Loading

 

สภาพของผู้ศรัทธาในสวรรค์

ข้อคิดจากสูเราะฮฺอัล-หิจญ์รฺ อายะฮฺที่ 45

 

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ศาสนทูตของพระองค์ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

            อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

﴿ إِنَّ ٱلۡمُتَّقِينَ فِي جَنَّٰتٖ وَعُيُونٍ ٤٥ ٱدۡخُلُوهَا بِسَلَٰمٍ ءَامِنِينَ ٤٦ وَنَزَعۡنَا مَا فِي صُدُورِهِم مِّنۡ غِلٍّ إِخۡوَٰنًا عَلَىٰ سُرُرٖ مُّتَقَٰبِلِينَ ٤٧ لَا يَمَسُّهُمۡ فِيهَا نَصَبٞ وَمَا هُم مِّنۡهَا بِمُخۡرَجِينَ ٤٨ ۞نَبِّئۡ عِبَادِيٓ أَنِّيٓ أَنَا ٱلۡغَفُورُ ٱلرَّحِيمُ ٤٩ وَأَنَّ عَذَابِي هُوَ ٱلۡعَذَابُ ٱلۡأَلِيمُ ٥٠ ﴾ [الحجر: ٤٥-٥٠] 

ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้ยำเกรงอยู่ในสวนสวรรค์มากหลาย และตาน้ำพุ พวกเจ้าจงเข้าไปในนั้นด้วยศานติและความปลอดภัย และเราได้ขจัดความขุ่นแค้นที่มีอยู่ในหัวอกของพวกเขาให้กลายเป็นพี่น้องกัน โดยพำนักอยู่บนเตียงหันหน้าเข้าหากัน ความเหนื่อยยากจะไม่ประสบแก่พวกเขาในนั้น และพวกเขาจะไม่ถูกนำออกจากที่นั้น จงแจ้งแก่ปวงบ่าวของข้าว่า แท้จริงข้าคือผู้อภัย ผู้เมตตาเสมอ และแท้จริงการลงโทษของข้านั้น เป็นการลงโทษที่เจ็บแสบ” (อัล-หิจญ์รฺ 45-50)

1) คำตรัสของพระองค์ที่ว่า “แท้จริง บรรดาผู้ยำเกรงอยู่ในสวนสวรรค์มากหลาย และตาน้ำพุ” บรรดาผู้ยำเกรง คือผู้ปฏิบัติคุณงามความดี และห่างไกลจากการทำความชั่วและความผิดบาปทั้งหลาย

สวนสวรรค์ คือสวนต่างๆที่สะพรั่งไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ถูกเรียกด้วยชื่อนี้เพราะมันปกคลุมบดบังผู้ที่อยู่ด้านใน ด้วยต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขา

ตาน้ำพุ ก็คือ สายน้ำสี่เส้นที่ประกอบไปด้วย น้ำ สุรา นม และน้ำผึ้ง แม่น้ำเหล่านี้ไหลผ่านใต้พระราชวังและต้นไม้นานาพันธุ์ อัลลอฮฺ ตรัสว่า

﴿ مَّثَلُ ٱلۡجَنَّةِ ٱلَّتِي وُعِدَ ٱلۡمُتَّقُونَۖ فِيهَآ أَنۡهَٰرٞ مِّن مَّآءٍ غَيۡرِ ءَاسِنٖ وَأَنۡهَٰرٞ مِّن لَّبَنٖ لَّمۡ يَتَغَيَّرۡ طَعۡمُهُۥ وَأَنۡهَٰرٞ مِّنۡ خَمۡرٖ لَّذَّةٖ لِّلشَّٰرِبِينَ وَأَنۡهَٰرٞ مِّنۡ عَسَلٖ مُّصَفّٗىۖ وَلَهُمۡ فِيهَا مِن كُلِّ ٱلثَّمَرَٰتِ وَمَغۡفِرَةٞ مِّن رَّبِّهِمۡۖ  ١٥ ﴾ [محمد : ١٥] 

