Loading

 

ศึกษาทบทวนอัลกุรอาน (ตะดารุส อัลกุรอาน) กับครอบครัว

ศึกษาทบทวนอัลกุรอาน (ตะดารุส อัลกุรอาน) กับครอบครัว

 

       แท้จริงแล้ว การตะดารุส หรือการศึกษาทบทวนอัลกุรอานร่วมกันนั้นเป็นอิบาดะฮฺที่ยิ่งใหญ่มาก ผู้คนส่วนใหญ่มักจะลืมไม่ค่อยให้ความสนใจ เหตุใดเราจึงไม่ฉวยโอกาสจากวงพบปะกับครอบครัว ลูกๆ ภรรยา มิตรสหาย และคนอื่นๆ เพื่อร่วมกันตะดารุส ถึงแม้จะใช้เวลาแค่ไม่มากนัก และยังเป็นการฟื้นฟูวิถีแห่งบรรดาสะลัฟที่ได้พูดว่า “มาเถิดพวกเรามาร่วมกันเพิ่มอีมานสักครู่ยามหนึ่ง” ด้วยการที่เรามาร่วมกันศึกษาทบทวนอัลกุรอานเฉกเช่นที่คนเหล่านั้นได้เคยปฏิบัติมาให้เห็น

 

ความสำคัญของการตะดารุสอัลกุรอาน

บ่าวทั้งหลายของอัลลอฮฺ !

แท้จริง อัลลอฮฺได้ทรงประทานคัมภีร์ของพระองค์เป็นบะเราะกะฮฺ (สิริมงคล) เป็นนูรฺ (รัศมี) เป็นฮุดา (ทางนำ) เป็นชิฟาอ์ (โอสถการเยียวยา) และเมาอิเซาะฮฺ (การตักเตือน) พระองค์ทรงประทานมันลงมาเพื่อให้เราได้ตะดับบุรฺ(พินิจใคร่ครวญ)โองการต่างๆ ของมัน

การอ่านอัลกุรอานนั้นมีผลบุญที่ใหญ่หลวงยิ่ง การอ่านมันให้ดี(มีตัจญ์วีด)ก็มีผลบุญที่ยิ่งใหญ่นัก แต่ว่าการตะดับบุรฺอัลกุรอานนั้นคือหน้าที่หลักประการสำคัญอันเป็นสาเหตุแห่งการประทานมันลงมา

เหตุใดอัลลอฮฺจึงประทานอัลกุรอานลงมา ? เหตุก็เพื่อให้เราได้ตะดับบุรฺอายะฮฺต่างๆ ของมัน ส่วนการอ่านมันให้ดีนั้นเป็นตัวช่วยให้เราได้ตะดับบุรฺดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการอ่านให้มีตัจญ์วีด การรู้ว่าควรจะหยุดพักตรงไหน และการออกเสียงอักขระให้ถูก ก็จะช่วยให้ตะดับบุรฺได้ดีขึ้น

ความหมายของการตะดับบุรฺก็คือ การใช้ปัญญาเพื่อทำความเข้าใจความหมายของอายะฮฺอัลกุรอาน สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มอีมานและผลักดันให้เราปฏิบัติอะมัล เพราะฉะนั้นอัลลอฮฺจึงทรงบอกเราในคัมภีร์ของพระองค์ว่า เหตุที่ทรงประทานอัลกุรอานก็เพื่อให้มนุษย์ได้ตะดับบุรฺหรือพินิจใคร่ครวญ

การตะดับบุรฺนั้นอาจจะทำได้ด้วยตัวคนเดียว หรืออาจจะทำกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่ ซึ่งการทำแบบกลุ่มเช่นนี้เราเรียกว่า “ตะดารุส” ตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวถึงในหะดีษว่า

«مَا اجْتَمَعَ قَوْمٌ فِي بَيْتٍ مِنْ بُيُوتِ اللهِ يَتْلُوْنَ كِتَابَ اللهِ، وَيَتَدَارَسُوْنَهُ بَيْنَهُمْ إِلَّا نَزَلَتْ عَلَيْهِمُ السَّكِيْنَةُ، وَغَشِيَتْهُمُ الرَّحْمَةُ، وَحَفَّتْهُمُ الْمَلَائِكَةُ، وَذَكَرَهُمُ اللهُ فِيْمَنْ عِنْدَهُ» [رواه مسلم 2699]

ความว่า “ไม่มีคนกลุ่มใดที่รวมตัวกัน ณ บ้าน(มัสยิด)หลังใดหลังหนึ่งของอัลลอฮฺ โดยที่พวกเขาได้ร่วมกันอ่านอัลกุรอาน และร่วมกันศึกษาทบทวน(ตะดารุส)อัลกุรอาน เว้นแต่ว่าจะมี สะกีนะฮฺ(ความสงบนิ่ง)ลงมายังพวกเขา ความเมตตาจะปกคลุมพวกเขา บรรดามลาอิกะฮฺจะห้อมล้อมพวกเขา และอัลลอฮฺจะทรงกล่าวถึงพวกเขาให้แก่บรรดาผู้ที่อยู่ ณ พระองค์ฟัง” (มุสลิม 2699) 

 

คำว่า สะกีนะฮฺ ที่กล่าวถึงในหะดีษนั้น หมายถึงสมาธิและความสงบนิ่ง

 

การร่วมกันศึกษาทบทวนอัลกุรอานแบบกลุ่ม (ภาษาอาหรับใช้คำว่า ตะดารุส หรือ มุดาเราะสะฮฺ) นั้น เป็นอิบาดะฮฺที่ยิ่งใหญ่ซึ่งคนส่วนใหญ่หลงลืม

ย่อมเป็นสิ่งที่ดี ในการที่ท่านจะรวมกลุ่มกับครอบครัวเพื่อทบทวนอัลกุรอาน นั่งด้วยกันกับภรรยาและลูกๆ เพื่อตะดารุส หรือรวมตัวกับเพื่อนๆ ของท่านเพื่อตะดารุส แน่นอนว่าวงชุมนุมของเรานั้นมีเยอะและหลากหลาย เหตุใดเราจึงไม่ฉวยโอกาสในการรวมตัวของเราเพื่อตะดารุสบ้าง แม้เพียงสักเล็กน้อยก็ยังดี

การตะดารุสดังกล่าวนั้นจะเป็นการดีมากถ้าหากว่าทำในมัสยิด เมื่อบรรดาผู้ที่มีอีมาน(เช่นตัวอย่างจากสะลัฟศอลิห์-กัลยาณชนรุ่นแรกของอิสลาม)ได้เรียกร้องว่า “มาเถิดพวกเรา มาเพิ่มอีมานสักโมงยามหนึ่ง” แล้วพวกเขาก็ร่วมตะดารุสอัลกุรอานด้วยกัน

 

บ่าวทั้งหลายของอัลลอฮฺ !

