Loading

 

ข้อมูลโดยสังเขปของตำราหะดีษทั้งหก

    ข้อมูลโดยสังเขปของตำราหะดีษทั้งหก

 เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์

 ชื่อผู้เขียน

ท่านคือ อบู อับดิลลาฮฺ มุหัมมัด บิน อิสมาอีล บิน อิบรอฮีม บิน อัล-มุฆีเราะฮฺ บิน บัรดิซบะฮฺ อัล-ญุอฺฟีย์ อัล-บุคอรีย์ เกิดที่เมืองบุคอรอ รัสเซีย เมื่อปี ฮ.ศ. 194 และเสียชีวิต เมื่อปี ฮ.ศ. 256 เมื่ออายุได้ 62 ปี

 

สาเหตุของการเขียนและชื่อเต็มของหนังสือ  

อัล-บุคอรีย์เป็นคนแรกที่ได้คัดเลือกและรวบรวมหะดีษที่เศาะฮีหฺหรือถูกต้องเท่านั้นเขียนขึ้นเป็นตำรา ท่านได้ให้ความสำคัญกับหนังสือเล่มนี้มาก กว่าจะออกเป็นเล่มได้ท่านต้องทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลาถึง 16 ปีเต็ม หะดีษที่ท่านได้รวบรวมไว้เป็นยอดหะดีษที่ได้กลั่นกรองและคัดเฟ้นจากหะดีษต่างๆ กว่า 60,000 หะดีษ เหตุผลหนึ่งที่อัล-บุคอรีย์มุ่งมั่นเขียนตำราเล่มนี้ขึ้นมาเพราะท่านเห็นว่าตำราหะดีษที่ถูกเขียนขึ้นมาก่อนหน้าท่านนั้นเคล้าด้วยหะดีษเศาะฮีหฺ หะสัน และเฎาะอีฟ ซึ่งทำให้คนอ่านที่ไม่ใช่นักหะดีษไม่อาจแยกแยะได้ระหว่างหะดีษเหล่านั้น ท่านได้ตั้งชื่อหนังสือว่า "อัล-ญามิอฺ อัล-มุสนัด อัศ-เศาะฮีหฺ อัล-มุคตะศ็อรฺ มิน อุมูร เราะสูลิลลาฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม วะสุนะนิฮี วะ อัยยามิฮี" หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม "เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์"

 

ความสำคัญของหนังสือ   

ดูจากเป้าหมายในการเขียนของอัล-บุคอรีย์แล้ว ไม่เป็นการแปลกเลยถ้าอัล-บุคอรีย์จะโด่งดังเนื่องจากหนังสืออัล-ญามิอุศเศาะฮีหฺเล่มนี้ของท่าน เพราะบรรดาอุลามาอ์ต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า "หนังสืออัล-ญามิอุศเศาะฮีหฺเป็นหนังสือที่ถูกต้องมากที่สุดหลังจากอัลกุรอาน"

 จำนวนหะดีษในเศาะฮีหฺบุคอรีย์  

อิบนุศ เศาะลาหฺ กล่าวว่า จำนวนหะดีษในเศาะฮีหฺอัล-บุคอรีย์มีทั้งหมด 7,275 หะดีษ ส่วนหะดีษทีไม่ซ้ำกันมีจำนวนเพียง 4,000 หะดีษ

 

ข้อแม้และวิธีเขียนของบุคอรีย์  

อัล-บุคอรีย์ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงข้อแม้ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ แต่เราสามารถสัมผัสถึงข้อแม้ของท่านจากหลายๆด้าน อาทิเช่น จากการตั้งชื่อของหนังสือ จากการวิเคราะห์และติดตามการนำเสนอหะดีษของท่าน เป็นต้น ...

คำว่า "ญามิอฺ" ซึ่งแปลว่า "รวม" บ่งบอกว่าท่านไม่ได้เจาะจงเฉพาะหะดีษเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ท่านได้รวบรวมหะดีษที่เกี่ยวกับ หุก่มหรือบัญญัติศาสนา ฟะฎออีลหรือความประสริฐ ประวัติศาสตร์ มุอามะลาตหรือการสังคม การซื้อขาย อาดาบหรือจริยธรรม ฯลฯ

คำว่า "อัศ-เศาะฮีหฺ" บ่งบอกว่าทุกหะดีษที่ท่านได้บันทึกในหนังสือเล่มนี้ล้วนเป็นหะดีษที่เศาะฮีหฺและถูกต้องเท่านั้น

คำว่า "อัล-มุสนัด" บ่งบอกว่าหะดีษตามข้อแม้ของท่านนั้นต้องเป็นหะดีษที่มีสายรายงานที่ต่อเนื่องกันและไม่ขาดตอนเท่านั้น ส่วนหะดีษที่เราพบว่าค้านกับข้อแม้ดังกล่าวนั้นเป็นเพียงหะดีษที่ท่านใช้ประกอบเท่านั้น

คำว่า "อัล-มุคตะศ็อรฺ" ซึ่งแปลว่า ย่อ บ่งบอกว่าท่านได้คัดเลือกและย่อหะดีษต่างๆ ที่มีอยู่ให้เหลือเพียงไม่กี่พันหะดีษดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

คำว่า "มิน อุมูรฺ เราะสูลิลลาฮฺ...." หมายถึงจากส่วนหนึ่งของกิจการของท่านเราะสูล บ่งบอกว่าท่านไม่ได้เจาะจงเฉพาะหะดีษที่เป็นคำพูดของท่านเราะสูลเท่านั้นแต่จะรวมถึงการกระทำและกิจวัตรประจำวันของท่านด้วย

อีกข้อแม้หนึ่งที่ทำให้หนังสือเศาะฮีหฺอัล-บุคอรีย์โดดเด่นเหนือหนังสือเศาะฮีหฺอื่นๆ คือ อัล-บุคอรีย์ตั้งข้อแม้ว่าท่านจะไม่บันทึกหะดีษลงในหนังสือเล่มนี้นอกจากจะแน่ใจว่านักรายงานหะดีษในสายรายงานดังกล่าวเคยพบหน้าและติดต่อกันเท่านั้น

ในสายตาของท่านคนร่วมสมัยนั้นไม่ใช่ว่าจะได้พบหน้าและติดต่อกันเสมอไป ซึ่งเป็นช่องโหว่อย่างหนึ่งที่จำนำไปสู่การโกหกในการรายงานหะดีษได้ ทำให้สถานภาพของหะดีษนั้นตกไป แต่มันเป็นข้อแม้ที่หนักและลำบากมาก ดังนั้นอุละมาอ์หะดีษส่วนใหญ่(แม้แต่มุสลิมซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน) จึงไม่เห็นด้วยกับข้อแม้ข้อนี้ของอัล-บุคอรีย์

