Loading

 

ระหว่างชีวิตที่ผาสุกและชีวิตที่มืดบอด

ระหว่างชีวิตที่ผาสุกและชีวิตที่มืดบอด

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ การสรรเสริญและความสันติจงประสบแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ขอปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺพระองค์เดียวเท่านั้นโดยปราศจากการตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์ และขอปฏิญานตนว่ามุหัมหมัดคือบ่าวและศาสนทูตของอัลลอฮฺ

            อัลลอฮฺได้ตรัสถึงเรื่องราวของอาดัมกับอิบลีสผู้ซึ่งเป็นศัตรูกับพระองค์ ว่า

﴿قَالَ ٱهۡبِطَا مِنۡهَا جَمِيعَۢاۖ بَعۡضُكُمۡ لِبَعۡضٍ عَدُوّٞۖ فَإِمَّا يَأۡتِيَنَّكُم مِّنِّي هُدٗى فَمَنِ ٱتَّبَعَ هُدَايَ فَلَا يَضِلُّ وَلَا يَشۡقَىٰ ١٢٣ وَمَنۡ أَعۡرَضَ عَن ذِكۡرِي فَإِنَّ لَهُۥ مَعِيشَةٗ ضَنكٗا ﴾ [طه : 123-124]

ความว่า "พระองค์ตรัสว่า เจ้าทั้งสองจงออกไปจากสวนสวรรค์ทั้งหมด โดยบางคน (ลูกหลาน) ในหมู่พวกเจ้าเป็นศัตรูกับอีกบางคน บางทีเมื่อมีฮิดายะฮฺ (ทางนำ) จากข้ามายังพวกเจ้า แล้วผู้ใดปฏิบัติตามทางนำของข้า เขาก็จะไม่หลงผิด และจะไม่ได้รับความลำบาก และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงข้า แท้จริงสำหรับเขาคือ การมีชีวิตอยู่อย่างคับแค้น..." (ฏอฮา :123-124)

โองการข้างต้นอัลลอฮฺได้กล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ที่ทำตามแนวทางของพระองค์ซึ่งจะมีชีวิตที่เปี่ยมด้วยความสุขอุดมสมบูรณ์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า พระองค์ตรัสว่า

﴿فَمَنِ ٱتَّبَعَ هُدَايَ فَلَا يَضِلُّ وَلَا يَشۡقَىٰ ١٢٣﴾ [طه : 123]

ความว่า “แล้วผู้ใดปฏิบัติตามทางนำของข้า เขาก็จะไม่หลงผิด และจะไม่ได้รับความลำบาก (ฏอฮา : 123)

อัลลอฮฺได้รับรองว่าผู้ที่รักษาสัญญาของพระองค์ ทั้งภาคความรู้และภาคปฏิบัตินั้น พระองค์จะประทานชีวิตที่ดีแก่เขา และพระองค์จะทรงตอบแทนด้วยสิ่งที่ดีแก่เขาในวันปรโลก พระองค์ตรัสว่า

﴿مَنۡ عَمِلَ صَٰلِحٗا مِّن ذَكَرٍ أَوۡ أُنثَىٰ وَهُوَ مُؤۡمِنٞ فَلَنُحۡيِيَنَّهُۥ حَيَوٰةٗ طَيِّبَةٗۖ وَلَنَجۡزِيَنَّهُمۡ أَجۡرَهُم بِأَحۡسَنِ مَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ٩٧﴾ [النحل : 97]

ความว่า "ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาซึ่งรางวัลของพวกเขา ที่ดียิ่งกว่าที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้" (อัน-นะห์ลฺ : 97)

 

พระองค์ได้ตรัสอีกว่า

﴿أَلَآ إِنَّ أَوۡلِيَآءَ ٱللَّهِ لَا خَوۡفٌ عَلَيۡهِمۡ وَلَا هُمۡ يَحۡزَنُونَ ٦٢ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَكَانُواْ يَتَّقُونَ ٦٣ لَهُمُ ٱلۡبُشۡرَىٰ فِي ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَفِي ٱلۡأٓخِرَةِۚ لَا تَبۡدِيلَ لِكَلِمَٰتِ ٱللَّهِۚ ذَٰلِكَ هُوَ ٱلۡفَوۡزُ ٱلۡعَظِيمُ ٦٤﴾ [يونس : 62-64]

