Loading

 

หนึ่งในการงานของหัวใจ ความกลัวและความหวัง

หนึ่งในการงานของหัวใจ ความกลัวและความหวัง

 

             ชัยคฺ อะลี บินอับดุรเราะหฺมาน อัล-หุซัยฟี หะฟิเซาะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวคุฏบะฮฺวันศุกร์ในหัวข้อ “ความกลัวและความหวังคือการงานที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ” ซึ่งเป็นคุฏบะฮฺที่มีการกล่าวถึงการงานที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับมัน และในจำนวนการงานที่เกี่ยวข้องกับหัวใจที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ การกลัวต่ออัลลอฮฺ และการหวังต่อผลตอบแทนจากพระองค์อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา และสภาพที่แตกต่างของผู้ศรัทธาระหว่างความกลัวและความหวัง ในขณะที่ยังมีชีวิตในโลกนี้ และช่วงขณะก่อนที่จะจากลาโลกนี้ไป

  คุฏบะฮฺที่หนึ่ง

 

الحمد لله العلي الأعلى، ﴿ لَهُۥ مَا فِي ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَمَا فِي ٱلۡأَرۡضِ وَمَا بَيۡنَهُمَا وَمَا تَحۡتَ ٱلثَّرَىٰ ٦ وَإِن تَجۡهَرۡ بِٱلۡقَوۡلِ فَإِنَّهُۥ يَعۡلَمُ ٱلسِّرَّ وَأَخۡفَى ٧ ﴾ [طه: ٦،  ٧]

 أحمد ربي وأشكره على ما أعطى، وأشهد أن لا إله إلا الله وحده لا شريك له، له الأسماء الحُسنى، وأشهد أن نبينا وسيدنا محمدًا عبده ورسوله المُصطفى، اللهم صلِّ وسلِّم وبارِك على عبدك ورسولك محمدٍ، وعلى آله وصحبه البررة الأتقياء.

การสรรเสริญทั้งหลายเป็นสิทธิของอัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งยิ่ง

﴿ لَهُۥ مَا فِي ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَمَا فِي ٱلۡأَرۡضِ وَمَا بَيۡنَهُمَا وَمَا تَحۡتَ ٱلثَّرَىٰ ٦ وَإِن تَجۡهَرۡ بِٱلۡقَوۡلِ فَإِنَّهُۥ يَعۡلَمُ ٱلسِّرَّ وَأَخۡفَى ٧ ﴾ [طه: ٦،  ٧]

ความว่า “กรรมสิทธิ์ของพระองค์นั้นคือ สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน และสิ่งที่อยู่ในระหว่างทั้งสอง และสิ่งที่อยู่ใต้พื้นดิน และหากว่าเจ้ากล่าวเสียงดัง แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้สิ่งเร้นลับ และสิ่งซ่อนเร้น” (สูเราะฮฺ ฏอฮา : 6-7)

 

            ข้าพเจ้าขอสรรเสริญต่อพระผู้อภิบาล และขอขอบคุณ (ชุกูร) ต่อพระองค์ ในสิ่งที่ทรงประทานมาให้ และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีใดๆ ต่อพระองค์ พระองค์ทรงมีพระนามอันวิจิตร และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่านบีของเรา ผู้นำของเรา มุหัมมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์ผู้ที่เลือกสรร ขอการสดุดีแห่งอัลลอฮฺ ความสันติสุขปลอดภัย และความจำเริญจงมีแด่บ่าวของพระองค์ ศาสนทูตของพระองค์ นั่นคือมุหัมมัด และแด่วงศ์วานของท่าน ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ประเสริฐและมีความยำเกรงทั้งหลาย

  อนึ่ง โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงมีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริงเถิด และพึงทราบเถิดว่า อัลลอฮฺนั้นทรงรู้ในสิ่งที่มีอยู่ในตัวของพวกท่าน ดังนั้นจงระมัดระวังตัวเองให้ดีเถิด เพราะไม่มีสิ่งใดในแผ่นดินและในฟากฟ้าจะซ่อนเร้นไปจากอัลลอฮฺได้

โอ้บ่าวทั้งหลายของอัลลอฮฺ

แท้จริง การงานที่เกี่ยวข้องกับหัวใจนั้น ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและเป็นสิ่งที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งผลตอบแทนของมันนั้นก็เป็นผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และบทลงโทษของมันนั้นก็ถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงที่สุด กล่าวได้ว่าการงานของร่างกายนั้นจะคอยติดตามการงานของหัวใจอย่างใกล้ชิดแนบแน่น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำกล่าวหนึ่งที่ว่า “หัวใจคือพระราชา ซึ่งอวัยวะต่างๆ เปรียบเสมือนเป็นทหารของมัน”

 

            มีรายงานจากท่านอนัส บินมาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า   

«لَا يَسْتَقِيمُ إِيمَانُ عَبْدٍ حَتَّى يَسْتَقِيمَ قَلْبُهُ» [أحمد برقم 13048، وحسنه الألباني في السلسلة الصحيحة برقم 2841]

ความว่า “ความศรัทธาของบ่าวคนหนึ่งจะไม่มั่นคงจนกว่าหัวใจของเขาจะมั่นคง” (บันทึกโดยอิมามอะหฺมัด ในมุสนัดของท่าน หมายเลข 13048  ชัยคฺอัล-อัลบานีได้กล่าวว่าเป็นหะดีษหะสัน ใน “อัศ-เศาะฮีหะฮฺ” หมายเลข 2841)

 

            ซึ่งการยืนหยัดของหัวใจ นั้นคือ การให้ความเป็นเอกะต่ออัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา การให้เกียรติ การให้ความรัก ความกลัว และความหวังต่อพระองค์ รวมถึงการรักที่จะเคารพภักดีต่อพระองค์ และรังเกียจที่จะฝ่าฝืนต่อพระองค์

           

            ในการบันทึกของมุสลิม จากหะดีษที่รายงานโดยท่านอบี ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إِنَّ اللهَ لَا يَنْظُرُ إِلَى صُوَرِكُمْ وَأَمْوَالِكُمْ، وَلَكِنْ يَنْظُرُ إِلَى قُلُوبِكُمْ وَأَعْمَالِكُمْ» [مسلم برقم  2564]

ความว่า “แท้จริงแล้ว อัลลอฮฺจะไม่ทรงมองที่รูปร่างหน้าตาและทรัพย์สมบัติของพวกท่าน แต่พระองค์จะทรงมองที่จิตใจและการงานของพวกท่าน (ต่างหาก)” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 2564)

 

            ท่านอัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ ได้กล่าวแก่ชายคนหนึ่งว่า “จงเยียวยาหัวใจของท่านเถิด เพราะแท้จริงแล้ว สิ่งที่อัลลอฮฺทรงประสงค์จากปวงบ่าวก็คือ การที่พวกเขามีหัวใจที่ดี” (ญามิอฺ อัล-อุลูม วัล-หิกัม โดยอิบนุเราะญับ : 1/211)

 

            ซึ่งในจำนวนการงานที่เกี่ยวข้องกับหัวใจที่เป็นบ่อเกิดของอะมัลความดี และเป็นสิ่งกระตุ้นให้มีความปรารถนาต่อโลกอาคิเราะฮฺ และเป็นสิ่งปิดกั้นจากพฤติกรรมที่ไม่ดี ทั้งยังเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสมถะต่อโลกนี้ และยับยั้งความปลิ้นปล้อนของจิตใจที่มีความโอหัง นั่นคือ ความกลัวและความหวัง กล่าวคือ ความกลัวต่ออัลลอฮฺและความหวังในสิ่ง(รางวัลผลตอบแทน)ที่มีอยู่ ณ ที่พระองค์

            ความกลัวต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้หัวใจทำแต่สิ่งที่ดี และเป็นสิ่งปิดกั้นจากทุกสิ่งที่ไม่ดี ส่วนความหวังนั้นจะนำบ่าวไปสู่ความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺและรางวัลผลตอบแทนจากพระองค์ และเป็นตัวกระตุ้นให้มีความมุ่งมั่นไปสู่การทำอะมัลความดี และทำให้เขาได้ผินหลังจากการกระทำที่น่ารังเกียจทั้งหลาย

            ความกลัวต่ออัลลอฮฺ จะยับยั้งจิตใจจากอารมณ์ใฝ่ต่ำ และจะปิดกั้นจากการออกนอกลู่นอกทางของมัน รวมทั้งเป็นแรงผลักดันให้มันไปสู่สิ่งที่ดีและความสำเร็จ

            ความกลัวต่ออัลลอฮฺคือแขนงหนึ่งจากแขนงของเตาฮีด ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องให้มีต่อพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ส่วนความกลัวที่มีต่อสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ ก็คือแขนงหนึ่งจากแขนงของการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา

            แท้จริงอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงสั่งใช้ให้มีความกลัวต่อพระองค์ และทรงห้ามไม่ให้มีความกลัวต่อสิ่งอื่นจากพระองค์ ซึ่งอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ ได้ดำรัสถึงเรื่องนี้ว่า

﴿ إِنَّمَا ذَٰلِكُمُ ٱلشَّيۡطَٰنُ يُخَوِّفُ أَوۡلِيَآءَهُۥ فَلَا تَخَافُوهُمۡ وَخَافُونِ إِن كُنتُم مُّؤۡمِنِينَ ١٧٥ ﴾ [ال عمران: ١٧٥] 

ความว่า “แท้จริงชัยฏอนนั้นเพียงขู่ได้เฉพาะบรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามมันเท่านั้น ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่ากลัวพวกเขา และจงกลัวข้าเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา” (สูเราะฮฺอาล อิมรอน : 175)

             

            และอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ ได้ดำรัสอีกว่า

﴿فَلَا تَخۡشَوُاْ ٱلنَّاسَ وَٱخۡشَوۡنِ وَلَا تَشۡتَرُواْ بِ‍َٔايَٰتِي ثَمَنٗا قَلِيلٗاۚ ٤٤ ﴾ [المائ‍دة: ٤٤]   

ความว่า “ดังนั้นพวกเจ้า จงอย่ากลัวมนุษย์แต่จงกลัวข้าเถิด และจงอย่าแลกเปลี่ยนบรรดาโองการของข้ากับราคาอันเล็กน้อย” (สูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ : 44)

 

            และพระองค์ได้ดำรัสอีกว่า

﴿وَإِيَّٰيَ فَٱرۡهَبُونِ ٤٠ ﴾ [البقرة: ٤٠] 

ความว่า “และเฉพาะข้าเท่านั้น ที่พวกเจ้าต้องเกรงกลัว” (สูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ : 40)

 

            มีรายงานจากท่านอนัส บินมาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า

«خَطَبَنَا رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ لَوْ تَعْلَمُونَ مَا أَعْلَمُ لَضَحِكْتُمْ قَلِيلًا وَلَبَكَيْتُمْ كَثِيرًا ، فَغَطَّى أَصْحَابُ رَسُولِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وُجُوهَهُمْ ولَهُمْ خَنِينٌ» [البخاري برقم 4621، ومسلم برقم 2359]

ความว่า “ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวเทศนา (คุฏบะฮฺ) แก่พวกเรา ซึ่งท่านได้กล่าวว่า “หากพวกท่านรู้ในสิ่งที่ฉันรู้ แน่นอนพวกท่านจะหัวเราะให้น้อยและร้องไห้ให้มาก (เมื่อได้ยินเช่นนั้น) บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงปิดหน้าของพวกเขาพร้อมกับมีเสียงสะอื้นจากการร้องไห้ได้ยินออกมา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 4621 และมุสลิม หมายเลข 2359)

 

ความกลัว หมายถึง การที่หัวใจมีความตื่นตระหนกและสั่นไหว ซึ่งมันจะเกิดขึ้นเนื่องจากความกลัว ต่อการลงโทษของอัลลอฮฺที่มีต่อการกระทำสิ่งที่ต้องห้าม หรือการละทิ้งสิ่งที่วาญิบ หรือความบกพร่องจากการกระทำในสิ่งที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) และมีความวิตกกังวลว่าอัลลอฮฺจะไม่ทรงตอบรับอะมัลที่ดี ดังนั้นจิตใจจึงพยายามฉุดรั้งมันจากการกระทำสิ่งที่ต้องห้ามและรีบเร่งในการทำความดีงาม

คำว่า “อัล-ค็อชยะฮฺ, อัล-วะญัล, อัร-เราะฮฺบะฮฺ และอัล-ฮัยบะฮฺ” นั้นคือคำที่มีความหมายที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่า “ความกลัว” เสมอไป แต่ “อัล-ค็อชยะฮฺ” นั้นจะมีความหมายเฉพาะเจาะจงยิ่งกว่า “อัล-เคาฟฺ” เพราะ “อัล-ค็อชยะฮฺ” นั้น คือการกลัวต่ออัลลอฮฺด้วยกับการรู้ถึงคุณลักษณะของพระองค์ ญัลละวะอะลา ดังที่พระองค์ อัซซะวะญัลละ ได้ดำรัสว่า

﴿ إِنَّمَا يَخۡشَى ٱللَّهَ مِنۡ عِبَادِهِ ٱلۡعُلَمَٰٓؤُاْۗ ٢٨ ﴾ [فاطر: ٢٨] 

ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้ที่มีความรู้จากปวงบ่าวของพระองค์เท่านั้นที่เกรงกลัวอัลลอฮฺ” (สูเราะฮฺฟาฏิร : 28)

 

            มีบันทึกในหนังสือ “อัศ-เศาะฮีหฺ” ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«أَمَا وَاللهِ، إِنِّي لَأَتْقَاكُمْ لِلهِ، وَأَخْشَاكُمْ لَهُ» [مسلم برقم 1108]

ความว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ แท้จริงฉันเป็นผู้ที่มีความยำเกรง(ตักวา)ต่ออัลลอฮฺมากกว่าพวกท่าน และเป็นผู้ที่มีความเกรงกลัว(ค็อชยะฮฺ)ต่อพระองค์มากกว่าพวกท่าน” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1108)

 

ส่วนอัล-วะญัล หมายถึง การที่หัวใจสะทกสะท้านและหวาดหวั่น เนื่องจากมีการกล่าวถึงผู้ที่เขากลัวต่ออำนาจและการลงโทษของผู้นั้น

อัร-เราะฮฺบะฮฺ หมายถึง การหนีจากสิ่งที่ไม่ปรารถนา 

อัล-ฮัยบะฮฺ หมายถึง ความกลัวที่มาพร้อมกับการยกย่องเทิดทูนและการให้เกียรติ

ซึ่งอัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเกรงกลัว และสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องยกย่องเทิดทูน รวมถึงหลีกห่างจากความโกรธกริ้วของพระองค์ (สมควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องเกรงกลัวพระองค์ในทุกมิติและความหมายที่กล่าวมา)

ท่านอิมามอิบนุลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวว่า “อัล-เคาฟ์นั้นสำหรับผู้ศรัทธาทั่วไป ส่วนอัล-ค็อชยะฮฺสำหรับบรรดานักวิชาการผู้มีความรู้ และอัล-ฮัยบะฮฺนั้นสำหรับคนที่รักพระองค์ และอัล-อิจญ์ลาลนั้นสำหรับคนที่ใกล้ชิดพระองค์ ซึ่งเท่าที่บุคคลหนึ่งมีความรู้และรู้จักอัลลอฮฺมากเพียงใด เขาก็จะมีอัล-เคาฟฺและอัล-ค็อชยะฮฺต่ออัลลอฮฺมากเท่านั้น” (มะดาริญุสสาลิกีน  : 508)

 

อัลลอฮฺทรงให้สัญญาต่อผู้ที่กลัวพระองค์ โดยความกลัวที่มีต่อพระองค์นั้นทำให้เขาสามารถหักห้ามจากกิเลสตัณหาทั้งหลาย และนำเขาไปสู่การจงรักภักดีต่อพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงให้สัญญาผลตอบแทนด้วยกับสิ่งที่ดีเลิศที่สุด อัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา ได้ดำรัสว่า

﴿ وَلِمَنۡ خَافَ مَقَامَ رَبِّهِۦ جَنَّتَانِ ٤٦ فَبِأَيِّ ءَالَآءِ رَبِّكُمَا تُكَذِّبَانِ ٤٧ ذَوَاتَآ أَفۡنَانٖ ٤٨ ﴾ [الرحمن: ٤٦،  ٤٨] 

ความว่า “และสำหรับผู้ที่ยำเกรงต่อการยืนหน้าพระพักตร์แห่งพระเจ้าของเขา (เขาจะได้) สวนสวรรค์สองแห่ง ดังนั้นด้วยบุญคุณอันใดเล่าแห่งพระเจ้าของเจ้าทั้งสอง ที่เจ้าทั้งสองปฏิเสธ  (สวนสวรรค์สองแห่งนั้น) แผ่กิ่งก้านเขียวชอุ่มและผลไม้หลายชนิด” (สูเราะฮฺ อัร-เราะหฺมาน : 46-48)

 أَفۡنَانٖ     หมายถึง “กิ่งก้านที่เขียวชอุ่ม” ซึ่งท่านอะฏออ์ ได้กล่าวว่า “คือกิ่งก้านของผลไม้หลากหลายชนิด” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 7/502)

 

            อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสอีกว่า

﴿ وَأَمَّا مَنۡ خَافَ مَقَامَ رَبِّهِۦ وَنَهَى ٱلنَّفۡسَ عَنِ ٱلۡهَوَىٰ ٤٠ فَإِنَّ ٱلۡجَنَّةَ هِيَ ٱلۡمَأۡوَىٰ ٤١ ﴾ [النازعات: ٣٩،  ٤٠] 

