Loading

 

ข้อบกพร่องในการอาบน้ำละหมาด

ข้อบกพร่องในการอาบน้ำละหมาด

 

 มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่าน ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่า มุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

การทำความสะอาดเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการละหมาด การละหมาดของบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น จะไม่ถูกตอบรับหากปราศจากเงื่อนไขดังกล่าว ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«لا تُقْبَلُ صَلاةٌ بِغَيْرِ طُهُوْرٍ ، وَلا صَدَقَةٌ مِنْ غُلُوْلٍ» [مسلم برقم 224]

ความว่า “การละหมาดที่ปราศจากความสะอาดจะไม่ถูกตอบรับ เช่นเดียวกับทานเศาะดะเกาะฮฺที่ได้มาจากการยักยอก” (มุสลิม หะดีษเลขที่ 224)

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«لا تُقْبَلُ صَلاةُ مَنْ أَحْدَثَ حَتى يَتَوَضَّأ» [البخاري برقم 135، ومسلم برقم 225]

ความว่า “ การละหมาดของผู้ที่มีหะดัษจะไม่ถูกตอบรับ จนกว่าเขาจะอาบน้ำละหมาด” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 135 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 225)

            มีข้อบกพร่องบางประการเกี่ยวกับการทำความสะอาดที่พบเห็นได้บ่อย ซึ่งข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงในที่นี้เพื่อเป็นการตักเตือนซึ่งกันและกัน

            ประการแรก มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำอิบาดะฮฺโดยปราศจากความรู้ ทำให้เกิดข้อบกพร่องมากมายทั้งในเรื่องการทำความสะอาด การละหมาด การถือศีลอด การทำหัจญฺ และอิบาดะฮฺอื่นๆ รวมไปถึงข้อบกพร่องในเรื่องหลักเตาฮีดและการสบถสาบาน พวกเขาเหล่านั้นบางคนเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ที่มีความรู้มีการศึกษา แต่ในความเป็นจริงแล้วความรู้ของพวกเขานั้นเป็นเพียงสิ่งที่ได้มาจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือสื่อโทรทัศน์เท่านั้น ในขณะที่มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้จากอัล-กุรอาน และสุนนะฮฺของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และหากพวกเขาสงสัยในสิ่งใดก็ให้ถามบรรดาผู้รู้ทั้งหลาย ดังที่อัลลอฮุตะอาลา ตรัสว่า

﴿فَسۡ‍َٔلُوٓاْ أَهۡلَ ٱلذِّكۡرِ إِن كُنتُمۡ لَا تَعۡلَمُونَ ٤٣ ٱلۡبَيِّنَٰتِ وَٱلزُّبُرِۗ وَأَنزَلۡنَآ إِلَيۡكَ ٱلذِّكۡرَ لِتُبَيِّنَ لِلنَّاسِ مَا نُزِّلَ إِلَيۡهِمۡ وَلَعَلَّهُمۡ يَتَفَكَّرُونَ٤٤﴾ [النحل: ٤٤-٤٣] 

ความว่า “ดังนั้น พวกเจ้าจงถามบรรดาผู้รู้ หากพวกเจ้าไม่รู้ ด้วยหลักฐานทั้งหลายที่ชัดแจ้ง และคัมภีร์ต่างๆ ที่ศักดิ์สิทธิ์ และเราได้ให้อัลกุรอานแก่เจ้าเพื่อเจ้าจะได้ชี้แจงให้กระจ่างแก่มนุษย์ซึ่งสิ่งที่ได้ถูกประทานมาแก่พวกเขา และเพื่อพวกเขาจะได้ไตร่ตรอง” (อันนะหฺล์ : 43-44)

ท่านอนัส บิน มาลิก เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«طَلَبُ العِلْمِ فَرِيْضَةٌ عَلى كُلِّ مُسْلِمٍ» [ابن ماجه برقم 224]

ความว่า “การแสวงหาความรู้นั้นเป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน”  (อิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 224)

ท่านญาบิรฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«صَلُّوا كَمَا رَأَيْتُمُونِي أُصَلِّي» [البخاري برقم 631]

ความว่า “พวกท่านจงละหมาดเสมือนดังที่พวกท่านเห็นฉันละหมาด” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 631)

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวขณะทำหัจญฺว่า

«لِتَأْخُذُوا مَنَاسِكَكُمْ ، فَإِنِّي لا أَدْرِيْ لَعَلِّي لا أَحُجُّ بَعْدَ حجَّتِي هذِهِ» [مسلم برقم 1297]