ความว่า “อุปมาสวนสวรรค์ซึ่งบรรดาผู้ยำเกรงได้ถูกสัญญาไว้ในสวนสวรรค์นั้นมีธารน้ำหลายสายที่ไม่ผันแปร (ทั้งรสและกลิ่น) และธารน้ำนมหลายสาย ที่รสชาติของมันไม่เปลี่ยนแปลง และธารน้ำจัณฑ์ (เหล้า) หลายสายเป็นที่โอชะอร่อยแก่ผู้ดื่ม และธารน้ำผึ้งที่สะอาดบริสุทธิ์หลายสาย และสำหรับพวกเขาในสวนสวรรค์นั้นมีผลไม้หลายชนิด และการอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเขา” (มุหัมมัด: 15)

2) คำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า “พวกเจ้าจงเข้าไปในนั้นด้วยศานติและความปลอดภัย” คือปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ปลอดภัยจากความกังวล ความหวาดกลัว ไม่ต้องวิตกว่าเมื่อเข้าไปในสวรรค์แล้วจะถูกให้ออกมาอีก รวมทั้งความโปรดปรานที่พวกเขาได้รับนั้นก็จะไม่มีการขาดตอนด้วยอุปสรรคต่างๆ เช่น ความตาย ความง่วง โรคภัย ความเศร้าใจ ความวิตก หรืออื่นๆใดอีก ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสไว้ว่า

﴿ ٱدۡخُلُوهَا بِسَلَٰمٖۖ ذَٰلِكَ يَوۡمُ ٱلۡخُلُودِ ٣٤ ﴾ [ق: ٣٤] 

ความว่า “พวกเจ้าจงเข้าไปในสวนสวรรค์ด้วยความศานติ นั่นคือวันแห่งการพำนักอยู่ตลอดกาล” (กอฟ: 34)

ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ และอบูฮุร็อยเราะฮฺเราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«يُنَادِي مُنَادٍ إِنَّ لَكُمْ أَنْ تَصِحُّوْا فَلَا تَسْقَمُوْا أَبَدًا ، وَإِنَّ لَكُمْ أَنْ تَحْيَوْا فَلاَ تَمُوْتُوْا أَبَدًا ، وَإِنَّ لَكُمْ أَنْ تَشِبُّوْا فَلَا تَهْرَمُوْا أَبَدًا ، وَإِنَّ لَكُمْ أَنْ تَنْعَمُوْا فَلاَ تَبْأَسُوْا أَبَدًا » [مسلم برقم 2837]

ความว่า “ชาวสวรรค์จะถูกกล่าวแก่พวกเขาว่า แท้จริงพวกท่านจะมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยตลอดไป จะมีชีวิตอยู่และไม่ตายเด็ดขาด จะผมหงอกแต่ไม่ชราเด็ดขาด และจะได้รับความโปรดปรานโดยไม่สิ้นหวังเด็ดขาด ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า

﴿ وَنُودُوٓاْ أَن تِلۡكُمُ ٱلۡجَنَّةُ أُورِثۡتُمُوهَا بِمَا كُنتُمۡ تَعۡمَلُونَ ٤٣ ﴾ [الأعراف: ٤٣] 

ความว่า “และพวกเราได้ถูกป่าวร้องว่า นั้นแหละคือสวนสวรรค์โดยที่พวกท่านได้รับมันไว้เป็นมรดก เนื่องด้วยสิ่งที่พวกเจ้าเคยกระทำกันไว้” (อัล-อะอฺรอฟ 43)(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2837)

และแน่นอนว่าความปลอดภัยนั้นก็ย่อมเป็นความต้องการของมนุษย์ทุกคนทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ ด้วยเหตุนี้พระองค์อัลลอฮฺจึงตรัสถึงชาวสวรรค์ว่าพวกเขาจะมีความปลอดภัย ทั้งนี้ เพื่อที่ความสุขสบายและความยินดีปรีดาของพวกเขานั้นจะได้สมบูรณ์

อุมัยยะฮฺ บิน อบี อัศ-ศ็อลตฺ กล่าวว่า

وَحَلَّ المُتَّقُوْنَ بِدَارِ صِدْقٍ     وَعَيْشٍ ناعمٍ تَحْتَ الظِّلَالِ

لَهُمْ مَا يَشْتَهُوْنَ وَمَا تَمَنَّوا     مِنَ الأَفْرَاحِ فِيْهَا والكَمَـالِ

บรรดาผู้ยำเกรงได้พำนักในสถานที่แห่งความสัจจริง

และมีชีวิตที่สุขสบายภายใต้ร่มเงาอันร่มรื่น

ได้รับทุกสิ่งที่ใฝ่หาและอยากได้

จากบรรดาความสุขสำราญและความสมบูรณ์แบบ

3) คำตรัสที่ว่า “และเราได้ขจัดความขุ่นแค้นที่มีอยู่ในหัวอกของพวกเขา ให้กลายเป็นพี่น้องกัน โดยพำนักอยู่บนเตียงหันหน้าเข้าหากัน”

