Loading

 

สถานะของสตรีในอิสลาม

สถานะของสตรีในอิสลาม

 

การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์...

            เรื่องราวที่เราจะทำความเข้าใจและให้ความกระจ่างชัดกันในวันนี้ คือ เรื่องของสตรี และเราจะคุยกันในประเด็นต่อไปนี้

1.     

สถานภาพของสตรีในยุคก่อนอิสลาม

2.     

การให้เกียรติต่อสตรีตามทัศนะอิสลาม

3.     

ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของสตรี

4.     

หน้าที่ของผู้ศรัทธาที่มีต่อสตรี

 

1. สถานภาพของสตรีในยุคก่อนอิสลาม

            สังคมอาหรับในยุคอนารยชนอันงมงายได้ปฏิบัติต่อสตรีเพศอย่างไร้ศีลธรรม สตรีโดนรังแก ถูกเอารัดเอาเปรียบ พวกเขาเกลียดชังต่อบุตรสาว ไม่มีความรู้สึกปลื้มปีติยินดีเมื่อภรรยาคลอดบุตรสาว และในบางสังคมถึงกับนำบุตรสาวไปฝังทั้งเป็น เนื่องจากกลัวว่าพวกเธอจะสร้างความอับอายขายหน้า ในขณะที่บางสังคมปล่อยให้พวกเธอมีชีวิตอย่างต่ำต้อยไร้เกียรติ อัลลอฮฺได้ตรัสเกี่ยวกับสภาพเช่นนี้ว่า

﴿ وَإِذَا بُشِّرَ أَحَدُهُم بِٱلۡأُنثَىٰ ظَلَّ وَجۡهُهُۥ مُسۡوَدّٗا وَهُوَ كَظِيمٞ ٥٨ يَتَوَٰرَىٰ مِنَ ٱلۡقَوۡمِ مِن سُوٓءِ مَا بُشِّرَ بِهِۦٓۚ أَيُمۡسِكُهُۥ عَلَىٰ هُونٍ أَمۡ يَدُسُّهُۥ فِي ٱلتُّرَابِۗ أَلَا سَآءَ مَا يَحۡكُمُونَ ٥٩  ﴾  [النحل :  58-59]

ความว่า “เมื่อใครคนหนึ่งจากพวกเขารู้ว่าภรรยาคลอดบุตรสาว ใบหน้าของเขากลายเป็นหมองคล้ำและเศร้าสลด เขาจะหลบหน้าจากกลุ่มชน เนื่องจากความอับอายอันเนื่องจากข่าวที่ได้รับ เขาจะเก็บเอาไว้ด้วยความอัปยศหรือไม่ก็ฝังลงในดิน พึงทราบเถิดว่าสิ่งที่พวกเขาตัดสินนั้นมันช่างชั่วช้าอย่างแท้จริง ” (อัล-นะห์ลฺ : 58-59 )

﴿ وَإِذَا ٱلۡمَوۡءُۥدَةُ سُئِلَتۡ ٨ بِأَيِّ ذَنۢبٖ قُتِلَتۡ ٩  ﴾ [التكوير : 8-9]

ความว่า “และเมื่อทารกหญิงที่ถูกฝังทั้งเป็นถูกถามว่า ด้วยความผิดอันใดเล่าที่เธอถูกฆ่าตาย” (อัต-ตักวีร : 8-9 )

คำว่า   ٱلۡمَوۡءُۥدَةُ หมายถึง บุตรสาวที่ถูกฝังทั้งเป็นจนกระทั่งเสียชีวิต

            อนึ่ง สตรีในยุคญาฮิลียะฮฺจะไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดกแต่อย่างใด ไม่ว่านางจะยากจนแร้นแค้นเพียงใดก็ตาม เนื่องจากกฎเกณฑ์ของพวกเขาได้วางเอาไว้ว่าบุรุษเพศเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในกองมรดก แค่นั้นยังไม่พอสังคมสมัยนั้นยังกำหนดให้นางเป็นส่วนหนึ่งจากกองมรดกที่ได้รับการสืบทอดต่อไปยังผู้อื่น

