Loading

 

ภัยอันตรายจากโทรทัศน์

ภัยอันตรายจากโทรทัศน์

 

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุข ความจำเริญและความศานติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่านโดยทั่วกัน ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียวไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่า มุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

ในวันนี้จะพูดถึงอันตรายที่ปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาทในบ้านหรือที่พักอาศัยของพวกเราเกือบจะทุกหลัง เว้นแต่ผู้ที่ได้รับความเมตตาคุ้มครองจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ซึ่งอันตรายที่ว่านี้ก็คือโทรทัศน์นั่นเอง

            เราสามารถแบ่งองค์ประกอบต่างๆของเรื่องนี้ได้ดังนี้

1.      

การฝ่าฝืนคำสั่งใช้ของบทบัญญัติศาสนา

2.      

ทัศนะต่างๆของนักวิชาการ

3.      

ข้อสงสัยบางประการ และคำตอบ

4.      

วิธีการแก้ไข

 

ส่วนหนึ่งจากการฝ่าฝืนคำสั่งใช้ของบทบัญญัติศาสนา ก็คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับหลักอะกีดะฮฺ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายที่สุด นั่นก็คือในโทรทัศน์นั้นมีการแสดงภาพของพวกผู้ปฏิเสธศรัทธา และความเจริญรุ่งเรืองของพวกเขา ในลักษณะที่อาจทำให้ผู้ที่ติดตามรับชมนั้นรู้สึกสนใจและดึงดูดใจให้อยากรับชม และนั่นก็จะทำให้สำนึกในจุดยืนต่อพวกมุชริกีนและผู้ปฏิเสธศรัทธาอ่อนแอลง ดังที่อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสไว้ในสูเราะฮฺอัล-มุญาดะละฮฺ อายะฮฺที่ 22 ว่า

﴿ لَّا تَجِدُ قَوۡمٗا يُؤۡمِنُونَ بِٱللَّهِ وَٱلۡيَوۡمِ ٱلۡأٓخِرِ يُوَآدُّونَ مَنۡ حَآدَّ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥ وَلَوۡ كَانُوٓاْ ءَابَآءَهُمۡ أَوۡ أَبۡنَآءَهُمۡ أَوۡ إِخۡوَٰنَهُمۡ أَوۡ عَشِيرَتَهُمۡۚ أُوْلَٰٓئِكَ كَتَبَ فِي قُلُوبِهِمُ ٱلۡإِيمَٰنَ وَأَيَّدَهُم بِرُوحٖ مِّنۡهُۖ وَيُدۡخِلُهُمۡ جَنَّٰتٖ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ خَٰلِدِينَ فِيهَاۚ رَضِيَ ٱللَّهُ عَنۡهُمۡ وَرَضُواْ عَنۡهُۚ أُوْلَٰٓئِكَ حِزۡبُ ٱللَّهِۚ أَلَآ إِنَّ حِزۡبَ ٱللَّهِ هُمُ ٱلۡمُفۡلِحُونَ ٢٢ ﴾ [المجادلة: ٢٢] 

ความว่า “เจ้าจะไม่พบหมู่ชนใดที่พวกเขาศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลกรักใคร่ชอบพอผู้ที่ต่อต้านอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นพ่อของพวกเขา ลูกหลานของพวกเขา พี่น้องของพวกเขา หรือเครือญาติของพวกเขาก็ตาม ชนเหล่านั้นอัลลอฮฺได้ทรงบันทึกการศรัทธาไว้ในจิตใจของพวกเขา และได้ทรงเสริมพวกเขาให้มีพลังมากขึ้นด้วยการสนับสนุนของพระองค์ และจะทรงให้พวกเขาได้เข้าสวนสวรรค์อันหลากหลาย ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ณ เบื้องล่างของมัน โดยพวกเขาจะเป็นผู้พำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล อัลลอฮฺทรงโปรดปรานพวกเขา และพวกเขาก็ยินดีปรีดาต่อพระองค์ ชนเหล่านั้นคือพรรคของอัลลอฮฺ พึงรู้เถิดว่า แท้จริงพรรคของอัลลอฮฺนั้น พวกเขาเป็นผู้ประสพความสำเร็จ” (อัล-มุญาดะละฮฺ: 22)

อิมามอะหฺมัดบันทึกในมุสนัด จากหะดีษอัล-บะรออ์ บิน อาซิบ ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«إِنَّ أَوْثَقَ عُرَى الإِيْمانِ أَنْ تُحِبَّ في اللهِ وَتبْغضَ في اللهِ» [مسند الإمام أحمد 18524]