ความว่า “และส่วนผู้ที่หวาดหวั่นต่อการยืนเบื้องหน้าพระเจ้าของเขา และได้หน่วงเหนี่ยวจิตใจจากกิเลสต่ำ ดังนั้นสวนสวรรค์ก็จะเป็นที่พำนักของเขา” (สูเราะฮฺอัน-นาซิอาต : 40-41)

            และอัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา ได้ดำรัสว่า

﴿ وَأَقۡبَلَ بَعۡضُهُمۡ عَلَىٰ بَعۡضٖ يَتَسَآءَلُونَ ٢٥ قَالُوٓاْ إِنَّا كُنَّا قَبۡلُ فِيٓ أَهۡلِنَا مُشۡفِقِينَ ٢٦ فَمَنَّ ٱللَّهُ عَلَيۡنَا وَوَقَىٰنَا عَذَابَ ٱلسَّمُومِ ٢٧ إِنَّا كُنَّا مِن قَبۡلُ نَدۡعُوهُۖ إِنَّهُۥ هُوَ ٱلۡبَرُّ ٱلرَّحِيمُ ٢٨ ﴾ [الطور: ٢٤،  ٢٧] 

ความว่า “และบางคนในหมู่พวกเขาจะหันหน้าเข้าหากัน สอบถามซึ่งกันและกัน  พวกเขากล่าวว่า แท้จริง แต่ก่อนนี้ (ในโลกดุนยา) พวกเราอยู่กับครอบครัวของเราเป็นผู้มีความวิตกกังวล  ดังนั้น อัลลอฮฺได้ทรงโปรดปรานแก่เรา และได้ทรงปกป้องเราให้พ้นจากการลงโทษแห่งลมร้อน  แท้จริง ก่อนหน้านี้เราได้วิงวอนต่อพระองค์ แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (สูเราะฮฺอัฏ-ฏูร : 25-28) 

 

            อัลลอฮฺ ได้แจกแจงว่า ผู้ใดที่กลัวพระองค์ พระองค์ก็จะให้เขารอดพ้นจากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายและจะทรงคุ้มครองเขาจากสิ่งนั้น และจะทรงประทานความโปรดปรานให้แก่เขาด้วยกับการให้ผลตอบแทนที่ดีงาม

            มีรายงานจากท่านอิบนุ อบีหาติม จากท่านอับดุลอะซีซ (อิบนุ อบี เราวาด) ได้เล่าว่า มีรายงานถึงเราว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อ่านอายะฮฺนี้

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ قُوٓاْ أَنفُسَكُمۡ وَأَهۡلِيكُمۡ نَارٗا وَقُودُهَا ٱلنَّاسُ وَٱلۡحِجَارَةُ ٦ ﴾ [التحريم: ٦] 

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงคุ้มครองตัวของพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก เพราะเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และก้อนหิน” (สูเราะฮฺอัต-ตะหฺรีม : 6)

ซึ่งในขณะนั้นมีบรรดาเศาะหาบะฮฺบางท่านร่วมอยู่ด้วย และในจำนวนนั้นก็มีชายชราคนหนึ่ง ชายชราคนนั้นจึงถามว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ก้อนหินในนรกญะฮันนัมนั้นเหมือนก้อนหินในโลกนี้หรือไม่?” ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า “ขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ แน่นอนที่สุด ก้อนหินก้อนเดียวในนรกญะฮันนัมนั้นใหญ่ยิ่งกว่าภูเขาทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้เสียอีก” ทันใดนั้นชายชราคนนั้นก็ล้มลงหมดสติ ท่านนบี ศ็อลลัลลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้วางมือของท่านบนหน้าอกของเขา ในขณะที่เขากำลังมีชีวิตอยู่ แล้วท่านนบีก็เรียกเขาว่า “โอ้ชายชราเอ๋ย จงกล่าว ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ” ชายชราคนนั้นก็ได้กล่าวตามนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงแจ้งข่าวดีแก่เขาด้วยการได้เข้าสวนสวรรค์ เมื่อเห็นเช่นนั้นเศาะหาบะฮฺบางท่านจึงกล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ พวกเราจะได้รับสิ่งนั้นด้วยไหม” ท่านนบีได้กล่าวว่า “ใช่แล้ว” เพราะอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

﴿ذَٰلِكَ لِمَنۡ خَافَ مَقَامِي وَخَافَ وَعِيدِ ١٤ ﴾ [ابراهيم: ١٤] 

ความว่า “นั่นสำหรับผู้ที่กลัวต่อการเผชิญหน้าข้า และกลัวต่อสัญญาการลงโทษของข้า” (สูเราะฮฺอิบรอฮีม : 14) (ตัฟสีร อิบนุกะษีร : 8/168 และตัฟสีรอิบนิอบีหาติม : 7/2238)

 

            ชาวสะลัฟก่อนหน้านี้พวกเขาต่างมีความกลัวต่ออัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา และต่างพยายามทำอะมัลที่ดี และมีความหวังต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้การใช้ชีวิตของพวกเขาเป็นไปด้วยดี ทรัพย์สินของพวกเขาก็เป็นสิ่งที่ดี และการงานของพวกเขาก็มีความบริสุทธิ์

            ครั้งหนึ่งท่านอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เดินตรวจดูแลความสงบในยามค่ำคืน และแล้วท่านก็ได้ยินเสียชายคนหนึ่ง (กำลังละหมาดตะฮัจญุด ซึ่งเขาได้) อ่านสูเราะฮฺอัฏ-ฏูร เมื่อได้ยินเช่นนั้นท่านจึงลงจากพาหนะของท่าน แล้วพิงตัวที่กำแพง (ซึ่งหลังจากที่ท่านกลับไปยังบ้าน) ท่านก็ล้มป่วยเป็นเวลาแรมเดือน โดยที่คนที่ไปเยี่ยมเยียนท่านนั้น ไม่รู้เลยว่าท่านป่วยเพราะเหตุอะไร (มัจญ์มูอฺ เราะสาอิล อิบนุเราะญับ : 4/127)

            ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ได้กล่าวว่า“ฉันเคยเห็นเศาะหาบะฮฺของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งฉันไม่เคยเห็นว่าจะมีใครสักคนที่เป็นเหมือนกับพวกเขา เวลากลางวันพวกเขาก็จะอยู่กับการปฏิบัติหน้าที่ต่ออัลลอฮฺจนเนื้อตัวคลุกฝุ่นและมอมแมมไปหมด หน้าผากของพวกเขามีร่องรอย (อันเนื่องจากการก้มสุญูดที่ยาวนาน) เมื่อเข้าสู่เวลากลางคืนพวกเขาก็จะทำการสุญูดและยืนละหมาดเพื่อพระเจ้าของพวกเขา และจะอ่านอัลกุรอาน การพักผ่อนของพวกเขาคือการได้ก้มลงสุญูดและยืนเข้าเฝ้าอย่างยาวนาน ครั้นเมื่อเข้าสู่เวลาเช้าพวกเขาก็จะรำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากมาย ประหนึ่งต้นไม้ที่โอนเอนไปมาในวันที่พายุพัดกระหน่ำ และน้ำตาของพวกเขาก็จะหลั่งไหลจนเสื้อผ้าเปียกชุ่ม” (มุคตะศ็อร ตารีค ดิมัชกฺ ลิอิบนิ อะสากิร โดยอบู อัล-ฟัฎล์ : 18/66)

           ท่านสุฟยาน อัษ-เษารีย์ เคยป่วยเนื่องด้วยความกลัวที่มีต่ออัลลอฮฺ

            ในครั้งที่ท่านอับดุลลอฮฺ บินเราะวาหะฮฺ ได้กล่าวลาสหายของเขา เพื่อจะร่วมออกเดินทางไปทำสงครามมุอ์ตะฮฺ ท่านก็ได้ร้องไห้ พลันกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันไม่ได้ร้องไห้เพราะความรักความปรารถนาที่มีต่อพวกท่าน และไม่ได้เศร้าเสียใจเพราะต้องจากโลกนี้ไป แต่ฉันได้นึกถึงอายะฮฺหนึ่งในอัลกุรอาน ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า

﴿ وَإِن مِّنكُمۡ إِلَّا وَارِدُهَاۚ كَانَ عَلَىٰ رَبِّكَ حَتۡمٗا مَّقۡضِيّٗا ٧١ ﴾ [مريم: ٧١] 

