โลกสูญเสียอะไรจากความตกต่ำของประชาชาติมุสลิม

"หนังสือ โลกสูญเสียอะไรจากความตกต่ำของประชาชาติมุสลิม  เขียนโดยท่านซัยยิด อะบู อัลหะซัน อาลี อัล-นัดวีย์ นับเป็นหนังสือทรงคุณค่าที่สุดที่ศึกษาวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวเท่าที่ข้าพเจ้าเคยอ่านมานับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ... มุสลิมทุกคนซึ่งอ่านหนังสือเล่มนี้ ย่อมรู้สึกเศร้าโศกเสียใจต่อความบกพร่องของตนเองในอดีต แต่ในขณะเดียวกัน ก็สามารถปลุกเร้าวิญญาณแห่งความรู้สึกเป็นเกียรติต่อ สิ่งที่ได้รับ และวิญญาณแห่งความมุ่งมั่นใฝ่หาภาวะการนำที่สูญเสียไป" (คำนิยมโดย ... ซัยยิด กุฏบ์)

"แท้จริง การอ่านหนังสือเล่มนี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนซึ่งทำงานเพื่อกอบกู้เกียรติภูมิของอิสลาม" (ดร.มุหัมมัด มูซา)


 

ข้อมูลพื้นฐาน

ชื่อหนังสือ โลกสูญเสียอะไรจากความตกต่ำของประชาชาติมุสลิม

ผู้เขียน ซัยยิด อะบู อัลหะซัน อาลี อัล-นัดวีย์

ผู้แปล นัศรุลลอฮฺ หมัดตะพงศ์

บรรณาธิการ มัสลัน มาหะมะ

ตรวจทาน อนัส แสงอารี

 

คลิกที่ลิงก์เนื้อหาด้านล่างเพื่ออ่านรายละเอียดแต่ละหัวข้อ ...

 

คำนิยมโดย ซัยยิด กุฏบ์

สิ่งที่เป็นความต้องการสูงสุดของประชาชาติมุสลิมในภาวะปัจจุบันคือต้องการบุคคลที่สามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นต่อตนเอง และทำให้พวกเขารู้สึกวางใจและภูมิใจในอดีต พร้อมปลุกความหวังอันเต็มเปี่ยมต่ออนาคตข้างหน้า ต้องการผู้เชิญชวนพวกเขาให้เกิดความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อศาสนาที่นับถืออยู่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พวกเขายังคงสับสนและไม่เข้าถึงแก่นสารของศาสนา เพราะพวกเขาเป็นเพียงมุสลิมด้วยการสืบทอดทางทายาทมากกว่าด้วยการศึกษาเข้าใจอิสลามอย่างแท้จริง

หนังสือ “โลกสูญเสียอะไรจากความตกต่ำของประชาชาติมุสลิม” เขียนโดยท่านซัยยิด อะบู อัลหะซัน อาลี อัล-นัดวีย์ นับเป็นหนังสือทรงคุณค่าที่สุดที่ศึกษาวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าว เท่าที่ข้าพเจ้าเคยอ่านมานับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

อิสลามเป็นหลักความเชื่อหรืออะกีดะฮฺที่นำพาซึ่งความสูงส่ง ส่วนหนึ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของศาสนานี้ คือสามารถปลูกฝังความรู้สึกภูมิใจที่มิใช่หยิ่งยโสขึ้นในจิตวิญญาณผู้ศรัทธา วิญญาณของความเชื่อมั่นที่ไม่ประมาทเลินเล่อ และความรู้สึกสงบใจที่ไม่เผอเรอ เป็นคำสอนที่สามารถปลูกฝังให้เกิดจิตสำนึกต่อพันธกิจอันพึงปฏิบัติต่อมนุษยชาติ นั่นคือหน้าที่แห่งการกำชับสั่งเสียมนุษย์ทั้งหลายบนโลกนี้ทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก หน้าที่แห่งการนำกลุ่มชนต่าง ๆ ในโลกที่กำลังหลงระหน พร้อมชี้นำพวกเขาสู่ศาสนาอันมั่นคงและหนทางอันเที่ยงตรง เป็นศาสนาที่สามารถปลดปล่อยพวกเขาออกจากความมืดมนสู่แสงสว่างที่อัลลอฮฺทรงประทานมาพร้อมอาทิตย์อุทัยแห่งทางนำและสิ่งชี้ขาดระหว่างสัจธรรมและความมดเท็จ
“พวกท่านทั้งหลายคือประชาชาติที่ดีเลิศ ที่ถูกอุบัติขึ้นมาเพื่อมนุษยชาติทั้งหลาย โดยพวกท่านกำชับใช้ในสิ่งที่ชอบ(คุณธรรม) และหักห้ามจากสิ่งที่มิชอบ(ความชั่วช้า)ทั้งหลาย และพวกท่านมีความศรัทธาเชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺ...” (บทอาลิอิมรอน , 3 : 110 )
“และทำนองนั้น เรา(อัลลอฮฺ)ได้ทำให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติมัชฌิมา(สายกลาง) เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นประจักษ์พยานแก่มนุษยชาติทั้งหลาย และท่านเราะซูล(คือมุฮัมมัด)เป็นประจักษ์พยานแก่พวกเจ้า” (บท อัล-บะเกาะเราะฮฺ, 2 : 143)
หนังสือในมือข้าพเจ้านี้ สามารถปลุกเร้าความหมายทั้งหมดนี้ในจิตสำนึกของผู้อ่าน และทำให้ความเข้าใจในอัตลักษณ์ของอิสลามกลับฟื้นคืนชีพในก้นบึ้งของหัวใจได้ หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงให้ความสำคัญต่อการปลุกจิตสำนึก หรือสร้างความรู้สึกภูมิใจในศาสนาเท่านั้น ทว่าเป็นบทวิเคราะห์อันสุขุมและอุดมด้วยเหตุผล การนำเสนอของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นทั้งภาคทฤษฏี ความรู้สึก สติปัญญาและจิตสำนึกที่ผสมผสานอย่างกลมกลืน เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเที่ยงธรรมและเป็นที่ประจักษ์ วิเคราะห์เจาะลึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่นำเสนออย่างครบถ้วนตามความจริงที่ปรากฏและมีเหตุมีผลยิ่ง ทำให้ประเด็นทั้งหมด ได้รับการนำเสนออย่างมีระบบทั้งในการอธิบายเรื่องราวและการสอดแทรกเนื้อหา ปราศจากการเสแสร้ง หรือเบี่ยงเบน ใด ๆ ทั้งในบทนำหรือบทสรุป นี่คือคุณสมบัติพิเศษประการแรกของหนังสือเล่มนี้


ช่วงเริ่มต้น หนังสือนี้ได้วาดภาพอย่างคร่าว ๆ แต่ชัดเจนมากถึงภาพ เล็ก ๆ ภาพหนึ่งของโลกก่อนที่แสงอันแจ่มจรัสของอิสลามจะทอแสงเรืองรองขึ้นมาในตอนแรก เป็นการฉายภาพของโลกทั้งในตะวันออก ตะวันตก เหนือและใต้ นับตั้งแต่อินเดีย จีน จรดถึงเปอร์เซียและโรมัน ทั้งด้านสังคมและด้านจิตใจในโลกที่ปรากฏ ในบริบทของสังคมที่ผู้คนทั้งหลายนับถืออยู่ภายใต้ร่มเงาและอิทธิพลของบรรดาศาสนาแห่งฟากฟ้าเช่นศาสนายูดายและคริสต์ ตลอดถึงสังคมที่อยู่ภายใต้ลัทธิศาสนาบูชาเจว็ดต่าง ๆ เช่นฮินดู พุทธและโซโรเอสเตอร์ เป็นต้น


เป็นหนังสือที่อธิบายภาพรวม ที่ผู้เขียนพยายามเสนอให้เห็นแง่มุม ต่าง ๆ ของโลก พร้อมอธิบายอย่างชัดเจนโดยปราศจากการบิดเบือนและอารมณ์อคติ แต่ได้อาศัยอ้างอิงทัศนะของบรรดานักวิจัย นักประวัติศาสตร์ทั้งหลายนับจากอดีตและร่วมสมัยซึ่งส่วนหนึ่งเป็นชนต่างศาสนิกรวมอยู่ด้วย จึงปราศจากซึ่งข้อครหาที่อาจส่อว่าเอื้อประโยชน์ใด ๆ ต่อทั้งตัวผู้เขียนเองโดยตรง และต่อช่วงเวลาที่เป็นไปในโลกครั้งอดีต


ผู้เขียนได้วาดภาพของโลกที่กำลังถูกครอบงำโดยวิญญาณของ “ญาฮิลียะฮฺ” หรือวิถีชีวิตที่เบี่ยงเบนจากสัจธรรม จนทำให้จิตใจและวิญญาณของโลกต้องเน่าเหม็นไป ค่านิยมและตัวชี้วัดต่าง ๆ ของมันต้องบิดเบี้ยว ถูกครอบงำด้วยอำนาจอธรรมและการตกเป็นทาส ถูกพัดเหวี่ยงไปตามกระแสของความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยอันเลวทราม และการลิดรอนที่ชั่วร้าย ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันแห่งการปฏิเสธพระเจ้า ความหลงผิดและมืดมน แม้นมีศาสนายูดายหรือคริสต์อยู่ในสมัยนั้น แต่ทั้งหมดล้วนตกอยู่ในสภาพถูกบิดเบือนและอ่อนแอเต็มที จนมิอาจมีอิทธิพลเหนือจิตใจผู้คนได้อีกต่อไป ศาสนาได้กลายสภาพไม่ต่างอะไรกับวัตถุธาตุ ที่ไร้ชีวิตและวิญญาณ โดยเฉพาะศาสนาคริสต์


หลังจากฉายภาพด้าน “ญาฮิลียะฮฺ” ของโลกผ่านไป ผู้เขียนได้นำเสนอบทบาทของอิสลามที่มีต่อชีวิตมนุษยชาติ บทบาทแห่งการปลดปล่อยจิตวิญญาณของพวกเขาจากจินตนาการที่ผิด ๆ และความคร่ำครึ จากความเป็นทาส และขี้ข้า ความเสื่อมทรามฟอนเฟะ ความสกปรกโสมม และไร้ศีลธรรม บทบาทแห่งการปลดปล่อยสังคมมนุษย์จากอำนาจของความอธรรมและทรราช จากความแตกแยก ล่มสลาย การวางมนุษย์บนขั้นบันไดทางสังคม การกดขี่ของนักเผด็จการ และการหลอกลวงของพวกพ่อมดหมอผี ผู้เขียนได้นำเสนอบทบาทของอิสลามต่อการรังสรรค์สังคมโลกบนรากฐานของความมีศีลธรรม บริสุทธิ์ มีทัศนคติเชิงบวก มีความคิดสร้างสรรค์ เสรีภาพและการพัฒนาเปลี่ยนแปลง บนรากฐานของการศึกษา ความเชื่อมั่นไว้ใจ ความศรัทธา ความยุติธรรมและเกียรติยศ และบนรากฐานการทำงานอย่างมุ่งมั่นใฝ่สัมฤทธิ์เพื่อการพัฒนาและความเจริญงอกงามของชีวิต พร้อมหยิบยื่นสิทธิต่าง ๆ ในชีวิตแก่ผู้พึงได้รับ


ทั้งหมดนั้น ได้เกิดขึ้นแล้ว ณ ห้วงเวลาที่อำนาจเคยตกเป็นของอิสลามในทุกแห่งหน หรือห้วงเวลาที่อิสลามสามารถเข้าไปมีบทบาทได้ เพราะอิสลามย่อมมิอาจแสดงบทบาทใด ๆ อย่างเต็มที่ได้ นอกจากในยามที่มีอำนาจอยู่ในมือเท่านั้น เนื่องจากธรรมชาติของอิสลามนั้น เป็นหลักความเชื่อ(อะกีดะฮฺ) ที่นำไปสู่ความสูงส่ง เป็นระบบการปกครองที่ต้องอาศัยทักษะการนำ และเป็นบทบัญญัติที่เรียกร้องผู้คนให้สร้างนวตกรรมใหม่ ๆ มิใช่สักแต่คล้อยตามอย่างปิดหูปิตา


ต่อมา หนังสือเล่มนี้ได้พูดถึงยุคสมัยที่อิสลามสูญเสียอำนาจไป เนื่องความตกต่ำของประชาชาติมุสลิมเอง จนทำให้บทบาทการเป็นผู้นำที่ศาสนานี้ได้เคยมอบหมายให้ต้องสูญสิ้น ภารกิจต่าง ๆ อันพึงมีต่อมนุษยชาติได้หลุดลอยไป และความรับผิดชอบในทุกมิติของชีวิต ก็อันตรธานหายไป
ณ ที่นี้ ผู้เขียนได้แจกแจงสาธยายถึงสาเหตุความตกต่ำทั้งด้านจิตวิญญาณและด้านวัตถุ อธิบายถึงสภาพที่ประชาชาติมุสลิมประสบเมื่อพวกเขาไร้อุดมการณ์ทางศาสนา ผละตัวจากพันธกิจที่พึงรับผิดชอบ ตลอดถึงสิ่ง ต่าง ๆ ที่โลกโดยรวมต้องประสบเมื่อมุสลิมสูญเสียอำนาจแห่งการเป็นผู้นำอันเที่ยงธรรมไป โลกมีอาการทรุดหนักจนต้องกลับคืนสู่สภาพ “ญาฮิลียะฮฺ” อันดั้งเดิมอีกครั้ง ผู้เขียนยังวาดให้เห็นถึงเส้นกราฟแห่งความตกต่ำอย่างน่ากลัว ที่มนุษยชาติกำลังติดหลุมพรางอยู่ แม้นในห้วงเวลาที่วิทยาการและศาสตร์ความรู้ด้านต่าง ๆ มีความก้าวหน้าและได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างกว้างขวางก็ตาม ท่านวาดเส้นกราฟดังกล่าวโดยอาศัยการศึกษาวิเคราะห์ที่ละเอียดยิ่ง มิใช่เป็นการด่วนสรุปหรืออธิบายอย่างผิวเผิน แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนนำเสนอนั้น ล้วนเป็นที่ประจักษ์โดยชัดเจนทั้งสิ้น


