Loading

 

150 ประตูแห่งความดี แด่...ผู้มีชีวีถึงเราะมะฎอน

150  ประตูแห่งความดี  แด่...ผู้มีชีวีถึงเราะมะฎอน

 

อัลฮัมดุลิลลาฮฺ  วัศเศาะลาตุวัสลาม  อะลาคอตะมิลอัมบิยาอฺวัลมุรซาลีน  นบิยฺยินามุฮัมมัด  วะอะลาอาลิฮี  วะเศาะฮฺบิฮีอัจญมาอีน

พวกเราจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนในการร่วมฟื้นฟูเดือนอันยิ่งใหญ่เดือนเราะมะฎอน  เดือนแห่งการอภัยโทษและความพอพระทัย  ซึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า:

«شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنْزِلَ فِيهِ الْقُرْآَنُ هُدًى لِلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِنَ الْهُدَى وَالْفُرْقَانِ فَمَنْ شَهِدَ مِنْكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ»

  “เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาเป็นข้อแนะนำสำหรับมวลมนุษยชาติ  และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น  และเป็นสิ่งที่มาจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ  ดังนั้นผู้ใดจากกลุ่มพวกท่านเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้วก็จงถือศิลอด...”  (อัลบากอเราะฮฺ  :185)

 ในโอกาสนี้เราเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการรวบรวมบรรดาหะดีษและอาษารฺซึ่งเป็นประตูหลายบานที่จะนำไปสู่ความดีงามพร้อมทั้งเป็นการมาช่วยขัดเกลาในภารกิจอันสำคัญของเดือนอันประเสริฐนี้  พร้อมกันนี้ได้เตือนระวังถึงความจำเป็นต่อการรักษาการทำอิบาดะฮฺทั้งที่เป็นฟัรฏูและซุนนะฮฺ  และอัลลอฮฺเป็นผู้นำทางสู่เส้นทางอันเที่ยงตรง

 

1.               

การมีความบริสุทธิ์ใจ  (อิคลาศ)  อัลลอฮฺกล่าวว่า:

«وَمَا أُمِرُوا إِلَّا لِيَعْبُدُوا اللَّهَ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ حُنَفَاءَ وَيُقِيمُوا الصَّلَاةَ وَيُؤْتُوا الزَّكَاةَ وَذَلِكَ دِينُ الْقَيِّمَةِ»

  “และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ  เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์เป็นผู้อยู่ในแนวทางอันเที่ยงตรงและดำรงการละหมาดและจ่ายซะกาตและนั่นคือศาสนาอันเที่ยงธรรม”  (อัลบัยยินะฮฺ : 5)

 

2.               

มุ่งมั่นในการกลับเนื้อกลับตัว  (เตาบะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ  ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  กล่าวว่า  “ผู้ใดที่ได้เตาบะฮฺก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก  อัลลอฮฺจะตอบรับการเตาบะฮฺของเขา”  (มุสลิม)  “แท้จริงอัลลอฮฺจะตอบรับการเตาบะฮฺของบ่าวตราบใดที่ลมหายใจยังไม่ถึงคอหอย”  (อัตติรมิซียฺ)

 

3.               

ขอดุอาอฺขณะที่เห็นเดือนจันทร์เสี้ยวว่า  “โอ้อัลลอฮฺขอให้เราได้รับเดือนเสี้ยวด้วยความปลอดภัยและความอีมาน  ความปลอดภัยและอิสลาม  อัลลอฮฺเป็นผู้อภิบาลของฉันและของท่าน”  (อะหฺมัดและอัตติรมิซียฺ)

 

4.               

ถือศิลอดเดือนเราะมะฎอนด้วยอีมานและหวังในการตอบแทน  “ผู้ใดที่ถือศีลอดด้วยความอีมานและหวังในการตอบแทน  จะถูกอภัยโทษให้แก่เขาในความผิดที่ผ่านมา”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

5.               

ถือศีลอดในเดือนเชาวาล  6  วัน  “ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนและถือศีลอดตามอีกหกวันในเดือนเชาวาลแล้ว เสมือนว่าเขาผู้นั้นได้ถือศีลอดหนึ่งปี”  (มุสลิม)

 

6.               

ละหมาดกลางคืนในเดือนเราะมะฎอนด้วยความอีมานและหวังในการตอบแทน  “ผู้ที่ละหมาดตอนกลางคืนในเดือนเราะมะฎอนด้วยความอีมานและหวังในการตอบแทน  จะถูกอภัยโทษให้แก่เขาในความผิดที่ผ่านมา”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

7.               

ละหมาดในคืนลัยละตุลก็อดรฺด้วยความอีมานและหวังในการตอบแทน  “ผู้ใดที่ละหมาดในคืนลัยละตุลก็อดรฺด้วยความอีมานและหวังในการตอบแทน  จะถูกอภัยโทษให้แก่เขาในความผิดที่ผ่านมา”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

8.               

มีความมุ่งมั่นในการทำอิบาดะฮฺช่วง  10  คืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน  “ปรากฏว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อเข้าช่วงสิบคืนสุดท้าย  ท่านจะไม่นอนในตอนกลางคืน  ปลุกให้สมาชิกในครอบครัวตื่น  และจะถลกผ้าโสร่งขึ้น  (เปรียบเทียบถึงความมุ่งมั่นในการแสวงหาความดีของท่าน) (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

9.               

ทำอุมเราะฮฺ  “การทำอุมเราะฮฺในเดือนเราะมะฎอนผลบุญเทียบเท่าการทำฮัจญ์  หรือการทำฮัจญ์พร้อมกับฉัน”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

10.           

การเอี๊ยะติกาฟ  “ปรากฏว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะเอี๊ยะติกาฟในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน”  (อัลบุคอรียฺ)

 

11.           

เลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ถือศีลอด  “ผู้ใดที่เลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ถือศีลอดเขาจะได้รับผลบุญเหมือนผู้ที่ถือ  โดยที่ผลบุญของผู้ที่ถือศีลอดไม่ได้ลดน้อยลงแต่ประการใด”  (อัตติรมิซียฺ  ท่านกล่าวว่าเป็นหะดีษฮะซันศอเฮี๊ยะ)

 

12.           

อ่านและใคร่ครวญอัลกุรอาน  “จงอ่านอัลกุรอาน  แท้จริงในวันกิยามะฮฺมันจะช่วยเหลือให้แก่สหายของมัน”  (มุสลิม)

 

13.           

เรียนและสอนอัลกุรอาน  “ผู้ที่ประเสริฐสุดในกลุ่มพวกท่านคือ  ผู้ที่เรียนและสอนอัลกุรอาน"  (อัลบุคอรียฺ)

 

14.           

ซิกรุลลอฮฺตะอาลา  “เอาหรือไม่ฉันจะบอกพวกท่านถึงการงานที่ดีที่สุดสำหรับพวกท่าน  เพิ่มพูน(ผลบุญ)มากที่สุด ณ ที่พระเจ้า  มีตำแหน่งสูงส่งที่สุด  ประเสริฐกว่าการบริจาคเงินทอง  ประเสริฐกว่าที่ท่านออกไปเผชิญหน้ากับศัตรูโดยที่พวกท่านได้ฆ่าพวกเขาและพวกท่านถูกพวกเขาฆ่า ?  พวกเขากล่าวว่า : เอาซิ !  ท่านรอซูลกล่าวว่า : การรำลึกถึงอัลลอฮฺ”  (อัตติรมิซียฺ)

 

15.           

อิสติฆฟาร  (ขออภัยโทษ)  “ผู้ที่ขออิสติฆฟารอยู่เป็นประจำ  อัลลอฮฺจะเปลี่ยนจากความเศร้าหมองเป็นความเบิกบาน  จากความคับแคบให้มีทางออก  และจะประทานริซกีย์ให้แก่เขาอย่างที่ไม่คาดคิด”  (อะบูดาวุดและอัลนะสาอียฺ)

16.           

อาบน้ำละหมาดอย่างดี  “ผู้ใดที่ได้อาบน้ำละหมาดอย่างดีความผิดจะหลุดออกจากร่างกายของเขาแม้กระทั่งความผิดที่อยู่ในซอกเล็บ”  (มุสลิม)

 

17.           