อัล-ฆิ้ล คือความอาฆาตมาดร้ายและความเป็นศัตรู พระองค์อัลลอฮฺจึงได้ตรัสในอายะฮฺนี้ว่า พระองค์ทรงทำให้จิตใจหรือหัวอกของชาวสวรรค์นั้นปราศจากความขุ่นแค้นใดๆโดยที่พวกเขาจะอยู่แบบพี่น้องกัน และพระองค์ยังตรัสเพิ่มต่ออีกว่า พวกเขานั้นจะอยู่อย่างสุขสบายในสวรรค์โดยมีสายน้ำไหลผ่านใต้ที่พำนักของพวกเขา พระองค์ตรัสว่า

﴿ وَنَزَعۡنَا مَا فِي صُدُورِهِم مِّنۡ غِلّٖ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهِمُ ٱلۡأَنۡهَٰرُۖ وَقَالُواْ ٱلۡحَمۡدُ لِلَّهِ ٱلَّذِي هَدَىٰنَا لِهَٰذَا وَمَا كُنَّا لِنَهۡتَدِيَ لَوۡلَآ أَنۡ هَدَىٰنَا ٱللَّهُۖ لَقَدۡ جَآءَتۡ رُسُلُ رَبِّنَا بِٱلۡحَقِّۖ وَنُودُوٓاْ أَن تِلۡكُمُ ٱلۡجَنَّةُ أُورِثۡتُمُوهَا بِمَا كُنتُمۡ تَعۡمَلُونَ ٤٣ ﴾ [الأعراف: ٤٣] 

ความว่า “และเราได้ถอนออกซึ่งการผูกใจเจ็บที่อยู่ในหัวอกของพวกเขา (คือชาวสวรรค์) โดยมีบรรดาแม่น้ำไหลอยู่ภายใต้ของพวกเขา และพวกเขาได้กล่าวว่า การสรรเสริญทั้งหลายนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮฺผู้ทรงแนะนำพวกเราให้ได้รับสิ่งนี้ และใช่ว่าพวกเราจะได้รับคำแนะนำก็หาไม่หากว่าอัลลอฮฺไม่ทรงแนะนำแก่พวกเรา แน่นอนบรรดาเราะสูลแห่งพระเจ้าของเรานั้นได้นำความจริงมาและพวกเราได้ถูกป่าวร้องว่า นั้นแหละคือสวนสวรรค์โดยที่พวกท่านได้รับมันไว้เป็นมรดก เนื่องด้วยสิ่งที่พวกเจ้าเคยกระทำกันไว้” (อัล-อะอฺรอฟ: 43)

อิบนุกะษีร กล่าวว่า: อายะฮฺข้างต้นสอดคล้องกับหะดีษที่ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«يَخْلُصُ المُؤْمِنُوْنَ مِنَ النَّارِ فَيُحْبَسُوْنَ عَلَى قَنْطَرَةٍ بَيْنَ الجَنَّةِ وَالنَّارِ ، فَيُقَصُّ لِبَعْضِهِمْ مِنْ بَعْضٍ مَظَالِمُ كَانَتْ بَيْنَهُمْ فِي الدُّنْيَا ، حَتَّى إِذَا هُذِّبُوْا وَنُقُّوْا أُذِنَ لَهُمْ فِي دُخُوْلِ الجَنَّةِ» [البخاري برقم 6535]

ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธาที่หลุดพ้นจากไฟนรกแล้วนั้นเขาจะถูกกักกันตัวไว้ระหว่างสวรรค์และนรกเพื่อตรวจสอบความอธรรมที่พวกเขาเคยมีต่อกันมาในโลกดุนยา กระทั่งจิตใจของพวกเขามีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง พวกเขาจึงได้รับอนุมัติให้ได้เข้าสวรรค์” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 6535)