ในเนื้อหาที่นำเสนอ ท่านผู้อ่านสามารถสัมผัสได้ถึงความจำเป็นที่มนุษยชาติต้องเปลี่ยนแปลง “อำนาจแห่งการนำ” เสียใหม่ และนำกลับคืนสู่อิสลามอันเป็นทางนำเดียวที่สามารถทอแสงเรืองรองขึ้นมาเพื่อปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความมืดมนสู่แสงสว่าง จากความเป็นญาฮิลียะฮฺสู่ความรู้แจ้ง แล้วผู้อ่านจะรู้สึกได้ถึงคุณค่าอันบริบูรณ์ของการมีอยู่ของอำนาจดังกล่าวในโลก และรู้สึกได้ว่า เป็นความสูญเสียอันมหาศาลเพียงใดที่โลกทั้งหลายต้องประสบนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ตลอดถึงอนาคตอันใกล้และไกลอีกด้วย ซึ่งแน่นอนที่สุด ผลกระทบของความสูญเสียดังกล่าวนั้น มิใช่จำกัดเพียงแต่ในแวดวงสังคมมุสลิมเท่านั้น


มุสลิมทุกคนซึ่งอ่านหนังสือเล่มนี้ ย่อมรู้สึกเศร้าโศกเสียใจต่อความบกพร่องของตนเองในอดีต แต่ในขณะเดียวกัน ก็สามารถปลุกเร้าวิญญาณแห่งความรู้สึกเป็นเกียรติต่อสิ่งที่ได้รับ และวิญญาณแห่งความมุ่งมั่นใฝ่หาภาวะการนำที่สูญเสียไป


ประการหนึ่งที่สังเกตพบคือ บ่อยครั้งผู้เขียนอธิบายสภาพความเสื่อมทรามที่ปกคลุมมนุษยชาติไว้นับตั้งแต่มุสลิมไม่อาจรักษา “อำนาจแห่งการนำ” ไว้ได้ว่าเป็น “ญาฮิลียะฮฺ” ซึ่งเป็นการอธิบายที่ชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของผู้เขียนต่อเส้นแบ่งอันดั้งเดิมระหว่างวิญญาณของอิสลามกับวิญญาณแบบวัตถุนิยมที่เคยปกครองโลกไว้ก่อนหน้านี้ และมันได้กลับมาปกครองโลกอีกในปัจจุบัน หลังจากอิสลามต้องสูญเสียอำนาจไป มันคือ “ญาฮิลียะฮฺ” ตามธรรมชาติอันดั้งเดิม เพราะ ญาฮิลียะฮฺมิได้หมายถึงเฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ทว่ามันคือธรรมชาติหนึ่งทางจิตวิญญาณ และความคิด เป็นธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นเพียงเพื่อทำลายให้ค่านิยมพื้นฐานของชีวิตมนุษยชาติที่พระเจ้าทรงประสงค์ต้องสูญหายไป เพื่อแทนที่ด้วยค่านิยมอื่นที่ใฝ่ตัณหาอารมณ์ชั่วแล่น และนี่คือสิ่งที่กำลังประสบอยู่ในสังคมมนุษย์ปัจจุบัน ที่บรรลุถึงขั้นสูงสุดของความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ดั่งที่เคยเป็นมาแล้วในยุคป่าเถื่อนครั้งอดีต ฉันใดฉันนั้น


พันธกิจของประชาชาติมุสลิม จึงหมายถึงการเรียกร้องเชิญชวนสู่พระผู้เป็นเจ้า ศานทูตของพระองค์และการเชื่อมั่นต่อวันปรโลก(วันอาคิเราะฮฺ) ขณะที่รางวัลก็คือสามารถหลุดพ้นจากความมืดมนต่าง ๆ สู่แสงสว่าง จากการบูชากราบไหว้มนุษย์ด้วยกัน สู่การเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ พระเจ้าที่เที่ยงแท้องค์เดียว จากความคับแคบของโลกสู่ความกว้างขวางของมัน จากความชั่วร้ายของลัทธิศาสนาต่าง ๆ สู่ความยุติธรรมของอิสลาม ความดีงามของสาสน์นี้จึงเป็นที่ประจักษ์ชัด และสามารถเข้าใจได้โดยง่ายในยุคสมัยนี้ยิ่งกว่ายุคไหน ๆ เสียอีก ในขณะที่ความเป็นญาฮิลียะฮฺต้องถูกประจาน เพราะความชั่วช้าของมันปรากฏขึ้นแล้วในสังคม และนับวันผู้คนทั้งหลายต่างก็เอือมระอามันอย่างสุดทน นี้คือปรากฏการณ์ที่ส่งสัญญาณว่า โลกกำลังจะหลุดพ้นจากอำนาจของ ญาฮิลียะฮฺสู่อำนาจของอิสลามอีกครั้ง หากโลกมุสลิมตื่นตัวหรือพัฒนา และปกปักษ์รักษาสาสน์นี้เอาไว้อย่างบริสุทธิ์ใจ จริงจัง และมุ่งมั่น พร้อมยึดถือมันเยี่ยง “สาสน์เดียวที่สามารถช่วยเหลือโลกให้รอดพ้นจากความหายนะและความวิบัติได้” ดังที่ผู้เขียนกล่าวเอาไว้ตอนท้ายของหนังสือ


และสุดท้าย จุดเด่นของหนังสือนี้ทั้งหมดยังแสดงถึงความเข้าใจอันลึกซึ้งต่อองค์รวมของวิญญาณอิสลามในบริบทอันครอบคลุม ด้วยประการดังกล่าว หนังสือเล่มนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นแบบอย่างหนึ่งของงานวิจัยทางศาสนศาสตร์และสังคมศาสตร์ หากในมุมมองของอิสลามแล้ว ยังเป็นต้นแบบของประวัติศาสตร์ที่พึงถูกเขียนขึ้นเลยทีเดียว


ขณะที่ชาวยุโรปเขียนประวัติศาสตร์ไว้จากมุมมองของตะวันตก โดยอาศัยร่องรอยของวัฒนธรรมแบบวัตถุนิยม และปรัชญาแบบวัตถุนิยม อาศัยร่องรอยของความนิยมต่อตะวันตก และความคลั่งไคล้ต่อศาสนาของตนเอง (ทั้งนี้โดยรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม) ด้วยเหตุดังกล่าวประวัติศาสตร์ของพวกเขาจึงอุดมไปด้วยความผิดพลาดและแฝงด้วยสิ่งบิดเบือนมากมาย เนื่องจากมองข้ามคุณค่าอื่นๆในชีวิตอีกมากมายไป เพราะหากปราศจากสิ่งเหล่านี้ประวัติศาสตร์ของชีวิตย่อมมิอาจสมบูรณ์ขึ้นได้ การอธิบายเหตุการณ์หรือผลลัพธ์ต่าง ๆ ก็จะผิดเพี้ยนและถูกบิดเบือนไป ด้วยความรู้สึกชาตินิยม ทำให้พวกเขามองยุโรปเป็นดั่งแกนหลักหรือศูนย์กลางของโลกอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน ก็หลงลืมปัจจัยอื่น ๆ ที่เคยมีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ หรือมองข้ามสิ่งเหล่านั้นไปเพียงเพราะมันมิได้มาจากชาวยุโรปเช่นพวกตน


เราค่อย ๆรับเอาประวัติศาสตร์ไปจากยุโรปทีละนิดทีละน้อย เช่นเดียวกับที่ได้รับเอาสิ่งอื่น ๆ มาก่อนหน้านี้ พร้อมกันนั้นยังรับเอาความผิดพลาดของพวกเขาติดไปด้วย นั่นคือความผิดพลาดในแนวทางเนื่องจากมองข้ามคุณค่าและปัจจัยต่าง ๆ และความผิดพลาดในมโนทัศน์เนื่องจากการมองเพียงด้านหนึ่งของชีวิต ความผิดพลาดในผลลัพธ์จึงเกิดขึ้นตามมาเนื่องมุมมองและทัศนคติที่ผิดพลาดข้างต้น


หนังสือเล่มนี้จึงเป็นแบบอย่างหนึ่งอันดียิ่งสำหรับการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ผนวกรวมประเด็นศึกษาวิเคราะห์สิ่งทั้งหลาย มีการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้านและให้ความสำคัญกับคุณค่าอันหลากหลายที่มีอยู่ บางทีท่านผู้อ่านไม่มีความจำเป็นใด ๆ (หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้ - ผู้แปล)ที่จะไปคาดหวังหรือรอคอยจากมุสลิมคนใดคนหนึ่งซึ่งเชื่อมั่นต่อวิญญาณอิสลามอันเข้มแข็ง และพยายามกอบกู้อำนาจของอิสลามกลับคืนมา เพื่อให้เขาอธิบายถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของการเป็นผู้นำ เพราะหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการสร้างความพร้อมด้านจิตวิญญาณควบคู่กับการสร้างความพร้อมด้านอุตสาหกรรมและสงคราม อธิบายเรื่องการจัดระบบองค์ความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ พร้อมกับการเป็นเอกราชทางการค้าและการเงิน


หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ของชีวิตที่ครอบคลุมและรอบด้าน และบนพื้นฐานนั้น ผู้เขียนได้เริ่มบันทึกประวัติศาสตร์เคียงคู่กับให้ข้อเสนอแนะแก่ประชาชาติมุสลิม ด้วยเหตุดังกล่าว หนังสือเล่มนี้จึงเป็นต้นแบบงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่มุสลิมทุกคนต้องอ่านโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยงานเขียนตามแนวของชาวตะวันตก ซึ่งมักขาดมุมมองที่สมบูรณ์ แฝงด้วยความรู้สึกอคติ และขาดการศึกษาวิเคราะห์อย่างถูกต้อง


ข้าพเจ้ารู้สึกยินดียิ่งที่ได้กล่าวถึงความรู้สึกดังกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ และได้ร่วมบันทึกในเหตุการณ์ด้วย ข้าพเจ้าโชคดีมากที่มีโอกาสอ่านมันในต้นฉบับภาษาอาหรับ อันเป็นภาษาที่ผู้เขียนภูมิใจในการนำเสนอและภูมิใจให้มีการพิมพ์เผยแพร่ในประเทศอียิปต์เป็นครั้งที่ 2
“แท้จริงในประการดังกล่าว ย่อมเป็นข้อเตือนสติที่ดียิ่งสำหรับบุคคลผู้มีจิตใจ หรือรับฟัง และพร้อมเป็นประจักษ์พยาน”

- ซัยยิด กุฏบ์ -

คำนิยมโดย ดร. มุฮัมมัด ยูซุฟ มูซา

การติดต่อเชื่อมโยงระหว่างฟากฟ้าเบื้องบนกับโลกหล้าเพื่อปฏิบัติภารกิจแห่งสาสน์หนึ่งของเอกองค์อัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงสุด ที่ถูกส่งมายังปวงบ่าวผู้ต้องการทางนำและการชี้แนะจากพระองค์ นับเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่สำคัญยิ่ง และเป็นสิ่งเหนือกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติทั่วไปที่รูปแบบมักถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากในภาวะคับขันหรือเพื่อเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญที่สุดตามความประสงค์ของพระเจ้าผู้ทรงพลานุภาพและทรงรอบรู้ยิ่งเท่านั้น เพราะปรากฏการณ์ใด ๆ ในโลกนี้ จะไม่เกิดขึ้น เว้นแต่มีสาเหตุที่มาที่ไปและมีเป้าหมายที่ซ่อนเร้นอยู่เสมอ


การปรากฏขึ้นของอิสลามก็เฉกเช่นเดียวกัน นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดที่โลกเคยประสบพบเห็น ซึ่งย่อมมีสาเหตุอันชัดเจน และเป้าหมายที่ถูกกำหนดอยู่อย่างแน่นอน


ความจริง เราไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสาเหตุใด ๆ สำหรับการกำเนิดของอิสลามแม้แต่น้อย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าโลกในขณะนั้นได้สูญเสียอัตลักษณ์ของสังคมที่มีคุณธรรมและศาสนาอันถูกต้องไปเสียหมดสิ้น และคงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเป้าหมายการมีมาของอิสลาม ตลอดถึงภารกิจของนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาบรรพชนมุสลิมในยุคแรกที่ต่างมุ่งมั่นใฝ่สัมฤทธิ์ ซึ่งได้ทำให้โลกได้พบกับความสุขสันต์อย่างยาวนานมาแล้ว ทุกอย่างนั้นย่อมเป็นที่ทราบดี ฉะนั้นการกล่าวถึงเรื่องนี้จึงถือเป็นการขุดคุ้ยเรื่องเดิม ๆ ก็ว่าได้ และสำหรับข้าพเจ้าแล้ว คงไม่มีคำกล่าวใดที่รู้สึกมีความสุขยิ่งเหมือนเช่นคำกล่าวที่ข้าพเจ้าจะเขียนไว้เพื่อเป็นคำนิยมให้กับหนังสือเล่มนี้ ทั้งนี้เพื่อตอบรับคำร้องขอของผู้เขียน คือท่านอุซตาดซัยยิด อะบู อัลหะซัน อาลี อัล-นัดวีย์ บุคคลผู้ถือเป็นนักเผยแผ่อิสลามระดับแนวหน้าท่านหนึ่งในยุคสมัยที่เรามีชีวิตอยู่นี้