กล่าวดุอาอฺหลังจากอาบน้ำละหมาด  “ผู้ใดที่ได้อาบน้ำละหมาดอย่างดีต่อจากนั้นเขาได้กล่าวว่า : อัชฮาดุอัลลาอิลาฮาอิลลัลลอฮฺ  วะฮฺดะฮูลาชะรีกาละฮฺ  วะอัชฮาดุอันนามุฮัมมะดันอับดุฮูวะรอซูลุฮฺ  อัลลอฮุมมัจญอันนีมินัตเตาวาบีน  วัจญอันนีมินัลมุตะเตาะฮิรีน - บรรดาประตูสวรรค์จะถูกเปิดให้แก่เขา  เขาสามารถเข้าทางประตูบานไหนก็ได้ตามที่เขาประสงค์” (มุสลิม)

 

18.           

พยายามรักษาน้ำละหมาดเอาไว้  “จงปฏิบัติให้เป็นประจำ  ตามที่ท่านมีความสามารถโดยไม่นับจำนวน  พวกท่านพึงทราบเถิดว่าการงานที่ประเสริฐสุดสำหรับพวกท่านคือการละหมาด  และไม่มีผู้ใดที่รักษาน้ำละหมาดเอาไว้นอกจากมุอ์มิน”  (อิบนุมาญะฮฺ)

 

19.           

ทำความสะอาดฟัน  “หากไม่เป็นความลำบากแก่ประชาชาติของฉัน  ฉันจะใช้พวกเขาแปรงฟันในทุกครั้งที่เขาละหมาด”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

20.           

ละหมาดสองร็อกอัตหลังจากอาบน้ำละหมาด  “ไม่มีคนหนึ่งคนใดที่เขาได้อาบน้ำละหมาดอย่างดี  ต่อจากนั้นได้ละหมาดสองร็อกอัตด้วยกับหัวใจและกายที่มีความมุ่งมั่น  นอกจากจำเป็นแก่เขาได้รับสวนสวรรค์”  (มุสลิม)

 

21.           

กล่าวดุอาอฺหลังจากอะซาน  “ผู้ใดที่กล่าวขณะที่ได้ยินเสียงอะซานว่า   –  อัลลอฮุมมาร็อบบาฮาซิฮิดดะวะติตตามะ  วัศศอลาติลกออิมะฮฺ  อาติมุฮัมมะดานิลวะซีละฮฺวัลฟาฏีละฮฺ  วับอัซฮูมะกอมัน  มะฮฺมูดะนิลลาซีวะอัดตะฮฺ – ในวันกิยามะฮฺการช่วยเหลือของฉันจะเป็นที่อนุญาตแก่เขา” (อัลบุคอรียฺ)

 

22.           

การขอดุอาอฺระหว่างอะซานกับอิกอมะฮฺ  “การขอดุอาอฺระหว่างอะซานกับอิกอมะฮฺจะไม่ถูกปฏิเสธ”  (อะบูดาวุดและอัตติรมิซียฺ)

 

23.           

ดำรงการละหมาด  5  เวลา  “ไม่มีมุสลิมคนใดได้ทำการละหมาดฟัรฏู  เขาอาบน้ำละหมาดอย่างดี  มีสมาธิอย่างดีและรูกั๊วะอย่างดี  นอกจากเขาจะถูกลบล้างความผิดเล็กๆ  ในปีที่ผ่านมาทั้งหมด”  (มุสลิม)

 

24.           

รักษาการละหมาดให้อยู่ในเวลา  “ท่านรอซูล  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ถูกถามว่า : การงานใดประเสริฐที่สุด ?  ท่านรอซูลตอบว่า : การละหมาดในเวลา”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

25.           

รักษาละหมาดฟัจญรีและอัศรี  “ผู้ใดที่ได้ละหมาดบัรดัยนฺ  (ศุบฮิและอัศรี)  เขาจะได้เข้าสวนสวรรค์”  (อัลบุคอรียฺ)

 

26.           

รักษาละหมาดญุมอะฮฺ  “ระหว่างการละหมาดห้าเวลา  จากญุมอะฮฺถึงญุมอะฮฺ  จากเราะมะฎอนถึงเราะมะฎอน  พวกเขาจะถูกลบล้างความผิดให้  เมื่อเขาได้ออกห่างจากบาปใหญ่”  (มุสลิม)

 

27.           

พยายามแสวงหาช่วงเวลาที่ดุอาอฺถูกตอบรับในวันศุกร์  “ในวันศุกร์จะมีเวลาช่วงหนึ่งไม่มีบ่าวมุสลิมคนใดตรงกับช่วงเวลานั้นในสภาพที่เขายืนละหมาดและร้องขอสิ่งใดต่ออัลลอฮฺนอกจากอัลลอฮฺจะให้สิ่งนั้นแก่เขา”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

28.           

อ่านซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟีในวันศุกร์  “ผู้ใดที่อ่านซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟีในวันศุกร์  รัศมีจะส่องประกายแก่เขาในระหว่างวันศุกร์ถึงอีกวันศุกร์”  (อัลนะสาอียฺและอัลฮากิม)

 

29.           

การเดินไปมัสยิด  “ผู้ใดที่เดินไปมัสยิดในตอนเช้าและตอนบ่าย  อัลลอฮฺจะเตรียมที่พักให้แก่เขาในสวนสวรรค์  ทุกครั้งที่เขาเดินไปในตอนเช้าและตอนบ่าย”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

30.           

การละหมาดในมัสยิดฮะรอม  “การละหมาดในในมัสยิดหลังนี้ประเสริฐกว่ามัสยิดอื่นๆ    1,000  ละหมาด  นอกจากมัสยิดฮะรอม  (มักกะฮฺ)  เพราะการละหมาดในมัสยิดฮารอมประเสริฐกว่าละหมาดในมัสยิดหลังนี้  100,000  ละหมาด”  (อะหฺมัดและอิบนิคุซัยมะฮฺ)

 

31.           

การละหมาดในมัสยิดนะบะวียฺ  (มะดีนะฮฺ)  “การละหมาดในในมัสยิดหลังนี้ประเสริฐกว่ามัสยิดอื่นๆ    1,000  ละหมาด  นอกจากมัสยิดฮะรอม”  (มุสลิม)

 

32.           

การละหมาดที่มัสยิดอัลอักศอ  “อย่าได้มุ่งมั่นตั้งใจใช้ความพยายามที่จะไปเยี่ยมสถานที่ต่างๆ  นอกจากสามมัสยิด คือ  มัสยิดฮะรอม  มัสยิดรอซูล  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  และมัสยิดอัลอักศอ”  (อัลบุคอรียฺ)

 

33.           

การละหมาดที่มัสยิดกุบาอฺ  “ผู้ใดที่ได้ละหมาดในมัสยิดกุบาอฺ  ภาคผลบุญเท่ากับการทำอุมเราะฮฺ”  (อิบนุหิบบาน)

 

34.           

รักษาการละหมาดญะมาอะฮฺ  “การละหมาดญะมาอะฮฺประเสริฐกว่าการละหมาดคนเดียวถึง  27  เท่า”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

35.           

เอาใจใส่ต่อการละหมาดแถวแรก  “หากมนุษย์รู้คุณค่าของการอะซานและการละหมาดแถวแรก  ต่อจากนั้นพวกเขาจะไม่พบสถานที่นั้นนอกจากพวกเขาต้องจับสลาก แน่นอนพวกเขาย่อมจะจับฉลาก”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

36.           

ละหมาดฏุฮาเป็นประจำ  “ทุกตอนเช้ากระดูกทุกข้อของพวกท่านได้ทำศอดาเกาะฮฺ  ทุกครั้งที่กล่าว ซุบฮานัลลอฮฺ เป็นศอดาเกาะฮฺ  กล่าว อัลฮัมดุลิลลาฮฺ เป็นศอดาเกาะฮฺกล่าว ลาฮิลาฮะอิลลัลลอฮฺ เป็นศอดาเกาะฮฺ  กล่าว อัลลอฮูอักบัร เป็นศอดาเกาะฮฺการใช้ให้ทำความดีเป็นศอดาเกาะฮฺ  การห้ามปรามจากความชั่วเป็นศอดาเกาะฮฺ  และเป็นการเพียงพอจากสิ่งต่างๆ  ที่กล่าวมาด้วยการละหมาดฏุฮาสองร็อกอัต”  (มุสลิม)

 

37.           