ความว่า "พวกท่านจงรับเอาขั้นตอนการทำหัจญฺของพวกท่านจากฉัน เพราะแท้จริงแล้วฉันอาจจะไม่ได้ทำหัจญฺอีกต่อไปหลังจากหัจญฺในปีนี้" (มุสลิม หะดีษเลขที่ 1297)

อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

﴿وَمَنۡ أَعۡرَضَ عَن ذِكۡرِي فَإِنَّ لَهُۥ مَعِيشَةٗ ضَنكٗا وَنَحۡشُرُهُۥ يَوۡمَ ٱلۡقِيَٰمَةِ أَعۡمَىٰ ١٢٤ قَالَ رَبِّ لِمَ حَشَرۡتَنِيٓ أَعۡمَىٰ وَقَدۡ كُنتُ بَصِيرٗا ١٢٥ قَالَ كَذَٰلِكَ أَتَتۡكَ ءَايَٰتُنَا فَنَسِيتَهَاۖ وَكَذَٰلِكَ ٱلۡيَوۡمَ تُنسَىٰ ١٢٦ ﴾ [طه: ١٢٤- ١٢٦]

ความว่า “และผู้ใดหันหลังให้การรำลึกถึงข้า แท้จริงสำหรับเขาคือการมีชีวิตอยู่อย่างคับแค้น และเราจะให้เขาฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺในสภาพของคนตาบอด เขากล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์จึงทรงให้ข้าพระองค์ฟื้นคืนชีพขึ้นมาในสภาพของคนตาบอดเล่า ทั้งๆที่ข้าพระองค์เคยเป็นคนตาดี มองเห็นพระองค์ตรัสว่า เช่นนั้นแหละเมื่อโองการทั้งหลายของเราได้มีมายังเจ้า เจ้าก็ทำเป็นลืมมัน และในทำนองเดียวกัน วันนี้เจ้าก็จะถูกลืม” (ฏอฮา: 124-126)

            ประการต่อมา ข้อบกพร่องประการหนึ่งในการอาบน้ำละหมาดคือการไม่ทำให้น้ำทั่วถึง กล่าวคือจำเป็นต้องให้น้ำเข้าถึงอวัยวะที่จำเป็นสำหรับการอาบน้ำละหมาดทุกส่วน และผู้ที่จะทำการละหมาดต้องให้ความสำคัญและพึงระวังขณะอาบน้ำละหมาด ว่าที่ข้อมือหรือนิ้วของเขานั้นมีนาฬิกาหรือแหวนสวมอยู่หรือไม่ เพราะในการอาบน้ำละหมาดนั้นจำเป็นที่น้ำจะต้องเข้าถึงอวัยวะส่วนดังกล่าวทั้งหมด

ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«وَيْلٌ لِلْأَعْقَابِ مِنَ النَّارِ ، أَسْبِغُوا الوُضُوءَ» [البخاري برقم 241]

ความว่า "ความหายนะจากนรกจงประสบแด่ส้นเท้า(ที่ไม่ล้างให้ทั่วถึง) พวกท่านจงอาบน้ำละหมาดให้ทั่วถึงเถิด" (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 241)

ท่านญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า: ท่านอุมัร บิน ค็อฏฏอบ เล่าให้ฉันฟังว่า มีชายคนหนึ่งอาบน้ำละหมาดแล้วไม่ได้ล้างเล็บเท้าบางส่วน เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เห็น ท่านจึงกล่าวกับชายคนนั้นว่า “จงกลับไปอาบน้ำละหมาดให้ดีอีกครั้ง” ชายผู้นั้นจึงอาบน้ำละหมาดใหม่ หลังจากนั้นเขาจึงทำการละหมาด (มุสลิม หะดีษเลขที่ 243)

นอกจากการล้างมือให้ทั่วแล้ว ก็จะต้องล้างแขนทั้งสองข้างไปจนถึงข้อศอกด้วย เพราะขอบเขตของการล้างมือก็คือ ตั้งแต่ปลายนิ้วจนถึงข้อศอก และฝ่ามือก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของมือด้วย โดยนักวิชาการบางท่านก็ได้เน้นย้ำในเรื่องดังกล่าว

เชคอิบนุอุษัยมีน ได้พูดถึงเรื่องการอาบน้ำละหมาดว่า: "การล้างมือจนถึงข้อศอกนั้นก็คือจากปลายนิ้วมือจนถึงข้อศอกหนึ่งครั้ง และผู้ที่อาบน้ำละหมาดนั้น ต้องระวังว่าขณะที่เขาล้างแขนทั้งสองข้างนั้นเขาได้ล้างฝ่ามือของเขาด้วยหรือไม่ เพราะบางคนมองข้ามเรื่องดังกล่าว จึงล้างเฉพาะแขนเท่านั้น ซึ่งนั่นถือเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง" (หนังสือ อัฎฎิยาอุลลามิอฺ เล่ม 2 หน้า 52)