ความจริงแล้ว หนังสือเล่มนี้แทบไม่ต้องมีคำนิยมใด ๆ อีก เพราะเป็นหนังสือที่ได้รับตอบรับอย่างดียิ่งจากบรรดาผู้อ่าน และได้รับเกียรติพิเศษชนิดที่ไม่มีหนังสือเกี่ยวกับอิสลามเล่มใดในยุคปัจจุบันทำได้ แต่เพราะความนอบน้อมและสุภาพอ่อนโยนของผู้เขียนผู้เปี่ยมในศรัทธา จึงขอให้ข้าพเจ้าเขียนคำนิยมนี้ให้ ข้าพเจ้าใคร่กล่าวว่า ได้อ่านหนังสือนี้ตั้งแต่พิมพ์ออกมาครั้งแรกจบทั้งเล่มแค่ไม่ถึงหนึ่งวัน รู้สึกประทับใจอย่างที่สุดถึงกับเขียนโน้ตไว้ในท้ายเล่มตอนอ่านจบว่า “แท้จริง การอ่านหนังสือเล่มนี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนซึ่งทำงานเพื่อกอบกู้เกียรติภูมิของอิสลาม” ทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะรู้จักกับผู้เขียนเสียอีก ต่อมา เมื่อมีโอกาสได้รู้จักและพูดคุยกับท่านหลายครั้ง ทำให้ข้าพเจ้าทราบว่าทำไมข้าพเจ้าจึงประทับใจหนังสือเล่มนี้ และทราบถึงความเข้าใจอิสลามอย่างถ่องแท้ของผู้เขียน การใช้ชีวิตอยู่กับอิสลาม และบริสุทธิ์ใจต่อการเผยแผ่อิสลามที่ถูกต้องของท่าน


ท่านอะบู อัลหะซันได้ถ่ายทอดถึงความโศกเศร้าอาดูรและความปวดร้าวที่เราท่านทั้งหลายต่างรู้สึกอยู่ นั่นคือการที่ประเทศมุสลิมทั้งหลายต่างพร้อมใจกันเดินตามก้นโลกตะวันตก คล้อยตามทุกอย่าง พร้อมรับเอาระบบต่าง ๆ ที่พวกเหล่านั้นเสนอมาใช้ปกครองประเทศ พอใจกับมาตรฐานตามค่านิยมที่พวกเขากำหนด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะชาวอาหรับ (รวมทั้งมุสลิมโดยรวม) ขาดความศรัทธาเชื่อมั่นต่อตัวเอง ชาติพันธุ์ ศาสนา และบรรทัดฐานของตนเอง และต่อมาตรฐานอันสูงส่งที่บรรดาบรรพบุรุษและวีรชนของพวกเขาต่างเคยปกป้องรักษา และใช้นำพาจนทำให้พวกเขาเคยทะยานสู่ตำแหน่งอันสูงส่งมาแล้วในอดีต นี่คือสาเหตุที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะสิ่งดังกล่าวคือรากเหง้าแห่งปัญหาของเรา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือสารพันปัญหาที่เรากำลังสาละวนหาหนทางแก้ไขให้สำเร็จนั้น ล้วนแล้วแต่มีอยู่ในแก่นสารของศาสนา ประวัติศาสตร์ และมรดกทั้งด้านจิตวิญญาณและด้านปัญญาอันมั่นคงของเราทั้งสิ้น และทั้งหมดนี้เองคือสิ่งที่ผู้เขียนหนังสือ “โลกสูญเสียอะไรจากความตกต่ำของประชาชาติมุสลิม” หมายถึงและได้ทุ่มเทชีวิตทั้งหมด และใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างเต็มที่


ความจริงแล้ว ปัญหาของโลกมุสลิมปัจจุบัน มิใช่เพราะขาดการเผยแผ่อิสลามสู่ชนต่างศาสนิก มิใช่เพราะคนเข้ารับนับถือศาสนามีจำนวนน้อย แต่ปัญหาเพราะมุสลิมเองหันเหจากคำสอนของอิสลาม ออกจากตะวันออกไปสู่ตะวันตกด้วยอารยธรรม มาตรฐานที่ตะวันตกได้โฆษณาและบรรทัดฐานที่พวกเขาสร้างขึ้น ต่อมาเราจึงกลายเป็นมุสลิมที่เหลือเพียงแต่ชื่อในสำมะโนครัวและภูมิลำเนาเท่านั้น เราไม่เคยนำพาอิสลามมาปฏิบัติ กระทั่งเราไม่ทราบศาสนา วัฒนธรรมของตนเองที่พึงยึดถือปฏิบัติในทุกวันนี้ เราคงไม่จำเป็นยกตัวอย่างใด ๆ อีกกับสิ่งที่เราท่านทั้งหลายต่างรับทราบและรู้เห็นกันอยู่ถึงพฤติกรรมของบรรดาผู้นำประเทศ และตัวแทนของประเทศมุสลิมที่ไปประจำอยู่ทั้งในตะวันออกและตะวันตก และบุคคลทั้งหลายที่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในฐานะผู้มีตำแหน่งหน้าที่ทางโลกทั้งในประเทศอียิปต์ และประเทศอื่น - กิจการทั้งหลายนั้นย่อมเป็นสิทธิแห่งอัลลอฮฺ ทั้งในตอนแรกและตอนสุดท้าย


พระเจ้าทรงประทานอิสลามมาเป็นดั่งสาสน์สุดท้ายของพระองค์สำหรับชาวโลก เราจึงไม่จำเป็นต้องรอคอยความสัมพันธ์ระหว่างฟากฟ้ากับโลกหล้าครั้งใหม่เพื่อชำระภาคี(ชิริก) ความหลงผิด และความเสื่อมเสียใด ๆอีกครั้ง ไม่ต้องรอคอยศาสนทูตท่านใดอีกนอกจากศาสนทูตแห่งอิสลาม (คือมุฮัมมัด) ผู้ซึ่งได้ปลดปล่อยโลกออกจากความมืดมนสู่แสงสว่างด้วยสาสน์ฉบับใหม่ ไม่ต้องรอคอยคัมภีร์อัลกุรอานเล่มใหม่เพื่อชี้นำมนุษยชาติผู้งงงวยสู่หนทางแห่งความถูกต้องและความสันติสุข แต่ทว่าอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอได้ทรงประทานเอาไว้แก่เราแล้วซึ่งคัมภีร์เล่มหนึ่ง (อัลกุรอาน)ใครก็ตามที่ยึดมั่นคัมภีร์เล่มนี้ เขาจะไม่มีวันหลงทางเป็นอันขาด และทรงมอบกฎหมายหนึ่งไว้ (คือชะรีอะฮฺอิสลาม)ใครก็ตามที่ปฏิบัติตาม เขาก็จะไม่ประสบเคราะห์กรรมใด ๆ อีก


ประการเดียวที่เราต้องทำเพื่อปลดปล่อยโลกทั้งหมดออกจากความเป็นญาฮิลียะฮฺ(ความโง่เขลาต่อสัจธรรม)ที่ครอบคลุมไปทั่วทุกด้าน นั่นคือการเรียกความเชื่อมั่นที่มีต่อศาสนากลับคืนมาให้เป็นรากฐานสำคัญของชีวิตในทุกส่วน หาใช่เพียงเรียกร้องให้คนอื่นศรัทธา แต่ตัวเราเองยังเพิกเฉย เพราะการศรัทธานี้จะมีผลอย่างแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อ เราสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่มนุษย์ทั้งหลายเท่านั้น


โลกในภาวะปัจจุบันที่เราสัมผัสมาก็คือโลกตามทัศนะของยุโรป ที่มักยึดเอาความล้มเหลวทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศมุสลิมมาเป็นตัวตัดสินชี้วัดว่า อิสลามไม่เหมาะที่จะเป็นระบบการปกครองมุสลิมด้วยกันเองหรือปกครองโลกได้ ทั้ง ๆ ที่โลกคริสเตียนเองครั้งหนึ่งในอดีตสมัยที่ชาวมุสลิมยังเป็นมุสลิมที่แท้จริงทั้งในด้านหลักศรัทธา (อะกีดะฮฺ) และการปฏิบัติ พวกเขาก็ยังเคยสั่นคลอนในความเป็นคริสเตียนของตน เพราะได้ประจักษ์ถึงชัยชนะอันเบ็ดเสร็จของฝ่ายมุสลิมในครั้งนั้น พวกเขาเชื่อว่า ชัยชนะของชาวมุสลิมเป็นหลักฐานชัดเจนที่บ่งบอกถึงอิสลามเป็นศาสนาที่สัจจริง เพราะพระเจ้าย่อมทรงประทานชัยชนะให้แก่ปวงบ่าวที่ถูกเลือกสรรเท่านั้น


ที่เราพูดมานี้ มิใช่เพราะเข้าข้างในความเป็นมุสลิมโดยปราศจากหลักฐานหรือสิ่งยืนยันทางประวัติแต่อย่างใด ดังตัวอย่าง โธมัส อาร์โนลด์(Thomas Arnold ) ผู้เขียนหนังสือ “การเรียกร้องสู่อิสลาม (The Preaching Of Islam )” เองยังกล่าวถึงไว้ว่า “สิ่งที่ปรากฏจากบุคคลิกนิสัยของท่านศอลาฮุดดีน และชีวิตที่เพียบพร้อมสำหรับการเป็นวีรบุรุษ ได้สร้างความประทับใจอย่างน่าพิศวงแก่ความคิดของชนชาวคริสเตียนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก กระทั่งนักรบคนหนึ่งจากกองทัพคริสเตียนทีเลื่อมใสต่อท่านอย่างมากจนยอมละทิ้งศาสนาคริสต์ของตัวเอง เข้าสมทบอยู่กับฝ่ายมุสลิม เช่นกันได้เกิดเหตุการณ์หนึ่งเมื่อนักรบชาวอังกฤษที่รู้จักในนาม โรเบิร์ต แห่งนักบวชแอลบานส์ (Robert of St.Albans)ได้ประกาศรับอิสลามในปี ค.ศ. 1185 ต่อมาได้แต่งงานกับหลานสาวคนหนึ่งของท่านศอลาฮุดดีน 2 ปีหลังจากนั้น ศอลาฮุดดีนก็ทำสงครามกับปาเลสไตน์และสามารถเอาชนะเหนือกองทัพคริสเตียนอย่างราบคาบในสมรภูมิหิฏฏีน (Battle of Hattin) ซึ่งพระเจ้าคาย กษัตริย์แห่งลูซิยอง ( Guy of Lusignan) แห่งเมืองเยรูซาเล็มทรงถูกจับรวมในกลุ่มเชลยทั้งหลายนั้นด้วย ตกตอนเย็นของสมรภูมิปรากฏว่า นักรบจำนวน 6 คนตัดสินใจยอมผละออกจากกษัตริย์ แล้วหนีเข้าไปสมทบอยู่ในกองทัพของศอลาฮุดดีนด้วยความสมัครใจ”


เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมากมายจนมิอาจนับจำนวนครั้งได้ ซึ่งมีบันทึกไว้เต็มหน้าตำราประวัติศาสตร์ทั้งเก่าและใหม่ ทำให้เราทราบถึงอิทธิพลของแบบอย่างอันดีงามที่มีต่อจิตใจมนุษย์ แม้กระทั่งต่อจิตใจของผู้คนที่มิใช่มุสลิมซึ่งเราอาจเคยมองว่าเป็นคู่อริหรือศัตรู ทำให้เราทราบถึงสาเหตุที่ทำให้กองทัพมุสลิมสามารถพิชิตเมืองต่าง ๆ อย่างง่ายดาย พร้อมชัยชนะที่พวกเขาได้มาด้วยเกียรติภูมิ


แท้จริงอิสลามที่สามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงปัจจุบันได้ ก็คืออิสลามที่เคยสามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงอดีตมาแล้ว ด้วยความเชื่อมั่นที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของผู้ศรัทธา ยอมสละพลีชีวิต ทรัพย์สินและทุกอย่างที่ตนรักเพื่อแนวทางนี้ ภาคภูมิใจในบทบัญญัติ หลักธรรม คำสอนต่าง ๆ ที่อิสลามนำมาซึ่งมีความเหมาะสมและมีศักยภาพพอสำหรับการฟื้นฟูและพัฒนาโลก รวมทั้งคำเรียกร้องที่ประกาศเชิญชวนไปสู่การสร้างคุณงามความดี และพลังแห่งธรรมะ ไม่ตัดสินด้วยกฎหมายอื่นใดนอกจากกฎหมายที่บัญญัติในอิสลาม และไม่ดำรงชีวิตอยู่บนหลักการใด ๆ นอกจากหลักการอิสลามเท่านั้น


หากเราต้องการสถานภาพแห่งการเป็นผู้นำมนุษยชาติกลับคืนมา เราจำเป็นต้องเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นที่มีผลจริง ๆ ต่อทุกสิ่งที่เราพูดและทุกสิ่งที่กระทำเสียก่อน เราต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ท่านมุฮัมมัด อิกบาลได้ให้ทัศนะเอาไว้ว่า