ความว่า "หลักยึดเหนี่ยวที่มั่นคงที่สุดของการศรัทธาคือ การที่ท่านรักเพื่ออัลลอฮฺและเกลียดเพื่ออัลลอฮฺ" (หะดีษเลขที่ 18524)

และอีกหนึ่งพิษภัยของโทรทัศน์ คือการพยายามนำเสนอบทบัญญัติอิสลามบางประการด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น การแต่งเติมเคราให้ผู้ที่รับบทคนเสียสติ การนำเสนอภาพหิญาบในลักษณะที่บิดเบือน หรือมีการดูหมิ่นดูแคลนผู้ที่มีคุณธรรม และสิ่งอื่นจากนี้ที่เป็นการเย้ยหยันบทบัญญัติอิสลาม อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า

﴿ وَلَئِن سَأَلۡتَهُمۡ لَيَقُولُنَّ إِنَّمَا كُنَّا نَخُوضُ وَنَلۡعَبُۚ قُلۡ أَبِٱللَّهِ وَءَايَٰتِهِۦ وَرَسُولِهِۦ كُنتُمۡ تَسۡتَهۡزِءُونَ ٦٥ لَا تَعۡتَذِرُواْ قَدۡ كَفَرۡتُم بَعۡدَ إِيمَٰنِكُمۡۚ ﴾ [التوبة: ٦٥- ٦٦] 

ความว่า “และถ้าหากเจ้าได้ถามพวกเขา แน่นอนพวกเขาจะกล่าวว่า แท้จริงพวกเขาเป็นเพียงแต่พูดสนุก พูดเล่นเท่านั้น จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่าต่ออัลลอฮฺและบรรดาโองการของพระองค์และเราะสูลของพระองค์กระนั้นหรือที่พวกท่านเย้ยหยันกัน? พวกท่านอย่าแก้ตัวเลย แท้จริงพวกท่านได้ปฏิเสธศรัทธาหลังจากที่พวกท่านได้ศรัทธา” (อัต-เตาบะฮฺ: 65 -66)

            แม้กระทั่งภาพยนตร์การ์ตูน ที่เด็กๆติดตามเฝ้าดู ก็ยังมีภาพที่ผิดหมิ่นเหม่ต่อหลักศรัทธา และมารยาทอันดีงามในอิสลาม ซึ่ง "ฏ็อยบะฮฺ อัลยะหฺยา" ได้กล่าวในหนังสือของเธอที่มีชื่อว่า “บะเศาะมาต อะลา วะละดี” หลังจากที่เธอได้รับชมรายการสำหรับเด็กหลายต่อหลายรายการว่า:

“รายการเหล่านี้มีเนื้อหาหลายอย่างที่ขัดต่อหลักการอิสลาม เช่น รูปไม้กางเขน ภาพหญิงสาวแต่งกายไม่เหมาะสม ภาพการอยู่ปะปนกันระหว่างชายหญิง เสียงเพลงประกอบรายการ หรือภาพการสูบบุหรี่ ตัวการ์ตูนบางตัวก็พูดราวกับเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งขึ้นมา บางตัวก็พูดว่าพวกเขามีระบบที่สามารถควบคุมจัดการกาแลกซีต่างๆในจักรวาลนี้ได้ยกเว้นระบบสุริยะ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นการปฏิเสธศรัทธาทั้งสิ้น เพราะผู้ที่สามารถบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวได้มีเพียงอัลลอฮฺเท่านั้น

"จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองจะต้องสอนและแนะนำลูกหลานว่ารายการในโทรทัศน์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะละครและภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งการ์ตูน มีแหล่งที่มาจากประเทศผู้ปฏิเสธศรัทธา ผู้ที่เป็นศัตรูกับอิสลามและมุสลิม จึงไม่น่าแปลกใจที่รายการเหล่านี้ต้องการที่จะทำลายอิสลาม และเจตนาให้มุสลิมหันเหจากศาสนาที่เที่ยงตรง และศีลธรรมจรรยาอันดีงาม เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้มีอำนาจควบคุมทุกอย่าง และให้เยาวชนเหล่านั้นได้ตระหนักว่าแท้ที่จริงแล้วเครือข่ายองค์กรยิวระดับโลกคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังและควบคุมสื่อและสำนักข่าวต่างๆในซีกตะวันตก สื่อเหล่านั้นจึงมุ่งนำเสนอสิ่งที่เป็นความชั่วร้ายที่ภายนอกอาจแลดูดีและน่าสนใจ" (จากหนังสือของฏ็อยบะฮฺ อัล-ยะหฺยา หน้า 57, 67, 81) และกรณีอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวมา อันเป็นการขัดกับหลักการอิสลาม และหมิ่นเหม่ต่อหลักศรัทธา พฤติกรรม และมารยาทของเยาวชนมุสลิม