แท้จริง การตะดารุสอัลกุรอานนั้นมีสถานะที่ยิ่งใหญ่และมีผลบุญที่มหาศาล การตะดารุสก็คือการอ่านอัลกุรอานด้วยการเพ่งพินิจ รู้ความหมาย และนำเอาความหมายดังกล่าวนั้นลงมาเทียบใช้ในชีวิตจริง

การตะดารุสนี้ เป็นอิบาดะฮฺที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเราแทบจะหามันไม่ได้ในชีวิตของเราทุกวันนี้ ส่วนใหญ่แล้วเราทุกคนมักจะอ่านอัลกุรอาน แต่การตะดารุสนั้นมีน้อยคนที่ทำกัน

ที่จริงการตะดารุสนั้นรวมอยู่ในความหมายของหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«تَعَاهَدُوْا الْقُرْآنَ» [البخاري 5033، مسلم 791]

ความว่า “จงผูกมัดกับอัลกุรอานให้ดี” (อัล-บุคอรีย์ 5033 มุสลิม 791)

 

การผูกมัดกับอัลกุรอาน (ภาษาอาหรับเรียกว่า ตะอาฮุด) หมายถึงการทบทวนสิ่งที่ได้ท่องจำไปแล้ว พร้อมๆ กับการอ่านไปด้วย และยังรวมถึงการให้ความสำคัญกับอัลกุรอาน ซึ่งครอบคลุมการตะดารุสด้วยเช่นกัน

การตะดารุสที่เรากล่าวถึงนี้ เป็นสิ่งที่บรรดาเศาะหาบะฮฺให้ความสำคัญและจริงจังกับมันมาก เพราะมันสามารถเพิ่มอีมานได้ และช่วยให้เราผูกพันเชื่อมโยงกับอัลลอฮฺตลอดเวลา เพราะยิ่งเราได้เข้าใจคัมภีร์ของพระองค์มากเท่าใดเราก็จะผูกพันใกล้ชิดกับพระองค์มากเท่านั้น และใครที่เข้าใจเป้าประสงค์ของอัลลอฮฺมากเท่าใดเขาก็จะรักพระองค์มากขึ้นเท่านั้น

นี่คือความสำคัญของการตะดารุส และเป็นความสำคัญของการตะดับบุรฺด้วย นั่นคือ เพื่อที่ท่านจะได้ใกล้ชิดพระผู้อภิบาลของท่านมากขึ้น เพื่อให้พระองค์รักท่านมากขึ้น การตะดับบุรฺจะช่วยให้ท่านท่องจำอัลกุรอานดีขึ้น และยังช่วยให้ความหมายของมันซึบซับเข้าไปในจิตใจของท่านมั่นคงขึ้นด้วย เพราะเมื่อท่านเข้าใจความหมายของมันท่านก็จะจำมันอย่างลึกซึ้งและลืมมันยาก

นอกจากนี้ มันยังช่วยเพิ่มความผูกพันและความรักระหว่างมนุษย์ด้วยกันอีกด้วย เพราะการตะดารุสคือการรวมกลุ่มกันของบรรดาผู้มีอีมาน แม้กระทั่งการรวมกลุ่มกับครอบครัวก็ตาม มันจะช่วยขัดเกลาหัวใจ และยังเป็นสาเหตุแห่งการได้รับความเมตตาและความสงบนิ่ง มีมลาอิกะฮฺคอยห้อมล้อม และอัลลอฮฺก็จะทรงกล่าวถึงพวกเราให้บรรดาผู้ที่อยู่ ณ ที่พระองค์ฟัง

จะมีอะไรที่เราต้องการมากไปกว่านี้อีก นี่คือผลตอบแทนจากอิบาดะฮฺดังกล่าวสำหรับคนที่ลงมือทำเท่านั้น

 

แนวทางของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺในการตะดารุส

ในเดือนเราะมะฎอนมีสุนนะฮฺประการหนึ่งที่ปรากฏในหะดีษของอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า

كَانَ النَّبِيُّ صلّى الله عليه وسلّم يَلْقٰى جِبْرِيْلَ فِي كُلِّ لَيْلَةٍ مِّنْ رَمَضَانَ فَيُدَارِسُهُ الْقُرْآنَ  [رواه البخاري 6]

ความว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะพบกับญิบรีลทุกคืนในเดือนเราะมะฎอน แล้วท่านก็จะศึกษาทบทวนอัลกุรอานร่วมกัน (อัล-บุคอรีย์ 6)

           

นั่นคือเหตุการณ์ตะดารุสระหว่างทูตที่เป็นมลาอิกะฮฺกับทูตที่เป็นมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นทุกคืนในเราะมะฎอน มันเป็นหลักฐานที่บอกถึงความสำคัญของอิบาดะฮฺนี้ได้ดียิ่ง

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เองก็ชอบที่จะฟังอัลกุรอานจากคนอื่นเป็นบางครั้งด้วยเช่นกัน เช่นที่ท่านสั่งให้อิบนุ มัสอูด อ่านอัลกุรอานให้ท่านฟัง เพื่อให้เกิดการตะดับบุรฺ(พินิจ)และตะฟักกุรฺ(คิดใคร่ครวญ) และเพื่อให้เกิดการตะดารุสพร้อมๆ กันด้วย

บรรดาเศาะหาบะฮฺมักจะนั่งอยู่ในมัสยิดเป็นกลุ่มๆ เพื่อตะดารุสอัลกุรอาน เพื่อเรียนรู้อะมัลต่างๆ ที่เป็นวาญิบและสุนัต และร่วมกันรำลึกถึงอัลลอฮฺในมัสยิด ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็จะคอยสอนพวกเขาให้เป็นคนที่มีอีมานพร้อมๆ กับการสอนอัลกุรอานให้พวกเขาด้วย บางทีบรรดาเศาะหาบะฮฺอาจจะนั่งร่วมกันแล้วยกประเด็นใดประเด็นหนึ่งในอัลกุรอานขึ้นมา เช่น อายะฮฺไหนในอัลกุรอานที่ให้ความหวังมากที่สุดแก่มนุษย์? มีบางอายะฮฺที่ทำให้เราเกิดความกลัวและมีอีกหลายอายะฮฺที่กล่าวถึงความเมตตาที่กระตุ้นความหวังแก่เรา พวกเขาก็อาจจะตอบคำถามว่า อายะฮฺที่น่ากลัวที่สุดคือ

﴿مَن يَعۡمَلۡ سُوٓءٗا يُجۡزَ بِهِۦ﴾ [النساء: ١٢٣] 

ความว่า “ใครก็ตามที่ทำความชั่ว เขาก็จะได้รับผลตอบแทนตามนั้น” (อัน-นิสาอ์ 123)

 

และถ้าถามว่าอายะฮฺไหนที่มีความหวังมากที่สุด เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความกลัวและความหวัง พวกเขาบางคนก็อาจจะตอบว่า อายะฮฺที่ให้ความหวังมากที่สุดคือ

﴿ حمٓ ١ تَنزِيلُ ٱلۡكِتَٰبِ مِنَ ٱللَّهِ ٱلۡعَزِيزِ ٱلۡعَلِيمِ ٢ غَافِرِ ٱلذَّنۢبِ وَقَابِلِ ٱلتَّوۡبِ شَدِيدِ ٱلۡعِقَابِ ذِي ٱلطَّوۡلِۖ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَۖ إِلَيۡهِ ٱلۡمَصِيرُ ٣ ﴾ [غافر: ١-٣] 

ความว่า “ฮา มีม นั่นคือการประทานคัมภีร์จากอัลลอฮฺผู้ทรงเกรียงไกรและรอบรู้ยิ่ง เป็นผู้ทรงอภัยแก่บาป ทรงรับการกลับตัว ทรงหนักหน่วงในการลงโทษ ผู้ทรงยิ่งด้วยความดีงามอันมากมาย ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ยังพระองค์เท่านั้นคือจุดหมายบั้นปลายแห่งการกลับคืน” (ฆอฟิรฺ 1-3)

 

ในอายะฮฺข้างต้นนี้อัลลอฮฺได้เริ่มด้วยการลบล้างความผิดก่อนที่จะรับการกลับตัวของบ่าว

 