“มุสลิมมิได้ถูกกำเนิดมาเพียงเพื่อปกป้องการรุกรานของพวกมองโกล หรือดำเนินไปในทิศทางใดก็ได้ตามที่มวลมนุษย์ทั้งหลายหันสู่หรือดำเนินไป ทว่าเขาถูกกำเนิดมาเพื่อกำหนดทิศทางแก่โลก พัฒนาสังคมและสร้างความเจริญ ที่มนุษย์ทั้งหลายต้องปฏิบัติตามและดำเนินไปตามความประสงค์ของพวกเขา เพราะมุสลิมคือเจ้าของสาสน์ เจ้าของแห่งองค์ความรู้และความศรัทธาเชื่อมั่น เพราะเขาคือผู้รับผิดชอบในการกำหนดทิศทางโลก และผู้กุมชะตากรรมของมัน ตำแหน่งของเขาจึงมิใช่ลูกน้องหรือผู้ตาม แต่ตำแหน่งของเขาคือหัวหน้า ผู้นำผู้มีหน้าที่สั่งสอนชี้นำ หน้าที่ในฐานะผู้ออกบัญญัติการสั่งใช้และสั่งห้าม ยามใดที่กาลเวลาไม่เป็นใจให้และสังคมก็แสดงอาการขัดขืน หรือเบี่ยงเบนออกจากความดีงาม เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะยอมจำนน อ่อนข้อ หรือทิ้งภาระความรับผิดชอบนั้นไป แล้วปล่อยทุกอย่างไปตามยถากรรม แต่เขาต้องลุกขึ้นปฏิรูป ยืนหยัดต่อสู้ อย่างไม่ย่อท้อบนหลักการดังกล่าวจนกว่าอัลลอฮฺ จะทรงตัดสินชี้ขาดและประทานความสำเร็จให้


การยอมแพ้ และยอมจำนนต่อสภาพอันบีบบังคับ และสถานการณ์อันเลวร้าย ตลอดถึงการกล่าวโทษโยนความผิดว่าเป็นการลิขิตจากพระเจ้า(กอฏอ-กอดัร) นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นคุณสมบัติของผู้อ่อนแอและคนทุพลภาพ สำหรับผู้ศรัทธา(มุอ์มิน)ที่แท้จริงแล้ว เขามีความเชื่อมั่นว่า ตัวเขาเองนั้น แหล่ะคือการบันดาลชัยชนะของพระเจ้า และเป็นการลิขิตอันแน่นอนที่ไม่มีวันหักล้างกันได้”


หลังจากที่ข้าพเจ้าเขียนคำนิยมที่ค่อนข้างจะยืดยาว ข้าพเจ้ายังไม่ทราบว่าจะเขียนถ้อยคำอันใดอีกที่เหมาะสมกับหนังสือเล่มนี้และคู่ควรกับผู้แต่งซึ่งไม่มีความจำเป็นใด ๆ สำหรับคำนิยมอีก ตามที่ข้าพเจ้าได้เรียนมาตั้งแต่ต้น


อัลลอฮฺ เท่านั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ เท่าที่ได้อ่านหนังสือมา ข้าพเจ้ายังไม่เคยพบหนังสือเล่มใด ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่บรรจุความดีงามด้านเนื้อหาเหมือนหนังสือเล่มนี้อีกแล้ว ไม่มีตำราเล่มใดที่นำเสนอวิธีการเยียวยารักษาโรคร้ายที่เรากำลังประสบอยู่ได้ดีเท่าตำราเล่มนี้ และไม่มีหนังสือเล่มใดที่ผู้เขียนได้อุทิศตนในการซึมซับวิญญาณแห่งอิสลาม พร้อมกับเผยแผ่อิสลามด้วยความบริสุทธิ์ใจ ตลอดจนทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อยืนหยัดบนหนทางอิสลามเสมือนที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้อีกแล้ว


ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นต้องใช้ประโยชน์กับหนังสือเล่มนี้อย่างสุดกำลัง เราจำเป็นต้องประยุกต์ใช้แนวทางและดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้เสนอไว้ ทั้งนี้เพื่อให้เราสามารถบรรลุถึงความเจริญตามที่ได้หวังไว้ และทวงคืนเกียรติภูมิ ศักดิ์ศรีและความสูงส่ง ทั้งโลกนี้และโลกอาคิเราะฮฺ วิธีการเดียวที่เราต้องทำก็คือ ปฏิรูประบบการศึกษา ทั้งในส่วนหลักสูตรและวัตถุประสงค์หลัก ระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการอบรมสั่งสอนอนุชนรุ่นใหม่ตามครรลองอิสลาม โดยการกำหนดวัตถุประสงค์หลักของการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาโลกมุสลิมให้สามารถยกระดับขึ้นทัดเทียมกับนานาประเทศ เราจำเป็นต้องทำงานเพื่อการนี้อย่างจริงจัง และเชื่อมั่นว่านี่คือมาตรการและแนวทางที่มีประสิทธิภาพและถูกต้องที่สุด


หากเราสามารถทำสิ่งนี้ให้ปรากฏในโลกแห่งความเป็นจริง และหากอัลลอฮฺ ทรงประสงค์ให้ประชาชาติมุสลิมตื่นจากการหลับใหล และลุกขึ้นจากวังวนแห่งความถดถอยแล้ว อัลลอฮฺ ทรงทำให้นักเรียนที่ได้รับการอบรมสั่งสอนบนวัตถุประสงค์หลักดังกล่าว ได้กลายเป็นบุรุษที่เป็นความหวังของอิสลามในอนาคต พวกเขาพร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดในทุกครั้งที่มีโอกาสและได้รับความไว้วางใจ พวกเขาคือผู้กล้าหาญและมีความซื่อสัตย์ต่อศาสนาและประชาชาติของพวกเขา ไม่มีความกังวลใด ๆ ทั้งสิ้นในจิตใจพวกเขา ยกเว้นมุ่งมั่นทำงานเพื่อความสูงส่งของอิสลามและโลกมุสลิม


หากเรามีความมุ่งมั่นและจริงจังในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายอันถูกต้องแล้ว เราย่อมพบกับแนวทางและมาตรการอันมากมาย แต่ข้าพเจ้าขออนุญาตนำเสนอในตอนท้ายนี้ด้วยคำพูดบางตอนของซัยยิด อะบู อัลหะซัน อัล- นัดวีย์ ที่ได้กล่าวว่า

“ คัมภีร์อัลกุรอานและชีวประวัติของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือพลังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถสร้างจุดประกายแห่งความฮึกเหิมและศรัทธาขึ้นแก่โลกมุสลิม ซึ่งได้กล่าวถึงการปฏิวัติระบบญาฮิลียะฮฺในทุกเวลา ทั้งอัลกุรอานและชีวประวัติของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะสร้างแรงจูงใจประชาชาติที่ครั้งหนึ่งในอดีต ยอมจำนน อ่อนข้อและอ่อนแอ กลับกลายเป็นประชาติของเยาวชนคนหนุ่มสาว ซึ่งมีใจฮึกเหิม มีจิตที่หึงหวงต่ออิสลาม มีจุดยืนที่ชิงชังต่อญาฮิลียะฮฺ และระบบต่าง ๆ อันไร้ศักยภาพ พึงทราบว่า ความจริงแล้ว หนึ่งในโรคร้ายของโลกมุสลิมในปัจจุบันก็คือ ความรู้สึกพึงพอใจและหลงระเริงกับชีวิตบนโลกนี้ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนต่อสภาพความเสื่อมเสียต่าง ๆ ที่ปรากฏ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้สึกวิตกกังวลกับความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นรอบตัว ไม่รู้สึกปวดร้าวกับความเสียหาย และเย็นชากับสิ่งชั่วช้า ไม่เคยใส่ใจต่อสิ่งใดนอกจากปัญหาปากท้องและเครื่องแต่งกายของตนเองเท่านั้น ”


“ทว่าด้วยอิทธิพลของอัล-กุรอาน และชีวประวัติของท่านนบี ได้ทำให้เกิดความรู้สึกประการหนึ่งขึ้นในจิตใจ เกิดการต่อสู้ระหว่างอีมาน(ความศรัทธามั่น) และนิฟาก(การกลับกลอก) ความเชื่อมั่นและความสับสนโลเล ระหว่างผลประโยชน์ชั่วแล่นกับสถานพำนักที่ถาวรในวันปรโลก(วันอาคิเราะฮฺ) ระหว่างการพักผ่อนทางร่างกายและความสุขทางจิตใจ และระหว่างการมีชีวิตอยู่อย่างผู้ชนะกับการตายเยี่ยงวีรชน(ชะฮีด) เป็นสงครามที่นบีทุกคนได้ประกาศไว้ในยุคสมัยของตน ดังนั้นด้วยสิ่งนี้เท่านั้น ที่สามารถจรรโลงโลกได้ เมื่อนั้นในทุกส่วนของโลกมุสลิม และในทุกครัวเรือนมุสลิมก็จะเกิดขึ้นมาซึ่งลักษณะบุคคลดั่งในโองการความว่า


“...แท้จริงพวกเขาเป็นชายหนุ่มที่ศรัทธามั่นต่อพระเจ้าของพวกเขา และเราได้เพิ่มทางนำที่ถูกต้องให้แก่พวกเขา”


“เราได้ได้ให้ความเข้มแข็งแก่หัวใจของพวกเขา ขณะที่พวกเขายืนประกาศว่าพระเจ้าของเราคือพระเจ้าแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน เราจะวิงวอนพระเจ้าอื่นจากพระองค์ มิเช่นนั้นเราก็กล่าวเกินความจริงอย่างแน่นอน” (บทอัล-กะฮฺฟี , 18 : 13 – 14 )


“เมื่อนั้นกลิ่นไอของสรวงสวรรค์ก็จะแพร่กระจายไปทั่ว ลมหายใจของศตวรรษแรก ๆ ก็จะพัดโบกกลับมา โลกใหม่ที่ไม่เหมือนเก่าในเรื่องใดๆ เลยก็จะกำหนดคลอดออกมาให้แก่อิสลาม”


จากถ้อยคำต่าง ๆ ที่เราได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือที่ข้าพเจ้ากำลังเขียนคำนิยมให้อยู่นี้ ทำให้เราพบกับจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ที่ผู้เขียนได้อุตส่าห์เหนื่อยล้าบรรจงเขียนเอาไว้อย่างครบถ้วนแล้ว ...ขออัลลอฮฺ ทรงให้สิ่งเหล่านั้นและทุกสิ่งที่พึงเกิดขึ้นตามมาอำนวยประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ ขอพระองค์ทรงตอบแทนแก่ผู้เขียนด้วยรางวัลอันดีงามแทนอิสลามและประชาชาติ (อุมมะฮฺ) นี้ด้วยเถิด-

- ดร.มุฮัมมัด ยูซุฟ มูซา -

ภาคที่ 1 : สังคมโลกยุคก่อนนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

1.1 ยุคญาฮิลียะฮฺ มนุษยชาติริมปากเหวแห่งหายนะ

คริสต์ศตวรรษที่ 6 และ 7 ถือเป็นยุคมืดหรือช่วงเสื่อมถอยที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์โลกอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง มนุษยชาติตกอยู่ในห้วงเหวแห่งวิกฤตการณ์และวังวนแห่งความตกต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายศตวรรษ อำนาจใดบนโลก ก็มิอาจฉุดรั้งและช่วยเหลือให้พ้นจากห้วงปากเหวแห่งความหายนะได้ ยิ่งนานวัน ภาวะความตกต่ำและการร่อนถลำจมดิ่งก็ยิ่งหนักหน่วงรุนแรง มนุษย์ในห้วงศตวรรษนี้ ลืมแม้กระทั่งพระเจ้าผู้ทรงสร้าง ทำให้เขาลืมตนเองและชะตากรรมของชีวิต สูญเสียปัญญาความยั้งคิด และไม่สามารถแยกแยะระหว่างความดี ความชั่ว และสิ่งถูก สิ่งผิด


คำเรียกร้องของเหล่าศาสนทูตต้องเงียบเชียบลงช่วงเวลาหนึ่ง ดวงประทีปที่เคยจุดไว้ต้องมืดดับลงด้วยลมพายุต่างๆที่โหมพัดกระหน่ำ แม้นพอมีอยู่ก็เป็นเพียงเศษสะเก็ดไฟอันริบหรี่ที่สามารถส่องแสงสว่างได้แค่เฉพาะหัวใจบางดวง บางบ้านเรือนในบางเมืองเท่านั้น ขณะที่นักการศาสนาทั้งหลายบ้างก็ปลีกวิเวกจากสนามชีวิตจริง จำกัดตัวอยู่ในวัดวาอาราม และโบสถ์วิหารหวังเพียงรักษาไว้ซึ่งหลักธรรมคำสอนและชีวิตตนจากความโกลาหลอลหม่านทางโลก มุ่งแต่เทศนาคำสอนและการปฏิบัติธรรมสงบจิต หลีกห่างจากความวุ่นวายของชีวิตที่ต้องประสบพบเจอ หรือไม่ก็ตกอยู่ในสมรภูมิสู้รบระหว่างศาสนาและการเมือง จิตวิญญาณและวัตถุ ขณะอีกส่วนหนึ่งซึ่งคงอยู่ในกระแสชีวิต กลับมีท่าทีที่ประจบสอพลอต่อพวกกษัตริย์ และผู้มีอำนาจทางโลก ซ้ำยังคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสิ่งที่เป็นบาปและเป็นศัตรู และโกงกินทรัพย์สินของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันโดยมิชอบ


มนุษยชาติมิได้เดือดร้อนเนื่องจากการแปรเปลี่ยนไปของการปกครอง ผู้นำ หรือเนื่องความสุขสันต์บันเทิง และความสบายที่หลุดลอยจากบุคคลหนึ่งไปเป็นของอีกบุคคลหนึ่งซึ่งต่างเชื้อชาติกัน หรือจากชนกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่งที่ชั่วร้ายและทรราชพอ ๆ กัน หรือการแปรเปลี่ยนไปของระบบการปกครองใดที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาใช้กับมนุษย์ด้วยกัน


โลกมิได้คร่ำครวญและปวดร้าวเนื่องจากความตกต่ำของประชาชาติหนึ่งที่ถึงแก่กาลร่วงโรยจนต้องอ่อนแอลงในที่สุด หรือการล่มสลายของรัฐหนึ่งที่รากถูกกัดกร่อน ฐานจึงถูกทำให้พังครืนลง ซึ่งอีกแง่หนึ่ง ถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นไปตามกฎธรรมชาติของโลกเสียด้วยซ้ำ เพราะน้ำตามนุษย์ย่อมมีค่าเกินกว่าที่จะมัวเฝ้าหลั่งรินในทุก ๆ วันให้กับกษัตริย์ที่วายชนม์หรือผู้นำ หนึ่ง ๆ ที่เสียชีวิตไป คงไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะมัวเสียเวลาไปรำพันคร่ำครวญต่อบุคคลหนึ่งที่ไม่เคยทำอะไรเพื่อสร้างความสุข หรือยอมตรากตรำลำบากในยุคใด ๆ เพื่อพวกเขามาก่อน แท้จริงฟากฟ้าและแผ่นดินคงเข้มแข็งมากพอที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในทำนองนี้ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหรือเคยเกิดขึ้นมาแทบทุกวันเป็นจำนวนหลายพันครั้งมาแล้วก็เป็นได้

“กี่มากน้อยที่พวกเขาได้ทิ้งสวนหลากหลายและน้ำพุหลายแห่ง และเรือกสวนไร่นา และอาคารระโหฐานอันมีเกียรติ และความสะดวกสบายที่พวกเขาสนุกสนาน เช่นนั้นแหล่ะ เรา(อัลลอฮฺ)ได้ให้หมู่ชนอื่นรับมรดกครอบครองมัน และชั้นฟ้าและแผ่นดินมิได้ร่ำไห้เพราะ(เสียดาย)พวกเขา และพวกเขาจะไม่ถูกประวิง” (บท อัด-ดุคอน , 44: 26-29 )

ซ้ำร้ายบรรดากษัตริย์และชนชาติเหล่านั้นมากมายที่อาจทำตัวเป็นที่มัวหมองบนหน้าแผ่นดิน เป็นนรกอเวจีต่อชาติพันธุ์มนุษย์ด้วยกัน เป็นความทุกข์ทรมานสำหรับชาติเล็กชาติน้อยที่อ่อนแอกว่า เป็นบ่อเกิดแห่งความเสื่อมเสีย และโรคร้ายในเรือนร่างของสังคมมนุษย์ คอยแพร่กระจายให้เชื้อพิษไหลผ่านเข้าสู่โสตประสาทและเส้นเลือด แล้วเรือนร่างที่ปกติสมบูรณ์อยู่ก็พลอยถูกคุกคามด้วยอาการเจ็บป่วย จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ซึ่งการตัดเอาชิ้นส่วนที่เป็นเนื้อร้ายนี้ออกไปจากร่างกายส่วนที่ยังปกติสมบูรณ์ดีอยู่นั้น นับเป็นภาพสะท้อนอันยิ่งใหญ่ที่แสดงถึงความเป็น “อัร-ร็อบบ์” (ผู้ทรงอภิบาล) ของอัลลอฮฺ พระเจ้าผู้ทรงสูงสุด และถือเป็นความเมตตาของพระองค์โดยแท้ ที่มวลสมาชิกแห่งครอบครัวมนุษยชาติ รวมทั้งสมาชิกของจักรภพทั้งหมดพึงแสดงการสรรเสริญและสำนึกพระคุณ

“แล้วได้ถูกตัดขาด จนคนสุดท้ายของกลุ่มชนที่อธรรม และการสรรเสริญทั้งหลายนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ พระผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก” (บท อัล-อันอาม , 6 : 42)

ทว่าประชาชาติมุสลิมในฐานะผู้แบกรับพันธกิจแห่งสาสน์ของเหล่าศาสดา ผู้เป็นดั่งร่างกายส่วนที่ยังปกติสมบูรณ์ดีอยู่ในเรือนร่างของมนุษย์โลก การตกต่ำ การล่มสลายของรัฐอิสลามและการสูญเสียอำนาจของพวกเขา มันคงต่ำต้อยน้อยค่าเกินไปหากคิดว่าเป็นแค่เฉพาะการตกต่ำของชนชาติหนึ่ง เผ่าพันธุ์ หรือกลุ่มชนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มันคือการตกต่ำของสาสน์ ๆ หนึ่งซึ่งเป็นประดุจดั่งจิตวิญญาณของสังคมมนุษย์ทั้งหลาย ถือเป็นการล่มสลายของฐานสำคัญยิ่งที่ค้ำจุนระบบของศาสนาและของโลกไว้


ความตกต่ำและสิ้นภาวะการนำของประชาชาติมุสลิม แม้นผ่านไปนานนับหลายศตวรรษแล้ว ในความเป็นจริง ผู้คนทั้งจากซีกตะวันออกและตะวันตกของโลกมีใครบ้างไหมที่รู้สึกเสียใจ จริงหรือที่โลกต้องสูญเสียเนื่องความตกต่ำของประชาชาตินี้ ทั้ง ๆ ที่ในโลกก็เต็มไปด้วยชนชาติต่าง ๆ อีกมากมาย หากมีความสูญเสียเกิดขึ้นจริงเช่นนั้น แล้วอะไรบ้างล่ะที่มันได้สูญเสียหรือขาดหายไป


กิจการต่าง ๆ ของโลกได้ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใดบ้าง ประชาชาติต่าง ๆ ต้องประสบอันตรายอย่างไร หลังจากชนยุโรปก้าวขึ้นกุมบังเหียนตำแหน่งผู้นำ จนกระทั่งประชาชาติมุสลิมต้องตกอันดับแทบหลุดโผไปจากสารบบของโลก แล้วชาติเหล่านั้นก็ได้สร้างฐานของตนเองขึ้นมาแทนที่ซากปรักหักพังของรัฐอิสลาม อะไรคือผลแห่งการเปลี่ยนแปลงอันเป็นจุดพลิกผันครั้งยิ่งใหญ่นี้ต่อการเป็นผู้นำประชาชาติต่าง ๆ และโลก ทั้งด้านศาสนา จริยธรรม การเมือง วิถีชีวิตโดยรวมและในชะตากรรมอันพึงเป็นไปของมวลมนุษยชาติ


สภาพเหล่านั้นจะเป็นเช่นใด หากประชาชาติมุสลิมสามารถลุกขึ้นมาหลังจากลื่นล้ม ตื่นขึ้นมาหลังการหลับใหล จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้กุมชะตากรรมชีวิตของโลกได้อีกครั้ง


คำตอบของประเด็นทั้งหมด เราจะได้กล่าวถึงกันในหน้ากระดาษต่อจากนี้...

 


เนื้อหาบางตอนในหนังสือ โลกสูญเสียอะไรจากความตกต่ำของประชาชาติมุสลิม

ความตกต่ำของประชาชาติมุสลิมในอันดับแรก ความล้มเหลวกระทั่งต้องหลุดโผจากฐานะผู้นำโลกในกาลต่อมา ตลอดถึงต้องถอนตัวจากสนามแห่งชีวิตและสิ้นผลงานไปในที่สุด ปรากฏการณ์เหล่านี้มิใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเคียงคู่มากับประวัติศาสตร์ เฉกเช่นความตกต่ำของชนชาติ การล่มสลายของรัฐต่าง ๆ และการสิ้นอำนาจของกษัตริย์หรือความพ่ายแพ้ของบรรดานักรบผู้เกรียงไกร อารยธรรมต่าง ๆ ที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีตต้องล้มตายจากไป ความเจริญทางการเมืองเมื่อถึงที่สุดก็ต้องล้มพังพาบลง เหตุการณ์ทำนองนี้ปรากฏอยู่มากมายในหน้าประวัติศาสตร์ของแต่ละชนชาติ ยิ่งหากรวบรวมตัวอย่างในประวัติศาสตร์มนุษยชาติทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว ก็ยิ่งมากมายจนแทบนับไม่ถ้วน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประชาชาติมุสลิมนี้แปลกมากและไม่มีใครเหมือนมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ ทั้ง ๆ ที่ทุกเหตุการณ์ที่นับว่าแปลกโดยทั่วไปแล้ว ยังพอหาตัวอย่างที่คล้ายคลึงได้ไม่ยากเย็นนัก


เพราะเหตุการณ์นี้มิได้ส่งผลต่อเฉพาะชนชาวอาหรับ หรือกลุ่มชนและชนชาติต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาอิสลามเพียงเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องแค่เฉพาะครอบครัวและราชวงศ์ที่มีอันต้องสูญเสียอำนาจหรือประเทศชาติไป แต่นี้คือโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญของมนุษยชาติทั้งหมด ที่ประวัติศาสตร์มิเคยพบว่ามีครั้งใดอีกแล้วที่นับว่าโชคร้ายหรือมีผลครอบคลุมแผ่กว้างเท่า หากโลกได้ทราบถึงความเป็นจริงของภัยวิบัติ และทราบถึงความสูญเสียและความโชคร้าย โดยปราศจากความอคติหรือสลัดความนิยมในพวกพ้องออกไป แน่นอนโลกคงต้องยึดเอาวันอันอับโชคดังกล่าว (เนื่องสิ่งที่ได้เกิดขึ้น ณ วันนั้น)เป็นวันแห่งการอาลัยและไว้ทุกข์ วันแห่งการรำพันและคร่ำครวญ ที่ประชากรโลกและชนชาติต่าง ๆ คงต้องหันหน้ามาช่วยปลอบประโลมใจซึ่งกันและกัน และโลกทั้งโลกคงต้องแต่งชุดดำไว้ทุกข์เป็นแน่เชียว เหตุการณ์ทั้งหมด มิได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว แต่มันค่อย ๆ เกิดขึ้นโดยเงื่อนไขของกาลเวลา แม้วันนี้โลกยังขาดหลักพิจารณาอย่างแท้จริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญ และยังไม่มีตัวชี้วัดอันถูกต้องพอที่จะสามารถอธิบายถึงความโชคร้ายหรือความสูญเสียของโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติในครั้งนี้ได้ก็ตาม


โลกมิได้สูญเสียสิ่งใดอันเนื่องจากการล่มสลายของรัฐหนึ่งรัฐใดที่เคยเรืองอำนาจในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่เคยพิชิตยึดครองอาณาจักรหรือภูมิภาคต่าง ๆ หรือเคยมีอำนาจบาตรใหญ่เหนือมนุษย์ทั้งมวล หรือเคยใช้ชีวิตอยู่อย่างแสนสุขสำราญและหรูหรา

ทัศนะเกี่ยวกับศาสนาและชนชาติต่าง ๆ

ทัศนะเกี่ยวกับศาสนาและชนชาติต่าง ๆ
ศาสนาสำคัญทั้งหลายต้องตกเป็นเหยื่อของพวกหลอกลวงและนักฉวยโอกาส เป็นของเล่นสำหรับพวกบิดเบือนและกลับกลอก กระทั่งวิญญาณ และสารัตถะของศาสนาเหล่านั้นต้องสูญสิ้นไป หากสมมุติผู้นับถือยุคแรก ๆ มาพบเจอในภายหลัง ก็คงไม่อาจรู้จักศาสนาเหล่านั้นได้ หลายดินแดนที่เคยเป็นอู่ทองแห่งอารยธรรม ประเพณี การปกครองและการเมืองต้องกลายเป็นสนามของความวุ่นวาย ขาดศีลธรรม และไร้ขื่อแป ผู้ปกครองเอาแต่ฉ้อฉลและสาละวนอยู่กับการกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน โลกอยู่ในสภาพที่ไร้สาสน์ชี้นำ ขณะที่ประชาชาติต่าง ๆ ก็ปราศจากการเผยแผ่ใด ๆ บรรดาชาติเล็กน้อยใหญ่ ต่างสูญเสียคุณค่าภายในจิตสำนึก สายธารที่คอยชุบเลี้ยงชีวิตต้องเหือดแห้งลง จนไม่มีบทบัญญัติจากศาสนาใด ๆ ที่ถือว่าบริสุทธิ์หลงเหลืออยู่อีก หรือแม้แต่กฎระเบียบของมนุษย์ที่มั่นคงสักหนึ่งเดียวก็ไม่มี