ความว่า "พึงทราบเถิด ! แท้จริง บรรดาคนที่อัลลอฮฺรักนั้น ไม่มีความหวาดกลัวใด ๆ แก่พวกเขาและพวกเขาจะไม่เศร้าโศกเสียใจ คือบรรดาผู้ศรัทธา และพวกเขามีความยำเกรง สำหรับพวกเขาจะได้รับข่าวดี ในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และในโลกหน้า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในลิขิตของอัลลอฮฺ นั่นคือชัยชนะอันยิ่งใหญ่" (ยูนุส : 62-64)

ในโองการของสูเราะฮฺ ฏอฮา ข้างต้น เมื่ออัลลอฮฺได้อธิบายผู้ที่จะมีชีวิตที่ดีด้วยการตามคำสอนของพระองค์แล้ว จากนั้น พระองค์ก็ได้อธิบายสภาพของกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งว่า “และผู้ใดที่ผินหลังให้จากการรำลึกถึงข้า” หมายถึง ไม่ให้ความสนใจกับคัมภีร์ของข้า (อัลกุรอาน) โดยไม่ยอมทำตาม ไม่ปฏิบัติตามคำสอนที่ปรากฎอยู่ในนั้น แน่นอนชีวิตของเขาผู้นั้นจะพบกับความทุกข์เข็ญยากลำบาก

อิบนุ กะษีรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า ในโลกดุนยานี้ ชีวิต(ของผู้ที่ผินหลังให้แก่คัมภีร์ของอัลลอฮฺ)จะไม่พบกับความสงบสุข หัวใจของเขาจะไม่เบิกบาน แต่จะรู้สึกตันกับชีวิต เนื่องจากเขาผู้นั้นได้หลงทาง แม้ว่าดูผิวเผินแล้วเขาจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายมากมาย สามารถสวมใส่เสื้อผ้า หรือรับประทานอาหารชนิดใดก็ได้ หรือจะพักอาศัย ณ ที่ใดตามที่ตนปรารถนา แต่ทว่าตราบใดที่หัวใจของเขายังไม่บรรลุขั้นยะกีน (มั่นใจต่ออัลลอฮฺ) และไม่ได้รับทางนำของพระองค์แล้ว เขาผู้นั้นก็ยังในวังวนของความทุกข์ในการใช้ชีวิต (ตัฟสีรฺ อิบนุกะษีรฺ 3/168)

            อิบนุ อัล-ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า และข้าพเจ้าได้อรรถาธิบายคำว่า อัล-มะอีชะฮฺ (ชีวิตความเป็นอยู่) คือการลงโทษในโลกแห่งบัรซัค (สุสาน) ที่ถูกต้องคือ มันครอบคลุมทั้งความเป็นอยู่ในโลกนี้และในโลกแห่งบัรซัค คือชีวิตของเขาจะประสบกับความทุกข์ลำเค็ญทั้งในสองโลก นั้นหมายถึงเขาจะประสบกับความลำบากอันแสนสาหัส ส่วนในวันปรโลกเขาจะถูกลงโทษอีกคราหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับชีวิตของผู้ที่มีความสุขและความสำเร็จ (ศรัทธาชน) ชีวิตของพวกเขาในโลกนี้จะประสบกับความดีงามส่วนในโลกแห่งบัรซัคและวันปรโลกเขาก็จะได้รับผลตอบแทนที่แสนประเสริฐกว่าโลกนี้อีกหลายเท่า (อัล-วาบิล อัศ-ศ็อยบฺ มิน อัล-กะลิม อัฏ-ฏ็อยยิบ หน้า 79)

