Loading

 

ความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ

ความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใด ๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ และเป็นศาสนทูตของพระองค์

ความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งที่ชาวสวรรค์จะได้รับก็คือ การที่อัลลอฮฺทรงพึงพอพระทัยพวกเขา  และจะไม่ทรงโกรธกริ้วพวกเขาชั่วกาลนาน พระองค์ตรัสว่า

﴿ وَعَدَ ٱللَّهُ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ وَٱلۡمُؤۡمِنَٰتِ جَنَّٰتٖ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ خَٰلِدِينَ فِيهَا وَمَسَٰكِنَ طَيِّبَةٗ فِي جَنَّٰتِ عَدۡنٖۚ وَرِضۡوَٰنٞ مِّنَ ٱللَّهِ أَكۡبَرُۚ ذَٰلِكَ هُوَ ٱلۡفَوۡزُ ٱلۡعَظِيمُ ٧٢﴾ [التوبة: 72] 

“อัลลอฮฺได้ทรงสัญญาแก่บรรดาผู้ศรัทธาชายและบรรดาผู้ศรัทธาหญิง ซึ่งบรรดาสวนสวรรค์ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่ภายใต้สวนสวรรค์เหล่านั้น โดยที่พวกเขาจะอยู่ในนั้นตลอดกาล และบรรดาสถานที่พำนักอันดีซึ่งอยู่ในบรรดาสวนสวรรค์แห่งความวัฒนาสถาพร และความปีติยินดีจากอัลลอฮฺนั้นใหญ่กว่า นั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง” (อัตเตาบะฮฺ: 72)

พระดำรัสของพระองค์ที่ว่า ﴿ وَرِضۡوَٰنٞ مِّنَ ٱللَّهِ أَكۡبَرُۚ ﴾ “และความปีติยินดีจากอัลลอฮฺนั้นใหญ่กว่า” หมายความว่า ความพึงพอพระทัยของพระองค์นั้น มีความยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าความโปรดปรานใด ๆ ที่พวกเขาได้รับอย่างหาที่เปรียบมิได้ เพราะความสุขความสำราญของชาวสวรรค์นั้นจะยังไม่สมบูรณ์ จนกว่าพวกเขาจะได้เห็นพระเจ้าของพวกเขา และได้รับความพอพระทัยจากพระองค์ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

﴿ ۞قُلۡ أَؤُنَبِّئُكُم بِخَيۡرٖ مِّن ذَٰلِكُمۡۖ لِلَّذِينَ ٱتَّقَوۡاْ عِندَ رَبِّهِمۡ جَنَّٰتٞ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ خَٰلِدِينَ فِيهَا وَأَزۡوَٰجٞ مُّطَهَّرَةٞ وَرِضۡوَٰنٞ مِّنَ ٱللَّهِۗ وَٱللَّهُ بَصِيرُۢ بِٱلۡعِبَادِ ١٥ ﴾ [آل عمران: ١٥] 

“จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่าจะให้ฉันบอกแก่พวกท่านถึงสิ่งที่ดียิ่งกว่านั้นไหม คือบรรดาผู้ที่ยำเกรงนั้น ณ พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา พวกเขาจะได้รับบรรดาสวนสวรรค์ ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่าง โดยที่พวกเขาจะพำนักอยู่ในสวรรค์เหล่านั้นตลอดกาล และจะได้รับบรรดาคู่ครองที่บริสุทธิ์ และความพึงใจจากอัลลอฮฺด้วย และอัลลอฮฺนั้นทรงเห็นบรรดาบ่าวทั้งหลาย” (อาลอิมรอน: 15)

            และพระองค์ตรัสว่า

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ أُوْلَٰٓئِكَ هُمۡ خَيۡرُ ٱلۡبَرِيَّةِ ٧ جَزَآؤُهُمۡ عِندَ رَبِّهِمۡ جَنَّٰتُ عَدۡنٖ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ خَٰلِدِينَ فِيهَآ أَبَدٗاۖ رَّضِيَ ٱللَّهُ عَنۡهُمۡ وَرَضُواْ عَنۡهُۚ ذَٰلِكَ لِمَنۡ خَشِيَ رَبَّهُۥ ٨ ﴾ [البينة: ٧-٨] 