ศาสนาคริสต์ในศตวรรษที่ 6
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศาสนาคริสต์ยังไม่เคยมีกฎเกณฑ์ที่ครอบคลุม และชัดเจนในการแก้ไขปัญหามนุษย์ ที่สามารถสร้างอารยธรรม หรือจัดการเกี่ยวกับการปกครองประเทศได้ มีแค่ร่องรอยจากบทคำสอนของพระเยซู และเครื่องหมายหนึ่งที่บอกว่ามาจากศาสนาแห่งเอกภาพอันเรียบง่ายเท่านั้น ต่อมาเมื่อนักบุญเปาโล(St. Paul)ได้ประกาศสังคายนาศาสนานี้ (ในบริบทของพันธสัญญาใหม่ – ผู้แปล) เขาได้ลบรัศมีของศาสนาคริสต์อย่างหมดจด พร้อมยัดเยียดความเชื่ออันคร่ำครึต่างๆที่เคยยึดถือ และผสมผสานลัทธิบูชาเจว็ดที่ตนเองเติบโตเข้าแทนที่ ส่วนคำสอนอันถูกต้องที่พอเหลืออยู่บ้าง ก็ถูกชาวคอนสแตนไตน์ทำลายไปเสียสิ้น กระทั่งศาสนาคริสต์กลายเป็นดั่งสิ่งที่ถูกผสมเข้าด้วยกันระหว่างความเชื่ออันคร่ำครึของชาวกรีก ลัทธิบูชาเจว็ดของโรมัน ปรัชญาเพลโตยุคอียิปต์โบราณ และระบบนักพรตนักบวช ทำให้คำสอนอันเรียบง่ายของเยซูคริสต์ที่พอมีอยู่ต้องหมดสิ้นไป เฉกเช่นหยาดฝนที่รดลงสู่แม่น้ำ ศาสนานี้กลับมาอีกครั้งในภาพลักษณ์ใหม่เหมือนดั่งผิวไม้ที่ถูกถักทออย่างสอดประสานเข้าด้วยกันระหว่างความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งมิอาจเป็นธาตุอาหารแก่จิตวิญญาณ ไม่อาจประเทืองปัญญา ไม่สามารถปลุกเร้าความรู้สึก ตลอดจนไม่สามารถเป็นแนวทางในการแก้ปัญหามรสุมชีวิต และไม่มีบทบาทในการส่องแสงสำหรับการเดินทางชีวิตได้แม้แต่น้อย เนื่องจากสิ่งที่บรรดาผู้บิดเบือนเพิ่มเข้าไปและการตีความศาสนาอย่างผิด ๆ ของผู้งมงาย มีการผสมปนเปคลุกเคล้าเข้าด้วยกันระหว่างกิเลส ความรู้และการนึกคิดของมนุษย์ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ศาสนาคริสต์จึงกลายเป็นเช่นลัทธิหนึ่งที่บูชาเจว็ดไปโดยปริยาย
เซล (Sale) ผู้แปลคำภีร์อัล-กุรอานเป็นภาษาอังกฤษ ได้กล่าวถึงชนชาวคริสเตียนในช่วงศตวรรษที่ 6 นี้ว่า “บรรดาชาวคริสเตียนต่างลุ่มหลงอยู่กับการบูชาพวกบาทหลวง และรูปเคารพของพระเยซูอย่างเกินเลย จนกระทั่งสิ่งดังกล่าวปรากฏอยู่อย่างมากมายในนิกายคาทอลิกในสมัยนี้” (Sale’ s Translation . P. 62 (1896))


สงครามศาสนาภายในอาณาจักรโรมัน
ต่อมาเมื่อศาสนากลายเป็นประเด็นข้อถกเถียงโต้แย้งและหักล้างกันทางตรรกะ จนแนวคิดเหตุผลนิยมในการโต้แย้งอย่างรุนแรงได้ครอบงำความคิดผู้คน ทำลายความฉลาด และกลืนกินพลังแห่งการสร้างสรรค์ด้านการปฏิบัติให้หมดไป หลายครั้งทำให้เกิดสงครามเลือด ฆ่าฟัน ทำลาย กดขี่ข่มเหง หลอกลวง ปล้นสะดม และลอบสังหารกัน โรงเรียน โบสถ์วิหารและบ้านเรือนต้องกลายเป็นค่ายสะสมกำลังทางศาสนา ที่หวังต่อสู้เอาชนะคาดคั้นกัน ประเทศชาติถูกชักนำสู่สงครามกลางเมือง ภาพความขัดแย้งทางศาสนาที่รุนแรงที่สุดก็คือระหว่างชาวคริสเตียนแห่งซีเรียและอาณาจักรโรมัน กับอีกฝ่ายหนึ่งคือชาวคริสเตียนแห่งอียิปต์ หรือหากพูดให้ถูกที่สุดก็คือระหว่างนิกายเมลไคท์(Melkite Chritians)และนิกายโมโนฟะไซท์(Monophysites) ซึ่งตามอุดมคติของพวกนิกายเมลไคท์เชื่อว่า เยซูเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ ในขณะพวกนิกายโมโนฟะไซท์ก็เชื่อว่า องค์พระเยซูนั้นมีสภาวะเดียวที่ศักดิ์สิทธิ์ คือเป็นพระเจ้าที่สภาวะของความเป็นมนุษย์ของเยซูสถิตอยู่ เช่นเดียวกับน้ำส้มที่หยดในทะเล ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีน้ำส้มอยู่ในทะเล แต่ทุกคนก็ไม่สามารถค้นพบมันได้ ความขัดแย้งระหว่าง 2 นิกายดังกล่าวนี้ได้ทวีความรุนแรงมาก ในช่วงศตวรรษที่ 6 และ 7 ราวกับสงครามพยาบาทระหว่าง 2 ศาสนาคู่อริ หรือเช่นความขัดแย้งระหว่างชาวยิวและคริสเตียนครั้งอดีต ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็กล่าวหาฝ่ายตรงกันข้ามว่าไม่มีอะไรดีหลงเหลืออยู่เลย


ดร.อัลฟอร์ด เจ. บัตเลอร์ (Dr.Alfred G.Butler ) กล่าวว่า “ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 และ 7 ถือเป็นยุคแห่งการต่อสู้อย่างต่อเนื่องระหว่างชาวอียิปต์และโรมัน เป็นการต่อสู้ที่ลุกโชนด้วยประเด็นความขัดแย้งทางเชื้อชาติและนิกายศาสนา แต่ความขัดแย้งทางศาสนาย่อมรุนแรงกว่าแน่นอน เป็นห้วงเวลาของความเป็นศัตรูต่อกันระหว่างนิกายเมลไคท์และนิกายโมโนฟะไซท์ ฝ่ายแรกชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นฝ่ายนิกายแห่งอาณาจักรและนิกายของกษัตริย์และประเทศ ที่ยึดมั่นต่อหลักความเชื่อที่สืบทอดกันมาถึงการสถิตรวมกันของธรรมชาติของพระเยซู ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคือนิกายของชาวกิบฏีโมโนฟะไซท์ หรือชาวอียิปต์โบราณ ที่ถือว่าหลักความเชื่อดังกล่าวเป็นที่น่ารังเกียจและน่าชิงชัง ทั้งสองรบพุ่งกันรุนแรงด้วยความคึกคะนองลืมตัว แม้นหมู่ชนผู้มีสติปัญญาก็ยากที่จะจินตนาการหรือทราบถึงสาระเหตุผลนั้นได้ พวกเขาต่างสู้รบระหว่างกัน แม้ต่างฝ่ายจะอ้างว่า ศรัทธาต่อคัมภีร์ไบเบิลเล่มเดียวก็ตาม” ( Fathul- Arab Li Misra ( การพิชิตอียิปต์ของชาวอาหรับ) เขียนโดย Muhammad Farid Abu Hamid p. 37-38)


จักรพรรดิเฮราคลีอุส (ค.ศ.610-641) หลังสามารถชนะเหนือเปอร์เซียในปี ค.ศ. 628 พระองค์ทรงพยายามรวบรวมนิกายต่าง ๆ ของประเทศที่ขัดแย้งเข้าด้วยกัน ประสงค์ให้เกิดสมานฉันท์โดยประกาศเป็นกฎบังคับ ห้ามมิให้ประชาชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือพูดคุยเกี่ยวกับธรรมชาติของพระเยซู และประเด็นว่าทรงมีสภาวะเดียวหรือ 2 สภาวะเป็นอันขาด แต่ให้ทั้งหมดยอมรับว่าพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ หรือคำตัดสินเดียวเท่านั้น และในต้นปี ค.ศ. 631 ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องตามนั้น จนกระทั่งนิกายโมโนฟะไซท์(Monophysite) กลายเป็นนิกายหลักโดยทางการของประเทศ และให้บรรดาสาวกของโบสถ์คริสต์ทั้งหลายเข้าสมทบด้วย แล้วเฮราคลีอุสก็ทรงตกลงประกาศการอุปถัมภ์ช่วยเหลือนิกายใหม่นี้ให้สูงเด่นเหนือนิกายอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน โดยอาศัยสื่อต่าง ๆ ที่มีจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย แต่ชนชาวไอยคุปต์กลับแสดงท่าทีโต้แย้งอย่างรุนแรงและไม่ยอมรับสิ่งอุตริหรือบิดเบือนนี้ ต่างลุกขึ้นต่อสู้และประกาศยอมตายในหนทางแห่งหลักความเชื่อเดิมของตน ทางอาณาจักรจึงต้องพยายามอีกครั้งเพื่อรวบรวมนิกายต่าง ๆ เพื่อยุติความขัดแย้ง โดยต้องการเพียงให้ประชาชนยอมรับว่า พระเจ้านั้นทรงมีพระประสงค์เดียว สำหรับปัญหา อื่น ๆ ให้เป็นไปตามพระประสงค์ดังกล่าว โดยจำกัดการพูดถึงพร้อมห้ามคนทั้งหลายนำประเด็นนั้นมาโต้แย้งกันอีกเป็นอันขาด พร้อมจัดทำเป็นสารโดยทางการแล้วส่งไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ของซีกโลกตะวันออก แต่สารฉบับนั้นก็มิอาจทำให้มรสุมในเมืองอียิปต์เงียบสงบลง ยังคงเกิดการกดขี่ทารุณอย่างเลวร้ายขึ้นในอียิปต์โดยน้ำมือของพระเจ้าไซรัส(Cyrus)และดำเนินยาวนานนับสิบปี (A.J. Butler : Arabs’Conguest of Egypt and the Last Thirty Years of the Roman Dominion ,pp 29-30) ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญมากมาย เช่น จับผู้คนไปทรมานแล้วฆ่าด้วยการกดจมน้ำ และจุดกองเพลิงขึ้นเพื่อเผาบรรดาผู้เคราะห์ร้ายจนกระทั่งไขมันจากหน้าผากไหลจรดลงพื้นดิน หรือบ้างก็จับนักโทษยัดใส่กระสอบทรายแล้วนำไปโยนทิ้งทะเล และยังมีวิธีการอันโหดเหี้ยมสยองขวัญอีกมากมาย

วิกฤติด้านสังคมและความไร้เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ

วิกฤติด้านสังคมและความไร้เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ
อาณาจักรโรมันตะวันออก(ไบเซนไทน์) ในสมัยนั้น ประสบภาวะวิกฤติต่าง ๆ ทางสังคมจนถึงจุดสูงสุด  ปัญหาความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ซ้ำร้ายยังมีการรีดไถเครื่องบรรณาการและมีระบบการเก็บภาษีที่สูงลิ่ว จนกระทั่งฝ่ายรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกสาปแช่งจากประชาชนอย่างรุนแรง กระทั่งประชาชนถือว่าหากมีรัฐบาลต่างชาติเข้ามาปกครอง ก็ยังดีกว่าอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลของตน การข่มขู่บังคับและการอายัดทรัพย์ ได้หมุนเวียนเข้ามาในชีวิตจนกลายเป็นภาระทับซ้อน   ความวุ่นวายดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงและเกิดเป็นการลุกฮือต่อต้าน ดังเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 532 ที่ทำให้มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก เฉพาะเขตเมืองหลวงมีประชาชนถูกฆ่าตายจำนวนถึง 30,000 คน[i] ด้วยภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ แทนที่ประชาชนจะใช้จ่ายอย่างประหยัด แต่พวกเขากลับใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ทุกคนต่างใฝ่ฝันและแข่งขันกันสะสมเงินทอง แม้นจะได้มาด้วยวิธีการใดก็ไม่คำนึง หวังเพียงเพื่อมีไว้ใช้จ่ายอย่างสะดวก สนุกมือและปรนเปรออารมณ์เท่านั้น
 
รากฐานทางศีลธรรมต้องสูญสลาย และสิ่งค้ำจุนทางคุณธรรม จริยธรรมได้พังทลายลง กระทั่งผู้คนทั่วไปต่างคิดว่า การครองชีวิตโสดดีกว่าการมีชีวิตครอบครัว ทั้งนี้เพื่อสามารถปฏิบัติในสิ่งที่ต้องการอย่างอิสระโดยปราศจากพันธะใด ๆ [ii]
 เซล (Sale) กล่าวว่า “ความยุติธรรมสามารถซื้อขายและต่อรองราคากันได้ประหนึ่งสินค้า การทุจริตคอร์รัปชั่นและการคดโกงกลับได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากประชาชนทั่วไป”[iii]
 
กิบบอน(Gibbon) กล่าวว่า “ในช่วงปลายของศตวรรษที่ 6   รัฐโรมันได้มาถึงยุคที่ตกต่ำที่สุด เปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่สูงตระหง่าน ที่ช่วงเวลาหนึ่งบรรดาประเทศใหญ่น้อยในโลกต่างเคยพึ่งพาอาศัยใต้ร่มเงาของมัน แล้วต่อมา มันกลับเหลือแค่ลำต้นที่มีแต่แห้งเหี่ยวลงทุกวัน”[iv]
 
คณะผู้เขียนหนังสือ Historian’s History of the World กล่าวว่า “เมืองใหญ่ ๆ ต้องพังทลายลงในเวลาอันรวดเร็ว จนมิอาจกอบกู้เกียรติและความรุ่งเรืองกลับคืนได้อีก ซึ่งก็ยืนยันสาเหตุของความตกต่ำที่ประสบกับอาณาจักรไบแซนไทน์ในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี ว่าเป็นผลพวงจากการเก็บภาษีอากรที่สูงเกินควร ความตกต่ำทางการค้า การละเลยต่อภาคการเกษตรและประเทศขาดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างสมดุลนั่นเอง”[v]
 



