Loading

 

โบนัสสำหรับชาวสวรรค์ (สูเราะฮฺ อัฏ-ฏูร 21)

โบนัสสำหรับชาวสวรรค์ (สูเราะฮฺ อัฏ-ฏูร 21)

 

การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ การสดุดีและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์...

อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

﴿ وَٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَٱتَّبَعَتۡهُمۡ ذُرِّيَّتُهُم بِإِيمَٰنٍ أَلۡحَقۡنَا بِهِمۡ ذُرِّيَّتَهُمۡ وَمَآ أَلَتۡنَٰهُم مِّنۡ عَمَلِهِم مِّن شَيۡءٖۚ كُلُّ ٱمۡرِيِٕۢ بِمَا كَسَبَ رَهِينٞ ٢١ ﴾ [الطور: ٢١] 

ความว่า “และบรรดาผู้ศรัทธาที่บรรดาลูกหลานของพวกเขาดำเนินตามพวกเขาด้วยการศรัทธา เราจะให้ลูกหลานของพวกเขาอยู่ร่วมกับพวกเขา และเราจะไม่ให้การงานของพวกเขาลดหย่อนลงจากพวกเขาแต่อย่างใด แต่ละคนย่อมได้รับการค้ำประกันในสิ่งที่เขาขวนขวายไว้” (อัฏ-ฏูร : 21 )

           

อิบนุกะษีร ได้อธิบายว่า “อัลลอฮฺได้บอกกล่าวเกี่ยวกับความประเสริฐ เกียรติยศอันสูงส่ง และความโปรดปรานของพระองค์ว่า หากลูกหลานของบรรดาผู้ศรัทธามีความศรัทธามั่นเช่นเดียวกับพวกเขาแล้ว อัลลอฮฺจะทรงยกสถานะของพวกเขาเช่นเดียวกับเหล่าบรรพบุรุษ ถึงแม้ว่าลูกหลานเหล่านั้นมีการงานที่น้อยกว่าบรรพบุรุษก็ตาม กล่าวคือเพื่อที่จะให้บรรพบุรุษมีความสุขใจกับแก้วตาดวงใจของพวกเขา อัลลอฮฺจะรวบรวมพวกเขาไว้ในสถานที่เดียวกัน ซึ่งพระองค์จะตอบแทนแก่ลูกหลานอย่างเต็มเปี่ยมทั้งที่ได้ปฏิบัติน้อยกว่า โดยที่มิได้ลดหย่อนการตอบแทนแก่บรรพบุรุษแต่ประการใด” (ตัฟซีรอิบนุกะษีร เล่ม : 4 หน้า : 241)

            อิบนุอับบาส ได้ให้ความหมายว่า “อัลลอฮฺจะทรงยกสถานะลูกหลานของผู้ศรัทธาในระดับเดียวกันกับเขา แม้ว่าพวกเขาจะปฏิบัติการงานน้อยกว่าก็ตาม เพื่อที่จะให้เขามีความมีความรื่นรมย์ใจ แล้วท่านก็อ่านโองการที่ว่า ﴿ وَٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَٱتَّبَعَتۡهُمۡ ذُرِّيَّتُهُم ﴾ ” (ตัฟซีรอิบนุกะษีร เล่ม : 4 หน้า : 241 )

    อิบนุกะษีร ได้อรรถาธิบายว่า “นี่คือความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่มีต่อลูกหลานอันเนื่องจากความสิริมงคล (บะเราะกะฮฺ) ในการงานของบรรดาบรรพบุรุษ ส่วนความโปรดปรานของพระองค์ที่มีต่อบรรพบุรุษก็เนื่องด้วยความสิริมงคล (บะเราะกะฮฺ) จากดุอาอ์ของบรรดาลูกหลาน ดังปรากฏรายงานในมุสนัดของอิหม่ามอะหฺมัดจากอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮู เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«إِنَّ اللَّهَ عَزَّ وَجَلَّ لَيَرْفَعُ الدَّرَجَةَ لِلْعَبْدِ الصَّالِحِ فِي الْجَنَّةِ، فَيَقُولُ: يَا رَبِّ أَنَّى لِي هَذِهِ؟ فَيَقُولُ: بِاسْتِغْفَارِ وَلَدِكَ لَكَ» [رواه أحمد]