 ส่วนคำดำรัสของพระองค์ (وَنَحۡشُرُهُۥ يَوۡمَ ٱلۡقِيَٰمَةِ أَعۡمَىٰ) นักอรรถาธิบายอัลกุรอานมีทัศนะที่แตกต่างกันไป ว่ามันหมายถึงการบอดที่ไม่เห็นทางนำ หรือตาบอดที่พิการทางสายตา ผู้ที่มีทัศนะว่าบอดไม่เห็นทางนำเขาได้ยึดหลักฐานจากคำดำรัสของพระองค์ที่ว่า

﴿يَوۡمَ يَرَوۡنَ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةَ لَا بُشۡرَىٰ يَوۡمَئِذٖ لِّلۡمُجۡرِمِينَ وَيَقُولُونَ حِجۡرٗا مَّحۡجُورٗا ٢٢﴾ [الفرقان : 22]

ความว่า "วันที่พวกเขาเห็นมะลาอิกะฮ์ ในวันนั้นจะไม่มีข่าวดีสำหรับบรรดาผู้กระทำความผิด และมะลาอิกะฮ์จะกล่าวว่า "สวรรค์จะถูกห้ามอย่างเด็ดขาดสำหรับพวกเขา"  (อัล-ฟุรกอน : 22)

และคำดำรัสของพระองค์ที่ว่า

﴿وَتَرَىٰهُمۡ يُعۡرَضُونَ عَلَيۡهَا خَٰشِعِينَ مِنَ ٱلذُّلِّ يَنظُرُونَ مِن طَرۡفٍ خَفِيّٖۗ﴾ [الشورى : 45]

 ความว่า "และเจ้าจะเห็นพวกเขาถูกนำมาข้างหน้าไฟนรกพวกเขาจะถ่อมตัวลงอย่างน่าสังเวชมองดูอย่างหลบสายตา..." (อัช-ชูรอ : 45)

และอายะฮฺอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นของพวกเขาในวันปรโลก

ส่วนผู้ที่มีทัศนะว่าเป็นตาบอดที่พิการทางสายตา พวกเขาได้ยึดหลักฐานจากคำดำรัสของพระองค์ที่ว่า

﴿وَنَحۡشُرُهُمۡ يَوۡمَ ٱلۡقِيَٰمَةِ عَلَىٰ وُجُوهِهِمۡ عُمۡيٗا وَبُكۡمٗا وَصُمّٗاۖ مَّأۡوَىٰهُمۡ جَهَنَّمُۖ كُلَّمَا خَبَتۡ زِدۡنَٰهُمۡ سَعِيرٗا ٩٧﴾ [الإسراء : 97]

ความว่า "และเราจะชุมนุมพวกเขาในวันกิยามะฮ ถูกลากคว่ำหน้า โดยมีสภาพเป็นคนตาบอด เป็นใบ้และหูหนวก ที่พำนักของพวกเขาคือนรกญะฮันนัมทุกครั้งที่มันมอดเราได้เพิ่มการเผาไหม้ลุกโชนแก่พวกเขา" (อัล-อิสรออ์ : 97)

อิหม่ามอิบนุ อัล-ก็อยยิมได้สรุปประเด็นดังกล่าวว่า อัล-หัชรฺ (การต้อนมวลมนุษยชาติให้ชุมนุมรวมตัว) แบ่งออกเป็นสองครั้ง ครั้งที่ 1 ต้อนจากสุสานไปยังอัล-เมากิฟ(สถานที่ชุมนุม ณ ทุ่งมะหฺชัรฺ) ครั้งที่ 2 ต้อนจากอัล-เมากิฟ ไปยังนรก

ในการต้อนในครั้งแรก มวลมนุษย์ยังมีโอกาสได้ยิน ได้มองเห็น ได้สนทนา และโต้ตอบซึ่งกันและกัน ส่วนการต้อนครั้งที่สองนั้นพวกเขาจะถูกต้อนไปในสภาพที่ตาบอด เป็นใบ้ และหูหนวก และทุกสถานที่ในวันปรโลกนั้นมีสภาพที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นไปตามความยุติธรรมของพระผู้อภิบาล และอัลกุรอานได้ยืนยันความสัจจริงในโองการซึ่งกันและกัน (ตัฟสีร อิบนุ อัล-ก็อยยิม : 363) พระองค์ตรัสว่า

