Loading

 

สาเหตุแห่งความต่ำต้อยไร้เกียรติ

สาเหตุแห่งความต่ำต้อยไร้เกียรติ

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ศาสนทูตของพระองค์ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า

«إِنَّا كُنَّا أَذَلَّ قَوْمٍ فَأَعَزَّنَا اللهُ بِالإِسْلَامِ فَمَهْمَا نَطْلُبِ الْعِزَّةَ بِغَيْرِ مَا أَعَزَّنَا اللهُ بِهِ أَذَلَّنَا اللهُ» [جزء مما رواه الحاكم 1/236-237]

 "พวกเราเคยเป็นกลุ่มชนที่ต่ำต้อยที่สุด แต่อัลลอฮฺทรงทำให้พวกเรามีเกียรติที่สุดด้วยอิสลาม ดังนั้น หากว่าพวกเราแสวงหาความมีเกียรติอื่นจากที่อัลลอฮฺทรงประทานให้ พระองค์ก็จะทำให้พวกเราเป็นผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดอย่างแน่นอน" (ส่วนหนึ่งจากหะดีษซึ่งบันทึกโดยอัล-หากิม เลขที่ 1/236-237)

อัร-รอฆิบ กล่าวว่า "เมื่อใดก็ตามที่บุคคลหนึ่งเกิดความรู้สึกต่ำต้อยถ่อมตนด้วยตัวของเขาเอง นั่นคือสิ่งที่น่าสรรเสริญ ดังเช่นที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

﴿ أَذِلَّةٍ عَلَى ٱلۡمُؤۡمِنِينَ أَعِزَّةٍ عَلَى ٱلۡكَٰفِرِينَ ﴾ [المائ‍دة: ٥٤] 

ความว่า “เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนต่อบรรดามุอ์มิน และมีเกียรติศักดิ์ศรีเมื่อต้องเผชิญหน้ากับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา” (อัล-มาอิดะฮฺ: 54)

และตรัสอีกว่า

﴿ وَلَقَدۡ نَصَرَكُمُ ٱللَّهُ بِبَدۡرٖ وَأَنتُمۡ أَذِلَّةٞۖ فَٱتَّقُواْ ٱللَّهَ لَعَلَّكُمۡ تَشۡكُرُونَ ١٢٣ ﴾ [آل عمران: ١٢٣] 

ความว่า “และแน่นอน อัลลอฮฺได้ทรงช่วยเหลือพวกเจ้าที่บะดัรมาแล้ว ทั้งๆที่พวกเจ้าเป็นพวกที่ด้อยกว่า ดังนั้นพวกเจ้าพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด หวังว่าพวกเจ้าจักขอบคุณ” (อาลอิมรอน: 123)

กรณีอื่นจากที่กล่าวมานี้ถือเป็นเรื่องที่น่าตำหนิ เพราะความประเสริฐและมีเกียรติที่แท้จริงนั้นมีไว้สำหรับอัลลอฮฺ เราะสูลของพระองค์ และบรรดามุอ์มินผู้ศรัทธาเท่านั้น"

และส่วนหนึ่งจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้เป็นสาเหตุแห่งความต่ำต้อยไร้เกียรติ (  الذلَّة) อันเป็นบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งใช้ของพระองค์ และไม่ปฏิบัติตามเราะสูลของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็เช่น:

1) ผู้ที่ปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และต่อต้านบรรดาผู้ที่พระองค์ทรงรัก พระองค์จะทรงทำให้เขาเป็นผู้ต่ำต้อยไร้เกียรติ ดังที่พระองค์ตรัสถึงพวกยะฮูดว่า

﴿ ضُرِبَتۡ عَلَيۡهِمُ ٱلذِّلَّةُ أَيۡنَ مَا ثُقِفُوٓاْ إِلَّا بِحَبۡلٖ مِّنَ ٱللَّهِ وَحَبۡلٖ مِّنَ ٱلنَّاسِ وَبَآءُو بِغَضَبٖ مِّنَ ٱللَّهِ وَضُرِبَتۡ عَلَيۡهِمُ ٱلۡمَسۡكَنَةُۚ ذَٰلِكَ بِأَنَّهُمۡ كَانُواْ يَكۡفُرُونَ بِ‍َٔايَٰتِ ٱللَّهِ وَيَقۡتُلُونَ ٱلۡأَنۢبِيَآءَ بِغَيۡرِ حَقّٖۚ ذَٰلِكَ بِمَا عَصَواْ وَّكَانُواْ يَعۡتَدُونَ ١١٢ ﴾ [آل عمران: ١١٢] 