ความว่า “และไม่มีผู้ใดในหมู่พวกเจ้า นอกจากจะเป็นผู้ผ่านเข้าไปในมัน (ทั้งคนดีและคนชั่วจะต้องผ่านนรก คนดีจะเดินผ่านไป ส่วนคนชั่วจะเข้าไปอยู่ในมัน) มันเป็นสิ่งที่กำหนดไว้แน่นอนแล้วสำหรับพระเจ้าของเจ้า” (สูเราะฮฺมัรยัม : 71)

ซึ่งฉันจะเป็นเช่นไร หลังจากที่ผ่านเข้าไปในนั้น” (อัล-เมาสูอะฮฺ อัล-กุรอานียะฮฺ โดยอิบรอฮีม บินอิสมาอีล อัล-อับยารีย์ : 1/233)

            ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่อย่างมากมายยิ่งนัก  -ขออัลลอฮฺทรงพึงพระทัยต่อพวกเขาทั้งหลาย

 

            ความกลัวที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญนั้นคือ ความกลัวที่เป็นแรงกระตุ้นไปสู่การทำอะมัลที่ดี และเป็นสิ่งหักห้ามจากการทำสิ่งที่ผิดบาปทั้งหลาย ซึ่งถ้าความกลัวมีมากเกินจากนี้ก็จะกลายเป็นความเศร้าโศกเสียใจและความสิ้นหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ ซึ่งมันจะกลายเป็นการทำบาปใหญ่โดยทันที

            ท่านอิบนุเราะญับ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ความกลัวที่วาญิบต้องมีนั้นคือ เท่าที่มันจะพยุงพาให้ปฏิบัติสิ่งที่เป็นข้อฟัรฎูและห่างไกลจากสิ่งที่ผิดบาปทั้งหลายได้ ซึ่งถ้าหากมันมีมากกว่านั้น ประมาณว่าทำให้เกิดแรงกระตุ้นที่จะรีบเร่งในการทำความดีงามที่เป็นสุนัต หรือละทิ้งสิ่งที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยของสิ่งที่น่ารังเกียจและลดการขยายขอบเขตที่มากเกินไปของสิ่งที่เป็นมุบาหาต(สิ่งที่อนุญาตแต่ไม่ได้บุญ) ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง แต่ถ้ากลัวมากไปกว่านั้นอีก จนทำให้เกิดการเจ็บป่วย หรือเป็นเหตุนำไปสู่การเสียชีวิต หรือทำให้มีความทุกข์ระทม ก็จำเป็นที่จะต้องตัดความกลัวเช่นนั้นออกไป เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่น่ายกย่องอย่างแน่นอน” (มัจญ์มูอฺ เราะสาอิล อัล-หาฟิซ อิบนุเราะญับ อัล-หัมบะลีย์ : 4/112)

            ท่านอบูหัฟศฺ ได้กล่าวว่า “ความกลัว คือ แส้ของอัลลอฮฺที่ใช้ดัดนิสัยผู้ที่เตลิดเปิดเปิงจากเส้นทางของพระองค์ให้กลับมาอยู่ในร่องในรอย” และท่านได้กล่าวอีกว่า “ความกลัวนั้นคือ ตะเกียงแสงสว่างสำหรับหัวใจ” (มะดาริญุสสาลิกีน : 1/509)

            ท่านอบูสุลัยมาน ได้กล่าวว่า “ความกลัวจะไม่หายไปจากหัวใจ ยกเว้นจะทำให้หัวใจเสียหาย” (มะดาริญุสสาลิกีน : 1/509)

            ดังนั้น ผู้ศรัทธาจะอยู่ในระหว่างสองความกลัว กล่าวคือ สิ่งที่ผ่านพ้นไปนั้นเขาไม่รู้ว่าอัลลอฮฺจะดำเนินการอย่างไรกับมัน และสิ่งที่จะมีมาในอนาคตนั้นเขาไม่รู้ว่าอัลลอฮฺกำหนดมันไว้อย่างไร

 

            ส่วนอัร-เราะญาอ์ หรือความหวัง คือ ความปรารถนาในรางวัลผลตอบแทนของอัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา ที่มีต่อการงานที่ดี ซึ่งเงื่อนไขของอัร-เราะญาอ์นั้นคือ การทำอะมัลที่ดี ยับยั้งจากการทำสิ่งที่เป็นบาป และการเตาบัตสำนึกผิดในสิ่งที่ทำผิดไป

ส่วนการละทิ้งสิ่งที่เป็นวาญิบและปฏิบัติตามอารมณ์ความใคร่ แล้วยังมีความหวังต่ออัลลอฮฺนั้นเรียกว่า เป็นความรู้สึกมั่นใจว่าปลอดภัยจากการลงโทษของอัลลอฮฺ ไม่ใช่เป็นความหวังหรืออัร-เราะญาอ์แต่อย่างใดไม่ อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสในเรื่องนี้ว่า

﴿فَلَا يَأۡمَنُ مَكۡرَ ٱللَّهِ إِلَّا ٱلۡقَوۡمُ ٱلۡخَٰسِرُونَ ٩٩ ﴾ [الاعراف: ٩٨] 

ความว่า “ไม่มีใครมั่นใจว่าจะปลอดภัยจากอุบายของอัลลอฮฺ นอกจากกลุ่มชนที่ขาดทุนเท่านั้น” (สูเราะฮฺอัล-อะอฺรอฟ : 99)

 

            อัลลอฮฺทรงแจกแจงอย่างชัดเจนว่า ความหวังหรืออัร-เราะญาอ์นั้นจะไม่เกิดขึ้นเว้นแต่จะต้องปฏิบัติอะมัลที่ดี และความหวังจะไม่เกิดขึ้นเด็ดขาดหากปราศจากการทำดีเสียก่อน  อัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา ได้ดำรัสว่า

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ يَتۡلُونَ كِتَٰبَ ٱللَّهِ وَأَقَامُواْ ٱلصَّلَوٰةَ وَأَنفَقُواْ مِمَّا رَزَقۡنَٰهُمۡ سِرّٗا وَعَلَانِيَةٗ يَرۡجُونَ تِجَٰرَةٗ لَّن تَبُورَ ٢٩ ﴾ [فاطر: ٢٩] 

ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้อ่านคัมภีร์ของอัลลอฮฺ และดำรงการละหมาด และบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา โดยซ่อนเร้นและเปิดเผย พวกเขาหวังการค้าที่ไม่ซบเซา” (สูเราะฮฺฟาฏิร : 29)

 

            อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสอีกว่า

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَٱلَّذِينَ هَاجَرُواْ وَجَٰهَدُواْ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ أُوْلَٰٓئِكَ يَرۡجُونَ رَحۡمَتَ ٱللَّهِۚ وَٱللَّهُ غَفُورٞ رَّحِيمٞ ٢١٨ ﴾ [البقرة: ٢١٨] 

ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธา และบรรดาผู้ที่อพยพ และได้เสียสละต่อสู้ในทางของอัลลอฮฺนั้น ชนเหล่านี้แหละ ที่หวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (สูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ : 218)

           

            ความหวังหรืออัร-เราะญาอ์ คืออิบาดะฮฺที่ไม่สามารถมอบให้แก่ผู้อื่นได้ นอกจากกับอัลลอฮฺเท่านั้น ซึ่งผู้ใดที่ผูกความหวังของเขาต่อสิ่งอื่นจากพระองค์ ก็ถือเป็นการตั้งภาคี  ในเรื่องนี้อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า

﴿فَمَن كَانَ يَرۡجُواْ لِقَآءَ رَبِّهِۦ فَلۡيَعۡمَلۡ عَمَلٗا صَٰلِحٗا وَلَا يُشۡرِكۡ بِعِبَادَةِ رَبِّهِۦٓ أَحَدَۢا ١١٠ ﴾ [الكهف: ١١٠] 

ความว่า “ดังนั้น ผู้ใดหวังที่จะพบพระผู้เป็นเจ้าของเขา ก็ให้เขาประกอบการงานที่ดี และอย่าตั้งผู้ใดเป็นภาคีในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขา” (สูเราะฮฺอัล-กะฮฺฟิ : 110)

 

            ความหวังหรืออัร-เราะญาอ์คือสื่อหนึ่งที่จะทำให้ได้ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ดังที่มีหะดีษอัลกุดสีย์ ซึ่งอัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา ได้ดำรัสว่า

«يَـقُولُ اللهُ تَعَالَى: أَنَا عِنْدَ ظَنِّ عَبْدِي بِي، وَأَنَا مَعَهُ إذَا ذَكَرَنِي، » [البخاري برقم 7405، ومسلم برقم 2675]