รักษาซุนนะฮฺเราะวาติบ  “ไม่มีบ่าวมุสลิมคนใดที่ละหมาดเพื่ออัลลอฮฺในวันหนึ่ง  12  ร็อกอัตด้วยความสมัครใจนอกเหนือจากละหมาดฟัรฏู  ยกเว้นอัลลอฮฺจะสร้างบ้านหลังหนึ่งในสวนสวรรค์ให้แก่เขา”  (มุสลิม)

 

38.           

 สร้างบรรยากาศในบ้านด้วยกับสิ่งที่เป็นซุนนะฮฺ  “จงละหมาด (ซุนนะฮฺ) ในบ้านของพวกท่าน  และอย่าทำบ้านให้เสหมือนกุโบรฺ”  (อัลบุคอรียฺ)

 

39.           

สุญูดให้มากๆ  “สภาพที่บ่าวใกล้ชิดต่อพระผู้อภิบาลของเขามากที่สุดคือ  ในสภาพที่เขาสุญูด  ดังนั้นจงขอดุอาอฺให้มาก”  (มุสลิม)

 

40.           

การนั่งในที่ละหมาดหลังจากละหมาดศุบฮฺเพื่อรำลึกถึงอัลลอฮฺ  “ผู้ใดที่ได้ละหมาดญามาอะฮฺศุบฮฺหลังจากนั้นเขาได้นั่งรำลึกถึงอัลลอฮฺจนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้น  ต่อจากนั้นเขาได้ละหมาดสองร็อกอัต  เขาได้รับภาคผลบุญเท่ากับการทำฮัจญ์และอุมเราะฮฺ”  (อัตติรมิซียฺ)

 

41.           

การละหมาดและติดตามญะนาซะฮฺ  “ผู้ที่ได้เยี่ยมญะนาซะฮฺพร้อมทั้งละหมาดให้เขาได้รับผลบุญเท่าหนึ่งกีรอต  และผู้ที่เข้าร่วมจนกระทั่งฝังเขาจะได้รับผลบุญเท่าสองกีรอต  มีคนกล่าวว่า : สองกีรอตนี้เท่าไหร่ ?  ท่านรอซูลตอบว่า : เท่ากับภูเขาใหญ่สองภูเขา”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

42.           

 การละหมาดที่บ้านสำหรับผู้หญิง  “พวกท่านอย่าได้ห้ามบรรดาผู้หญิงของพวกท่านไปละหมาดที่มัสยิด  และการละหมาดที่บ้านของพวกนางย่อมประเสริฐกว่า”  (อะบูดาวุด)

 

43.           

เอาใจใส่ต่อการละหมาดอีดในสนาม  (มุศ็อลลา)  “ปรากฏว่าท่านรอซูลออกไปละหมาดวันอีดิลฟิตรีและอีดิลอัฏฮาที่มุศ็อลลา”  (อัลบุคอรียฺ)

 

44.           

ฝึกฝนลูกหลานให้ละหมาด  “จงใช้ลูกหลานของพวกท่านให้ละหมาดขณะอายุของพวกเขาได้  7  ปี  และให้ตีพวกเขา  (หากขาด)  เมื่ออายุได้  10  ปี  และจงแยกที่นอนของพวกเขา”  (อะบูดาวุด)

 

45.           

ฝึกฝนลูกหลานให้ถือศิลอด  จากอัรรอบีอฺ  บินติ  มุเอาวัซ  กล่าวว่า: "พวกเราได้ถือศีลอดและฝึกฝนให้ลูกหลานของเราถือศีลอด  และเราได้ให้ของเล่นแก่พวกเขาเพื่อให้ลืมความหิวโหย”  (อัลบุคอรียฺ) 

 

46.           

ซิกรุลลอฮฺหลังจากละหมาดฟัรฏู  “ผู้ใดที่กล่าว ”ซุบฮานัลลอฮฺ” ทุกครั้งหลังละหมาด  33  ครั้ง  “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ”  33  ครั้ง  “อัลลอฮุอักบัร”  33  ครั้ง  รวมเป็น  99  ครั้ง  ต่อจากนั้นเขากล่าวว่า “ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ  วะฮฺดาฮูลาชะรีกาละฮฺ  ละฮุลมุลกุ  วะลาอุลฮัมดุ  วะฮูวาอะลากุลลีชัยอินกอดีร”  ความผิดของเขาจะถูกลบล้างถึงแม้จะมีมากเท่าฟองน้ำในทะเล”  (มุสลิม)

 

47.           

รักษาละหมาดตะรอเวี๊ยะ  “ละหมาดที่ประเสริฐสุดหลังจากละหมาดฟัรฏู คือ  ละหมาดในยามกลางคืน”  (มุสลิม)

 

48.           

ให้รีบในการละศีลอด  “มนุษย์จะยังคงอยู่ความดีงาม  ตราบใดที่พวกเขารีบเร่งในการละศีลอด”  (อัลบุคอรียฺ)

 

49.           

ให้ละศีลอดก่อนละหมาด  “ปรากฏว่าท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ท่านจะละศีลอดก่อนที่ท่านจะละหมาด”  (อะหฺมัด)

 

50.           

ละศีลอดด้วยอินทผลัม   “ผู้ที่มีอินทผลัมก็จงละศีลอดกับมัน  หากไม่มีอินทผลัมก็จงละด้วยกับน้ำ  แท้จริงน้ำนั้นสะอาด”  (อะหฺมัด , อะบูดาวุดและอัตติรมิซียฺ)

 

51.           

พยายามรักษาดุอาอฺขณะละศีลอด  “ซะฮะบัซซอมาอุ  วับตัลละติลอุรูกู  วะซะบะตัลอัจญรุ  อินชาอัลลอฮุตะอาลา”  (อะบูดาวุด , อัดดารุกุฏนียฺและอัลฮากิม)

 

52.           

ให้ขอดุอาอฺขณะที่จะละศิลอด  “แท้จริงสำหรับผู้ถือศิลอด  ขณะที่เขาจะละศิลอดการขอพรของเขาจะไม่ถูกปฏิเสธ”  (อิบนิมาญะฮฺ)

 

53.           

ขอดุอาอฺโดยทั่วไป  “แท้จริงอัลลอฮฺตรัสว่า : ฉันอยู่  ณ  ที่บ่าวของฉันเมื่อเขานึกถึงฉัน และฉันจะอยู่พร้อมกับเขา  (ใกล้ชิด)  เมื่อเขาร้องขอต่อฉัน”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

54.           

รับประทานอาหารสะหูร  “พวกท่านจงรับประทานอาหารสะหูรเถิด  เพราะแท้จริงในสะหูรมีบารอกะฮฺ”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

55.           

กล่าวสรรเสริญต่ออัลลอฮฺหลังจากรับประทานหรือดื่มเสร็จ  “แท้จริงอัลลอฮฺจะพอพระทัยต่อบ่าว  เมื่อเขารับประทานอาหารเขาได้กล่าวสรรเสริญหรือเมื่อเขาได้ดื่มเขาก็ได้กล่าวสรรเสริญ”  (มุสลิม)

 

56.           

จ่ายซะกาต  “และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ  เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์เป็นผู้อยู่ในแนวทางอันเที่ยงตรงและดำรงการละหมาดและจ่ายซะกาตและนั่นคือศาสนาอันเที่ยงธรรม”  (อัลบัยยินะฮฺ : 5)

 

57.           

จ่ายซะกาตฟิตรี  “ท่านรอซูล  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้กำหนดซะกาตฟิตรีให้แก่ผู้ถือศีลอดเพื่อเป็นการชำระล้างจากเรื่องไร้สาระและการเกี้ยวพาราศรีและเป็นอาหารให้แก่คนยากจน  ผู้ที่จ่ายมันก่อนละหมาดอีดถือว่าเป็นซะกาตที่ถูกรับ  ส่วนผู้ที่จ่ายมันหลังจากละหมาดอีดถือว่าเป็นศอดาเกาะฮฺเหมือนกับศอดาเกาะฮฺทั่วไป”  (อะบูดาวุด)

 

58.           