ความว่า “ความต่ำต้อยไร้เกียรติได้ถูกกำหนดให้เกิดขึ้นแก่พวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเขาถูกพบ นอกจากด้วยสายเชือกจากอัลลอฮฺและสายเชือกจากมนุษย์ พวกเขาจะได้รับความกริ้วโกรธจากอัลลอฮฺกลับไป และความขัดสนก็จะถูกกำหนดให้เกิดขึ้นแก่พวกเขา นั่นก็เพราะว่าพวกเขาเคยปฏิเสธบรรดาโองการของอัลลอฮฺ และฆ่าบรรดานบีโดยปราศจากความเป็นธรรม นั่นก็เนื่องจากการที่พวกเขาดื้อดึง และเคยทำการละเมิด” (อาลอิมรอน: 112)

อิบนุญะรีรฺ กล่าวว่า "ความหมายคำตรัสของอัลลอฮฺในที่นี้คือ พวกยะฮูดที่ปฏิเสธท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นจะต้องประสบกับความต่ำต้อยตกต่ำไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรหรืออยู่ ณ แห่งหนใดบนผืนแผ่นดินนี้ และไม่ว่าจะเป็นรัฐอิสลามหรือไม่ก็ตาม ส่วนคำตรัสที่ว่า

﴿إِلَّا بِحَبۡلٖ مِّنَ ٱللَّهِ وَحَبۡلٖ مِّنَ ٱلنَّاسِ﴾

"นอกจากด้วยสายเชือกจากอัลลอฮฺและสายเชือกจากมนุษย์"

หมายถึง: บรรดาสิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้พวกเขา ตลอดจนทรัพย์สินเงินทองและลูกหลานของพวกเขาสามารถอาศัยอยู่ในรัฐอิสลามได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นสนธิสัญญาหรือการรับรองความปลอดภัย ที่ได้ตกลงเอาไว้ก่อนที่พวกเขาจะถูกพบตัวในรัฐอิสลาม" (ตัฟสีรฺอิบนุญะรีรฺ 3/1921)

และอัลลอฮฺได้ทรงกำหนดให้ความต่ำต้อยด้อยค่าประสบแก่พวกเขา ดังที่พระองค์ตรัสว่า

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ ٱتَّخَذُواْ ٱلۡعِجۡلَ سَيَنَالُهُمۡ غَضَبٞ مِّن رَّبِّهِمۡ وَذِلَّةٞ فِي ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَاۚ وَكَذَٰلِكَ نَجۡزِي ٱلۡمُفۡتَرِينَ ١٥٢ ﴾ [الأعراف: ١٥١] 

ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ที่ยึดลูกวัวเป็นที่เคารพนั้น ความกริ้วโกรธจากพระเจ้าของพวกเขา และความต่ำช้าในชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้จะประสบแก่พวกเขา และในทำนองเดียวกัน เราจะตอบแทนแก่บรรดาผู้อุปโลกน์ความเท็จขึ้น” (อัล-อะอฺรอฟ: 152)

และตรัสถึงบรรดาชาวคัมภีร์ความว่า “พวกเจ้าจงต่อสู้กับบรรดาผู้ที่ไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและต่อวันปรโลก และไม่งดเว้นสิ่งที่อัลลอฮฺและเราะสูลห้ามไว้ และไม่ปฏิบัติตามศาสนาแห่งความสัจจะ อันได้แก่บรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ จนกว่าพวกเขาจะจ่ายญิซยะฮฺจากมือของพวกเขาเอง ในสภาพที่พวกเขาเป็นผู้ต่ำต้อย” (อัตเตาบะฮฺ: 29)

อิบนุกะษีร กล่าวว่า "หมายถึงในสภาพที่ต่ำต้อยไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี และถูกดูถูกเหยียดหยาม" (ตัฟสีรฺอิบนุกะษีร 7/176)