ความว่า “อัลลอฮฺได้ดำรัสว่า แท้จริง ข้าจะอยู่ ณ ที่บ่าวของข้าที่เขาได้คาดคิดต่อข้า (กล่าวคือ ถ้าบ่าวขออภัยโทษอัลลอฮฺก็จะให้อภัย, ถ้าบ่าวขอความช่วยเหลืออัลลอฮฺก็จะให้ความช่วยเหลือ, ถ้าบ่าวขอดุอาอ์อัลลอฮฺจะตอบรับคำขอนั้น เป็นต้น) และข้าจะอยู่กับเขาเมื่อเขารำลึกถึงข้า (อัลลอฮฺจะทรงรับฟังในสิ่งที่บ่าวได้รำลึกถึงพระองค์ทั้งด้วยลิ้นและหัวใจ)” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 7405 และมุสลิม หมายเลข 2675)

 

          วาญิบที่จะต้องผนวกรวมระหว่างความกลัวและความหวังไว้ด้วยกัน ซึ่งสภาพของบ่าวคนหนึ่งที่จะมีความสมบูรณ์มากที่สุดนั้นคือการที่เขาได้มีความรักต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา พร้อมๆ กับการที่เขามีความกลัวและความหวังอย่างพอเหมาะพอควร ซึ่งสภาพเช่นนี้คือสภาพของบรรดานบี อะลัยฮิมุศเศาะลาตุวัสลลาม และบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวถึงพวกเขาว่า

﴿إِنَّهُمۡ كَانُواْ يُسَٰرِعُونَ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِ وَيَدۡعُونَنَا رَغَبٗا وَرَهَبٗاۖ وَكَانُواْ لَنَا خَٰشِعِينَ ٩٠ ﴾ [الانبياء: ٩٠] 

ความว่า “แท้จริงพวกเขา(บรรดานบีทั้งหลาย) ต่างแข่งขันกันในการทำความดีและพวกเขาวิงวอนเราด้วยความหวังในความเมตตาของเรา และด้วยความกลัวต่อการลงโทษของเรา และพวกเขาเป็นผู้ถ่อมตัวเกรงกลัวต่อเรา” (สูเราะฮฺอัล-อัมบิยาอ์ : 90)

 

            และอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสอีกว่า

﴿ تَتَجَافَىٰ جُنُوبُهُمۡ عَنِ ٱلۡمَضَاجِعِ يَدۡعُونَ رَبَّهُمۡ خَوۡفٗا وَطَمَعٗا وَمِمَّا رَزَقۡنَٰهُمۡ يُنفِقُونَ ١٦ ﴾ [السجدة : ١٦] 

ความว่า “สีข้างของพวกเขาเคลื่อนห่างจากที่นอน พลางวิงวอนต่อพระเจ้าของพวกเขาด้วยความกลัวและความหวัง และพวกเขาบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เป็นเครื่องยังชีพแก่พวกเขา” (สูเราะฮฺอัส-สัจญฺดะฮฺ : 16)

 

            เมื่อผู้ศรัทธาได้รู้ถึงความเมตตาของอัลลอฮฺที่ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ได้รู้ถึงเกียรติคุณของพระองค์ที่ยิ่งใหญ่อย่างล้นพ้น ได้รู้ถึงการที่พระองค์ได้ให้อภัยในความผิดบาปทั้งหลาย ได้รู้ถึงคุณค่าของสวนสวรรค์ของพระองค์ และได้รู้ถึงผลตอบแทนที่พระองค์จะประทานให้มีมากมายเพียงใด จิตใจของเขาก็จะรู้สึกปลอดโปร่งและรู้สึกสงบในความหวังและความปรารถนาต่อสิ่งที่มีอยู่ ณ ที่อัลลอฮฺ จากสิ่งที่ดีงามที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย และเมื่อผู้ศรัทธาได้รู้ถึงบทลงโทษของอัลลอฮฺที่มีความรุนแรงและเกรี้ยวกราด ได้รู้ถึงความยากลำบากในการพิพากษา ได้รู้ถึงความน่าสะพรึงกลัวของวันกิยามะฮฺ ได้รู้ถึงความร้ายกาจของไฟนรก ได้รู้ถึงรูปแบบการลงโทษชนิดต่างๆ ในไฟนรก จิตใจของเขาก็จะสยบและยอมแพ้ รวมถึงจะระมัดระวังตัวและมีความกลัว ด้วยเหตุนี้ มีหะดีษที่รายงานจากท่านอบีฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لَوْ يَعْلَمُ الْمُؤْمِنُ مَا عِنْدَ اللهِ مِنَ الْعُقُوبَةِ، مَا طَمِعَ بِجَنَّتِهِ أَحَدٌ، وَلَوْ يَعْلَمُ الْكَافِرُ مَا عِنْدَ اللهِ مِنَ الرَّحْمَةِ، مَا قَنَطَ مِنْ جَنَّتِهِ أَحَدٌ» [مسلم برقم 2755]

ความว่า “ถ้าหากผู้ศรัทธาได้รู้ถึงการลงโทษที่มีอยู่ ณ ที่อัลลอฮฺ ไม่มีผู้ใดที่จะคาดหวังสวนสวรรค์ของพระองค์อีก และหากผู้ปฏิเสธศรัทธาได้รู้ถึงความเมตตาที่มีอยู่ ณ ที่อัลลอฮฺ ก็จะไม่มีผู้ใดที่จะสิ้นหวังในสวนสวรรค์ของพระองค์เลย” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 2755)

 

            อัลลอฮฺได้ผนวกรวมเนื้อหาที่กล่าวถึงการให้อภัยของอัลลอฮฺกับการลงโทษในอัลกุรอานในหลายที่ด้วยกัน ส่วนหนึ่งจากนั้นคือ อัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา ได้ดำรัสว่า

﴿وَإِنَّ رَبَّكَ لَذُو مَغۡفِرَةٖ لِّلنَّاسِ عَلَىٰ ظُلۡمِهِمۡۖ وَإِنَّ رَبَّكَ لَشَدِيدُ ٱلۡعِقَابِ ٦ ﴾ [الرعد: ٦] 

ความว่า “และแท้จริงพระเจ้าของเจ้าเป็นผู้ทรงอภัยโทษแก่มนุษย์ต่อการอธรรมของพวกเขา และแท้จริงพระเจ้าของเจ้าเป็นผู้ทรงเข้มงวดในการลงโทษ” (สูเราะฮฺอัร-เราะอฺดุ : 6)

 

            อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสอีกว่า

﴿ ٱعۡلَمُوٓاْ أَنَّ ٱللَّهَ شَدِيدُ ٱلۡعِقَابِ وَأَنَّ ٱللَّهَ غَفُورٞ رَّحِيمٞ ٩٨ ﴾ [المائ‍دة: ٩٨] 

ความว่า “พวกเจ้าพึงรู้เถิดว่า แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้รุนแรงในการลงโทษ และแท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ทรงเอ็นดูเมตตา” (สูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ : 98)

 

            ท่านอัล-เฆาะซาลีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้รายงานจากท่านมักหูล อัด-ดิมัชกีย์ ว่า “ผู้ใดที่เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺด้วยความกลัวต่อพระองค์เพียงอย่างเดียวเขาคือ พวกหะรูรีย์ และผู้ใดที่เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺด้วยความหวังต่อพระองค์เพียงอย่างเดียวเขาคือ พวกมุรญิอีย์ และผู้ใดที่เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺด้วยความรักต่อพระองค์เดียงอย่างเดียวเขาคือ พวกซินดีก และผู้ใดที่เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺด้วยความกลัว ความหวัง และความรักต่อพระองค์ เขาคือ มุวะห์หิด สุนนีย์ (ผู้ศรัทธาที่ให้ความเป็นเอกะต่ออัลลอฮฺและเป็นผู้ที่เจริญรอยตามแบบฉบับของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)” (ดูใน อัมรอฎ อัล-กุลูบ วะชิฟาอุฮา โดยอิบนุตัยมียะฮฺ : 1/75 และมัจญฺมูอฺ อัล-ฟะตาวา โดยอิบนุตัยมียะฮฺ  : 10/81)

 

            ท่านอิมามอิบนุลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวในหนังสือ “มะดาริญุสสาลิกีน” ว่า “หัวใจที่มุ่งสู่อัลลอฮฺนั้นเปรียบดั่งนกตัวหนึ่ง กล่าวคือ ความรักคือหัวของมัน ความเกรงกลัวและความหวังคือปีกทั้งสองข้างของมัน ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่หัวและปีกทั้งสองแข็งแรงดี นกตัวนั้นก็จะบินได้ดี และเมื่อใดก็ตามที่หัวของมันขาด นกตัวนั้นก็จะตาย และเมื่อใดก็ตามที่ปีกข้างหนึ่งข้างใดของมันขาดหาย มันก็จะเป็นเป้าเล็งของนักล่าและคนไม่ดีทั้งหลาย” (1/513)

 