หรือบางคนก็อาจจะตอบว่า อายะฮฺที่ให้ความหวังมากที่สุดคือ

﴿ ۞نَبِّئۡ عِبَادِيٓ أَنِّيٓ أَنَا ٱلۡغَفُورُ ٱلرَّحِيمُ ٤٩ وَأَنَّ عَذَابِي هُوَ ٱلۡعَذَابُ ٱلۡأَلِيمُ ٥٠ ﴾ [الحجر: ٤٩-٥٠]   

ความว่า “จงแจ้งแก่ปวงบ่าวของข้า ว่าแท้จริงข้าคือผู้อภัยยิ่ง ผู้เมตตายิ่ง และการลงโทษของข้าก็เป็นการลงโทษที่เจ็บปวด” (อัล-หิจญ์รฺ 49-50)

 

ในอายะฮฺนี้อัลลอฮฺเริ่มด้วยการอภัยโทษและความเมตตาก่อนการลงโทษ

 

หรือบางคนอาจจะตอบว่า อายะฮฺที่ให้ความหวังมากที่สุดคือ

﴿ ۞قُلۡ يَٰعِبَادِيَ ٱلَّذِينَ أَسۡرَفُواْ عَلَىٰٓ أَنفُسِهِمۡ لَا تَقۡنَطُواْ مِن رَّحۡمَةِ ٱللَّهِۚ إِنَّ ٱللَّهَ يَغۡفِرُ ٱلذُّنُوبَ جَمِيعًاۚ إِنَّهُۥ هُوَ ٱلۡغَفُورُ ٱلرَّحِيمُ ٥٣ ﴾ [الزمر: ٥٣] 

ความว่า “จงกล่าวเถิด โอ้บ่าวทั้งหลายของข้า ผู้ที่ละเมิดต่อตัวเอง พวกเจ้าอย่าได้หมดในความเมตตาของอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงอภัยโทษให้ทั้งหมด แท้จริง พระองค์คือผู้ทรงยิ่งด้วยการอภัยโทษและทรงยิ่งด้วยความเมตตา” (อัซ-ซุมัรฺ 53)

 

หรือบางคนก็อาจจะตอบว่า อายะฮฺที่ให้ความหวังมากที่สุดก็คือ

﴿ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَلَمۡ يَلۡبِسُوٓاْ إِيمَٰنَهُم بِظُلۡمٍ أُوْلَٰٓئِكَ لَهُمُ ٱلۡأَمۡنُ وَهُم مُّهۡتَدُونَ ٨٢ ﴾ [الأنعام: ٨٢] 

ความว่า “บรรดาผู้ที่ศรัทธาและไม่ได้แปดเปื้อนความศรัทธาของพวกเขาด้วยการอธรรม(การตั้งภาคี) คนเหล่านั้นแหละคือผู้ที่ได้รับความปลอดภัยและเป็นผู้ที่ได้รับการชี้ทาง” (อัล-อันอาม 82)

 

นี่คือสภาพของบรรดาเศาะหาบะฮฺกับอัลกุรอาน แม้กระทั่งในตอนที่พวกเขาต้อนรับแขกและการอำนวยความสะดวกแก่พวกเขา ก็ยังไม่พ้นจากการพูดคุยสอบถามและศึกษาทบทวนอัลกุรอานร่วมกัน เช่นที่ท่านมะอฺมัรฺเคยเล่าให้ฟังว่า มีคนเล่าให้ฉันฟังว่าครั้งหนึ่งมีคณะเดินทางได้เดินผ่านท่าน อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านจึงถามคนเหล่านี้ว่าพวกเขาเป็นใคร ? พวกเขาตอบว่า เรามาจาก อัล-ฟัจญ์ อัล-อะมีก (สถานที่อันไกลโพ้น) ท่านถามต่อไปว่า พวกท่านจะไปไหน? พวกเขาตอบว่า เราต้องการไปยัง อัล-บัยต์ อัล-อะตีก (บ้านของอัลลอฮฺ นั่นคือ กะอฺบะฮฺ ณ นครมักกะฮฺ) อุมัรฺกล่าวต่อไปว่า แท้จริงคนเหล่านี้ต้องไม่ใช่คนธรรมดา กับความรู้ความเข้าใจระดับนี้ กับคำตอบต่างๆ ที่น่าสนใจเหล่านี้ ที่ตอบคำถามโดยใช้ศัพท์ในอัลกุรอานว่า อัล-ฟัจญ์ อัล-อะมีก และ อัล-บัยต์ อัล-อะตีก ท่านอุมัรฺก็เลยสั่งให้ตัวแทนของท่านถามพวกเขาว่า อายะฮฺใดในอัลกุรอานที่แสดงถึงความเที่ยงธรรม(อะห์กัม)มากที่สุด ? พวกเขาก็ตอบว่า

﴿ فَمَن يَعۡمَلۡ مِثۡقَالَ ذَرَّةٍ خَيۡرٗا يَرَهُۥ ٧ وَمَن يَعۡمَلۡ مِثۡقَالَ ذَرَّةٖ شَرّٗا يَرَهُۥ ٨ ﴾ [الزلزلة: ٧-٨] 

ความว่า “ใครก็ตามที่ทำความดีแม้เล็กเพียงผงธุลีเขาก็จะได้เห็นมัน และใครก็ตามที่ทำความชั่วแม้เล็กเพียงผงธุลีเขาก็จะได้เห็นมัน” (อัซ-ซัลซะละฮฺ 7-8)

 

อุมัรฺก็ถามต่อไปว่า อายะฮฺที่ใดที่แสดงถึงความยุติธรรม(อะอฺดัล)มากที่สุด ? พวกเขาตอบว่า

﴿ ۞إِنَّ ٱللَّهَ يَأۡمُرُ بِٱلۡعَدۡلِ وَٱلۡإِحۡسَٰنِ وَإِيتَآيِٕ ذِي ٱلۡقُرۡبَىٰ وَيَنۡهَىٰ عَنِ ٱلۡفَحۡشَآءِ وَٱلۡمُنكَرِ وَٱلۡبَغۡيِۚ يَعِظُكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَذَكَّرُونَ ٩٠ ﴾ [النحل: ٩٠] 

ความว่า “แท้จริง อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ในความยุติธรรม การทำดี การให้ทานแก่ญาติใกล้ชิด พระองค์ทรงห้ามจากสิ่งโสมม ความชั่วและการละเมิด พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้าเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้บทเรียน” (อัล-หิจญ์รฺ 90)

 

อุมัรฺก็ถามต่อไปว่า อายะฮฺใดที่ยิ่งใหญ่(อะอฺซ็อม)ที่สุด? พวกเขาตอบว่า

﴿ ٱللَّهُ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَ ٱلۡحَيُّ ٱلۡقَيُّومُۚ ...﴾ [البقرة: ٢٥٥] 

ความว่า “อัลลอฮฺ คือ ผู้ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ คือผู้ทรงชีวิน ผู้ทรงยืนหยัดด้วยพระองค์เองและสรรพสิ่งทั้งหมดต้องพึ่งพระองค์ ... (อายะฮฺกุรสีย์จนจบ)” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 255)

 

อุมัรถามต่อไปว่า อายะฮฺใดที่ให้ความหวังแก่มนุษย์(อัรญา)มากที่สุด? พวกเขาตอบว่า

﴿ ۞قُلۡ يَٰعِبَادِيَ ٱلَّذِينَ أَسۡرَفُواْ عَلَىٰٓ أَنفُسِهِمۡ لَا تَقۡنَطُواْ مِن رَّحۡمَةِ ٱللَّهِۚ إِنَّ ٱللَّهَ يَغۡفِرُ ٱلذُّنُوبَ جَمِيعًاۚ إِنَّهُۥ هُوَ ٱلۡغَفُورُ ٱلرَّحِيمُ ٥٣ ﴾ [الزمر: ٥٣] 