(2) การปฏิเสธคำสั่งใช้ของพระองค์อัลลอฮฺ และดูถูกดูแคลนบ่าวของพระองค์ ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อัลอาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«يُحْشَرُ المُتَكَبِّرُوْنَ يَوْمَ القِيَامَةِ أَمْثَالَ الذَّرِّ فِيْ صُوَرِ الرِّجَالِ، يَغْشَاهُمُ الذَُّلُّ مِنْ كُلِّ مَكَانٍ، فَيُسَاقُوْنَ إِلَى سِجْنٍ فِيْ جَهَنَّمَ يُسَمَّى بُوْلَسَ، تَعْلُوْهُمْ نَارُ الأَنْيَارِ، يُسْقَوْنَ مِنْ عُصَارَةِ أَهْلِ النَّارِ طِيْنَةِ الْخَبَالِ» [الترمذي برقم 2492 وقال حديث حسن صحيح]

ความว่า “บรรดาผู้ที่โอหังทั้งหลายจะถูกให้ฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺในรูปมนุษย์ ซึ่งอยู่ในสภาพที่ไร้ค่าเหมือนเช่นมดแดงตัวน้อย ถูกรายล้อมด้วยความต่ำต้อยจากทุกสารทิศ แล้วพวกเขาก็จะถูกฉุดลากไปจองจำในสถานที่หนึ่งที่มีชื่อว่าบูลัส โดยจะถูกโหมกระหน่ำแผดเผาด้วยไฟนรก แล้วพวกเขาจะได้ดื่มน้ำเลือดและน้ำหนองของชาวนรกผู้ชั่วร้ายเลวทราม” (บันทึกโดย อัตติรมิซียฺ หะดีษเลขที่ 2492 โดยกล่าวว่าเป็นหะดีษหะสันเศาะฮีหฺ)

(3) ละทิ้งการทำสงครามญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ และหลงระเริงกับโลกดุนยา ดังหะดีษจากท่านอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«إِذَا تَبَايَعْتُمْ بِاْلعِيْنَةِ، وَأَخَذْتُمْ أَذْنَابَ اْلبَقَرِ، وَرَضِيْتُمْ بِالزَّرْعِ، وَتَرَكْتُمُ الجِهَادَ، سَلَّطَ اللهُ عَلَيْكُمْ ذُلًّا، لَايَنْزِعُهُ حَتَّى تَرْجِعُوْا إِلَى دِيْنِكُمْ» [أبو داود برقم 3462]

ความว่า “เมื่อพวกท่านทำการค้าขายด้วยวิธีอัล-อีนะฮฺ เพลิดเพลินอยู่กับการเลี้ยงสัตว์ และพึงพอใจกับพืชผลกสิกรรม แล้วละทิ้งการทำญิฮาด อัลลอฮฺก็จะทรงทำให้พวกท่านเป็นผู้ที่ต่ำต้อยไร้ค่า และจะทรงให้เป็นอยู่เช่นนั้นจนกว่าพวกท่านจะกลับไปหาศาสนา” (บันทึกโดย อบูดาวูด หะดีษเลขที่ 3462)

(4) การนิฟากกลับกลอก อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

﴿ يَقُولُونَ لَئِن رَّجَعۡنَآ إِلَى ٱلۡمَدِينَةِ لَيُخۡرِجَنَّ ٱلۡأَعَزُّ مِنۡهَا ٱلۡأَذَلَّۚ وَلِلَّهِ ٱلۡعِزَّةُ وَلِرَسُولِهِۦ وَلِلۡمُؤۡمِنِينَ وَلَٰكِنَّ ٱلۡمُنَٰفِقِينَ لَا يَعۡلَمُونَ ٨ ﴾ [المنافقون: ٨] 

ความว่า “พวกเขากล่าวว่า ถ้าเรากลับไปยังนครมะดีนะฮฺ พวกที่มีเกียรติกว่าจะขับไล่พวกที่ต่ำต้อยออกจากนครมะดีนะฮฺ ส่วนอำนาจนั้นเป็นของอัลลอฮฺ เราะสูลของพระองค์และบรรดาผู้ศรัทธา แต่ว่าพวกมุนาฟิกีนนั้นหารู้ไม่” (อัล-มุนาฟิกูน: 8)

และดังที่ความต่ำต้อยเป็นบทลงโทษในโลกดุนยา มันก็เป็นบทลงโทษในอาคิเราะฮฺด้วยเช่นกัน พระองค์ตรัสว่า

﴿ وَتَرَىٰهُمۡ يُعۡرَضُونَ عَلَيۡهَا خَٰشِعِينَ مِنَ ٱلذُّلِّ يَنظُرُونَ مِن طَرۡفٍ خَفِيّٖۗ ٤٥ ﴾ [الشورى: ٤٥] 