 

การให้ความสำคัญของอุละมาอ์

เนื่องจากความประเสริฐอันล้นเหลือของหนังสือเล่มนี้ จึงทำให้บรรดาอุละมาอ์หลังจากท่านได้ให้ความสำคัญกับมันอย่างมาก บางท่านทำการคัดย่อเอาเฉพาะเนื้อหาของหะดีษเท่านั้นโดยตัดสายรายงานออกดังที่อัล-มุนซิรีย์ได้ทำไว้ บางท่านทำการเพิ่มเติมหะดีษเศาะฮีหฺที่คิดว่าอยู่ในข้อแม้ของอัล-บุคอรีย์แต่ท่านไม่ได้ใส่ไว้ในหนังสือของท่านเล่มนี้ ดังที่อัล-หากิมได้เขียนไว้ และหลายท่านทำการอธิบายอย่างยาวเหยียดถึงความหมายของหะดีษและบทเรียนต่างๆ ดังที่อิบนุ หะญัรฺได้ทำไว้ในหนังสือ "ฟัตหุลบารีย์"ของท่าน ซึ่งเป็นการอธิบายที่สมบูรณ์และครอบคลุมที่สุดจนมีการกล่าวขานว่า "ไม่มีการฮิจญ์เราะฮฺอีกแล้วหลังจากฟัตฮฺ" (หมายความว่า ไม่ต้องหาหนังสือเล่มอื่นอีกแล้วถ้ามีฟัตหุลบารีย์อยู่) วัลลอฮุ อะอฺลัม ..

เศาะฮีหฺ มุสลิม

 ชื่อผู้แต่ง

ท่านคือ อิมาม อบุลหะสัน มุสลิม บิน อัล-หัจญ์ญาจญ์ บิน มุสลิม บิน วัรดฺ บิน เกาชาซฺ อัล-กุชัยรีย์ อัน-นัยสาบูรีย์ เกิดที่เมืองนัยสาบูรฺ เมื่อปี ฮ.ศ. 204 และเสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ. 261 เมื่ออายุได้ 57 ปี

 

สาเหตุของการเขียนและชื่อหนังสือ  

อิมามมุสลิมได้กล่าวถึงแรงดลใจที่ทำให้ท่านต้องเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาในบทนำของท่านพอจะสรุปความได้ว่า มีคนมาร้องขอให้ท่านทำการคัดเฟ้นหะดีษที่ถูกต้องและไม่ซ้ำกันที่รายงานมาจากท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เพื่อความสะดวกในการศึกษาและง่ายต่อการเข้าใจและนำไปปฏิบัติ ดังนั้นท่านจึงได้ทุ่มชีวิตของท่านทำการคัดเฟ้นจากจำนวนหะดีษทั้งสิ้น 300,000 หะดีษ และบันทึกหะดีษดังกล่าวไว้เป็นเล่มเป็นเวลาถึง 15 ปี เต็ม หลังจากนั้นท่านได้เสนอให้เชค อบู ซุรอะฮฺ อัร-รอซีย์ ได้ตรวจทาน และทุกครั้งที่ อบู ซุรอะฮฺ กล่าวว่าหะดีษใดมีตำหนิท่านก็จะลบหะดีษนั้นทิ้งทันที จนกระทั่งท่านแน่ใจว่าหะดีษต่างๆ ที่เหลือเป็นหะดีษที่ถูกต้องทั้งสิ้น และท่านได้ตั้งชื่อหนังสือของท่านว่า "อัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฮีหฺ" หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของ "เศาะฮีหฺ มุสลิม" นั่นเอง

 

ความสำคัญของหนังสือ

อุละมาอ์ส่วนใหญ่มีมติเห็นพ้องกันว่า หนังสือเศาะฮีหฺมุสลิมเป็นหนังสือที่ถูกต้องที่สุด รองลงมาจากหนังสือเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ มีเพียงอุละมาอ์ส่วนน้อยเท่านั้นที่เห็นว่า หนังสือเศาะฮีหฺมุสลิมเป็นหนังสือที่ถูกต้องที่สุดเหนือเศาะฮีหฺอัล-บุคอรีย์ ดังที่ท่านอบู อะลี อัน-นัยสาบูรีย์กล่าวไว้ว่า "ไม่มีหนังสือเกี่ยวกับวิชาหะดีษใต้แผ่นฟ้านี้ที่ถูกต้องมากกว่าหนังสือของมุสลิม" (ดู ญามิอุลอุศูล 1/188)

 

จำนวนหะดีษในเศาะฮีหฺมุสลิม

ยังไม่มีผู้ศึกษาคนใดยืนยันอย่างแน่นอนว่าจำนวนหะดีษในเศาะฮีหฺมุสลิมมีเท่าใด แต่จากการนับจำนวนหะดีษในหนังสือ มิฟตาหฺ กุนูซฺ อัส-สุนนะฮฺ พบว่า หะดีษในเศาะฮีหฺมุสลิมมีทั้งหมดประมาณ 7,581 หะดีษ และในหนังสือเศาะฮีหฺมุสลิมที่ศึกษา(ตะห์กีก)โดย เชค มุหัมมัด ฟุอาด อับดุลบากีย์ พบว่าจำนวนหะดีษที่ไม่ซ้ำกันในเศาะฮีหฺมุสลิมมีทั้งสิ้นประมาณ 3,033 หะดีษ วัลลอฮุ อะอฺลัม

 

ข้อแม้และวิธีการเขียนของมุสลิม

บางท่านอาจจะสงสัยว่า ในเมื่อ อัล-บุคอรีย์ ซึ่งเป็นเชคของมุสลิมได้เขียนหนังสือเศาะฮีหฺขึ้นมาแล้วและอุละมาอ์ต่างยอมรับถึงความถูกต้องของหนังสือเล่มนั้น ซึ่งในจำนวนอุละมาอ์ดังกล่าวมีมุสลิมรวมอยู่ด้วย แล้วทำไมมุสลิมจึงต้องรวบรวมหะดีษเศาะฮีหฺขึ้นมาอีก ? คิดว่าข้อแม้และวิธีการรวบรวมหะดีษของมุสลิมต่อไปนี้คงจะเป็นคำตอบได้ดีต่อข้อสงสัยดังกล่าว

1. ท่านเน้นความละเอียดอ่อนในด้านการรายงานหะดีษ โดยท่านจะแยกแยะระหว่างหะดีษที่รายงานโดยใช้สำนวน อัคบะเราะนา กับ หัดดะษะนา และจะยึดมั่นกับตัวบทที่ได้รับรายงานมาอย่างเคร่งครัด จากจุดนี้ทำให้อิมามนะวะวีย์ชี้ว่าเป็นข้อแม้ที่เหนือกว่าข้อแม้ของบุคอรีย์