ความว่า ”แน่นอนอัลลอฮฺจะยกสถานะแก่บ่าวผู้ทรงคุณธรรมในสวรรค์ เขาจึงถามว่า โอ้อัลลอฮฺฉันได้รับสิ่งตอบแทนอันมากมายเหล่านี้มาอย่างไร? อัลลอฮฺจึงตรัสตอบว่า อันเนื่องจากการขออภัยโทษโดยลูกของเจ้าให้แก่เจ้า” (บันทึกโดยอะหฺมัดเล่ม : 16 หน้า : 356-357) (ดูตัฟซีรอิบนุกะษีร เล่ม : 4 หน้า : 242)

และท่านนบี ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« إِذَا مَاتَ الإِنْسَانُ انْقَطَعَ عَنْهُ عَمَلُهُ إِلاَّ مِنْ ثَلاَثٍ: إِلاَّ مِنْ صَدَقَةٍ جَارِيَةٍ، أَوْ عِلْمٍ يُنْتَفَعُ بِهِ، أَوْ وَلَدٍ صَالِحٍ يَدْعُو لَهُ ». [رواه مسلم]

ความว่า ”เมื่อมนุษย์คนหนึ่งได้เสียชีวิตลงภาคผลบุญจากการงานของเขาก็จะสิ้นสุดลง นอกจากการงานสามประการที่จะได้รับภาคผลอย่างต่อเนื่อง คือ การบริจาคทานถาวร (เศาะดะเกาะฮฺญาริยะฮฺ) วิชาความรู้ที่ยังประโยชน์ และลูกที่ดี (ศอลิฮฺ) ที่ขอดุอาอ์ให้แก่เขา” (บันทึกโดยมุสลิมหน้า : 270 หมายเลข : 1631)

 ความหมายโองการที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา กล่าวว่า

﴿ كُلُّ ٱمۡرِيِٕۢ بِمَا كَسَبَ رَهِينٞ ٢١ ﴾ [الطور: ٢١]

ความว่า “แต่ละคนย่อมได้รับการค้ำประกันในสิ่งที่เขาขวนขวายไว้” (อัฏ-ฏูร : 21)

 

            หมายถึง เมื่ออัลลอฮฺได้บอกถึงสถานะอันประเสริฐ ที่ได้ยกระดับสถานะบรรดาลูกหลานของผู้ศรัทธาให้เท่าเทียมกับบรรพบุรุษ ทั้งที่มีการงานที่น้อยกว่า อัลลอฮฺจึงได้บอกถึงความยุติธรรมของพระองค์ กล่าวคือจะไม่เอาความผิดของใครคนหนึ่งให้แก่ใครอีกคน ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่า

﴿ كُلُّ ٱمۡرِيِٕۢ بِمَا كَسَبَ رَهِينٞ ٢١ ﴾ [الطور: ٢١]

กล่าวคือในแต่ละคนย่อมต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาได้ขวนขวายไว้ โดยจะไม่รับผิดชอบความผิดของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือลูกก็ตาม ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

﴿ كُلُّ نَفۡسِۢ بِمَا كَسَبَتۡ رَهِينَةٌ ٣٨ إِلَّآ أَصۡحَٰبَ ٱلۡيَمِينِ ٣٩ فِي جَنَّٰتٖ يَتَسَآءَلُونَ ٤٠ عَنِ ٱلۡمُجۡرِمِينَ ٤١ ﴾ [المدثر: ٣٨-٤١] 

ความว่า “แต่ละชีวิตย่อมถูกค้ำประกันกับสิ่งที่มันขวนขวายไป ยกเว้นบรรดาผู้อยู่เบื้องขวา อยู่ในสวนสวรรค์หลากหลาย พวกเขาจะไต่ถามซึ่งกันและกัน เกี่ยวกับพวกที่กระทำความผิด” (อัล-มุดดัษษิร : 38-41)

 

คำสอนที่ได้รับจากโองการเหล่านี้

1.     