ความว่า “จงกล่าวเถิด โอ้บ่าวทั้งหลายของข้า ผู้ที่ละเมิดต่อตัวเอง พวกเจ้าอย่าได้หมดในความเมตตาของอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงอภัยโทษให้ทั้งหมด แท้จริง พระองค์คือผู้ทรงยิ่งด้วยการอภัยโทษและทรงยิ่งด้วยความเมตตา” (อัซ-ซุมัรฺ 53)

 

อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เคยนำตัวอิบนุ อับบาสเข้าไปนั่งร่วมวงกับท่านพร้อมกับเศาะหาบะฮฺระดับผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่อิบนุ อับบาสเป็นเด็กอายุน้อย ทำให้เศาะหาบะฮฺบางคนถึงกับถามว่าเหตุใดจึงต้องเอาเด็กมานั่งอยู่ด้วย กระทั่งวันหนึ่ง อุมัรฺได้ถามเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นว่า พวกท่านจะกล่าวว่าอย่างไรเกี่ยวกับพระดำรัสของอัลลอฮฺในสูเราะฮฺ อัน-นัศรฺ ที่ว่า

﴿ إِذَا جَآءَ نَصۡرُ ٱللَّهِ وَٱلۡفَتۡحُ ١ وَرَأَيۡتَ ٱلنَّاسَ يَدۡخُلُونَ فِي دِينِ ٱللَّهِ أَفۡوَاجٗا ٢ فَسَبِّحۡ بِحَمۡدِ رَبِّكَ وَٱسۡتَغۡفِرۡهُۚ إِنَّهُۥ كَانَ تَوَّابَۢا ٣ ﴾ [النصر: ١- ٣] 

ความว่า “เมื่อความชัยชนะแห่งอัลลอฮฺและการพิชิตมาถึง และเจ้าได้เห็นคนทั้งหลายรับอิสลามกันเป็นหมู่พวกมากมาย ดังนั้น เจ้าจงสดุดีด้วยการสรรเสริญพระผู้อภิบาลของเจ้า และจงขออภัยโทษต่อพระองค์ แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ให้อภัยเสมอ” (สูเราะฮฺ อัน-นัศรฺ)

 

เศาะหาบะฮฺบางคนก็ตอบว่า ในสูเราะฮฺนี้อัลลอฮฺได้สั่งให้เราสดุดีพระองค์และอิสติฆฟารฺต่อพระองค์ เมื่อเราได้รับชัยชนะและได้พิชิตดินแดนต่างๆ ซึ่งนี่คือความหมายโดยผิวเผินของสูเราะฮฺนี้ ซึ่งการอธิบายนี้สามารถรู้ได้โดยไม่ต้องผ่านการวิเคราะห์แต่อย่างใด เศาะหาบะฮฺบางคนก็เงียบไม่ตอบใดๆ อุมัรฺก็เลยหันไปถามอิบนุ อับบาสว่า เจ้าเห็นด้วยไหม อิบนุ อับบาส? อิบนุ อับบาสตอบว่า ไม่ อุมัรฺถามว่า แล้วเจ้าจะอธิบายว่าอย่างไร? อิบนุ อับบาสก็ตอบว่า มันเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะเสียชีวิตแล้ว อัลลอฮฺทรงแจ้งให้ท่านทราบว่าหมดวาระแห่งอายุขัยของท่านแล้ว พระองค์จึงได้ตรัสเช่นที่ทรงกล่าวถึงในสูเราะฮฺนี้ อุมัรฺ จึงกล่าวว่า สิ่งที่ฉันรู้เกี่ยวกับสูเราะฮฺนี้ไม่ได้เป็นอื่นนอกเหนือหรือแตกต่างจากที่เจ้ารู้เลย? (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 3627) ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

 

เช่นเดียวกัน ในอายะฮฺที่พระองค์ตรัสว่า

﴿ أَيَوَدُّ أَحَدُكُمۡ أَن تَكُونَ لَهُۥ جَنَّةٞ مِّن نَّخِيلٖ وَأَعۡنَابٖ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ لَهُۥ فِيهَا مِن كُلِّ ٱلثَّمَرَٰتِ وَأَصَابَهُ ٱلۡكِبَرُ وَلَهُۥ ذُرِّيَّةٞ ضُعَفَآءُ فَأَصَابَهَآ إِعۡصَارٞ فِيهِ نَارٞ فَٱحۡتَرَقَتۡۗ كَذَٰلِكَ يُبَيِّنُ ٱللَّهُ لَكُمُ ٱلۡأٓيَٰتِ لَعَلَّكُمۡ تَتَفَكَّرُونَ ٢٦٦ ﴾ [البقرة: ٢٦٦] 

ความว่า “มีคนใดในพวกเจ้าชอบบ้างไหมที่เขาจะมีสวนอินทผลัมและองุ่นต่างๆ ซึ่งเบื้องล่างของสวนนั้นมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน ผลไม้ทั้งหมดในสวนนั้นเป็นของเขา และความชราได้ประสบแก่เขา และเขาก็มีลูกๆ ที่ยังอ่อนแออยู่ แต่แล้วได้มีลมพายุประสบแก่สวนนั้น ซึ่งในลมพายุนั้นมีไฟด้วย แล้วมันเผาสวนจนมอดไหม้ไป ในทำนองนั้นแหละ อัลลอฮฺทรงแจกแจงโองการทั้งหลายให้พวกเจ้าทราบ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ใคร่ครวญ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 266)

 

อุมัรฺได้ถามอิบนุ อับบาสเกี่ยวกับอายะฮฺนี้ อิบนุ อับบาสก็ตอบว่า มันเป็นการยกอุทาหรณ์สำหรับการปฏิบัติอะมัล อุมัรฺถามว่าอะมัลอะไร? อิบนุ อับบาสตอบว่า สำหรับอะมัลใดๆ ก็ตาม อุมัรก็เลยพูดว่า มันหมายถึงชายที่ร่ำรวยและทำความดีไว้มากมาย แล้วอัลลอฮฺก็ส่งชัยฏอนมาทดสอบเขา แล้วเขาก็ทำบาปจนกระทั่งอะมัลความดีต่างๆ ของเขาล่มจมหมดสิ้น

นี่คืออุทาหรณ์ในอัลกุรอานที่เราอ่านอยู่ประจำ แต่มีกี่คนที่จะเข้าถึงเนื้อหาสาระหรือข้อบ่งชี้ของอุทาหรณ์ข้อนี้ ท่อนต่างๆ ที่สมบูรณ์ของอายะฮฺนี้ก็คือ

﴿أَيَوَدُّ أَحَدُكُمۡ أَن تَكُونَ لَهُۥ جَنَّةٞ مِّن نَّخِيلٖ وَأَعۡنَابٖ﴾

ความว่า “มีคนใดในพวกเจ้าชอบบ้างไหมที่เขาจะมีสวนอินทผลัมและองุ่นต่างๆ”

 