“แท้จริง บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบความดีทั้งหลาย ชนเหล่านั้นพวกเขาเป็นมนุษย์ที่ดียิ่ง การตอบแทนของพวกเขา ณ พระเจ้าของพวกเขาคือสวนสวรรค์หลากหลายอันสถาพร ณ เบื้องหลังของมันมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน พวกเขาเป็นผู้พำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล อัลลอฮฺทรงปีติต่อพวกเขา และพวกเขาก็ยินดีในพระองค์ นั่นคือสำหรับผู้ที่กลัวเกรงพระเจ้าของพวกเขา” (อัลบัยยินะฮฺ: 7-8)

ท่านอบูสะอีด อัลคุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« إِنَّ اللَّهَ تَبَارَكَ وَتَعَالَى يَقُولُ لِأَهْلِ الجَنَّةِ: يَا أَهْلَ الجَنَّةِ؟ فَيَقُولُونَ: لَبَّيْكَ رَبَّنَا وَسَعْدَيْكَ، فَيَقُولُ: هَلْ رَضِيتُمْ؟ فَيَقُولُونَ: وَمَا لَنَا لاَ نَرْضَى وَقَدْ أَعْطَيْتَنَا مَا لَمْ تُعْطِ أَحَدًا مِنْ خَلْقِكَ، فَيَقُولُ: أَنَا أُعْطِيكُمْ أَفْضَلَ مِنْ ذَلِكَ، قَالُوا: يَا رَبِّ، وَأَيُّ شَيْءٍ أَفْضَلُ مِنْ ذَلِكَ؟ فَيَقُولُ: أُحِلُّ عَلَيْكُمْ رِضْوَانِي، فَلاَ أَسْخَطُ عَلَيْكُمْ بَعْدَهُ أَبَدًا » [رواه البخاري برقم 6549 ومسلم برقم 2829]  

"อัลลอฮฺ ตะอาลา จะตรัสแก่ชาวสวรรค์ว่า โอ้บรรดาชาวสวรรค์ทั้งหลาย พวกเขาก็จะขานรับว่า ลับบัยกะ ร็อบบะนา วะสะอฺดัยกะ (พระผู้อภิบาลของเรา พวกเราขอน้อมรับและปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของพระองค์ด้วยความยินดียิ่ง) แล้วพระองค์ก็ตรัสถามว่า พวกเจ้าพึงพอใจกันหรือยัง? พวกเขาตอบว่า พวกเราจะไม่พอใจได้อย่างไร ในเมื่อพระองค์ได้ทรงประทานให้แก่พวกเราซึ่งสิ่งที่พระองค์มิได้เคยประทานให้แก่ผู้ใดมาก่อน? พระองค์ตรัสว่า ข้าจะให้พวกเจ้ามากกว่านี้เสียอีก พวกเขากล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของเรา ยังมีสิ่งใดที่ยิ่งใหญ่มากกว่านี้อีกหรือ? พระองค์ตรัสว่า พวกเจ้าจะได้รับความพึงพอใจจากข้า และข้าจะไม่โกรธกริ้วพวกเจ้าอีกตลอดไป" (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 6549 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2829)

ส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้บ่าวได้รับความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮฺ ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ ได้แก่

(1) การศรัทธามั่นในอัลลอฮฺ และหมั่นปฏิบัติคุณงามความดี พระองค์ตรัสว่า

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ أُوْلَٰٓئِكَ هُمۡ خَيۡرُ ٱلۡبَرِيَّةِ ٧ جَزَآؤُهُمۡ عِندَ رَبِّهِمۡ جَنَّٰتُ عَدۡنٖ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ خَٰلِدِينَ فِيهَآ أَبَدٗاۖ رَّضِيَ ٱللَّهُ عَنۡهُمۡ وَرَضُواْ عَنۡهُۚ ذَٰلِكَ لِمَنۡ خَشِيَ رَبَّهُۥ ٨ ﴾ [البينة: ٧-٨] 

“แท้จริง บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบความดีทั้งหลาย ชนเหล่านั้น พวกเขาเป็นมนุษย์ที่ดียิ่ง การตอบแทนของพวกเขา ณ พระเจ้าของพวกเขาคือสวนสวรรค์หลากหลายอันสถาพร ณ เบื้องหลังของมันมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน พวกเขาเป็นผู้พำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล อัลลอฮฺทรงปีติต่อพวกเขา และพวกเขาก็ยินดีในพระองค์ นั่นคือสำหรับผู้ที่กลัวเกรงพระเจ้าของพวกเขา” (อัลบัยยินะฮฺ: 7-8)