ที่จะกล่าวถึงอีกประการหนึ่งคือการฉายภาพของการคลุกคลีปะปนกันระหว่างหญิงชายในละครโทรทัศน์ให้เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา รวมถึงเรื่องราวความรักความลุ่มหลง อันเป็นการสนับสนุนพฤติกรรมที่เสื่อมเสียและผิดศีลธรรม ดังที่อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ يُحِبُّونَ أَن تَشِيعَ ٱلۡفَٰحِشَةُ فِي ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ لَهُمۡ عَذَابٌ أَلِيمٞ فِي ٱلدُّنۡيَا وَٱلۡأٓخِرَةِۚ وَٱللَّهُ يَعۡلَمُ وَأَنتُمۡ لَا تَعۡلَمُونَ ١٩ ﴾ [النور : ١٩] 

ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ชอบที่จะให้เรื่องบัดสีแพร่หลายไปในหมู่ผู้ศรัทธานั้น พวกเขาจะได้รับการลงโทษอย่างเจ็บปวดทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และอัลลอฮฺทรงรอบรู้และพวกเจ้าไม่รู้” (อัน-นูรฺ: 19)

            และแท้จริงแล้วมุอ์มินผู้ศรัทธานั้นถูกสั่งใช้ให้ลดสายตาลงต่ำจากสตรี ดังที่อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า

﴿ قُل لِّلۡمُؤۡمِنِينَ يَغُضُّواْ مِنۡ أَبۡصَٰرِهِمۡ وَيَحۡفَظُواْ فُرُوجَهُمۡۚ ذَٰلِكَ أَزۡكَىٰ لَهُمۡۚ إِنَّ ٱللَّهَ خَبِيرُۢ بِمَا يَصۡنَعُونَ ٣٠ ﴾ [النور : ٣٠] 

ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด)แก่บรรดาผู้ศรัทธา ให้พวกเขาลดสายตาของพวกเขาต่ำลง และให้พวกเขารักษาทวารของพวกเขา นั่นเป็นการบริสุทธิ์ยิ่งแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเขากระทำ” (อัล-นูร: 30)

            ท่านมุสลิมบันทึกรายงานในหนังสือเศาะหีหฺของท่าน จากหะดีษญุร็อยรฺ บิน อับดิลลาฮ กล่าวว่า “ฉันได้ถามท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถึงการมองที่มิได้ตั้งใจ ท่านก็สั่งฉันให้เบนสายตาของฉันหลบไปเสีย” (หะดีษเลขที่ 2159 หน้า 891)

            เช่นนี้แล้ว นับประสาอะไรกับผู้ที่ตั้งใจใช้สายตาของเขานั้นจับจ้องไปยังหญิงสาวในจอโทรทัศน์ ซึ่งสวมใส่อาภรณ์ที่แลดูราวกับเปลือยเปล่า และการที่สตรีมองบุรุษก็ไม่ต่างกัน อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า

﴿ وَقُل لِّلۡمُؤۡمِنَٰتِ يَغۡضُضۡنَ مِنۡ أَبۡصَٰرِهِنَّ ﴾ [النور : ٣١]

ความว่า “และจงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) แก่บรรดาหญิงผู้ศรัทธา ให้พวกเธอลดสายตาของพวกเธอลงต่ำ” (อัน-นูรฺ : 31)

            และยิ่งไปกว่านั้นทุกๆรายการมักจะมีเสียงเพลงประกอบ อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า

﴿ وَمِنَ ٱلنَّاسِ مَن يَشۡتَرِي لَهۡوَ ٱلۡحَدِيثِ لِيُضِلَّ عَن سَبِيلِ ٱللَّهِ بِغَيۡرِ عِلۡمٖ وَيَتَّخِذَهَا هُزُوًاۚ أُوْلَٰٓئِكَ لَهُمۡ عَذَابٞ مُّهِينٞ ٦ ﴾ [لقمان: ٦] 