ความว่า “และเจ้าจะเห็นพวกเขาถูกนำมาข้างหน้าไฟนรก พวกเขาจะถ่อมตัวลงอย่างน่าสังเวชมองดูอย่างหลบสายตา” (อัชชูรอ: 45)

โดยสรุปแล้วคือ ผู้ใดปฏิเสธคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺและฝ่าฝืนแนวทางของเราะสูล เขาจะต้องประสบกับความต่ำต้อยตกต่ำ ตามระดับความผิดและการฝ่าฝืนของแต่ละคน ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«وَجُعِلَ الذُلُّ وَالصَّغَارُ عَلَى مَنْ خَالَفَ أَمْرِيْ» [أحمد في المسند 2/92]

ความว่า “ความอัปยศอดสูและความต่ำต้อยนั้น จะประสบแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งใช้ของฉัน” (จากหะดีษที่บันทึกโดยอะหฺมัด 2/92)

อิบนุลมุบาร็อก กล่าวว่า

"ฉันเห็นว่าบาปความผิดนั้นทำให้หัวใจตายด้าน

และปล่อยนานไปก็อาจนำมาซึ่งความต่ำต้อย

การละเว้นบาปจึงเป็นการให้ชีวิตแก่หัวใจ

และเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตัวท่านอย่างแน่นอน"

ผู้ที่กระทำบาปความผิดจนเป็นนิสัยนั้น จะรู้สึกถึงความต่ำต้อยในหัวใจของเขา แม้ว่าพวกเขาจะพยายามปกปิดเพียงใดก็ตาม

อัลหะสัน อัลบัศรีย์ กล่าวว่า "ไม่ว่าอย่างไรความต่ำต้อยที่เกิดจากการฝ่าฝืนก็จะยังคงฝังลึกอยู่ในหัวใจของพวกเขา อัลลอฮฺจะทรงทำให้ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งใช้ของพระองค์ต่ำต้อยไร้ค่าอย่างแน่นอน" (อัลญะวาบ อัลกาฟียฺ หน้า 53) ดังที่พระองค์ ตรัสว่า

﴿ وَمَن يُهِنِ ٱللَّهُ فَمَا لَهُۥ مِن مُّكۡرِمٍۚ إِنَّ ٱللَّهَ يَفۡعَلُ مَا يَشَآءُ۩ ١٨ ﴾ [الحج : ١٨] 

ความว่า “และผู้ใดที่อัลลอฮฺทรงทำให้อัปยศ ก็จะไม่มีผู้ใดให้เกียรติเขา แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงกระทำสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์” (อัล-หัจญ์: 18)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนให้พวกเราวิงวอนขอต่อพระองค์อัลลอฮฺให้พ้นจากความต่ำต้อยไร้เกียรติ ดังหะดีษที่รายงานโดยอบีฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«اللهم إِنِّي أَعُوْذُبِكَ مِنَ اْلفَقْرِ وَالقِلَّةِ وَالذِّلَّةِ» [أبو داود برقم 1544]

ความว่า ”โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงให้ฉันพ้นจากความยากจน ความแร้นแค้น และความต่ำต้อยด้วยเถิด” (บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษเลขที่ 1544)

และท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«اللهم إِنِّي أَعُوْذُبِكَ مِنَ الهَمِّ وَالْحُزْنِ، وَاْلَعجْزِ وَالْكَسْلِ، وَاْلبُخْلِ وَالْجُبْنِ، وَمِنْ ضَلَعِ الدَّيْنِ وَغَلَبَةِ الرِّجَالِ» [البخاري برقم 2893، ومسلم برقم 1365]

ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงให้ฉันพ้นจากความทุกข์ใจเศร้าใจ ความอ่อนแอ ความเกียจคร้าน ความตระหนี่ ความขลาดกลัว การมีหนี้สินล้นตัว และการถูกอธรรมจากผู้อื่น” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 2893 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1365)

และแน่นอนว่าความมีเกียรติย่อมประสบแก่ผู้ที่เชื่อฟังพระองค์ อัลลอฮฺ ตะอาลาตรัสว่า

﴿ مَن كَانَ يُرِيدُ ٱلۡعِزَّةَ فَلِلَّهِ ٱلۡعِزَّةُ جَمِيعًاۚ إِلَيۡهِ يَصۡعَدُ ٱلۡكَلِمُ ٱلطَّيِّبُ وَٱلۡعَمَلُ ٱلصَّٰلِحُ يَرۡفَعُهُۥۚ ١٠ ﴾ [فاطر: ١٠] 