การที่ลูกหลานของผู้ศรัทธาจะได้รับเกียรติให้อยู่ร่วมกันกับพวกเขานั้น มีเงื่อนไขว่าบรรดาลูกหลานจะต้องมีศรัทธา หากปราศจากความศรัทธาแล้วคุณงามความดีของบรรพบุรุษไม่มีประโยชน์อันใดต่อพวกเขา ดังที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

﴿  إِنَّ ٱلَّذِينَ كَذَّبُواْ بِايَٰتِنَا وَٱسۡتَكۡبَرُواْ عَنۡهَا لَا تُفَتَّحُ لَهُمۡ أَبۡوَٰبُ ٱلسَّمَآءِ وَلَا يَدۡخُلُونَ ٱلۡجَنَّةَ حَتَّىٰ يَلِجَ ٱلۡجَمَلُ فِي سَمِّ ٱلۡخِيَاطِۚ وَكَذَٰلِكَ نَجۡزِي ٱلۡمُجۡرِمِينَ ٤٠ ﴾  [الأعراف : 40]

ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ปฏิเสธโองการต่างๆ ของเรา และได้แสดงความโอหังต่อโองการเหล่านั้น บรรดาประตูแห่งฟากฟ้าจะไม่ถูกเปิดให้แก่พวกเขา และพวกเขาจะไม่ได้เข้าสวรรค์ จนกว่าอูฐจะลอดเข้าไปในรูเข็มได้ และในทำนองนั้นแหละ เราจะตอบแทนด้วยการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด” (อัล-อะอฺรอฟ : 40 )

 

และอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสอีกว่า

﴿  فَمَا تَنفَعُهُمۡ شَفَٰعَةُ ٱلشَّٰفِعِين﴾   [المدثر : 48]

ความว่า “ดังนั้นการขอชะฟาอะฮฺของบรรดาผู้มีชะฟาอะฮฺทั้งหลายจะไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่พวกเขา” (อัล-มุดดัษษิร : 48 )

อิหม่ามอัล-บุคอรีย์ได้บันทึกหะดีษจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮู เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 «يَلْقَى إِبْرَاهِيمُ أَبَاهُ آزَرَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ وَعَلَى وَجْهِ آزَرَ قَتَرَةٌ وَغَبَرَةٌ ، فَيَقُولُ لَهُ إِبْرَاهِيمُ : أَلَمْ أَقُلْ لَكَ لَا تَعْصِنِي، فَيَقُولُ أَبُوهُ : فَالْيَوْمَ لَا أَعْصِيكَ ، فَيَقُولُ إِبْرَاهِيمُ : يَا رَبِّ إِنَّكَ وَعَدْتَنِي أَنْ لَا تُخْزِيَنِي يَوْمَ يُبْعَثُونَ فَأَيُّ خِزْيٍ أَخْزَى مِنْ أَبِي الْأَبْعَدِ؟، فَيَقُولُ اللَّهُ تَعَالَى : إِنِّي حَرَّمْتُ الْجَنَّةَ عَلَى الْكَافِرِينَ، ثُمَّ يُقَالُ : يَا إِبْرَاهِيمُ مَا تَحْتَ رِجْلَيْكَ، فَيَنْظُرُ فَإِذَا هُوَ بِذِيخٍ مُلْتَطِخٍ فَيُؤْخَذُ بِقَوَائِمِهِ فَيُلْقَى فِي النَّارِ» [رواه البخاري] 

ความว่า “ในวันกิยามะฮฺเมื่อท่านนบีอิบรอฮีมได้พบกับบิดาของท่านที่ชื่ออาซัร โดยที่ใบหน้าของอาซัรหมองคล้ำเต็มไปด้วยฝุ่นดำมิด ท่านนบีอิบรอฮีมกล่าวว่า ฉันได้บอกกับพ่อแล้วใช่ไหมว่าให้เชื่อฟังฉัน อาซัรกล่าวว่า ต่อไปนี้ฉันจะเชื่อฟังและไม่ฝ่าฝืนต่อเจ้าแล้ว ท่านนบีอิบรอฮีมจึงพูดว่า โอ้อัลลอฮฺพระองค์ได้ให้สัญญากับฉันว่าจะไม่ให้ฉันพบกับความอัปยศ แล้วจะมีความอัปยศอันใดเล่าที่จะเลวยิ่งไปกว่าการที่ฉันไม่สามารถช่วยเหลือพ่อของฉันได้ อัลลอฮฺจึงตรัสว่า แท้จริงฉันจะไม่ให้ผู้ปฏิเสธเข้าสวรรค์ อิบรอฮีมเอ๋ย ก้มลงมองดูที่เท้าของเจ้าซิว่ามีอะไรอยู่? แล้วเขาก็มองดูพบว่า(อาซัรถูกทำให้กลายร่าง)เป็นหมาในตัวผู้ที่เปื้อนไปด้วยสิ่งโสโครก (นะญิส) ทั้งตัว (อิบรอฮีมจึงตัดใจจากพ่อของตน) และแล้วมันก็ถูกจับโยนลงไปในไฟนรก” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข : 3350)

2.     