อิมรอน บิน ฏ็อลหะฮฺ ได้เข้ามาหาท่านอลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจจากสมรภูมิอูฐแล้ว ท่านอลีจึงต้อนรับเขาและกล่าวแก่เขาว่า "ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอัลลอฮฺจะทรงทำให้ฉันและบิดาของท่านเป็นผู้ที่อยู่ในคำตรัสของพระองค์ที่ว่า

﴿ وَنَزَعۡنَا مَا فِي صُدُورِهِم مِّنۡ غِلٍّ إِخۡوَٰنًا عَلَىٰ سُرُرٖ مُّتَقَٰبِلِينَ ٤٧ ﴾ [الحجر: ٤٧] 

ความว่า “และเราได้ขจัดความขุ่นแค้นที่มีอยู่ในหัวอกของพวกเขาให้กลายเป็นพี่น้องกัน โดยพำนักอยู่บนเตียงหันหน้าเข้าหากัน” (อัล-หิจญ์รฺ: 47)

และเหตุผลที่พระองค์อัลลอฮฺทรงทำให้จิตใจปราศจากความขุ่นแค้นใดๆ ก็เพื่อให้ความสุขและความยินดีปรีดาของชาวสวรรค์มีความสมบูรณ์แบบที่สุด เพราะความขุ่นแค้นรังแต่จะทำให้จิตใจของมนุษย์ไม่สงบสุขและไม่สบายใจ ดังนั้น อัลลอฮฺจึงทรงได้ทำเช่นนี้กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยเมื่อท่านยังเด็กพระองค์ได้ส่งทูตของพระองค์ลงมาหาท่านเพื่อมาล้างจิตใจของท่านจากความขุ่นแค้นเหล่านี้

ที่พระองค์ตรัสว่า “โดยพำนักอยู่บนเตียงหันหน้าเข้าหากัน” السُرُرُ  หมายถึงเตียง หรือบางทัศนะกล่าวว่า หมายถึงที่สูงอันเป็นสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยความสุขสำราญ ซึ่งอัลลอฮฺตรัสถึงคุณลักษณะของเตียงที่ว่าเป็นเตียงที่ประดับด้วยเสาทองคำ พระองค์ตรัสว่า

﴿ ثُلَّةٞ مِّنَ ٱلۡأَوَّلِينَ ١٣ وَقَلِيلٞ مِّنَ ٱلۡأٓخِرِينَ ١٤ عَلَىٰ سُرُرٖ مَّوۡضُونَةٖ ١٥ مُّتَّكِ‍ِٔينَ عَلَيۡهَا مُتَقَٰبِلِينَ ١٦ ﴾ [الواقعة: ١٣-١٦] 

ความว่า “เป็นกลุ่มชนจำนวนมากจากชนรุ่นก่อนๆ และเป็นกลุ่มชนจำนวนน้อยจากชนรุ่นหลังๆ โดยอยู่บนเตียงที่ประดับด้วยทองคำพวกเขานอนเอกเขนกอยู่บนนั้น โดยผินหน้าเข้าหากัน” (อัล-วากิอะฮฺ: 13-16)

บางทัศนะกล่าวว่า หมายถึง การเรียงชิดกัน ดังที่พระองค์ตรัสว่า

﴿ مُتَّكِ‍ِٔينَ عَلَىٰ سُرُرٖ مَّصۡفُوفَةٖۖ وَزَوَّجۡنَٰهُم بِحُورٍ عِينٖ ٢٠ ﴾ [الطور: ١٩] 

ความว่า “นอนเอกเขนกอยู่บนเตียงเรียงชิดติดกัน และเราให้พวกเขามีคู่ครองเป็นหญิงสาวสวยดวงตาโตคม” (อัฏฏูร: 20)

ซึ่งเตียงเหล่านี้นั้นถูกยกให้สูง ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ فِيهَا سُرُرٞ مَّرۡفُوعَةٞ ١٣ ﴾ [الغاشية: ١٣] 

ความว่า “ในนั้นมีเตียงที่ถูกยกไว้สูงเด่น” (อัล-ฆอชียะฮฺ: 13)

และตรัสอีกว่า

﴿ وَفُرُشٖ مَّرۡفُوعَةٍ ٣٤ ﴾ [الواقعة: ٣٤] 