2. ท่านเลือกบันทึกหะดีษที่มีสายรายงานมาถึงท่านจากสองสายรายงานขึ้นไปเท่านั้นตลอดสายรายงาน โดยท่านจะยึดกับปฏิบัติตามหะดีษที่เกี่ยวกับข้อแม้ของการเป็นพยานบุคคลซึ่งต้องมีอย่างน้อยสองคน ซึ่งสิ่งดังกล่าวไม่ใช่ข้อแม้ของบุคอรีย์

3. ท่านได้รวบรวมตัวบทหะดีษของแต่ละสายรายงานมาไว้ที่เดียวกันหมดโดยปราศจากการตัดทอนตามบท(บาบ) หรือหัวข้อต่างๆ เช่นที่อัล-บุคอรีย์ได้ตัดทอนและตั้งหัวข้อ

4. ก่อนการบันทึกท่านจะแบ่งหะดีษและนักรายงานออกเป็นสามระดับ คือ

4.1 หะดีษที่มาจากนักรายงานที่จดจำอย่างแม่นยำ

4.2 หะดีษที่มาจากนักรายงานที่มีความจำปานกลาง

4.3 หะดีษที่มาจากนักรายงานที่อ่อนและถูกทิ้ง แล้วท่านก็จะบันทึกหะดีษที่มาจากนักรายงานที่แม่นยำไว้เป็นบรรทัดฐาน ตามด้วยหะดีษที่มาจากนักรายงานที่มีความจำปานกลาง ส่วนหะดีษที่มาจากนักรายงานที่อ่อนท่านก็คัดออก

5. ท่านเห็นว่าการรายงานจากนักรายงานที่อยู่ร่วมสมัยกันนั้น ถึงแม้ว่าไม่เคยมีรายงานว่าเขาทั้งสองเคยพบกันก็เป็นการเพียงพอแล้วที่จะบ่งบอกถึงความต่อเนื่องและไม่ขาดตอนของสายรายงาน ซึ่งผิดกับข้อแม้ของอัล-บุคอรีย์ที่จำเป็นต้องแน่ใจว่าเขาทั้งสองเคยพบหน้ากัน

 

การให้ความสำคัญของอุละมาอ์

บรรดาอุละมาอ์ได้ให้ความสำคัญกับหนังสือเศาะฮีหฺมุสลิมไม่น้อยไปกว่าการให้ความสำคัญของพวกเขาต่อเศาะฮีหฺอัล-บุคอรีย์เลย ซึ่งบางท่านทำการคัดย่อเอาเฉพาะตัวบทของหะดีษเท่านั้นโดยตัดสายรายงานออก บางท่านทำการเพิ่มเติมหะดีษเศาะฮีหฺที่คิดว่าอยู่ในข้อแม้ของมุสลิมแต่ไม่ได้ใส่ไว้ในหนังสือของท่าน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของหนังสือ มุสตัดร็อก และหลายท่านทำการอธิบายและวิเคราะห์ถึงความหมายของหะดีษและบทเรียนต่างๆ และในบรรดาหนังสืออธิบายที่เป็นที่กล่าวขานและเป็นที่รอมรับกันของอุละมาอ์อิสลามได้แก่หนังสือ อัล-มินฮาจญ์ ชัรหฺ เศาะฮีหฺมุสลิม บิน อัล-หัจญ์ญาจญ์ ของอิมามอัน-นะวะวีย์ วัลลอฮุ อะอฺลัม ..

 สุนัน อบี ดาวูด

 

สุนัน อบี ดาวูดเป็นหนังสือหะดีษอีกเล่มหนึ่งที่ได้รับการสรรเสริญชมเชยจากบรรดาอุละมาอ์หะดีษทุกภูมิภาค และอุละมาอ์ส่วนใหญ่มีมติว่าหนังสือสุนัน อบี ดาวูดมีลำดับความสำคัญและความประเสริฐเป็นที่สามรองจากเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์และเศาะฮีหฺ มุสลิม

 

ชื่อผู้แต่ง

ท่านคือ อบู ดาวูด สุลัยมาน บิน อัล-อัชอัษฺ บิน อิสหากฺ บิน บะชีรฺ บิน ชัดด๊าด บิน อัมรฺ บิน อามิรฺ อัล-อัซฺดีย์ อัส-สิญิสตานีย์ เกิดที่เมืองสิญิสตาน (ทางตอนเหนือของกรุงคาบูลปัจจุบัน ซึ่งมีพรมแดนติดกับแคว้นสินธุและอินเดีย) เมื่อปี ฮ.ศ. 202 และเสียชีวิตที่เมืองบัศเราะฮฺเมื่อปี ฮ.ศ. 375 เมื่ออายุได้  73 ปี

 

 

 

ชื่อหนังสือและสาเหตุของการเขียน

หนังสือของท่านเป็นที่รู้จักกันในนามของ "สุนัน อบี ดาวูด" ส่วนสาเหตุของการเขียนนั้นเพื่อคัดสรรและรวบรวมหะดีษที่บรรดาอุละมาอ์อิสลามใช้เป็นหลักฐานในด้านศาสนบัญญัต(ฟิกฮฺ) ต่างๆ เพื่อความสะดวกในการศึกษาค้นคว้า ดังจะได้เห็นจากข้อแม้ในการเขียนของท่านต่อไป

 

ความสำคัญของหนังสือ

1. อบู ดาวูดเองกล่าวว่า "ฉันไม่ทราบว่ายังมีหนังสืออื่นจากอัลกุรอานที่มนุษย์จำเป็นต้องศึกษานอกจากหนังสือสุนันเล่มนี้"

2. มุหัมมัด บิน มัคลัด กล่าวว่า "หลังจากที่อบู ดาวูดได้แต่งหนังสือสุนันและอ่านแก่ประชาชนแล้ว ทำให้หนังสือของท่านเปรียบเสมือนคัมภีร์สำหรับนักรายงานหะดีษ"

3. ซะกะรียา อัส-สาญีย์ กล่าวว่า "อัลกุรอานเป็นรากฐานของอิสลาม ส่วนหนังสือสุนัน อบี ดาวูดเป็นเงื่อนไขของอิสลาม"

4. อิมาม อัล-เฆาะซาลีย์กล่าวว่า "เพียงพอแล้วสำหรับมุจตะฮิดที่จะทำการศึกษาหะดีษของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จากสุนันอบีดาวูด"

 

