Loading

 

การบริโภคทรัพย์สินที่ต้องห้าม

การบริโภคทรัพย์สินที่ต้องห้าม

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ การสรรเสริญและความสันติจงประสบแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ขอปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺพระองค์เดียวเท่านั้นโดยปราศจากการตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์ และขอปฏิญานตนว่ามุหัมหมัดคือบ่าวและศาสนทูตของอัลลอฮฺ

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

﴿وَلَا تَأۡكُلُوٓاْ أَمۡوَٰلَكُم بَيۡنَكُم بِٱلۡبَٰطِلِ وَتُدۡلُواْ بِهَآ إِلَى ٱلۡحُكَّامِ لِتَأۡكُلُواْ فَرِيقٗا مِّنۡ أَمۡوَٰلِ ٱلنَّاسِ بِٱلۡإِثۡمِ وَأَنتُمۡ تَعۡلَمُونَ ١٨٨﴾ [البقرة :188]

ความว่า “และจงอย่าแย่งชิงทรัพย์สินกันและกันโดยวิธีการที่มิชอบธรรม และจงอย่าเสนอให้แก่ผู้พิพากษาเพื่อที่ว่าสูเจ้าจะได้กลืนกินสมบัติส่วนหนึ่งของคนอื่นโดยไม่เป็นธรรมทั้ง ๆ ที่สูเจ้ารู้ดีอยู่” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 188 )

ท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า อายะฮฺนี้กล่าวถึงกรณีที่ชายคนหนึ่งครอบครองทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมและไม่มีหลักฐานใดๆบ่งชี้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของเขา แต่เขาพยายามร้องเรียนไปยังผู้พิพากษา ทั้งๆ ที่เขาทราบดีว่าแท้จริงแล้วทรัพย์สินนั้นไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของเขา ดังนั้น การกระทำของถือว่าบาป และถือว่าเขาเป็นผู้ที่บริโภคทรัพย์สินที่ต้องห้าม (ตัฟสีรฺ อิบนุกะษีรฺ 1/224-225)

และอัลลอฮฺได้ตรัสอีกว่า

﴿إِنَّ ٱلَّذِينَ يَأۡكُلُونَ أَمۡوَٰلَ ٱلۡيَتَٰمَىٰ ظُلۡمًا إِنَّمَا يَأۡكُلُونَ فِي بُطُونِهِمۡ نَارٗاۖ وَسَيَصۡلَوۡنَ سَعِيرٗا ١﴾ [النساء : 10]

ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้ที่กินทรัพย์ของบรรดาเด็กกำพร้าด้วยความอธรรมนั้น แท้จริง พวกเขากินไฟเข้าไปในท้องของพวกเขาต่างหาก และพวกเขาก็จะเข้าไปสู่เปลวเพลิง” (อัน-นิสาอ์ :10)

อิหม่ามอะหฺมัดได้บันทึกหะดีษในหนังสือมุสนัดของท่าน รายงานจากท่าน กะอฺบ เบ็น อิยาฎ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«إِنَّ لِكُلِّ أُمَّةٍ فِتْنَةً ، وَإِنَّ فِتْنَةَ أُمَّتِي المَالُ» [رواه أحمد برقم 17471]

ความว่า “แท้จริง ทุกๆ ประชาชาติ จะต้องพบเจอกับฟิตนะฮฺ (บททดสอบ) และฟิตนะฮฺที่ประชาชาติของฉัน จะต้องพบเจอ ก็คือทรัพย์สินเงินทอง” (บันทึกโดย อะหฺมัด หมายเลขหะดีษ: 17471)

และหากสังเกตเห็นในปัจจุบันจะพบว่าผู้คนส่วนใหญ่มักไม่ใส่ใจกับการบริโภคทรัพย์สินต้องห้าม ซึ่งสิ่งดังกล่าวนั้นตรงกับคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยท่านได้กล่าวว่า

«لَيَأْتِيَنَّ عَلَى النَّاسِ زَمَانٌ لاَ يُبَالِي الْمَرْءُ بِمَا أَخَذَ الْمَالَ، أَمِنَ الْحَلاَلِ أَمْ مِنَ حَرَام»  [أخرجه البخاري برقم 2083]