การใช้จ่ายไปในหนทางของอัลลอฮฺ

«وَمَا تُقَدِّمُوا لِأَنْفُسِكُمْ مِنْ خَيْرٍ تَجِدُوهُ عِنْدَ اللَّهِ إِنَّ اللَّهَ بِمَا تَعْمَلُونَ بَصِيرٌ»

  “และความดีงามอันใดที่พวกเจ้าได้กระทำไว้ล่วงหน้าสำหรับตัวของพวกสูเจ้าเอง  พวกสูเจ้าก็จะได้พบมัน  ณ  ที่อัลลอฮฺ  แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้เห็นในสิ่งที่พวกสูเจ้ากระทำกันอยู่”  (อัลบากอเราะฮฺ : 110)

 

59.           

เศาะดะเกาะฮฺ  “การทำเศาะดะเกาะฮฺจะลบล้างความผิด  เสมือนการเอาน้ำดับไฟ”  (อัตติรมิซียฺ)

 

60.           

เศาะดะเกาะฮฺของผู้ที่มีเพียงเล็กน้อย  “โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ!  เศาะดะเกาะฮฺประเภทใดที่ประเสริฐที่สุด ?  ท่านตอบว่า : การพยายามทำศอดาเกาะฮฺของผู้ที่มีเพียงเล็กน้อยและเริ่มจากผู้ที่อยู่ภายใต้การรับผิดชอบดูแล”  (อะบูดาวุด , อิบนิคุซัยมะฮฺและอัลฮากิม)

 

61.           

เศาะดะเกาะฮฺในที่ลับ  “การกระทำดีจะปกป้องการเกิดความชั่วและการเศาะดะเกาะฮฺในที่ลับจะมาลบล้างความกริ้วโกรธแห่งพระผู้อภิบาล  และการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเครือญาติจะทำให้อายุยืน”  (อัฏฏอบรอนียฺ)

 

62.           

ความประเสริฐของผู้ทำหน้าที่จัดเก็บเศาะดะเกาะฮฺ  “แท้จริงผู้เฝ้ากองคลังมุสลิมที่มีความซื่อสัตย์  ซึ่งเขาได้ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และเขาได้แจกจ่ายมันไปให้แก่ผู้ที่มีสิทธิที่ได้รับด้วยความบริสุทธ์ใจ  เขาก็เป็นผู้หนึ่งจากจากบรรดาผู้บริจาคทาน”   (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

63.           

สร้างมัสยิด “ผู้ที่ได้สร้างมัสยิดโดยแสวงหาความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ  จะถูกสร้างเหมือนกับมัสยิดให้แก่เขาในสวนสวรรค์”  (อัลบุคอรียฺ)

 

64.           

ให้สลามและแจกจ่ายอาหาร  “โอ้บรรดามนุษยชาติ ! จงให้สลาม  แจกจ่ายอาหาร  ติดต่อเครือญาติ  และจงละหมาดในยามค่ำคืนขณะที่มนุษย์นอนหลับ  แล้วท่านจะได้เขาสวนสวรรค์อย่างสันติภาพ”  (อัตติรมิซียฺ)

 

65.           

ขจัดสิ่งที่เป็นอันตรายออกจากถนน  “ฉันเห็นชายคนหนึ่งกำลังเพลิดเพลินในสวนสวรรค์เพราะต้นไม้ต้นหนึ่งที่เขาได้ตัดออกจากท้องถนน  ซึ่งมันได้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนที่สัญจรไปมา”  (มุสลิม)

 

66.           

ทำดีและเชื่อฟังต่อบิดามารดา  “น่าเวทนา  น่าเวทนา  น่าเวทนา  มีคนกล่าวว่า : ใครกันท่านรอซูลุลลอฮฺ ? ท่านรอซูลตอบว่า : ผู้ที่มีชีวิตช่วงที่พ่อแม่ของเขาคนหนึ่งคนใดแก่ชราหรือทั้งสองคน  แต่เขากลับไม่ได้รับสวนสวรรค์”  (มุสลิม)

 

67.           

ภรรยาปฏิบัติตามและเชื่อฟังต่อสามี  “เมื่อภรรยาได้ละหมาดห้าเวลา  ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน  รักษาอวัยวะเพศและเชื่อฟังสามีของเธอ  สามารถเลือกเข้าประตูสวรรค์บานไหนก็ได้ตามความประสงค์”  (อิบนุมาญะฮฺ)

 

68.           

แสวงหาปัจจัยยังชีพที่หะลาลและทำงานด้วยตัวเอง  “ท่านรอซูล  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ถูกถามว่า : การแสวงหาปัจจัยยังชีพอย่างไรที่ดีที่สุด ?  รอซูลตอบว่า : การที่คนๆ  หนึ่งทำงานด้วยตัวเองและทุก ๆ แสวงหาในสิ่งที่ดี”  (อัลฮากิม)

 

69.           

เลี้ยงดูภรรยาและผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง  “เมื่อมุสลิมได้จ่ายค่าเลี้ยงดูให้แก่ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของเขา  ในสภาพที่เขาคาดหวังผลบุญเท่ากับเขาได้เศาะดะเกาะฮฺ”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

70.           

เลี้ยงดูหญิงหม้ายและคนยากจน  “ผู้ที่เลี้ยงดูหญิงหม้ายและคนยากจน  เปรียบเสมือนผู้ที่ออกต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ”  และฉันคิดว่าท่านพูดว่า  “เปรียบเสมือนคนยืนละหมาดไม่หยุดพักหรือผู้ที่ถือศิลอดโดยไม่ละ”  (อัลบุคอรียฺ)

 

71.           

อุปถัมภ์และเลี้ยงดูเด็กกำพร้า  “ฉันและผู้ที่เลี้ยงดูเด็กกำพร้าในสวนสวรรค์จะอยู่กันอย่างนี้”  ท่านพูดโดยที่ชูนิ้วกับนิ้วกลาง  (หมายถึงอยู่กันอย่างใกล้ชิด)  (อัลบุคอรียฺ)

 

72.           

ลูบศรีษะและแสดงความเอ็นดูต่อเด็กกำพร้า  มีชายคนหนึ่งร้องทุกข์กับท่านรอซูล  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ว่าเขามีหัวใจที่แข็งกระด้าง  ท่านรอซูลตอบว่า : “จงลูบศรีษะเด็กกำพร้าและจงให้อาหารกับคนยากจน”  (อะหฺมัด)

 

73.           

เป็นธุระให้กับพี่น้องที่มีความจำเป็น  “การที่คนหนึ่งคนใดในกลุ่มพวกท่านเดินไปกับพี่น้องเพื่อช่วยปลดเปลื้องความจำเป็นให้กับเขา – และท่านได้ชี้นิ้วไปยังมัสยิด – ประเสริฐกว่าการที่เขาเอิ๊ยะติกาฟในมัสยิดของฉันถึงสองเดือน”  (อัลฮากิม)

 

74.           

เยี่ยมเยียนพี่น้องเพื่ออัลลอฮฺ  “นบีได้เข้าสวรรค์  ผู้ที่อีมานอย่างแท้จริงได้เข้าสวรรค์และผู้ที่ไปเยี่ยมเยียนพี่น้องของเขาอีกเมืองหนึ่งโดยที่เขาไม่ได้เยี่ยมเพื่อสิ่งใดนอกจากเพื่ออัลลอฮฺจะได้เข้าสวนสวรรค์”  (อัฏฏอบรอนียฺ)

 

75.           

เยี่ยมเยียนผู้ป่วย  “ผู้ที่ไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยเขายังคงอยู่ใน ค็อรฟะตุลญันนะฮฺ  มีคนกล่าวว่า : โอ้ท่านรอซูล ค็อรฟะตุลญันนะฮฺคืออะไร ? ท่านรอซูลตอบว่า : ส่วนปีกของสวรรค์”  (มุสลิม)

76.           

ติดต่อเครือญาติถึงแม้ว่าเขาตัดสายสัมพันธ์  “เครือญาติถูกผูกติดอยู่กับบัลลังก์  เครือญาติกล่าวว่า : ใครติดต่อกับฉันอัลลอฮฺจะติดต่อกับเขา  และใครที่ตัดสัมพันธ์กับฉันอัลลอฮฺจตัดสัมพันธ์กับเขา”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

77.           