จำนวนหะดีษในสุนันอบีดาวูด

อบู ดาวูดกล่าวว่า "ฉันได้รวบรวมหะดีษของท่านรสูลุลลอฮฺจำนวน  500,000  หะดีษ และฉันได้คัดเฟ้นเพื่อบันทึกไว้ในหนังสือสุนันของฉันเล่มนี้ เพียง 4,800 หะดีษ บวกกับหะดีษมุรสัลอีกประมาณ 600 หะดีษ" ซึ่งรวมทั้งหมด 5,400 หะดีษ

 

ข้อแม้และวิธีการเขียนของอบูดาวูด

อบู ดาวูดได้กล่าวถึงข้อแม้ไว้ในหนังสือของท่านที่เขียนถึงชาวนครมักกะฮฺพอสรุปใจความสำคัญดังนี้

1. ท่านจะบันทึกหะดีษต่างๆ ที่เกี่ยวกับหุก่มฟิกฮฺ(บทบัญญัติทางกฎหมายอิสลาม)เท่านั้น

2. ในแต่ละหมวดท่านจะบันทึกหะดีษเพียงหนึ่งหรือสองหะดีษเท่านั้น ถึงแม้ว่าในหมวดดังกล่าว จะมีหะดีษเศาะฮีหฺมากมายก็ตาม เพื่อความสะดวกในการใช้ประโยชน์

3. บางครั้งท่านจะคัดย่อหะดีษยาวๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายและทราบถึงจุดที่เกี่ยงข้องกับหุก่มฟิกหฺในหมวดนั้น

4. เมื่อใดที่ไม่มีหะดีษมุสนัด ท่านจะยกหะดีษมุรสัลมาบันทึกเป็นหลักฐานแทน เพราะตามทัศนะของท่านหะดีษมุรสัลนั้นสามารถใช้เป็นหลักฐานได้ถึงแม้ว่าความแข็งของมันจะไม่เท่ากับหะดีษมุสนัดก็ตาม

5. ท่านจะไม่รายงานหะดีษในสุนันของท่านจากนักรายงานที่บรรดาอุละมาอ์มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าเขาผู้นั้นเป็นนักรายงานที่ถูกเมิน(มัตรูก)

6. ท่านจะคุยและชี้แจงเกี่ยวกับหะดีษที่มีสายรายงานอ่อนมากๆ และสายรายงานที่ไม่ถูกต้อง

7. หะดีษใดที่ท่านนิ่งเงียบและไม่กล่าวชี้แจงใดๆ แสดงว่าหะดีษนั้นเป็นหะดีษที่ดี(ศอลิหฺ) และส่วนหนึ่งอาจจะมีความถูกต้องมากกว่าอีกส่วนหนึ่ง

 

การนิ่งเงียบของอบูดาวูดต่อหะดีษในหนังสือสุนัน

มีอุละมาอ์ไม่น้อยที่หลงประมาทกับข้อแม้ของอบู ดาวูดตามข้อ 7 ทำให้พวกเขาหลงเข้าใจว่า ทุกหะดีษที่อบู ดาวูดได้นิ่งเงียบและไม่กล่าวชี้แจงใดๆ นั้นเป็นหะดีษที่ดีสามารถใช้เป็น(หุจญะฮฺ) หลักฐานได้ และหะดีษนั้นไม่ตกไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหะดีษหะสัน และบางครั้งอาจจะถึงระดับเศาะฮีหฺด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัล-มุนซิรีย์และอิบนุลก็อยยิมต่างก็นิ่งเงียบตามอบูดาวูดด้วย

ความจริงแล้วการนิ่งเงียบของอบูดาวูดดังกล่าวไม่ได้แสดงว่าหะดีษนั้นมีสายรายงานที่ดีเสมอไป อิมามอัน-นะวะวีย์กล่าวว่า "แท้จริง หะดีษใดก็ตามที่เราพบเห็นในสุนันอบีดาวูดที่ท่านไม่ได้ระบุถึงระดับของหะดีษ(ว่าถูกต้องหรือไม่) และไม่มีอุละมาอ์ที่น่าเชื่อถือคนใดกล่าวว่าหะดีษนั้นถูกต้อง(เศาะฮีหฺ) หรือดี(หะสัน) ก็แสดงว่าเป็นหะดีษที่ดี (หะสัน) และหากว่ามีอุละมาอ์คนใดได้ชี้แจงและกล่าวว่าเป็นหะดีษอ่อน หรือมีผู้รู้พบเห็นว่าสายรายงานนั้นอ่อนและไม่มีหะดีษสายอื่นที่มาผนวกกันให้แข็งขึ้น ดังนั้น เราต้องให้คำชี้ขาดว่าหะดีษนั้นเป็นหะดีษที่อ่อน และจงอย่าหลงประมาทกับการนิ่งเงียบของท่านอบูดาวูดอีก"

อิบนุ หะญัรฺกล่าวว่า "ถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่าการอาศัยการนิ่งเงียบของอบูดาวูดเพื่อเป็นข้ออ้างหะดีษนั้นดีสามารถใช้เป็นหลักฐานได้นั้น เป็นวิธีการที่อ่อน(และไม่ถูกต้อง) เพราะท่านได้บันทึกหะดีษจำนวนไม่น้อยจากนักรายงานที่อ่อนและท่านไม่ได้ชี้แจงหรือระบุไว้... ดังนั้น ผู้ศึกษาหะดีษจึงไม่สมควรคล้อยตามท่านอย่างปิดหูปิดตา และรับหะดีษที่มาจากนักรายงานที่อ่อนซึ่งอบู ดาวูดได้นิ่งเงียบไว้ และใช้มันเป็นหลักฐานอ้างอิง แต่ทว่า วิธีการที่ถูกต้องนั้น คือต้องไตร่ตรองถึงหะดีษและสายรายงานดังกล่าวว่ามีสายรายงานอื่นมาตาม(มุตาบะอะฮฺ) ที่สามารถยกระดับมันให้แข็งขึ้นหรือเปล่า? หากไม่แล้วก็จงหยุดจากการใช้มันเป็นหลักฐานอ้างอิงเสีย"

 สุนัน อัต-ติรมิซีย์

 

สุนัน อัต-ติรมิซีย์ เป็นหนังสือหะดีษอีกเล่มหนึ่งที่ได้รับการชมเชยจากบรรดาอุละมาอ์หะดีษทุกแหล่งหล้า และอุละมาอ์ส่วนใหญ่มีมติว่าหนังสือสุนัน อัต-ติรมิซีย์มีลำดับความสำคัญและความประเสริฐเป็นที่สี่รองจากเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ เศาะฮีหฺ มุสลิม และสุนัน อบี ดาวูด