ความว่า “และเตียงนอนที่ถูกยกให้สูงขึ้น” (อัล-วากิอะฮฺ: 34)

และตรัสอีกว่า

﴿ مُتَّكِ‍ِٔينَ عَلَىٰ رَفۡرَفٍ خُضۡرٖ وَعَبۡقَرِيٍّ حِسَانٖ ٧٦ ﴾ [الرحمن: ٧٦] 

ความว่า “พวกเขาจะนอนเอกเขนกบนหมอนอิงสีเขียว และพรมที่มีลวดลายอย่างสวยงาม” (อัรเราะหฺมาน: 76)

คำตรัสของพระองค์ที่ว่า “หันหน้าเข้าหากัน” คือจะไม่มีผู้ใดได้เห็นด้านหลังของผู้อื่น ถือเป็นหลักฐานที่ชัดแจ้งว่าพวกเขามีความรักใคร่กลมเกลียวกัน และพวกเขายังเป็นผู้ที่มีมารยาทอันดีงามโดยที่พวกเขาหันหน้าเข้าหากันไม่ผินหลังแก่ผู้ใด และพวกเขาก็ยังได้พำนักอยู่บนเตียงที่ประดับประดาไปด้วยไข่มุกและเครื่องประดับที่สวยงามต่างๆอีก

4) คำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า “ความเหนื่อยยากจะไม่ประสบแก่พวกเขาในนั้น และพวกเขาจะไม่ถูกนำออกจากที่นั้น" พระองค์ตรัสในอายะฮฺนี้ว่า ชาวสวรรค์จะไม่ประสบความเหนื่อยยากลำบากอย่างแน่นอน ความเหนื่อยยากที่ว่านี้นั้นถูกกล่าวในสำนวนทั่วไปไม่ได้จำเพาะเจาะจง ซึ่งก็หมายความว่าชาวสวรรค์นั้นจะมีความรอดพ้นปลอดภัยจากทุกๆความเหนื่อยยากลำบาก และอัลลอฮฺทรงเน้นความหมายนี้ในอายะฮฺอื่นอีก ดังที่พระองค์ตรัสว่า

﴿ ٱلَّذِيٓ أَحَلَّنَا دَارَ ٱلۡمُقَامَةِ مِن فَضۡلِهِۦ لَا يَمَسُّنَا فِيهَا نَصَبٞ وَلَا يَمَسُّنَا فِيهَا لُغُوبٞ ٣٥ ﴾ [فاطر: ٣٥] 

ความว่า “ซึ่งพระองค์ทรงให้เราได้พำนักในสถานที่พำนักอันสถาพร ด้วยความโปรดปรานของพระองค์  ความเหน็ดเหนื่อยจะไม่ประสบแก่เราในนั้น และความเบื่อหน่าย ก็จะไม่ประสบแก่เราในนั้น” (ฟาฏิร: 35)

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ญิบรีลได้ลงมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และกล่าวว่า

«يَارَسُوْلُ اللهِ هَذِهِ خَدِيْجَةُ قَدْ أَتَتْ ، مَعَهَا إِنَاءٌ فِيْهِ إِدَامٌ أَوْ طَعَامٌ أَوْ شَرَابٌ ، فَإِذَا هِيَ أَتَتْكَ فَاقْرَأ عَلَيْهَا السَّلاَمَ مِنْ رَبِّهاَ وَمِنِّي ، وَبَشِّرْهَا بِبَيْتٍ فِي الَجنَّةِ مِنْ قَصَبٍ ، لَا صَخَبَ فِيْهِ وَلَا نَصَبَ» [البخاري برقم 3820، ومسلم برقم 2432]

ความว่า “โอ้ เราะสูลุลลอฮฺ พระนางเคาะดีญะฮฺจะมาหาท่านพร้อมกับภาชนะใส่อาหารหรือเครื่องดื่ม ดังนั้นเมื่อนางมาถึงจงบอกนางว่า พระเจ้าของนางและข้าฝากสลามถึงนาง และจงแจ้งข่าวดีแก่นางว่านางนั้นจะได้พำนักในบ้านหลังหนึ่งในสวรรค์ซึ่งประดับประดาด้วยไข่มุก ในสภาพที่ไม่มีเสียงดังรบกวนและไม่มีความเหน็ดเหนื่อยยากลำบากอีกต่อไป” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3820 และมุสลิม 2432)

คำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า “และพวกเขาจะไม่ถูกนำออกจากที่นั้น” กล่าวคือ ชาวสวรรค์นั้นจะได้อยู่ในนั้นตลอดกาล โดยได้รับความโปรดปรานโดยที่ไม่มีวันขาดตอน

พระองค์ยังตรัสถึงสภาพดังกล่าวนี้ในอายะฮฺอื่นๆอีกหลายจุด ดังเช่นคำตรัสที่ว่า

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ كَانَتۡ لَهُمۡ جَنَّٰتُ ٱلۡفِرۡدَوۡسِ نُزُلًا ١٠٧ خَٰلِدِينَ فِيهَا لَا يَبۡغُونَ عَنۡهَا حِوَلٗا ١٠٨ ﴾ [الكهف: ١٠٧-١٠٨] 

ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้ศรัทธาและปฏิบัติความดีสำหรับพวกเขานั้นคือสวนสวรรค์ชั้นฟิรเดาส์เป็นที่พำนัก พวกเขาพำนักอย่างถาวรอยู่ในนั้น พวกเขาไม่ประสงค์จะเปลี่ยนที่จากมัน” (อัล-กะฮฺฟ์: 107-108)

และตรัสอีกว่า

﴿ إِنَّ هَٰذَا لَرِزۡقُنَا مَا لَهُۥ مِن نَّفَادٍ ٥٤ ﴾ [ص : ٥٤] 

ความว่า “แท้จริง นี่คือปัจจัยยังชีพของเราอย่างแน่นอน มันจะไม่มีวันหมดสิ้น” (ศอด: 54)

5) คำตรัสของพระองค์ที่ว่า “จงแจ้งแก่ปวงบ่าวของข้าว่า แท้จริงข้าคือผู้อภัย ผู้เมตตาเสมอ และแท้จริงการลงโทษของข้านั้น เป็นการลงโทษที่เจ็บแสบ”

อายะฮฺนี้นั้นสอดคล้องกับคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในหะดีษซึ่งรายงานโดยอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ

«لَوْ يَعْلَمُ الُمؤْمِنُ مَا عِنْدَ اللهِ مِنَ العُقُوْبَةِ ، مَا طَعِمَ بِجَنَّتِهِ أَحَدٌ ، وَلَوْ يَعْلَمُ الكاَفِرُ مَا عِنْدَ اللهِ مِنَ الرَحْمَةِ، مَا قَنَطَ مِنْ جَنَّتِهِ أَحَدٌ» [مسلم برقم 2755]

ความว่า “หากผู้ศรัทธาได้รับรู้ถึงบทลงโทษของอัลลอฮฺ คงไม่มีผู้ใดคาดหวังที่จะได้เข้าสวรรค์ของพระองค์ และเช่นเดียวกันหากผู้ปฏิเสธได้รับรู้ถึงความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ คงไม่มีผู้ใดหมดหวังที่จะได้เข้าสวรรค์” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2755)

ฉะนั้นบ่าวผู้ศรัทธาจึงควรที่จะทำให้จิตใจของเขานั้นมีทั้งความเกรงกลัว และความหวังอยู่สม่ำเสมอ โดยให้มีความกลัวในขณะที่มีสุขภาพดีมากกว่าขณะที่เจ็บป่วย เพราะเมื่อเขาได้เห็นถึงความโปรดปรานความเมตตาและการอภัยโทษของอัลลอฮฺแล้ว ก็จะทำให้เขานั้นมีความหวังและความต้องการ และเมื่อเขาได้พิจารณาถึงบาปและความบกพร่องที่เขามีก็จะทำให้เขานั้นเกิดความกลัวและอยากที่จะหลุดพ้นจากมัน ผู้ที่หมดหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺถือเป็นคนสิ้นหวัง และผู้ที่มีความหวังแต่ก็ยังกระทำสิ่งที่ผิดเขาคือผู้ที่เพิกเฉย ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็คือสิ่งที่มีความพอดี (ตัฟสีรอิบนุสะอฺดียฺ หน้า407)

 

.........................................

แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ

ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

คัดลอกจาก  http://IslamHouse.com/407322

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).