มอบความเปี่ยมสุขให้แก่พี่น้องมุสลิม  “ผู้ใดที่พบพี่น้องมุสลิมของเขาด้วยกับสิ่งที่เขารักเขามีความสุขกับสิ่งดังกล่าว  ในวันกิยามะฮฺอัลลอฮฺจะประทานความสุขให้แก่เขา”  (อัฏฏอบรอนียฺ)

 

78.           

ให้ความสะดวกแก่ผู้ที่มีความลำบากยากแค้น  “ผู้ใดที่ให้ความสะดวกแก่ผู้ที่มีความลำบากยากแค้น  อัลลอฮฺจะให้ความสะดวกกับเขาทั้งดุนยาและอาคิเราะฮฺ”  (มุสลิม)

 

79.           

ลดหย่อนภารกิจต่อคนรับใช้หรือคนงานในช่วงเดือนเราะมะฎอน  “ผู้ใดที่ลดภาระให้แก่ทาสของเขา  อัลลอฮฺจะอภัยโทษให้แก่เขาและจะปลดปล่อยเขาให้รอดพ้นจากไฟนรก”  (ส่วนหนึ่งของหะดีษอิบนุคุซัยมะฮฺ)

 

80.           

อ่อนโยนเมตตาต่อผู้ที่มีความอ่อนแอ  “บรรดาผู้ที่มีความเมตตาอาทร  ผู้กรุณาปราณีจะเมตตาต่อพวกเขา  พวกท่านจงเมตตาอาทรต่อผู้ที่อยู่บนผืนดินแล้วผู้ที่อยู่บนชั้นฟ้าจะเมตตาต่อพวกท่าน”  (อะบูดาวุดและอัตติรมิซียฺ)

 

81.           

ปรับความเข้าใจในระหว่างเพื่อนมนุษย์  “ฉันเคยบอกพวกท่านถึงสิ่งที่มีความประเสริฐกว่าการละหมาด  การถือศีลอด  และการบริจาคทานหรือไม่ ? พวกเขาตอบว่า : ยังเลยท่านรอซูลุลลอฮฺ  ท่านรอซูลกล่าวว่า : การปรับความเข้าใจระหว่างคนทั้งสอง”  (อะบูดาวุดและอัตติรมิซียฺ)

 

82.           

มีจรรยามารยาทอันดีงาม  “ท่านรอซูล  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ถูกถามถึงสิ่งที่ทำให้มนุษย์ส่วนมากได้เข้าสวรรค์ ? ท่านตอบว่า : การยำเกรงต่ออัลลอฮฺและการมีจรรยามารยาทอันดีงาม”  (อัตติรมิซียฺ)

 

83.           

การมีความละอาย  “ความละอายเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา  และการศรัทธานั้นอยู่ในสวนสวรรค์  ความหยาบกระด้างเป็นส่วนหนึ่งของความเลวและความเลวนั้นอยู่ในนรก”  (อะหฺมัด , อิบนิฮิบบานและอัตติรมิซียฺ)

 

84.           

การพูดจริง  “จำเป็นแก่พวกท่านต้องพูดจริง  เพราะการพูดจริงจะนำพาไปสู่ความดีและความดีจะนำไปสู่สวนสวรรค์”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

85.           

มีความสุขุมให้อภัยและมีความอดทนอดกลั้น

وَالْكَاظِمِينَ الْغَيْظَ وَالْعَافِينَ عَنِ النَّاسِ وَاللَّهُ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ

  “และบรรดาผู้ที่อดกลั้นและบรรดาผู้ที่ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์  และอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้ที่กระทำความดี”  (อาละอิมรอน : 134) 

ท่านรอซูล  ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวกับอัลอะชัชญฺว่า  “แท้จริงในตัวของท่านมีสองลักษณะที่พระองค์ทรงรัก  ความเมตตาสงสารและความสุขุมรอบคอบ  (มุสลิม)

 

86.           

การจับมือทักทาย  “ไม่มีมุสลิมสองคนเมื่อเขาทั้งสองคนได้พบกันแล้วจับมือ  นอกจากจะถูกอภัยโทษให้ทั้งสองก่อนที่เขาทั้งสองจะแยกย้าย”  (อะบูดาวุดและอัตติรมิซียฺ)

 

87.           

มีใบหน้าที่ยิ้มแย้มเบิกบาน  “พวกท่านอย่าได้ดูถูกความดีอันใด  ถึงแม้ว่าการที่ท่านพบพี่น้องของท่านด้วยกับใบหน้าที่ยิ้มแย้ม”  (มุสลิม)

 

88.           

มีความใจกว้างในการซื้อขาย  “อัลลอฮฺจะเมตตาต่อบุคคลที่มีความใจกว้างเมื่อเขาขายหรือเมื่อเขาซื้อและเมื่อเขาผ่อนผัน  ”  (อัลบุคอรียฺ)

 

89.           

ลดสายตาจากการมองสิ่งฮารอม  “การมองเป็นลูกศรอาบยาพิษของอิบลีส  ผู้ที่ละทิ้งเนื่องจากเกรงกลัวต่อฉัน  ฉันจะทดแทนการอีมานให้แก่เขา  เขาจะได้พบความหอมหวานของอีมานเกิดขึ้นในหัวใจของเขา”  (อัฏฏอบรอนียฺ)

 

90.           

ใช้กันในเรื่องของความดีงามและห้ามปรามในเรื่องความไม่ดี  “เมื่อคนหนึ่งคนใดในกลุ่มพวกท่านเห็นสิ่งที่ไม่ดี  เขาจงเปลี่ยนมันด้วยมือหากเขาไม่มีความสามารถจงเปลี่ยนด้วยกับลิ้น  หากเขาไม่มีความสามารถจงเปลี่ยนด้วยกับหัวใจซึ่งถือว่าเป็นการอีมานขั้นอ่อนที่สุด”  (มุสลิม)

 

91.           

อยู่ร่วมกับบรรดาคนดี  “ไม่มีกลุ่มชนใดที่นั่งรวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงอัลลอฮฺนอกจากมะลาอิกะฮฺมาห้อมล้อมพวกเขา  ความเมตตาจะมาแผ่คลุมและความสงบนิ่งจะถูกประทานลงมายังพวกเขา  และอัลลอฮฺจะกล่าวถึงพวกเขากับผู้ที่อยู่ ณ พระองค์”  (มุสลิม)

 

92.           

ปกป้องลิ้นและอวัยวะเพศ  “ผู้ใดที่รับประกันสิ่งที่อยู่ระหว่างเคราทั้งสอง (ปาก)  และสิ่งที่อยู่ระหว่างขาทั้งสอง (อวัยวะเพศ) กับฉันได้  ฉันจะรับประกันสวนสวรรค์ให้แก่เขา”    (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

  

93.           

กล่าวศอละวาตแก่ท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม  “ผู้ใดที่กล่าวศอละวาตให้แก่ฉันหนึ่งครั้ง  อัลลอฮฺจะให้กล่าวให้กับเขาสิบครั้ง”  (มุสลิม)

 

94.           

ทำความดีและชี้นำไปสู่ความดีงาม “ทุกความดีงามเป็นศอดาเกาะฮฺ  และผู้ที่ชี้นำไปสู่ความดีเขาได้รับผลบุญเหมือนผู้ที่กระทำ”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)  “ผู้ที่ชี้นำไปสู่ความดีงาม  เขาจะได้รับผลบุญเหมือนกับผู้กระทำ”  (มุสลิม)

 

95.           

การเรียกร้องเชิญชวนไปสู่อัลลอฮฺ  “ผู้ที่เชิญชวนไปสู่ทางนำเขาจะได้รับผลบุญเหมือนผู้ที่ปฏิบัติ  โดยที่ผลบุญของผู้กระทำไม่ได้ลดหย่อนแต่ประการใด”  (มุสลิม)

 

96.           

ปกปิดความลับของผู้อื่น  “บ่าวคนหนึ่งจะไม่ปกปิดความลับของบ่าวอีกคนในดุนยา  นอกจากอัลลอฮฺจะปกปิดความลับให้แก่เขาในอาคิเราะฮฺ”  (มุสลิม)

 

97.           