            อีกอย่างที่สตรีไม่ได้รับความยุติธรรม คือการที่สตรีหลายๆ คนตกเป็นภรรยาของบุรุษคนเดียวโดยไม่ได้จำกัดจำนวน เขาจะแต่งงานกับใครกี่คนก็ได้ โดยที่เหล่าสามีไม่สนใจว่าพวกนางจะตกอยู่ในภาวะที่ลำบากหรือไม่ได้รับความยุติธรรมก็ตาม

            มีรายงานจากท่านอุมัรเราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านเคยกล่าวว่า

وَاللَّهِ إِنْ كُنَّا فِى الْجَاهِلِيَّةِ مَا نَعُدُّ لِلنِّسَاءِ أَمْرًا، حَتَّى أَنْزَلَ اللَّهُ تَعَالَى فِيهِنَّ مَا أَنْزَلَ، وَقَسَمَ لَهُنَّ مَا قَسَمَ. [مسلم برقم 1479]   

ความว่า “ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า ในสมัยญาอฮิลียะฮฺพวกเราจะไม่ให้ความสำคัญกับสตรีเลยแม้แต่น้อย จนกระทั่งอัลลอฮฺได้ประทานโองการและได้จัดสรรสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวกับพวกนาง” (บันทึกโดยมุสลิม : 1479 )

 

2. การให้เกียรติของอิสลามต่อสตรีเพศ

อิสลามได้ยกเลิกการเอารัดเอาเปรียบต่อบรรดาสตรีเพศในทุกมิติ พร้อมกับคืนสิทธิที่พวกนางควรจะได้รับอย่างครบถ้วน พร้อมทั้งยังกำหนดให้พวกนางได้รับผลตอบแทนและสิทธิต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันกับบุรุษเพศ ยกเว้นในกรณีที่เป็นเรื่องเฉพาะของสตรี ซึ่งบุรุษจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ مَنۡ عَمِلَ صَٰلِحٗا مِّن ذَكَرٍ أَوۡ أُنثَىٰ وَهُوَ مُؤۡمِنٞ فَلَنُحۡيِيَنَّهُۥ حَيَوٰةٗ طَيِّبَةٗۖ وَلَنَجۡزِيَنَّهُمۡ أَجۡرَهُم بِأَحۡسَنِ مَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ٩٧ ﴾  [النحل : 97]

ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่ได้ประกอบคุณงามความดีไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา แน่นอนว่าเราจะให้เขามีชีวิตที่ดี และเราจะให้ผลตอบแทนจากการปฏิบัติของพวกเขาที่ดียิ่งกว่า” (อัล-นะห์ลฺ : 97 )

 

และอัลลอฮฺยังได้ตรัสอีกว่า

﴿ فَٱسۡتَجَابَ لَهُمۡ رَبُّهُمۡ أَنِّي لَآ أُضِيعُ عَمَلَ عَٰمِلٖ مِّنكُم مِّن ذَكَرٍ أَوۡ أُنثَىٰۖ بَعۡضُكُم مِّنۢ بَعۡضٖۖ... ١٩٥ ﴾ [آل عمران : 195]

ความว่า “ดังนั้นอัลลอฮฺจึงตอบรับพวกเขาว่า แท้จริงฉันจะไม่ทำให้การงานของคนใดคนหนึ่งสูญหาย  ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม” (อาล อิมรอน : 195)

            มีหะดีษรายงานจากอุมมุ อุมาเราะฮฺเล่าว่า นางได้มาหาท่านนบี แล้วกล่าวกับท่านว่า ฉันเห็นว่าในอัลกุรอานมีแต่เรื่องราวของบรรดาบุรุษเพศไม่เห็นมีเรื่องราวของสตรีเพศบ้างเลย อัลลอฮฺจึงได้ประทานโองการลงมาว่า