 

ชื่อผู้แต่ง

ท่านคือ อัล-หาฟิซฺ อบู อีซา มุหัมมัด บิน อีซา บิน เสาเราะฮฺ บิน มูซา บิน อัฎ-เฎาะห์หาก อัส-สุละมีย์ อัล-บูฆีย์ อัต-ติรมิซีย์ เกิดที่ เมืองติรมิซฺ แคว้นคุรอซาน(อยู่ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำอามู ดาร์ยาหรือแม่น้ำญีหูน ในทาจิกิสตาน ปัจจุบัน) เมื่อปี ฮ.ศ. 209 (ค.ศ. 824) และเสียชีวิตที่หมู่บ้านบูฆของเมืองติรมิซฺ เมื่อปี ฮ.ศ. 279 (ค.ศ. 892) เมื่ออายุได้ 70 ปี

 

 

 

ชื่อหนังสือและสาเหตุของการเขียน

เป็นที่ขัดแย้งกันของบรรดาอุละมาอ์เกี่ยวกับชื่อหนังสือของท่าน แต่ชื่อที่น่าจะสอดคล้องกับเนื้อหาของหนังสือที่สุดคือ "อัล-ญามิอฺ อัล-มุคตะศ็อรฺ มิน อัส-สุนัน อัน เราะสูลิลลาฮฺ วะ มะริฟะอฺ อัศ-เศาะฮีหฺ วะ อัล-มะอฺลูล วะ มา อะลัยฮิ อัล-อะมัล" หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของหนังสือ "ญามิอฺ อัต-ติรมิซีย์" หรือ “สุนัน อัต-ติรมิซีย์” ท่านเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อรวบรวมหะดีษที่บรรดาอุละมาอ์อิสลามใช้เป็นหลักฐานในด้านศาสนบัญญัติ

 

ความสำคัญของหนังสือ

เป็นหนังสือที่แหวกแนวจากหนังสือทั้งสามเล่มที่ผ่านมา ทำให้มีสาระสำคัญที่ไม่มีในหนังสืออื่น

1. อัต-ติรมิซีย์ กล่าวว่า "ผู้ใดที่ได้ครอบครองหนังสือเล่มนี้ไว้ที่บ้าน ก็เสมือนกับว่าบ้านของเขามีนบีที่กำลังปราศรัยอยู่"

2. อิบนุล อะษีรฺ กล่าวว่า "หนังสือของเขาเป็นหนังสือที่ดีเลิศและมีสาระมากกว่าหนังสือหะดีษเล่มอื่นๆ"

3. อบู อิสมาอีล อัล-ฮะเราะวีย์ กล่าวว่า "ฉันเห็นว่าหนังสือของอัต-ติรมิซีย์มีสาระมากกว่าหนังสือของอัล-บุคอรีย์และมุสลิม เพราะผู้อ่านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย"

4. ชาฮฺ อับดุลอะซีซฺ กล่าวว่า "หนังสืออัล-ญามิอฺของอัต-ติรมิซีย์เป็นหนังสือที่ดีเลิศกว่าหนังสือหะดีษทั้งหมด ด้วยเหตุผลคือ ด้านระเบียบการเขียนและไม่ซ้ำซาก ด้านการกล่าวถึงทัศนะของฟุเกาะฮาฮ์(นักฟิกฮฺ) และวิธีการใช้หะดีษเป็นหลักฐานอ้างอิง ด้านการกล่าวถึงระดับของหะดีษเศาะฮีหฺ เฎาะอีฟ และข้อตำหนิต่างๆ ด้านการชี้แจงถึงชื่อของนักรายงาน และสาระอื่นๆ ที่เกี่ยวกับนักรายงานหะดีษ"

 

จำนวนหะดีษในสุนัน อัต-ติรมิซีย์

ตามการลำดับหะดีษในหนังสืออัต-ติรมิซีย์ของ เชค มุหัมมัด ฟุอาด อับดุลบากีย์ มีทั้งหมด (ไม่รวมหะดีษที่อยู่ในหนังสืออิลัลในตอนท้าย) ประมาณ 3,956 หะดีษ

 

ข้อแม้และวิธีการเขียนของอัต-ติรมิซีย์

อัต-ติรมิซีย์ก็เหมือนกับอุละมาอ์หะดีษคนอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนถึงข้อแม้ในการเขียนหนังสือของท่าน แต่จากการอ่านหนังสือของท่าน เราพอจะวิเคราะห์และสรุปถึงข้อแม้ของท่านได้ดังนี้

1. ท่านจะบันทึกหะดีษต่างๆ ที่บรรดาอุละมาอ์ใช้เป็นหลักฐานด้านฟิกฮฺเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นหะดีษเศาะฮีหฺหรือเฎาะอีฟก็ตาม

2. ในหัวข้อของแต่ละเรื่องท่านจะบันทึกหะดีษที่เป็นที่รู้จักกันจากเศาะหาบะฮฺ ตามด้วยหะดีษจากเศาะหาบะฮฺคนอื่นๆ ซึ่งท่านมักจะกล่าวอิงว่า ในเรื่องนี้ได้มีรายงานจากเศาะหาบะฮฺคนใดบ้าง

3. ท่านจะกล่าวชี้แจงถึงระดับของหะดีษทุกหะดีษ และบางครั้งท่านจะอิงมาจากอุละมาอ์คนอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอัล-บุคอรีย์ซึ่งเป็นเชคคนโปรดของท่าน

4. ต่อจากนั้นท่านจะกล่าวถึงทัศนะของอุละมาอ์ต่างๆ ว่าใครบ้างที่ใช้หะดีษดังกล่าวเป็นหลักฐานอ้างอิง พร้อมกับชี้แจงถึงเหตุผล และอุละมาอ์คนใดบ้างที่ไม่ใช้หะดีษดังกล่าวว่าเป็นเพราะเหตุใด

5. ท่านจะแบ่งระดับหะดีษออกเป็นสามระดับ นั่นคือ เศาะฮีหฺ หะสัน และเฎาะอีฟ ซึ่งนับว่าท่านเป็นคนแรกที่ได้แบ่งระดับหะดีษดังกล่าว เพราะก่อนหน้าท่านอุละมาอ์ได้แบ่งหะดีษออกเป็นเศาะฮีหฺกับเฎาะอีฟเท่านั้น

6. ท่านจะคุยเกี่ยวกับข้อตำหนิและสาเหตุของหะดีษ (อิละลุลหะดีษ) ต่างๆ ในตอนท้ายของหนังสือ

 