ความว่า “จะมียุคสมัยหนึ่ง ที่ผู้คนจะไม่ใส่ใจว่า ทรัพย์สินที่แสวงหามาได้นั้น มาจากแหล่งที่หะลาล (อนุมัติ) หรือหะรอม(ต้องห้าม)?” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 2/84 หมายเลขหะดีษ : 2083)

ท่านอิบนุ อัล-มุบาร็อก กล่าวว่า “และการที่ฉันปฏิเสธรับเงินที่ชุบฮะฮฺ (คลุมเครือ) จำนวนหนึ่งดิรฮัม เป็นสิ่งที่ดีกว่าการที่ฉันบริจาคทานด้วยเงินจำนวนหนึ่งแสนดิรฮัม”

ท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า "เราได้ละทิ้งเก้าจากสิบส่วนของสิ่งที่เป็นที่หะลาล(อนุมัติ)เพราะเกรงว่าจะตกอยู่ในสิ่งที่ต้องห้าม" และการที่ท่านอุมัรฺกระทำเช่นนั้นเนื่องจากท่านได้ประพฤติตนสอดคล้องกับหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ได้กล่าวว่า

«إنَّ الحَلَالَ بَيِّنٌ وَإِنَّ الحَرَامَ بَيِّنٌ ، وبَيْنَهُمَا اُمُورٌ مُشْتَبِهاتٌ ، لاَ يَعْلَمُهُنَّ كَثِيْرٌ مِنَ النَّاسِ ، فَمَنِ اتَّقَى الشُّبُهَاتِ ، فَقَدْ اِسْتَبْرَأَ لِدِيْنِهِ وَعِرْضِهِ ، وَمَنْ وَقَعَ فِيْ الشُّبُهَاتِ وَقَعَ فِيْ الحَرَامِ ، كَالرَّاعِيْ يَرْعَى حَوْلَ الحِمَى يُوْشِكُ أَنْ يَرْتَعَ فِيْهِ» [أخرجه البخاري برقم 2051 ومسلم برقم 1599]

ความว่า "แท้จริง สิ่งที่อนุมัติ (หะลาล) นั้นชัดเจนและสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) ก็ชัดเจนเช่นกัน และในระหว่างทั้งสองนั้นคือสิ่งที่คลุมเครือ ซึ่งผู้คนส่วนมากไม่รู้ ดังนั้น ผู้ใดก็ตามที่ระแวดระวังและปกป้องตัวเขาจากสิ่งที่คลุมเครือ แท้จริงเขาได้ให้ศาสนาและเกียรติของเขาใสสะอาดปราศจากมลทิน และใครก็ตามที่ตกอยู่ในสิ่งที่คลุมเครือ ก็เสมือนกับว่าเขาได้ตกอยู่ในสิ่งที่ต้องห้าม เปรียบดังเช่นผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์อยู่รอบๆ บริเวณเขตหวงห้าม ซึ่งมันเกือบจะเล็ดลอดเข้าไปกินในเขตหวงห้ามอยู่แล้ว" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 2/74 หมายเลขหะดีษ 2051 และมุสลิม 3/1219-1220 หมายเลขหะดีษ 1599)

และส่วนหนึ่งจากตัวอย่างของการบริโภคทรัพย์ต้องห้าม คือ การกินดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ได้ห้าม ตลอดจนสาปแช่งผู้ที่รับ ผู้ที่เขียน และผู้ที่เป็นพยานเกี่ยวกับดอกเบี้ย

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَذَرُواْ مَا بَقِيَ مِنَ ٱلرِّبَوٰٓاْ إِن كُنتُم مُّؤۡمِنِينَ ٢٧٨﴾ [البقرة : 278]

ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเกรงกลัวอัลลอฮฺ และจงละทิ้งดอกเบี้ยในส่วนที่สูเจ้ายังอาจจะได้รับ ถ้าหากสูเจ้าเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 278)