﴿وَلَوۡ كَانَ مِنۡ عِندِ غَيۡرِ ٱللَّهِ لَوَجَدُواْ فِيهِ ٱخۡتِلَٰفٗا كَثِيرٗا ٨٢﴾ [النساء : 82]

ความว่า " และหากว่า อัล-กุรอานมาจากผู้ที่ไม่ใช่อัลลอฮฺแล้วแน่นอนพวกเขาก็จะพบว่าในนั้นมีความขัดแย้งกันมากมาย" (อัน-นิสาอ์ : 82)

จากนั้นอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวถึงสภาพของผู้ปฏิเสธต่อวันกิยามะฮฺ ว่า พระองค์จะทรงให้เขามีสภาพที่ต่ำต้อยและตกต่ำจนเขาเองรู้สึกเจ็บปวดแล้วโอดโอย พร้อมกล่าวต่ออัลลอฮฺว่า โอ้ พระผู้ทรงอภิบาลของฉันทำไมพระองค์ถึงทรงต้อนข้าพระองค์ในสภาพที่ตาบอด แล้วอัลลอฮฺทรงตอบกลับว่า

﴿قَالَ كَذَٰلِكَ أَتَتۡكَ ءَايَٰتُنَا فَنَسِيتَهَاۖ وَكَذَٰلِكَ ٱلۡيَوۡمَ تُنسَىٰ ١٢٦﴾ [طه : 126]

ความว่า "เช่นนั้นแหละ เมื่อโองการทั้งหลายของเราได้มีมายังเจ้า เจ้าก็ทำเป็นลืมมัน และในทำนองเดียวกัน วันนี้เจ้าก็จะถูกลืม" (ฏอฮา : 126)

            หมายถึง นี้คือการงานที่เจ้าได้กระทำและการตอบแทนขึ้นอยู่กับการกระทำของเขา เขากระทำเช่นไรก็ต้องรับผลตอบแทนเช่นนั้น ดังนั้นเมื่อเขามองไม่เห็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺและลืมพระองค์ อัลลอฮฺจึงทรงให้เขาตาบอดในวันปรโลกและทิ้งเขาโดยตามลำพังกับความทุกข์ทรมานในไฟนรก

 

บทเรียนส่วนหนึ่งที่ได้รับจากโองการนี้

            อายะฮฺข้างต้นได้กล่าวถึงสภาพของผู้ที่หันหลังจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺในโลกดุนยา จึงทำให้ชีวิตของเขาตกอยู่ท่ามกลางความมืดมน หลงทาง และสับสนกับจุดหมายของชีวิต แต่เขายังคิดว่าตนเองคือผู้ที่ได้รับทางนำ จากการที่เขาหันหลังให้กับการรำลึกถึงอัลลอฮฺ พระองค์จึงให้มารร้ายมาครอบงำตัวเขา มาเป็นมิตรที่คอบขัดขวางเขาจากสัจธรรม จนทำให้เขาหลงทางจากหนทางที่เที่ยงตรง

﴿وَمَن يَعۡشُ عَن ذِكۡرِ ٱلرَّحۡمَٰنِ نُقَيِّضۡ لَهُۥ شَيۡطَٰنٗا فَهُوَ لَهُۥ قَرِينٞ ٣٦ وَإِنَّهُمۡ لَيَصُدُّونَهُمۡ عَنِ ٱلسَّبِيلِ وَيَحۡسَبُونَ أَنَّهُم مُّهۡتَدُونَ ٣٧﴾ [الزخرف : 36-37]

ความว่า  "และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงพระผู้ทรงกรุณาปราณี เราจะให้ชัยฏอนตัวหนึ่งแก่เขา แล้วมันก็จะเป็นสหายของเขาและแท้จริง พวกมันจะขัดขวางพวกเขาออกจากทางที่ถูกต้อง แต่พวกเขาคิดว่า พวกเขานั้นอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว" (อัซ-ซุครุฟ : 36-37)