﴿  إِنَّ ٱلۡمُسۡلِمِينَ وَٱلۡمُسۡلِمَٰتِ وَٱلۡمُؤۡمِنِينَ وَٱلۡمُؤۡمِنَٰتِ وَٱلۡقَٰنِتِينَ وَٱلۡقَٰنِتَٰتِ وَٱلصَّٰدِقِينَ وَٱلصَّٰدِقَٰتِ وَٱلصَّٰبِرِينَ وَٱلصَّٰبِرَٰتِ وَٱلۡخَٰشِعِينَ وَٱلۡخَٰشِعَٰتِ وَٱلۡمُتَصَدِّقِينَ وَٱلۡمُتَصَدِّقَٰتِ وَٱلصَّٰٓئِمِينَ وَٱلصَّٰٓئِمَٰتِ وَٱلۡحَٰفِظِينَ فُرُوجَهُمۡ وَٱلۡحَٰفِظَٰتِ وَٱلذَّٰكِرِينَ ٱللَّهَ كَثِيرٗا وَٱلذَّٰكِرَٰتِ أَعَدَّ ٱللَّهُ لَهُم مَّغۡفِرَةٗ وَأَجۡرًا عَظِيمٗا ٣٥﴾ [الأحزاب   :   35] [رواه الترمذي برقم 3211]

ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้นอบน้อมชายและหญิง บรรดาผู้ศรัทธาชายและหญิง บรรดาผู้ภักดีชายและหญิง บรรดาผู้สัตย์จริงชายและหญิง บรรดาผู้อดทนชายและหญิง บรรดาผู้ถ่อมตนชายและหญิง บรรดาผู้บริจาคทานชายและหญิง บรรดาผู้ถือศีลอดชายและหญิง บรรดาผู้รักษาอวัยวะเพศของพวกเขาทั้งชายและหญิง บรรดาผู้รำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากทั้งชายและหญิงนั้น อัลลอฮฺได้เตรียมการให้อภัยโทษและรางวัลอันยิ่งใหญ่แก่พวกเขาแล้ว” (อัล-อะหฺซาบ : 35 ) (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข  : 3211 )

 

ท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«إِنَّمَا النِّسَاءُ شَقَائِقُ الرِّجَالِ» [أحمد برقم 1479]

ความว่า “แท้จริงเหล่าสตรีเพศเป็นส่วนหนึ่งของเหล่าบุรุษเพศ” ( บันทึกโดยอะห์มัด : 1479 )

            อิสลามไม่ยอมรับกับการที่สตรีต้องตกไปเป็นมรดกสืบทอดต่อไป ดังที่เป็นประเพณีปฏิบัติของกลุ่มชนในยุคอนารยชนอันงมงาย อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ لَا يَحِلُّ لَكُمۡ أَن تَرِثُواْ ٱلنِّسَآءَ كَرۡهٗاۖ ... ١٩﴾ [النساء : 19]

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายไม่อนุมัติแก่พวกเจ้าที่จะเอาบรรดาสตรีเพศเป็นมรดกด้วยการบังคับ” (อัน-นิสาอ์ : 19)

            อัลลอฮฺได้ประกันตัวโดยให้พวกนางได้รับอิสรภาพ และได้กำหนดสิทธิในส่วนที่จะได้รับจากมรดกแก่พวกนาง แทนที่จากพวกนางเคยเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดก อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ ِللرِّجَالِ نَصِيبٞ مِّمَّا تَرَكَ ٱلۡوَٰلِدَانِ وَٱلۡأَقۡرَبُونَ وَلِلنِّسَآءِ نَصِيبٞ مِّمَّا تَرَكَ ٱلۡوَٰلِدَانِ وَٱلۡأَقۡرَبُونَ مِمَّا قَلَّ مِنۡهُ أَوۡ كَثُرَۚ نَصِيبٗا مَّفۡرُوضٗا ٧﴾ [النساء : 7]           

ความว่า “สำหรับเพศชายมีส่วนได้รับจากสิ่งที่ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและบรรดาญาติใกล้ชิดได้ทิ้งไว้ และสำหรับเพศหญิงก็มีส่วนได้รับจากสิ่งที่ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและบรรดาญาติใกล้ชิดได้ทิ้งไว้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม เป็นส่วนแบ่งที่ได้มีการกำหนดอัตราส่วนไว้แล้ว ” (อัน-นิสาอ์ : 7 )

ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า

«اسْتَوْصُوا بِالنِّسَاءِ خَيْرًا»  [رواه البخاري برقم 5186، ومسلم برقم 1468]

ความว่า “ท่านทั้งหลายจงดูแลบรรดาสตรีเพศให้เป็นอย่างดีเถิด” ( บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ : 5186 และมุสลิม : 1468)