            อย่างไรก็ตามชาวสะลัฟนั้นชอบที่จะให้ปีกแห่งความกลัวนั้นแข็งแรงกว่าปีกแห่งความหวัง แต่เมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องจากลาโลกนี้ไปนั้นพวกเขาจะให้ปีกแห่งความหวังแข็งแรงกว่าปีกแห่งความกลัว ดังนั้น ความรักเปรียบดั่งพาหนะ ความหวังเปรียบดั่งผู้ไล่ต้อน ส่วนความกลัวเปรียบดั่งคนขี่ และอัลลอฮฺนั้น เป็นผู้มอบความโปรดปรานและเกียรติคุณต่างๆ ของพระองค์ อัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา ได้ดำรัสว่า

﴿ ۞نَبِّئۡ عِبَادِيٓ أَنِّيٓ أَنَا ٱلۡغَفُورُ ٱلرَّحِيمُ ٤٩ وَأَنَّ عَذَابِي هُوَ ٱلۡعَذَابُ ٱلۡأَلِيمُ ٥٠ ﴾ [الحجر: ٤٩،  ٥٠] 

ความว่า “จงแจ้งแก่ปวงบ่าวของข้าว่า แท้จริงข้าคือผู้อภัย ผู้เมตตาเสมอ  และแท้จริงการลงโทษของข้านั้น เป็นการลงโทษที่เจ็บแสบ” (สูเราะฮฺอัล-หิจญรฺ : 49-50)

 

بارك الله لي ولكم في القرآن العظيم، ونفعني وإياكم بما فيه من الآيات والذكر الحكيم، أقول قولي هذا وأستغفر الله العظيم لي ولكم ولسائر المسلمين من كل ذنبٍ، فاستغفروه، إنه هو الغفور الرحيم.

 

ขออัลลอฮฺทรงประทานความจำเริญที่มีอยู่ในอัลกุรอานให้แก่เราและแก่พวกท่านทั้งหลาย และขอพระองค์ทรงให้เราและพวกท่านได้รับประโยชน์ด้วยกับสิ่งที่มีอยู่ในเนื้อหาของอายะฮฺต่างๆ และคัมภีร์อันเปี่ยมด้วยวิทยปัญญานี้ ท้ายนี้ข้าพเจ้าขอสิ้นสุดการกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ เพียงเท่านี้ และข้าพเจ้าขออภัยโทษในความผิดต่างๆ ต่ออัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ให้แก่ตัวข้าพเจ้าเองและต่อพวกท่าน รวมถึงต่อบรรดาผู้ศรัทธาทุกคน ดังนั้น พวกท่านจงขออภัยโทษจากพระองค์เถิด แท้จริงพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ให้อภัยและทรงเมตตายิ่ง

 

 

 

คุฏบะฮฺที่สอง

 

الحمد لله ذي الجلال والإكرام والعِزَّة التي لا تُرام، وأشهد أن لا إله إلا الله وحده لا شريك له عزيزٌ ذو انتقام، وأشهد أن نبينا وسيدنا محمدًا عبده ورسوله المبعوثُ رحمةً للعالمين، اللهم صلِّ وسلِّم وبارِك على عبدك ورسولك محمدٍ، وعلى آله وصحبه الكرام.

การสรรเสริญทั้งหลายเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ผู้ทรงโปรดปราน ผู้ทรงเกียรติ และผู้ทรงมีพลังอำนาจที่ไม่สิ้นสุด ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีใดๆ ต่อพระองค์ พระองค์ผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงทำการลงโทษอย่างเด็ดขาด และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่านบีของเรา ผู้นำของเรา มุหัมมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์ ซึ่งถูกอุบัติขึ้นมาเพื่อนำความเมตตาสู่มนุษยชาติ ขอการสดุดีแห่งอัลลอฮฺ ความสันติสุขปลอดภัย และความจำเริญจงมีแด่บ่าวของพระองค์ ศาสนทูตของพระองค์ นั่นคือมุหัมมัด และแด่วงศ์วานของท่าน ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺผู้มีเกียรติทั้งหลาย 

อนึ่ง

ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด และจงมีความหวังในรางวัลผลตอบแทนของพระองค์ และจงกลัวต่อการลงโทษของพระองค์ และจงสดับฟังคำดำรัสของอัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา 

﴿ ٱعۡلَمُوٓاْ أَنَّ ٱللَّهَ شَدِيدُ ٱلۡعِقَابِ وَأَنَّ ٱللَّهَ غَفُورٞ رَّحِيمٞ ٩٨ ﴾ [المائ‍دة: ٩٨] 

ความว่า “พวกเจ้าพึงรู้เถิดว่า แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้รุนแรงในการลงโทษ และแท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัยโทษทรงเอ็นดูเมตตา” (สูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ : 98)

           

พวกท่านจงกลัวต่อการลงโทษของพระองค์ และจงมีความหวังในความเมตตาและรางวัลผลตอบแทนของพระองค์

            มีบันทึกในอัล-บุคอรีย์และมุสลิม จากหะดีษที่รายงานโดยท่านอัน-นุอ์มาน บินบะชีร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้เล่าว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إِنَّ أَهْوَنَ أَهْلِ النَّارِ عَذَابًا يَوْمَ الْقِيَامَةِ لَرَجُلٌ تُوضَعُ فِي أَخْمَصِ قَدَمَيْهِ جَمْرَتَانِ، يَغْلِي مِنْهُمَا دِمَاغُهُ مَا يَرَى أَنَّ أَحَدًا أَشَدُّ مِنْهُ عَذَابًا وَإِنَّهُ لَأَهْوَنُهُمْ عَذَابًا»

ความว่า “แท้จริง ชาวนรกที่ได้รับโทษเบาที่สุดในวันกิยามะฮฺ คือ ชายคนหนึ่งที่เท้าทั้งสองของเขามีก้อนหินไฟนรกแผดเผาอยู่ แต่มันรุนแรงถึงขนาดทำให้สมองของเขาเดือดพล่านไปด้วย ซึ่งผู้คนเห็นว่าไม่มีใครอีกแล้วที่ได้รับการลงโทษหนักมากไปกว่าเขา ทั้งๆ ที่เขาได้รับการลงโทษที่เบาที่สุด” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 6561 และมุสลิม หมายเลข 213)

 

และมีบันทึกในมุสลิม จากหะดีษที่รายงานโดยท่านอัล-มุฆีเราะฮฺ บินชุอฺบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«سَأَلَ مُوسَى رَبَّهُ: مَا أَدْنَى أَهْلِ الجَنَّةِ مَنْزِلَةً؟ قَالَ: هُوَ رَجُلٌ يَـجِيءُ بَـعْدَ مَا أُدْخِلَ أَهْلُ الجنَّةِ الجَنَّةَ فَيُـقَالُ لَـهُ: ادْخُلِ الجَنَّةَ، فَيَـقُولُ: أَيْ رَبِّ كَيْفَ وَقَدْ نَزَلَ النَّاسُ مَنَازِلَـهُـمْ وَأَخَذُوا أَخَذَاتِـهِـمْ؟ فَيُـقَالُ لَـهُ: أَتَرْضَى أَنْ يَكُونَ لَكَ مِثْلُ مُلكِ مَلِكٍ مِن مُلُوكِ الدُّنْيَا؟ فَيَـقُولُ: رَضِيْتُ رَبِّ، فَيَـقُولُ: لَكَ ذَلِكَ وَمِثْلُـهُ، وَمِثْلُـهُ، وَمِثْلُـهُ، وَمِثْلُـهُ، فَقَالَ فِي الخَامِسَةِ رَضِيتُ رَبِّ، فَيَـقُولُ: هَذَا لَكَ وَعَشَرَةُ أَمْثَالِـهِ، وَلَكَ مَا اشْتَـهَتْ نَفْسُكَ، وَلَذَّتْ عَيْنُكَ، فَيَـقُولُ: رَضِيْتُ رَبِّ.»  [أخرجه مسلم برقم 189]

ความว่า “ท่านนบีมูซาได้ถามพระเจ้าว่า ชาวสวรรค์ชนชั้นต่ำที่สุดเป็นอย่างไร? พระองค์ตอบว่า เขาคือชายที่มาหลังจากที่ชาวสวรรค์คนอื่นๆ ต่างถูกนำตัวเข้าไปในสวนสวรรค์หมดแล้ว แล้วเขาก็จะได้ถูกกล่าวว่า ท่านจงเข้าสวนสวรรค์ได้ เขากล่าวว่า โอ้พระเจ้าของข้า จะให้ฉันเข้าอย่างไรล่ะ เพราะคนอื่นต่างยึดครองสถานที่ของพวกเขาและจับจองสิ่งของต่างๆ ในสวรรค์หมดแล้ว? เขาจะถูกกล่าวว่า เจ้าพอใจไหมที่จะมีสถานะเหมือนกับจอมราชันย์คนหนึ่งของโลกดุนยา? เขาตอบว่า ฉันพอใจโอ้พระเจ้าของข้า พระองค์กล่าวว่า สิ่งนั้นจะมีแด่เจ้า และอีกเท่าหนึ่งของมันเช่นกัน อีกเท่าหนึ่ง อีกเท่าหนึ่ง และอีกเท่าหนึ่ง แล้วเขาก็ชิงพูดขึ้นก่อนครั้งที่ห้าว่า ฉันพอใจแล้วโอ้พระเจ้าของข้า พระองค์เลยกล่าวว่า สิ่งนี้ให้สำหรับเจ้าและอีกสิบเท่าของมัน และเจ้าจะได้ทุกสิ่งที่ใจเจ้าใฝ่ฝันและตาเจ้าอยากดู เขาจึงตอบว่า ฉันพอใจแล้วโอ้พระเจ้าแห่งข้า” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 189)