สภาพทางศาสนาและเศรษฐกิจของอียิปต์ ในยุคอาณาจักรโรมัน
สำหรับอียิปต์เมืองแห่งแม่น้ำไนล์อันแสนสุขและอุดมสมบูรณ์ ช่วงศตวรรษที่ 7   นับเป็นประเทศ ที่โชคร้ายที่สุด เนื่องจากนับถือศาสนาคริสต์และตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรโรมัน พวกเขาไม่สามารถรับประโยชน์อันใดจากการนับถือศาสนาคริสต์นอกจากความขัดแย้ง และการโต้เถียงกันในเรื่องธรรมชาติของพระเยซู จมปลักในปรัชญาของสิ่งเบื้องหลังธรรมชาติ และปรัชญาเกี่ยวกับพระเจ้า ในศตวรรษที่ 7   ได้ปรากฏภาพอันเลวร้ายที่สุดสำหรับอียิปต์ จนกระทั่งชาติมหาอำนาจทางปัญญาต้องประสบกับความเสื่อมถอย พลังความสามารถด้านการสร้างสรรค์และการผลิตนวตกรรมก็อ่อนแอลง
 
ส่วนอียิปต์ภายใต้การยึดครองของโรมัน พวกเขาแทบไม่ได้รับประโยชน์อันใดเลย นอกจากการกดขี่ด้านศาสนาที่เลวร้าย และการข่มเหงด้านการเมืองอย่างไร้ปรานีแล้ว พวกเขายังต้องทนทุกข์ทรมานกับความขมขื่นในวังวนแห่งความเลวร้ายเหล่านั้นตลอดเวลานับหลายสิบปี เฉกเช่นที่ยุโรปเคยประสบมาแล้วอย่างยาวนานเมื่อในยุคการสืบสวนทางศาสนา(New Inquisition)[vi] เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พวกเขาต้องหมดอาลัยในชีวิตและสิ้นหวังที่จะปฏิบัติหน้าที่สำคัญทางศาสนาและขัดเกลาจิตวิญญาณ พวกเขามิอาจมีความสุขกับอิสรภาพทางการเมืองได้เลย ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งในอาณานิคมของโรมัน ซ้ำยังไร้อิสรภาพด้านศาสนาและปัญญาอีกด้วย ทั้งที่เป็นประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์
 
กุสตาบ เลอบอง (Gustave Le Bon  ) กล่าวไว้ในหนังสือ “Arab Civilization” ว่า
 
“อียิปต์ถูกบังคับให้นับถือศาสนาคริสต์ แต่กลับยิ่งทำให้พวกเขาต้องจมดิ่งสู่ห้วงเหวแห่งหายนะอย่างยาวนานจนยากที่จะสลัดให้พ้นได้ จนกระทั่งถึงยุคที่อาหรับเข้ามาพิชิตเมือง   อียิปต์ซึ่งได้กลายเป็นสนามแห่งความขัดแย้งทางศาสนามากมายในสมัยนั้น ต้องประสบกับความทุกข์และความเดือดร้อนอย่างสาหัส   ความขัดแย้งเหล่านี้ ทำให้พวกเขาต้องเข่นฆ่าและแช่งด่ากันเอง อียิปต์ต้องถูกกัดแทะด้วยความขัดแย้งทางศาสนาและผู้นำเผด็จการ พวกเขาต่างจงเกลียดจงชังเจ้าปกครองแห่งโรมอย่างที่สุด และเฝ้ารอคอยวันเวลาเพื่อการปลดปล่อยอียิปต์จากอุ้งมือของจักรพรรดิผู้โหดเหี้ยมแห่งไบเซนไทน์ให้จงได้”[vii]
 
ดร.อัลเฟรด เจ.บัตเลอร์ กล่าวในหนังสือ “Arabs’Conguest of Egypt”  ว่าในศตวรรษที่ 7 ผู้คนในอียิปต์ต่างรู้สึกว่าศาสนาเป็นเรื่องอันตรายยิ่งกว่าการเมือง กลุ่มก๊วนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย มิใช่สาเหตุมาจากประชาชนมีความคิดเห็นทางการเมืองการปกครองที่ต่างกัน   แต่เนื่องความขัดแย้งประเด็นความเชื่อและเรื่องศาสนาเป็นหลัก ขณะที่ผู้คนทั่วไปก็มิได้คิดว่าศาสนาสามารถจุดประกายให้มนุษย์หันมาสร้างกุศลความดีใด ๆ ได้ พวกเขามองว่า ศาสนาเป็นเพียงปรัชญาทางความเชื่อเฉพาะทางเท่านั้น”
 
ความขัดแย้ง และการโต้เถียงกันอย่างน่ากลัวระหว่างผู้คน ทั้งหมดล้วนเกิดจากการจิตนาการทางรูปลักษณ์ของความแตกต่างอันละเอียดอ่อนทางความเชื่อทั้งสิ้น พวกเขายอมเสี่ยงชีวิตถลำเข้าไปสู่กับดักอันตรายในหนทางที่ไร้สาระ ทุ่มเทความคิดเพียงเพื่อโต้แย้งในประเด็นความแตกแยกทางศาสนา และค้นหาปรัชญาเบื้องหลังธรรมชาติซึ่งยากที่จะเข้าใจและเกินกว่าสติปัญญาจะหยั่งถึง”[viii]
 
นี่คือสภาพความเป็นจริงของอียิปต์ ที่โรมันได้ยึดพวกเขาทำเป็นเสมือนแพะพันธุ์นมที่หมายรีดเอาน้ำนมเสียให้หมดเกลี้ยง ก่อนที่จะดูดเลือดของมันในภายหลัง ดร.อัลเฟรด กล่าวเสริมอีกว่า 
 
“โรมันบังคับให้อียิปต์จ่ายค่าหัวและภาษีอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่า ภาษีต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งเกินความสามารถของประชาชนที่จะจ่ายได้และถูกนำมาบังคับใช้ในระหว่างผู้คนโดยอยุติธรรม”[ix]
 
คณะผู้ประพันธ์หนังสือ Historian’s History of the World กล่าวว่า “อียิปต์ต้องจัดหาทรัพย์สินจำนวนมากมายทั้งจากรายได้และผลผลิตต่าง ๆ สมทบเข้ากองคลังของอาณาจักรโรมัน ทั้ง ๆ ที่ชนชั้นเกษตรกรชาวอียิปต์ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกห้ามยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมืองการปกครองต่างรู้สึกไม่พอใจที่ต้องจ่ายรายได้ให้โรมัน เช่นค่าเช่านานอกเหนือจากภาษี ทรัพยากรของอียิปต์ในยุคนี้ จึงตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่และตกต่ำเต็มที”[x]
สภาพเช่นนี้ เท่ากับอียิปต์ต้องแบกรับทั้งปัญหาการกดขี่ทางศาสนา เผด็จการทางการเมือง และการถูกเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ ซึ่งบ่วงพันธนาการทั้ง 3 ประการนี้เอง ที่ทำให้อียิปต์ต้องทุกข์ทนอยู่ในสภาพตรากตรำลำบาก รันทดหดหู่และหมดอาลัยที่จะนึกถึงศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของตนเอง 



เอธิโอเปีย
สำหรับเอธิโอเปียหรืออบิสสิเนีย ประเทศเพื่อนบ้านของอียิปต์ซึ่งนับถือคริสต์นิกายโมโนฟะไซท์เช่นกัน แต่ยังมีการบูชาเทวรูปและบรรดาเจว็ดมากมายอยู่ด้วย ซึ่งบ้างก็รับมาจากวัฒนธรรมยุคป่าเถื่อน หลักเอกานุภาพของพระเจ้าเป็นแค่เพียงบทเวทมนต์หนึ่งของลัทธิบูชาผี ที่ถูกสวมด้วยอาภรณ์แห่งความรู้ดั้งเดิมและคำศัพท์ต่าง ๆ ของศาสนาคริสต์เข้าไปเท่านั้น ปราศจากวิญญาณทางศาสนา และไร้ซึ่งความใฝ่ทะยานในเรื่องทางโลก ทั้งนี้ที่ประชุมมนตรีทางศาสนาครั้งแรกในปี 325 ณ เมืองไนซีอา (Nicae’a) ได้ตัดสินว่าฝ่ายตนมิอาจดำเนินเรื่องราวใด ๆ ทางศาสนาโดยอิสระได้ ทุกอย่างให้เชื่อฟังและปฏิบัติตามอำนาจของอเล็กซานเดอร์เท่านั้น
 



ชาติยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ
บรรดาชาติยุโรป ที่ประชาชนอาศัยอยู่อย่างแพร่หลายทั้งทิศเหนือและตะวันตก   ส่วนใหญ่ยังคงเป็นดินแดนที่ขังตัวเองอยู่ในเงามืดสนิทของความโง่เขลา ไร้การศึกษา เต็มไปด้วยสงครามนองเลือดระหว่างกัน   แสงอรุณแห่งอารยธรรมและวิทยาการยังไม่เคยย่างกรายไปถึง เวลานั้นวัฒนธรรมอาหรับมุสลิมแห่งอันดาลูเซียก็ยังไม่ปรากฏขึ้นเพื่อปฏิบัติพันธกิจในด้านวิทยาการและความเจริญ หรือหลอมละลายเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้นได้ ดินแดนเหล่านั้นถูกตัดขาดและคาราวานอารยธรรมแห่งมนุษยชาติได้ทิ้งห่างพวกเขาจนไกลลิบ พวกเขาไม่เคยรู้จักโลกภายนอก   ขณะที่โลกอารยะภายนอกก็ไม่ค่อยใส่ใจพวกเขามากนัก พวกเขาไม่เคยรับรู้สิ่งใด ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่มีผลต่อประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกหรือตะวันตก พวกเขาถูกลอยแพอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางศาสนาคริสต์ที่พวกเขาเพิ่งนับถือ ลัทธิบูชาเจว็ดที่คร่ำครึ พวกเขาไม่เคยยึดถือหลักคำสอนทางศาสนาใด ๆ ที่ชัดเจน และไม่เคยอยู่บนหลักการทฤษฎีทางการเมืองใด ๆ มาก่อน  
 
เอช.จี. เวล (H.G. Well) กล่าวไว้ว่า “ไม่ปรากฏสัญญานที่แสดงถึงการมีเอกภาพหรือมีระบบใด ๆ เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกในยุคดังกล่าวนั้นเลย”[xi]
 
โรเบอร์ต บริฟฟอลต์ ( Robert Briffault ) กล่าวว่า “ค่ำคืนอันมืดมิดได้แผ่ปกคลุมเหนือยุโรปนับจากศตวรรษที่ 5   ถึง 10  และค่ำคืนดังกล่าวมีแต่ทวีความมืดทึบและดำทะมึนยิ่งขึ้น จนความป่าเถื่อนในยุคนั้นดูโหดร้าย และเลวทรามยิ่งกว่าความป่าเถื่อนในยุคโบราณเสียอีก มันเป็นดั่งซากชิ้นใหญ่ของอารยธรรมที่เน่าเหม็นแล้ว สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของอารยธรรมนี้ถูกลบล้างและขจัดไปสูญสิ้น ขณะที่ชาติใหญ่ ๆ ที่มีอารยธรรมและเคยรุ่งเรืองอย่างสูงสุดมาเมื่อครั้งอดีต อาทิ อิตาลีและฝรั่งเศษก็ยังตกเป็นเหยื่อของการทำลาย วุ่นวาย และหายนะ” [xii]         
 
ขณะที่ยุโรปตะวันตกยิ่งมีสภาพเลวร้ายกว่า ศาสตราจารย์จูลี่ เซเลนสกี (Julie Zelenski) กล่าวไว้ในหนังสือ History of Philosophy  ว่า “ศตวรรษที่ 7 และ 8 นับเป็นสมัยที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์อารยธรรมของยุโรปตะวันตก เป็นยุคแห่งความป่าเถื่อนและงมงายอย่างไม่มีสิ้นสุด ความเลวร้ายในช่วง 2 ศตวรรษนี้และกลไกลแห่งการทำลายได้พัดพาผลงานทางวรรณคดี และศิลปะต่าง ๆ ทั้งหมดของยุคคลาสสิกในอดีตให้สาบสูญไปด้วย 
 
ยุโรปในยุคนั้นมีสภาพที่ไม่ต่างจากสถานโล่งเตียนและมืดมิดแห่งความโง่เขลาและล้าหลัง วิลเลี่ยม ดราเปอร์   (William Draper) ได้อธิบายถึงสถานการณ์นี้ว่า “คงเป็นการยากที่จะกล่าวว่าประชาชนชาวยุโรปในยุคเก่าก่อนนั้นผ่านพ้นยุคป่าเถื่อนไปแล้ว เพราะร่างกายของพวกเขายังมีแต่ความสกปรกโสมม อุปาทานในสิ่งงมงาย เชื่อในพงศาวดารปรำปรา และนิทานโกหกที่บอกกล่าวต่อกันมา เช่นอภินิหารของผู้วิเศษ คาถาอาคมของนักบุญจอมปลอมทั้งหลาย โดยปราศจากเหตุผล
 