ท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«خَيْرُكُمْ خَيْرُكُمْ لِأَهْلِهِ ، وَأَنَا خَيْرُكُمْ لِأَهْلِيْ» [رواه ابن ماجه برقم 1977]

ความว่า “บุคคลที่ดีในกลุ่มพวกท่านคือผู้ที่ปฏิบัติตนที่ดีต่อภรรยาของเขา และฉันเป็นผู้ที่ดียิ่งในกลุ่มพวกท่านที่ปฏิบัติดีต่อภรรยาของฉัน” (บันทึกโดยอิบนุ มาญะฮฺ : 1977 )

 

3. การตอบโต้ต่อคำครหาอิสลามเกี่ยวกับสตรีเพศ

                ผู้ที่มีอคติต่อศาสนาอิสลามได้กล่าวโทษให้ร้ายต่ออิสลามผ่านสื่อตามช่องทางต่างๆ ว่าอิสลามเป็นศาสนาที่เอารัดเอาเปรียบต่อเหล่าสตรี บังคับให้นางอยู่แต่ในบ้าน และกีดกันอิสรภาพของพวกนาง นำกฏเกณฑ์ต่างๆ มาควบคุมพวกนาง พวกนางเปรียบได้ดังอวัยวะที่ไร้ค่าเหมือนกับเป็นอัมพฤกษ์ และที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็มีบรรดาสตรีมุสลิมเองก็เห็นพ้องด้วยกับคำครหานี้ด้วยความเต็มใจ

            เราสามารถตอบโต้คำครหาข้างต้นได้ดังนี้

คำครหาที่ว่า “คำสอนของอิสลามเอารัดเอาเปรียบสตรี” นั้น เราได้พูดถึงไปแล้วตอนแรกในประเด็นสถานะของสตรีในอิสลาม ซึ่งศาสนาอิสลามได้นำพวกนางออกมาจากความอธรรมในสมัยญาฮิลียะฮฺ มิใช่ว่าการอยู่ในบ้านของนางทำให้นางเป็นเหมือนอวัยวะที่เป็นอัมพฤกษ์ ทว่าการที่พวกนางไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านและการทำหน้าที่อบรมเลี้ยงดูบุตรนับเป็นภารกิจอันสูงส่งที่นางได้รับความไว้วางใจและนางจะได้รับผลตอบแทนอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นการผลิตทรัพยากรมนุษย์ระดับปัจเจกบุคคลสู่สังคมมุสลิม

มีรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«إِذَا صَلَّتْ الْمَرْأَةُ خَمْسَهَا ، وَصَامَتْ شَهْرَهَا ، وَحَصَنَتْ فَرْجَهَا ، وَأَطَاعَتْ بَعْلَهَا ، دَخَلَتْ مِنْ أَيِّ أَبْوَابِ الْجَنَّةِ شَاءَتْ» [رواه ابن حبان برقم 4163]

ความว่า “ หญิงใดที่ได้รักษาละหมาด 5 เวลา ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ไม่ผิดประเวณี และเชื่อฟังสามี นางจะเลือกเข้าสวรรค์ทางประตูบานใดก็ได้ตามต้องการ” (บันทึกโดยอิบนุ หิบบาน : 4163)

            และเมื่อพี่น้องได้มองย้อนไปยังสังคมโลกตะวันตก จะพบว่าสตรีต้องออกไปทำงานนอกบ้านร่วมกับเหล่าบุรุษ ขณะเดียวกันได้ปล่อยให้ลูกๆ ใช้ชีวิตอยู่กับคนรับใช้ตั้งแต่วัยเยาว์ พี่น้องจะได้เห็นถึงความเสื่อมโทรมทางด้านคุณธรรมและศีลธรรมที่พวกเขากำลังประสบอยู่ ปัญหาต่างๆ ประดาเข้ามาหาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเด็กนอกสมรส ปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหายาเสพติด และปัญหาอื่นๆ มากมาย หากพี่น้องเห็นปัญหาเหล่านั้นแล้วพี่น้องก็จะรู้ซึ้งถึงคำสอนอันประเสริฐของอิสลาม อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ وَقَرۡنَ فِي بُيُوتِكُنَّ وَلَا تَبَرَّجۡنَ تَبَرُّجَ ٱلۡجَٰهِلِيَّةِ ٱلۡأُولَىٰ...٣٣ ﴾ [الأحزاب: 33]