ให้มีความอดทน  “ไม่มีมุสลิมคนใดที่ประสบกับความเคราะห์ร้าย  การเจ็บไข้  กลัดกลุ้มใจ  เสียใจ  อันตราย  ทุกข์ระทมหรือแม้กระทั่งถูกหนามตำนอกจากอัลลอฮฺจะลบล้างจากความผิดให้แก่เขา”  (อัลบุคอรียฺ)

 

98.           

กล่าวดุอาอฺลบล้างความผิดหลังจากการชุมนุมรวมตัว  “ผู้ที่นั่งรวมตัวกันที่หนึ่งที่ใด แล้วมีเรื่องไร้สาระมากมาย  ดังนั้นเขากล่าวก่อนที่จะลุกขึ้นจากที่รวมตัวของเขาว่า – สุบฮานะกัลลอฮุมมาวะบิฮัมดิกะ  อัชฮะดุอัลลาฮิลาฮาอิลลาอันตา  อัสตัฆฟิรุกาวะอะตูบุอิลัยกา – นอกจากเขาจะได้รับการอภัยโทษจากสิ่งที่เกิดขึ้นในการรวมตัวของเขา”  (อะบูดาวุดและอัตติรมิซียฺ)

 

99.           

ละหมาดสองร็อกอัตเมื่อกระทำความผิด  “ไม่มีบ่าวคนใดได้ทำความผิดจากนั้นเขาได้ทำความสะอาด  แล้วเขาลุกขึ้นยืนและละหมาดสองร็อกอัตและขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ  นอกจากเขาจะถูกให้อภัยโทษ”  (อะบูดาวุด)

 

100.       

อบรมเลี้ยงดูบรรดาบุตรสาว  “ผู้ที่มีบุตรสาวสามคน  เขาได้เลี้ยงดู  เมตตาอาทรและอุปถัมภ์เลี้ยงดูพวกเธอและแน่นอนสวนสวรรค์เป็นสิ่งจำเป็นแก่เขา”  (อะหฺมัด)

 

101.       

 ทำความดีต่อสัตว์เดรัจฉาน  “มีชายคนหนึ่งเห็นสุนัขกำลังเลียดินเปียกน้ำเนื่องจากความกระหาย  ดังนั้นชายคนนั้นได้เอาคุฟ  (รองเท้าหนัง)  ใส่น้ำจนกระทั่งให้มันได้ดื่มจนสามารถดับกระหาย  อัลลอฮฺได้ขอบใจต่อการกระทำของเขาและได้ให้เขาเข้าสวนสวรรค์”  (อัลบุคอรียฺ)

 

102.       

ไม่ร้องขอสิ่งใดจากมนุษย์  “ผู้ใดที่รับประกันฉันจะไม่ร้องขอสิ่งใดจากมนุษย์  ฉันจะรับประกันสวนสวรรค์ให้แก่เขา”  (อัศฮาบสุนัน)

           

103.       

การกล่าว ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ และ สุบฮานัลลอฮฺ  “ผู้ที่กล่าวว่า - ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ  วะฮฺดะฮุละชะรีกะละ  ละอุลมุลกุวะละอุลฮัมดุ  วะฮุวาอะลากุลลีชัยอินกอดีร - ในวันหนึ่ง  100  ครั้ง  เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับปล่อยทาส  10  คน  ถูกบันทึกให้แก่เขา  100  ความดีและลบล้างให้แก่เขา  100  ความชั่วและในวันนั้นเขาจะถูกปกป้องให้รอดพ้นจากชัยฏอนจนกระทั่งตกเย็น  และไม่มีผู้ใดทำสิ่งที่ประเสริฐกว่าเขานอกจากผู้ที่ได้กระทำมากกว่าเขา”  “ผู้ใดกล่าวว่า สุบฮานัลลอฮฺ  วะบิฮัมดิ ในวันหนึ่ง  100  ครั้ง  จะถูกลบล้างความผิดแก่เขาถึงแม้มีเหมือนกับน้ำทะเล” (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

104.       

เศาะดะเกาะฮฺ ญาริยะฮฺ  “เมื่อมนุษย์เสียชีวิตลงการงานทั้งหมดของเขาจะถูกตัดขาดนอกจาก  3  ประการคือ  การเศาะดะเกาะฮฺ ญาริยะฮฺ  ความรู้ที่ยังประโยชน์และลูกที่ดีขอดุอาอฺให้แก่พ่อแม่”  (มุสลิม)

 

105.       

ส่งเสริมให้ผู้หญิงบริจาคทาน  “โอ้บรรดาผู้หญิงจงบริจาคทาน  ถึงแม้ว่าเป็นบางส่วนจากเครื่องประดับของพวกเธอก็ตาม”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

106.       

ภรรยาบริจาคสิ่งของจากบ้านของสามี  “เมื่อภรรยาได้บริจาคอาหารที่ดีจากบ้านของนาง  นางได้รับผลบุญจากการบริจาคและสามีของนางได้รับผลบุญจากการแสวงหา  และสำหรับผู้เฝ้ากองคลังก็เช่นกัน  พวกเขาบางคนจะไม่ลดหย่อนผลบุญของอีกบางคนแต่ประการใด”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

107.       

เป็นมือบนดีกว่าเป็นมือล่าง  “เป็นมือบนดีกว่าเป็นมือล่าง  มือบนคือผู้ให้ส่วนมือล่างคือผู้ขอ”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

108.       

ซื่อสัตย์ในการซื้อการขาย  “ผู้ซื้อและผู้ขายมีสิทธิในการเลือกตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่แยกย้าย  หากทั้งสองฝ่ายมีความซื่อสัตย์และเปิดเผยการซื้อขายก็มีความบารอกะฮฺและหากทั้งสองฝ่ายคดโกงปกปิด ความบารอกะฮฺจะหมดไปจากการซื้อขายของทั้งสองฝ่าย” (อัลบุคอรียฺ)

 

109.       

ช่วยเหลือพี่น้องมุสลิม  “ผู้ที่ช่วยบรรเทาความทุกข์ให้แก่มุสลิมในดุนยา  อัลลอฮฺจะช่วยบรรเทาความทุกข์ให้แก่เขาในอาคิเราะฮฺ”  (มุสลิม)

 

110.       

ไม่ทำความเดือดร้อนแก่พี่น้องมุสลิม  “ท่านรอซูล  ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม  ถูกถามว่า : สิ่งที่ประเสริฐสุดในอิสลามคืออะไร ?  ท่านรอซูลตอบว่า : ผู้ที่มุสลิมปลอดภัยจากลิ้นและมือของเขา”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

111.       

ให้การช่วยเหลือแก่ผู้อื่น  “ในทุกวันทุกข้อกระดูกสามารถเป็นการทำบริจาคทาน  การที่เขาช่วยชายคนหนึ่งให้ขึ้นพาหนะของเขาหรือการที่เขาช่วยยกสิ่งของวางบนพาหนะเป็นการบริจาคทาน”  (อัลบุคอรียฺ)

 

112.       

ช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมที่ต้องการความช่วยเหลือ  “พวกท่านจงช่วยเหลือ แล้วพวกท่านจะได้รับผลบุญ  และอัลลอฮฺจะตัดสินผ่านคำพูดของท่านนบีของพระองค์ตามที่พระองค์ประสงค์” (อัลบุคอรียฺ)

 

113.       

ติดต่อทำความดีต่อเพื่อนฝูงของบิดามารดา  “แท้จริงสุดยอดของการทำความดีคือ  การที่ลูกติดต่อกับเพื่อนรักของบิดาเขา”  (มุสลิม)

 

114.       

การใช้คำพูดที่ดี  “พึงระวังไฟนรก  ถึงแม้ว่าเป็นอินทผลัมเพียงซีกเดียว  หากว่าพวกท่านไม่มีก็ให้พูดดี” (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

115.       

อ่อนโยนเมตตาต่อผู้อยู่ภายใต้การปกครองและคนงาน  “โอ้อัลลอฮฺเมื่อประชาชาติของฉันได้รับการแต่งตั้งงานหนึ่งงานใดแล้วเขาได้สร้างความยากลำบากให้แก่ผู้อยู่ภายใต้การปกครองขอให้ความลำบากจงประสบกับเขา  และเมื่อประชาชาติของฉันได้รับการแต่งตั้งงานหนึ่งงานใดเขาได้ให้ความเมตตาให้แก่ผู้อยู่ภายใต้การปกครองขอพระองค์จงเมตตาต่อเขา”  (มุสลิม)

 

116.       