แท้จริงความโปรดปรานของอัลลอฮฺช่างใหญ่หลวงนัก โดยที่มันจะไม่บั่นทอนในการตอบแทนแก่บ่าวผู้ศรัทธาแต่อย่างใด ทว่าจะยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณหลายๆ เท่า ดังที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

﴿ وَمَآ أَلَتۡنَٰهُم مِّنۡ عَمَلِهِم مِّن شَيۡءٖۚ كُلُّ ٱمۡرِيِٕۢ بِمَا كَسَبَ رَهِينٞ ﴾ [الطور : 21]

ความว่า “และเราจะไม่ให้การงานของพวกเขาลดหย่อนไปจากพวกเขาแต่อย่างใด แต่ละคนย่อมได้รับการค้ำประกันในสิ่งที่เขาได้ขวนขวายไว้” (อัฏ-ฏูร : 21 )

 

และอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสอีกว่า

﴿ فَٱسۡتَجَابَ لَهُمۡ رَبُّهُمۡ أَنِّي لَآ أُضِيعُ عَمَلَ عَٰمِلٖ مِّنكُم مِّن ذَكَرٍ أَوۡ أُنثَىٰۖ بَعۡضُكُم مِّنۢ بَعۡضٖۖ ...﴾ [آل عمران : 195]

ความว่า “แล้วพระเจ้าของพวกเขาก็ตอบรับพวกเขาว่า แท้จริงข้าจะไม่ให้สูญเสียซึ่งงานของผู้ทำงานคนหนึ่งคนใดในกลุ่มพวกเจ้า ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม โดยที่บางส่วนของพวกเจ้านั้นมาจากอีกบางส่วน” (อาล อิมรอน : 195 )

 

และอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสอีกว่า

﴿ وَمَن يَعۡمَلۡ مِنَ ٱلصَّٰلِحَٰتِ وَهُوَ مُؤۡمِنٞ فَلَا يَخَافُ ظُلۡمٗا وَلَا هَضۡمٗا ﴾   [طه : 112]

ความว่า “และผู้ที่ประกอบคุณงามความดีทั้งหลายในสภาพที่เขาเป็นผู้ศรัทธา เขาจะไม่กลัวความอธรรมและการบั่นทอนอันใด” (ฏอฮา : 112 )

 

อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสอีกว่า

﴿ وَنَضَعُ ٱلۡمَوَٰزِينَ ٱلۡقِسۡطَ لِيَوۡمِ ٱلۡقِيَٰمَةِ فَلَا تُظۡلَمُ نَفۡسٞ شَيۡئًاۖ وَإِن كَانَ مِثۡقَالَ حَبَّةٖ مِّنۡ خَرۡدَلٍ أَتَيۡنَا بِهَاۗ وَكَفَىٰ بِنَا حَٰسِبِينَ ٤٧ ﴾ [الأنبياء : 47]

ความว่า “และเราจะตั้งตราชูที่เที่ยงธรรมสำหรับวันกิยามะฮฺ ดังนั้น จะไม่มีชีวิตใดถูกอธรรมแต่อย่างใดเลย และแม้ว่ามันเป็นเพียงน้ำหนักเท่าเมล็ดพืช เราก็จะนำมันมาแสดง และเป็นการพอเพียงแล้วสำหรับเราที่เป็นผู้ชำระสอบสวน” (อัล-อัมบิยาอ์ : 47)

 

3.     

เป็นการยืนยันว่าอัลลอฮฺทรงมีความยุติธรรมมากที่สุด โดยที่พระองค์จะไม่เอาโทษใครต่อความผิดของผู้อื่น อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 ﴿تِلۡكَ أُمَّةٞ قَدۡ خَلَتۡۖ لَهَا مَا كَسَبَتۡ وَلَكُم مَّا كَسَبۡتُمۡۖ وَلَا تُسۡئلونَ عَمَّا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ﴾ [البقرة : 141]

ความว่า “นั่นคือ กลุ่มชนที่ล่วงลับไปแล้ว สิ่งที่พวกเขาได้ขวนขวายเอาไว้ ก็ย่อมเป็นของพวกเขา และสิ่งที่พวกเจ้าขวนขวายเอาไว้ก็ย่อมเป็นของพวกเจ้า และพวกเจ้าจะไม่ถูกไต่สวน ถึงสิ่งที่เขาเหล่านั้นปฏิบัติกัน” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 141 )