ความว่า “ใครต้องการอำนาจ ดังนั้น อำนาจทั้งมวลเป็นของอัลลอฮฺ  คำกล่าวที่ดีย่อมจะขึ้นไปสู่พระองค์ และการงานที่ดีนั้นพระองค์ทรงยกย่องสรรเสริญมัน” (ฟาฏิร: 10)

และตรัสอีกว่า

﴿ قُلِ ٱللَّهُمَّ مَٰلِكَ ٱلۡمُلۡكِ تُؤۡتِي ٱلۡمُلۡكَ مَن تَشَآءُ وَتَنزِعُ ٱلۡمُلۡكَ مِمَّن تَشَآءُ وَتُعِزُّ مَن تَشَآءُ وَتُذِلُّ مَن تَشَآءُۖ بِيَدِكَ ٱلۡخَيۡرُۖ إِنَّكَ عَلَىٰ كُلِّ شَيۡءٖ قَدِيرٞ ٢٦ ﴾ [آل عمران: ٢٦] 

ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่าข้าแต่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิสิทธิ์แห่งอำนาจทั้งปวง! พระองค์นั้นจะทรงประทานอำนาจแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และจะทรงถอดถอนอำนาจจากผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และจะทรงให้เกียรติแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และจะทรงยังความต่ำต้อยแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ความดีทั้งหลายนั้นอยู่ที่พระหัตถ์ของพระองค์ แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง” (อาลอิมรอน: 26)

กล่าวคือ พระองค์ทรงประทานความมีเกียรติแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ด้วยการเชื่อฟังของเขา และให้ความต่ำต้อยแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ด้วยการฝ่าฝืนของเขา ดังที่นักอรรถาธิบายอัลกุรอานได้กล่าวไว้

และมุอ์มินผู้ศรัทธานั้นคือผู้ที่มีเกียรติเสมอแม้ว่าเขาจะมีทรัพย์สินหรือหน้าตาทางสังคมเพียงน้อยนิด อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿  وَلِلَّهِ ٱلۡعِزَّةُ وَلِرَسُولِهِۦ وَلِلۡمُؤۡمِنِينَ  ٨ ﴾ [المنافقون: ٨] 

ความว่า “ส่วนอำนาจนั้นเป็นของอัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์และบรรดาผู้ศรัทธา” (อัล-มุนาฟิกูน: 8)

ชาวสลัฟบางท่านกล่าวดุอาอ์ว่า "โอ้อัลลอฮฺ ขอให้พวกเราเป็นผู้มีเกียรติด้วยการเชื่อฟังพระองค์ และขอพระองค์อย่าให้พวกเรามีความต่ำต้อยเนื่องจากการฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์" (หนังสืออัล-ญะวาบ อัล-กาฟียฺ หน้า 53)

บรรดามุอ์มินคือผู้ที่มีเกียรติแม้ว่าพวกเขาจะมีจำนวนเพียงเล็กน้อย และอัลลอฮฺจะทรงประทานชัยชนะอันยิ่งใหญ่ให้กับพวกเขา ถ้าพวกเขามีอีหม่านศรัทธาที่แน่วแน่ และเชื่อฟังพระเจ้าของพวกเขา พระองค์ตรัสว่า

﴿ وَلَقَدۡ نَصَرَكُمُ ٱللَّهُ بِبَدۡرٖ وَأَنتُمۡ أَذِلَّةٞۖ فَٱتَّقُواْ ٱللَّهَ لَعَلَّكُمۡ تَشۡكُرُونَ ١٢٣ ﴾ [آل عمران: ١٢٣] 

ความว่า “และอัลลอฮฺได้ทรงช่วยเหลือพวกเจ้าที่บะดัรมาแล้วทั้งๆที่พวกเจ้าเป็นพวกที่ด้อยกว่า ดังนั้นพวกเจ้าพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด หวังว่าพวกเจ้าจักขอบคุณ” (อาลอิมรอน: 123)

ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวแก่ชาวอันศอรฺว่า

«أَلَمْ تَكُوْنُوْا أَذِلَّةً فَأَعَزَّكُمُ اللهُ؟!» [أحمد برقم 11547]