การให้ความสำคัญของอุละมาอ์

เนื่องจากสาระและวิธีการเขียนที่ไม่เหมือนใครของหนังสือเล่มนี้ จึงทำให้บรรดาอุละมาอ์ให้ความสำคัญอย่างมาก บางท่านทำการคัดย่อเอาเฉพาะเนื้อหาของหะดีษเท่านั้น และหลายท่านทำการชะเราะฮฺ (อธิบาย) อย่างยาวเหยียดถึงความหมายของหะดีษและบทเรียนต่างๆ อาทิเช่น หนังสือ อาริเฎาะฮฺ อัล-อะหฺวะซีย์ ของ อบู บักรฺ อิบนุ อัล-อะเราะบีย์ ซึงเป็นหนังสือชะเราะฮฺที่โด่งดังที่สุด และหนังสือ ตุหฺฟะฮฺ อัล-อะหฺวะซีย์ ของ อัล-มุบาร็อกฟูรีย์ และหนังสือ บะหฺรุลมาซีย์ ของเชค มุหัมมัด บิน อิดรีส อัล-มัรบะวีย์ ซึ่งเป็นชะเราะฮฺภาษามลายู วัลลอฮุ อะอฺลัม

 

สุนัน อัน-นะสาอีย์

 

สุนัน อัน-นะสาอีย์ หรืออัล-มุจญ์ตะบาเป็นหนังสือหะดีษอีกเล่มหนึ่งที่ได้รับการสรรเสริญชมเชยจากบรรดาอุละมาอ์หะดีษทุกแหล่งหล้า และอุละมาอ์ส่วนใหญ่มีมติว่าหนังสือสุนัน อัน-นะสาอีย์มีลำดับความสำคัญและความประเสริฐเป็นที่ห้ารองจากสุนัน อัต-ติรมิซีย์

 

ชื่อผู้แต่ง

ท่านคือ อัล-หาฟิซฺ อบู อับดิรเราะฮฺมาน อะหมัด บิน ชุอีบ บิน อะลีย์ บิน สินาน บิน บะห์รฺ อัน-นะสาอีย์ เกิดที่เมืองนะสาในแคว้นคุรอซาน อยู่ในประเทศอิหร่านปัจจุบัน เมื่อปี ฮ.ศ. 215 และเสียชีวิตที่เมืองมักกะฮฺเมื่อเดือนชะอฺบานปี ฮ.ศ. 303 รวมอายุ 88 ปี

 

ชื่อหนังสือและสาเหตุของการเขียน

ไม่มีรายงานที่ชัดเจนจากอัน-นะสาอีย์ว่าท่านได้ตั้งชื่อหนังสือของท่านว่าอย่างไร แต่หนังสือของท่านเป็นที่รู้จักกันในนามของ'"อัส-สุนัน อัล-มุจญ์ตะบา” ซึ่งแปลว่าหะดีษต่างๆ ที่ถูกคัดเฟ้น หรือ "สุนัน อัน-นะสาอีย์"

ส่วนสาเหตุของการเขียนนั้น มีรายงานว่า อัน-นะสาอีย์ได้มอบหนังสืออัส-สุนัน อัล-กุบรอแก่เจ้าเมืองร็อมละฮฺเจ้าเมืองจึงถามว่า หะดีษในอัส-สุนัน อัล-กุบรอเป็นหะดีษที่ถูกต้อง(เศาะฮีหฺ)ทั้งหมดหรือไม่ ? ท่านตอบว่าไม่ เจ้าเมืองจึงขอให้ท่านคัดเอาเฉพาะหะดีษที่เศาะฮีหฺเท่านั้น ดังนั้น ท่านจึงได้เขียนอัส-สุนัน อัล-มุจญ์ตะบาขึ้นมา ซึ่งเป็นการคัดเฟ้นหะดีษที่มีตำหนิในอัส-สุนัน อัล-กุบรอออก ดังนั้น เมื่อนักหะดีษเอ่ยถึงสุนัน อัน-นะสาอีย์ก็หมายความถึง อัส-สุนัน อัล-มุจญ์ตะบา ไม่ใช่อัส-สุนัน อัล-กุบรอ

 

ความสำคัญของหนังสือ

1. อัล-หากิม กล่าวว่า "ผู้ใดที่ได้อ่านหนังสือของอัน-นะสาอีย์(อัลมุจญ์ตะบา) เขาจะพบกับความอัศจรรย์ในการร้อยเรียงที่ดี"

2. อับดุรเราะฮีม อัล-มักกีย์ กล่าวว่า "งานเขียนของอันนะสาอีย์มีความประเสริฐมากกว่างานเขียนหะดีษทั้งหลาย และไม่มีงานเขียนเกี่ยวกับหะดีษในอิสลามที่จะมาเทียบเคียงได้"

3. เชคยูนุส บิน อัลดุลลอฮฺ อัล-กอฎีย์ เห็นว่า หนังสือสุนัน อัน-นะสาอีย์ นั้นมีความประเสริฐมากกว่าเศาะฮีหฺอัล-บุคอรีย์เสียอีก

4. อบุล หะสัน อัล-มุอาฟิรีย์ กล่าวว่า "เมื่อท่านสังเกตุถึงหะดีษที่รายงานโดยนักหะดีษ ท่านจะพบว่าหะดีษที่รายงานโดยอัน-นะสาอีย์นั้นมีความถูกต้องมากกว่าหะดีษที่รายงานโดยคนอื่น"

5. อบู อับดิลลาฮฺ บิน รุชัยด์ กล่าวว่า "หนังสืออัน-นะสาอีย์เป็นงานเขียนที่ดีเลิศในบรรดางานเขียนสุนันทั้งหลาย"

6. อัด-ดาเราะกุฏนีย์ ได้ให้ชื่อหนังสือสุนัน อัล-มุจญ์ตะบา ว่าเศาะฮีหฺ อัน-นะสาอีย์เพราะความพิถีพิถันในงานเขียน

 

จำนวนหะดีษในสุนันอัน-นะสาอีย์

ตามหมายเลขที่ระบุในหนังสือตุหฺฟะตุล อัชร็อฟ ของอัล-มิซซีย์ ระบุว่าหะดีษในอัส-สุนัน อัล-มุจญ์ตะบามีประมาณ 5,760 หะดีษ

ข้อแม้และวิธีการเขียนของอัน-นะสาอีย์

อัน-นะสาอีย์ก็เหมือนกับอุละมาอ์หะดีษคนอื่นๆ ที่ไม่ได้บอกถึงข้อแม้ในหนังสือของท่านแต่อย่างใด แต่จากการวิเคราะห์หนังสือสุนันพอจะจับใจความสำคัญเกี่ยวกับข้อแม้ในการเขียนของท่านได้ดังนี้