เป็นสวนขนาดใหญ่ที่เต็มไปต้นไม้ต่างๆ ที่สวยงาม มีทั้งอินผลัมและองุ่นต่างๆ ที่มีผลออกมาอย่างงดงามน่าอัศจรรย์ใจ ไม่ใช่แค่องุ่นประเภทเดียว เป็นองุ่นหลายพันธุ์หลายประเภทด้วย แล้วยังมีผลหมากรากไม้อื่นๆ อีกมากมาย ลองคิดดูสิว่าสวนที่ว่านี้จะมีราคาและคุณค่าสูงมากขนาดไหนสำหรับเขา? มันจะสำคัญมากแค่ไหนสำหรับตัวเขา? แน่นอนว่ามันสำคัญและมีราคามาก เพราะในนั้นมีผลผลิตต่างๆ ที่มากมายเหลือเกิน นี่คือการเปรียบเทียบสภาพของเขา ทั้งด้านวัตถุและด้านสังคม ในสภาพนั้นเขายังมีอายุแก่เฒ่าและไม่มีแรงที่จะทำงานได้มากมายอีกต่อไป สวนดังกล่าวจึงมีค่ากับเขามาก เพราะมันเป็นทุกอย่างสำหรับเขาในการเป็นริซกีที่จะได้ใช้ยามแก่เฒ่า เป็นแหล่งเงินที่จะใช้เลี้ยงชีพ มีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยสวนดังกล่าว เขามีอายุแก่ขนาดนั้นย่อมจะทำงานต่อไปไม่ไหวจึงได้แต่พึ่งสวนที่เหลืออยู่นี้เท่านั้นแล้ว ไม่เพียงแค่นั้น อัลลอฮฺยังบอกว่าเขามียังลูกหลานตัวเล็กๆ หรือคนที่อ่อนแอเพราะพิการหรือคนป่วยที่เขาต้องคอยเลี้ยงดูอีกด้วย ในขณะที่ตัวเองก็แก่ชราแล้วยังมีลูกหลานตัวเล็กๆ อีก ลองคิดดูสิว่าเขามีความจำเป็นต่อสวนที่ว่านี้ขนาดไหน มันมีความสำคัญต่อเขาสูงแค่ไหน สำคัญต่อลูกหลานของเขาแค่ไหน ความหวังทั้งหมดของเขาวางไว้บนสวนนี้ที่เดียวแล้ว ทว่าจู่ๆ ก็มีพายุพัดกระหน่ำเข้ามาแล้วก็เกิดไฟไหม้สวนขึ้นมาอย่างฉับพลัน ผลจะเป็นอย่างไร? การยกอุทาหรณ์นี้มีประโยชน์เพื่ออะไร? มีใครที่อ่านอายะฮฺนี้แล้วคิดใคร่ครวญถึงมันบ้าง

เราอาจจะอ่านอัลกุรอานจบเล่มหลายครั้งหรือไม่ได้จบเล่ม แต่เราก็ยังบกพร่องทั้งสองกรณี เพราะเวลาผ่านอายะฮฺนี้ เราไม่เคยคิดเลยว่าความหมายมันคืออะไร? มันเป็นอุทาหรณ์ที่อัลลอฮฺทรงยกมาเพื่อสิ่งใด? คำตอบคือ เป็นอุทาหรณ์ถึงชายที่ทำความดีไว้มากมาย ซึ่งเขาจำเป็นต้องใช้มันในวันกิยามะฮฺ แต่ชัยฏอนก็มาล่อลวงเขาให้เกิดความโอ้อวดและหลงตัวเอง จนทำให้เขาฟังและพูดด้วยอาการที่เหลิงกับการกระทำของตัวเอง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้อะมัลต่างๆ เสียหาย การโอ้อวดและหลงตัวเองคือสิ่งที่ทำลายอะมัล เมื่อเขาได้กลายเป็นเช่นนี้ไปเสียแล้ว จะยังเหลือผลบุญอะไรกับตัวเขาอีก? แน่นอนว่าไม่เหลืออะไรอีกแล้ว เขาจะมาในวันกิยามะฮฺด้วยความต้องการและความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อความดีงามต่างๆ ท่ามกลางความโกลาหลอันน่าสะพรึงกลัวในวันนั้น ณ ที่ชุมนุม ที่ชั่งความดี เมื่ออัลลอฮฺทรงมาเพื่อตัดสิน เมื่อสมุดบันทึกการงานถูกแจกจ่ายและกระจายไปทั่ว ทุกคนก็จะรับสมุดของตัวเอง ไฟนรกที่อยู่ต่อหน้าก็ร้อนระอุเต็มที่ มีเสียงเผาไหม้ดังอื้ออึงที่ทุกคนต่างก็ได้ยิน คิดดูสิว่าเขามีความจำเป็นต้องใช้ความดีงามที่สะสมไว้มากแค่ไหน? แต่แล้วเขาก็ไม่พบความดีที่ทำไว้เลย เพราะอะไร? เพราะความโอ้อวด หลงตัวเอง ทะนงตน และลำเลิกบุญคุณ ได้พามันเอาไปหมดแล้ว เช่นที่อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ثُمَّ لَا يُتۡبِعُونَ مَآ أَنفَقُواْ مَنّٗا وَلَآ أَذٗى﴾ [البقرة: ٢٦٢] 

ความว่า “(ผู้ที่บริจาค)แล้วพวกเขาก็ไม่ได้ตามการบริจาคด้วยการลำเลิกบุญคุณหรือสร้างความเดือดร้อน” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 262)

 

จากอายะฮฺนี้เราเข้าใจได้ว่าการลำเลิกนั้นจะทำลายการบริจาคทั้งหมดได้ (ผู้แปล)

 

﴿وَوَجَدَ ٱللَّهَ عِندَهُۥ فَوَفَّىٰهُ حِسَابَهُۥۗ﴾ [النور: ٣٩] 

ความว่า “แล้วเขาก็พบอัลลอฮฺอยู่ ณ ที่นั้น แล้วพระองค์ก็ทรงตอบแทนแก่เขาด้วยการคิดบัญชีเขา” (อัน-นูรฺ 39)

 

อายะฮฺนี้กล่าวถึงกาฟิรฺที่หวังว่าจะพบกับผลตอบแทนที่ดีในวันกิยามะฮฺ แต่สุดท้ายก็ความหวังดังกล่าวก็สูญเปล่าเพราะตัวเองไม่ใช่ผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ การทำดีของเขาในโลกนี้จึงไม่มีประโยชน์ใดๆ (ผู้แปล)

 

ลองคิดดูว่า โศกนาฏกรรม ณ เวลานั้นจะหนักหนาขนาดไหน? ความเจ็บปวดใจจะทรมานแค่ใด? แท้จริง มันเหมือนกับฟ้าผ่ากลางหัว และนี่ก็คืออุทาหรณ์ที่อัลลอฮฺบอกกับเรา แต่ว่า จะมีกี่คนและใครบ้างที่พินิจใคร่ครวญอุทาหรณ์ดังกล่าวนี้ ?

 

จะตะดารุสกับใคร ?

เราจะตะดารุส หรือศึกษาทบทวนอัลกุรอานกับใคร เพื่อจะได้ดึงคลังความหมายและเนื้อหาของอัลกุรอานออกมา? ด้วยเหตุนี้ จึงขอกำชับอีกครั้งว่า เราจำเป็นจะต้องมีวงชุมนุมในการตะดารุส แม้กระทั่งกับภรรยาและลูกๆ หยิบยกอายะฮฺบางอายะฮฺมา แม้เพียงแค่อายะฮฺเดียวก็ตาม แล้วมาดูความหมายจากหนังสือตัฟซีรฺของนักอรรถาธิบาย จากนั้นก็เริ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นภายใต้ความหมายที่ได้รับรู้รับฟัง ว่าอายะฮฺที่ว่านี้สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตจริงได้อย่างไร เราจะใช้ประโยชน์จากอายะฮฺนี้อย่างไร วิเคราะห์หาบทเรียนอะไรได้บ้าง ดึงข้อมูลอะไรได้กี่อย่าง เนื้อหาอันนั้นกับอันนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร นี่คือตัวอย่างของการใช้ความคิดเพื่อใคร่ครวญความหมายของอัลกุรอานที่อัลลอฮฺประทานลงมาให้กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

คนส่วนใหญ่ลืมการตะดารุส

บ่าวทั้งหลายของอัลลอฮฺ !!