ความว่า “และจงอยู่ในบ้านเรือนของพวกเธอ และอย่าได้อวดความงามเช่นเดียวกับที่สตรีในสมัยอนารยชนต่างได้อวดกัน” (อัล-อะหฺซาบ: 33)

สำหรับคำครหาที่หาว่า“อิสลามกีดกันอิสรภาพของสตรี”นั้น แท้จริงแล้วอิสลามได้กำหนดให้เพศชายเป็นผู้คอยดูแล ปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของสตรีต่างหากเล่า อัลลอฮฺตรัสว่า

 ﴿ ٱلرِّجَالُ قَوَّٰمُونَ عَلَى ٱلنِّسَآءِ بِمَا فَضَّلَ ٱللَّهُ بَعۡضَهُمۡ عَلَىٰ بَعۡضٖ وَبِمَآ أَنفَقُواْ مِنۡ أَمۡوَٰلِهِمۡۚ... ٣٤﴾ [النساء : 34]

ความว่า “บรรดาชายคือผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองเลี้ยงดูเหล่าสตรี ( ภรรยา ) อันเนื่องจากการที่อัลลอฮฺได้ให้บางคนเหนือกว่าอีกบางคน (ทางด้านพละกำลัง ความกล้าหาญ เป็นต้น) และด้วยการที่พวกเขาได้จ่ายทรัพย์สินของพวกเขา ( ในการเลี้ยงดู )” (อัน-นิสาอ์ : 34 )

ท่านอิบนุ กะษีรฺได้อรรถาธิบายว่า “ผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง หมายถึง ในด้านการเป็นผู้นำ เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ตัดสินเมื่อเห็นไม่ตรงกัน เป็นผู้ที่คอยอบรมบ่มนิสัย และแนะนำเมื่อนางเบี่ยงเบนออกจากแนวทางที่ถูกต้อง”

ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า “หมายถึงบุรุษเพศเป็นผู้ปกครองดูแลเหล่าสตรี จึงเป็นหน้าที่ของสตรีที่ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามเขา เพื่อสนองต่อคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ และส่วนหนึ่งจากการเชื่อฟังสามี คือการทำดีต่อบุคคลในครอบครัวของสามีและการรักษาทรัพย์สินของเขา” (ตัฟซีรอิบนุกะษีร เล่ม : 1 หน้า : 491)

 

4. หน้าที่ของผู้ศรัทธาต่อสตรีเพศ

1. จะต้องให้การอบรมบ่มนิสัยต่อบุตรและภรรยาของเราด้วยคำสอนที่ถูกต้อง อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ قُوٓاْ أَنفُسَكُمۡ وَأَهۡلِيكُمۡ نَارٗا وَقُودُهَا ٱلنَّاسُ وَٱلۡحِجَارَةُ عَلَيۡهَا مَلَٰٓئِكَةٌ غِلَاظٞ شِدَادٞ لَّا يَعۡصُونَ ٱللَّهَ مَآ أَمَرَهُمۡ وَيَفۡعَلُونَ مَا يُؤۡمَرُونَ ٦ ﴾ [التحريم : 6]

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงปกป้องตัวของพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้รอดพ้นจากไฟนรกเถิด ซึ่งเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์ และก้อนหิน มีมะลาอิกะฮฺผู้แข็งกร้าวคอยเฝ้ารักษามันอยู่ พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ และจะน้อมรับปฏิบัติตามที่ได้รับบัญชาเสมอ” (อัต-ตะหฺรีม : 6)

            ท่านอะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้อรรถาธิบายว่า “ท่านทั้งหลายจงให้การอบรมบ่มนิสัยและให้คำสอนที่ดีๆ แก่พวกเขา”

ท่านอิหม่ามอัล-บุคอรีย์และมุสลิมได้รายงานจากหะดีษของอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«كُلُّكُمْ رَاْعٍ وَمَسْؤُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ» [رواه البخاري برقم 2558 ومسلم برقم 1829]

ความว่า “ท่านทั้งหลายมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ และต้องถูกสอบสวนต่อความรับผิดชอบของเขา” ( บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ : 2558 และมุสลิม : 1829 )