ความว่า “พวกท่านมิได้เคยเป็นผู้ที่ต่ำต้อย แล้วพระองค์อัลลอฮฺทรงทำให้พวกท่านเป็นผู้ที่มีเกียรติขึ้นมาหรอกหรือ?” (บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 11547)

ซึ่งคำว่า (  الذلَّة) นั้นมีหลายความหมาย:

1) ความนอบน้อมถ่อมตน อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า

﴿ فَسَوۡفَ يَأۡتِي ٱللَّهُ بِقَوۡمٖ يُحِبُّهُمۡ وَيُحِبُّونَهُۥٓ أَذِلَّةٍ عَلَى ٱلۡمُؤۡمِنِينَ ﴾ [المائ‍دة: ٥٤] 

ความว่า “พระองค์ก็จะทรงนำมาซึ่งพวกหนึ่ง ที่พระองค์ทรงรักพวกเขาและพวกเขาก็รักพระองค์ เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนต่อบรรดามุอ์มินผู้ศรัทธา” (อัล-มาอิดะฮฺ: 54)

และตรัสอีกว่า

﴿ وَٱخۡفِضۡ لَهُمَا جَنَاحَ ٱلذُّلِّ مِنَ ٱلرَّحۡمَةِ ﴾ [الإسراء: ٢٤] 

ความว่า “และจงนอบน้อมแก่ท่านทั้งสองซึ่งการถ่อมตนเนื่องจากความเมตตา” (อัลอิสรออฺ: 24)

(2) จำนวนน้อย อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ وَلَقَدۡ نَصَرَكُمُ ٱللَّهُ بِبَدۡرٖ وَأَنتُمۡ أَذِلَّةٞۖ ﴾ [آل عمران: ١٢٣] 

ความว่า “และแน่นอน อัลลอฮฺได้ทรงช่วยเหลือพวกเจ้าที่บะดัรมาแล้วทั้งๆ ที่พวกเข้าเป็นพวกที่ด้อยกว่า” (อาลอิมรอน: 123)

(3) ความง่ายดาย อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ وَذُلِّلَتۡ قُطُوفُهَا تَذۡلِيلٗا ١٤ ﴾ [الانسان: ١٤] 

ความว่า “และผลไม้ในสวนสวรรค์ถูกโน้มต่ำลงมาใกล้พวกเขา” (อัล-อินสาน: 14)

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮฺ กล่าวว่า "ทุกคนในโลกดุนยานี้คงไม่มีใครหลีกหนีพ้นจากความเหนื่อยยากและการทดสอบได้ ดังนั้นถ้าผู้ใดไม่มีความอดทนและเลือกที่จะเป็นผู้ทรยศฝ่าฝืน แน่นอนว่าสิ่งที่จะประสบกับเขาจะเป็นความชั่วร้ายที่ยิ่งใหญ่และหนักหนากว่าสิ่งที่เขาพยายามจะหลีกหนี อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

﴿ وَمِنۡهُم مَّن يَقُولُ ٱئۡذَن لِّي وَلَا تَفۡتِنِّيٓۚ أَلَا فِي ٱلۡفِتۡنَةِ سَقَطُواْۗ ﴾ [التوبة: ٤٩] 

ความว่า “และในหมู่พวกเขานั้นมีผู้ที่กล่าวว่า จงอนุมัติแก่ฉันเถิด และอย่าให้ฉันตกอยู่ในการทำความชั่วเลย พึงรู้เถิดว่า พวกเขาได้ตกอยู่ในการทำความชั่วนั้นแล้ว” (อัตเตาบะฮฺ: 49)

ส่วนผู้ใดเลือกที่จะอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากและต่ำต้อยที่ต้องประสบพบเจอเพื่อดำรงไว้ซึ่งการภักดีต่ออัลลอฮฺ เหนือความมีเกียรติที่ต้องแลกกับการฝ่าฝืน ดังที่ท่านนบียูสุฟ อะลัยฮิสลาม และนบีท่านอื่นๆได้เลือก แน่นอนเขาก็จะได้รับผลบุญตอบแทนทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ และความยากลำบากที่เขาพบเจอก็จะกลับกลายเป็นความโปรดปรานและความสำราญ ในขณะเดียวกันผู้ที่เคยมีความสุขกับการทำชั่วก็จะกลับกลายเป็นผู้ที่ต้องเศร้าใจและสูญเสีย