 

            ดังนั้น ความกลัวต่อการลงโทษของอัลลอฮฺ และความหวังต่อรางวัลผลตอบแทนของพระองค์ เป็นสิ่งที่ผู้ศรัทธาทุกคนต้องยึดมั่นอย่างมั่นคงตลอดเวลา โดยเฉพาะในยุคสมัยปัจจุบันที่ผู้คนมักจะมีหัวใจที่แข็งกระด้าง หลงลืม และรักในโลกดุนยา และส่วนใหญ่กล้าที่จะทำในสิ่งที่ไม่ดีและสิ่งที่เป็นบาปทั้งหลาย เขาก็ยิ่งต้องทำให้ปีกแห่งความกลัวมีความแข็งแรง ทั้งนี้ก็เพื่อให้จิตใจมีความเที่ยงตรง และเพื่อให้หัวใจมีความบริสุทธิ์ และเมื่อถึงช่วงเวลาที่เขาต้องจากลาโลกนี้ไปก็ให้เขามีความหวังอย่างเต็มเปี่ยม ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لَا يَمُوتَنَّ أَحَدُكُمْ إِلَّا وَهُوَ يُحْسِنُ الظَّنَّ بِاللهِ عَزَّ وَجَلَّ»

ความว่า “คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านอย่าได้ตาย เว้นแต่เขาจะต้องมีความนึกคิดที่ดีต่ออัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ เสียก่อน” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 2877)

 

            ความกลัวต่ออัลลอฮฺจะทำให้บุคคลหนึ่งสามารถปฏิบัติต่อสิทธิต่างๆ (คำสั่งใช้และคำสั่งห้าม) ของอัลลอฮฺได้ และจะทำให้ผู้ศรัทธาห่างไกลจากข้อบกพร่องต่างๆ ในการปฏิบัติมัน และทำให้บ่าวคนหนึ่งสามารถปิดกั้นจากการไปอธรรมหรือสร้างความบาดหมางต่อคนอื่น (ใช่แต่เท่านั้น ความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ) ยังสามารถผลักดันให้เขาปฏิบัติต่อสิทธิต่างๆ ของคนอื่น โดยไม่บกพร่องหรือละเลยต่อมัน และทำให้ผู้ศรัทธาสามารถยับยั้งจากการดำเนินการในสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาและสิ่งที่ผิดบาปทั้งหลาย รวมทั้งจะทำให้เขามีความระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิตในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นบททดสอบหรือความเพริศแพร้วต่างๆ ของมัน และจะทำให้เขามีความปรารถนาต่อโลกอาคิเราะฮฺและความผาสุกของอาคิเราะฮฺ

            และผู้ใดที่ให้ความเป็นเอกะต่ออัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา และอัลลอฮฺทรงคุ้มครองเขาจากการหลั่งเลือดเพื่อนมนุษย์ หรือการไปลิดรอนทรัพย์สินของพวกเขา หรือเกียรติยศศักดิ์ศรีของพวกเขา แน่นอนว่าเขาย่อมปลอดภัยจากความทุกข์ระทมของโลกดุนยานี้และรอดพ้นจากความหายนะในโลกอาคิเราะฮฺ รวมถึงปลอดภัยจากการลงโทษของอัลลอฮฺ ตะบาเราะกะ วะตะอาลา และแน่นอนว่าเขาจะได้รับชัยชนะด้วยการได้เข้าสวนสวรรค์ ซึ่งความผาสุกของมันนั้นไม่มีวันสูญสลายและหมดสิ้นไป

          โอ้บ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย

﴿ إِنَّ ٱللَّهَ وَمَلَٰٓئِكَتَهُۥ يُصَلُّونَ عَلَى ٱلنَّبِيِّۚ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ صَلُّواْ عَلَيۡهِ وَسَلِّمُواْ تَسۡلِيمًا ٥٦ ﴾ [الاحزاب : ٥٦] 

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺและมลาอิกะฮฺของพระองค์ได้ขอสดุดีแก่นบี โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! พวกเจ้าจงขอสดุดีให้เขาและขอความสันติสุขปลอดภัยให้เขาเถิด” (สูเราะฮฺอัล-อะหฺซาบ : 56)

           

            ดังนั้น พวกท่านจงขอทรงประทานการสดุดีและขอความสันติสุขปลอดภัยต่อผู้นำของมวลมนุษยชาติตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้ายและเป็นผู้นำของบรรดาศาสนทูตทั้งหลายเถิด

اللَّهُمَّ صَلِّ عَلَى مُحَمَّدٍ، وَعَلَى آلِ مُحَمَّدٍ، كَمَا صَلَّيتَ عَلَى إِبْرَاهِيمَ، وَعَلَى آلِ إِبْرَاهِيمَ، إِنَّكَ حَمِيدٌ مَجِيدٌ، اللَّهُمَّ بَارِكْ عَلَى مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِ مُحَمَّدٍ، كَمَا بَارَكْتَ عَلَى إِبْرَاهِيمَ وَعَلَى آلِ إِبْرَاهِيمَ، إِنَّكَ حَمِيدٌ مَجِيدٌ وسلِّم تسليمًا كثيرًا.

โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงประทานการสดุดีแด่มุหัมมัดและครอบครัวของมุหัมมัด เช่นที่พระองค์ประทานการสดุดีแด่อิบรอฮีมและครอบครัวของอิบรอฮีม แท้จริงพระองค์นั้นทรงยิ่งด้วยการสรรเสริญและบารมีอันสูงส่ง โอ้อัลลอฮฺขอทรงประทานความจำเริญแด่มุหัมมัดและครอบครัวของมุหัมมัด เช่นที่พระองค์ประทานความจำเริญแด่อิบรอฮีมและครอบครัวของอิบรอฮีม แท้จริงพระองค์นั้นทรงยิ่งด้วยการสรรเสริญและบารมีอันสูงส่ง และขอความสันติสุขปลอดภัยอย่างมากมายแก่เขาด้วยเถิด

 

اللهم وارضَ عن الصحابة أجمعين، وعن الخلفاء الراشدين، الأئمة المهديين: أبي بكر، وعمر، وعثمان، وعليٍّ، وعن سائر أصحاب نبيك أجمعين، وعن التابعين ومن تبعهم بإحسان إلى يوم الدين، اللهم وارضَ عنَّا بمنِّك وكرمك ورحمتك يا أرحم الراحمين

โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงพึงพอพระทัยต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺทุกคน และขอทรงพึงพอพระทัยต่อบรรดาเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมและบรรดาผู้นำที่อยู่ในทางนำ นั้นคือท่านอบีบักร ท่านอุมัร ท่านอุษมาน และท่านอลี ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของนบีของพระองค์ทุกคน รวมถึงบรรดากลุ่มชนที่เจริญรอยตามพวกเขารุ่นถัดจากนั้น (ตาบิอีน) และผู้ที่เจริญรอยตามพวกเขาด้วยดีตราบจนถึงวันแห่งการตัดสิน โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงพึงพอพระทัยต่อเรา ด้วยกับความโปรดปราน เกียรติคุณ และความเมตตาของพระองค์ โอ้ผู้ทรงเมตตายิ่งต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย

 

اللهم اغفر لموتانا وموتى المسلمين يا رب العالمين، اللهم ألِّف بين قلوب المسلمين وأصلِح ذات بينهم.

โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงอภัยโทษในความผิดบาปของผู้ที่ตายในหมู่พวกเรา และผู้ศรัทธาที่ตายไปแล้วทุกคน โอ้พระผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงประสานหัวใจระหว่างผู้ศรัทธาด้วยกัน และขอทรงปรับปรุงกิจการต่างๆ ระหว่างพวกเขา

 

اللهم انصر دينك وكتابك وسنة نبيك يا قوي يا عزيز.

โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงช่วยศาสนาของพระองค์ คัมภีร์ของพระองค์ และสุนนะฮฺนบีของพระองค์ด้วยเถิด โอ้ผู้ทรงมีพลัง ผู้ทรงมีอำนาจ

 

اللهم أذِلَّ البدع يا رب العالمين إلى يوم الدين

โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงทำให้อุตริกรรมทางศาสนาทั้งหลายนั้นตกต่ำจนถึงวันแห่งการตัดสินด้วยเถิด โอ้พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

 

اللهم احفظ دماء المسلمين، اللهم احفظ دماء المسلمين، اللهم احقِن دماء المسلمين، واحفظ أعراضهم وأموالهم يا رب العالمين، اللهم واكفِهم شر المُعتدين الظالمين يا رب العالمين، اللهم احفظ المسلمين في كل مكان، اللهم أعِذ المسلمين من شر الظالمين ومن عدوان الظالمين يا رب العالمين.

โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงปกป้องคุ้มครองเลือดเนื้อของบรรดาผู้ศรัทธาทุกคน โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงปกป้องคุ้มครองเลือดเนื้อของบรรดาผู้ศรัทธาทุกคน โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงรักษาเลือดเนื้อของบรรดาผู้ศรัทธาทุกคน และขอทรงปกป้องคุ้มครองเกียรติศักดิ์ศรีของพวกเขา ทรัพย์สินของพวกเขา โอ้พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงจัดการความชั่วร้ายของผู้ที่ละเมิดที่อธรรมทุกคน โอ้พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงคุ้มครองบรรดาผู้ศรัทธา ณ ดินแดนต่างๆ ด้วยเถิด โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงคุ้มครองให้บรรดาผู้ศรัทธารอดพ้นจากความชั่วร้ายของบรรดาผู้อธรรม และจากการละเมิดรุกรานของบรรดาผู้อธรรมด้วยเถิด โอ้พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

 

اللهم أطفِئ الفتن التي هبَّت على المسلمين يا رب العالمين، اللهم أطفِئها بعزٍّ للإسلام والمسلمين يا رب العالمين، وبما يُرضيك يا أرحم الراحمين، وبذلٍّ لأعداء الدين يا رب العالمين، إنك على كل شيء قدير.

โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงขจัดความวุ่นวายต่างๆ ที่ถาโถมมายังบรรดาผู้ศรัทธาทุกคนด้วยเถิด โอ้พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงขจัดมัน ด้วยกับเกียรติของอิสลามและบรรดาผู้ศรัทธาทุกคน โอ้พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก และด้วยกับสิ่งที่พระองค์ทรงพึงพอพระทัย โอ้พระผู้ทรงเมตตายิ่งต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย และขอทรงขจัดฟิตนะฮฺด้วยการทำให้ตกต่ำแก่บรรดาศัตรูของศาสนาอิสลาม โอ้พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก แท้จริงพระองค์ทรงเดชานุภาพเหนือสรรพสิ่งทั้งหลาย

 

اللهم آمِنَّا في أوطاننا، وأصلِح اللهم ولاة أمورنا.

โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงให้บ้านเมืองของเรามีแต่ความสงบสุข และขอทรงปรับปรุงแก้ไข โอ้อัลลอฮฺ พระองค์คือผู้ที่คอยดูแลกิจการของเรา

 

اللهم وفِّق خادمَ الحرمين الشريفين لما تحبُّ وترضى، اللهم وفِّقه لهُداك، واجعل عمله في رِضاك، وأعِنْه على ما يُرضيك وما فيه صلاحُ الإسلام والمسلمين يا رب العالمين، اللهم وفِّق نائبَيْه لما تحب وترضى، ولما فيه العزُّ للإسلام يا أرحم الراحمين.

โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงสนับสนุนผู้รับใช้มัสญิดอัลหะรอมที่มีเกียรติทั้งสองตามที่พระองค์ทรงปรารถนาและพึงพอพระทัยด้วยเถิด โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงให้เขาเข้าใจในทางนำของพระองค์ และขอทรงให้การงานของเขาเป็นที่พึงพอพระทัยของพระองค์ และขอทรงช่วยเหลือเขาในสิ่งที่พระองค์ทรงพึงพอพระทัย และในสิ่งที่ทำให้อิสลามและบรรดาผู้ศรัทธาได้รับประโยชน์ โอ้พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงสนับสนุนตัวแทนทั้งสองของเขาตามที่พระองค์ทรงปรารถนาและพึงพอพระทัย และในสิ่งที่ทำให้อิสลามมีเกียรติ โอ้พระผู้ทรงเมตตายิ่งต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย

 

اللهم أغِثنا، اللهم أعِذنا من شرور أنفسنا ومن سيئات أعمالنا، وأعِذنا من شر كل ذي شرٍّ يا رب العالمين، اللهم أعِذنا وذرياتنا من إبليس وذريته وجنوده وشياطينه، اللهم أعِذ المسلمين من إبليس وذريته وشياطينه يا رب العالمين، إنك على كل شيء قدير.

โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงประทานความชุ่มฉ่ำแก่เรา โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงคุ้มครองให้เรารอดพ้นจากความชั่วร้ายของเรา และจากความเลวร้ายของการงานของเราด้วยเถิด และขอทรงคุ้มครองเราให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายของบรรดาผู้ชั่วร้ายทั้งหมด โอ้พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก  โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงคุ้มครองเราและครอบครัวของเรา ให้รอดพ้นจากอิบลีส ครอบครัวของมัน สมุนของมัน และชัยฏอนทั้งหลายด้วยเถิด โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงคุ้มครองบรรดาผู้ศรัทธาให้รอดพ้นจากอิบลีส ครอบครัวของมัน และชัยฏอนทั้งหลายด้วยเถิด โอ้พระผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก แท้จริงพระองค์ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง

 

﴿رَبَّنَآ ءَاتِنَا فِي ٱلدُّنۡيَا حَسَنَةٗ وَفِي ٱلۡأٓخِرَةِ حَسَنَةٗ وَقِنَا عَذَابَ ٱلنَّارِ ٢٠١ ﴾ [البقرة: ٢٠١] 

ความว่า “โอ้พระผู้อภิบาลของเรา ขอทรงโปรดประทานให้แก่พวกเรา ซึ่งสิ่งดีงามในโลกนี้ และสิ่งดีงามในโลกหน้า และขอทรงโปรดคุ้มครองเราให้พ้นจากลงโทษแห่งไฟนรกด้วยเถิด” (สูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ : 201)

 

โอ้บ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย

﴿ ۞إِنَّ ٱللَّهَ يَأۡمُرُ بِٱلۡعَدۡلِ وَٱلۡإِحۡسَٰنِ وَإِيتَآيِٕ ذِي ٱلۡقُرۡبَىٰ وَيَنۡهَىٰ عَنِ ٱلۡفَحۡشَآءِ وَٱلۡمُنكَرِ وَٱلۡبَغۡيِۚ يَعِظُكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَذَكَّرُونَ ٩٠ وَأَوۡفُواْ بِعَهۡدِ ٱللَّهِ إِذَا عَٰهَدتُّمۡ وَلَا تَنقُضُواْ ٱلۡأَيۡمَٰنَ بَعۡدَ تَوۡكِيدِهَا وَقَدۡ جَعَلۡتُمُ ٱللَّهَ عَلَيۡكُمۡ كَفِيلًاۚ إِنَّ ٱللَّهَ يَعۡلَمُ مَا تَفۡعَلُونَ ٩١ ﴾ [النحل: ٩٠،  ٩١] 

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงใช้ให้รักษาความยุติธรรมและทำดีและการบริจาคแก่ญาติใกล้ชิดและให้ละเว้นจากการทำลามกและการชั่วช้าและการอธรรม พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจักได้รำลึก  และพวกเจ้าจงปฏิบัติให้ครบตามพันธะสัญญาของอัลลอฮฺ เมื่อพวกเจ้าได้ให้สัญญาไว้ และพวกเจ้าอย่าได้ทำลายคำสาบานหลังจากได้ยืนยันมัน ซึ่งพวกเจ้าได้ตั้งอัลลอฮฺเป็นพยานแก่พวกเจ้าแล้ว แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (สูเราะฮฺอัน-นะหฺล์ : 90-91)

 

واذكروا الله العظيم الجليل يذكركم، واشكروه على نعمه يزِدكم، ولذكر الله أكبر، والله يعلم ما تصنعون.

และพวกท่านจงรำลึกถึงอัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงโปรดปรานเถิด แล้วพระองค์ก็จะรำลึกถึงพวกท่าน และพวกท่านจงขอบคุณ (ชุกูร) ในความโปรดปรานต่างๆ ที่พระองค์ทรงประทานเถิด แล้วพระองค์ก็จะเพิ่มพูนให้มากขึ้นแก่พวกท่าน และการรำลึกของอัลลอฮฺนั้นยิ่งใหญ่กว่า และอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้ในสิ่งที่พวกท่านได้กระทำ

 

 

......................................................................

 

แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ

 

ตรวจทานโดย : ทีมงานภาษาไทยเว็บอิสลามเฮ้าส์

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/722205

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).