1. ท่านได้คัดเฟ้นเฉพาะหะดีษที่ท่านคิดว่าถูกต้องเท่านั้นมาไว้ในอัส-สุนัน อัล-มุจญ์ตะบา

2. ท่านจะไม่รายงานหะดีษจากนักรายงานที่บรรดาอุละมาอ์หะดีษต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่านักรายงานคนนั้นถูกเมิน(มัตรูก)

3. ท่านจะขึ้นต้นสายรายงานด้วยคำว่า "อัคบะเราะนา"หรือ "อัคบะเราะนี" ทุกครั้ง ซึ่งต่างจากหนังสือสุนันเล่มอื่นๆ

4. ท่านจะคุยและชี้แจงถึงสถานภาพของสายรายงานหากพบว่ามีตำหนิหรือบกพร่อง เช่นเดียวกับตัวบทของหะดีษ ถ้าหากมีการเพิ่มเติมจากสายรายงานอื่นท่านก็จะกล่าวถึง

5. มีความละเอียดอ่อนและเฉียบแหลมในการตั้งหัวข้อและวิเคราะห์หะดีษ จากข้อแม้ดังกล่าวข้างต้นเราจึงพบว่าหะดีษเฎาะอีฟและนักรายงานที่มีตำหนิหรือบกพร่องในสุนัน อัน-นะสาอีย์นั้นมีน้อยมาก รองจากเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์และมุสลิม ถ้าจะเทียบกับสุนัน อบี ดาวูด, สุนัน อัต-ติรมิซีย์ และสุนัน อิบนิ มาญะฮฺ  อัน-นะสาอีย์กล่าวว่า "(หะดีษใน)หนังสือสุนันทั้งหมดเป็นหะดีษที่ถูกต้อง และบางหะดีษยังมีความบกพร่องอยู่ เพียงแต่ว่าความบกพร่องนั้นยังไม่เป็นที่ชัดเจน" วัลลอฮุอะอฺลัม

 

การให้ความสำคัญของอุละมาอ์

เป็นที่น่าเสียดายที่สุนัน อัน-นะสาอีย์ ไม่ได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่ควรทั้งอดีตและปัจจุบัน ถ้าจะเทียบกับการให้ความสำคัญของอุละมาอ์ต่อเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์, เศาะฮีหฺ มุสลิม และหนังสือสุนันเล่มอื่นๆ ดูเหมือนว่าเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เพราะบรรดาอุละมาอ์ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับสุนัน อัน-นะสาอีย์ส่วนใหญ่ล้วนตายจากไปก่อนที่งานเขียนของพวกเขาจะเสร็จสมบูรณ์ และในบรรดาหนังสือชัรหฺที่มักจะถูกพิมพ์พร้อมกับอัส-สุนัน อัล-มุจญ์ตะบาปัจจุบันได้แก่ ชัรหฺของอัส-สุยูฏีย์ที่มีชื่อว่า "ซะฮฺรุรรุบา อะลัล มุจญ์ตะบา" และหาชิยะฮฺของเชคมุหัมมัด บิน อับดุลฮาดี อัส-สินดีย์ ซึ่งมีการเพิ่มเติมจากของอัส-สุยูฏีย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น วัลลอฮุ อะอฺลัม

และปัจจุบันเชคอัล-อัซยูบีย์ ซึ่งพำนักอยู่ที่มักกะฮฺ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสุนัน อัน-นะสาอีย์ และรวมรวมบทอธิบายเกี่ยวกับหะดีษต่างๆ ได้ออกมาถึงสี่สิบเล่มด้วยกัน ภายใต้ชื่อว่า “ซะคีเราะฮฺ อัล-อุกบา ฟี ชัรหฺ อัล-มุจญ์ตะบา” (http://www.waqfeya.com/book.php?bid=774) ซึ่งนับว่าเป็นงานเขียนที่สมบูรณ์ที่สุดเกี่ยวกับสุนัน อัน-นะสาอีย์นับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา

 

สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ

 

สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ เป็นหนังสือหะดีษอีกเล่มหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันในหมู่อุละมาอ์หะดีษและเป็นหนังสือที่มีความสำคัญอันดับหกในบรรดาหนังสือสุนันทั้งหก (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์, เศาะฮีหฺ มุสลิม, สุนัน อบี ดาวูด, สุนัน อัต-ติรมิซีย์, สุนัน อัน-นะสาอีย์ และ สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ) และเป็นหนังสือที่ทำให้หนังสือหะดีษทั้งหกสมบูรณ์จนกลายเป็นตำราแม่บทของหนังสือหะดีษที่ใช้สำหรับอ้างอิง

 

ชื่อผู้แต่ง

ท่านคือ อัล-หาฟิซฺ อบู อับดิลลาฮฺ มุหัมมัด บิน ยะซีด อัร-ริบอีย์ อัล-ก็อซฺวีนีย์ เป็นที่รู้จักกันในนามของ อิบนุ มาญะฮฺ เกิดที่เมืองก็อซฺวีน เมื่อปี ฮ.ศ. 209 (ค.ศ. 824) และเสียชีวิตที่นั่น เมื่อวันจันทร์ที่ 21 เดือน เราะมะฎอน ปี ฮ.ศ. 273 (19 เดือน พฤศจิกายน ปี ค.ศ.886) เมื่ออายุได้ 64 ปี

 

 

ชื่อหนังสือและสาเหตุของการเขียน

ไม่มีระบุเกี่ยวกับชื่อจริงของหนังสือนี้ แต่เป็นที่รู้จักกันในนามของ "สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ" เช่นเดียวกับสาเหตุของการเขียน ซึ่งเป็นไปได้ว่าท่านมีความคิดที่อาจจะรวบรวมหะดีษที่ใช้เป็นหลักฐานในด้านศาสนบัญญัต(ฟิกฮฺ)ต่างๆ เหมือนอย่างที่อบู ดาวูด, อัต-ติรมิซีย์ และคนอื่นๆ วัลลอฮุ อะอฺลัม

 

ความสำคัญของหนังสือ

เดิมทีนั้นบรรดาอุละมาอฺหะดีษรุ่นก่อนๆ ได้นับหนังสือที่เป็นแม่บทในเรื่องหะดีษเพียงห้าเล่มเท่านั้น คือเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์, เศาะฮีหฺ มุสลิม, สุนัน อบี ดาวูด, ญามิอฺ อัต-ติรมิซีย์ และสุนัน อัน-นะสาอีย์ โดยไม่ได้นับสุนัน อิบนิ มาญะฮฺรวมอยู่ด้วย ต่อมาอัล-หาฟิซฺ อิบนุ ฏอฮิรฺ อัล-มักดะสีย์ ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับข้อแม้ของหนังสืออิมามทั้งหกและได้รวมเอาหนังสือสุนัน อิบนิ มาญะฮฺเข้าไว้เป็นอันดับหกของหนังสือ หลังจากนั้นบรรดาอุละมาอ์ต่างก็เห็นพ้องในการกระทำดังกล่าว