(2) การสละตนทุ่มเทเพื่ออัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ พร้อมทั้งปกป้องและต่อสู้ยืนหยัดเพื่อศาสนาของพระองค์ อัลลอฮฺ ตรัสว่า

﴿ ۞لَّقَدۡ رَضِيَ ٱللَّهُ عَنِ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ إِذۡ يُبَايِعُونَكَ تَحۡتَ ٱلشَّجَرَةِ فَعَلِمَ مَا فِي قُلُوبِهِمۡ فَأَنزَلَ ٱلسَّكِينَةَ عَلَيۡهِمۡ وَأَثَٰبَهُمۡ فَتۡحٗا قَرِيبٗا ١٨ ﴾ [الفتح: ١٨] 

“โดยแน่นอน อัลลอฮฺทรงโปรดปรานต่อบรรดาผู้ศรัทธา ขณะที่พวกเขาให้สัตยาบันแก่เจ้าใต้ต้นไม้ (ที่หุดัยบิยะฮฺ) เพราะพระองค์ทรงรอบรู้ดีถึงสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของพวกเขา พระองค์จึงได้ทรงประทานความสงบใจลงมายังพวกเขา และได้ทรงตอบแทนให้แก่พวกเขาซึ่งชัยชนะอันใกล้นี้” (อัลฟัตหฺ: 18)

(3) ออกห่างจากการตั้งภาคี และบรรดามุชริกีน พร้อมทั้งแสดงความเป็นอริศัตรูกับพวกเขา อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ لَّا تَجِدُ قَوۡمٗا يُؤۡمِنُونَ بِٱللَّهِ وَٱلۡيَوۡمِ ٱلۡأٓخِرِ يُوَآدُّونَ مَنۡ حَآدَّ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥ وَلَوۡ كَانُوٓاْ ءَابَآءَهُمۡ أَوۡ أَبۡنَآءَهُمۡ أَوۡ إِخۡوَٰنَهُمۡ أَوۡ عَشِيرَتَهُمۡۚ أُوْلَٰٓئِكَ كَتَبَ فِي قُلُوبِهِمُ ٱلۡإِيمَٰنَ وَأَيَّدَهُم بِرُوحٖ مِّنۡهُۖ وَيُدۡخِلُهُمۡ جَنَّٰتٖ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ خَٰلِدِينَ فِيهَاۚ رَضِيَ ٱللَّهُ عَنۡهُمۡ وَرَضُواْ عَنۡهُۚ أُوْلَٰٓئِكَ حِزۡبُ ٱللَّهِۚ أَلَآ إِنَّ حِزۡبَ ٱللَّهِ هُمُ ٱلۡمُفۡلِحُونَ ٢٢ ﴾ [المجادلة: ٢٢] 

“เจ้าจะไม่พบหมู่ชนใดที่พวกเขาศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลกรักใคร่ชอบพอผู้ที่ต่อต้านอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นพ่อของพวกเขา หรือลูกหลานของพวกเขา หรือพี่น้องของพวกเขา หรือเครือญาติของพวกเขาก็ตาม ชนเหล่านั้นอัลลอฮฺได้ทรงบันทึกการศรัทธาไว้ในจิตใจของพวกเขา และได้ทรงเสริมพวกเขาให้มีพลังมากขึ้นด้วยการสนับสนุนของพระองค์ และจะทรงให้พวกเขาได้เข้าสวนสวรรค์อันหลากหลาย มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ณ เบื้องล่างของสวนสวรรค์ โดยเป็นผู้พำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล อัลลอฮฺทรงโปรดปรานพวกเขา และพวกเขาก็ยินดีปรีดาต่อพระองค์ ชนเหล่านั้นคือพรรคของอัลลอฮฺ พึงรู้เถิดว่า แท้จริงพรรคของอัลลอฮฺนั้น พวกเขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ” (อัลมุญาดะละฮฺ: 22)