ปัจจุบันมีมุสลิมบางคนเกิดความละโมบโลภมากในทรัพย์สินเงินทอง จึงมีบางคนแย่งกันซื้อหุ้นกู้ของธนาคารพาณิชย์ระบบดอกเบี้ย และมีบางคนฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ระบบดอกเบี้ย หวังเพื่อรับดอกผลจากเงินฝากดังกล่าวโดยอ้างว่าดอกผลนั้นเป็นเงินกำไรหรือเงินปันผล และสิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือ การที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต่างแข่งขันกันในทุกรูปแบบและทุกวิธีทางเพื่อให้ผู้คนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ย โดยมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์มุ่งหวังให้สินทรัพย์อันสกปรกมียอดจำนวนเพิ่มขึ้นในธนาคารของตน ตัวอย่างเช่น การออกบัตรเครดิต ซึ่งสำนักฟัตวาของราชอาณาจักรซาอุดิอารเบียได้ชี้ขาดแล้วว่าการใช้บัตรเครดิตนี้เป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลาม เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย ซึ่งอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ได้ห้ามสิ่งนั้นอย่างเด็ดขาด บัตรเครดิตนี้ เป็นบัตรที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์โดยผู้ถือต้องเสียค่าธรรมเนียมในการออกบัตร และมีสิทธิ์ในการใช้ซื้อสินค้าชนิดต่างๆ ตามที่ตนต้องการ แต่ต้องชำระค่าสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด หากพ้นระยะเวลาที่กำหนดธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน (ฟัตวา ลุจญ์นะฮฺ อัด-ดาอิมะฮฺ หมายเลข 17611)

            ส่วนหนึ่งจากรูปแบบการบริโภคทรัพย์ต้องห้าม คือการผิดนัดจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน และการไม่ดูแลสิทธิที่พึงได้ของพวกเขา

และส่วนหนึ่งจากรูปแบบการบริโภคทรัพย์ต้องห้าม คือ การสาบานเท็จในเรื่องเกี่ยวกับสินค้าที่จัดจำหน่ายหรือการไม่มีความซื่อสัตย์ในการค้าขาย เป็นต้น

            การบริโภคทรัพย์ที่ต้องห้ามถือเป็นการนำพาตัวเองสู่ความหายนะโดยเฉพาะในหลุมฝังศพและในวันปรโลกเขาผู้นั้นจะได้รับโทษตามบาปที่ได้ก่อไว้ ส่วนความหายนะบนโลกนี้ ทรัพย์สินของเขาอาจพบเจอกับความขาดทุน

            ส่วนผลเสียในโลกนี้ การลงโทษของอัลลอฮฺอาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบที่ทำให้ทรัพย์สินเกิดความขาดทุน หรืออัลลอฮฺได้ถอนความบะเราะกะฮฺ (จำเริญ)จากทรัพย์สินเหล่านั้น หรือการลงโทษอาจจะเกิดกับร่างกายของเขา อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿يَمۡحَقُ ٱللَّهُ ٱلرِّبَوٰاْ وَيُرۡبِي ٱلصَّدَقَٰتِۗ وَٱللَّهُ لَا يُحِبُّ كُلَّ كَفَّارٍ أَثِيمٍ ٢٧٦﴾ [البقرة : 276]

ความว่า “อัลลอฮฺจะทรงบั่นทอนความจำเริญออกจากดอกเบี้ยและจะทรงเพิ่มพูนกุศลทาน และอัลลอฮฺไม่ทรงรักคนบาปหนาที่เนรคุณทุกคน” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ :276)

            ส่วนความหายนะในหลุมฝังศพ มีรายงานในหะดีษบทหนึ่งว่ามีทาสคนหนึ่งชื่อว่า มุดอิม เขาได้อยู่รับใช้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดเวลา ต่อมาเขาได้ตายชะฮีดในสมรภูมิคอยบัรฺ เนื่องจากโดนลูกธนู บรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ต่างกล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีสำหรับการตายชะฮีดของเขา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«بَلْ وَالَّذِي نَفْسِي بِيَدِهِ ، إِنَّ الشَّمْلَةَ الَّتِي أَصَابَهَا يَوْمَ خَيْبَرَ مِنَ الْمَغَانِمِ لَمْ تُصِبْهَا الْمَقَاسِمُ لَتَشْتَعِلَنَّ عَلَيْهِ نَارًا»

ความว่า "ไม่เลย ขอสาบานด้วยผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ แท้จริงเสื้อคลุมที่เขาลักขโมยจากทรัพย์เชลยในสมรภูมิคอยบัรฺ ซึ่งยังไม่ได้ถูกแบ่งปัน(ให้แก่บรรดานักรบนั้น) จะเป็นเชื้อเพลิงไฟในนรก" เมื่อผู้คนได้ยินตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าว ก็มีชายคนหนึ่งได้นำเชือกผูกรองเท้าหนึ่งเส้นหรือสองเส้น มาคืนให้ท่านนบี (หลังจากที่ลักขโมยมา)ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«شِرَاكٌ أَوْ شِرَاكَانِ مِنْ نَارٍ» [أخرجه البخاري برقم 6707]