ท่านนบียูสุฟ อะลัยฮิสสลาม มีความยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮฺ ท่านจึงไม่กล้าที่จะกระทำสิ่งที่เป็นบาป โดยท่านไม่เกรงกลัวอันตรายจากผู้อื่น แม้ว่าท่านจะต้องถูกพวกเขาจับขังก็ตาม ท่านเลือกที่จะลำบากถูกจองจำโดยที่ท่านเป็นผู้ที่ภักดีเชื่อฟัง มากกว่าที่จะเลือกความมีเกียรติ สนองความใคร่ หรือการได้มาซึ่งตำแหน่งหน้าที่และทรัพย์สินเงินทอง แต่ต้องเป็นผู้ที่ทรยศฝ่าฝืน ทั้งนี้ หากท่านตกลงปลงใจกับสิ่งที่ภรรยาของขุนนางใหญ่เสนอแก่ท่าน ท่านก็จะได้รับทรัพย์สิน และตำแหน่งหน้าที่สูงส่ง เพราะสามีของนางเป็นผู้ที่เชื่อฟังและอยู่ในโอวาทของนาง แต่ท่านก็เลือกที่จะถูกขังและละทิ้งความต้องการเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือตำแหน่ง โดยปฏิเสธที่จะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้นแต่ต้องเป็นผู้ที่ทรยศฝ่าฝืน" (อัล-ฟะตาวา 15/132)

ท่านวะฮับ บินมุนับบิฮฺ กล่าวว่า "เมื่อท่านนบียูสุฟเดินผ่านภรรยาขุนนางผู้นั้นหลังจากที่ท่านได้กลายเป็นขุนนางใหญ่อียิปต์แทนที่แล้ว นางได้กล่าวว่า ขอสรรเสริญต่ออัลลอฮฺ ผู้ทรงทำให้ทาสกลายเป็นกษัตริย์ด้วยการภักดีเชื่อฟังพระองค์ และทำให้กษัตริย์กลับกลายเป็นทาสอันเนื่องจากการทรยศฝ่าฝืน" (ตัฟสีรฺ อัล-กุรฏุบียฺ 11/382)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แจ้งบอกไว้เกี่ยวกับอนาคตของอิสลามว่า พระองค์อัลลอฮฺจะทรงทำให้อิสลามนั้นไปถึงยังมนุษย์ชาติทั่วโลก ถึงแม้ว่าผู้ปฏิเสธจะขัดขวางเพียงใดก็ตาม ดังหะดีษที่รายงานโดยตะมีมอัดดารีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 «لَيَبْلُغَنَّ هَذَا الأَمْرُ مَا بَلَغَ اللَّيْلُ وَالنَّهَارُ، وَلَا يَتْرُكُ اللهُ بَيْتَ مَدَرٍ وَلَاوَبَرٍ إِلَّا أَدْخَلَهُ اللهُ هَذَا الدِّيْنَ بِعِزِّ عَزِيْزٍ، وَبِذِلِّ ذَلِيْلٍ، عِزًّا يُعِزُّ اللهُ بِهِ الإِسْلاَمَ، وَذُلًّا يُذِلُّ اللهُ بِهِ الكُفْرَ» [أحمد برقم 16957]

ความว่า "ศาสนานี้จะแผ่ขยายไปไกลตราบที่วันคืนยังคงหมุนเวียนอยู่ และอัลลอฮฺจะทรงให้ศาสนานี้เข้าสู่บ้านเรือนทุกหลัง ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือกลางทะเลทราย ทำให้บางคนได้รับเกียรติและสง่างาม ในขณะที่บางคนต้องพบกับความต่ำต้อยไร้ค่า เป็นความมีเกียรติแห่งอิสลาม และความต่ำต้อยของการปฏิเสธศรัทธา"

ท่านตะมีม อัดดารียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ผู้รายงานหะดีษกล่าวว่า "ฉันได้รับรู้สิ่งดังกล่าวจากครอบครัวของฉันเอง โดยผู้ที่รับอิสลามก็จะประสบกับความดีงาม ความสูงส่งและมีเกียรติ ส่วนผู้ที่ปฏิเสธก็จะประสบกับความต่ำต้อย อัปยศ และต้องจ่ายญิซยะฮฺ" (บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 16957)

.....................................

แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ

ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

คัดลอกจาก http://IslamHouse.com/407228

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).