ชัยคฺ อับดุรเราะหฺมาน บิน สะอฺดีย์ ได้กล่าวถึงผู้ที่มีคุณลักษณะดังกล่าวว่า “พวกเขาจะได้รับความโปรดปรานและความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮฺ พระองค์จะไม่ทรงโกรธกริ้วพวกเขาอีกตลอดไป และพวกเขาก็จะพึงพอใจกับสิ่งที่พระเจ้าของพวกเขาได้ทรงประทานให้อย่างมากมาย และยิ่งใหญ่อย่างหาที่เปรียบมิได้” (ตัฟสีรฺอิบนุสะอฺดีย์ หน้า 811)

(4) คำพูดที่ดีและไพเราะน่าฟัง บิลาล บิน อัลหาริษ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« إِنَّ الرَّجُلَ لَيَتَكَلَّمُ بِالْكَلِمَةِ مِنْ رِضْوَانِ اللهِ عَزَّ وَجَلَّ، مَا يَظُنُّ أَنْ تَبْلُغَ مَا بَلَغَتْ، يَكْتُبُ اللهُ عَزَّ وَجَلَّ لَهُ بِهَا رِضْوَانَهُ إِلَى يَوْمِ الْقِيَامَةِ » [رواه أحمد برقم 15852]  

“คนคนหนึ่งอาจพูดในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงพึงพอพระทัย โดยที่เขาไม่คาดคิดว่ามันจะเป็นผลดีเพียงใด และด้วยคำพูดดังกล่าวนี้ อัลลอฮฺจะทรงพอพระทัยเขาตราบจนวันกิยาะมะฮฺ” (บันทึกโดย อะหฺมัด หะดีษเลขที่ 15852)

(5) หมั่นทำดีต่อผู้อื่นและบริจาคทาน อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

﴿ وَٱلسَّٰبِقُونَ الْأَوَّلُونَ مِنَ ٱلۡمُهَٰجِرِينَ وَالْأَنْصَارِ وَالَّذِينَ اتَّبَعُوهُمْ بِإِحْسنٍ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمْ وَرَضُوا عَنْهُ وَأَعَدَّ لَهُمْ جَنَّٰتٖ تَجْرِي تَحْتَهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ خَٰلِدِينَ فِيهَآ أَبَدٗاۚ ذَلِكَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ 100 ﴾ [التوبة: 100] 

ความว่า “บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ (ชาวมุฮาญิรีนจากมักกะฮฺ) และในหมู่ผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศอรฺจากมะดีนะฮฺ) และบรรดาผู้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการทำดีนั้นอัลลอฮฺทรงพอพระทัยพวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์ด้วย และพระองค์ทรงเตรียมไว้ให้พวกเขาแล้ว ซึ่งบรรดาสวนสวรรค์ที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่าง พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล นั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง” (อัตเตาบะฮฺ: 100)

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« إِنَّ ثَلاَثَةً فِي بَنِي إِسْرَائِيلَ: أَبْرَصَ وَأَقْرَعَ وَأَعْمَى، بَدَا لِلَّهِ عَزَّ وَجَلَّ أَنْ يَبْتَلِيَهُمْ، فَبَعَثَ إِلَيْهِمْ مَلَكًا » الحديث، وفي آخره: قال الملك للأعمى « أَمْسِكْ مَالَكَ، فَإِنَّمَا ابْتُلِيتُمْ، فَقَدْ رَضِيَ اللَّهُ عَنْكَ، وَسَخِطَ عَلَى صَاحِبَيْكَ » [رواه البخاري برقم 3464 ومسلم برقم 2964]  

“มีชาวบนีอิสรออีลสามคน คนหนึ่งเป็นโรคเรื้อน คนหนึ่งศีรษะล้าน และอีกคนหนึ่งตาบอด อัลลอฮฺทรงประสงค์ที่จะทดสอบพวกเขา จึงส่งมลาอิกะฮฺไปหาพวกเขา”... ในตอนท้ายของหะดีษระบุว่า มลาอิกะฮฺได้กล่าวแก่ชายตาบอดว่า “จงเก็บทรัพย์สินของท่านไว้เถิด แท้จริงนี่คือบททดสอบ และอัลลอฮฺทรงพอพระทัยท่าน และทรงโกรธกริ้วเพื่อนของท่านอีกสองคน” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 3464 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2964)