ประเด็นของการตะดับบุรฺ การใคร่ครวญ  การร่วมกันศึกษาทบทวนอัลกุรอาน และใช้ความคิดเพื่อหาสาระจากความหมายของอัลกุรอาน จะทำไม่ได้นอกจากต้องอาศัยการอรรถาธิบายหรือการตัฟซีรฺเท่านั้น ลองหาแม้เพียงแค่หนังสือตัฟซีรฺมุยัสสัรฺ (ตัฟซีรฺอย่างง่าย) เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ใช่จะเป็นคนรู้กันทุกคน พวกเขาไม่สามารถที่อ่านหนังสือเล่มใหญ่ๆ ยาวๆ ได้ แต่มันก็มีหนังสือแบบย่อๆ สั้นๆ อยู่บ้าง ที่อย่างน้อยได้อธิบายคำยากๆ ในอัลกุรอานไว้ว่าความหมายมันคืออะไร หรืออาจจะหาหนังสือที่อธิบายความหมายโดยรวมของอัลกุรอาน ซึ่งการเริ่มต้นเช่นนี้ถือเป็นก้าวแรกที่ดี ที่จะช่วยให้มุสลิมได้เข้าใจความหมายในภาพรวมของอัลกุรอานและรู้ความหมายของศัพท์ต่างๆ ที่ตนได้อ่านก่อนในเบื้องต้น

ถ้าลองถามใครสักคนว่า ท่องจำสูเราะฮฺอะไรบ้าง? สูเราะฮฺสั้นๆ อย่าง กุลฮุวัลลอฮฺ ท่องได้ไหม? ถ้าอย่างนั้นบอกได้ไหมว่า อัศ-ศอมัด ในสูเราะฮฺนั้นหมายถึงอะไร? เขาก็จะตอบว่าไม่รู้ ถ้าถามว่า อัล-ฟะลัก ในสูเราะฮฺ กุลอะอูวุบิร็อบบิล ฟะลัก หมายถึงอะไร? เขาก็ตอบว่าไม่รู้ อะไรคือ ฆอสิก ในสูเราะฮฺนั้น? ก็ไม่รู้อีก อะไรคือ วะก็อบ? ไม่รู้เช่นกัน บางทีเขาก็อาจจะอ่านบางอายะฮฺผิด เช่น แทนที่จะอ่าน ลิอีลาฟิ คือต้อง (อี) แบบยาวๆ เพราะมีตัว ยาอ์ อยู่ด้วย เขาอาจจะอ่านแบบสั้นๆ ไม่มียาอ์ว่า ลิอิลาฟิ เป็นต้น แล้วถ้าถามว่า ลิอีลาฟิ หมายถึงอะไร? ก็ตอบว่าไม่รู้อีกเช่นกัน  

นี่ขนาดสูเราะฮฺสั้นๆ ที่มีเนื้อหาดีๆ มากมาย ก็ยังไม่สามารถจะรู้และเข้าใจ แล้วนับประสาอะไรกับสูเราะฮฺอื่นที่มีขนาดยาวๆ ทั้งๆ ที่อัลกุรอานเล่มนี้แหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา มันคือสารที่สำคัญที่สุด สำคัญกว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก สำคัญกว่าอรรถาธิบายตำราใหญ่ๆ สำคัญกว่าแค็ตตาล็อกสินค้า เอกสาร เว็บไซต์ หรือหนังสือพิมพ์ .. สุบหานัลลอฮฺ ! .. น่าแปลกมากสำหรับผู้คนทุกวันนี้ พวกเขาอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านหนังสือทั่วไป หนังสือตลกขำขัน หนังสือนิทาน หนังสือนิยาย หรือบางทีก็พยายามมุ่งง่วนอยู่กับหนังสือคู่มือการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์สักตัวได้ แต่กับหนังสือรากฐานอันเป็นคัมภีร์ที่เกรียงไกรและประเสริฐยิ่งกลับอ่านไม่ได้ แท้จริงแล้ว อัลกุรอานนั้นเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของเราทุกคน

﴿ وَإِنَّهُۥ لَذِكۡرٞ لَّكَ وَلِقَوۡمِكَۖ وَسَوۡفَ تُسۡ‍َٔلُونَ ٤٤ ﴾ [الزخرف: ٤٤]   

ความว่า “และแท้จริง (อัลกุรอาน)นั้นคือบทตักเตือนให้ระลึกสำหรับเจ้าและพวกของเจ้า และพวกเจ้าจะถูกสอบถาม” (อัซ-ซุครุฟ 44)

 

เราจะถูกถามเกี่ยวกับอัลกุรอานว่า รู้ความหมายของมันไหม? มันถูกประทานมาให้แก่เจ้าแล้ว เจ้าเรียนมันไหม? ดังนั้น จึงจำเป็นต้องฟื้นฟูการตะดับบุรฺและตะดารุส โอ้บรรดามุสลิมทั้งหลาย เพราะมันเป็นสุนนะฮฺที่หายไปจากพวกเรา ยกเว้นสำหรับคนบางคนที่อัลลอฮฺทรงเมตตา

ผู้รู้คนหนึ่งถามบรรดาลูกศิษย์ว่า การรักอัลลอฮฺเป็นฟัรฎู(เป็นสิ่งที่จำเป็น)ไหม? พวกเขาก็ตอบว่า ใช่ ผู้รู้ถามต่อไปว่า ไหนลองยกหลักฐานจากอัลกุรอานมาหน่อยซิ? ไม่มีใครตอบได้ พวกเขาคิดไม่ออกว่าอยู่ในอายะฮฺใด จริงอยู่ มีอายะฮฺที่พูดถึงความรักของอัลลอฮฺและบรรดาผู้ศรัทธาว่า

﴿يُحِبُّهُمۡ وَيُحِبُّونَهُۥٓ﴾ [المائ‍دة: ٥٤] 

ความว่า “พระองค์ทรงรักพวกเขา(บรรดาผู้ศรัทธา) และพวกเขาก็รักพระองค์” (อัล-มาอิดะฮฺ 54)

 

และยังมีอายะฮฺหลายแห่งที่อธิบายว่าผู้ศรัทธารักอัลลอฮฺ แต่อายะฮฺที่บอกว่าจำเป็นต้องรักอัลลอฮฺล่ะ ไม่มีใครตอบได้ ท่านผู้รู้ก็เลยเฉลยว่า มันคือดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

﴿ قُلۡ إِن كَانَ ءَابَآؤُكُمۡ وَأَبۡنَآؤُكُمۡ وَإِخۡوَٰنُكُمۡ وَأَزۡوَٰجُكُمۡ وَعَشِيرَتُكُمۡ وَأَمۡوَٰلٌ ٱقۡتَرَفۡتُمُوهَا وَتِجَٰرَةٞ تَخۡشَوۡنَ كَسَادَهَا وَمَسَٰكِنُ تَرۡضَوۡنَهَآ أَحَبَّ إِلَيۡكُم مِّنَ ٱللَّهِ وَرَسُولِهِۦ وَجِهَادٖ فِي سَبِيلِهِۦ فَتَرَبَّصُواْ حَتَّىٰ يَأۡتِيَ ٱللَّهُ بِأَمۡرِهِۦۗ وَٱللَّهُ لَا يَهۡدِي ٱلۡقَوۡمَ ٱلۡفَٰسِقِينَ ٢٤ ﴾ [التوبة: ٢٤] 

