัสว่า :

عَنْ أَنَسٍ : كان غُلاَمٌ يَهُودِيٌّ يَخْدِمُ النَّبِيَّ فمَرِضَ فَأَتَاهُ النَّبِىُّ -صلى الله عليه وسلم- يَعُودُهُ فَقَعَدَ عِنْدَ رَأْسِهِ فَقَالَ له : أَسْلِمْ، فَنَظَرَ إِلٰى أَبِيْهِ وَهُوَ عِنْدَهُ، فَقَالَ له : أَطِعْ أَبَا الْقَاسِمِ، فَأَسْلَمَ وَخَرَجَ النَّبِىُّ -صلى الله عليه وسلم- وَهُوَ يَقُولُ :« الْحَمْدُ لِلَّهِ الَّذِى أَنْقَذَهُ بِى مِنَ النَّارِ». وفي رواية : فَلَمَّا مَاتَ قال: «صَلُّوا عَلَى صَاحِبِكُمْ». [البخاري برقم 1356، وأحمد برقم 3/260]

ความว่า มีเด็กชายชาวยิวคนหนึ่งทำงานรับใช้ ท่านนบี-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม แล้วป่วย ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงมาเยี่ยม ท่านได้นั่งตรงกับศีรษะของเขาแล้วกล่าวว่า : จงเข้ารับอิสลามเถิด เด็กชายคนนั้นก็มองไปยังบิดาซึ่งอยู่พร้อมหน้า เขาได้กล่าวกับลูกชายว่า จงทำตามอบุล กอสิม ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เถอะ  แล้วเขาก็เข้ารับอิสลาม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ออกมาพร้อมกับกล่าวว่า : “ขอขอบคุณต่อพระองค์อัลลอฮฺที่ได้ทรงกู้เขาให้หลุดพ้นจากไฟนรกด้วยความพยายามของฉัน”และ ในอีกสายรายงานหนึ่งระบุว่า : หลังจากที่เขาได้สิ้นชีวิตลง ท่านได้สั่งว่า “พวกท่านจงละหมาดให้กับสหายของพวกท่านด้วย”(เศาะฮีหฺอัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 1 หน้า 416 หมายเลข 1356 และอะหฺมัด เล่มที่ 3 หน้า 260 และหะดีษ นี้เป็นสำนวนของท่าน)

 

บางทีก็อาจจะอยู่ในรูปของการที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประทานเตาฟีกได้บ่าวให้ได้กระทำการงานที่น้อยนิดแต่มีผลบุญมหาศาล ณ พระองค์ ดังที่มีรายงานจากท่านอัลบัรรออฺ -เราะฏิยัลลอฮฺ อันฮฺ-ว่า :

عَنِ الْبَرَاءِ رَضِىَ اللَّهُ عَنْهُ قَالَ : أَتَى النبِيَّ -صلى الله عليه وسلم- رَجُلٌ مُقَنَّعٌ بِالْحَدِيدِ فَقَالَ : يَا رَسُولَ اللَّهِ أُقَاتِلُ أَوْ أُسْلِمُ؟ قَالَ :«أَسْلِمْ ثُمَّ قَاتِلْ». فَأَسْلَمَ فَقَاتَلَ فَقُتِلَ فَقَالَ رسول الله صلى الله عليه وسلم :«عَمِلَ قَلِيلاً وَأُجِرَ كَثِيرًا». [رَوَاهُ الْبُخَارِىُّ برقم 2808، ومسلم برقم 1900]

ความว่า มีชายสวมหมวกเกราะมาหาท่านนบี-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม แล้วถามว่า  โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ จะให้ฉันไปรบหรือให้เข้ารับอิสลาม?  ท่านตอบว่า : “เข้ารับอิสลามก่อนแล้วไปรบ” เขาจึงเข้ารับอิสลามแล้วออกไปรบและถูกฆ่าเสียชีวิต แล้วท่านเราะสูลุลลอฮฺ  ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม  ก็บอกว่า : “เขาทำงานนิดเดียว แต่ได้รับผลตอบแทนมหาศาล” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 2 หน้า 308 หมายเลข 2808 และเศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 3 หน้า 1509 หมายเลข 1900 )

ดังนั้น ผู้ใดที่ยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮฺและแสดงความอิคลาสอย่างเต็มหัวใจให้พระองค์ได้ประจักษ์ พร้อมกับขอดุอาอ์อย่างมากๆ ผู้นั้นก็ถือว่าได้กุมหัวบันไดแห่งเตาฟีก ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงช่วยเหลือ เพราะไม่มีความสามารถและพลังใดๆ ที่จะให้ได้รับสิ่งนี้เว้นแต่ด้วยการช่วยเหลือและยินยอมจากพระองค์อัลลอฮฺ

 

 

............................

แปลโดย : ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

คัดลอกจาก  http://IslamHouse.com/419133

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).