ความว่า “และในหมู่มนุษย์มีผู้ซื้อเอาเรื่องไร้สาระ เพื่อทำให้เขาหลงไปจากทางของอัลลอฮฺโดยปราศจากความรู้ และถือเอามันเป็นเรื่องขบขัน ชนเหล่านี้พวกเขาจะได้รับการลงโทษอันอัปยศ” (ลุกมาน: 6)

            นักอรรถาธิบายส่วนใหญ่ เช่น อิบนุอับบาส และอิบนุมัสอูด อธิบายว่าหมายถึง ดนตรีและการขับร้อง

            อัล-บุคอรียฺ บันทึกรายงานในหนังสือเศาะหีหฺของท่านจากหะดีษอบีมาลิก อัล-อัชอะรียฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«لَيَكُوننَّ مِنْ أُمَّتِي أَقْوَامٌ يَسْتَحِلُّونَ الحرَّ ، وَالحَرِيْرَ ، وَالخَمْرَ ، وَالمَعَازِفَ» [البخاري برقم 5590]

ความว่า “แท้จริงแล้วจะมีชนกลุ่มหนึ่งในหมู่ประชาชาติของฉันที่เห็นว่า การผิดประเวณี ผ้าไหม เหล้า และเครื่องดนตรี เป็นสิ่งที่หะลาล” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 5590)

 

ทัศนะต่างๆของนักวิชาการในเรื่องนี้ :

            เชคอัลดุลลอฮฺ บิน หุมัยดฺ เชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ และเชคอิบนุอุษัยมีน ได้ถูกถามในเรื่องโทรทัศน์ว่าเป็นสิ่งหะรอมต้องห้ามหรือไม่? ทั้งหมดได้ตอบว่า: "เครื่องโทรทัศน์นั้นเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่เราไม่สามารถตอบได้ในทันทีว่าเป็นสิ่งต้องห้ามหรือไม่ เพราะอุปกรณ์ชนิดนี้สามารถใช้ไปในทางที่ดีก็ได้ ในทางที่ผิดก็ได้ ซึ่งถ้าผู้ใช้นำไปใช้ในทางที่ผิด เช่นฟังเพลง ดูภาพที่ไม่เหมาะสม ดูละครที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของการโกหก ความไม่ซื่อสัตย์ระหว่างสามีภรรยา หรือภาพการปะปนระหว่างชายหญิง เช่นนี้นั่นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องห้าม แต่ถ้านำไปใช้ในทางที่ดี เช่น เพื่อฟังอัลกุรอาน การเผยแผ่ศาสนา การใช้ให้ทำความดีห้ามปรามความชั่ว ก็ถือว่าเป็นที่อนุญาต แต่ถ้ามีความเท่าเทียมกันทั้งความดีและความชั่ว หรือมีด้านเสียมากกว่าด้านดี ดังเช่นในปัจจุบัน ก็ถือว่าต้องห้าม" (จากหนังสือ อัลญะวาบุลมุฟีด ฟีหุกมิตตัศวีรฺ โดย เชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ)

ส่วนอัล-ลัจญฺนะฮฺ อัด-ดาอิมะฮฺ (คณะกรรมการถาวรเพื่อการวินิจฉัยปัญหาศาสนา ประเทศซาอุฯ) ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับโทรทัศน์ว่า: "โทรทัศน์นั้นถือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ได้ทั้งในทางที่ดีและทางที่ไม่ดี แล้วแต่ว่าผู้ที่นำไปใช้นั้นนำไปใช้ในทางใด แต่ทางที่ดีก็ไม่ควรนำโทรทัศน์เข้ามาไว้ในบ้าน เพราะมันจะเป็นหนทางที่ทำให้เราได้รับชมในสิ่งที่ต้องห้าม และภาพและอิริยาบทที่ไม่เหมาะสม" (จากหนังสือรวมฟัตวาของอัล-ลัจญฺนะฮฺ คำถามเลขที่ 2133)

           

ข้อสงสัยและคำตอบ

            อาจจะมีคำถามว่า แล้วเราจะสามารถนำสิ่งใดมาแทนที่โทรทัศน์ได้?