 

และอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

﴿أَلَّا تَزِرُ وَازِرَةٞ وِزۡرَ أُخۡرَىٰ ﴾  [النجم : 38]

ความว่า “ไม่มีผู้ใดที่จะถูกลงโทษอันเนื่องจากความผิดของผู้อื่น และความผิดของเขาก็จะไม่มีใครที่ไปแบกภาระแทนเขาได้” (อัล-นัจญ์มุ : 38 )

     

4.     

โองการนี้นับได้ว่าเป็นข่าวดีที่สร้างความปลื้มปีติแก่บรรดาผู้ศรัทธา อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

﴿ قُلۡ بِفَضۡلِ ٱللَّهِ وَبِرَحۡمَتِهِۦ فَبِذَٰلِكَ فَلۡيَفۡرَحُواْ هُوَ خَيۡرٞ مِّمَّا يَجۡمَعُونَ ﴾ [يونس : 58]

ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮฺ และด้วยความเมตตาของพระองค์ ดังกล่าวนั้น พวกเขาพึงดีใจเถิด ซึ่งมันดียิ่งกว่าสิ่งที่พวกเขาได้สะสมไว้” (ยูนุส : 58 )

 

5.     

ส่งเสริมให้เอาใจใส่ในการอบรมดูแลลูกหลานตามคำสอนแห่งอิสลาม เช่น เรื่องการประกอบอิบาดะฮฺที่ถูกต้อง การเอาใจใส่ในการทำอิบาดะฮฺของลูกๆ การส่งบุตรหลานให้เรียนและท่องจำอัลกุรอาน  การอบรมบ่มนิสัยที่ดีๆ การปกป้องจากพฤติกรรมที่ไม่ดีทั้งปวง และการหมั่นขอดุอาอ์ให้แก่บุตรหลานเป็นคนดีและอยู่ในทางนำที่ถูกต้องอยู่เสมอ เผื่อว่าบิดามารดาจะได้รับคุณงามความดีอันเนื่องจากพวกเขาทั้งในโลกนี้และโลกอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

﴿ وَٱلَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا هَبۡ لَنَا مِنۡ أَزۡوَٰجِنَا وَذُرِّيَّٰتِنَا قُرَّةَ أَعۡيُنٖ وَٱجۡعَلۡنَا لِلۡمُتَّقِينَ إِمَامًا ﴾ [الفرقان : 74]

ความว่า “และบรรดาผู้ที่กล่าวว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของเรา ขอพระองค์โปรดประทานให้คู่ครองและลูกหลานของเรา เป็นที่รื่นรมย์แก่สายตาของเรา และทรงทำให้เราเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้ยำเกรงด้วยเถิด” (อัล-ฟุรกอน : 74 )

 

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«مُرُوا أَوْلَادَكُمْ بِالصَّلَاةِ وَهُمْ أَبْنَاءُ سَبْعِ سِنِينَ، وَاضْرِبُوهُمْ عَلَيْهَا وَهُمْ أَبْنَاءُ عَشْرٍ، وَفَرِّقُوا بَيْنَهُمْ فِي الْمَضَاجِعِ» [رواه أبوداود]

ความว่า”ท่านทั้งหลายจงสั่งใช้ให้บรรดาลูกๆ ละหมาดเมื่อพวกเขามีอายุเจ็ดปี และจงลงโทษพวกเขา (ในกรณีที่พวกเขาละเลย) เมื่อมีอายุได้สิบปี และจงแยกที่นอนของพวกเขาเถิด (ระหว่างชายหญิง)” ( บันทึกโดยอบูดาวูด เล่ม : 1 หมายเลข : 495)

           

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวอีกว่า

«خَيْرُكُمْ مَنْ تَعَلَّمَ الْقُرْآنَ وَعَلَّمَهُ» [رواه البخاري]

ความว่า “ผู้ที่ดีที่สุดในกลุ่มพวกเจ้า คือ ผู้ที่เรียนและสอนอัลกุรอาน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข  : 5027)

..........................................

แปลโดย : อับดุศศอมัด อัดนาน

ตรวจทานโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

คัดลอกจาก http://IslamHouse.com/453934

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).