ความว่า “จงกล่าวเถิดว่า หากบรรดาบิดาของพวกเจ้า และบรรดาลูกๆ ของพวกเจ้า และบรรดาพี่น้องของพวกเจ้า และบรรดาคู่ครองของพวกเจ้า และบรรดาญาติของพวกเจ้า และบรรดาทรัพย์สมบัติที่พวกเจ้าแสวงหาไว้ และสินค้าที่พวกเจ้ากลัวว่าจะจำหน่ายมันไม่ออก และบรรดาที่อยู่อาศัยที่พวกเจ้าพึงพอใจมันนั้น เป็นที่รักใคร่แก่พวกเจ้ายิ่งกว่าอัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ และการต่อสู้ในทางของพระองค์แล้วไซร้ ก็จงรอคอยกันเถิดจนกว่าอัลลอฮฺจะทรงนำมาซึ่งคำสั่ง(การลงโทษ)ของพระองค์ และอัลลอฮฺนั้นจะไม่ทรงนำทางแก่กลุ่มชนที่ละเมิด” (อัต-เตาบะฮฺ 24)

 

คำว่า “จงรอคอย” ในอายะฮฺนี้เป็นการข่มขู่ จากสำนวนนี้ทำให้เรารู้ว่าการรักอัลลอฮฺนั้นเป็นฟัรฎู(เป็นสิ่งจำเป็น) เพราะอัลลอฮฺจะไม่ขู่ในเรื่องที่สุนัต(สิ่งที่เป็นความสมัครใจ) พระองค์จะไม่ขู่ในเรื่องที่บ่าวละทิ้งของสุนัต หรือละทิ้งสิ่งที่อนุญาต พระองค์จะไม่ขู่เว้นแต่ในเรื่องที่เป็นการละทิ้งสิ่งวาญิบเท่านั้น ดังนั้น เราจึงรู้ได้ว่าการรักอัลลอฮฺนั้นวาญิบจากสำนวนในอายะฮฺนี้นั่นเอง และนี่ก็คือบรรยากาศการเรียนรู้ของบรรดาชาวสะลัฟกัลยาณชนแห่งอิสลาม ทุกครั้งที่พวกเขามีวงชุมนุม การพูดคุยและการแลกเปลี่ยนของพวกเขาจะอยู่ในกรอบของการตะดารุสเสมอ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเช่นนี้ จะเป็นการพูดถึงอัลกุรอาน

ในอดีตอันใกล้ไม่นานมานี้เอง ณ ประตู อัล-ฟัตห์ ที่มัสยิด อัล-หะรอม นครมักกะฮฺ ก็มีวงชุมนุมเพื่อการตะดารุส สิบกว่าปีที่มีเหล่าผู้อาวุโสและนักศึกษามานั่งตรงนี้ วงศึกษานี้เจาะจงเฉพาะการตะดารุสเท่านั้น ไม่ใช่ทำหัลเกาะฮฺเพื่อศึกษาตัจญ์วีดหรือทดสอบการอ่านอัลกุรอาน ไม่ใช่หัลเกาะฮฺตะห์ฟีซฺหรือท่องจำอัลกุรอาน แต่เป็นหัลเกาะฮฺเพื่อการตะดารุสศึกษาทบทวนอัลกุรอานอย่างเดียวเลย

สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเชิญชวนและเรียกร้องสู่การฟื้นฟูเรื่องนี้ แม้กระทั่งในโลกออนไลน์ก็ได้ อาจจะให้มีการตะดารุสผ่านอินเตอร์เน็ต ด้วยการรวบรวมมิตรสหายจำนวนหนึ่งแบบทางไกล แล้วตั้งหัวข้อการตะดารุสอัลกุรอานว่า เอาอายะฮฺนี้มา ดูความหมายของมันจากตัฟซีรฺของอุละมาอ์ แล้วก็แลกเปลี่ยนความเห็นในความหมายที่ดูมา บทเรียนภายใต้ความหมายนั้นเป็นอย่างไร กรอบขอบเขตที่ความหมายนั้นครอบคลุมถึง ตัวอย่างการใช้ความหมายดังกล่าวและภาคปฏิบัติในชีวิตจริงควรเป็นอย่างไร เป็นต้น

 

ประโยชน์ของการตะดารุส

ผู้ศรัทธาทั้งหลาย .. บรรดาปวงบ่าวของอัลลอฮฺ!

เหล่าอุละมาอ์ของเราและชาวสะลัฟของเราต่างก็ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มาก บางคนในหมู่พวกท่านเหล่านั้นอาจจะออกจากบ้านมาเพื่อละหมาดอัศรฺ แล้วก็มานั่งกับเพื่อนสนิทของเขาในมัสยิดเพื่อศึกษาทบทวน-ตะดารุสอายะฮฺอัลกุรอานแค่หนึ่งอายะฮฺเท่านั้น

ครูผู้อาวุโสของเราบางคนเคยจัดเวลาบางวันเป็นการเฉพาะให้กับครอบครัวของท่าน ทุกๆ สองสัปดาห์หนึ่งครั้งให้กับบรรดาผู้ชาย และทุกๆ สองสัปดาห์ให้กับบรรดาผู้หญิงอีกหนึ่งครั้ง เพราะท่านมีครอบครัวใหญ่ แล้วก็จะมีลูกหลานมาหา สำหรับผู้ชายวันหนึ่ง และสำหรับผู้หญิงวันหนึ่ง ตั้งประเด็นหัวข้อในการสนทนาเป็นการตะดารุสอัลกุรอานแม้เพียงแค่อายะฮฺเดียวเท่านั้นก็ตาม

เพราะเราทุกคนจะถูกสอบถามเกี่ยวกับอัลกุรอาน โอ้ บ่าวทั้งหลายของอัลลอฮฺ เราทุกคนจะถูกถามถึงคัมภีร์เล่มนี้ ในอัลกุรอานมีอายะฮฺมากมายที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ถ้าหากท่านเข้าใจ มันสามารถที่จะสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงจากความเคลือบแคลงสงสัยที่มีอยู่กลาดเกลื่อนในสังคมปัจจุบัน มีอายะฮฺมากมายที่สร้างพลังแห่งการยืนหยัดท่ามกลางวิกฤตที่ยุ่งยากได้

ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ผู้คนต่างก็ต้องเผชิญกับสิ่งต้องห้ามและอารมณ์ใฝ่ต่ำ แต่ทว่าถ้าเขาพินิจใคร่ครวญพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

﴿وَقَالَتۡ هَيۡتَ لَكَۚ قَالَ مَعَاذَ ٱللَّهِۖ إِنَّهُۥ رَبِّيٓ أَحۡسَنَ مَثۡوَايَۖ﴾ [يوسف: ٢٣] 

ความว่า “และนาง(เจ้านายหญิงของยูซุฟ)กล่าวว่า มาหาฉันสิ! เขากล่าวว่า ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ แท้จริงเขา(สามีของนาง)เป็นนายของฉัน เขาให้ที่พักพิงที่ดียิ่งแก่ฉัน(แล้วจะให้ฉันทรยศเขาได้อย่างไร)” (ยูซุฟ 23)

 

ถ้าใครคนหนึ่งได้คิดและนั่งใคร่ครวญใต้ร่มเงาถ้อยคำแห่งอัลกุรอานเหล่านี้ หรือบางประโยคจากอัลกุรอานมันก็เพียงพอที่จะเติมเต็มเวลาในวงสนทนาหนึ่งๆ ได้เลย