จนกระทั่งเมื่อเขาได้มาพบกับพระผู้เป็นเจ้าพร้อมสหายของเขาในวันกิยามะฮฺ เขาถึงได้รู้ว่าตนเองจะประสบกับความหายนะอย่างแน่นอน เมื่อนั้นเขาเริ่มรู้สึกเสียใจอย่างมาก(ตัฟสีร อิบนุ อัล-ก็อยยิม : 359)  และกล่าวว่า

﴿يَٰلَيۡتَ بَيۡنِي وَبَيۡنَكَ بُعۡدَ ٱلۡمَشۡرِقَيۡنِ فَبِئۡسَ ٱلۡقَرِينُ ٣٨﴾ [الزخرف : 38]

ความว่า อนิจจา ถ้าระหว่างฉันกับเจ้ามีระยะทางห่างกันเช่นทิศตะวันออกกับทิศตะวันตกก็จะดี ชั่วช้าแท้ ๆ สหายเช่นนี้ (อัซ-ซุครุฟ : 38)

            ส่วนสภาพขอผู้ที่ยึดมั่นกับการรำลึกถึงอัลลอฮฺ หมายถึงอัลกุรอาน เขาจะมีความผาสุกในโลกนี้และในวันปรโลก ชีวิตของเขาจะมีความสงบ หัวใจเบิกบาน แจ่มใส ปลอดจากโรคภัยทางกายและใจ อีกทั้งเขายังได้รับทางนำอันเที่ยงตรงจากอัลลอฮฺ

พระองค์ได้ตรัสว่า

﴿وَنُنَزِّلُ مِنَ ٱلۡقُرۡءَانِ مَا هُوَ شِفَآءٞ وَرَحۡمَةٞ لِّلۡمُؤۡمِنِينَ وَلَا يَزِيدُ ٱلظَّٰلِمِينَ إِلَّا خَسَارٗا ٨٢﴾ [الإسراء : 82]

ความว่า "และเราได้ให้ส่วนหนึ่งจากอัลกุรอานลงมา ซึ่งเป็นการบำบัดและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา และมันมิได้เพิ่มอันใดแก่พวกอธรรม นอกจากการขาดทุนเท่านั้น" (อัล-อิสรออ์ : 82)

 

﴿قُلۡ هُوَ لِلَّذِينَ ءَامَنُواْ هُدٗى وَشِفَآءٞۚ وَٱلَّذِينَ لَا يُؤۡمِنُونَ فِيٓ ءَاذَانِهِمۡ وَقۡرٞ وَهُوَ عَلَيۡهِمۡ عَمًىۚ أُوْلَٰٓئِكَ يُنَادَوۡنَ مِن مَّكَانِۢ بَعِيدٖ ٤٤﴾ [فصلت : 44]

ความว่า "จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด อัลกุรอานนั้นเป็นแนวทางที่เที่ยงธรรม และเป็นการบำบัดแก่บรรดาผู้ศรัทธา ส่วนบรรดาผู้ไม่ศรัทธานั้น อัลกุรอานจะทำให้หูของพวกเขาหนวก และนัยน์ตาของพวกเขาบอด ชนเหล่านี้จะถูกร้องเรียกจากสถานที่อันไกล" (ฟุศศิลัต : 44)

 

﴿إِنَّ هَٰذَا ٱلۡقُرۡءَانَ يَهۡدِي لِلَّتِي هِيَ أَقۡوَمُ وَيُبَشِّرُ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ ٱلَّذِينَ يَعۡمَلُونَ ٱلصَّٰلِحَٰتِ أَنَّ لَهُمۡ أَجۡرٗا كَبِيرٗا ٩﴾ [الإسراء : 9]

ความว่า "แท้จริง อัลกุรอานนี้นำสู่ทางที่เที่ยงตรงยิ่ง และแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ประกอบความดีทั้งหลายว่า สำหรับพวกเขานั้นจะได้รับการตอบแทนอันยิ่งใหญ่" (อัล-อิสเราะอ์ : 9)

 

والحمد لله رب العالمين،

وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.

 

 

....................................................

แปลโดย : อันวา สะอุ

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

คัดลอกจาก   http://IslamHouse.com/410229

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).