            หากสุภาพบุรุษแต่ละคนทำหน้าที่ ดูแลเอาใจใส่ และให้ความสำคัญกับครอบครัวของตนเอง พยายามที่จะนำหลักธรรมคำสอนจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺมาใช้ในการอบรมขัดเกลาสมาชิกในครอบครัวแล้วไซร้ แน่นอนว่าสังคมที่เขาอาศัยอยู่จะเป็นสังคมที่ดีอย่างแน่นอน

 

            2. แสวงหาวิชาความรู้เป็นเนืองนิจ อันเนื่องด้วยกับวิชาความรู้เป็นมาตราวัดความถูกต้อง รู้ความจริง แยกแยะสิ่งถูกผิดได้อย่างดีเยี่ยมตรงไปตรงมา ทั้งสามารถตอบโต้ความคิดที่บิดเบือนนอกรีต และเปิดโปงแผนการณ์ของผู้ที่มีอคติต่ออิสลามอย่างชัดเจน ปราศจากความคลุมเครือ  อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

﴿قُلۡ هَلۡ يَسۡتَوِي ٱلَّذِينَ يَعۡلَمُونَ وَٱلَّذِينَ لَا يَعۡلَمُونَۗ إِنَّمَا يَتَذَكَّرُ أُوْلُواْ ٱلۡأَلۡبَٰبِ ٩ ﴾ [الزمر: ٩] 

ความว่า “จงกล่าวเถิดโอ้มุหัมมัดว่าระหว่างบรรดาผู้ที่มีความรู้กับบรรดาผู้ที่ไม่มีความรู้จะเท่าเทียมกันกระนั้นหรือ? แท้จริงบรรดาผู้มีสติปัญญาเท่านั้นที่จะใคร่ครวญ” ( อัซซุมัร : 9)

 

            3. เชิญชวนสู่อัลลอฮฺพร้อมกับตักเตือนผู้คนให้หลีกห่างจากคนชั่วและผู้ไม่หวังดีต่ออิสลามทั้งหลาย และจากแผนการของพวกเขาที่ต้องการทำลายบรรดามุสลิมะฮฺ ต้องการนำพวกนางออกจากคำสอนอันสูงส่งของอิสลาม ต้องการทำลายศาสนาออกจากจิตใจของพวกนาง อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในสูเราะฮฺยูซุฟ ว่า

﴿قُلۡ هَٰذِهِۦ سَبِيلِيٓ أَدۡعُوٓاْ إِلَى ٱللَّهِۚ عَلَىٰ بَصِيرَةٍ أَنَا۠ وَمَنِ ٱتَّبَعَنِيۖ وَسُبۡحَٰنَ ٱللَّهِ وَمَآ أَنَا۠ مِنَ ٱلۡمُشۡرِكِينَ ١٠٨ ﴾ [يوسف: ١٠٨] 

ความว่า “จงกล่าวเถิดมุหัมมัดว่า นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้องสู่อัลลอฮฺด้วยความประจักษ์แจ้ง ทั้งตัวฉันและผู้ปฏิบัติตามฉัน มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺ ฉันมิได้อยู่ในกลุ่มของบรรดาผู้ตั้งภาคี” (ยูซุฟ : 108)

 

 

และท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«فَوَاللَّهِ لَأَنْ يَهْدِيَ اللَّهُ بِكَ رَجُلًا وَاحِدًا خَيْرٌ لَكَ مِنْ أَنْ يَكُونَ لَكَ حُمْرُ النَّعَمِ» [رواه مسلم برقم 2406]

ความว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ หากอัลลอฮฺได้ให้ใครคนหนึ่งได้รับทางนำด้วยการแนะนำเชิญชวนของท่าน นั่นย่อมดีกว่าการที่ท่านได้รับอูฐแดงเสียอีก” ( บันทึกโดยมุสลิม : 2406 )

            (อูฐแดง เป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดของชาวอาหรับสมัยนั้น เป็นการเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีค่าเพื่อให้เข้าใจดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับที่เราเปรียบเทียบว่า “เวลามีค่ายิ่งกว่าทอง” ผู้แปล )

 

..............................

แปลโดย : อับดุศศอมัด อัดนาน

ตรวจทานโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

คัดลอกจาก  http://IslamHouse.com/415261

 

 

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).