ประกอบความดีอยู่เป็นนิจ แม้จะน้อยนิดก็ตาม  “การงานที่เป็นที่รักยิ่ง ณ ที่อัลลอฮฺคืองานที่ทำประจำแม้เพียงเป็นสิ่งเล็กน้อย” (มุสลิม)

 

117.       

ทำดีต่อเพื่อนบ้าน  “ผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันกิยามะฮฺ  ดังนั้นจงให้เกียรติต่อเพื่อนบ้านของเขา”  (มุสลิม)

 

118.       

ต้อนรับแขกผู้มาเยือน  “การต้อนรับแขกในคืนแรกเป็นหน้าที่ของมุสลิม  ดังนั้นเมื่อตอนเช้าผ่านไปเป็นหนี้แก่เขา  หากเขามีความประสงค์ให้ชดใช้และหากเขาประสงค์ให้ละทิ้ง”  (อะหฺมัด , อะบูดาวุดและอิบนิมาญะฮฺ)

 

119.       

การขอดุอาอฺให้แก่บิดามารดา  “แท้จริงอัลลอฮฺจะยกระดับชั้นในสวนสวรรค์ให้แก่บ่าวที่ศอลิฮฺ  มีคนกล่าวว่า : โอ้พระผู้อภิบาลเป็นไปได้อย่างไร ? ท่านรอซูลตอบว่า : ด้วยกับการที่ลูกของท่านขออิสติฆฟารให้กับท่าน”  (อะหฺมัด)

 

120.       

ขอดุอาอฺให้กับพี่น้องในเวลาลับหลัง  “ไม่มีบ่าวมุสลิมคนใดขอดุอาอฺให้กับพี่น้องในเวลาลับหลัง  นอกจากมะลักกล่าวว่า : สำหรับท่านได้เหมือนเขา”  (มุสลิม)

 

121.       

ขอดุอาอฺและอิสติฆฟารให้แก่พี่น้องมุสลิม

«وَالَّذِينَ جَاءُوا مِنْ بَعْدِهِمْ يَقُولُونَ رَبَّنَا اغْفِرْ لَنَا وَلِإِخْوَانِنَا الَّذِينَ سَبَقُونَا بِالْإِيمَانِ وَلَا تَجْعَلْ فِي قُلُوبِنَا غِلًّا لِلَّذِينَ آَمَنُوا رَبَّنَا إِنَّكَ رَءُوفٌ رَحِيمٌ»

 “และบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขา โดยพวกเขากล่าวว่า  ข้าแต่พระเจ้าของเราทรงโปรดอภัยให้แก่เราและพี่น้องของเราผู้ซึ่งศรัทธาก่อนหน้าเรา  และขอพระองค์อย่าได้ให้มีการเคียดแค้นเกิดขึ้นในหัวใจของเราต่อบรรดาผู้มีอำนาจเหนือผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์  และอัลลอฮเป็นผู้ทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง"  (อัลฮัชรฺ : 10)

 

122.       

ทำความสะอาดมัสยิด

«وَطَهِّرْ بَيْتِيَ لِلطَّائِفِينَ وَالْقَائِمِينَ وَالرُّكَّعِ السُّجُودِ»

  “และจงทำบ้านของฉันให้มีความสะอาดสำหรับผู้ที่มาเดินเวียนรอบ  ผู้ยืนละหมาด  ผู้รุกัวะ  และผู้สุญูด”  (อัลฮัจญฺ : 26)

 

123.       

ทำความดีต่อคู่ครอง  “ผู้ประเสริฐที่สุดในกลุ่มพวกท่านคือผู้ที่ทำดีต่อสมาชิกในครอบครัวของเขา  และฉันเป็นผู้ที่ทำดีต่อครอบครัวของฉัน”   (อิบนุฮิบบานและคนอื่นๆ)

 

124.       

ให้ความง่ายดายในเรื่องสินสอดแก่ผู้ทีจะแต่งงาน  “การแต่งงานที่ประเสริฐที่สุดคือการแต่งที่มีความง่ายที่สุด”  (อิบนุฮิบบาน)

 

125.       

หึงหวงต่อภรรยา  “สะอฺดุ  บิน  อุบาดะฮฺกล่าวว่า : หากฉันเห็นชายคนหนึ่งอยู่กับภรรยาของฉัน  ฉันจะฆ่าเขาด้วยกับดาบโดยไม่ให้อภัย  ข่าวดังกล่าวไปถึงท่านรอซูล  ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม  ท่านกล่าวว่า : “พวกท่านแปลกใจต่อการหึงหวงของสะอฺดุหรือ ? ตัวฉันมีความหึงหวงมากกว่าเขาเสียอีกและอัลลอฮฺยิ่งมีความหึงหวงมากกว่าฉันอีก”  (อัลบุคอรียฺ)

 

126.       

อบรมสั่งสอนสมาชิกในครอบครัว  “บุคคลสามจำพวกที่ได้รับสองผลบุญ ... ผู้ที่มีทาสดังนั้นเขาได้อบรมนางทำให้นางมีความเข้าใจเป็นอย่างดี  เขาได้สั่งสอนนางทำให้นางรู้เป็นอย่างดีต่อจากนั้นเขาได้ปล่อยนางให้เป็นอิสระแล้วได้แต่งงานกับนางเขาจะได้รับสองผลบุญ”  (อัลบุคอรียฺ)

 

127.       

 คืนสิทธิที่ลิดรอนมาจากผู้อื่นหรือขออภัยจากเจ้าของสิทธิ  “ผู้ที่เคยลิดรอนสิทธิผู้อื่นจงขออภัยจากเจ้าของสิทธิ  เพราะแท้จริงในอาคิเราะฮฺเขาจะไม่มีดีนารและดิรฮัมก่อนที่เขาจะถูกเอาความดีที่มีให้แก่พี่น้องของเขา  หากเขาไม่มีความดีก็จะถูกเอาความชั่วของพี่น้องมาใส่ให้กับเขา”  (อัลบุคอรียฺ)

 

128.       

ปฏิบัติความดีเพื่อลบล้างความชั่ว  “จงยำเกรงอัลลอฮฺไม่ว่าท่านอยู่หนใด  และจงติดตามความชั่วโดยการเอาความดีมาลบล้าง  และจงคบค้าสมาคมกับผู้อื่นด้วยกับจรรยามารยาอันดีงาม”  (อะหฺมัดและอัลฮากิม)

 

129.       

ทำความดีต่อน้าสาวน้าชาย  “น้าสาวอยู่ในตำแหน่งของมารดา”  (อัลบุคอรียฺ)

 

130.       

รักษาอะมานะฮฺและทำตามสัญญา  “ยังไม่มีอีมานที่สมบูรณ์สำหรับผู้ที่ไม่มีอะมานะฮฺ  และยังไม่มีศาสนาสำหรับผู้ที่ไม่รักษาสัญญา”  (อะหฺมัด)

 

131.       

เมตตาต่อผู้เยาว์และให้เกียรติต่อผู้ใหญ่  “ไม่ใช่พวกของเราผู้ที่ไม่เมตตาต่อผู้เยาว์ของเราและไม่รู้จักสิทธิของผู้ใหญ่ของเรา”  (อะหฺมัดและอัตติรมิซียฺ)

 

132.       

มีความอ่อนโยนเมตตาต่อบรรดาพี่น้องมุสลิมและให้ความสำคัญต่อกิจการของพวกเขา  ”อุปมาบรรดาผู้ศรัทธาในเรื่องของความรัก  ความเมตตา  ความอ่อนโยนระหว่างพวกเขา  อุปมัยเหมือนกับร่างกายเมื่ออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดเจ็บป่วยมันจะทำให้อวัยวะส่วนอื่นอดหลับนอนและเจ็บป่วยไปด้วย”  (อัลบุคอรียฺและมุสลิม)

 

133.       

นิ่งเฉยและป้องกันการพูดเรื่องไร้สาระ  “ผู้ใดที่อีมานต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ  จงพูดในสิ่งที่ดีหรือไม่ก็ให้นิ่งเสีย”  (อัลบุคอรียฺ)

 

134.       