            นี่เป็นคำถามที่ผิดอย่างมหันต์ กับการที่มุสลิมมักถามหาสิ่งที่จะมาทดแทนสิ่งที่อัลลอฮฺตะอาลา ทรงห้าม ทั้งๆที่เป็นวาญิบสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามเท่านั้น ดังที่อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า

﴿ إِنَّمَا كَانَ قَوۡلَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ إِذَا دُعُوٓاْ إِلَى ٱللَّهِ وَرَسُولِهِۦ لِيَحۡكُمَ بَيۡنَهُمۡ أَن يَقُولُواْ سَمِعۡنَا وَأَطَعۡنَاۚ وَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُفۡلِحُونَ ٥١ ﴾ [النور : ٥١] 

ความว่า “แท้จริงคำกล่าวของบรรดาผู้ศรัทธา เมื่อพวกเขาถูกเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ เพื่อให้ตัดสินระหว่างพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า เราได้ยินแล้วและเราเชื่อฟังปฏิบัติตาม และชนเหล่านี้พวกเขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ” (อัล-นูร: 51)

            และในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เราสามารถทดแทนการดูโทรทัศน์นั้นมีมากมาย เช่น การท่องจำอัลกุราน การฟังบรรยายที่จัดขึ้นตามมัสยิดหรือองค์กรต่างๆ การซื้อหนังสือหรือซีดีที่มีประโยชน์มานั่งอ่านนั่งฟัง และการจัดการแข่งขันทั่วไปเกี่ยวกับวิชาความรู้ และอื่นๆอีกมากมายที่เราสามารถทำทดแทนการดูโทรทัศน์ได้

            อีกหนึ่งในข้อซักถาม คือการที่บางคนกล่าวว่าเราสามารถดูการถ่ายทอดสดการละหมาดที่มัสญิดหะรอม ดูรายการเกี่ยวกับศาสนา และติดตามข่าวสารผ่านทางโทรทัศน์ได้ เราอาจตอบได้ว่า ทั้งหมดนี้มีอยู่ในวิทยุช่องศาสนาซึ่งดีกว่าการดูในโทรทัศน์ ซึ่งเชคบิน บาซ ได้แนะนำให้ฟังทางวิทยุจะดีกว่า

            และบางคนก็กล่าวว่า ฉันทราบว่าโทรทัศน์ในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่อนุญาตให้มีไว้ในบ้าน แต่ว่าถ้าเราไม่มีโทรทัศน์ในบ้าน ลูกหลานของเราก็แอบไปดูตามบ้านเพื่อนบ้านหรือสถานที่อื่นๆอยู่ดี

            เราอาจตอบได้ว่า ข้อหนึ่ง: มีหลักอยู่ว่าสิ่งที่ผิดที่ไม่ดีนั้น ไม่ควรจะได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วยสิ่งที่ผิด เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองจะต้องอธิบายให้เด็กๆเข้าใจว่าการดูรายการในโทรทัศน์นั้นไม่เป็นที่อนุญาตไม่ว่าจะดูที่บ้านหรือดูที่อื่น

ข้อสอง: ผลเสียของการดูโทรทัศน์ที่บ้านนั้นมีมากกว่าการดูที่อื่น ทั้งนี้เพราะว่าเด็กๆคงไม่สามารถดูโทรทัศน์ที่อื่นได้ทั้งวันหรือตลอดเวลาที่พวกเขาต้องการ ผิดกับการมีโทรทัศน์ในบ้าน ซึ่งเป็นการง่ายสำหรับพวกเขาที่จะสามารถดูได้ตลอดเวลาที่เขาต้องการ

            และสุดท้าย จงจำไว้เสมอว่าความตายนั้นอาจมาเยือนอย่างไม่ทันตั้งตัวในขณะที่โทรทัศน์ยังอยู่ในบ้านของท่าน อิมามอัล-บุคอรียฺและมุสลิมบันทึกจากมะอฺก็อล บิน ยะสารฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

«مَا مِنْ عَبْدٍ يَسْتَرْعِيْهِ اللهُ رعيَّةً، يَمُوتُ وَهُوَ غَاشٍ لِرَعِيَّتِهِ، إِلا حَرَّمَ اللهُ عَلَيْهِ الجَنَّةَ» [البخاري برقم 7150، ومسلم برقم 142]

ความว่า “ไม่มีบ่าวคนใดที่อัลลอฮฺได้ให้เขาทำหน้าที่ปกครอง แล้วเขาได้เสียชีวิตในสภาพที่เป็นผู้บกพร่องคดโกงต่อหน้าที่ที่รับผิดชอบ นอกจากอัลลอฮฺจะห้ามไม่ให้เขาเข้าสวนสวรรค์” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 7150 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 142)

 

....................................................................

 

แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ

 

ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

 คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/386019  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).