อับดุลเฆาะนี อัน-นาบุลสีย์ กล่าวว่า "แท้จริงบรรดาอุละมาอ์หะดีษได้มีความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับหนังสือแม่บทเล่มที่หก โดยที่อุละมาอ์แถบตะวันออกเห็นว่าเป็นหนังสือสุนันของอิบนุ มาญะฮฺ ส่วนอุละมาอ์แถบตะวันตกเห็นว่าเป็นหนังสือมุวัฏเฏาะอ์ของอิมามมาลิก แต่ว่าอุละมาอ์รุ่นหลังส่วนใหญ่ต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าหนังสือสุนัน อิบนิ มาญะฮฺนั้นมีความสำคัญมากกว่าอัล-มุวัฏเฏาะอ์"

1. อิบนุมาญะฮฺกล่าวว่า "ฉันได้เสนอหนังสือสุนันแก่อบู ซุรอะฮฺ แล้วท่านกล่าวว่า ฉันคิดว่าถ้าหากว้าหนังสือนี้ตกไปอยู่ในมือผู้คนเมื่อใด แน่นอนมัสยิดต่างๆ เหล่านี้คงจะต้องปราศจากผู้คนหรือมากกว่านั้น"

2. อิบนุ นาศิรุดดีน กล่าวว่า "หนังสือสุนัน อิบนิ มาญะฮฺ เป็นหนึ่งในหนังสือหะดีษ(ที่เป็นแม่บท)ในอิสลาม"

3. อิบนุ ค็อลลิกาน กล่าวว่า "หนังสือสุนันของอิบนุ มาญะฮฺนั้นเป็นหนึ่งในหนังสือเศาะฮีหฺทั้งหก"

4. อัซ-ซะฮะบีย์กล่าวว่า "หนังสือสุนัน อบี อับดิลลาฮฺเป็นหนังสือที่ดี ถ้าหากว่าไม่เปรอะเปื้อนด้วยหะดีษที่อ่อนมาก แต่มันก็มีไม่มาก"

5. อิบนุ หะญัรฺ กล่าวว่า "หนังสือสุนันของเขาเป็นหนังสือที่ครอบคลุมและดี มีบรรพต่างๆ ที่หลากหลายและแปลก และมีบางหะดีษที่มีสายรายงานที่อ่อนมาก"

 

จำนวนหะดีษในสุนัน อิบนิ มาญะฮฺ

อิบนุ มาญะฮฺได้รวบรวมหะดีษไว้ในหนังสือสุนันของท่าน จำนวน 4,341 หะดีษ โดยมีหะดีษจำนวน 3,002 หะดีษ เป็นหะดีษที่มีอยู่ในหนังสืออีกห้าเล่ม (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์, เศาะฮีหฺ มุสลิม, สุนัน อบี ดาวูด, ญามิอฺ อัต-ติรมิซีย์ และสุนัน อัน-นะสาอีย์) และอีกจำนวน 1,329 หะดีษ เป็นหะดีษที่ไม่มีอยู่หนังสือทั้งห้าดังกล่าว ซึ่งในจำนวนนี้ มีหะดีษประมาณ 428 หะดีษ เป็นหะดีษที่มีสายรายงานที่เศาะฮีหฺ และอีกประมาณ 119 หะดีษมีสายรายงานที่ดี

 

หะดีษที่อิบนุ มาญะฮฺบันทึกเพียงผู้เดียว

จากการสำรวจข้างต้น เราสามารถกล่าวได้ว่า คำกล่าวของอุละมาอ์บางท่าน ที่ว่า "หะดีษทุกๆ สายรายงานที่บันทึกโดยอิบนุ มาญะฮฺเพียงผู้เดียว ส่วนใหญ่จะเป็นหะดีษที่มีสายรายงานอ่อน(เฎาะอีฟ)" นั้นเป็นคำกล่าวที่เกินความจริง ดังที่ได้ประจักษ์ในคำพูดของอัซ-ซะฮะบีย์ที่ผ่านมา และอิบนุ หะญัรฺกล่าวว่า "เรื่องไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป" และยังกล่าวอีกว่า "ท่านอิบนุ มาญะฮฺได้บันทึกหะดีษที่ไม่มีในหนังสืออีกห้าเล่มจำนวนมากมาย(ส่วนใหญ่)เป็นหะดีษที่ถูกต้อง และมีบางหะดีษที่มีสายรายงานที่อ่อนมาก(เฎาะอีฟญิดดัน)" และหนังสือมิศบาหฺ อัซ-ซุญาญะฮฺ ฟี ซะวาอิด อิบนิ มาญะฮฺ ที่เขียนโดยอัล-บูศีรีย์สามารถเป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้เป็นอย่างดี วัลลอฮุอะอฺลัม

 

การให้ความสำคัญของอุละมาอ์

หนังสือสุนันอิบนุมาญะฮฺเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่บรรดาอุละมาอ์ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ด้วยการชัรหฺและทำการศึกษาเกี่ยวกับความถูกต้องของสายรายงาน ในบรรดาอุละมาอ์เหล่านั้นได้แก่

1. ชัรหฺ สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ โดยอะลาอุดดีน มุฆ็อลฏอย

2. มา ตะมุสสุ อิลัยฮิ อัล-หาญะฮฺ อะลา สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ โดยอิบน อัล-มุลักกิน

3. อัด-ดีบาญะฮฺ ฟี ชัรหฺ สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ โดยกะมาลุดดีน อัด-ดะบีรีย์

4. มิศบาหุซ อัซ-ซุญาญะฮฺ ฟี ซะวาอิด อิบนิ มาญะฮฺ โดย อัล-บูศีรีย์

5. มิศบาหุซ อัซ-ซุญาญะฮฺ ฟี ชัรหฺ สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ โดย อัส-สุยูฏีย์

6. หาชิยะฮฺ มุหัมมัด บิน อับดุลฮาดี อัส-สินดีย์ อะลา สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ

7. อินญาห์ อัล-หาญะฮฺ โดยอับดุลเฆาะนีย์ อัด-ดะฮฺละวีย์

 

 

 

...................................................

เขียนโดย  อุษมาน อิดรีส

ตรวจทาน : ซุฟอัม  อุษมาน

คัดลอกจาก  http://IslamHouse.com/414123

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).