(6) กล่าวสรรเสริญและขอบคุณอัลลอฮฺให้มาก สำหรับความโปรดปรานที่พระองค์ทรงประทานให้ ท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« إِنَّ اللهَ لَيَرْضَى عَنِ الْعَبْدِ أَنْ يَأْكُلَ الْأَكْلَةَ فَيَحْمَدَهُ عَلَيْهَا أَوْ يَشْرَبَ الشَّرْبَةَ فَيَحْمَدَهُ عَلَيْهَا » [رواه مسلم برقم 2734]  

“แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงพึงพอพระทัยบ่าวของพระองค์ ที่เมื่อเขารับประทานหรือดื่มสิ่งใด เขาจะกล่าวสรรเสริญขอบคุณพระองค์เสมอ” (บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 2734)

(7) ความพึงพอใจของบุพการี ท่านอัมรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« رِضَى الرَّبِّ فِي رِضَى الوَالِدِ، وَسَخَطُ الرَّبِّ فِي سَخَطِ الْوَالِدِ » [رواه الترمذي برقم 1899]  

“ความพึงพอใจของบุพการีนั้นนำมาซึ่งความพอพระทัยของพระผู้อภิบาล และความโกรธกริ้วของบุพการีก็นำมาซึ่งความโกรธกริ้วของพระผู้อภิบาล” (บันทึกโดย อัตติรฺมิซีย์ หะดีษเลขที่ 1899)

(8) การยอมรับและพอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนด ท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« إِنَّ عِظَمَ الجَزَاءِ مَعَ عِظَمِ البَلَاءِ، وَإِنَّ اللَّهَ إِذَا أَحَبَّ قَوْمًا ابْتَلَاهُمْ، فَمَنْ رَضِيَ فَلَهُ الرِّضَا، وَمَنْ سَخِطَ فَلَهُ السَّخَطُ » [رواه الترمذي برقم 2396]  

“แท้จริงรางวัลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่นั้น จะมาพร้อมกับบททดสอบที่ใหญ่ยิ่งเช่นกัน ฉะนั้น กลุ่มชนใดเป็นที่รักของอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงทดสอบพวกเขา ซึ่งผู้ใดยอมรับและพึงพอใจ พระองค์ก็จะทรงพอพระทัยเขา และผู้ใดโกรธเคืองไม่พอใจ พระองค์ก็จะทรงโกรธกริ้วเขา” (บันทึกโดย อัตติรฺมิซีย์ หะดีษเลขที่ 2396)

(9) หมั่นใช้ไม้สิวากทำความสะอาดช่องปากอยู่เสมอ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวถึงสิวากว่า

« مَطْهَرَةٌ لِلْفَمِ، وَمَرْضَاةٌ لِلرَّبِّ » [رواه البخاري]

“มันเป็นการทำความสะอาดช่องปาก และยังสร้างความพอพระทัยให้แก่พระผู้อภิบาล” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์)

            ซึ่งหากเราพิจารณาอัลกุรอานและสุนนะฮฺอย่างละเอียด ก็จะพบตัวบทหลักฐานอีกมากมายที่กล่าวถึงสิ่งที่เป็นสาเหตุของความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ

            ฉะนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่บ่าวคนหนึ่งจะต้องเพียรทำในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงพอพระทัย แม้จะทำให้คนรอบข้างโกรธเคืองก็ตาม ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« مَنِ التَمَسَ رِضَا اللَّهِ بِسَخَطِ النَّاسِ كَفَاهُ اللَّهُ مُؤْنَةَ النَّاسِ، وَمَنِ التَمَسَ رِضَا النَّاسِ بِسَخَطِ اللَّهِ وَكَلَهُ اللَّهُ إِلَى النَّاسِ » [رواه الترمذي برقم 2414]

“ผู้ใดแสวงหาความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺแม้ผู้คนจะโกรธเคืองเขา พระองค์จะทรงคุ้มครองเขาจากคนเหล่านั้น แต่หากเขาแสวงหาความพอใจของมนุษย์ โดยทำให้อัลลอฮฺทรงโกรธกริ้ว เขาก็จะถูกอธรรมจากคนเหล่านั้น” (บันทึกโดย อัตติรฺมิซีย์ หะดีษเลขที่ 2314)

 

 

..................................................................................................................

 

แปลโดย : อุศนา  พ่วงศิริ
ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา
คัดลอกจาก  : http://IslamHouse.com/465617

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).