อายะฮฺข้างต้นนี้ กล่าวถึงนบียูซุฟ ในฐานะที่เป็นเด็กหนุ่ม ยังโสดอยู่ด้วย เขาเข้าออกห้องต่างๆ ในวังของเจ้าเมืองโดยสะดวกไม่เป็นที่น่าสงสัย เพราะเป็นเด็กรับใช้ในวัง เขายังเป็นบ่าวที่เชื่อฟังเจ้านายเสมอ ในขณะที่เจ้านายก็เป็นหญิงรูปงามและสูงศักดิ์อีก นางเป็นเจ้านายของยูซุฟ นางปิดประตูอยู่สองต่อสองกับเขา ไม่มีใครคอยเฝ้ามองสักคน ส่วนสามีของนางก็แทบจะไม่หึงหวงนางเลย เพราะเขาพูดกับยูซุฟว่า

﴿ يُوسُفُ أَعۡرِضۡ عَنۡ هَٰذَاۚ ﴾ [يوسف: ٢٩] 

ความว่า “ยูซุฟ ! เจ้าจงละไปจากเรื่องนี้เสีย” (ยูซุฟ 29)

 

เจ้านายผู้ชายของยูซุฟ ไม่ได้แยกภรรยาของเขากับยูซุฟออกให้ห่างจากกันหลังจากเกิดเรื่องขึ้นมาแล้ว ความคิดของเรายังวนเวียนและท่องตระเวนอยู่กับอายะฮฺนี้ต่อไป จนยูซุฟได้ขอดุอาอ์ว่า “ข้าขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ” นี่คือคำพูดที่เป็นคำตอบสำหรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจริงกับเด็กหนุ่มบางคนในยุคของเราว่า ถ้ามีหญิงสาวเสนอตัวนางแก่เขาเช่นนี้ หรือเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ในรถ ในห้าง ในห้องพัก ในที่ใดที่หนึ่ง เขาจะตอบนางไปว่าอย่างไร? เขาจะตอบอย่างไรถ้าต้องเจอกับเหตุการณ์การเสนอตัวแบบนี้ในโลกไซเบอร์ ทางโทรศัพท์ ทางSMS เขาจะตอบหญิงสาวไปอย่างไร? แล้วยูซุฟก็วอนขอที่จะอยู่ในคุกมากกว่าจะต้องทำเรื่องที่ไม่ถูกต้องเช่นนี้ นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าอัลกุรอานแก้ปัญหาแก่พวกเราจริงๆ ได้อย่างไร

ลองเราสังเกตอายะฮฺที่พูดถึงคำสั่งว่า

﴿ وَقَرۡنَ فِي بُيُوتِكُنَّ﴾ [الأحزاب: ٣٣] 

ความว่า “พวกนางจงพำนักอยู่ในบ้านของพวกนาง” (อัล-อะห์ซาบ 33)

 

อายะฮฺนี้ช่วยแก้ปัญหาของสตรีในยุคนี้มากมายแค่ไหน เพราะการอยู่ในบ้านคือความมั่นคงปลอดภัย คือใช้เวลาส่วนใหญ่ให้อยู่แต่ในบ้าน อัลลอฮฺใช้คำว่า วะก็อรฺนะ (จงพำนักอยู่) พระองค์ไม่ได้ใช้คำว่า อิจญ์ลิสนะ (จงนั่งอยู่) เพราะคำว่าพำนักหมายถึงการเก็บตัวในสถานที่นั้นๆ ซึ่งมันจะแก้ปัญหาต่างๆ มากมายท่ามกลางเสียงเรียกร้องจอมปลอมให้ปลดแอกสตรีออกจากบทบัญญัติของศาสนา

ในจำนวนบทบัญญัติต่างๆ ของอิสลามเกี่ยวกับผู้หญิงก็คือ

«أُذِنَ لَكُنَّ أَنْ تَخْرُجْنَ لِحَاجَتِكُنَّ» [رواه البخاري 4795]

ความว่า “อนุญาตให้พวกนางออกจากบ้านเมื่อพวกนางมีความจำเป็น” (อัล-บุคอรีย์ 4795)

 

เพราะฉะนั้น บางครั้งผู้หญิงก็มีความจำเป็นต้องออกจากบ้าน และหะดีษนี้ก็อธิบายความเชื่อมโยงระหว่างหะดีษกับอายะฮฺดังกล่าวได้ เป็นการตัฟซีรอายะฮฺอัลกุรอานด้วยหะดีษนั่นเอง

หรือบางทีเราก็จะเห็นความเชื่อมสัมพันธ์กันเองระหว่างอายะฮฺ ที่สามารถอธิบายและแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เช่น ปัญหาเรื่องดอกเบี้ยในจำนวนเปอร์เซ็นต์น้อยๆ ว่ากินได้หรือไม่ อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿وَذَرُواْ مَا بَقِيَ مِنَ ٱلرِّبَوٰٓاْ﴾ [البقرة: ٢٧٨] 

ความว่า “และจงละทิ้งสิ่งที่เหลืออยู่จากเศษดอกเบี้ย” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 278)

 

ความหมายก็คือจงละทิ้งดอกเบี้ย แม้จะนิดหน่อยแค่เปอร์เซ็นต์เล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม ซึ่งถูกระบุอีกที่อย่างชัดเจนในสูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺเหล่านี้ถ้าผู้คนทั้งหลายคิดไตร่ตรองให้ดีก็จะพบว่ามันสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับชุมชน ระดับปัจเจก ทุกอย่างนี้สามารถหาได้จากอัลกุรอาน เพียงแต่มีคำถามว่า ไหนเล่าการตะดับบุรฺ-ใคร่ครวญ การตะฟักกุรฺ-ครุ่นคิด และการตะดารุส-ศึกษาทบทวน ของพวกเราทุกคน?

 

ดุอาอ์ปิดท้าย

اللهم اجعلنا من أهل القرآن، اجعلنا ممن يحل حلاله ويحرم حرامه، ويعمل بمحكمه ويؤمن بمتشابهه، اجعله حجة لنا لا حجة علينا، واجعله شافعاً لنا يوم الدين يا أرحم الراحمين اجعل القرآن العظيم ربيع قلوبنا ونور صدورنا، وذهاب همومنا وغمومنا وأحزاننا يا أرحم الراحمين، علمنا منه ما جهلنا، وذكرنا منه ما نُسِّينا، وارزقنا تلاوته آناء الليل وأطراف النهار كما تحب وترضى ربنا.

اللهم اغفر لنا أجمعين، اللهم أدخلنا في عبادك الصالحين، اللهم تب علينا، اللهم اغفر ذنبنا وارفع قدرنا، وثقل موازيننا، وبيِّض يوم العرض عليك وجوهنا، وثبت على الصراط أقدامنا، اللهم سلمنا من النار، وأدخلنا الفردوس الأعلى بلا حساب ولا عذاب يا وهاب.

اللهم إنا نسألك الجنة وما قرب إليها من قول وعمل، اغفر لنا ولآبائنا وأمهاتنا، اغفر للمؤمنين والمؤمنات يوم يقوم الحساب.

اللهم قنا عذابك يوم تبعث عبادك، اللهم إنا نعوذ بك من سوء العاقبة، ونسألك حسن الخاتمة يا أرحم الراحمين، آمنا في الأوطان والدور وأصلح الأئمة وولاة الأمور، واغفر لنا يا عزيز يا غفور.

سبحان ربك رب العزة عما يصفون، وسلام على المرسلين، والحمد لله رب العالمين.

 

 

 

...............................................

แปลจาก  http://www.almunajjid.com/khotab/4123

แปลโดย :  ซุฟอัม อุษมาน

คัดลอกจาก http://IslamHouse.com/433886

 

 

 

 

 

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).