ชนชาวยิว

ในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา มีเพียงชนชาติเดียวที่ถือว่ายังพอมีแก่นสารอันสมบูรณ์ของศาสนาอยู่ และมีความเข้าใจในศัพท์บัญญัติและความหมายทางศาสนาที่ใกล้เคียงที่สุด ก็คือชนชาวยิว แต่พวกเขาไม่สามารถเป็นกลไกที่มีพลังใด ๆ ต่อชนชาติอื่นได้เลยทั้งด้านอารยธรรม การเมืองหรือทางศาสนา ตรงกันข้าม พวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาติอื่นเรื่อยมาอย่างยาวนานนับหลายศตวรรษ และบ่อยครั้งพวกเขาต้องตกเป็นเป้าของการกดขี่ ข่มเหง ขับไล่และทำทารุณ   ประวัติศาสตร์ชนชาติยิวเองได้สืบทอดความเป็นทาสและการถูกกดขี่ข่มเหงมายาวนาน   เป็นพวกที่มีนิสัยเย่อหยิ่งในเผ่าพันธุ์ และคลั่งไคล้ในเชื้อชาติ รวมทั้งมีความโลภ ตระหนี่ขี้งก และชอบกินดอกเบี้ย   พวกเขาได้สืบทอดนิสัยอันแปลกพิกลเหล่านั้นมาจนเป็นสันดานชนิดที่ไม่มีชนชาติใดเทียบเท่า พวกเขามีลักษณะนิสัยประจำชาติหลายอย่าง ครั้นเมื่อกาลเวลาและยุคสมัยผ่านพ้นไป นิสัยต่าง ๆ เหล่านั้นก็กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งไปโดยบริยาย เช่นเมื่อยามตกอยู่ในสภาพอ่อนแอก็จะอ่อนน้อมถ่อมตน ครั้นเมื่อยามเข้มแข็งและได้รับชัยชนะก็โหดเหี้ยมอำมหิต มีนิสัยคดโกง กลับกลอกหลอกลวงเป็นนิจสิน ก้าวร้าวและแข็งกระด้าง เห็นแก่ตัว ชอบโกงทรัพย์สินของผู้อื่น ขัดขวางหนทางของพระเจ้า ในเรื่องนี้อัล-กุรอานได้อธิบายถึงลักษณะของพวกเขาเอาไว้อย่างละเอียดและลึกซึ้งที่สุด ซึ่งสามารถสะท้อนภาพอันแท้จริงของพวกเขาในช่วงศตวรรษที่ 6 และ 7 นั้นได้เป็นอย่างดีถึงความเสื่อมทรามทางจริยธรรม จิตใจที่ตกต่ำและสภาพสังคมที่เละเทะ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้พวกเขามิอาจก้าวขึ้นเป็นชาติผู้นำ หรือชาติอำนาจของโลกได้
 



ระหว่างชาวยิวและคริสเตียน

ต้นศตวรรษที่  7  เกิดเหตุการณ์ที่ตอกย้ำแผลเก่าที่สร้างความเกลียดชังระหว่างชนชาวคริสต์และชาวยิว  ทำให้ชื่อเสียงของพวกเขาต้องแปดเปื้อน เช่นช่วงปีสุดท้ายในสมัยการปกครองของจักรพรรดิโฟกาส ( ค.ศ. 610 ) ชาวยิวได้ก่อสงครามกับชาวคริสต์ ณ เมืองแอนเทียซ พระองค์ได้ส่งขุนพลชื่อ “อับโนสุส (Abnosus)” เพื่อปราบปรามชาวคริสต์ที่ก่อกบถ ทันทีที่ไปถึง เขาก็เริ่มปฏิบัติงานด้วยความโหดเหี้ยมที่สุด เข่นฆ่าทุกคนโดยไม่ละเว้น บ้างก็ตายด้วยคมดาบ ในขณะที่จำนวนนับร้อยถูกจับถ่วงน้ำ เผาทั้งเป็นหรือถูกโยนให้สัตว์ป่าแทะกิน
 
หลังจากนั้น ยังเกิดการสู้รบระหว่างชาวยิวและคริสต์ครั้งแล้วครั้งเล่า ท่านอัล-มุก็อรริซีย์กล่าวไว้ในหนังสือ “Al-Khuthath” ว่า ในสมัยจักรพรรดิ โฟกาส (Phucas)แห่งโรมัน คอสโรผู้เป็นกษัตริย์เปอร์เซียได้จัดส่งกองกำลังไปบุกเมืองซีเรียและอียิปต์ พวกเขาได้เข้าทำลายโบสถ์ต่าง ๆ ในเมืองเยรูซาเล็ม    ปาเลสไตน์และที่มีอยู่ในเมืองซีเรียทั้งหมด ชาวคริสเตียนถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บ้างก็ถูกจับตัวส่งไปยังอียิปต์และถูกฆ่าตายที่นั้นอีกจำนวนมาก   ส่วนหนึ่งถูกจับเป็นเชลยโดยมิจำกัด ชาวยิวได้คิดคดด้วยการสนับสนุนทหารของคอสโรสู้รบกับพวกคริสเตียนและรื้อทำลายโบถส์เสียหายมากมาย เกิดการสนธิกำลังระหว่างกองทหารเปอร์เซียที่มาจากเมืองทิเบอเรีย (Thebria) และเทือกเขากาลิลี (Galilea) กับกองหนุนชาวยิวที่มาจากหมู่บ้านนะซาเร็ธ (Nazareth) เมืองซูร[xiii] และเยรูซาเล็ม พวกเขายึดทรัพย์สินต่าง ๆ ของชาว   คริสเตียนไปหมดสิ้น ฆ่ากวาดล้างและเข้าทำลายโบสถ์ 2  แห่งในเมืองเยรูซาเล็ม บ้านเรือนถูกรื้อทำลายและถอดเอาชิ้นส่วนของไม้กางเขนไป พร้อมจับตัวพระราชาคณะของเมืองเยรูซาเล็มและมิตรสหายของเขามากมายเป็นเชลย”[xiv]
 
หลังจากอธิบายถึงการพิชิตอียิปต์และเปอร์เซียแล้ว ท่านอัล-มุก็อรริซีย์ยังเล่าอีกว่า
 
“ในระหว่างนั้นชาวยิวยังก่อการกบฎที่เมืองซูร และส่งจำนวนที่เหลืออยู่ในประเทศ พร้อมข่มขู่ว่าจะทำสงครามและฆ่าพวกคริสเตียนเสียให้หมดสิ้น ในสงครามนี้ มีชาวยิวมาสนธิกำลังกันทั้งสิ้นราวสองหมื่นคน พวกเขาได้ทำลายโบสถ์คริสต์นอกเมืองซูรไปหลายแห่ง แต่เนื่องจากชาวคริสเตียนมีความเข้มแข็งและมีจำนวนที่มากกว่า ทำให้ชาวยิวต้องพบกับความปราชัยอย่างเลวร้ายและถูกฆ่าตายไปอย่างมากมาย หลังจากนั้น เป็นช่วงที่กษัตริย์เฮอร์คิวลิส (Heraclus) ขึ้นปกครองอาณาจักรโรมันแห่งคอนสแตนไตน์ ด้วยอาศัยเล่ห์อุบายที่เหนือชั้นกว่า พระองค์สามารถเอาชนะเหนือเปอร์เซียและสยบคอสโรจนกลายเป็นอาณาจักรที่อ่อนแอ แล้วพระองค์เดินทางออกจากคอนแสตนติโนเปิลเพื่อปราบปรามบรรดาผู้ปกครองเมืองซีเรียและอียิปต์ พระองค์ได้บูรณะโบสถ์วิหารที่ถูกพวกเปอร์เซียทำลาย ต่อมามีชาวยิวกลุ่มหนึ่งจากเมืองทิเบอเรีย (Thebria) และเมืองอื่น ๆ ออกมาต้อนรับ และมอบของขวัญมากมายพร้อมขอคุ้มครองความปลอดภัย ซึ่งพระองค์ก็ทรงตอบรับด้วยดี ต่อมาเมื่อพระองค์เข้าไปยังเมืองเยรูซาเล็ม มีพวกคริสเตียนพร้อมด้วยคัมภีร์ไบเบิล ไม้กางเขน ธูปหอมและจุดเทียนสว่างไสวจำนวนมากมายเข้าพบ พระองค์รู้สึกเสียใจและเจ็บปวดมากเมื่อพบว่า สภาพบ้านเมืองพร้อมโบสถ์ วิหารต่าง ๆ ถูกทำลายย่อยยับ และเมื่อทราบจากพวกคริสเตียนว่า ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากชาวยิวและชาวเปอร์เซียร่วมกันฆ่าฟันพวกตนและเผาทำลายโบสถ์ ชาวคริสเตียนได้ทูลแจ้งแก่พระองค์ว่า ความจริงแล้วชาวยิวมีความโหดร้ายและอันตรายยิ่งกว่าเปอร์เซียเสียอีก จึงควรทำลายล้างชาวยิวเสีย พร้อมยุยงให้พระองค์ล้างแค้นแทนชาวคริสเตียนด้วย พวกเขาได้หว่านล้อมให้พระองค์ทรงเห็นด้วยกับการล้างแค้นดังกล่าว แต่พระองค์ไม่เห็นด้วยและอ้างว่าพระองค์ได้ทำสัญญาให้ความคุ้มครองชาวยิวและนับถือพวกเขาเป็นพันธมิตรอยู่เสมอ บรรดาบาทหลวงทั้งหลายจึงออกคำศาสนวินิจฉัยว่าไม่เป็นบาปหากพระองค์ฆ่ายิว เพราะในความเป็นจริงแล้ว สาเหตุที่ชาวยิวยอมสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์เฮอร์คิวลิสนั้น ก็เพียงเพื่อให้พระองค์ปกป้องพวกตนเท่านั้น โดยที่พระองค์หาทราบความจริงของอุบายนี้ไม่ นอกจากนั้นบรรดาบาทหลวงได้พร้อมใจกันจัดพิธีไถ่บาปให้แก่กษัตริย์เฮอร์คิวลิส โดยให้บรรดาบาทหลวงและชาวคริสเตียนทั้งหลาย ถือศีลอดในวันศุกร์หนึ่งของทุกปี แม้นเวลาจะผ่านพ้นไปนานเท่าใดก็ตาม ทำให้กษัตริย์เฮอร์คิวลิสเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว จึงตอบตกลงทำสงครามกวาดล้างชาวยิวอย่างหนัก จนกระทั่งชาวยิวตายเกลี้ยง จนกล่าวได้ว่า ทั่วทั้งเขตหัวเมืองต่าง ๆ ของโรมัน อียิปต์และซีเรียไม่มีคนยิวเหลืออยู่เลย นอกจากที่หนีตายออกไปหรือไม่ก็อาศัยอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เท่านั้น
 
จากเรื่องราวต่าง ๆ ที่เล่ามา ทำให้รับทราบถึงความเหี้ยมโหด   กระหายเลือดและฉวยโอกาสทุกวิถีทางเพื่อชำระแค้นต่อฝ่ายตรงกันข้ามของทั้งสองฝ่ายในอดีตไม่ว่าจะเป็นยิวหรือ     คริสเตียน โดยไม่คำนึงถึงหลักความชอบธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถือเป็นพฤติกรรมที่เลวทรามและดูถูกดูแคลนต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์อย่างชัดเจน หากกลุ่มชนหรือประชาชาติใดมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ แน่นอนพวกเขาย่อมมิอาจทำหน้าที่ปฏิบัติภารกิจค้ำจุนสาสน์แห่งสัจธรรม ความยุติธรรมและสันติภาพได้ ภายใต้ร่มเงาและบทบัญญัติในลักษณะนี้ พวกเขาไม่มีวันทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขอย่างแท้จริงได้เลย




[i] Encyclopeadia Britanica , See Justin
[ii] Edward Gibbon : The History of Decline and Fall of the Roman Empire ,v. 3 p.327
[iii] Sale’s Translation , p. 72 (1896)
[iv] The History of Decline and Fall of the Roman Empire ,v. v. p.31
[v] Historian’s History of the World V.VII P.175
[vi] ในยุคกลางของยุโรป โดยเฉพาะระหว่าง ค.ศ.13 – 14 ถือเป็นยุคมืดที่ยุโรปต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายคริสตจักร ผู้มีความคิดเห็นที่ขัดแย้งจะถูกถือเป็นกบฏ และถูกกล่าวหาเป็นพ่อมด หมอผี ยุคนี้ถือเป็นรอยแปดเปื้อนในประวัติศาสตร์ศาสนา และยุคแห่งความหวาดผวา โดยเฉพาะการทารุณกรรมต่าง ๆ อย่างโหดร้ายป่าเถื่อน เช่นทรมานด้วยการตอกตะปูเหล็กบนร่างของเหยื่อ เผาทั้งเป็น และเชื่อกันว่าจำนวนผู้บริสุทธิ์ที่ถูกสังหารด้วยข้อหาพ่อมดหรือแม่มดมีจำนวนมหาศาล เฉพาะในเยอรมันมีไม่น้อยกว่า 100,000 คน เมื่อประเมินทุกประเทศมีไม่น้อยกว่า 200,000 คน ซึ่งแต่ละคนถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยมทารุณ  เหยื่อแห่งความ อยุติธรรมโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิงและนักวิชาการ ( ผู้แปล )
[vii] Hadharahtul Arab อ้างใน Al-Arab Fi Mishra แปลเป็นอาหรับโดย Adil Zu’aitar หน้า 336
[viii] A.J.Butler , Ibid ., pp. 133-134
[ix] อ้างแล้ว
[x] Historian’s History on the World V.VII  P.173
[xi] H.G. Well : A Short History of World p.170
[xii] Robert Briffault : The Making of Humanity , p.164
[xiii] เมืองซูร (Shour) เมืองทางตอนเหนือของประเทศเลบานอนปัจจุบัน 
[xiv] Al-Khithath Al-Muqriziyyah    v. 4 p. 392