ความว่า “นี่ก็เป็นเชือกผูกรองเท้าหนึ่งเส้นหรือสองเส้นที่เป็นเชื้อเพลิงไฟจากนรก” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 4/230 หมายเลข 6707)

เสื้อคลุมที่ทาสคนดังกล่าวลักขโมยนั้น เป็นเสื้อคลุมที่มีราคาไม่กี่ดิรฮัม แต่ทว่าผู้ที่ขโมยนั้นไม่รอดพ้นจากการลงโทษเนื่องจากเป็นการบริโภคทรัพย์ต้องห้าม

            ส่วนความหายนะในวันปรโลก มีรายงานจากท่านกะอฺบ บิน อุจญ์เราะฮฺ แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวแก่เขาว่า

«لَا يَرْبُو لَحْمٌ نَبَتَ مِنْ سُحْتٍ إِلَّا كَانَتْ النَّارُ أَوْلَى بِهِ» [الترمذي برقم 614]

ความว่า “ไม่มีเนื้อก้อนไหนที่มันงอกเงยออกมาจากสิ่งที่ต้องห้าม นอกจากนรกคือสิ่งที่เหมาะสมยิ่งสำหรับมัน” (บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ 2/513 หมายเลข 614)

            และส่วนหนึ่งจากบทลงโทษของการบริโภคทรัพย์ต้องห้าม คือ อัลลอฮฺไม่ทรงตอบรับดุอาอ์ (บทขอพร)และอิบาดะฮฺ ของเขา

            รายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّ اللَّهَ طَيِّبٌ لَا يَقْبَلُ إِلَّا طَيِّبًا ، وَإِنَّ اللَّهَ أَمَرَ الْمُؤْمِنِينَ بِمَا أَمَرَ بِهِ الْمُرْسَلِينَ ، فَقَالَ : ﴿يَأَيُّهَا الرُّسُلُ كُلُوا مِنَ الطَّيِّبَاتِ وَاعْمَلُوا صَالِحًا إِنِّي بِمَا تَعْمَلُونَ عَلِيمٌ﴾ [سورة المؤمنون آية 51]، وَقَالَ : ﴿يَأَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُلُوا مِنْ طَيِّبَاتِ مَا رَزَقْنَاكُمْ﴾ [سورة البقرة آية 172] ، ثُمَّ ذَكَرَ الرَّجُلَ يُطِيلُ السَّفَرَ أَشْعَثَ أَغْبَرَ ، يَمُدُّ يَدَيْهِ إِلَى السَّمَاءِ يَا رَبِّ يَا رَبِّ ، وَمَطْعَمُهُ حَرَامٌ وَمَشْرَبُهُ حَرَامٌ وَمَلْبَسُهُ حَرَامٌ وَغُذِيَ بِالْحَرَامِ فَأَنَّى يُسْتَجَابُ لِذَلِكَ» [رواه مسلم برقم 1015]

ความว่า “ โอ้ มนุษย์ทั้งหลายอันที่จริงอัลลอฮฺนั้นทรงดี พระองค์จะไม่รับ(สิ่งใด)เว้นแต่สิ่งที่ดีๆ (หะลาล) และอัลลอฮฺทรงสั่งใช้ผู้ศรัทธาทั้งหลายเหมือนกับที่พระองค์ทรงสั่งใช้สิ่งนั้นต่อบรรดาศาสนทูตทั้งหลาย และพระองค์ได้ตรัสว่า โอ้ บรรดาศาสนทูต พวกท่านจงบริโภคในสิ่งที่ดีและจงประพฤติแต่ความดี แท้จริงข้ารอบรู้ในสิ่งที่พวกท่านประพฤติ (อัล-มุอ์มินูน:51) และพระองค์ได้ตรัสอีกว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายพวกท่านจงบริโภคสิ่งที่เราได้ให้แก่พวกท่านเถิด เฉพาะที่ดีๆ เท่านั้น (อัล-บะเกาะเราะฮฺ:172) ต่อจากนั้นท่านนบีได้กล่าวถึงชายคนหนึ่งที่การเดินทางของเขาแสนยาวนาน จนทำให้เส้นผมของเขายุ่งเหยิงเต็มไปด้วยฝุ่น เขาได้ยกมือของเขาสู่ฟ้า(กล่าวดุอาอ์) ว่า โอ้ พระผู้เป็นเจ้าของฉัน โอ้ พระผู้เป็นเจ้าของฉัน ในขณะที่อาหาร เครื่องดื่ม และเสื้อผ้าอาภรณ์ของเขาเป็นสิ่งต้องห้าม และเขาเขาเติบโตมาด้วยทรัพย์สินที่ต้องห้าม ดังนั้นไฉนเล่าการขอพรของเขาจะถูกตอบรับ?” (บันทึกโดยมุสลิม 2/73 หมายเลขหะดีษ 1015)