ปกป้องเกียรติของพี่น้องมุสลิม  “ผู้ที่ปกป้องเกียรติของพี่น้องของเขา  ในวันกิยามะฮฺอัลลอฮฺจะปกป้องใบหน้าเขาให้รอดพ้นจากไฟนรก”  (อัตติรมิซียฺ)

 

135.       

หัวใจบริสุทธิ์และงดเว้นจากการอิจฉาริษยา  “ประตูสวนสวรรค์จะถูกเปิดในวันจันทร์และวันพฤหัส  ดังนั้นบ่าวทุกคนที่ไม่ตั้งภาคีอันใดต่ออัลลอฮฺจะได้รับการอภัยโทษนอกจากคนที่อิจฉาริษยาพี่น้อง  มีเสียงกล่าวขึ้นว่า : จงรอดูทั้งสองคนนี้ไปก่อนจนกว่าทั้งสองจะดีกัน  จงรอดูทั้งสองคนนี้ไปก่อนจนกว่าทั้งสองจะดีกัน  จงรอดูทั้งสองคนนี้ไปก่อนจนกว่าทั้งสองจะดีกัน”  (มุสลิม)

 

136.       

มีความยุติธรรมระหว่างมนุษย์ด้วยกัน  “ในทุกวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทุกข้อกระดูกของมนุษย์เป็นการบริจาคทาน  การมีความยุติธรรมระหว่างเพื่อนมนุษย์เป็นการบริจาคทาน”  (อัลบุคอรียฺ)

 

137.       

ให้ความร่วมมือกับพี่น้องมุสลิมในเรื่องความดีงาม

«وَتَعَاوَنُوا عَلَى الْبِرِّ وَالتَّقْوَى وَلَا تَعَاوَنُوا عَلَى الْإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ»

  “และพวกสูเจ้าจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรมและความยำเกรง  และอย่าได้ช่วยเหลือกันในเรื่องที่เป็นบาปและเป็นศรัตรูซึ่งกันและกัน...”  (อัลมาอิดะฮฺ : 2)

  “มุอ์มินกับมุอ์มินเปรียบเสมือนอาคารบ้านเรือนที่ยึดเหนี่ยวซึ่งกันและกัน” - แล้วท่านได้เอานิ้วมือประสานกัน -  (อัลบุคอรียฺ)

 

138.       

ให้การช่วยเหลือผู้ที่มีความเดือดร้อน  “มุสลิมทุกคนสามารถทำเศาะดะเกาะฮฺได้...การที่เขาช่วยเหลือผู้ที่มีความจำเป็นเดือดร้อน”  (อัลบุคอรียฺ)

 

139.       

ตอบรับผู้ที่เชิญชวนไปสู่ความดีและแบ่งปันแก่ผู้ที่ร้องขอ  “ผู้ที่ขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺจงปกป้องเขา  ผู้ที่ขอเพื่อแนวทางของอัลลอฮฺจงให้เขา  ผู้ที่เชิญชวนพวกท่านจงตอบรับการเชิญชวนของเขาและผู้ที่ทำความดีต่อท่านจงทำความดีให้เสมือนกับเขา”  (อะหฺมัด , อะบูดาวุดและอันนะสาอียฺ)

 

140.       

ตอบแทนความดีด้วยการทำเหมือนที่เขาได้กระทำ  “ใครที่ได้ทำความดีต่อเขาจงตอบแทนเขา  หากไม่มีสิ่งตอบแทนจงขอบคุณสรรเสริญต่อเขา  แท้จริงเมื่อได้สรรเสริญเท่ากับขอบคุณต่อเขาและหากปิดบังเท่ากับเนรคุณต่อเขา”  (อัลบุคอรียฺในหนังสือ อัลอะดับ อัลมุฟร็อด)

 

141.       

แจกจ่ายหนังสือหรือม้วนเทปเกี่ยวกับเรื่องอิสลามที่ให้ประโยชน์ต่อสมาชิกในครอบครัว  หรือเพื่อนฝูงในที่ทำงาน  ในโรงเรียนและในที่สาธารณะอื่นๆ

 

142.       

เอาประโยชน์จากผู้ที่นิยมใช้การติดต่อสื่อสาร  ซึ่งพวกเขาได้ระบุชื่อในวารสาร  หรือทางวิทยุทั้งภาคภาษาอาหรับและภาษาต่างประเทศ  โดยการติดต่อด้วยกับสำนวนอบรมสั่งสอน  (ตัรบียะฮฺ)  อย่างอ่อนโยนและส่งผลในการตอบรับ

 

143.       

ให้ความสนใจต่อข่าวคราวเพื่อนบ้าน  คนใกล้ชิด  โดยสร้างข้อมูลเกี่ยวกับงานด้านเผยแผ่  ให้ความสำคัญกับกิจการงานของพวกเขาทั้งในเรื่องดุนยาและอาคิเราะฮฺ

 

144.       

ประสานงานกับนักธุรกิจหรือบรรดาพ่อค้า  เพื่อซื้อเสื้อผ้าและสิ่งที่จำเป็นที่ต้องใช้ในวันอีด  แล้วนำไปแจกจ่ายในตอนท้ายของเดือนเราะมะฎอนให้กับคนขัดสนยากจนเพื่อให้พวกเขาได้รับความเปี่ยมสุขในวันอีด

 

145.       

ส่งเสริมให้ทุกครอบครัวมีส่วนร่วมในการเลี้ยงอาหารละศีลอดตามอัตตภาพที่สามารถกระทำได้  ทำอาหารที่สะดวกนำไปเลี้ยงที่มัสยิดในชุมชนหรือติดต่อประสานงานกับร้านอาหารเพื่อนำมาเลี้ยงผู้ที่ถือศิลอด

 

146.       

ทำฮาลาเกาะฮฺที่มัสยิดในหมู่บ้านเพื่อสอนอัลกุรอานให้แก่ลูกหลาน  โดยแต่งตั้งครูให้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะพร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็กๆ  แข่งขันกันในเรื่องคุณธรรมและสนับสนุนเรื่องของขวัญรางวัลให้แก่พวกเขา

 

147.       

จัดให้มีบทเรียนขึ้นภายในบ้านประจำสัปดาห์หรือรอบสองสัปดาห์  โดยที่ให้สมาชิกในครอบครัวทั้งหมดเข้าร่วมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความสามารถของพวกเขา

 

148.       

แสวงหาประโยชน์จากการนำขณะทำอุมเราะฮฺ  ซึ่งจัดขึ้นในเดือนเราะมะฎอนโดยวางโปรแกรมครอบคลุมด้านการเผยแผ่  ด้านวิชาการและวิทยาการด้านต่างๆ  แก่บรรดาผู้ที่เข้าร่วมพร้อมกันนี้ส่งเสริมให้เยี่ยมเยียนเชค (ผู้ที่มีความรู้) เพื่อได้รับประโยชน์จากความรู้ของเขาหรือไม่ก็เยี่ยมนักศึกษาผู้กำลังแสวงหาวิชาความรู้

 

149.       

เตรียมตัว  ทบทวนความรู้สำหรับนำเสนอในเดือนเราะมะฎอนระหว่างละหมาดตะรอเวี๊ยะ  โดยจัดตารางติดไว้ที่ป้ายประกาศของมัสยิดอย่างชัดเจน

 

150.       

เยี่ยมเยียนคนป่วยที่โรงพยาบาล  ให้กำลังใจหรือปลอบใจพวกเขาให้มีความอดทนและมองโลกในแง่ดีโดยให้มีความหวังจากผลการตอบแทนของอัลลอฮฺพร้อมทั้งนำของขวัญไปมอบให้กับพวกเขาเพื่อเป็นสื่อในการดะวะฮฺ      

 

วะศ็อลลัลลอฮุ  วะซัลลัม  อะลามุฮัมมัด  วะอะลาอาลิฮิ  วะศ็อฮฺบิฮิ  วะซัลลิม

...............................................................

แปลโดย: ยูซุฟ อบูบักร (ทิวากร แย้มจังหวัด)

ตรวจทาน: ฟัยซอล อับดุลฮาดี

คัดลอกจาก http://IslamHouse.com/175175

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).