และอีกหนึ่งข้อผิดพลาดในการอาบน้ำละหมาด คือการล้างหน้าไม่ทั่วทั้งใบหน้า โดยทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น บริเวณข้างๆหูทั้งสองข้าง ซึ่งในความจริงแล้ว ขอบเขตใบหน้าทางด้านแนวตั้งก็คือจากโคนผมด้านบนจนถึงบริเวณคาง ส่วนแนวขวาง ก็จากหูข้างหนึ่งไปจนถึงหูอีกด้านหนึ่ง

ส่วนการเช็ดศีรษะ ก็มีบางคนเช็ดแค่ส่วนหน้าของศีรษะเท่านั้น หรือบางคนก็เช็ดเลยมาแค่ส่วนกลางของศีรษะ ซึ่งที่ถูกต้องคือ ต้องเช็ดให้ทั่วศีรษะ ท่านอับดุลลอฮฺ บิน เซด บิน อาศิม ได้กล่าวถึงการอาบน้ำละหมาดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า “หลังจากนั้นท่านก็ได้เช็ดศีรษะของท่าน โดยใช้มือทั้งสองข้างเริ่มเช็ดบริเวณศีรษะด้านหน้า และไล่ไปทางด้านหลัง หลังจากนั้นก็เช็ดย้อนกลับมาทางด้านหน้าอีกครั้ง และจึงล้างเท้าทั้งสองข้าง” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 185 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 235)

            อีกประการหนึ่งคือการไม่ล้างตามซอกนิ้วมือและนิ้วเท้า ท่านอัล-มุสเตาริด บิน ชัดด๊าด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า “ฉันเห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อท่านอาบน้ำละหมาด ท่านจะถูนิ้วเท้าของท่านด้วยนิ้วก้อย" (อบูดาวุด หะดีษเลขที่ 148)

            และมีรายงานซึ่งบันทึกโดยอัต-ติรมีซียฺ จากอิบนิอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«إِذَا تَوَضَّأْتَ فَخَلِّلْ بَيْنَ أَصَابِعِ يَدَيْكَ وَرِجْلَيْكَ» [الترمذي برقم 39]

ความว่า “ เมื่อพวกท่านอาบน้ำละหมาด ก็จงถูตามซอกนิ้วมือและนิ้วเท้าทั้งสองข้างของพวกท่านด้วย” (อัต-ติรมิซียฺ หะดีษเลขที่ 39)

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองฟุ่มเฟือย อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

﴿ وَلَا تُسۡرِفُوٓاْۚ إِنَّهُۥ لَا يُحِبُّ ٱلۡمُسۡرِفِينَ ٣١ ﴾ [الأعراف: ٣١]

ความว่า “และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์นั้นไม่ทรงรักผู้ที่ฟุ่มเฟือย” (อัล-อันอาม : 141)

ท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า: "ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อาบน้ำโดยใช้น้ำหนึ่งศออฺถึงห้ามุด และอาบน้ำละหมาดโดยใช้น้ำเพียงหนึ่งมุด" (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 201 และมุสลิม หะดีษหมายเลข 325) (หมายเหตุ: หนึ่งศออฺ= 4 มุด และ 1 มุด= 2 อุ้งมือ)

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ห้ามให้อาบน้ำละหมาดโดยล้างอวัยวะแต่ละส่วนมากกว่าสามครั้ง มีรายงานซึ่งบันทึกโดยอัน-นะซาอียฺ จากหะดีษอัมรฺ บิน ชุอัยบฺ: “มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และถามท่านถึงการอาบน้ำละหมาด ท่านนบีจึงทำการอาบน้ำละหมาดให้เขาดูโดยทำส่วนละสามครั้ง หลังจากนั้น ท่านกล่าวว่า “และนี่คือวิธีการอาบน้ำละหมาด และใครที่เพิ่มสิ่งใดๆเกินไปกว่านี้ถือว่าเขานั้นได้กระทำในสิ่งที่เกินเลยไม่ถูกต้อง” (หะดีษเลขที่ 140)

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุข ความจำเริญและความศานติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่านโดยทั่วกัน

 

............................................................................................................

 

แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ

ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/387374

 

 

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).