            หะดีษบทนี้ได้เตือนสติผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ถูกมารร้ายหลอกลวง จนทำให้เขาลืมตัวและคิดว่าการกระทำของเขานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและงดงาม ดังนั้นจะเห็นว่าพวกเขาบริโภคทรัพย์ที่ต้องห้ามและนำทรัพย์สินต้องห้ามบางส่วนมาบริจาคเพื่อกิจกรรมการกุศล เช่น การสร้างมัสยิด สร้างโรงเรียน ขุดบ่อน้ำ เป็นต้น โดยคิดว่าการกระทำของพวกเขาเช่นนั้นจะช่วยลบล้างมลทิน แต่หารู้ไม่ว่าพวกเขาจะถูกอัลลอฮฺลงโทษด้วยสาเหตุสองประการด้วยกัน

            ประการแรก อัลลอฮฺไม่ทรงตอบรับการงานงานที่ดีที่พวกเขาได้บริจาคจากทรัพย์ต้องห้าม เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إِنَّ اللَّهَ طَيِّبٌ لَا يَقْبَلُ إِلَّا طَيِّبًا» [مسلم برقم 1015]

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺนั้นดี ไม่ทรงรับสิ่งใดนอกจากที่ดี ๆ (หะลาล)” (บันทึกโดยมุสลิม 2/73  หมายเลขหะดีษ 1015)

            ประการที่สอง อัลลอฮฺจะทรงลงโทษเขาเนื่องจากเขาได้บริโภคทรัพย์สินที่ต้องห้าม และพระองค์จะทรงสอบสวน และชำระบัญชีกับเขาในวันปรโลก

            รายงานจากเคาละฮฺ อัล-อันศอริยะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า

«إِنَّ رِجَالًا يَتَخَوَّضُونَ فِي مَالِ اللَّهِ بِغَيْرِ حَقٍّ ، فَلَهُمُ النَّارُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ» [رواه البخاري برقم 3118]

ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้คนที่ไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของอัลลอฮฺโดยไม่ชอบธรรมนั้น สำหรับพวกเขาในวันปรโลกแล้วคือไฟนรก” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 2/393 หมายเลข 3118)

ท่านสุฟยาน อัษ-เษารีย์ กล่าวว่า “ผู้ใดที่นำทรัพย์ที่ต้องห้ามมาบริจาคในกิจกรรมการกุศล เปรียบเสมือนกับผู้ที่ซักผ้าด้วยน้ำปัสสาวะ ดังนั้น เสื้อผ้านั้นจะไม่สะอาดนอกจากต้องทำความสะอาดด้วยน้ำบริสุทธิ์เท่านั้น เช่นเดียวกับมวลบาปไม่สามารถที่จะลบล้างมันได้นอกจากต้องชำระด้วยการบริจาคทรัพย์สินที่หะลาลเท่านั้น”

โอ้อัลลอฮฺ ขอให้ข้าพระองค์มีสิ่งหะลาลเพียงพอเพื่อที่จะได้ไม่ไปหาสิ่งหะรอม และขอให้ข้าพระองค์มีความมั่งคั่งร่ำรวยด้วยความโปรดปรานของพระองค์ โดยไม่ต้องไปพึ่งอื่นจากพระองค์เลย

....................................................

แปลโดย : อันวา สะอุ

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

คัดลอกจาก  http://IslamHouse.com/409809

 

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).